หลังเที่ยงคืนของวันที่ 25 มีนาคม 2563 คนไทยทุกคนจะอยู่ภายใต้การควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ผ่านการบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เพื่อทำความเข้าใจการระบาดและการใช้ ‘ยาแรง’ ของรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์
WAY พูดคุยกับ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการภัยพิบัติ
“ถ้าคุณไม่ต้องการให้ดิฉันอธิบายยืดยาว” ผศ.ดร.ทวิดา ว่า “ดิฉันก็จะบอกว่า ที่วันนี้ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเราไม่สามารถทำให้มาตรการ Social Distancing เข้มงวดได้ ส่วนนี้เกิดจากพฤติกรรมของพวกเรากันเอง รวมถึงมาตรการภาครัฐที่วางไว้ก่อนหน้า”
ลักษณะเฉพาะของการระบาดกับโครงสร้างของกฎหมายพิเศษ
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มักจะถูกใช้ในภาวะวิกฤติทางการเมือง หรือความไม่สงบเรียบร้อยอย่างอื่น พูดกันตรงๆ ก็มักจะเป็น riot เป็นความวุ่นวายทางการเมือง กฎหมายนี้ก็มีความเป็นสากลของมัน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ สำหรับสถานการณ์การระบาดครั้งนี้ ทำไมต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
หรือเพราะ พ.ร.บ.ควบคุมโรค เอาไม่อยู่
แล้ว พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้ไม่ได้เหรอ ซึ่งก็มีโครงสร้างและการให้อำนาจในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
เข้าใจว่า สำหรับสถานการณ์แบบนี้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็อาจจะไม่ตรงกับปัญหาที่กำลังเผชิญ ในแง่ที่ว่า การใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาฯ เราต้องมองเห็นสาธารณภัยในแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งตอนนี้มองไม่เห็น เหมือนเราต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นอยู่เหมือนกัน
การระบาดของโรคคราวนี้ต้องมีการจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังของผู้ที่เป็นพาหะ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นพาหะ
ถ้ากรณีนี้ใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ต้องถามว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้บัญชาการจังหวัด พร้อมที่จะจัดการหรือควบคุมพฤติกรรมคนอย่างเข้มงวดหรือเปล่า จัดการคนที่รวมกลุ่มกันยืนดื่มเบียร์ 3-4 คนหน้าเซเว่นฯ ได้หรือเปล่า พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีความเป็นพลเรือนสูง และไม่เคยถูก enact ให้ใช้ในการควบคุมพฤติกรรมคนในระดับนี้มาก่อน
เพราะฉะนั้น ถ้าถามถึงความสมเหตุสมผล พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ก็อาจจะถูกมองว่า อ่อนโยนกว่า แฮปปี้มากกว่า แต่ก็อีกนั่นแหละ ก็ต้องมองกลับว่าเราสามารถควบคุมพฤติกรรมคนด้วย พ.ร.บ. สองฉบับนั้น ได้จริงรึเปล่า
คำตอบตอนนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่
มันจึงไปเข้าทาง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกใช้ในภาวะไม่สงบเรียบร้อยจากการก่อการร้ายหรือความโกลาหลแบบอื่นๆ ในสถานการณ์แบบนั้น รัฐต้องการจำกัดการออกจากบ้านของผู้คน เพราะไม่รู้ว่าพื้นที่เสี่ยงอยู่ตรงไหน แต่สำหรับโรคระบาดนี้เรารู้ – ถูกไหม แต่บังเอิญว่าตอนนี้ความเสี่ยงมันเข้าบ้านด้วย เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าเราเป็นพาหะหรือเปล่า เพราะฉะนั้นจึงต้องทำให้สถานการณ์งวดขึ้น
