ภาพ: อารยา คงแป้น
ปลายปีที่แล้ว ทีม WAY Documantary ติดตาม สุรชัย ตรงงาม ลงพื้นที่หมู่บ้านคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อบันทึกการทำงานของเขาในฐานะเลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ผู้รับหน้าที่ทนายความรับผิดชอบคดีคลิตี้ และพบว่าชัยชนะของคดีประวัติศาสตร์นี้ ประกอบด้วยสหวิชาชีพ นอกเหนือจากมิติทางกฎหมาย นั่นทำให้ชัยชนะคดีที่คลิตี้เป็นเหมือน แม่น้ำหลายสาย
เดือนเมษายน 2559 WAY พบกับสุรชัยอีกครั้งที่หน้าศาลปกครอง วันนั้น เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด และ EnLAW รวมตัวกันยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้เพิกถอน คำสั่งที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท
แต่เรื่องยังเงียบ ศาลปกครองยังไม่มีทีท่าว่าจะรับหรือไม่รับฟ้อง
สุรชัย บอกว่า เป็นลักษณะพิเศษในยุครัฐบาลเผด็จการ เพราะ “ถ้าเราดูประวัติศาสตร์คำพิพากษาของศาลนะ ก็มักจะเป็นแบบนั้น ส่วนใหญ่แล้วกระบวนการยุติธรรมมักจะมาตรวจสอบคำสั่งของคณะรัฐประหารก็ต่อเมื่อพวกเขาลงจากอำนาจแทบทั้งสิ้นแล้ว นี่คือประวัติศาสตร์”
เขาว่าไปพลางหัวเราะไปพลาง
หลังจากร่างรัฐธรรมนูญได้รับเสียงบอกรับด้วยสัดส่วน 61.35 เปอร์เซ็นต์ของผู้ออกมาใช้สิทธิ ก็ทำให้เรานึกถึงประเด็นเรื่องสิทธิ สิทธชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ต่างจากหลายๆ ประเด็นที่ถูกเสียงในสังคมจำนวนหนึ่งตั้งคำถามถึงเนื้อหาสาระที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านเกิด
สุรชัยเคยเล่าให้ WAY ฟังถึงพัฒนาการเรื่องสิทธิชุมชนว่า ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญ 2540 การฟ้องร้องคดีด้านสิ่งแวดล้อมยังมีน้อย คดียุคแรกเป็นคดีเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหาย พูดง่ายๆ ว่าเกิดความเสียหายแล้วค่อยมาเรียกร้องฟ้องกัน การฟ้องร้องให้หน่วยงานรัฐมากำกับดูแล เป็นเรื่องยากมาก
ยุคหลังรัฐธรรมนูญ 2540 การสร้างกลไกที่รองรับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การตีความกฎหมายของศาล รวมถึงมีการสร้างองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น องค์กรศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น ก็ทำให้สิทธิของประชาชนและชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมเปิดวงกว้างมากขึ้น
“พูดง่ายๆ ว่าจากการฟ้องเยียวยาความเสียหายก็เป็นการฟ้องในเชิงการป้องกันมากขึ้น เช่น ถ้าจะมีโครงการหนึ่งขึ้นมา คำถามแรกที่จะเกิดก็คือมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ ไม่ต้องรอให้เกิดผลกระทบก่อน พูดง่ายๆ ว่าพอจะมีโครงการเกิดขึ้นก็ฟ้องก่อนเลย โครงการรับฟังความคิดเห็นชุมชนไหม มีการทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือไม่ รวมถึงว่าถ้าเกิดผลกระทบเสียหาย หน่วยงานรัฐกำกับดูแลดีไหม ตรวจสอบดำเนินการอย่างไร หลังรัฐธรรมนูญ 2540 คดีด้านสิ่งแวดล้อมจะมีลักษณะในเชิงป้องกันมากขึ้น” สุรชัยกล่าว
จากนั้นมา การใช้สิทธิของชุมชนในการกำหนดอนาคตของตัวเองเป็นสิ่งที่ดำเนินมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม แต่แล้วเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติทำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 อะไรๆ ก็ต่างไปจากเดิม
แต่เราหวังว่า อะไรๆ จะต่างไปจากเดิม
WAY: เรื่องสิทธิหรือสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีลักษณะที่ต่างไปจากพัฒนาการเดิมตั้งแต่ปี 2540 และ 2550 อย่างไรบ้าง
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามตินี้ เราเห็นอยู่แล้วว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนให้รัฐหรือระบบราชการมีความเข้มแข็ง มีระบบราชการเป็นตัวแทนเข้ามาควบคุมเข้ามากำกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันทางการเมือง
หมวดหมู่เรื่องสิทธิ มีการแยกมีการย้ายเนื้อหาสาระบางส่วนเข้าไปอยู่ภายใต้หมวดหมู่ที่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องสิทธิชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
เราต้องยอมรับว่า การใช้สิทธิชุมชนมีพัฒนาการการต่อสู้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 19 ปีแล้ว ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติให้การรับรองเรื่องสิทธิชุมชนในลักษณะเดิมที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ไว้เพียงบางส่วน
