อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565: ยุทธการเดือดเชือดรัฐมนตรี ถ้ามีคนมาบอกคุณว่า ‘ขออภิปรายไม่ไว้วางใจ’ คุณจะเข้าใจหรือไม่ว่าเขาจ้องจะเล่นคุณ?

ในช่วงวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565 บรรยากาศทางการเมืองในรัฐสภาและในโลกออนไลน์ของไทยน่าจะคุกรุ่นไม่น้อย สืบเนื่องจากจะมีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งนำโดย ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้าน

พรรคฝ่ายค้านซึ่งเป็นผู้อภิปรายหลักๆ ต่างประชาสัมพันธ์กันอย่างครึกครื้น อาทิ พรรคเพื่อไทยเปิดตัวโปสเตอร์คล้ายซีรีส์หนังเกาหลีชื่อ ‘ยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ ในขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลก็รับลูกด้วยการเปิดตัวภาพคล้ายบัตรเชิญร่วมงานศพชื่อ ‘ตอกตะปูปิดตาย ทลายระบอบประยุทธ์’ โดย รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้กล่าวว่า เห็นพรรคเพื่อไทยสอย ‘นั่งร้าน’ ลงแล้ว ก็น่าจะมีคนตกลงมาตายไม่มากก็น้อย ฟากก้าวไกลจึงอยากช่วยจัดงานฌาปนกิจให้ 

รายนามของรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมีดังนี้

1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

2. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

4. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

5. พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

6. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

7. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

8. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

9. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

10. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

11. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

พรรคฝ่ายค้านให้เหตุผลว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีอื่นรวม 11 คน บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดและมีพฤติกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง จนประเทศตกต่ําอย่างถึงที่สุดในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ประชาชนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า สูญเสียโอกาสและขาดหลักประกันในการมีชีวิตที่ดี เกิดภาวะ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ และ ‘ค่าครองชีพสูง คุณภาพชีวิตต่ํา’ 

หากปล่อยให้พลเอกประยุทธ์และรัฐมนตรีเหล่านี้ยังคงบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ย่อมทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหายจนยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้

พฤติการณ์และประเด็นอภิปรายรายบุคคลมีดังนี้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 

พลเอกประยุทธ์ได้รับข้อครหาว่า ตลอดระยะเวลาร่วม 8 ปีที่บริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี ผิดพลาดล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศได้เลย โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาชน

ในทางตรงกันข้าม พลเอกประยุทธ์กลับกลายเป็นต้นตอทำให้ปัญหาที่มีอยู่ซับซ้อน ขยายวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมีสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และแพร่กระจายไปทุกอณูของสังคม

อีกทั้งยังไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้ความสามารถ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ เป็นผู้นำที่พิการทางความคิด ยึดติดแต่อำนาจ ไม่เคารพหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ปิดปากประชาชนและปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน

นายกรัฐมนตรีปล่อยปละละเลยให้พวกพ้องแสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของประชาชน ใช้จ่ายงบประมาณไม่คำนึงถึงวินัยทางการคลัง มุ่งแต่ก่อหนี้เพื่อแสวงหาคะแนนนิยมทางการเมือง

การบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์นับวันจะทำให้ประเทศถอยหลัง เศรษฐกิจดิ่งเหว ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับตนจนขยายตัวขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์มีพฤติกรรมฉ้อฉล ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้เห็นเป็นใจหรือปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในองค์กรหรือหน่วยงานในกำกับดูแล ล้มเหลวและไร้ความสามารถในการบริหารราชการกระทรวงพาณิชย์ ปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของเอกชนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายอนุทินไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไร้จิตสำนึกของการเป็นนักการเมืองที่ดี รู้เห็นเป็นใจ สนับสนุนการใช้เงินและผลประโยชน์ในการดึง ส.ส. จากพรรคอื่นเข้าสังกัดตน โดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยและหลักคุณธรรมทางการเมือง ทำให้ระบบการเมืองถอยหลังจากการใช้คุณธรรมนำการเมืองมาเป็นใช้เงินและผลประโยชน์นำการเมือง

นายอนุทินยังบริหารราชการกระทรวงสาธารณสุขล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องอย่างรุนแรง ใช้งบประมาณแผ่นดินเกินจำเป็นและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องและบริวารจากตำแหน่งและหน้าที่ของตน

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

พลเอกประวิตรจงใจไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งสร้างความมั่งคั่งจากตำแหน่งหน้าที่ ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่กลับทำตนเป็นแบบอย่างของการหลีกเลี่ยงกฎหมายที่มุ่งปราบปรามการทุกจริตเสียเอง เมื่อพบเห็นการทุจริตกลับปกป้อง ไม่ดำเนินการแก้ไข

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

รมว.มหาดไทย ถูกกล่าวหาว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ขาดซึ่งธรรมาภิบาล ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในหน่วยงานใต้กำกับอย่างกว้างขวาง จนทำให้การทุจริตเป็นเรื่องปกติของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยามไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองกับพวกพ้องจากโครงการต่างๆ ของรัฐ ใช้งบประมาณจำนวนมากโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและประโยชน์สาธารณะ ใช้สถานะและตำแหน่งในทางตรงและทางอ้อมก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในกระทรวงคมนาคม ซ้ำร้ายยังละเว้นไม่ดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ดูแลให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนและกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายชัยวุฒิบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวและบกพร่อง ปล่อยให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ทำลายระบบเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายแก่ประชาชนในวงกว้าง ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งสนใจเอาผิดแต่เฉพาะกับกลุ่มบุคคล นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายจุติ ไกรฤกษ์ ถูกกล่าวหาว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปล่อยให้ประชาชนขาดไร้ซึ่งที่อยู่อาศัยและค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ขณะที่ใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายสันติถูกกล่าวหาว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์ในหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ จงใจปฏิบัติหรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายนิพนธ์ บุญญามณี ถูกกล่าวหาว่า ไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ทุจริตต่อหน้าที่ ปล่อยปละละเลย รู้เห็น สนับสนุนให้มีการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ภายในหน่วยงานที่กำกับดูแล โดยไม่ดำเนินการตรวจสอบ ระงับ ยับยั้ง หรือป้องกัน จนก่อความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติถูกกล่าวหาว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ประพฤติไม่ชอบต่อหน้าที่ มีผลประโยชน์ทับซ้อนและกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากการนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ เอื้อให้เอกชนรายใหญ่ใช้ประโยชน์จากแรงงานโดยผิดกฎหมาย

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า