ทั้งๆ ที่ถ้าถามในความรู้สึกของดิฉัน ดิฉันก็คิดว่ามันแรง
แต่ถ้าถามว่า แล้วจะจำกัดพฤติกรรมหรือการเคลื่อนที่ของผู้คนยังไง ก็ไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนกัน ถ้าเราเรียกร้องให้คนจำกัดตัวเองได้ มันคงไม่มาถึงวันนี้ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นมาตรการรัฐที่พลาดมาตั้งแต่แรกด้วยนะ ที่ตัดสินใจเบาไปในช่วงแรกของการระบาด
จาก พ.ร.บ.ควบคุมโรค สู่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
โดยปกติ เราใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ในสถานการณ์แบบนี้
พ.ร.บ.ควบคุมโรค ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการจัดการพื้นที่ของตนเองโดยอิสระและเบ็ดเสร็จ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะใช้อำนาจในการตัดสินใจผ่านข้อเสนอแนะและความเห็นชอบของคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด ประกอบด้วย คนที่มีความรู้เกี่ยวกับโรค รวมถึงกรมควบคุมโรคจากส่วนกลาง ดังนั้นรูปแบบของ พ.ร.บ.ควบคุมโรค เอาเข้าจริงมันเวิร์คอยู่แล้ว
เหตุผลที่มันเวิร์คก็คือ นายกรัฐมนตรีสามารถกำกับคณะกรรมการจังหวัดได้อยู่แล้ว ดิฉันใช้คำว่า ‘กำกับ’ นะ แม้ว่า พ.ร.บ.ควบคุมโรค จะไม่ได้เขียนให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จและเป็นผู้สั่งการทุกสิ่ง แต่ก็สามารถสั่งการได้ด้วยวิธีการบริหารจัดการตามรูปแบบของการบริหารจัดการรัฐไทยอยู่แล้ว ในทางปฏิบัติสามารถทำได้อยู่แล้ว
แต่ตลอดระยะเวลาที่เราใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค จะเห็นว่า มันเกิดอาการที่เราเรียกว่า ความลักลั่นระหว่างจังหวัด จังหวัดนั้นทำแบบนี้ จังหวัดนี้ทำแบบนั้น ซึ่งในทางกลับกัน ความลักลั่นก็เกิดจากการให้อำนาจการตัดสินใจ แต่ส่วนกลางไม่ได้ส่งไกด์ไลน์ที่ชัดเจนลงไป ว่าจังหวัดที่มี criteria แบบไหน ผู้ป่วยจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ การระบาดเป็นอย่างไร ลักษณะพื้นที่เป็นแบบไหน ควรจะใช้มาตรการแบบใด มันไม่ได้มีไกด์ไลน์
ดังนั้นจึงเป็นการเลือกตัดสินใจของจังหวัด เมื่อเป็นการเลือกของจังหวัด ก็เลยทำให้ในนัยยะหนึ่ง การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะตัดสินใจอะไร ก็ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจนั้นด้วยนะ ในขณะเดียวกัน หากไม่ตัดสินใจอะไรเลย ก็ต้องรับผิดชอบการไม่ตัดสินใจอะไรเลยด้วย ดังนั้นความรับผิดรับชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดจึงสูงมาก
การตัดสินใจอะไรไป ย่อมต้องเกิดความเสียหายในมิติใดมิติหนึ่ง เช่น การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ สังคม การไม่มีการจ้างงาน อัตราการเกิดอาชญากรรมที่สูงขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค แทนที่จะมีคุณประโยชน์ เพราะมีเจตนารมณ์ดี ไม่ให้โรคแพร่กระจาย แต่กลับเป็นข้อจำกัดในการตัดสินใจ จะตัดสินใจอย่างไร ตัดสินใจได้ไหม ผู้ว่าราชการหลายๆ จังหวัดจะตัดสินใจหรือเปล่า บางจังหวัดตัดสินใจไปแล้ว บางจังหวัดยังรั้งรอ ในสถานการณ์ที่ผ่านมาก็เกิดเป็นภาพนี้ ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของกฎหมายดี
