ยกแรก อภิปรายไม่ไว้วางใจ’65 ฝ่ายค้านจัดหนัก ‘อนุทิน-ศักดิ์สยาม’

ช่วงเวลา 4 วัน (19-22 กรกฎาคม 2565) บรรยากาศทางการเมืองในรัฐสภาและโลกออนไลน์ไทยต้องร้อนระอุอีกครั้ง จากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล อันเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตามแนวทางประชาธิปไตย ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลว่า หากปล่อยให้พลเอกประยุทธ์และพวกยังคงบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ย่อมทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหายจนยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้

รายนามของรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมีดังนี้

  1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  2. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  4. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
  5. พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  6. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  7. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  8. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  9. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  10. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  11. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

คำชี้แจงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

วันแรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ 45 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำชี้แจงหลังจากรับทราบญัตติในวาระการประชุมว่า

“10 กว่าปีมาแล้ว ผมไม่ใช่ตัวที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ย้อนกลับไปดูพฤติกรรม ความผิด และคนที่ติดคุก ถึงแม้เราจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง แต่ก็ต้องทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ผมไม่ใช่คนที่ต้องการแบ่งพวกแบ่งฝ่าย ท่านรู้ดีว่าวันนี้บ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น ท่านบอกว่าผมใช้กฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมายนั้นกฎหมายอะไรครับ กฎหมายทั่วไปใช่ไหม กฎหมายปกติใช่ไหม แต่หลายคนอยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้

“เศรษฐกิจพังยับเยิน จนทั้งแผ่นดิน ข้าวของแพง ท่านก็รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ถ้าจะเอาเรื่องนี้มาพูด ผมก็ถามกลับว่าจะแก้อย่างไร ท่านก็เสนอมาสิครับ

“การกู้เงินเต็มเพดานมาช่วยเยียวยาผลกระทบโควิด ทั้งหมด 55 ล้านบัญชี เคยให้ประชาชนแบบนี้ไหมครับ ผมไม่ได้ให้เพื่อซื้อเสียง แต่ทำให้เขาอยู่รอด แล้วพัฒนาไปสู่ความพอเพียงและยั่งยืน

“ท่านแรงมา ผมก็พยายามแรงน้อยกว่าท่านหน่อยหนึ่ง เพราะผมรู้ว่าท่านพยายามทำให้ผมโมโห”

เสรีกัญชา นโยบายที่ไร้การควบคุม

ผู้อภิปรายคนแรก สุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในประเด็นนโยบายเสรีกัญชา ซึ่งเสรีมากเกินไปและไร้การควบคุม จนก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมมากว่าผลดี 

“นายอนุทินและพลเอกประยุทธ์ร่วมมือกันละเมิดกติกาโลก ละเมิดรัฐธรรมนูญไทย ละเลยละเว้นไม่ควบคุมกัญชาตามที่ควรจะเป็น นำไปสู่ความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ

“ปี 2020 องค์การสหประชาชาติ (UN) จัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดร้ายแรง แต่อนุโลมให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์โดยควบคุมอย่างเข้มข้น แต่วันนี้บ้านเราถอดออก (จากการควบคุม) เลย ถามว่าถอดโดยใคร ไม่ใช่รัฐสภาหรอกครับ ในวันนั้นสภาเพียงออกมติ ‘เกียร์ว่าง’ ไว้ให้คณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาถึงผลดีผลเสีย ถ้าจะเพิกถอนกัญชาออกจากยาเสพติดให้ประกาศเป็นกฎกระทรวง ซึ่งท่านจะไม่เพิกถอนก็ได้ แต่ที่สุดแล้วก็ทำ เพราะฉะนั้นอย่ามาโยนความผิดให้สภาฯ

“ส่วนกฎหมายอีกฉบับที่เพิ่งผ่านวาระแรกไปไม่นานมานี้ คือ พ.ร.บ.กัญชากัญชง เรายกมือพรึ่บทั้งสภา คนพูดกันว่าสภานี่แหละเห็นชอบหมด ไม่มีคัดค้านเลย ใช่ครับ ทำไมเรายกมือให้ ก็เพราะท่านปลดล็อกแล้วยังไม่มีอะไรควบคุมเลย ถ้าพวกผมไม่ยกมือให้พวกผมก็ผิด ทุกวันนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ เราก็ติดตามไปควบคุมตลอด

“ท่านบอกว่าไม่มีใครทักท้วง ไม่จริงครับ พวกเดียวกันเองนี่แหละ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ตั้งข้อสังเกตว่าการถอดกัญชาจากยาเสพติดจะขัดกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษที่ทำกับ UN หรือเปล่า นายอนุทินชี้แจงว่า อนุสัญญาเดี่ยวไม่ได้บังคับให้กัญชาต้องเป็นยาเสพติด พลเอกประยุทธ์ได้ลุกขึ้นกล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า เรื่องอนุสัญญาเดี่ยวฯ เอาไว้ก่อน ขอให้ทำเรื่องกัญชาให้สำเร็จ เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล นี่เพราะท่านกลัวพรรคร่วมรัฐบาลจะถอนตัวหรือเปล่าหากไม่อนุมัติ

“ท่านโพนทนากันว่า กัญชาดีสารพัด เป็นพระเอกขี่ม้าขาวช่วยชีวิตคน ผมจะบอกว่ากัญชามีประโยชน์จริง แต่มันก็มีโทษ ทำลายสมองและระบบประสาท ทำให้การเรียนรู้ความจำต่ำ โดยเฉพาะเด็กๆ กัญชามีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ เพราะฉะนั้นมันจึงต้องถูกควบคุม

