สุริชัย หวันแก้ว ถึงครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัย แด่คนรุ่นใหม่ที่รับเคราะห์เพราะความกล้า

ทั้งวงเล็กและวงใหญ่ ทั้งทางการและไม่ทางการ แต่นับรวมแล้วมากครั้งพอสมควร ที่ได้ยิน ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดเรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยในสถานการณ์วิกฤติทางสังคม จับอารมณ์ของถ้อยคำได้ว่า ในยุคสมัยที่ชาติบ้านเมืองหาทางออกไม่เจอเช่นนี้ มหาวิทยาลัยดูจะมีบทบาทน้อยไปที่จะช่วยจุดเทียนให้ความมืด

ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม กระบวนการยุติธรรม สิ่งแวดล้อม หมอกควัน ฝุ่นพิษ โควิด เศรษฐกิจ กระทั่งวิกฤติทางการเมือง นี่คือโจทย์ที่สังคมไทยต้องเผชิญมามากกว่าทศวรรษ แต่มีสักกี่เรื่องที่เราสามารถหาทางออกได้ก่อนที่จะเจอปัญหาจ่อคอหอย

พูดแบบชี้นิ้วหาคนผิดก็อาจจะง่าย แต่ในทัศนะของอาจารย์สุริชัย เราอาจต้องก้มหน้าแล้วแหงนมอง เหลียวซ้ายแล้วแลขวาให้ครบทุกองศาอีกสักหน่อย เพื่อให้เห็นว่าหลังคาแบบใดที่คลุมหัวเราอยู่ โครงสร้างแบบไหนที่ทำให้เกิดปัญหาไม่หยุดหย่อน และในฐานะของคนที่เป็นครูบาอาจารย์มาแทบทั้งชีวิต อาจต้องขบคิดอีกชั้นนึงว่า สถาบันการศึกษาที่เป็นขุมปัญญาของชาตินั้นออกแรงพอหรือยัง และอาจต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าสองเท้าของมหาวิทยาลัยยังหยัดยืนอยู่บนผืนดินหรือไม่

อาจารย์บอกว่าปัญหาใหญ่ของไทยคือโครงสร้างต่างหากที่ทำให้เราเกิดความขัดแย้งแบบนี้ คำถามก็คือโครงสร้างแบบไหนที่ทำให้ประเทศนี้มาเจอความขัดแย้งอย่างที่เห็น

สมัยที่เราเข้าใจปัญหาแบบไม่ยุ่งยากมากนัก เราก็มองหาต้นตอปัญหาไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ แต่หลายคนแค่อยากเล่นงานคนที่ตัวเองไม่ชอบ ก็เลยหาคนผิดได้ไม่ค่อยยาก และหลายกรณีเราก็เอาคนที่หน้าดำๆ หน่อย ดูไม่ใช่คนที่น่าจะมีชนชั้นที่ดีสักหน่อย คนที่ถูกจับเป็นเหยื่อก็สมกับภาพถ่ายที่พวกเขามีอยู่ในใจ (มายาคติ – ผู้เขียน) เรื่องนี้เหมือนปัญหาสีผิว ทำไมสังคมบางอย่างในอเมริกา เขาเฉลี่ยเลยว่าคนอยู่ในคุกผิวสีอะไร

กลับมาที่สังคมไทยเราเอง เราก็มักคิดว่าเราไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ตอนหลังก็มีคนพูดชัดเจนมาก ว่าคุกมักจะไม่ค่อยเจอคนรวย พูดถึงขนาดว่าคุกมีไว้สำหรับคนจนใช่ไหม คือไม่ใช่สิ่งที่น่าดีใจเลย ไม่ใช่สิ่งที่เราพูดแล้วหัวเราะ เรารู้สึกละอายใจ รู้สึกรันทดใจ รู้สึกวิบาก รู้สึกบาปกรรมจังนะ นี่คือระบบเรา ซึ่งผมคิดว่าสังคมไปปล่อยให้เรื่องเชิงโครงสร้างไม่มีใครกำกับดูแลกันจริงๆ คือปล่อยให้โครงสร้างการตัดสินใจในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการที่ปล่อยให้ฝ่ายมีอำนาจตัดสินใจโดยที่ไม่ต้องโปร่งใสก็ได้ โดยเชื่อว่าท่านคงจะไม่ทำอะไรที่น่ารังเกียจ 

ผมคิดว่าโครงสร้างอำนาจในการตัดสินใจมันเหลื่อมล้ำมาก แต่ก่อนเราเคยเชื่อว่าคนดีไม่น่าจะพลาดอะไร แต่ตอนหลังเราไม่สามารถจะบอกได้ว่าคนดีจะแก้ปัญหาให้ระบบ 

ยุคปัจจุบันกลายเป็นยุคโปร่งใส คล้ายกับว่าถ้าเช็คไปเช็คมามันพอจะรู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร คืออาจไม่ถึงกับรู้ได้ทันทีหรอกนะ แต่สามารถหาที่มาที่ไปของเรื่องได้อยู่บ้าง ถ้าเราวินิจฉัยได้อย่างนี้ คือปัจจุบันเป็นยุคที่การตั้งคำถามต่อสถาบันที่เคยเป็นที่เชื่อมั่น เคยเป็นที่ไว้วางใจ เกิดขึ้นได้เยอะ และคนที่อยู่ในสถาบันเหล่านั้นก็จะรู้สึกรับไม่ค่อยได้ใช่ไหมครับ? ตอนแรกก็รับไม่ค่อยได้ แต่หลังๆ จำเป็นต้องยอมรับว่าโลกปัจจุบันนี้เขาถามได้นะ

ย้อนถึงตัวผมเองก็เถอะ แต่ก่อนไม่เคยสนใจเลยเวลาให้คะแนนนิสิต ไม่เคยที่นิสิตมาถามแล้วเราต้องชี้แจงอะไร เมื่อสัก 30 ปีที่ผ่านมา เขาก็ขอดูคะแนนว่าทำไมอาจารย์ให้คะแนนหนูต่างจากเพื่อน ตอนแรกเราก็ยัวะเหมือนกัน เราก็จะรู้สึกว่าเด็กทำไมไม่รู้จักเป็นเด็กวะ แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องชี้ให้เขาดูว่าเขาต่างจากเพื่อนตรงไหนยังไง แล้วเขารับได้ไหมกับคำอธิบายนี้ พอเป็นอย่างนี้เข้าก็มีความผูกพันใกล้ชิดกับเด็กที่เขาถามมากขึ้น หรือบางทีก็ทำให้เรารู้สึกทบทวนเหมือนกันนะว่า เอ้อ เห็นไหมตอนหลังอาจารย์หลายคนก็ติดประกาศไว้เลยว่าตัวเองให้คะแนนเป็นข้อๆ อย่างไร ซึ่งอันนี้กลายเป็นข้อเรียกร้องของระบบไปแล้ว

