ครั้งหนึ่งในเขตซอชอน ประเทศเกาหลีใต้ แท็กซี่เป็นสิ่งที่มีราคาสูงจนเอื้อมไม่ถึงสำหรับชาวบ้านในชนบท การจะออกไปหาหมอหรือซื้อของนอกหมู่บ้านจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับผูู้สูงอายุ แต่ปัจจุบัน แม้จะเป็นคนยากจนที่สุดในหมู่บ้านก็สามารถจ่ายค่ารถได้อย่างง่ายดาย ด้วยนโยบายแท็กซี่แห่งความหวัง (Taxi of Hope) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘แท็กซี่ 100 วอน’ (the 100-won taxi) หรือแท็กซี่ที่จ่ายเพียงประมาณ 2 บาท
ย้อนกลับไปในปี 2013 เกาหลีใต้เผชิญกับวิกฤติจำนวนประชากรลดลง เช่นเดียวกันกับจำนวนของผู้โดยสารรถประจำทาง ส่งผลให้สายการเดินรถที่ไม่มีผู้โดยสารมากพอต้องถูกยกเลิก ต่อมาเมื่อกลุ่มคนขับรถประท้วงหยุดงาน ถนนที่เคยมีรถประจำทางวิ่งผ่าน 3 คันต่อวัน ก็ไม่มีรถวิ่งผ่านอีกเลย ทำให้ผู้คนที่ไม่มีรถส่วนตัวเหมือนถูกผูกติดไว้กับพื้นที่ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแท็กซี่ 100 วอนขึ้น โดยคิดค่าโดยสารเพียง 100 วอน สำหรับการเดินทางระยะสั้น และส่วนที่เหลือทางเขตจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายแทน
ไม่เฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุเท่านั้น แท็กซี่ 100 วอน ยังได้รับความนิยมในหมู่ผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย หรือใครก็ตามที่อยู่ในหมู่บ้านห่างจากป้ายรอรถประจำทางในระยะ 700 เมตร ก็สามารถเรียกแท็กซี่ 100 วอนได้ จากเดิมค่าโดยสารสำหรับการเดินทางด้วยแท็กซี่จะอยู่ที่ 10,000-25,000 วอน แนวคิดดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลแห่งชาติโซล อีกทั้งยังขยายการบริการไปยังเขตอื่นๆ ด้วย ทำให้เกิดการปฏิวัติขนส่งสาธารณะในพื้นที่ห่างไกลของเกาหลีใต้
รัฐบาลเกาหลีใต้มองว่า การสนับสนุนบริการแท็กซี่ 100 วอน มีความคุ้มค่ายิ่งกว่าการให้เงินอุดหนุนรถประจำทางเพิ่มหรือการสร้างถนนให้กว้างขึ้น เพื่อให้รถวิ่งผ่านไปยังหมู่บ้านกลางหุบเขาได้สะดวก ด้านคนขับแท็กซี่ในท้องถิ่นเองก็ยินดีกับนโยบายนี้เช่นกัน เพราะช่วยสร้างรายได้พิเศษ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างคนขับรถกับผู้สูงอายุในชุมชน เช่น หากวันใดคนขับแท็กซี่ไม่พบผู้โดยสารตามปกติก็อาจช่วยให้เอะใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาหรือไม่
แต่เดิมเขตซอชอนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO จากวัฒนธรรมดั้งเดิม ได้แก่ วิถีทอผ้าเก่าแก่จากต้นรามี มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมไปด้วยสัตว์น้ำ มีแหล่งผลิตซอกอกจู (sogokju) ไวน์ข้าวที่เก่าแก่ที่สุดในเกาหลี อีกทั้งยังมีนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศมาดูนกในฤดูนกย้ายถิ่น แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมจึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชนบท คนหนุ่มสาวต่างออกไปหางานทำในเมืองใหญ่ ทำให้ประชากรลดลงจาก 160,000 คน ในช่วงปี 1960 เหลือเพียง 51,000 คน ในปีนี้ โดย 38 เปอร์เซ็นต์ของประชากรมีอายุ 65 ปี หรือแก่กว่า
การได้ออกไปตลาดสัก 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ด้วยแท็กซี่ 100 วอน จึงช่วยขจัดความเบื่อหน่ายให้กับผู้สูงอายุได้ ยิ่งในช่วงที่มีโรคระบาดทำให้ลูกหลานกลับมาเยี่ยมได้ยาก นอกจากการนั่งแท็กซี่จะช่วยเรื่องการซื้อของกินของใช้และการไปหาหมอแล้ว พวกเขายังได้แลกเปลี่ยนข่าวสารกับคนรู้จักในหมู่บ้านอื่น เช่น มีใครไปบ้านพักคนชราบ้าง หรือมีใครเสียชีวิตแล้วบ้าง
จากสถิติการสำรวจในปี 2010 ปัญหาการขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะเคยเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ชนบท ผู้ซึ่งไม่มีทั้งรถส่วนตัวและลูกหลานที่จะช่วยขับรถให้ แท็กซี่ 100 วอน จึงสามารถช่วยผู้คนได้กว่า 40,000 คน จาก 40 หมู่บ้าน ในซอชอนเมื่อปีที่ผ่านมา โดยหน่วยงานเขตใช้งบประมาณทั้งหมด 147,000 ดอลลาร์ในโครงการนี้ สำหรับผู้ใช้บริการแล้ว นโยบายนี้จึงเปรียบเหมือนกับของขวัญจากสวรรค์เลยทีเดียว
ที่มา
‘It’s a Godsend’: 9-Cent Taxi Rides in Rural South Korea