“มาตรา 23 ของอนุสัญญาเดี่ยวฯ ของ UN ระบุว่า การปลูกกัญชามาแปรรูปหรือทำอุตสาหกรรมยา ประเทศภาคีต้องมีตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นเพื่อทำการพิจารณา โดยกำหนด Zoning ปลูกได้ที่ไหน เท่าไหร่ แล้วต้องรายงานต่อ INCB (International Narcotic Control Board – คณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ) แล้วจะขายกัญชานี่คุณขายตามตลาด ตามลาน เหมือนอ้อยหรือมันสำปะหลังไม่ได้นะ ต้องขายให้องค์กรนี้โดยเฉพาะ หากจะส่งออกก็ต้องให้คู่ค้าต่างประเทศมาซื้อผ่านหน่วยงานนี้ จะไปติดต่อกันเองไม่ได้

“เรื่องการท่องเที่ยวท่านต้องไปคิด บวกลบคูณหารมาว่าคุ้มหรือไม่ สุขภาพก็คงไม่คุ้ม เศรษฐกิจก็ดูจะเสียมากกว่า สิ่งที่จะได้มาโดยไม่คิดก็คือ ปัญหาสังคม

“ไม่มีกฎหมายใดที่ห้ามคนเสพกัญชา มีเพียงประกาศกระทรวงฯ ที่ห้ามสูบในที่สาธารณะและห้ามจำหน่ายให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี ผมตีความว่าอย่างไรรู้ไหมครับ ห้ามเสพในที่สาธารณะแสดงว่า เสพที่บ้าน คอนโด อพาร์ตเมนต์ หรือรีสอร์ตก็ได้ เด็กก็เสพที่บ้านได้ อย่าออกมาบนถนน ถ้าเป็นแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นครับ ห้ามเอากัญชาเข้าโรงเรียนหรือครับ สายไปแล้วครับคุณครู มันเสพมาจากบ้านเมาตาปรือแล้ว

“เรื่องเศรษฐกิจชี้แจงไปแล้วว่าคุ้มหรือไม่ เรื่องสังคมบอกเลยว่าเละ แล้วท่านหวังเรื่องอะไรล่ะ ข้อแรก ผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะท่านไปหาเสียงกับประชาชนไว้แล้วก็ต้องทำ ไม่ว่ากัน เพราะพรรคการเมืองอย่างเราต้องการคะแนนความนิยม ท่านนายกฯ ก็หวังผลทางการเมือง เพียงเพราะอยากอยู่ในตำแหน่งจึงยอมทุกอย่าง ไม่คำนึงถึงชีวิตเยาวชน ถ้าไม่ยอมแล้วพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ท่านก็เจ๊ง

“ผลประโยชน์ต่อมา มีข่าวว่านักการเมืองไปทำไร่กัญชาในประเทศเพื่อนบ้านเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ วางธุรกิจไว้หมด พอวันที่ 9 มิถุนายน ดอกกัญชาวางแผนในร้านสะดวกซื้อทันที นี่วางแผนกันไว้ก่อนแล้วใช่ไหม

“กัญชาที่จะนำไปแปรรูปเป็นยาต้องมีสาร THC ครบถ้วนได้ระดับ ถ้าจะปลูกให้ได้สาร THC เข้มข้นที่เขารับซื้อ ต้องปลูกเป็นโรงเรือนปิด ดินที่นำมาปลูกต้องได้สเปก อากาศต้องควบคุม โรงเรือนที่ต้องลงทุนอย่างต่ำ 20 ล้านบาท แล้ววิสาหกิจชุมชนของผมมีปัญญาไหม ท่านบอกว่าให้ปลูกครอบครัวละ 10 ต้น ซึ่งไม่ได้สาร THC ตามเกณฑ์ พอขายไม่ได้แล้วจะไปเอาไหน ให้กินภายในครอบครัว ให้ต้มรักษาโรค และเอาไว้เสพ ซ้ำยังถูกหลอกเรื่องพืชเศรษฐกิจอีก

“ผมไม่ไว้วางใจท่านอนุทิน เพราะถ้าท่านอยู่ต่อไป กัญชาจะต้องเตลิดเลยเถิดไปกว่านี้มาก แค่ทุกวันนี้เราก็วิตกกันแบบขนหัวลุกแล้ว ยังมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอีก ท่านต้องตอบผมและชาวบ้านให้ได้ ผมไม่ไว้วางใจท่านให้บริหารประเทศต่อไป”

ขายฝันเสรีกัญชา

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในประเด็นว่าด้วยผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและเยาวชนจากนโยบายเสรีกัญชา ไปจนถึงจงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชา จนทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนปัญหาด้านการทูต การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ

“ท่านรัฐมนตรีบอกว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด เป็นยาพารวย ปลูกได้ทุกบ้าน ตอนแรกบอก 6 ต้น ตอนนี้เหมือนจะอัพเป็น 10 ต้นแล้ว ท่านบอกว่าจะรับซื้อกัญชากิโลกรัมละ 7 หมื่นบาท ไม่รวยตอนนี้ จะไปรวยตอนไหน แต่ท่านไม่ได้ใช้เงินตัวเองรับซื้อ แต่ใช้เงินจากหน่วยงานของรัฐ

“ท่านบอกว่าเอากัญชาไปผสมอาหารได้ พี้กัญชาก็ได้ เพิ่มเสียงหัวเราะของประชาชนด้วยกัญชา แทนที่จะเพิ่มเสียงหัวเราะของประชาชนด้วยนโยบายทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือ การเอากัญชามาผสมอาหารหรือพี้ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ด้านการแพทย์แน่นอน”

กัญชาไม่ใช่ยาครอบจักรวาล

นพ.วาโย เปิดข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยประโยชน์ของกัญชาทางการแพทย์ 6 ภาวะ คือ

  1. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
  2. โรคลมชักที่รักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
  3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  4. ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง
  5. ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
  6. การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง

นอกจากนั้น กรมการแพทย์ยังได้ประกาศ 4 ภาวะที่กัญชา (น่าจะ) มีประโยชน์คือ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล และโรคปลอกประสาทอักเสบ

“สังเกตดูดีๆ ว่า 6+4 ภาวะนี้อยู่ในกลุ่มโรคระบบประสาททั้งหมด ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้คือแพทย์ด้านประสาทอายุรกรรมแพทย์ ดังนั้น เราต้องไปฟังว่าแพทย์ด้านประสาทอายุรแพทย์เขาว่ายังไง”