ผมคิดว่าอำนาจที่ไม่มีการตั้งคำถาม อำนาจที่ไม่มีการรับผิดรับชอบ เผลอๆ เป็นอำนาจที่สร้างปัญหาให้กับคนอื่นหรือสร้างปัญหาให้กับตนเองได้ด้วยนะ เพราะบางทีก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่นจนโกรธคนอื่นเขา มันก็โยงกับอัตตาว่าเป็นฝ่ายใครฝ่ายมันแล้วล่ะตอนนี้

ถ้าพูดถึงอำนาจในการตัดสินใจชีวิตคนอื่น มันก็อยู่ในวิสัยที่ทุกวันนี้ได้รับการพิจารณาจากคนในวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้คนในวิชาชีพนั้นดูแลกันเอง ถ้าปล่อยให้คนในวิชาชีพนั้นดูแลกันเองก็จะเป็นประเภทแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน หรือวิชาชีพนี้ก็รักพวกไว้ก่อน จะเป็นพวกวิชาชีพนี้เพราะเป็นศิษย์เก่า เป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ต้องรักกันไว้หน่อย จะดีจะชั่วค่อยไปด่ากันตอนกินเหล้าก็แล้วกัน

อาจารย์เคยจินตนาการไหมว่า ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ความขัดแย้งในสังคมจะทะลุเพดานขนาดนี้

ถ้าบอกว่าคิดไว้เหมือนกันผมก็โกหกตัวเอง มันเป็นปรากฏการณ์เหนือกว่าทุกช่วงที่ผ่านมา มีมิติใหม่ มีเรื่องที่เรานึกไม่ถึง ทั้งในแง่บวก ทั้งในแง่ลบ แต่มันไม่ควรลงเอยแค่บวกหรือลบ ประเด็นก็คือเราได้เรียนรู้ร่วมกันในสังคมขนาดไหน ซึ่งส่วนหลังนี่ผมเชื่อว่าเราก็ถามกันน้อยไป สรุปก็เลยมีแค่ว่าพวกรักชาติกับพวกชังชาติ คือดูก็รู้ว่าไอ้นี่มันรักชาติหรือชังชาติ แต่เราไม่คิดกันว่าชาติที่เราอยู่เนี่ย ถ้าไม่มีคน…

ที่ผมจะพูดก็คือว่า การที่เราไปติดวิธีคิดว่ามีคนแค่สองประเภทเท่านั้น เราก็เลยไปโทษคนซึ่งคิดไม่เหมือนเราว่าจะต้องเป็นปัญหาใช่ไหม สุดท้ายก็กลายเป็นว่า เวลามีปัญหาก็หาคนที่คิดไม่เหมือนเราน่ะแหละ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ตอนนี้ประเทศไทยคงฆ่ากันครึ่งต่อครึ่งเลยนะ

เราลองคิดต่อไปอีกสิว่า มีคนอีกส่วนหนึ่งนะที่บางทีคิดเหมือนคนข้างโน้น บางทีคิดเหมือนคนข้างนี้ เอ๊ะ บางทีเขาก็อยากฟังทั้งสองฝ่ายก็มี คือ คนในประเทศนี้ถ้าเปลี่ยนมาคิดหลายด้านหลายมุมจะรอบคอบขึ้นตั้งเยอะ และสังคมไทยจะมีพลังในการสร้างข้อสรุปได้ดีกว่าเดิมเยอะเลย ดีกว่าคิดว่าเชือดมันเลย ทุบให้มันดูเลย ไม่เชื่อเอาให้มันตายเลย อยู่ในตรรกะของวิธีแก้ไขปัญหาแบบอำนาจ และใช้การแก้ปัญหาแบบปิดปาก ทำให้กลัว ไอ้แบบนี้นี่นะ ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะต่อเนื่องแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้ ผมนึกไม่ถึงนะ ผมนึกไม่ถึงว่าคนจะสรุปง่ายแบบรักชาติ ชังชาติ ขนาดนี้ แต่กลายเป็นว่ามันยังมีแรงอยู่ ทั้งที่ตอนนั้นบอกเลิกกีฬาสีแล้วนะ

จุดร่วมบางประการก็อาจจะพอเห็นอยู่ เช่น เรื่องรัฐประหาร เผด็จการ แต่ระยะหลัง เรากำลังคุยในเรื่องที่เคยแตะต้องไม่ได้ มันเริ่มถูกฉีกด้วยหัวข้อนี้ 

คือในประเทศไทย พูดไปบางเรื่องก็มีเรื่องที่คนเขาไม่พูดกัน แต่ว่านินทาเป็นหลัก อะไรอย่างนี้ใช่ไหม อันที่จริงไม่ได้เป็นเฉพาะสังคมไทยหรอก บางสังคมถึงเขานินทาในที่สาธารณะเขาก็ไม่ไล่จับกัน แต่เมืองไทยนี่นินทาไม่ว่า ถ้าพูดสาธารณะเอาตายเลย พูดง่ายๆ ในประเทศไทย ประเด็นที่ว่านี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง คือ สังคมเราปล่อยให้ใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการลงโทษคนที่คิดไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะคนซึ่ง… ถ้าอยู่ในอำนาจการตัดสินใจก็จะมีโอกาสใช้อันนี้ได้มาก 

ผมคงไม่ต้องพูดว่ารัชกาลที่ 9 ท่านก็เคยพูดถึงเรื่องนี้ และท่านก็รู้สึกว่าต้องรับเต็มเปา ท่านก็บอกว่าถ้ามีการแก้ไขเรื่องนี้ก็จะดี เพราะฉะนั้นบางช่วงรัชกาลที่ 10 ก็ดูเหมือนว่าท่านจะเข้าใจ แต่ว่าต่อมาก็มีการปล่อยให้ใช้มาตราทำนองนี้ 112 เป็นเครื่องมือข่มขู่ทางการเมือง บางกระแสสังคมก็ใช้เป็นการเมืองเล่นงานฝ่ายชังชาติ คือเอาไว้เป็นเครื่องมือของฝ่ายเดียวคือฝ่ายรัฐ รักชาติ ตรงนี้ผมขอพูดว่าไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ผมเน้นอีกทีนะ คือยุคสมัยปัจจุบันที่โปร่งใสกันมากขึ้นทั้งโลก มันมีโอกาสที่ข้อมูลข่าวสารทุกๆ อย่างเราไม่สามารถจะปิดบังกันได้ง่ายๆ นักหรอก 