สาธารณภัยทุกประเภทรวมถึงโรคระบาด เป็นเรื่องที่เกิดในพื้นที่ก่อนเสมอ ดังนั้นการกำจัดและควบคุมโดยเจ้าของพื้นที่คือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เร็ว แรง และเหมาะกับบริบทของจังหวัดนั้นๆ เพราะแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดก็มีบริบทและการจัดการที่แตกต่างกัน
วิธีที่จะทำให้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค มีประสิทธิภาพ จะต้องมีไกด์ไลน์จากส่วนกลาง ว่ามีวิธีบริหารจัดการอย่างไร และทำเป็นฉากทัศน์หรือ scenario ไว้ว่า หากแต่ละจังหวัดมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ควรจะเลือกใช้วิธีการบริหารจัดการลักษณะใด แล้วให้จังหวัดเขาตัดสินใจเอง เขาอาจจะผสมผสานระหว่างไกด์ไลน์ที่ 1 กับไกด์ไลน์ที่ 2 ก็ให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของเขา แต่อย่างน้อยมีมาตรฐานกลางในการบริหารจัดการ
พ.ร.บ.ควบคุมโรค มุ่งเน้นไปที่ทางการแพทย์สูงมาก ขั้นตอน ระบบ ระเบียบต่างๆ จะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางการแพทย์ เพราะมันคือโรค มันจึงสมเหตุสมผลที่จะใช้แบบนี้
แต่การที่ กรม กระทรวง ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างกำกับหน่วยงานภายใต้อำนาจตน ผ่าน พ.ร.บ.ควบคุมโรค มันจึงเกิดความไม่เชื่อมต่อกัน ไม่บูรณาการ ข้อมูลแตกกระจาย ถ้าเราดูช่วงแรกๆ กระทรวงสาธารณสุขอัพเดตที นายกรัฐมนตรีอัพเดตที เราก็จะงงไปหมด
การใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ในช่วงที่ผ่านมา ไม่สามารถทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวคุณกับสถานการณ์ของโรคที่กำลังระบาด มันเป็นเรื่องของคุณ ตราบใดที่คุณยังไม่ป่วย ตราบใดที่คุณยังไม่เสี่ยง พ.ร.บ.ควบคุมโรค ทำให้เรารู้สึกว่า มันเป็นปฏิบัติการทางการแพทย์เป็นหลัก อันนี้เป็นเรื่องทางจิตวิทยา เลยทำให้คนยังไม่เข้มงวดกับการจำกัดการเคลื่อนที่ของตัวเอง
แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทุกคนจะรู้สึกถูกจำกัด แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์มันซีเรียส โรคกับคุณคือเรื่องเดียวกัน นี่คือความต่างเชิงจิตวิทยาที่ทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกนำมาใช้ มีความถูกต้องในการประกาศใช้ขึ้นมา
ดังนั้น หากมีการจัดกระบวนทัศน์ในการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ก็ไม่มีความจำเป็นต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สร้างบรรยากาศในสถานการณ์ที่ต้องเข้มงวด
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดการบังคับและจำกัดสิทธิเสรีภาพ มันดูน่ากลัวจริง แต่ข้อดีของมันคือทำให้บรรยากาศหรือความเข้าใจของผู้คนตรงกันภายใต้สถานการณ์ที่ซีเรียส ดังนั้นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในแง่บรรยากาศ ในแง่การบังคับ social distancing แบบเข้มงวด มันจะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้จะไปช่วยมาตรการของรัฐด้วย