ถ้าเราดู มาตรา 43 (2) ที่เขียนว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” อันนี้จะเห็นว่ามีลักษณะที่รับรองทำนองเดียวกับมาตรา 66[i] เดิมอยู่ครับ
เพียงแต่ว่า พอมาดูมาตรา 67 เดิมในรัฐธรรมนูญปี 2550[ii] ก็จะพบว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้มีการโยกเนื้อหาในมาตรานี้ไปอยู่ในส่วนของที่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ มาตรา 58[iii] ซึ่งจะมีการตัดหลักการบางเรื่องที่สำคัญไป เช่น สิทธิชุมชนที่จะส่งเสริมรักษาอนุรักษ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามมาตรา 67 วรรค 1 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 อันนี้หายไปเลย เขาจะรับรองเฉพาะโครงการที่มีผลกระทบระดับรุนแรง ให้มีการดำเนินการทำรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและรับฟังความเห็น
ถ้ากล่าวโดยสรุป ลักษณะการต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนโดยอาศัยช่องทางกฎหมายมันมีพัฒนาการยาวนาน และได้รับการยอมรับในทางวัฒนธรรมที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาใช้สิทธิของเขาจริงๆ รวมถึงได้รับการยอมรับผ่านระบบกฎหมาย ผ่านการตีความจากคำพิพากษาระดับหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ มีการรับรองเรื่องสิทธิในบางส่วน มีบางส่วนหายไป บางเรื่องถูกทำให้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐไป
WAY: การย้ายเนื้อหาสาระเรื่อง ‘สิทธิ’ ไปอยู่ในหมวดที่ว่าด้วย ‘หน้าที่ของรัฐ’ บอกอะไรเราได้บ้าง
มันบอกว่า บางเรื่องไม่ใช่สิทธิของประชาชน แต่เป็นหน้าที่ของรัฐ พูดง่ายๆ ว่าแต่เดิมนั้นประชาชนเป็นเจ้าของสิทธิ เขาก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ทั้งเอกชนและรัฐปฏิบัติหรือเคารพสิทธิที่ชุมชนหรือบุคคลได้รับการรับรองคุ้มครองไว้ แต่พอเป็นหน้าที่ของรัฐก็หมายความว่า รัฐเป็นเจ้าของหน้าที่นั้น ประชาชนก็มีหน้าที่ไปเรียกร้องให้รัฐดำเนินการ ซึ่งผมคิดว่ามันมีความต่างกันทั้งในทางกฎหมายและทางวัฒนธรรมอยู่มาก
ความเป็นเจ้าของหรือความภาคภูมิใจว่า เราได้รับการรับรองว่าเรามีสิทธิที่จะกำหนดการดำรงอยู่ของเรา แต่เมื่อเป็นหน้าที่ของรัฐ เราต้องไปเรียกร้องกับรัฐเอา
WAY: ถ้ามาตรา 67 เดิม ที่มีข้อความว่า ‘หากโครงการใหญ่ที่มีผลกระทบจะต้องประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน’ ยังมีในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แล้วอะไรคือสิ่งที่น่ากังวล
ยังมีอยู่ในหมวดหมู่ หน้าที่ของรัฐ มาตรา 58
“การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการ ให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ”
แต่คำว่า ‘ตามที่กฎหมายบัญญัติ’ ก็จะเป็นปัญหาต่อไป เพราะถ้าเราไปดูบทเฉพาะกาล ตามมาตรา 278[iv] รัฐต้องไปออกกฎหมายลูกตามมาตรา 58 ภายใน 240 วันนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทั้งนี้ คำว่า ‘ตามที่กฎหมายบัญญัติ’ มันมีเงื่อนแง่ว่ากฎหมายลูกที่จะตามมา จะมีลักษณะขัดหรือจำกัดสิทธิ หรือไม่ได้สนับสนุนการใช้สิทธิของชุมชนมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งชุมชนต้องติดตามเรื่องนี้ครับ ว่าจะมีลักษณะการออกกฎหมายลูกตามมาให้สามารถสนับสนุนการใช้สิทธิของประชาชนมากยิ่งขึ้นไหม หรือมีการออกกฎหมายในทางปฏิบัติซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดหยุมหยิม ทำให้การใช้สิทธิมีข้อขัดข้องมากยิ่งขึ้นหรือไม่
มาตรา 58 ไม่เหมือนมาตรา 67 วรรค 1 เดิม สิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีหายไป เมื่อนำมาตรา 58 เทียบกับมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งเขียนดูเหมือนกว้างกว่า เพราะใช้คำว่า ‘การดำเนินใดๆ ของรัฐ…’ จากที่เคยเขียนว่า ‘การดำเนินโครงการหรือกิจกรรม…’
นอกจากนี้ การกำหนดระดับผลกระทบความรุนแรงของนโยบาย ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายลูกจะเขียนกลไกในรายละเอียดอย่างไร ถ้ากลไกในการกำหนดว่าต้องมีคณะกรรมการมาพิจารณาว่านโยบายที่ส่งผลกระทบรุนแรงมีอะไรบ้าง แล้วคณะกรรมการนั้นเน้นแต่ข้าราชการกับทุน ขาดภาคประชาชน และนักวิชาการในสัดส่วนที่เหมาะสม ก็อาจทำให้การกำหนดรายละเอียด การดำเนินการที่ต้องมีกลไกพิเศษไม่อยู่บนฐานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจริง แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ครับ
WAY: เราสามารถพูดได้ไหมว่า นิยามความหมายหรือตำแหน่งแห่งที่ที่สิทธิถูกเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่สอดคล้องกับสิทธิที่เกิดจากการใช้จริงหรือในเชิงวัฒนธรรมการต่อสู้ของชุมชน