ยุคนี้เป็นยุคที่สถาบันซึ่งเคยมีอำนาจ ที่ไม่มีใครตั้งคำถามถูกตั้งคำถามได้ทุกสถาบัน เมื่อกี๊ผมพูดแต่เพียงว่า ไม่สบายใจที่นิสิตมาถามว่าทำไมอาจารย์ให้คะแนนหนูต่างจากเพื่อนได้อย่างไรใช่ไหม? นี่แค่ระดับอาจารย์สอนหนังสือ แต่ลองนึกถึงในวงการพระศาสนา เช่น อิหม่าม หลวงพ่อในโบสถ์คริสตัง หรือพระสงฆ์องค์เจ้า เราคงไม่ต้องเน้นหรอกครับว่าในยุคสมัยนี้วงการคาธอลิกมีการสอบสวนครั้งใหญ่กรณีบาทหลวงที่ชอบตุ๋ยเด็กอะไรอย่างนี้ อ้าว เป็นเรื่องใหญ่โตมากใช่ไหมครับ? ผมคงไม่ต้องพูดถึงวงการมุสลิม บางคนก็เชื่อดักดานเลยว่าท่านมูฮัมหมัดห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือ พอเด็กมุสลิมที่ปากีสถานเขาอยากเรียนหนังสือ เด็กคนนี้ถูกพวกตาลีบัน ซึ่งเป็นพวกที่เคร่งมากยิงจนต้องเข้าภาวะฉุกเฉินกระทั่งต้องส่งไปนอกประเทศเลย สุดท้ายคนนี้ทุกคนก็คงรู้จักชื่อเขาเพราะเขาได้รางวัลโนเบล

ที่ผมจะพูดก็คือสถาบันที่คนเคารพนับถือมาก แตะต้องไม่ได้เลย แต่เป็นสถาบันที่บางทีล้าหลังต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป บางทีก็ถูกคอร์รัปชันภายในองค์กร เอาอำนาจเอาคนที่เข้าโบสถ์ตัวเองมาเป็นเครื่องมือทางเพศ อันนี้ไม่มีศาสนาไหนรอดพ้นจากการตั้งคำถาม

เพราะฉะนั้นคำว่าสถาบันถูกตั้งคำถาม สถาบันประธานาธิบดี สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันของพระมหาจักรพรรดิ ล้วนแต่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกันทั้งหมดทั้งสิ้น จะไปบอกว่านี่เป็นเรื่องพระมูฮัมหมัดห้ามแตะต้อง มันถึงระเบิดกันอยู่เนี่ย ฆ่ากัน ไม่ได้ช่วยอะไรเลยนะครับ ทั้งโลกก็เลยอีรุงตุงนังอย่างที่เราเห็น เพราะฉะนั้นความผูกพันต่อสถาบันจนกลายเป็นความเชื่อที่ห้ามแตะต้อง และบางทีก็เชื่อแบบประเภทมืดบอดมันไม่ได้ช่วยรักษาสถาบันที่เราเคารพนับถือให้มีโอกาสเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวร่วมกันอย่างสมคุณค่า อย่างที่เขาเคยพิสูจน์มาแล้วในประวัติศาสตร์ช่วงที่ผ่านมา แต่ปรับตัวยังไงในยุคบริบทใหม่ อยู่ที่การปรับปรุงร่วมกัน

คนเขาก็ต้องรู้สึกว่าถ้าต้องนับถือก็ต้องมีความผูกพันสัมผัสได้ มีโอกาสเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ ผมถึงพูดว่าความสัมพันธ์นี่เป็นตัวเกี่ยวข้องมากๆ ไม่ใช่พอเป็นสถาบันห้ามแตะต้อง ไล่มาทุกศาสนา แม้กระทั่งตอนนี้ที่เราถกเถียงกันว่าพระภิกษุณี เมืองไทยมีไม่ได้ แล้วอ้างไปอ้างมา แต่จริงๆ แล้วก็คือว่าเรายังไม่ยอมมีพัฒนาการในเรื่องนี้ ผมทราบว่าพระสังฆราชท่านเคยมีข้อพิจารณา เคยปรารภเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องอย่างนี้น่าสนใจ เราจะไปยึดมั่นถือมั่นเอาอัตตาเป็นที่ตั้ง แล้วก็กลายเป็นการส่งเสริมให้สถาบันนั้นล้าสมัย ส่งเสริมให้สถาบันนั้นเป็นอุปสรรคของอนาคต เพราะฉะนั้นในแง่นี้เราควรสนใจการตื่นตัวของคนในแวดวงพุทธศาสนาที่ตั้งคำถามกับพระสงฆ์องค์เจ้า รวมถึงพระคริสต์ศาสนา ตั้งคำถามต่อการศึกษาพระคัมภีร์ รวมไปถึงเด็กรุ่นใหม่บางส่วนหรือคนหลายรุ่นที่มีคำถามเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ไหม? พระมหากษัตริย์ควรอยู่ตรงไหนในระบอบนี้ ประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีพระมหากษัตริย์ แล้วก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นหลายประเทศในโลกนี้ก็มีสองอย่างนี้คู่กัน และมันควรจะเป็นเช่นใด โจทย์แบบนี้ในสังคมซึ่งไม่รู้จักส่งเสริมการเรียนรู้ก็จะกลายเป็นโจทย์ที่ว่าใครแตะเรื่องนี้เป็นศัตรู ใครแตะเรื่องนี้เป็นผู้ร้าย ใครแตะเรื่องนี้ต้องโดนอะไรสักอย่างล่ะ สังคมไหนที่ไม่ให้พื้นที่ปลอดภัยกับการคุยเรื่องเหล่านี้ ลึกๆ ทำให้เป็นอุปสรรคของการสร้างอนาคตด้วยกัน เพราะว่าเราไปห้ามไง แล้วเราก็ซุกไปซุกมา จนตอนหลังไม่รู้แล้วว่าไปซุกไว้ที่ไหนบ้าง

นี่อาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ประชาชนลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อสถาบัน ถ้าเป็นเมื่อก่อน เต็มที่ก็อาจตั้งคำถามว่าศาลยุติธรรมหรือเปล่า รัฐบาลยังดีอยู่หรือเปล่า แต่นี่คือการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะ คนที่ทำงานด้านสันติวิธีอย่างอาจารย์เห็นปรากฏการณ์นี้แล้วรู้สึกอย่างไร

ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าพินิจพิจารณาอย่างใคร่ครวญร่วมกันทั้งสังคมนะ สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย 2-3 ปีที่ผ่าน มันมีหลายเรื่อง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

คือหลายคนก็มีวิธีพูดหลายแบบนะครับ บางคนบอกว่าตัวเองอยากจะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ตัวเองมีความภาคภูมิใจ บางคนก็พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งบางทีก็ไม่ค่อยชัดเจนในเรื่องการจัดระบบเกี่ยวข้องกับการเงิน การคลัง บางคนก็พูดไปถึงว่าระบบพระมหากษัตริย์กับการมีกองกำลังทหาร มีองครักษ์อะไรอย่างนี้ ก็อาจจะมีแง่มุมต่างๆ นานา 

มันเหมือนกับว่าเราไม่อยากพูดถึงเรื่องการเงินของวัดน่ะ ซึ่งหลายคนก็รู้ดีว่าบางวัดก็จนจริงๆ บางวัดก็โอ้โห ไม่รู้เงินมาจากไหน และไม่รู้ว่าเงินไปทางไหน ใครตรวจสอบก็ไม่ได้ ภาษีก็ไม่ต้องเสีย 