สังเกตไหมว่า ผู้ว่าราชการบางจังหวัดสั่งปิดพื้นที่บางพื้นที่ในตอนกลางคืนแล้ว มันทำให้คนตัดสินใจมีอำนาจ มีหลังพิงด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ ผู้ว่าฯ สั่งปิด ก็โดนผู้ประกอบการ โดนแรงงานด่า ประท้วงหน้าจวนผู้ว่าฯ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เอื้อให้เขาทำได้
ในขณะเดียวกัน การออกกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงานในช่วงวิกฤติก็จะเกิดขึ้น การทำงานก็จะสะดวกขึ้น การทุ่มงบประมาณไปจัดหาทรัพยากรทางด้านการแพทย์ เวชภัณฑ์ต่างๆ การคัดกรอง แอพพลิเคชั่น การเอาศักยภาพของทรัพยากรลงไปให้ อสม. สาธารณสุขจังหวัด รพสต. ก็จะสะดวกและรวดเร็วขึ้น
เจตนาของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าตอบคำถามคุณ ถึงวันนี้คงต้องใช้ ใช้ด้วยเหตุผลที่ฉันพูดมาทั้งหมด
แต่ถ้าฟังดีๆ เหตุผลเรื่องการยืดหยุ่นระเบียบ เหตุผลของการบัญชาการในพื้นที่ เอาเข้าจริง ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ก็สามารถทำได้ แต่ต้องทำอย่างมีไกด์ไลน์ และมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้พื้นที่ทำงานได้
แต่สิ่งที่ พ.ร.บ.ควบคุมโรค กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือการสร้างบรรยากาศของ social distancing และบังคับให้คนลดความเสี่ยงของตนเอง ลดการนำตัวเองเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง จำกัดตัวเองออกจากการเป็นปัจจัยเสี่ยงของคนอื่น ตรงนี้สำคัญมาก
ควบคุมโรคหรือการสื่อสาร
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมาเพื่อต้องการทำให้ปัจจัยเชิงจิตวิทยา ทำให้ soft measure ที่เกาะอยู่กับ hard measure ได้ผล ก็คือคุณต้องรู้สึกว่า นี่มันซีเรียสแล้ว การที่บอกว่าอย่าให้ผู้สูงวัยออกจากบ้าน อย่าไปไหนมาไหนโดยไม่จำเป็น เราก็บอกมาตั้งแต่ใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค แล้ว แต่ไม่มีใครทำ เมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมา เขียนชัดเจนเลย อายุ 70 ปี กรุณาอยู่แต่ในบ้าน ไม่จำเป็นอย่าออกมา แปลว่าถ้าคุณออกมา ก็จะถูกมองอย่างแปลกประหลาด หรืออาจจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถาม เห็นไหมว่ามันคือจิตวิทยา ถ้าคุณยังไปจับกลุ่มกัน คุณก็อาจจะทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะเพื่อนร่วมสังคมของคุณก็อาจจะมองและตั้งคำถาม ว่าทำไมยังทำแบบนี้อยู่
ตรงนี้จะลดลงและช่วยทางการแพทย์ได้เยอะ
แต่ถามว่าทำไมคนไปโฟกัสเรื่องการควบคุมข่าวสาร
คนที่รับข่าวคนแรกคือสื่อมวลชน สื่อมวลชนมีอคตินะ (หัวเราะ) สื่อมวลชนก็รู้อยู่แล้วว่ารัฐต้องการต่อกรกับ fake news และการที่รัฐไม่สามารถควบคุมข้อมูลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
แต่เพื่อความยุติธรรมก็ต้องบอกว่า ข้อมูลที่ออกไป มันทำให้คนสับสนจริง อันนี้เกิดจากปัญหาของภาครัฐที่ไม่สามารถจัดการข้อมูลได้ ดังนั้นการที่จะจัดการข้อมูลเสียใหม่ การจะควบคุมข้อมูลข่าวสาร ส่วนหนึ่งของการทำให้ข้อมูลมีเอกภาพคือการจัดการขั้นเด็ดขาดกับข้อมูลที่ตัวเองควบคุมไม่ได้ อันนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งของเขา
ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสื่อมวลชนจะทำข่าวไม่ได้ ไม่ใช่เลย เพียงแต่ว่าเขากำกับให้สิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเขาที่มีอิมแพคต่อสังคมแรงๆ มันหายไป
สัปดาห์แสดงอาการ
สัปดาห์หน้าคนที่มีเชื้อจะเริ่มแสดงอาการ สัปดาห์หน้าจะเป็นสัปดาห์แสดงอาการ คำถามคือจะเอาคนที่แสดงอาการเหล่านี้ไปไว้ไหน เพราะเขากลับเข้า กทม. ไม่ได้ รพสต. รับได้แค่ไหน เนื่องจากเป็น primary care แล้วโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด พร้อมรับมือไหม ตรงนี้เรื่องใหญ่นะ ซึ่งจะต้องมีมาตรการตามออกมา ไม่อย่างนั้นจะทำอะไรไม่ได้
ในแต่ละเรื่องที่ออกมาจะต้องมีรายละเอียดตามมาอีกเยอะ เช่น สถานที่ที่ไม่ให้ไป มันจะต้องมี 2 ประเภท คือสถานที่เสี่ยงกับสถานที่ที่คาดว่าจะเสี่ยง จะอยู่ข้างนอกได้ถึงกี่โมง ไปไหนมาไหนได้บ้างไหม เซเว่นฯ เปิด 24 ชั่วโมงไหม หรือแค่ 3 ทุ่มให้ปิด เปิดอีกทีตี 5 รถสาธารณะเอาไง รายละเอียดเหล่านี้มันจะต้องออกมาอีก ดิฉันอ่านแบบนี้นะ
ภัยพิบัติ แรงงัด การเมือง
ภัยพิบัติคู่การเมืองเสมอมาและจะตลอดไป
ดิฉันกลับมองอีกแบบ การทำงานแบบเบี้ยหัวแตกในช่วงที่ผ่านมา กรมที่อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกันยังไม่ค่อยจะคุยกันดีเลย อันนี้ไม่ต้องวิกฤติหรอกค่ะ ภาวะปกติเราก็มีปัญหานี้ เพราะฉะนั้นถ้าตอบแบบไม่คิดอะไรมาก การรวบอำนาจในกรณีนี้มันไม่มีสาระสำคัญ ก็คุณรวบไม่ได้ในภาวะปกติคุณจะทำได้ก็ในภาวะวิกฤติ พอวิกฤติหายก็แตกกันใหม่
ที่ผ่านมา มันมีความแตกกระจายในการตัดสินใจ สังเกตไหมคะ หมอหลายทีมเหลือเกิน กระทั่งนายกฯ ตัดสินใจ ในขณะเดียวกันแต่ละจังหวัดตัดสินใจไม่เหมือนกัน ผู้ว่าฯ แต่ละท่านมีแรงผลักไม่เหมือนกัน ขนาดผู้ว่าฯ กทม. จะปิดหรือไม่ปิด ยักแย่ยักยันกันอยู่นั่นน่ะกับการแถลงข่าว แค่นี้ก็รู้แล้วว่าการเมืองมีส่วนตลอด คนหนึ่งทำแบบหนึ่ง อีกคนทำอีกแบบ ข้อมูลก็กระจัดกระจาย แสดงว่ามันมีแรงงัดบางอย่างอยู่ตลอดเวลาในการทำงาน
ดังนั้น ดิฉันคิดว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถามว่าเป็นการเมืองเพื่อแก้การเมืองไหม ก็ใช่แหละค่ะ คือในภาวะนี้ถ้าขืนทำงานในภาวะแบบที่เป็นมา คุย…ก็ไม่ค่อยคุย ร่วมมือกัน…ก็ไม่ค่อย แลกข้อมูลหรือ…ก็ไม่ แต่แข่งแถลงข่าวกันจัง นี่คือการเมืองตั้งแต่ภาวะปกติจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นหากต้องใช้อะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อทำให้ชัดเจนว่า ต่อจากนี้ขัดขืนฉันไม่ได้แล้วนะ ฟังฉันหน่อยนะงานนี้ แถลงก็แถลงทีเดียว ข้อมูลเดียวกัน ดิฉันเข้าใจว่ามันเป็นแบบนี้
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสถานการณ์นี้ ไม่ใช่การเมืองที่จะยึดอำนาจ เพราะเดี๋ยวก็ต้องปล่อยกลับ ปฏิบัติการนี้จบก็เลิกกัน เพราะเขามีจำนวนการแพร่เชื้อที่ลดลงและจำนวนคนตาย เป็นเดิมพัน
อย่างที่บอก ฉันกลับมองว่ามันเป็นการเมืองในมุมกลับ เป็นการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการตัดสินใจหลายๆ เรื่อง หากยังมีการใช้การเมืองในรูปแบบที่ไม่เป็นระบบระเบียบ เดี๋ยวเรามาดูเกมต่อไปสิ นายกรัฐมนตรีเป็นคนตัดสินใจทั้งหมดก็จริง แต่มันแบ่งส่วนรับผิดชอบ สาธารณสุขรับผิดชอบเรื่องหนึ่ง มหาดไทยรับผิดชอบเรื่องหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบอีกเรื่องหนึ่ง