ข้อมูลจากประกาศของสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา สรุปได้ว่า โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) นั้น รวมถึงโรคทางประสาทอื่นๆ ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ากัญชามีประโยชน์ที่ชัดเจนต่อโรค ยิ่งกว่านั้น กลับมีหลักฐานว่ามีผลข้างเคียงจากการใช้กัญชามากกว่าด้วย

“ส่วนโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และโรคลมชักประเภทอื่นๆ ไม่มีหลักฐานเลยว่าสามารถเอากัญชาไปใช้ได้ และหากผู้ป่วยอัลไซเมอร์เอากัญชาไปใช้ กลับทำให้สมองเสื่อมมากขึ้น มีความรู้คิดและความจำแย่ลง กระทั่งโรคนอนไม่หลับ โรคปวดหัว

“แพทย์ยังบอกว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนว่ากัญชามีประโยชน์ต่อโรคระบบทางประสาท แปลว่ามันขัดกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข มากกว่านั้น ประกาศและคำแถลงของราชวิทยาลัยทางการแพทย์ต่างๆ ในประเทศไทยก็ไม่มีสักแห่งเดียวที่สนับสนุนเรื่องนี้”

นพ.วาโย อภิปรายถึงการใช้ข้อมูลทางวิชาการที่ไม่ครอบคลุมและหลากหลายเพียงพอในการออกนโยบายระดับชาติ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ยังเผยข้อมูลคนไข้เด็กจากการใช้กัญชาหลังการปลดล็อก โดยราชวิทยาลัยกุมารเพทย์แห่งประเทศไทย ดังนี้

  • วันที่ 21-26 มิถุนายน มีผู้ป่วย 6 เคส 
  • วันที่ 27-30 มิถุนายน มีผู้ป่วย 3 เคส 
  • วันที่ 1-10 กรกฎาคม มีผู้ป่วย 5 เคส 

“ผมโฟกัสไปที่เด็กเพราะว่าเด็กยังไม่มี Executive Functions หรือความรู้สึกนึกคิดที่จะรู้ได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีกับเขา ท่านในฐานะผู้บริหารและผู้ออกกฎ จะต้องคำนึงถึงเด็กและเยาวชนให้มาก เพราะเขาคือกำลังสำคัญในอนาคต“ประกาศ World Drug Report 2022 ของ UNODC (สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ) ล่าสุดสรุปได้ว่า ถ้าประเทศไหนทำกัญชาให้ถูกกฎหมาย จากสถิติพบว่าจะมีผู้ป่วยจากกัญชามากขึ้น มีผู้ป่วยซึมเศร้า และมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

จงใจสร้างสุญญากาศกัญชา ออกกฎหมายควบคุมแก้เก้อ

“กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2477 จนถึงปี 2562 ซึ่งมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขออกมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐ หมอ มหาวิทยาลัย วิสาหกิจชุมชนฯ ผลิตกัญชาได้ จุดสังเกตคือ ท่านอนุทินเข้ามาดำรงตำแหน่งวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 หมายความว่า ประเทศไทยอยู่ในยุคกัญชาทางการแพทย์มาก่อนที่นายอนุทินจะเข้ามารับตำแหน่งแล้ว ดังนั้น คนที่ทำให้ประเทศไทยเข้ามาสู่ยุคกัญชาทางการแพทย์ ไม่ใช่ท่านอนุทิน 

“วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดเฉพาะสารสกัดของกัญชาเท่านั้นที่เป็นสารเสพติด แปลว่า ต้น ช่อดอกที่มีความเข้มข้นของ THC สูง กลับไม่เป็นสารเสพติด แม้ตอนท้ายจะระบุว่า ให้มีผลบังคับใช้ 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั่นแปลว่า ประกาศนี้จะมีผลในวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา

นพ.วาโย ชี้ให้เห็นว่า ภายหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เกิดสุญญากาศทางกฎหมายของกัญชา เมื่อพืชกัญชาและกัญชงได้ถูกปลดล็อกไปแล้ว แต่กลับไม่มีกฎกระทรวง หรือกฎหมายย่อยใดๆ เข้ามาควบคุมการใช้ประโยชน์ทางสันทนาการ ทั้งการควบคุมอายุของผู้ครอบครอง การซื้อขาย หรือการใช้ส่วนของกัญชานอกเหนือจากจุดประสงค์ทางการแพทย์ จนสร้างความกังวลให้กับประชาชนจำนวนมาก

“ระหว่างนั้นท่านรัฐมนตรีพยายามออกมาบอกว่า ฉันพยายามควบคุมแล้วนะ ประกาศเป็นสมุนไพรควบคุมแล้ว แถมก่อนหน้านั้นก็ประกาศเป็นเหตุรำคาญด้วย แต่ผมจะชี้ให้เห็นว่าประกาศทั้งหมดคือการแก้เก้อ ใช้ไม่ได้จริง”

นพ.วาโย ตั้งข้อสังเกตว่า นายอนุทินจงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมาย เพราะในระหว่างการปลดล็อกกัญชานั้น เพิ่งมีการยื่นร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง เข้าสภาในวันที่ 26 มกราคม 2565 และส่งให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นร่างฯ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่รัฐมนตรีประกาศปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด 

เมื่อนายกรัฐมนตรีอนุมัติและส่งกลับมานั้น กลายเป็นว่าเป็นช่วงปิดสมัยประชุมไป 3 เดือน ทำให้ร่างบรรจุเข้าวาระช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และรัฐสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หรือเพียง 1 วันก่อนครบกำหนด 120 วันที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติด

“ทำไมท่านไม่แก้ไขประกาศสาธารณสุขวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เพื่อยืดระยะเวลาออกไปจาก 120 วัน แค่นั้นเอง เพราะเห็นแล้วว่ากฎหมายผ่านไม่ทัน ท่านก็แค่ยกเลิกประกาศให้ใช้ประกาศเดิม รอจนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมกัญชา แต่ท่านไม่ทำ”