ไปถามเจ้าอาวาสเดี๋ยวบอกบาปอีก

เจ้าอาวาสบางที่ก็ไม่มีสิทธิเลยนะ ฆราวาสที่คุมวัดก็มีอีกอะไรอย่างนี้ ซึ่งพอไม่โปร่งใสก็เลยไม่มีระบบตรวจสอบอะไรกันได้เลย แล้วเวลาผิดพลาดก็แย่กันทั้งหมดเลย พระดี พระไม่ดี อีรุงตุงนังใช่ไหม ซึ่งอันนี้เราไปทำบาปกรรมกับศาสนาที่เรานับถือ หรือว่าวงการพระสงฆ์ควรช่วยกันพิทักษ์รักษา ถ้าเราปล่อยให้มันเน่าเฟะแบบนี้ สุดท้ายก็จะเน่ากันทั้งกระบวนเลย อันนี้ลงโทษก็จะลงโทษแบบผิดฝาผิดตัวกันง่ายมาก

ที่ผมพูดอย่างนี้ก็คือว่า การปฏิรูปสถาบัน เป็นเรื่องที่ทุกสถาบันต้องช่วยกันพินิจพิจารณาโจทย์กันจริงๆ ปฏิรูปสถาบันการศึกษาควรพูดไหม? ปฏิรูปธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนควรไหม? ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ควรไหม? คือทุกอัน ควรไม่ควรหรือแค่ไหนอย่างไร ทุกอย่างมันต้องการหลักวิชาไง ตรงนี้แหละที่ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยอาจถูกท้าทายโดยโจทย์ของยุคสมัยมาก

พูดอีกอย่างก็คือว่าทุกวันนี้ไม่มีสถาบันใดในโลก ในโลกนะครับ (เน้นเสียง) ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยอย่างเดียวที่จะปลอดจากการตั้งคำถาม และถ้าสถาบันต่างๆ ไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างเป็นที่ยอมรับนับถือ น่าฟัง น่าคิด คนก็จะสังฆกรรมน้อยลง คนก็จะนับถือน้อยลง อยู่ได้ แต่คนก็ไม่ค่อยรู้สึกเกี่ยวข้องอะไรอย่างนี้ 

เพราะฉะนั้นคนหลายคนไม่เข้าวัดเข้าวา เขาจะสนใจกับสิ่งที่ตัวเองชอบกัน เราจะเห็นเลยว่าทุกอย่างอยู่ที่ปัจเจกตัดสินใจเอง ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ให้นับถือ (ศาสนา) อะไร ปรากฏการณ์แบบนี้ผมคิดว่าเกิดขึ้นทั้งโลก เพราะฉะนั้นการจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยลำพัง ถ้าไม่มีความสัมพันธ์กับอุบาสกอุบาสิกา หรือฆราวาส 4  ทำนองเดียวกัน การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความสัมพันธ์กับราษฎร กับพลเมือง กับพสกนิกร ซึ่งผมใช้คำเหล่านี้ที่มีอยู่หลายคำมันสะท้อนการเติบโตของยุคสมัยนะ พสกนิกรคือคนรุ่นผม พลเมืองคือคนรุ่นหลัง ซึ่งเขาเติบโตมาอย่างเท่าเทียมกันหมดใช่ไหม ราษฎรก็คือระหว่างทางก่อนจะเป็นพลเมือง 

ถ้าพูดอย่างนี้ ผมคิดว่าความคิดความเชื่อเรื่องเสรีภาพในแต่ละยุค คนโตมาไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่คู่กับสังคมไทยได้อย่างแน่นอน ถ้าหากมีการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ และไม่ใช่มองอย่างโดดเดี่ยวด้วยนะ ดูสิว่าประเทศอื่นที่เขามีสถาบันทำนองนี้เขาปรับตัวกันอย่างไร บางที่เขาไม่มีการขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ก็มีการขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น ที่ไม่มีกฎหมายก็เป็นกฎหมายขึ้น ที่ไม่เป็นสัดส่วนก็เป็นสัดส่วนขึ้น อะไรอย่างนี้ แต่นี่มันอยู่ที่ว่ามีขอบเขตอย่างไร ถ้าไม่มีขอบเขต… ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผมกำลังพูดว่า อำนาจเหล่านี้ไม่ใช่อำนาจแบบไม่ควรจะมีการตั้งคำถาม อันนี้ประเทศเราก็ต้องตั้งคำถามเหมือนกัน ระบบพระมหากษัตริย์ ระบบประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร 

พูดอย่างนี้หมายความว่า ถ้าพูดในประเทศไทยเราอาจจะลำบากเพราะมีกฎหมาย พูดยาก และมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน เขาคิดเรื่องนี้ในแง่วิชาการอย่างไร เมื่อกี๊ที่ผมพูดทั้งหมดมันโยงกับว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งคำถามแม้กระทั่งว่า มีพ่อไว้ทำไม? มีแม่ไว้ทำไม? ตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ ทุกสิ่งทุกอย่าง ศาสนา ความเชื่อ และบางทีบอกไม่มีความเชื่อ ไม่มีความศรัทธาอะไรเลยก็มี 

เราจะเห็นว่าปัญหามันเกิดขึ้นหลายแบบมาก แต่ปัญหาที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ ปรากฏการณ์แบบนี้เป็นปรากฏการณ์ในโลกยุคโพสต์โมเดิร์น โลกที่พ้นสมัยที่จะยึดถือความเจริญอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นตัวแบบเป็นต้นแบบแล้ว พอเป็นอย่างนี้ วิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในโลกปัจจุบัน มันจะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้มากขึ้นไหม หรือว่าเราไม่ต้องเข้าใจก็ได้ เราจะแก้ปัญหาอย่างที่เราอยากแก้ ถ้ามหาวิทยาลัยมีประโยชน์บ้างในการสร้างความเข้าใจต่อปัญหาที่เราเผชิญอยู่ ก็จะช่วยทำให้สังคมรู้สึกว่ามีขุมความรู้หลายที่หลายทาง ให้คนที่ทำงานด้านมหาวิทยาลัย เอ้า ไหนวิจัยมาซิ ค้นหามาซิ ถ้าเป็นอย่างนี้ มหาวิทยาลัยก็ทำให้ความขัดแย้งที่คนแตะต้องไม่ได้กลายเป็นโจทย์ทางวิชาการ อันนี้คือหน้าที่ที่เราจะต้องแปลงโจทย์ ถ้าไม่เป็นพวกเรา คือเป็นพวกเขา ถ้าไม่เป็นมิตรก็ต้องเป็นศัตรู ถ้าไม่รักชาติอย่างฉัน ก็ต้องเป็นพวกชังชาติของฉัน ภาษาแบบนั้นมันชวนให้เกิดการกำจัดกันอยู่แล้ว

