องค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ของสหรัฐอเมริกา พบว่า สารเคมีที่ใช้ทั่วไปในครีมกันแดดหลายชนิดสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดของคนได้จนเกินระดับที่ปลอดภัย แม้ว่าจะใช้เพียงแค่วันเดียว
สอดคล้องกับบทความในวารสารการแพทย์ JAMA (The Journal of the American Medical Association) ที่ระบุว่า ความเข้มข้นของสารเคมีบางอย่างในเลือดจะเพิ่มขึ้น หากใช้ครีมกันแดดติดต่อกันประจำทุกวันอย่างต่อเนื่อง และจะตกค้างอยู่ภายในร่างกายเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
สารเคมีดังกล่าวคือ อโวเบนโซน (Avobenzone) ออกซิเบนโซน (Oxybenzone) อีคัมซูล (Ecamsule) และ ออคโตคริลีน (Octocrylene) ซึ่งสารทั้ง 4 เหล่านี้ล้วนอยู่ในบัญชีรายชื่อของ FDA ที่ยังไม่ถูกพิจารณาว่าเป็น ‘สารที่ปลอดภัย’
โดย FDA ทำการทดลองจากอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 24 คน แต่ละคนจะได้รับการสุ่มใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของอโวเบนโซน, ออกซิเบนโซน หรือออคโตคริลีน แตกต่างกันไป โดยอาสาสมัครจะต้องทาครีมกันแดดลงทั่วผิวหนัง คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของร่างกาย 4 ครั้งต่อวัน หลังจากนั้นภายใน 7 วัน ทางทีมวิจัยจึงทำการทดสอบโดยการตรวจเลือด
ผลพบว่า อาสาสมัคร 5 ใน 6 คน ที่ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของอีคัมซูล มีระดับของสารอีคัมซูลในเลือดสูงหลังจากทาครีมกันแดดวันแรก ส่วนอาสาสมัครคนที่เหลือที่ทดลองโดยใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารอื่น ทุกคนมีระดับออกซิเบนโซนอยู่ในกระแสเลือดสูงหลังจากการใช้วันแรก
สำหรับทางออก ในสหภาพยุโรปได้กำหนดให้ใช้สารกันแดดชนิดใหม่แทนการใช้สารออกซิเบนโซน แต่ผลิตภัณฑ์นั้นยังไม่ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัย จึงยังไม่ถูกอนุมัติโดย FDA ดังนั้นจึงพบว่า ยังมีการใช้ออกซิเบนโซนอยู่มากในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องปกติที่ผิวหนังมนุษย์จะดูดซึมสารต่างๆ เข้าไป ดังนั้นสิ่งที่ผู้ผลิตควรตระหนักคือการตรวจสอบว่าสารเคมีเหล่านี้ส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ โดยเฉพาะในครีมกันแดด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องผิวหนังของเราจากรังสีต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งได้
สนับสนุนโดย