ขั้นตอนขอใบอนุญาตส่อเอื้อนายทุน ประชาชนเข้าถึงยาก

“ในมาตรา 46 ห้ามไม่ให้ผู้ใดศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย แปรรูปเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต แปลว่าหากจะวิจัย ส่งออก ขาย หรือแปรรูป ต้องขอใบอนุญาต คำถามคือ ท่านรัฐมนตรีหมายมั่นปั้นมือจะให้มีการขออนุญาตจริงหรือไม่

“ในมาตรา 78 คือการควบคุมและบังคับใช้มาตรา 46 ระบุว่า ใครที่ละเมิดมาตรา 46 มีโทษอาญาถึงขั้นจำคุก ผมสงสัยว่า มีใครบังคับใช้อำนาจตามมาตรานี้แล้วหรือยัง หากท่านจะมาบอกว่า นี่ไง ฉันประกาศเป็นสมุนไพรควบคุมแล้วนะ มีมาตรา 46 ควบคุมแล้วไง กำลังดำเนินการ ผมขอถามว่า ท่านจะตอบแบบนั้นไม่ได้ เพราะตอนท่านประกาศออกมาเป็นสมุนไพรควบคุม ท่านไม่เคยบอกพวกเราเลยว่าต้องมาขอใบอนุญาตนะ ตอนที่ท่านประกาศเป็นสมุนไพรควบคุม ประชาชนทางบ้านมีใครรู้บ้างว่าต้องขอใบอนุญาตด้วย แล้วที่ขายๆ กันอยู่นั้นผิดหมดเลย เพราะไม่มีใบอนุญาต”

นพ.วาโย ชี้ว่า กระที่ประชาชนจะไปขอใบอนุญาตเพื่อวิจัย ส่งออก จำหน่ายและแปรรูปนั้น มีขั้นตอนที่ซับซ้อนและยากที่ประชาชนจะทำตามเงื่อนไขได้ เช่นระเบียบที่ระบุว่า หนึ่ง – ผู้ขอใบอนุญาตต้องส่งแผนที่อันเป็นบริเวณถิ่นกําเนิดสมุนไพรควบคุมที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติ สอง – ข้อตกลงระหว่างนายทะเบียนกับผู้ขอรับใบอนุญาต โดยผู้ขอรับใบอนุญาตตกลงว่า จะดําเนินการปลูกสมุนไพรควบคุมเพื่อทดแทน ณ บริเวณถิ่นกําเนิดสมุนไพรควบคุมที่มีระบบนิเวศ ตามธรรมชาตินั้น และสมุนไพรควบคุมที่จะปลูกทดแทนนั้นต้องมีจํานวนหรือปริมาณไม่น้อยกว่าจํานวนหรือปริมาณที่นําไปใช้

คำถามสำคัญคือ ระเบียบการใบขออนุญาตที่ออกมานั้น ไม่ได้เอื้อให้กับประชาชน แต่เอื้อเฉพาะรายใหญ่ใช่หรือไม่ 

“จะมีสักกี่คนที่สามารถขอใบอนุญาตแบบนี้ได้ จะมีสักกี่คนที่สามารถทำข้อตกลงระหว่างนายทะเบียนกับผู้ขอรับใบอนุญาตในเรื่องว่าต้องปลูกสมุนไพรควบคุมคืน ณ แหล่งเนิดตามระบบนิเวศ ประชาชนจะทำได้หรือ?”

ที่ผ่านมา นายอนุทินส่งเสริมการผลิตกัญชา อ้างว่าเพื่อรองรับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ โดยผูกให้วิสาหกิจชุมชน 1 แห่ง ทำร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1 แห่งเท่านั้น และให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้รับซื้อ แต่สุดท้าย อย. ไม่ได้รับซื้อในจำนวนที่คาดไว้ เพราะหมอไม่ใช้ นักวิจัยไม่เขียนโครงการ จึงต้องหาช่องทางปล่อยของ

นพ.วาโย นำเอกสารสรุปผลการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 ในประเด็นกัญชาทางการแพทย์ ชี้ให้เห็นถึงความพยายามจะเพิ่มดีมานด์กัญชาเพื่อการแพทย์ เพราะมีการตั้งเกณฑ์เป้าหมายในการจัดตั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในแต่ละปี โดยภายในปี 2567 โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และสังกัดกรมวิชาการจะต้องมีคลินิกกัญชาทั้งหมด และสถานพยาบาลเอกชนจะต้องมีคลินิกกัญชาเขตสุขภาพละ 10 แห่ง

‘อนุทิน’ ยืนยันนโยบายกัญชาเสรีไม่มีช่องโหว่

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวชี้แจงถึงนโยบายกัญชาเสรีภายหลังถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 

“นโยบายกัญชาของรัฐบาลนี้ไม่ขัดหรือแย้งกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ นายกฯ ยังแถลงนโยบายให้นำกัญชาและกัญชงไปศึกษาวิจัย เพื่อก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเน้นไปในทางการแพทย์และสุขภาพ ไม่มีนอกเหนือจากนี้ ไม่มีคำว่า ‘นันทนาการ’ หรือ ‘สันทนาการ’ แม้แต่นิดเดียว กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ปฏิบัติหรือมีมาตรการใดๆ เลยที่อยู่นอกเหนือนโยบายที่รัฐบาลให้สัญญาไว้กับประชาชน

“ถ้ายังมีการใช้กัญชาในทางอื่นๆ นั่นคือเป็นการใช้ผิดเจตนารมณ์ของเรา และยังผิดกฎหมายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขด้วย ผู้คนมีหน้าที่ต้องเคารพกฎหมาย ท่านที่อภิปรายว่าเราปล่อยเสรีแบบไม่มีกฎเกณฑ์ แล้วทำไมมีคำว่าต้อง ‘ขออนุญาต’ จากรัฐ ผู้ที่ดำเนินธุรกิจต้องขออนุญาตนะครับ มิฉะนั้นจะผิดกฎหมาย ผิดหลักการ เราวางกรอบไว้แล้ว ประกาศกระทรวงฯ ครอบคลุมหมดแล้ว คนที่ยังใช้อยู่ก็เสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองสามารถเข้าไปดำเนินคดีได้ ดังนั้นในทางปฏิบัติมันไม่มีช่องว่างช่องโหว่ครับ