มหาวิทยาลัยทำให้สังคมกระจ่างในเรื่องนี้ร่วมกันได้ไหมว่า คงไม่ใช่เป็นหนทางที่ไปแบ่งคนเป็นสองพวกเท่านั้นกระมัง ควรจะสนใจเข้าไปลึกๆ ด้วยในเนื้อในว่า เอ๊ะ ถ้ารักแบบมืดบอด หรือว่ารักแบบประเภทหลอกใช้ประโยชน์ หรือรักแบบประเภทใด เราคงเคยได้ยินว่ามีคนรักสถาบันแต่เอาสถาบันไปหากินก็มี สถาบันพระพุทธศาสนาก็เป็น 

พูดไปแล้วก็คือเราไม่ควรเอาความรัก ไม่รัก เป็นตัวชี้ขาด แต่เราควรจะดูด้วยว่ารักด้วยสติ ด้วยปัญญาแค่ไหน บางทีการรักด้วยสติปัญญา ไม่ได้สรรเสริญเลยนะ เป็นการชวนให้ปรับปรุงก็มี เพราะฉะนั้นหลายคนอย่าง อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ คนเขาก็บอกว่าอาจารย์สุลักษณ์เนี่ย เราพูดไม่ได้เลยว่าแกเป็นคนที่ปฏิเสธสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อาจารย์สุลักษณ์เป็นคนที่นับถือชื่นชม (สถาบันพระมหากษัตริย์) ด้วยซ้ำ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถวิจารณ์ได้ ในสังคมไทยดูเหมือนเราส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อจะสร้างสรรค์น้อยเกินไป และเราก็ส่งเสริมไปอีกทางหนึ่ง คือ การพูดในด้านดี พูดในด้านบวก เราส่งเสริม แต่ถ้าพูดในด้านไม่ดี ในด้านลบ เราไม่ค่อยส่งเสริม ไปๆ มาๆ กลายเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมเชลียร์ ไม่ใช้สติปัญญาในการชื่นชม ในการวิจารณ์ และอันนี้มันน่ากลัวไหมล่ะ 

ในแง่หนึ่ง เรื่องแบบนี้ก็ควรจะถูกนำไปพูดคุยเพื่อหาทางออกในสภา แต่เราจะพบว่าแค่จะหยิบหัวข้อนี้ไปคุยยังทำไม่ได้เลย 

ถ้าเรามีความสุจริตต่อกัน ว่าหลายเรื่องเราจะต้องเอาความห่วงใยที่มีลึกๆ ในใจมาพูดกัน มันก็มีที่คุยได้เสมอนั่นแหละ สภาอันที่จริงก็มีประชุมโดยไม่บันทึก เป็นวาระลับ ก็จะมีหลายแบบ ประชุมโดยให้คนไหนเข้าได้ เข้าไม่ได้ อันที่จริงมันไม่ใช่ขาดประสบการณ์ถึงขนาดว่าทำอะไรไม่ได้

ถ้าเรานึกถึงสังคมซึ่งสามารถถกกัน มันมีมากกว่าสองฝ่าย มันมีสามฝ่าย สี่ฝ่าย สังคมใดที่รู้สึกว่า มองเรื่องเดียวกันแบบไม่ใช่เพียงสองมุม ถ้าเป็นโจทย์ง่ายๆ อย่างกีฬาสี ก็จะนำมาสู่การมองเป็นสายรุ้งก็ได้ พอมีภาพอย่างนี้ปั๊บ จะเริ่มรู้สึกอยากฟังความเห็นของคนหลายวัย ฟังความเห็นของคนหลายอาชีพ พูดอย่างนี้ก็ได้ไง เพราะการที่คุยที่สภาไม่ได้ เป็นเพราะนึกกันไม่ออกว่ามีวิธีไหนดี จริงๆ แล้วต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาสติปัญญาในการหาวิธี ผมยกตัวอย่างว่าที่มหาวิทยาลัยมีโอกาสที่จะถกเป็นวิชาการได้ไหม ไม่ใช่ถกเป็นประเด็นโต้วาที โต้วาทีมันได้แค่สองฝ่าย แต่ถ้าถกเป็นประเด็นที่ว่า ในโลกนี้มีระบบแบบนี้กี่แบบ แล้วที่อยู่ได้เป็นยังไง ที่อยู่กันไม่ได้ แล้วที่กลายเป็นความรุนแรงเป็นยังไง ที่กลายเป็นการคลี่คลายไปสู่ความรู้สึกอยู่ร่วมกันได้ ถึงจะมีคนชอบบ้างไม่ชอบบ้าง แต่ว่าก็ไปกันได้ แล้วก็ไม่ใช่รู้สึกว่า จะต้องคอยจับคนเข้าคุกอย่างเดียว ของเราตอนนี้เรามีอาการเดียวคือจับคนเข้าคุก 

ผมคิดว่า อนาคตประเทศไทยตอนนี้ วัคซีนโควิดคงไม่มีทางฉีดทั่วทุกคนสักเท่าไร แล้วเศรษฐกิจก็ลำบาก ไม่มีงาน เด็กนักศึกษาจบแล้วจะไปไหน สาขาอะไรดี จะพออยู่ได้ไหม ไม่รู้ เศรษฐกิจสาขาไหนจะมีอนาคต เศรษฐกิจไหนจะอยู่ได้ พูดไปก็คือว่า เรายังไม่มีเวลาคุยเรื่องอนาคตพวกนี้เลย เรารู้แต่ว่า พวก 112 ต้องจับเข้าคุก ถ้าไม่เข้าคุกก็ต้องใส่ 116 ไม่พอต้องใส่อีกอันหนึ่งคือทำลายความสะอาด อีกอันหนึ่งก็คือใช้โทรโข่ง ขวางถนน คือกฎหมายกลายเป็นสิ่งที่ไม่ชวนให้นับถือ แต่เป็นการใช้เครื่องมือเพื่อจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วกลายไปเป็นผลกระทบต่อเนื่อง ผลข้างเคียงก็คือ คนยิ่งไม่เชื่อกฎหมาย คนยิ่งไม่อยากนับถือ 

มีช่วงหนึ่ง คนที่สอนกฎหมายคงเสียใจ ที่มีวิชาที่เรียกว่าเนติบริกร มีคนเรียนกฎหมายหลายคนที่รู้สึกว่า คำนี้ไม่ดีเลย มันแย่ มันเสียดสีวิชาเรา คนที่เรียนนิติศาสตร์จำนวนมากก็รู้สึกแบบนี้ชัดเจน ถึงมีคนใช้หลักนิติศาสตร์มาตีความคำสั่งที่ออกมาจากรัฐบาล ที่มีนักกฎหมายสำคัญๆ บอกว่า คำสั่งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผมว่าน่าสนใจนะ ช่วง… เข้าใจว่าช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่มีการฉีดน้ำแยกปทุมวัน แล้วประกาศภาวะฉุกเฉินขั้นรุนแรง มีคณบดีนิติศาสตร์ 4 มหาวิทยาลัยทำหนังสือ ไม่ได้ถึงนายกรัฐมนตรีนะ แต่ถึงประธานรัฐสภา ถึงประธานศาลฎีกาว่า มีข้อคิดเห็นต่อความไม่ชอบทางหลักนิติศาสตร์ ต่อคำประกาศภาวะฉุกเฉินฉบับนั้น วันรุ่งขึ้นรัฐบาลก็ถอน