ดังนั้นเมื่อแบ่งแบบนี้ มันจะมีการรับผิดชอบเป็นเรื่องๆ แต่มันจะมีปัญหาบางอย่างวิ่งเข้าหากัน เช่น ขณะนี้ถ้าผู้ว่าฯ จะตัดสินใจอะไรบางอย่าง มันต้องตัดสินใจภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บวกกับเนื้อหาบางอย่างของ พ.ร.บ.ควบคุมโรค เพราะมีมูลเหตุของสาธารณสุขและการแพทย์ที่ต้องจัดการ แล้วพอมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมา กรรมการหลายๆ เรื่องที่เคยตั้งมาตั้งแต่ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ยังใช้ได้อยู่ไหม แล้วมันจะรวมร่างหรือแตกร่างยังไง อันนี้ก็อาจจะเป็นการเมืองอีกประเภทหนึ่งในการจัดสรรโครงสร้างใหม่ทั้งหมด
หรือส่วนกลางจะเล่นการเมืองแบบรวมศูนย์ไหม ท้องถิ่นสามารถแย้งหรือขออำนาจตัดสินใจบางอย่างที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้หรือไม่ นี่ก็อาจจะเป็นการเมืองอีกหน้าที่จะโผล่ออกมา
เบ็ดเสร็จแต่สับสน
การที่ข่าวสารมันสับสน อย่างแรกคือ รัฐบาลไม่คุ้นชินกับการบริหารจัดการโรคระบาด มันก็เลยทำให้ตั้งหลักไม่ทัน สอง ด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์โควิด มันเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อไล่จับสถานการณ์ที่วิ่งนำไปมากแล้ว ดังนั้นเมื่อตั้งหลักไม่ทันและไม่คุ้นเคยบวกกับสปีดของเรื่องมันไปไกลมาก ก็เลยทำให้ศูนย์ที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลาง ไม่ว่าจะมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค หรือไม่ ถ้าตั้งหลักไม่ทันก็ต้องปล่อยให้กระบวนการใดกระบวนการหนึ่งดำเนินการไปก่อน ซึ่งก็เป็นกระบวนการทางการแพทย์แน่นอน เพราะงานนี้ต้องใช้แพทย์
ดังนั้น ถ้าไม่จัดการข้อมูลให้ตรง ประสานงานกันดีๆ ข้อมูลจะเป็นยังไง ใครเป็นคนสั่ง สั่งสาย ‘การจัดการทางการแพทย์’ กับสั่งสาย ‘การจัดการเพื่อให้ได้จัดการทางการแพทย์’ ไม่เหมือนกันนะ ‘การจัดการทางการแพทย์’ ก็เรื่องหนึ่ง ‘การจัดการเพื่อให้ได้จัดการทางการแพทย์’ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
การจัดการทางการแพทย์ ต้องให้แพทย์ทำ
การจัดการเพื่อให้ได้จัดการทางการแพทย์ ต้องให้ฝั่งบริหารจัดการ มาตรการภาครัฐ อำนวยการทางสังคม เป็นคนทำ
แต่ต้องสอดรับและเป็นไปตามมาตรฐานของการจัดการทางการแพทย์ ดังนั้นมันต้องมีการประสานงาน และต้องเก่งมาก มิฉะนั้นแล้วต่อให้ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ รวมศูนย์หรือไม่รวมศูนย์ ชำนาญหรือไม่ชำนาญก็เละค่ะ
นี่ยังไม่นับรวมว่าในส่วนของพื้นที่ การรายงานข้อมูล การทำตัวเลขคนไข้ รวบรวมตัวเลขสถานการณ์ การวิเคราะห์ความเสี่ยงในพื้นที่ปลายทางกลับขึ้นมาให้นั้น มีความสามารถมากแค่ไหน เพราะการจัดการเพื่อให้ได้จัดการทางการแพทย์ มันไม่ได้มีสายการแพทย์อย่างเดียว มันต้องมีสายพื้นที่ สายบริหารจัดการหลายๆ เรื่องที่ต้องมาประกบคู่กัน
พีระมิดของอำนาจ
รูปแบบการปกครองของทหารมีรูปแบบสายบังคับบัญชาที่ชัดเจนมาก สายการบังคับบัญชาแนวดิ่งแล้วจบ ไม่มีแนวทแยง ขึ้นหรือลง ลงแล้วขึ้น ให้วุ่นวายใจเหมือนพลเรือน เขาปกครองแบบการบัญชาการกองร้อย ดังนั้น span of control หรือความกว้างในการควบคุมของทหารจะเยอะ หนึ่งคนคุมเยอะไปหมด และมีแนวโน้มจะรายงานตรงขึ้นกับคนคนเดียว ดังนั้นมันเป็นพีระมิดแน่นอน ไม่แปลกเลย