“ในส่วนของผมเองที่ควบคุมนโยบายกัญชาผ่านกระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยสนับสนุนให้ใช้เพื่อการบันเทิง สันทนาการหรือนันทนาการแต่อย่างใดนะครับ การนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิดจะไม่มีวันเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ และผมก็มั่นใจว่าไม่มีรัฐบาลชุดไหนจะไปทำเช่นนั้น

“เมื่อเราประกาศให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป เราก็ต้องไม่ทำให้มันกลับไปเป็นเช่นนั้น แต่ต้องมองว่ามันคือพืชที่มีคุณประโยชน์ในด้านอื่นๆ สามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ นำไปผลิตเป็นสินค้า และเปิดโอกาสแก่ประชาชนอีกมากมาย ถามว่าเดือดร้อนไหมหากเราจะหยุดทุกอย่าง ถ้าเป็นคนปกติคงไม่มีใครเดือดร้อนครับ แต่คนไข้ที่ต้องใช้ยาคงเดือดร้อน คนไข้ระยะสุดท้ายที่หยอดน้ำมันกัญชาไปแล้วเขาสามารถรับประทานอาหารได้ ถึงแม้อาจจะไม่มีชีวิตรอด แต่อย่างน้อยก็สามารถใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตให้มีความสุขได้ ไม่ทนทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย

“ทั้งหมดนี้เป็นเจตนารมณ์ที่ดีของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพที่ดีขึ้น และมีความสุขภายใต้สถานการณ์โควิดที่กำลังจะผ่านพ้นไป”

วอนอย่าด้อยค่าวัคซีนจีน

อนุทิน ชี้แจงต่อในประเด็นเรื่องการบริหารราชการผิดพลาดล้มเหลว ไร้ความรู้ความสามารถ ใช้งบประมาณแผ่นดินเกินจำเป็น เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและบริวารจากตำแหน่งและหน้าที่ โดยมีคำชี้แจงดังนี้

“ระบบสาธารณสุขเราไม่ได้ล้มเหลวอย่างที่ท่านทั้งหลายได้กล่าวมา ในปีแรกของการระบาดของโควิด ประเทศไทยได้เตรียมรับการระบาดก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศให้เฝ้าระวังทั่วโลกถึง 6 สัปดาห์ เราเตรียมการทุกองคาพยพในกระทรวงสาธารณสุขเท่าที่มีอยู่ เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรอง และรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เรามียาและเวชภัณฑ์ในการรักษาผู้ป่วยทั่วไปให้หายได้ทุกคน และเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ให้การรักษาผู้ป่วยจนหายทุกราย ทั้งในและนอกสถานพยาบาล

“ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้เร่งจัดหาวัคซีนทุกชนิดที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยและประสิทธิผลจากองค์การอนามัยโลกมาเสริมภูมิคุ้มกันให้พี่น้องประชาชน จนถึงขณะนี้รัฐบาลได้จัดฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 140 ล้านโดส มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร และมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากรกลุ่มเสี่ยง

“วัคซีนทุกชนิดลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการป่วย จากหนักให้เป็นเบา และป้องกันการเสียชีวิตอย่างเห็นได้ชัด แต่ท่านผู้อภิปรายพยายามด้อยค่าวัคซีนที่ผลิตจากจีนซึ่งสนับสนุนเวชภัณฑ์ให้เราจำนวนมาก และด้อยค่าแอสตราเซนเนกา ซึ่งไว้วางใจมาตั้งฐานการผลิตในประเทศเรา

“มีการเผยแพร่ผลการวิจัยทางการแพทย์สรุปได้ว่า วัคซีนที่ได้ทำการฉีดให้คนไทยสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยไปแล้วถึง 490,000 คน ซึ่งหมายความว่าหากไม่มีการฉีดวัคซีนที่ทันเวลา ก็อาจมีคนเสียชีวิตอีกนับแสนราย ผมจึงขอความกรุณาว่าพวกท่านไม่ควรด้อยค่าวัคซีนครับ

“วัคซีนที่ประเทศไทยมีอยู่ ไม่มีวัคซีนที่รอวันหมดอายุ เรามีแต่วัคซีนที่พร้อมสำหรับการฉีดเสริมภูมิคุ้มกันให้คนไทย สิ่งที่ท่านควรทำในฐานะผู้แทนประชาชนคือ ช่วยออกไปขอร้องพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนให้ออกมาฉีดสักที ประชาชนของพวกเราจะได้มีภูมิคุ้มกันและใช้ชีวิตปกติธรรมดา

“ข้อมูลที่ท่านได้มาเป็นเท็จครับ เพราะไม่ได้กรอง แต่พวกผมที่อยู่หน้างานก่อนจะมาพูดอะไรต้องสืบหาข้อมูลอย่าละเอียด การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ไปสู่ประชาชน เช่น การดูถูกแพทย์ ด้อยค่าวัคซีน ท่านโหดร้ายและเหี้ยมโหด ท่านพร้อมแลกทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตของประชาชนเพื่อเป้าหมายทางการเมือง ผมว่าไม่คุ้มค่าครับ ขอความกรุณายกเว้นเรื่องสาธารณสุขไว้สักเรื่องเถอะครับ ถ้าจะขับเคี่ยวทางการเมือง เรามีอีกหลายประเด็นที่เราไปแข็งขันกันได้ แต่อย่าเอาชีวิตประชาชนมาเกี่ยวครับ”

แฉ ‘ศักดิ์สยาม’ รมว.คมนาคม รุกที่ดินเขากระโดง 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในข้อกล่าวหาว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ใช้งบประมาณจำนวนมากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มีผลประโยชน์ทับซ้อน และจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 