ผมคิดว่า การตื่นตัวของสาขาวิชาในมหาวิทยาลัย การแสดงความรับผิดชอบของอาจารย์ทางด้านสื่อสารมวลชน ด้านวารสารศาสตร์ ในยามซึ่งวิชาบางวิชากลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และบางครั้งคนก็พูดไม่ดี กลายเป็นทับถม คนได้ประโยชน์ก็ดีใจ คนเสียประโยชน์ก็รู้สึกว่าสิ้นหวัง วิชาใดๆ ก็ตาม ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น ก็ทำให้วิชานั้นตกที่นั่งลำบาก ผมคิดว่าการปรับตัวของมหาวิทยาลัย ในความหมายของสถาบันที่เป็นสหวิทยาการของอนาคตนั้นจำเป็น มหาวิทยาลัยไม่ควรจะเป็นแค่มหาวิทยาลัยเพื่อตอบสนองโจทย์ของประเทศชาติ ทำตามที่รัฐบาลบอก มหาวิทยาลัยก็ต้องช่วยตีความด้วยว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ ต่อสาธารณะคืออะไร 

ดูเหมือนว่าอาจารย์กำลังจะชวนคุยเรื่องบทบาทของครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่จะนำเอาข้อถกเถียงและความขัดแย้งแห่งยุคสมัยไปค้นหาคำตอบเชิงวิชาการเพื่อหาทางออกให้ประเทศ

มหาวิทยาลัยที่เราเคยบอกว่าเป็นที่รวมของขุมปัญญา ที่รวมของสติปัญญา แต่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างที่เราเจอในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยควรจะมีบทบาทอะไร ตอนนี้มหาวิทยาลัยก็เป็นสถาบันหนึ่งที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายถูกรุกโดยหลายสิ่งหลายอย่าง จนบางทีก็ลืมตั้งคำถามกับตัวเองไปว่าบทบาทหลักของตัวเองคืออะไร ถูกรุกหมดเลย รวมไปถึงว่า ลูกศิษย์เรา ต้องไปประกันตัวแล้วสิเนี่ย บางที่ก็บอกว่า นั่นไม่ใช่ลูกศิษย์เรา ถึงจะเป็น ก็ไม่ค่อยมาเรียน เลยไม่ยอมรับ อะไรอย่างนี้ 

เพราะฉะนั้น มันกลายเป็นว่า มหาวิทยาลัยก็ชักงงๆ กับสถานการณ์ที่เจอ รู้แต่ว่า อยากจะยืนให้มันถูก แต่ว่ายังตีสถานการณ์ไม่แตก ทีนี้ปัญหาของผมก็คือว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่คืออะไร บทบาทของมหาวิทยาลัยคืออะไร ก็คือต้องมาถามบทบาทของแหล่งที่มีเยาวชนรุ่นใหม่ แหล่งที่มีการศึกษาค้นคว้า ควรจะมีบทบาทอะไรสำหรับสังคมซึ่งต้องการแก้ปัญหาที่ว่า แล้วเคยชินกับการแก้ปัญหาแบบสองพวก ทำยังไงมหาวิทยาลัยถึงจะทำหน้าที่ให้สังคม ซึ่งด่วนตัดสินใจแบบนี้ สถานการณ์ก็ประชิดตัวเหลือเกิน มหาวิทยาลัยมีส่วนทำให้สังคมเยือกเย็นขึ้นได้ไหม มองหน้ามองหลัง มองเห็นสี่ทิศได้ไหม แทนที่จะมองแค่สองทิศ มองเห็นสี่ทิศได้ไหม หกทิศได้ไหม พระพุทธเจ้ายังพูดถึงหกทิศได้เลย ท่านไม่ได้บอกว่าไม่ให้ทำ แต่ทำอะไรก็ต้องมองหลายทิศหลายทางให้กว้างไกล คำพูดทางศาสนาก็น่าสนใจ ทิศที่ท่านมองไม่ใช่มองไปข้างหน้าอย่างเดียว

ผมกำลังจะบอกว่า มหาวิทยาลัยจะตรวจสอบสถานะตัวเอง ในบริบทของสังคมที่มีความวุ่นวายลำบาก อย่างที่เป็นอยู่ ก็ต้องเข้าไปขลุกกับปัญหาที่เดือดร้อนด้วย หรือว่าไปฟังจากเด็กตัวเองก็ได้ หรือฟังด้วยกันก็ได้ แล้วขณะเดียวกันก็ตีความด้วย คืออย่าไปสะดุดว่าโจทย์ของประเทศอยู่ตรงที่เขาเขียนไว้ตรงโน้นตรงนี้ หรือยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งบางทีมันก็เปลี่ยนไป เพราะตอนนั้นก็ไม่ได้คิดเรื่องโควิด-19 พอเจอโควิด-19 ก็เมาเลย แล้วตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกจากโควิด-19 ยังไง ก็ยังยึดยุทธศาสตร์ชาติอย่างเดิม แล้วถ้าไม่ใช่ตามนั้นก็จะไม่ให้งบประมาณ คือล็อคตัวเองไปเยอะ

แน่นอนผู้ใหญ่หลายคนก็พยายามคิดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติในบทใหม่ แต่ว่ามันไม่ทันกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนช่วงโควิด เพราะตอนนี้ไม่รู้ว่าจะไปยังไง ที่ผมพูดอย่างนี้ก็คือว่า มหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นคู่คิดของสังคม ไม่ใช่ผู้ให้คำตอบอย่างเดียวแล้ว เป็นผู้คิด ผู้ร่วมทุกข์กับสังคมก็สำคัญ สังคมเดือดร้อนก็ต้องไปช่วย ลูกศิษย์ก็ต้องไปประกันตัว อันนี้คือการช่วยร่วมทุกข์กับลูกศิษย์ ถ้าเรากลายเป็นต้องมาระดมเงินอาจารย์ไปช่วยประกันตัวลูกศิษย์ มันก็เป็นบทบาทส่วนหนึ่ง แต่ว่าไม่พอ ต้องกลับมาทำหน้าที่พื้นฐานทางวิชาการ หน้าที่พื้นฐานที่ว่า เดินไปข้างหน้า มีทางเลือกกี่ทาง ที่บอกต้องปรับโน่นปรับนี่ ปรับมากปรับน้อยแค่ไหนจึงจะพอเหมาะพอสม 

