“ถ้าไม่มีการแก้ปัญหาจริงๆ เกษตรกรรุ่นนี้ที่เห็นมาม็อบกันนี่จะเป็นรุ่นสุดท้าย” ม็อบชาวนา: ด้วยฝ่าเท้าและแผ่นหลัง

หลังจากฝ่าเท้าย่างเหยียบเข้ากรุงเทพฯ และแผ่นหลังของชาวนานอนราบไปกับพื้นทางเท้าเป็นเวลา 42 วัน เพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยขอให้ออกมติโอนหนี้จากธนาคารและสถาบันการเงินไปให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร รวมถึงทวงถามถึงเงินชดเชยเพื่อฟื้นฟูอาชีพจากราคาผลผลิตตกต่ำ

เมื่อวานนี้ (8 มีนาคม 2565) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามเอกสารอนุมัติ เพื่อที่จะเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งอาจพูดได้ว่าสิ่งนี้คือความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมครั้งแรก นับตั้งแต่ชาวนาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ถึงอย่างนั้นยังต้องรอความชัดเจนในขั้นตอนของกระบวนการอีก 1-2 สัปดาห์

จากบริเวณหน้ากระทรวงการคลัง ขยับเคลื่อนการกดดันสู่ราชดำเนินนอก กระทั่งวันนี้ชาวนาถอยกลับมาหน้ากระทรวงการคลังอีกครั้ง ผมไปถึงที่นั่นราวสี่โมงเย็น เดินเข้าไปทักทายก็พบกับพี่บังและพี่เด่น ผู้ประสานงานสองคนที่เคยพบกันเมื่อครั้งที่แล้ว เมื่อถามว่าจะเอายังไงต่อ พี่บังตอบทันทีว่าอยู่มาขนาดนี้แล้ว จะอยู่ต่อแน่นอน อยู่จนกว่าเรื่องราวจะเสร็จสรรพและชัดเจน

ครั้งนี้ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ ชรินทร์ ดวงดารา จาก กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) แกนนำที่พาชาวนาไทยร่วมต่อสู้มาแล้วหลายสิบปี 

“เรื่องนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 2 เมษายน 2564 จากนั้นมาไม่มีความคืบหน้า เราจึงตัดสินใจมาทวงถาม เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565… ก็เกือบปี ปรากฏว่ายังไม่ได้ทำอะไรเลย เท่ากับว่าที่มาอยู่ 42 วันนี้ เรามาทำเรื่องยกร่างมติคณะรัฐมนตรี” ชรินทร์บอก เมื่อผมถามเรื่องการตอบรับของหน่วยงานภาครัฐ

โอเคกับความคืบหน้าในวันนี้หรือเปล่าครับ ผมถาม

“อย่างน้อยตอนนี้เราได้รู้ว่าเรื่องจะเข้า ครม. เมื่อไหร่ ไม่อาทิตย์นี้ก็อาทิตย์หน้า

“ดีกว่าก่อนนี้ ที่นอกจากไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเข้า ครม. แล้ว ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเสร็จด้วย” คุณชรินทร์หยุดให้ผมขำแห้งก่อนจะพูดต่อ “แต่ตอนนี้ถือว่าเสร็จแล้ว ขั้นตอนคือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเตรียมบรรจุเข้าวาระ ไม่อังคารหน้าก็คงอังคารถัดไป เพราะเอกสารต้องรอขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กระทรวงการคลัง โดยสำนักงบประมาณ กับสำนักเศรษฐกิจการคลัง เป็นต้น”

“ถึงเวลานี้พอมั่นใจได้หรือยังครับ”

“โดยปกติมติ ครม. ถ้าไม่ชัวร์เขาก็จะไม่เอาเข้า ที่เอาเข้าส่วนใหญ่ก็จะผ่าน โดยปกตินะครับ แต่เราก็ต้องรอดู”

“ระหว่างนี้ชาวนาก็จะอยู่กันตรงนี้ต่อ?”

“อยู่ครับ ถ้าเราไม่อยู่ เรื่องอาจจะไม่เข้า (ครม.) ก็ได้ มันต้องมีคนกระตุ้นตลอด”

“ต่อเมื่อยังไม่มีมติออกมาก็ยังวางใจไม่ได้?”

“ใช่ เพราะกลับบ้านไปก็โดนฟ้องแน่ ถ้ามีมติ ครม. เขาก็หยุดฟ้องตามมติ เบื้องต้นมตินั้นจะมีผลทันทีเรื่องการฟ้องหนี้สินและการยึดทรัพย์ ส่วนการโอนหนี้หรือซื้อหนี้ไปกองทุนพื้นฟูฯ ก็เป็นอีกเรื่องที่อยู่ในรายละเอียด”

เมื่อถามถึงชาวนาคนอื่นๆ ว่าพวกเขายังมีกำลังใจดีกันอยู่หรือเปล่า

“ผมว่าเขาอยู่ในฐานะที่ไม่มีทางเลือก เขาไม่อยู่ เขาก็ตาย”

ก่อนจะขยายความว่าหลายคนกลับไปก็ไม่เห็นหนทาง ไม่มีอนาคต เขาไม่มีทางอื่น นอกจากจะถูกยึดที่ดิน