กมลศักดิ์  ลีวาเมาะ ส.ส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายถึงกรณีการครอบครองที่ดินเขากระโดง เนื้อที่รวม 5,083 ไร่ มีผู้ถือเอกสารสิทธิ์รวม 900 ราย รวมทั้ง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และครอบครัว ซึ่งมีบ้านพักบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

กรณีการบุกรุกเข้าไปอาศัยในพื้นที่เขากระโดง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ นั้น แม้ว่าในปี 2541 คณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีคำวินิจฉัยว่า เป็น ‘ที่ดินรถไฟ’ ตามมาตรา 3 (2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464 ก่อนโอนมาเป็นทรัพย์สินของ รฟท. อีกทั้งในปี 2554 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ รฟท. แจ้งกรมที่ดินเพื่อเพิกถอนโฉนดที่ดิน 2 แปลงของนักการเมืองตระกูลชิดชอบ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบและทับที่ดินรถไฟบริเวณเขากระโดง

แต่ปรากฏข้อมูลว่า การดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินนั้น มีหลายแปลงที่ รฟท. ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ โดยกมลศักดิ์กล่าวว่า “ถ้ารัฐมนตรีและพวกพ้องไม่ได้ครอบครองที่ดินเขากระโดงส่วนหนึ่งจาก 5,083 ไร่แล้ว ผมคงไม่ต้องมานั่งอภิปรายเรื่องนี้อีก แต่ที่ต้องตอกย้ำเพราะว่า ท่านรัฐมนตรีศักดิ์สยามและพวกพ้องยังคงทำธุรกิจและมีที่พักอาศัยอยู่บริเวณเขากระโดง”

กมลศักดิ์ กล่าวว่า ในวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ผู้ว่าการรถไฟฯ มีหนังสือให้กรมที่ดินทำการเพิกถอนโฉนดที่ดิน โดยกรมที่ดินมีหนังสือตอบกลับมายังการรถไฟฯ ว่า การที่กรมที่ดินจะดำเนินการได้ต้องมีรูประวางแผนที่ส่งมาให้กรมที่ดิน 

“ปรากฏว่า การรถไฟฯ ได้ส่งรูประวางที่ดินไปยังกรมที่ดิน 2 ครั้ง จำนวน 2 รูป ตามคำขอของกรมที่ดิน แต่ทั้งสองรูปนั้นมีข้อมูลระบบพิกัดฉาก (UTM) ไม่ตรงกับข้อมูลที่กรมที่ดินใช้   

จากนั้น กรมที่ดินแจ้งต่อการรถไฟฯ ว่า จะดำเนินการเพิกถอนที่ดินเอกสารสิทธิ์ให้ โดยให้การรถไฟฯ จัดส่งผู้แทนไม่เกิน 6 คน เข้ามาเป็นคณะทำงานจำนวน 2 ชุด เพื่อแก้ปัญหาการออกหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินทับซ้อนร่วมกัน ทว่าการรถไฟฯ กลับเพิกเฉย และดำเนินการฟ้องร้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลางเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวน 700 ล้านบาท ข้อหาละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ไม่ดำเนินการตามที่การรถไฟฯ ร้องขอ และไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของรถไฟ

“ทำไมท่านไม่ส่งคณะกรรมการ 2 ชุด ตามที่กรมที่ดินขอ เพื่อให้ความร่วมมือในการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ มันจะได้เร็ว ทำไมครับ นอกจากไม่ส่งคณะกรรมการ ยังไปฟ้องกรมที่ดิน ท่านทำเหมือนไม่รู้ว่าการฟ้องมันเสียเวลา ทั้งที่การเรียกร้องสิทธิในที่ดินของการรถไฟฯ นั้นมีหลายแนวทาง ทำไมท่านไม่ดำเนินการ

“การฟ้องร้องโดยเรียกค่าเสียหาย 700 ล้านบาท ท่านอ้างว่า หากการรถไฟฯ มีแผนพัฒนาที่ดินเพื่อให้คนอื่นเช่า จะได้มีรายได้ 3,000 ล้านบาทต่อปี ท่านรัฐมนตรีก็ทราบว่าถ้าเอาที่ดินของการรถไฟฯ มาปล่อยเช่าหรือพัฒนาเป็นอย่างอื่น การรถไฟฯ จะมีรายได้ 3,000 ล้านบาทต่อปี แต่นี่ท่านดำรงตำแหน่งมา 4 ปี จนจะหมดวาระ มันก็ยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะที่ดินที่ท่านและพวกพ้องครอบครองทำธุรกิจอยู่”

ผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อพวกพ้อง

“โฉนดที่ 3466 กับ 8564 ที่อัยการบอกให้เพิกถอน ท่านก็ไม่ดำเนินการจนถึงทุกวันนี้ ท่านก็ยังใช้ภูมิลำเนาที่นั่น บ้านเลขที่  30/2 หมู่ที่ 15 ของท่านรัฐมนตรี และเป็นที่ตั้งของหลายบริษัท อยู่บนบริเวณโฉนด 2 แปลงนี้ที่อัยการบอกให้ฟ้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ แล้วท่านก็ฟ้อง หากไปตรวจสอบกรมทะเบียนการค้าของกระทรวงพาณิชย์ เราจะพบว่าบริษัทต่างๆ เกี่ยวข้องกับท่านทั้งนั้น”

กมลศักดิ์เปิดข้อมูลจากการตรวจสอบ พบว่า บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และ หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ที่ตั้งอยู่ในบริเวณโฉนด 2 แปลง เช่นเดียวกับที่พักของศักดิ์สยามนั้น ได้บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทยบริษัทละ 4.8 ล้านบาท

“นี่คือเหตุผลหรือเปล่าที่ทำให้ท่านไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ทั้งที่หน่วยงานรัฐชี้ชัดว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ”