อาจารย์เห็นภาพนี้หรือยังครับ (เปิดภาพให้ดู)

เห็นแล้วๆ

ภาพ: กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร / Thai News Pix

ภาพนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แม่ของไผ่ ดาวดิน แม่ของเพนกวิน อาจารย์ประจักษ์ ต้องโผกอดกันเพราะลูกไม่ได้ประกันตัว นี่คือสภาพที่เป็นอยู่ หลายคนไม่ได้เรียนต่อ ถ้ายังไม่มีการให้ประกันตัว อาจารย์เห็นภาพแล้วคิดอย่างไร

(นิ่งพักใหญ่) คือมันรันทดใจมาก มันปวดร้าว มัน… (นิ่ง) สำหรับเราที่อยู่ในมหาวิทยาลัย… ผมก็ไม่ค่อยรู้จักโลกอย่างอื่นเลย เรียนหนังสือเสร็จก็อยู่แค่นี้ สอนที่เมืองไทย เคยไปสอนญี่ปุ่นอยู่ 3 ปี ไปๆ มาๆ เยอรมนีนิดนึง อเมริกานิดหน่อย มาเจอภาพอย่างนี้ เด็กที่สอบเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยหลายที่ ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ซึ่ง…

สุดท้ายกลายเป็นว่าตกเป็นเหยื่อของการใช้วิชาหาคนผิด แล้วเราก็รู้สึกสะเทือนสะท้อนใจ โดยที่เรายังไม่ได้คุยสาระอะไรกันเลย คือแน่นอนภาพพวกนี้ ก่อนหน้าที่จะมาถึงอันนี้ รวมไปถึงการตัดสินใจว่าจะจับใครเข้าคุกไม่เข้าคุก แล้วก็ให้ใครเยี่ยมไม่เยี่ยม จะมีบางคนที่รู้สึกถูกใจ รู้สึกสะใจ แต่ผมก็อยากพูดเลยไปอีก ว่าเราตกที่นั่งอย่างนี้ได้ยังไง คือผมก็ไม่เคยนึกว่าสังคมไทยจะมีความขัดแย้งรุนแรงได้ แล้วก็มีการปล่อยให้มีการใช้วิธีการทางกระบวนการยุติธรรมไปซ้ำเติม 

อันที่จริง โจทย์อาจจะไม่ใช่แค่กระบวนการยุติธรรม คงจะเป็นโจทย์ของการเมือง เพราะว่าผลักภาระให้ทุกอย่างไปตัดสินที่กระบวนการยุติธรรมมันก็ไม่ถูก เพราะสังคมก็ไม่ได้มีสถาบันเดียว มันควรมีสถาบันการศึกษา สถาบันที่แลกเปลี่ยนความเห็นได้หลายอย่าง ถ้ามันคลี่คลายกันได้บ้าง ก็ไม่มีอะไรไปถึงขนาดนั้น พอหลายที่ไม่ทำหน้าที่เท่าที่ควรจะทำ ก็กลายเป็นว่า ไม่มีที่แลกเปลี่ยน ไม่มีที่คุย มีแต่ที่ไม่สะดวกที่จะพูดคุย ก็เลยผลักกันไปจนถึงขั้นที่ว่า ต้องหาวิธีพูดให้คนได้ยินกันเยอะๆ โดยใช้สื่อใหม่ ใช้การชุมนุม พูดธรรมดาไม่ได้ยินก็ต้องพูดให้เข้มๆ ให้แรงๆ คือเราตกเป็นเหยื่อของความสัมพันธ์ที่เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแล้ว

หมายความว่า สถานการณ์ที่อาจารย์ประจักษ์ แม่เพนกวิน แม่ไผ่ โผกอดกัน แล้วดูแววตา คือทำให้เราต้องช่วยกันตรวจสอบว่าไม่พอจริงๆ สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน เราแก้ปัญหาในวังวนประชิดตัวกันไปหมดเลย ใครช่วยได้ก็ช่วยกันไปก่อน แต่แท้ที่จริงโจทย์ที่ถูกผลักภาระจากระดับต่างๆ มาสู่อันนี้ เช่น ศาลต้องตัดสิน ศาลตัดสินก็มีทางเลือกอยู่ไม่กี่ทาง ทางใดทางหนึ่งก็ไม่ช่วยสังคมได้มากเท่าที่ควรนักหรอก เพราะว่าจริงๆ แล้วในมุมของการเมืองก็คือพวกที่เล่นการเมือง พวกที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ในรัฐสภา พวกที่อยู่พรรคนั้นพรรคนี้ บางคนเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว ต้องลองคุยกัน หาวิธีอื่นที่ทำให้สังคมไทยไม่ต้องโยนทุกอย่างไปให้ศาลตัดสินแต่ผู้เดียวได้ไหม คือศาลจะได้ไว้ใช้ในเรื่องที่สำคัญเร่งด่วนกว่านี้ ตอนนี้เราให้ศาลไปตัดสินเรื่องที่คนไม่อยากแตะ โยนไปเลย กระบวนการยุติธรรมก็ต้องกลั่นกรองเรื่องนี้ก่อนที่จะไปถึงมาตรา 112 รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านก็เคย… คืออันที่จริงในกระบวนการยุติธรรมก็มีคนทบทวนเรื่องนี้นะ แต่ว่า ตอนหลังไม่ทำดีกว่า ปล่อยให้เป็นเครื่องมือการเมือง มันดูสะดวก แต่สุดท้ายไม่มีใครได้อะไร

เราเจอแต่เรื่องรันทดใจ เราจะไปโทษใครก็ไม่ได้ ไปด่าพ่อล่อแม่ศาลก็ไม่ได้ ด่าพ่อล่อแม่อัยการก็แก้ไม่ค่อยได้ พูดว่านายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ บางทีแกทุบโต๊ะไป มีใครสนใจการทุบโต๊ะของนายกฯ ขนาดไหนเราก็ไม่รู้

เอาเข้าจริงๆ คือทุกคนอยู่ในกับดักบางอย่าง พื้นที่ปลอดภัยก็ไม่มีใครช่วยเกื้อกูลให้แข็งแรง ทำให้คนเคารพน้ำใจกัน แล้วก็เห็นประโยชน์ของการแลกเปลี่ยน ร่วมทุกข์กันมากขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะคุยเรื่องอนาคตได้อีกตั้งเยอะ ตอนนี้โจทย์อนาคตไม่มีการคุยเลย คุยแต่เรื่องเฉพาะหน้าเหล่านี้ซึ่งมีแต่ความรันทด

มหาวิทยาลัยเป็นที่อนุญาตให้คุยเรื่องเหล่านี้ได้แค่ไหน แล้วถ้าทำอย่างนี้อธิการมั่นคงใจไหมที่จะทำ เขาก็มีบรรยากาศทางอุดมศึกษาที่ให้เห็นบทบาทมหาวิทยาลัย ที่จะช่วยให้อนาคตมีความรู้สึกร่มเย็นที่จะคุยได้ ก็ต้องสร้างขึ้น ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าทุกฝ่าย รวมไปถึงสถาบันโดยลำดับเลยว่า

