เกษตรกรอยู่ตรงไหน ในการจัดการที่ดินของรัฐไทย

รัชกาลที่ 5

รัฐไทยเริ่มสำรวจอาณาเขตดินแดนที่แน่นอนในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2396-2453) แม้จะเข้าใจกันว่าเป็นแนวทางเพื่อป้องกันการรุกล้ำดินแดนของตะวันตก แต่มีงานวิชาการที่เสนอว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปเพื่อเรียกเก็บและกีดกันผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

เริ่มต้นจากการที่รัฐกรุงเทพฯ ต้องการรวบอำนาจการให้สัมปทานทำไม้และการเรียกเก็บผลประโยชน์จากการทำไม้ของรัฐล้านนา ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐกรุงเทพฯ

2433

ต่างประเทศต้องการสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะข้าวและป่าไม้ เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกจึงมีโครงการขุดคลองรังสิตขึ้นในปี พ.ศ. 2433 เพื่อสร้างระบบชลประทานและเส้นทางลำเลียงสินค้าไปจำหน่าย แต่การขยายพื้นที่เพาะปลูกทำให้เกิดข้อพิพาทในที่ดินสูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการขุดคลอง หลักฐานทางราชการในห้วงนั้น ยังไม่มีระบบที่จะใช้ในการไต่สวนและพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดิน สาเหตุเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการวางระบบการจัดการที่ดินในเวลาต่อมา

2439

มีการจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้น เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการผลประโยชน์จากการทำไม้โดยเฉพาะ อธิบดีกรมป่าไม้คนแรกเป็นชาวอังกฤษชื่อ H. A. Slade เขาเคยทำหน้าที่บริหารจัดการป่าไม้ให้แก่เจ้าอาณานิคมอังกฤษในประเทศอินเดีย

2444

มีการจัดตั้งกรมที่ดิน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 มีการประกาศออกโฉนดที่ดินครั้งแรกในปีดังกล่าว ประกาศฉบับนี้และฉบับต่อๆ มา ได้ให้การคุ้มครองสิทธิในที่ดินแก่เอกชน ซึ่งเป็นสิทธิแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่งผลให้การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินเอกชนเป็นไปตามกลไกตลาด รัฐไม่ได้เข้ามาแทรกแซงควบคุม

2484

หลังจากเรียกเก็บภาษีอากรที่ดินที่ราษฎรครอบครองทำกินอยู่แล้ว รัฐได้ออกกฎหมายเพื่อหวงห้ามและกันพื้นที่บางส่วนไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ กฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการอ้างสิทธิเหนือที่ดินอย่างเหมารวมกลับไม่ใช่กฎหมายที่ดิน แต่เป็นพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่มีการะบุเป็นครั้งแรกว่า ที่ดินทั้งหมดในประเทศไม่ว่าจะมีสภาพเป็นป่าไม้หรือไม่ก็ตาม หากว่าไม่มีบุคคลใดได้กรรมสิทธิ์หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมาย ให้ถือว่าที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ

2497

สำหรับกฎหมายที่ให้การคุ้มครองกรรมสิทธิ์เอกชนในที่ดิน และมุ่งประโยชน์ในการเก็บภาษีที่ใช้สืบเนื่องจนปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497 เป็นกฎหมายแม่บทว่าด้วยเรื่องที่ดินและรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินเข้าไว้ด้วยกัน

2504

การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยดำเนินมาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2500 มีนโยบายการพัฒนาและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกในปี 2504 ตามข้อเสนอของธนาคารโลก การพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้การจับจองที่ดินและใช้ประโยชน์ที่ดินขยายตัวเพิ่มตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคเมือง และการขยายพื้นที่การเกษตรในชนบท

2527

ธนาคารโลกให้เงินสนับสนุนจำนวน 183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้รัฐบาลเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ให้เกษตรกรในปี 2527 