มากกว่านั้น กมลศักดิ์ได้กล่าวหารัฐมนตรีศักดิ์สยามในกรณีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยเปิดข้อมูลกรณีคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีที่ดินบริเวณเขากระโดง โดยนาย A (นามสมมติ) ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยนั้น ได้มีความสัมพันธ์กับรัฐมนตรีศักดิ์สยาม เป็นเหตุให้การบังคับคดีไม่คืบหน้า

“ในปี 2561 ก่อนที่นายศักดิ์สยามจะมาเป็นรัฐมนตรีนั้น ท่านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของ หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ปรากฏว่าวันที่ 26 มกราคม 2561 ท่านรัฐมนตรีถอนหุ้น แล้วโอนหุ้นทั้งหมด 119,449,000 บาท ให้กับนาย A หรือจำเลยที่ศาลฎีกาตามคำพิพากษาที่เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง และให้นาย A คนนี้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ”

“นาย A คนนี้รวยมาจากไหน ปรากฏว่า ก่อนที่นายศักดิ์สยามจะออกจากการถือหุ้นของ หจก. บุรีเจริญ นั้น นาย A คนนี้มีหลักฐานเพียงว่าเป็นพนักงานของบริษัท ศิลาชัยเท่านั้นเอง มีเงินเดือน 9,000 บาท ผมไม่ทราบว่าร่ำรวยมาจากไหน แต่ผมพบว่า กรรมการผู้จัดการของบริษัทศิลาชัยนั้น มีนามสกุลเดียวกับท่านรัฐมนตรีศักดิ์สยาม” 

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า การโอนหุ้นนี้ถือเป็น ‘นิติกรรมอำพราง’ ของรัฐมนตรีศักดิ์สยาม เพราะเป็นการโอนหุ้นโดยไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีหนังสือรับรองของเงินฝากจากธนาคารของ หจก. ไม่พบการชำระเงินระหว่างกัน ไม่พบว่ามีหนี้สิน ไม่พบการเสียภาษีจากการขายหุ้น ผู้รับการโอนหุ้นถือว่าหรือ นาย A (นามสมมติ) ‘เคยเป็นลูกจ้าง’ ในบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด อีกทั้งหลังจากโอนหุ้น ‘ที่อยู่ของ หจก.’ ยังคงใช้บ้านของรัฐมนตรีศักดิ์สยามเป็นที่ตั้ง

กมลศักดิ์กล่าวอีกว่า “นาย A คนนี้ บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย 2.7 ล้านบาท อีกทั้ง หจก. บุรีเจริญ ที่ท่านรัฐมนตรีโอนหุ้นไปให้นาย A ยังบริจาคเงินให้พรรคท่านอีก 4.8 ล้านบาท”

มากกว่านั้น บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ได้ยืมเงินจากนาย A จำนวน 4 ครั้ง คือ ในปี 2560 เป็นจำนวน 120 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 121 ล้าน 5 แสนบาท ในปี 2562 จำนวน 143 ล้าน 2 แสนบาท และในปี 2563 จำนวน 152 ล้าน 2 แสนบาท

“รัฐมนตรีศักดิ์สยามมีหน้าที่กำกับดูแลการรถไฟฯ  ต้องทวงสิทธิ์เอาที่ดินของการรถไฟฯ คืนโดยเร็ว มีหลายวิธี ทำไมท่านไม่เลือกวิธีที่เร็วที่สุดคือให้กรมที่ดินเพิกถอน แต่กลับใช้วิธีที่ยืดเยื้อที่สุด มีคนเตือนผมว่าอย่าไปแตะต้องเลย ปล่อยเขาเถอะ เดี๋ยวเลือกตั้งรอบหน้าจะลำบาก ผมบอกไม่เป็นไร ผมเชื่อว่าถ้าเป็นราษฎรธรรมดาคงทำไม่ได้ขนาดนี้ ผมขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

ฝ่ายค้านรุกหนัก ปูดข้อมูล ‘ศักดิ์สยาม’ ปกปิดทรัพย์สิน ตั้งนอมินีรับงานคมนาคม

จากนั้น ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในข้อกล่าวหาว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง

“อยากให้จินตนาการแบบนี้นะครับว่า การเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า แล้วตัวท่านหมายมั่นปั้นมือว่าจะได้รับตำแหน่ง รมว.คมนาคม เรียกได้ว่าถูมือรอ แต่บังเอิญอีกเหมือนกันว่า ท่านเป็นเจ้าของกิจการรับเหมาก่อสร้างที่ทำมาอย่างยาวนานและสร้างรายได้ให้อย่างมั่นคง ท่านจะทำอย่างไรดีครับ

“หากท่านอยากเป็นนักการเมืองที่ดีก็ต้องขายหุ้นในบริษัทนั้นทิ้งทั้งหมด เพื่อไม่ให้เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่ถ้าท่านอยากทำธุรกิจที่รักและหวงแหนต่อ ท่านก็ต้องไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีครับ ผมจะไม่ถามว่าท่านเลือกทางไหน แต่สิ่งที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้คือ ท่าน รมว. ศักดิ์สยาม เลือกทางที่ 3 ครับ”

ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ศักดิ์สยามปกปิดทรัพย์สินของตัวเองในส่วนที่เป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยทำทีว่าขาดจากบริษัทนี้แล้ว โดยจ้าง ‘นอมินี’ ขึ้นมารับช่วงบริหารแทน ทำให้ศักดิ์สยามสามารถรับตำแหน่งรัฐมนตรีไปพร้อมๆ กับเข้าประมูลงานในกระทรวงที่ตนมีอำนาจโดยตรง ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ธุรกิจที่ว่านี้มีชื่อว่า ‘บุรีเจริญ’ ก่อตั้งในปี 2539 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีศักดิ์สยามถือหุ้น 40 เปอร์เซ็นต์ คนตระกูลชิดชอบอีก 40 เปอร์เซ็นต์ และคนนอกถืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วตระกูลชิดชอบถือหุ้นร้อยละ 80 มีสำนักงานอยู่ในบ้านของนายศักดิ์สยาม แต่เมื่อได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปี 2540 ศักดิ์สยามก็ลาออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดและย้ายสำนักงานของ หจก. แห่งนี้ไปที่อื่น 

อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไป 18 ปี ในยุคที่ คสช. ขึ้นมามีอำนาจ ศักดิ์สยามกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นอีกรอบในปี 2558 รอบนี้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 120 ล้านบาท โดยถือหุ้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และย้ายที่ตั้งของสำนักงานกลับมาที่บ้านหลังที่ตนเองอาศัย ธุรกิจดูจะไปได้สวยในยุค คสช. เพราะได้รับงานจากกระทรวงคมนาคมรวมๆ แล้ว 440 ล้านบาท กระทั่งปี 2561 จู่ๆ ศักดิ์สยามก็โอนหุ้นบริษัทนี้ทั้งหมดออกไปหลังจากทราบข่าวว่าจะมีการเลือกตั้ง พร้อมทั้งย้ายที่ตั้งสำนักงานของบริษัทออกไปอีกครั้ง ก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน เท่านั้น

ปกรณ์วุฒิตั้งคำถามว่า เกิดการซื้อขายหุ้นขึ้นจริงๆ หรือไม่ หรือเป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อคนถือหุ้นให้เป็นลูกจ้าง เนื่องจากไม่พบหลักฐานการชำระเงินเลย หากมีธุรกรรมเกิดขึ้นจริง นายศักดิ์สยามต้องยื่นมูลค่าหุ้นส่วนเกินเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีในกรณีที่ขายได้กำไรกว่าราคาทุน 120 ล้านบาท หรือหากขายเท่าราคาทุน ก็ต้องยื่นเงินจากการขายหุ้นเป็นทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่ปี 2562 ก่อนเข้ารับตำแหน่งแล้ว

“ในปี 2562 ท่านยื่นทรัพย์สินในการเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ 115 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน มีเงินสดบวกเงินฝากอยู่ประมาณ 76 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่นๆ เกือบทั้งหมดระบุว่าได้มาก่อนปี 2561 แทบทั้งสิ้น คำถามคือ เงิน 120 ล้านบาทก้อนนี้หายไปไหนครับ” ปกรณ์วุฒิถาม

ยิ่งไปกว่านั้น ศักดิ์สยามยังยินยอมให้ หจก. บุรีเจริญ รับงานเป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคมที่ตนเองรับผิดชอบ โดยกระบวนการประมูลงานมีพิรุธหลายอย่าง เช่น ราคาที่ หจก. ชนะการประมูลต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ย และมีคู่แข่งเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่เคยบริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทยในปี 2562

ปกรณ์วุฒิเผยต่อว่า “แบบนี้เอาไปให้ใครดูเขาก็ว่าฮั้วครับ ชัดขนาดนี้ เอาธุรกิจตัวเองเข้ามารับงานกระทรวงที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรีก็ว่าผิดแล้ว ยังมีพฤติกรรมที่เป็นการฮั้วประมูลอย่างชัดเจน” 

ปกรณ์วุฒิยังตั้งคำถามสำคัญว่า “ผมยิ่งสงสัยว่า นาย A คนนี้คือใคร และทำมาหากินอะไรถึงได้ซื้อหุ้นมูลค่าสูงได้ขนาดนี้”

ปรากฏว่า ‘นาย A’ มีรายได้น้อยมากจนน่าสงสัย ทั้งๆ ที่ถือหุ้นบริษัทมูลค่านับร้อยๆ ล้าน และสามารถซื้อที่ดินในพื้นที่พิพาทเขากระโดงต่อจากบิดาของนายศักดิ์สยาม แต่กลับมีรายได้เพียง 9,000 บาทเท่านั้น โดยคำนวณจากที่เขาแสดงบัญชีทรัพย์สินว่ามีรายได้เพียงปีละประมาณ 100,000 บาทเท่านั้น ทำให้ยิ่งน่าสงสัยอีกว่า นาย A เป็นเพียงนอมินีในการทำธุรกรรมของตระกูลชิดชอบหรือไม่

ปกรณ์วุฒิระบุว่า เมื่อสืบค้นไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีอีกบริษัทเข้ามาเกี่ยวคือ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวของตระกูลชิดชอบมาตั้งแต่ปี 2558 สถานที่ตั้งของบริษัทก็อยู่แห่งเดียวกันกับบริษัทบุรีเจริญ ซึ่งเป็นบ้านของพี่ชายศักดิ์สยามนั่นเอง ประเด็นที่สำคัญคือ ในปี 2558 เมื่อศักดิ์สยามเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทศิลาชัย ก็มีบุคคลหนึ่งเข้ามาเป็นลูกจ้างในเวลาไล่เลี่ยกัน รับเงินเดือนเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งยังรับอยู่จนถึงทุกวันนี้ บุคคลดังกล่าวไม่ใช่ใครนอกจากนาย A

เมื่อพิจารณางบการเงินย้อนหลังของบริษัทศิลาชัยก็พบว่า บริษัทศิลาชัยเป็นหนี้เงินกู้ระยะยาว 221.5 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหนี้ก็คือ นาย A นับเป็นเรื่องแปลกที่บริษัทเป็นหนี้ลูกจ้างของตนเอง ในบัญชียังระบุว่าเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ไม่มีการทำสัญญาหรือคิดดอกเบี้ยใดๆ 

“ถ้าเราลองเปลี่ยนชื่อ พฤติการณ์นี้ทั้งหมดจาก นาย A เป็นนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และบริษัทศิลาชัยเป็นเหมือนกงสี ทุกอย่างก็ดูเรียบง่าย ตัวเลขกำไรขาดทุนก็อาจไม่สำคัญมากนัก ถึงบริษัทจะขาดทุนและเป็นหนี้อยู่เป็นร้อยล้าน แต่ก็เป็นหนี้คนในครอบครัว เอาเงินไปบริจาคให้พรรคการเมืองตัวเองก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร” ปกรณ์วุฒิกล่าว

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า