ถ้ามาผลักภาระกันอย่างนี้ สุดท้ายใครที่แหลมขึ้นมา กล้าหน่อยก็จะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แล้วเขาก็ต้องวนเวียนรับเคราะห์รับกรรมเหล่านั้นต่อไป ไม่มีใครรู้สึกขอบคุณเลยเหรอ ที่หลายคนทำมาแล้วก็รู้สึกว่าความกล้าของเขาก็ช่วยให้เราได้สติ เช่น ไผ่ ดาวดิน ถ้าไม่มีดาวดิน เรื่องเหมืองทองคำที่จังหวัดเลยจะได้รับความสนใจอย่างที่เป็นอยู่ไหม คือเรารับอานิสงส์จากความกล้าหาญของเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน ที่เขาลุกขึ้นมาดูแลเรื่องเหมืองทองคำ ถ้าเราไม่ศึกษาอย่างนี้เราก็จะนึกไม่ออก กลายเป็นว่าถ้าใครกล้าก็รับเคราะห์รับกรรมเพราะความกล้า แต่สังคมที่เกี่ยวข้องไม่ค่อยได้มีโอกาสทบทวนตัวเอง

ผมคิดว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลักปัญหานี้ออกจากตัวด้วยเหมือนกันหรือเปล่า สุดท้ายโลกอนาคตมันจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่เราทุกคน บางทีโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเราก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหา ถ้าเรารู้ตัวเราก็จะลดส่วนที่เราสร้างปัญหาได้ มันเลยทำให้คนรุ่นใหม่ที่เขาตื่นตัว เขาตั้งคำถามกับคนรุ่นเดิม ซึ่งก็ต้องหาวิธีแก้ไข ไม่ใช่แค่หาคนผิดมาลงโทษแล้วจะแก้ปัญหาได้ อาชญวิทยาเป็นวิชาที่ไม่ควรจะได้รับการมองแค่ประโยชน์ในการแก้ปัญหาด้วยการเอาคนผิดมาลงโทษ แต่จะเป็นวิชาที่ทำให้เราทบทวนด้วยว่า การหาคนผิดมาลงโทษอย่างเดียวไม่ใช่การแก้ปัญหาของสังคม หรือของโลก คือมนุษย์อยู่กันแค่นี้ ใช้วิธีฆ่ากันมันไม่ได้ช่วยโลกนี้ดี อยู่ที่ว่าจะช่วยให้เราปรับปรุงตนเองได้มากขึ้นยังไง พวกที่มีโอกาสมากก็ต้องทบทวนเรื่องนี้เยอะขึ้น แต่ตอนนี้คนทุกข์คนยากดูจะคับขัน เพราะว่าสภาพแวดล้อม ทรัพยากรก็น้อยลง ความคับขันจากการทำมาหากินจากโควิด-19 ก็มีเยอะขึ้น 

ตอนนี้รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่ารัฐบาลมีอำนาจรวมศูนย์เกินไป ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งปราศจากการยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาของแต่ละท้องถิ่นก็สำคัญ ยุทธศาสตร์ชาติจะไปบีบบังคับให้ทุกส่วนคิดตามกันหมดโดยที่ไม่ยอมรับข้อจำกัดของบริบทเดิม ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งคิดก่อนที่จะมีโควิด-19 ตอนนี้มีโควิด-19 ก็ยังไม่รู้จะไปยังไง ที่จะพูดก็คือว่า ยุทธศาสตร์ชาติไม่ควรจะมีเอกสารลงโทษหรือว่าเอาผิดเอาถูกกับคนมากเกินไป เป็นเอกสารของการถกกันเรื่องทิศทางส่วนหนึ่งได้แน่นอน แต่ไม่ควรจะเป็นตัวชี้ขาดจนเกินไป

ทวงคืนผืนป่าสร้างความทุกข์ยากแค่ไหน อันนี้ผมคิดว่าหลายๆ อย่าง เราลองดู เราทำกับชาวบ้านที่บางกลอย กับปู่คออี้ ทำยังไงกับ… มันไม่ใช่แค่คนดีไม่ดีในบางหน่วยงาน แต่ว่า เป็นเรื่องสังคมไทยมีความรู้สึกอย่างไรต่อพฤติกรรมที่ปฏิบัติกับคนที่เขาไม่ค่อยมีอำนาจ เป็นเด็ก เป็นคนกลุ่มน้อย เป็นผู้หญิง จับเขาเข้าคุก ดีว่ามีการทักบอกว่า ไม่ควรจะไปโกนหัวเขา หรือไปตัดผมเขา แต่ว่าตัดไปบางส่วนแล้ว ผมคิดว่าสังคมเราปล่อยให้กลไกหลายอย่างปฏิบัติตามข้ออ้างที่เคยชิน แล้วไม่เรียนรู้ด้วยกัน เราต้องร่วมทุกข์กันเยอะขึ้น ถ้าไม่ร่วมทุกข์กันเยอะขึ้นก็จะไปลงโทษคนถูกๆ ผิดๆ แล้วคนในสังคมก็ไม่ค่อยสนใจ เพราะไม่ใช่ญาติตัวเอง ไม่ใช่พวกตัวเอง

เพราะฉะนั้นผมคิดว่า สังคมไหนก็ตาม ที่ส่งเสริมการผลิตซ้ำโครงสร้างที่แบ่งพวกเป็นสองฝ่าย สังคมนั้นก็เห็นอยู่ว่าอันตรายมาก แต่สังคมไหนมีโครงสร้างการผลิตซ้ำของความรู้สึกว่า ร่วมทุกข์ ที่ทุกข์กันก็เป็นทุกข์ของเราเอง หรือลูกหลานของเราเหมือนกัน แล้วบางที เราเองอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายได้ด้วย สังคมไหนเป็นอย่างนั้นก็จะเป็นสังคมซึ่งเริ่มมีฐานของความหวัง ไม่ทำลายความหวังของอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะว่าเขาคิดไม่เหมือนเรา สังคมที่ทำลายความหวัง โดยบางทีก็ไม่รู้ตัว คือสังคมที่ไม่รู้ว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่ในความหวังด้วย เป็นสังคมซึ่งโหดร้ายโดยที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองโหดร้าย เป็นสังคมที่รักชาติ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นสังคมที่เลือดเย็นมากต่อคนอื่นที่ไม่ใช่พวกตนเอง ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่ตนเองนับอยู่ อันนี้เป็นสังคมแบบที่ไม่มีมนุษยธรรม สังคมที่ไม่มีมนุษยธรรม ควรหรือที่เราจะปล่อยให้ดำเนินไปโดยที่ไม่มีการปรับปรุงแก้ไข

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า