“ถามว่าพอใจไหมกับการตอบรับของภาครัฐ… มันพูดยากนะ ถ้าพูดในแง่ที่ว่าเราต้องมานอนอยู่ 42 วัน เพื่อรอคนไม่กี่คน เราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น ทำไมต้องให้มนุษย์มานอนกลางดินกินกลางทรายรอคนไม่กี่คน ทั้งที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วว่าคุณต้องทำ ทำไมคุณไม่เร่งทำ แต่ถ้าในแง่ที่มันถูกแช่แข็งมาเกือบปี แล้วเรามาเดือนนึงเรื่องมันเดินได้ ก็ถือว่าพอใจ แต่ถ้าในภาพรวม ผมว่าแย่ แย่มากด้วย คุณปล่อยให้ค้างอยู่ได้ไงเกือบปี

“แล้วเป็นแบบนี้ทุกที ยี่สิบปีที่เราสู้มาเป็นอย่างนี้ตลอด ถ้าไม่มา-ไม่ได้”

“ต้องมายืนยันความลำบากเดือดร้อน?”

“ใช่ เป็นแบบนี้จริงๆ ถามพวกเขาได้เลย มาแบบนี้นับครั้งกันไม่ถูกแล้วล่ะ รัฐไม่เคยสนใจ ไม่เอาใจใส่เกษตรกรชาวไร่ชาวนา ไม่ว่ารัฐบาลไหน แม้กระทั่งรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังดีกว่ารัฐบาลแบบทุกวันนี้ ดีกว่าเยอะ 

“แต่ถ้าถามถึงความสำคัญของปัญหา ความสำคัญของความเดือดร้อนของคนยากคนจน ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ใส่ใจน้อยเกินไป ทั้งที่เป็นปัญหารากฐานของสังคมไทย เขาถือว่าชาวนาอยู่ในสภาพที่ต้องยอมจำนน ถ้าไม่ปลูกข้าวจะเอาอะไรกินกัน เขาก็ไม่กลัวว่าจะต้องขาดแคลนข้าว สมมุติว่าถ้าไม่มีการแก้ปัญหาจริงๆ เกษตรกรรุ่นนี้ที่เห็นมาม็อบกันนี่จะเป็นรุ่นสุดท้าย ลูกหลานจะไม่ทำนาแล้ว เพราะเห็นตัวอย่างพ่อแม่เป็นหนี้ล้นพ้นตัว”

“ถ้ามองออกมาจากเรื่องเกษตรกรอีกนิด เราพูดได้ไหมว่านายทุนกำลังเข้ามามีบทบาทกับคนยากคนจนในทุกสาขาอาชีพ ถ้าเขาสามารถควบคุมเกษตรกรได้ ซึ่งเป็นอาชีพของคนเกือบครึ่งหนึ่งในชาติ เขาก็จะไปควบคุมส่วนอื่นๆ อีก”

“ตอนนี้ผมคิดว่าเขาก็ควบคุมได้อยู่แล้ว หนึ่งคือการควบคุมต้นทุนการผลิตอยู่ในมือ เขาจะกำหนดราคาปุ๋ยกระสอบละเท่าไหร่ก็ได้ อยากให้ราคายาฆ่าแมลงขวดละเท่าไหร่เขาก็กำหนดได้เอง ในขณะเดียวกันเขาก็กำหนดได้อีกว่าข้าวปีนี้จะซื้อเท่าไหร่ ผมว่านี่แหละคือการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ และถ้าพูดในมุมที่ถาม มันก็ย่อมควบคุมในบริบทอื่นไปด้วย ในเมื่อภาคการเกษตรทั้งหมดนี้เป็นภาคการผลิตพื้นฐานของประเทศ

“ผมคิดว่าปัญหาทุกปัญหาของประเทศนี้ เราต้องมาศึกษาเรียนรู้กันใหม่ ว่าเหตุของปัญหามันเกิดมาจากอะไร ชาวนาเป็นหนี้ – ใช่ไหมที่เขาขี้เกียจถึงเป็นหนี้ ใช่ไหมที่เขาเล่นการพนันเล่นหวยถึงเป็นหนี้ แล้วทำไมชาวนาเกือบสามสิบล้านคนถึงขี้เกียจทุกคน ทำไมคนเกือบสามสิบล้านคนมันกินเหล้าทุกคนเหรอ มันแทงหวยทุกคนหรือเปล่า 

“หรือว่าการป้ายความผิดแบบนี้ไปให้ชาวนา ให้คนยากคนจน มันคือการป้ายความผิดเพื่อที่ผู้มีอำนาจจะไม่ต้องรับผิดชอบ เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ เราเข้าใจปัญหาสลัมแค่ไหน เราจะไปกล่าวหาเขาว่าเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งที่ไม่ดีนั้นมันจริงไหม ผมว่าตั้งแต่เกิดมา เราถูกนำเข้าข้อมูลแบบผิดๆ มาตลอดจากการโฆษณาของภาครัฐ ฉะนั้นทุกเรื่องถ้าเราสนใจที่จะเรียนรู้ศึกษาปัญหาจากโครงสร้างร่วมกันอย่างจริงจัง ผมว่าทุกปัญหานั้นแก้ได้ อย่ามองชาวนาเป็นกลุ่มคนน่าสงสาร น่าสมเพช น่าเวทนา แต่มองพวกเขาอย่างเข้าใจ” ชรินทร์กล่าวทิ้งท้าย

จรณ์ ยวนเจริญ
มนุษย์ขี้กลัว ผู้ที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตอีกครั้ง ทาสหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า