สตรอเบอร์รีออร์แกนิกที่ไม่ออร์แกนิก

Organic strawberries for sale at the Embarcadero Farmers Market in San Francisco, Calif., on Saturday, September 10, 2011. A San Francisco-based advocacy group and a handful of growers are calling for an end to what they say are vague federal regulations that render organic strawberries neither sustainable nor pesticide-free. NYTCREDIT: Adithya Sambamurthy/The Bay Citizen
สตรอเบอร์รีนำเข้าจากสหรัฐที่ติดฉลากว่าออร์แกนิก 100% พอสืบสาวไปถึงต้นทางกลับพบว่านอกจากจะไม่ได้ 100% ตามที่แปะป้ายไว้ ยังเจือปนด้วยสารเคมีเป็นพิษ และกฎหมายในการดูแลและกำกับเรื่องนี้ก็ยังลักลั่นอยู่ เหตุผลสำคัญที่ทำให้สตรอเบอร์รีออร์แกนิกไม่ออร์แกนิก 100% และเจือปนด้วยสารเคมีเป็นพิษ คือการใช้เมทิลโบรไมด์ในช่วงเพาะต้นกล้า

ไม่ใช่ฉีดพ่นไปยังผลโดยตรง แต่เมทิลโบรไมด์ ถูกฉีดพ่นเพื่อฆ่าเชื้อในแปลงก่อนลงมือเพาะต้นสตรอเบอร์รี ซึ่งสารเคมีในดินตัวนี้จะทำหน้าที่ฆ่าสิ่งมีชีวิตทุกอย่างที่เข้ามาสัมผัส

 

ฆ่าเชื้อโรคด้วยสารพิษ

กว่า 10,000 ปีมาแล้วที่เกษตรกรลองผิดลองถูกกับการบำรุงรักษาดิน จนพบว่าพวกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรือจุลินทรีย์ หนอนช่วยทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ดูดซึมสารอาหารได้ดีส่งผลให้พืชเจริญเติบโต ยังไม่รวมซากพืชซากสัตว์ที่ตายแล้วที่แปรหน้าที่เป็นปุ๋ยชั้นดี ทั้งหมดก็เพื่อรักษาดินซึ่งเกษตรกรถือว่าเป็นบ้าน ให้ใช้งานไปได้นานๆ

แต่โลกเกษตรกรรมสมัยใหม่ การจัดการดินถือเป็นเรื่องปกติ สารสังเคราะห์ต่างๆ และสารเร่งการดูดซึมอาหารถูกส่งตรงจากโรงงาน ผืนดินกว้างใหญ่ถูกปลูกด้วยพืชเพียงชนิดเดียวปีแล้วปีเล่า รักษาใบให้เขียว ดอกให้งาม ผลให้สวยด้วยสารกำจัดศัตรูพืชต่างๆ

สตรอเบอร์รี หนึ่งในพืชตระกูลเบอร์รีที่มีคนชื่นชอบทั่วโลก มีการปลูกแบบออร์แกนิกอย่างกว้างขวาง แต่ใครจะล่วงรู้ว่าลูกแดงๆ สีสดๆ นั้นเต็มไปด้วยสารเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชชนิดไร้สีไร้กลิ่น

เพราะสตรอเบอร์รีเป็นหนึ่งผลไม้สุดโปรดของแมลงต่างๆ จึงต้องใช้สารเคมีจำนวนมากในการดูแลและรักษาผลประโยชน์ของไร่สตอร์เบอร์รี (ที่ไม่ได้ปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน) ขนาดใหญ่ไว้สูงสุด

สหรัฐอเมริกาคือแหล่งปลูกสตรอเบอร์รีรายใหญ่ของโลก เฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียรัฐเดียว มีการปลูก แปรรูปและส่งออกถึง 75% สตรอเบอร์รีเกือบ 90% ที่ปลูกในสหรัฐมาจากแคลิฟอร์เนีย นอกจากนี้แคลิฟอร์เนียยังเป็นแหล่งเพาะกล้าสตรอเบอร์รีแหล่งใหญ่ของโลก แต่กระบวนการเพาะกลับไม่ใช่ออร์แกนิก

ทั้งนี้การปลูกสตรอเบอร์รีแบบออร์แกนิกนั้น ทางเทคนิคจะปลูกสลับหรือหมุนเวียนกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น บร็อคโคลี เพราะบร็อคโคลีช่วยฆ่าเชื้อราและปกป้องสตรอเบอร์รีไปในตัว

การปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนจะเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคก่อตัวและเติบโตในพืช โดยเฉพาะในหน้าร้อนที่เชื้อราจะโจมตีรุนแรงที่สุด รวมถึงการอยู่รอดได้ในฤดูหนาว จากนั้นเชื้อราจะจู่โจมอีกครั้งในฤดูกาลเพาะปลูกปีต่อไป ดังนั้นการปลูกพืชชนิดเดียวกันวนซ้ำกันไปในผืนดินปีแล้วปีเล่า เท่ากับเปิดประตูต้อนรับให้เชื้อราเข้ามายึดพื้นที่ได้ง่ายมาก

Organic strawberries for sale at the Embarcadero Farmers Market in San Francisco, Calif., on Saturday, September 10, 2011. A San Francisco-based advocacy group and a handful of growers are calling for an end to what they say are vague federal regulations that render organic strawberries neither sustainable nor pesticide-free. NYTCREDIT: Adithya Sambamurthy/The Bay Citizen