การปกครองแบบทหารเป็น command และ control สุดโต่ง ดังนั้นเมื่อมาบริหารจัดการภาครัฐก็ทำให้เป็นการรวมศูนย์ ทำให้อำนาจเบ็ดเสร็จถูกสั่งจากส่วนกลาง เป็นวิถีของเขาเลย
แต่เมื่อมาเจอสถานการณ์ที่ต้องปฏิบัติการเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนอื่นที่เป็นพลเรือน ประกอบกับเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีรัฐมนตรีมาจากหลายค่าย หลายสาย รัฐมนตรีมีค่ายของตัวเอง มีผู้เชี่ยวชาญของตัวเอง มีคณะที่ปรึกษาเป็นของตัวเอง มันก็หลากหลายและเป็นภาพที่ออกมาอย่างที่เห็น
Single Command
โดยปกติแล้วระบบในการบริหารวิกฤติ จะมีระบบสั่งการที่ค่อนข้างชัดเจน เขียนให้ถูกนะคะ ‘ระบบของการสั่งการที่ชัดเจน’ ซึ่งไม่ใช่การรวมศูนย์
single command ไม่ได้แปลว่า สั่งโดยคนคนเดียวทุกครั้งไปในทุกเรื่องและทุกระดับ
แต่มีความหมายว่า มีคำสั่งในทิศทางเดียว แล้วแยกกันบัญชาการลดหลั่นกันตามพื้นที่และการสั่งการ ดังนั้น ข้าราชการระดับปฏิบัติการมีหน้าที่ทำอะไร ก็ต้องฟังผู้บัญชาการของตน ถ้าระบบนี้ดีมันจะไม่มีการสั่งสวน สั่งเพิ่ม สั่งข้าม หรือไปแย่งกันสั่ง มันมีระบบของมันอยู่ แต่เราไม่ถูกซักซ้อมระบบแบบนี้
อ่านให้ขาด ใจเด็ด ดำเนินการ
คนชอบมองปลายเหตุในการเปรียบเทียบ เราชอบไปเทียบจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ แต่เราต้องคุยกันแบบนี้ก่อน
จีนเป็นประเทศต้นเรื่อง วิธีการของจีนคือเด็ดขาด ปิดเมืองที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งเป็นการปิดในเมืองต้นเหตุ แล้วมาตรการของจีนสั่งแล้วทำได้ทุกอย่าง สั่งคนสวมหน้ากากก็สั่งได้ เราสั่งได้ไหม? นี่คือความต่างนะ เขาใช้มาตรการเด็ดขาดกับเมืองต้นเหตุ แต่เมืองอื่นเขาไม่ใช้ แต่เขาสามารถทำให้คนทุกเมืองใส่หน้ากากได้
เกาหลีใต้ บทเรียนจากซาร์สกับเมอร์ส เกาหลีใต้ใช้วิธีทุ่มทุนสร้างระบบในการทำ Drive Thru Test เกาหลีใต้คัดกรองจำนวนคนที่ป่วยทั้งหมดเอามากองรวมกันได้เร็ว แล้วจัดการกับคนกลุ่มนี้ คนที่เหลือใส่หน้ากากให้ทำ social distancing เกาหลีดูแลเคสที่กวาดต้อนมาด้วยการส่งข้าวส่งน้ำ แต่คนที่เหลือทำ social distancing ญี่ปุ่นก็คล้ายกัน สิงคโปร์ก็ปิดเมืองไปตั้งแต่แรก
ประเทศไทย ช่วงแรกๆ เราไม่รู้ว่ามันฟักตัว 14 วัน 21 วัน เราจึงเบามือกับมันไปในแง่ไม่รู้ แต่มาตรการของเราเบา เราคัดกรองนักท่องเที่ยวเบาจริงๆ จึงทำให้เราพลาด เราไม่ควบคุม เราไม่กักกัน เราไม่ติดตาม ระบบทางการแพทย์ของเราดี มาตรการทางสังคม social distancing ประชาชนของประเทศอื่นมีวินัยกว่า เข้มงวดกว่า
ในแง่ของผู้นำและทีมของผู้นำก็ชัดเจนน่ะค่ะ ถ้าเป็นเลิศก็ไต้หวัน รู้ว่าตัวเองติดจีน มีคนข้ามไปข้ามมาเยอะ จึงตัดสินใจแบบไม่เกรงกลัวใคร ลดเที่ยวบิน ปิดเที่ยวบินจากประเทศต้นทาง ผู้นำพร้อมออกกฎหมาย สั่งไม่ให้ส่งออกหน้ากาก ให้คนไต้หวันมีเพียงพอก่อน เอาเงินไปพยุงธุรกิจการท่องเที่ยว สักพักออกคูปองให้คนไปช็อปปิ้ง ไปซื้อของ
มันอยู่ที่การมองฉากทัศน์ ของอนาคต ของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และใจเด็ดมากพอที่จะดำเนินการ