กรมที่ดินเริ่มดำเนินการโครงการเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศโดยการสนับสนุนของธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในระหว่างปี 2528-2547 ตามหลักการของธนาคารโลก ที่เห็นว่าเอกสารสิทธิ์จะทำให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินที่มั่นคง จะทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะลงทุนทำการผลิตหรือใช้เอกสารสิทธิ์นั้นไปเพิ่มทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

นับแต่มีกฎหมายที่ดินในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐยังไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทั่วประเทศให้แล้วเสร็จลงได้

2531

ตลาดที่ดินเฟื่องฟูอย่างก้าวกระโดดในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2531-2534 ภายใต้นโยบายการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า พร้อมทั้งนโยบายพัฒนาประเทศไทยให้เป็น ‘เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย’ หรือการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) นโยบายดังกล่าวจึงมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อย่างมหาศาล เกิดการกว้านซื้อที่ดินของเกษตรกรรายย่อยเพื่อเก็งกำไร

2534

ด้วยสถานการณ์เฟื่องฟูของตลาดที่ดินผนวกกับโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน ปรากฏว่ารอยต่อระหว่างปี พ.ศ. 2534-2535 การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินประเภทต่างๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลกระทบที่ตามมาคือเกิดกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเกิดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน

ในปี 2534 รัฐทำ ‘โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม’ (คจก.) โดยอ้างว่ามีเจตนาเพื่อช่วยประชาชนผู้ยากไร้ ดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่ พร้อมออกเอกสารสิทธิ์ให้ แต่สาระสำคัญในหลักคิดกลับแฝงไว้ด้วยการเปิดพื้นที่สัมปทานการตัดป่า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนเช่าปลูกไม้เศรษฐกิจจำพวกยูคาลิปตัส เป็นต้น ชาวบ้านถูกบีบบังคับให้อพยพ หลายกรณีถูกทหารใช้กำลังและบังคับให้รื้อถอนบ้านและมีบางรายถูกทหารพังบ้านเพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่

เมื่อความรุนแรงถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ ในที่สุดรัฐบาลต้องยกเลิกโครงการ

2545

หลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้ตลาดที่ดินและอสังหาริมทรัพย์หยุดชะงักเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และกลับมาเติบโตอีกครั้งพร้อมกับการขยายตัวของการค้าและการลงทุนจากต่างชาติในกระบวนการโลกาภิวัตน์

กรมที่ดินพยายามแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติเช่าที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 เพื่อขยายเวลาเช่าที่ดินของชาวต่างชาติ จากกำหนดไว้ไม่เกิน 50 ปี ให้สามารถเช่าได้ 99 ปี มีข้อมูล ณ ปี 2555 ระบุว่า ที่ดิน 1 ใน 3 ของประเทศไทย หรือประมาณ 100 ล้านไร่ ถูกถือครองโดยชาวต่างชาติ

การสำรวจของมูลนิธิสถาบันที่ดินในปี พ.ศ. 2545 พบว่าการกระจุกตัวของที่ดินแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือการถือครองที่ดินแปลงเดียวที่มีขนาดเกิน 200 ไร่ และผู้ถือครองรายเดียวมีที่ดินหลายแปลง ที่ดินส่วนมากใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ในประเทศไทยมีแปลงที่ดินขนาดใหญ่เกิน 100 ไร่ประมาณร้อยละ 5 ของที่ดินทั้งหมด ขณะที่แปลงที่ดินโดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87 ของที่ดินทั้งหมด มีเนื้อที่ไม่เกิน 5 ไร่

2557

ภายหลังรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ตามมาด้วยแผนแม่บทป่าไม้ฯ และ นโยบายทวงคืนผืนป่า สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านทั่วทุกภูมิภาค รัฐไม่เคารพในสิทธิของชาวบ้าน และไม่ยอมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน รัฐยังคงยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านด้วยข้ออ้างในนามของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ


ที่มา: การจัดการที่ดินของรัฐไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดย ผศ.ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม
สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า