 

หวานซ่อนมะเร็ง

ในปี 2010 ที่สหรัฐบังคับใช้สนธิสัญญาโปรโตคอล ในหลักการเมทิลโบรไมด์ห้ามใช้ในการค้าขายเพื่อการพาณิชย์ แต่การใช้เพื่อรม/ฉีดฆ่าเชื้อโรคในไร่เพาะกล้าสตรอเบอร์รีและต้นกล้าชนิดอื่นๆ กลับได้รับการยกเว้น นอกจากนี้ในแง่ผลกระทบต่อสุขภาพ เมทิลโบรไมด์ ยังมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในกลุ่มเกษตรกรที่เพาะปลูกอีกด้วย

เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ยาฆ่าแมลงกว่า 9.8 ล้านปอนด์ ที่รวมถึงเมทิลโบรไมด์กว่า 3 ล้านปอนด์ ถูกใช้ไปเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงเข้ามายุ่งกับสตรอเบอร์รี

ปี 2010 องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA อนุญาตให้ใช้เมทิลโบรไมด์ได้ในแคลิฟอร์เนีย ในปริมาณควบคุม แต่นักวิทยาศาสตร์กว่า 50 รายกลับแย้งและออกแถลงการณ์ว่า สารเคมีชนิดนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

“ในฐานะนักเคมีและแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยจากผลข้างเคียงของสารเคมีมานักต่อนัก เราขอเรียกร้องให้ทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในยาฆ่าแมลงที่ได้รับอนุญาต” ใจความสำคัญของแถลงการณ์ดังกล่าว

“ทุกคนเห็นด้วยโดยไม่มีข้อยกเว้นว่า เมทิลโบรไมด์เป็นสารเคมีที่มีพิษ เกิดปฏิกิริยาได้ง่ายมาก นั่นหมายความว่ามันจะมีปฏิกิริยาเป็นพิษต่อเนื้อเยื้อที่มีชีวิต นำมาซึ่งการทำลายเซลล์และโครงสร้างต่างๆ ของเซลล์ ดีเอ็นเอ และโครโมโซมต่างๆ” เท็ด เช็ทเลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ เครือข่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม (Science and Environmental Health Network) ให้ข้อมูลต่ออีกว่า บทสรุปของเมทิลโบรไมด์คือ ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้หลายโรค รวมถึง โรคมะเร็ง และทำลายการผลิตเนื้อเยื่อต่างๆ จากการทดลองในสัตว์  มันไปทำลายการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ผ่านการสูดดมเข้าไปอย่างสม่ำเสมอของแม่ อาจรุนแรงถึงขั้นทารกในครรภ์เสียชีวิตได้

 

จิม โคชราน
จิม โคชราน

 

ออร์แกนิกสีเทาๆ

จิม โคชราน หนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกสตรอเบอร์รีออร์แกนิกในฟาร์มขนาด 75 เอเคอร์ เมืองดาร์เวนพอร์ท เขาปลูกแบบปลอดยาฆ่าแมลงมากว่า 30 ปีแล้ว และเป็นเกษตรกรรายแรกในแคลิฟอร์เนียที่ปลูกสตอร์เบอร์รีแบบออร์แกนิก

แต่โคชรานก็ไม่ได้ปลูกคนเดียวทั้งกระบวนการ เขาไปซื้อต้นกล้าในศูนย์เพาะ ที่อยู่ทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนียที่ฉีดเมทิลโบรไมด์เพื่อฆ่าเชื้อในแปลงเพาะกล้าสตรอเบอร์รี

จิมอธิบายว่า “ในกฎของการปลูกมันมีพื้นที่สีเทาๆ อยู่”

“กฎระเบียบการปลูกแบบออร์แกนิกของรัฐและสหพันธรัฐ อนุญาตให้เกษตรกรที่ปลูกพืชผลออร์แกนิกสามารถซื้อต้นกล้าที่ไม่ได้ปลูกแบบออร์แกนิกได้เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า และยังคงเรียกว่าสตอเบอร์รีออร์แกนิกได้” โคชรานอธิบายความเป็นสีเทา

จากรายงานของนิวยอร์คไทมส์เปิดเผยว่า แคลิฟอร์เนียไม่มีแหล่งเพาะกล้าสตอเบอร์รีแบบออร์แกนิกเลย มีแต่แปลงที่เพาะด้วยการรม/ฉีดด้วยเมทิลโบรไมด์

“ฟาร์มออร์แกนิกที่ปลูกพืชหลายชนิดนั้นมีวิธีการซับซ้อนมากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบสตอเบอร์รีและใช้สารเคมี เรียกง่ายๆ ว่ามันเรียกร้องการจัดการที่มากกว่า”

โคชรานเพิ่มเติมว่า การปลูกพืชแบบหมุนเวียนและออร์แกนิกนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและให้ผลผลิตต่ำกว่า

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  สิ่งที่เรากำลังสู้อยู่คือคนที่ใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อที่จะขายสตรอเบอร์รีได้ในราคาตะกร้าละ 2.5 ดอลลาร์ ซึ่งราคานี้เขาก็ยังได้กำไรมากอยู่ และสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ตอนนี้คือทำให้เป็นสตรอเบอร์รีออร์แกนิกตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าจะไปถึงจุดนั้นได้” โคชรานทิ้งท้าย


 

ที่มา: revealnews.org
realfarmacy.com
scienceblogs.com

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า