ข้อเขียนในรัฐธรรมนูญจำกัดการใช้สิทธิมากขึ้น สมมุตินะ ชาวบ้านลุกขึ้นมาตรวจสอบโครงการที่เข้ามาผ่านกลไกต่างๆ ลุกขึ้นมาใช้สิทธิเรียกร้องปกป้องชุมชน เขาจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐอาจจะอ้างว่า สิ่งนี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงต่อรัฐ ซึ่งนี่คือข้อจำกัดที่ถูกระบุไว้ในเรื่องของสิทธิหลายเรื่องในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
น่าจะพูดได้ว่า มันเป็นการย้อนกลับที่ทำให้การบังคับใช้สิทธิต่างๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิชุมชนมีข้อจำกัดมากขึ้น ตอนนี้เราอาจจะยังไม่เห็น แต่ต่อจากนี้เราจะทราบ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายลูกที่ตามมา
การลุกขึ้นมาใช้สิทธิจะถูกอ้างว่ากระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผมคิดว่าในอนาคตจะมีการอ้างแบบนี้มากขึ้น เพราะรัฐที่เป็นราชการมากๆ และคำนึงถึงความมั่นคงมากๆ แบบนี้ จะมีการอ้างเรื่องนี้สูงมาก
มาตรา 44[v] พูดถึงเสรีภาพการชุมนุม มีข้อความทำนองว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้เว้นแต่…” เห็นมั้ย “บทบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ…” คำว่า ‘รักษาความมั่นคงของรัฐ’ ไม่มีปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่ทั้งสองฉบับนั้นจะมีมาตรา 63 ซึ่งใช้คำว่า “บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก”
แต่ร่างที่ผ่านประชามติ ใช้คำว่า เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งกว้างมาก ของเดิมพูดว่า รักษาความสงบเรียบร้อยในภาวะที่ประเทศอยู่ในภาวะพิเศษ แต่ของใหม่ใช้คำว่า ความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมันคืออะไรก็ได้
WAY: คุณรู้สึกอย่างไรหลังทราบผลประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม
ก็ผิดหวัง แต่ไม่ได้คาดหมายว่าร่างจะไม่ผ่าน ผมผิดหวังในส่วนของคนที่น่าจะพอเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าส่วนอื่น เช่น กรุงเทพฯ เพราะเรารู้อยู่ว่าการเผยแพร่ข้อมูลหรือการเข้าถึงข้อมูลในการลงประชามติครั้งนี้มีข้อจำกัด แต่ในกรุงเทพฯหรือชนชั้นกลางที่มีศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลได้ เขากลับไม่เห็นปัญหาการใช้อำนาจของรัฐบาลทหารที่จะเข้ามาครอบงำทางการเมืองอยู่ต่อไปอย่างยาวนาน มันส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมาก
เราก็ต้องยอมรับว่า เราต้องเผชิญกับอะไรต่อไป และเตรียมการดำเนินการ ผมคิดว่าการพยายามเปิดพื้นที่ทางการเมืองในการต่อรองเพื่อให้ประชาชนเข้าไปต่อรองกับอำนาจของรัฐบาลทหารหรือทุนนิยมขุนนางให้มากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป แม้จะมีข้อจำกัดจำนวนมากก็ตาม
[i] มาตรา 66 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
บุคคลที่รวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
[ii] มาตรา 67 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม
การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง
[iii] มาตรา 58 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติปี 2559
การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการ ให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง
ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า
[iv] มาตรา 278 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติปี 2559
ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีกำหนดดำเนินการให้จัดทำร่างกฎหมายที่จำเป็นตามมาตรา 58 มาตรา 62 และมาตรา 63 ให้แล้วเสร็จและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้น
ในกรณีที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ให้คณะรัฐมนตรีกำหนดระยะเวลาที่แต่ละหน่วยงานต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามความจำเป็นของแต่ละหน่วยงาน แต่ทั้งนี้เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกินสองร้อยสี่สิบวันตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐตามวรรคหนึ่งไม่อาจดำเนินการได้ภายในกำหนดเวลา ตามวรรคสอง ให้คณะรัฐมนตรีสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นพ้นจากตำแหน่ง
[v] มาตรา 44 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติปี 2559
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น