ประวัติศาสตร์ชุดไทยที่เพิ่งสร้าง: เมื่ออาภรณ์แห่งอารยะกลับกลายเป็นมลทินมัวหมองด้วยข้อหา ม.112

การชุมนุม ‘ศิลปะราษฎร’ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 น่าจะเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่สร้างสรรค์ที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย เพราะบรรดาผู้เข้าร่วมชุมนุมได้เปลี่ยนถนนสีลมให้กลายเป็น ‘รันเวย์ประชาชน’ และเปลี่ยนตนเองเป็นนายแบบ/นางแบบเดินโชว์แฟชั่นการแต่งกายกันอย่างละลานตา

ทว่าในเวลาต่อมา ‘นิว’ จตุพร แซ่อึง หนึ่งในผู้เข้าร่วม กลับถูกตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพียงเพราะว่าเธอแต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีชมพู ก้าวเดินช้าๆ บนพรมแดง ขณะกำลังเยื้องย่าง พลันมีผู้ชุมนุมบางส่วนหมอบลงไปจับข้อเท้า พร้อมๆ กับมีเสียงนิรนามตะโกนจากมวลชนว่า “ทรงพระเจริญ” ซึ่งสำหรับหนึ่งในแอดมินเพจ ‘เชียร์ลุง’ รับไม่ได้กับเหตุกาณ์ดังกล่าว จึงเข้าแจ้งความว่า จตุพรจงใจแต่งกายเหมือนราชินีในรัชกาลที่ 10 ถือเป็นการล้อเลียน จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์และราชินี

นิว จตุพร แซ่อึง

หลังการต่อสู้คดีและสืบพยานจากทั้งฝั่งโจทก์และฝั่งจำเลย ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ 12 กันยายน 2565 ระบุว่า จตุพรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี (โทษจำคุกสูงสุดในคดีนี้คือ 15 ปี) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ลงโทษปรับ 1,500 บาท ส่วนข้อหาอื่นๆ ให้ยกทั้งหมด อย่างไรก็ดี ศาลระบุว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท โดยโทษจำคุกไม่รอลงอาญา

แม้จตุพรจะให้เหตุผลในขั้นตอนการเบิกความว่า “เหตุผลที่เลือกใส่ชุดไทยเพราะมองว่าเป็นชุดประจำชาติ ใส่แล้วน่าจะดูดี โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะล้อเลียนใคร เพียงแต่ต้องการเป็นตัวเองในรูปแบบที่ใส่ชุดไทย” แต่สุดท้ายก็ต้องคำพิพากษาว่าผิด

เมื่อคำพิพากษาระบุมาแบบนั้นก็กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลทันที เพราะชาวเน็ตส่วนหนึ่งมองว่า การแต่งกายด้วยชุดไทยตามประเพณีอันดีงามไม่น่าจะเข้าข่ายการกระทำที่ดูหมิ่นหรืออาฆาตต่อสถาบันอันสูงส่งของประเทศไปได้ ไม่ว่าจะพิจารณาจากเหลี่ยมมุมใดๆ มิหนำซ้ำ การปรากฏพระวรกายในฉลองพระองค์แบบไทยๆ ตามงานเลี้ยงฉลองในเวทีโลกอย่างสง่างามเมื่อครั้งอดีตของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มิใช่หรอกหรือที่เป็นแรงบันดาลให้ปวงชนชาวไทยยึดถือเป็นแบบอย่าง 

หากยึดตามคำพิพากษาของศาลครั้งนี้เป็นแนวทางว่า การกระทำใดเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดและต้องห้ามตามกฎหมาย การแต่งกายด้วย ‘ชุดไทยพระราชนิยม’ คงต้องกลายเป็นเครื่องแต่งกายที่ลูกหลานไทยในอนาคตปฏิเสธที่จะสวมใส่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ หรือใส่ในชีวิตประจำวันเป็นแน่ เพราะเกรงว่าจะเป็นการจาบจ้วงเบื้องสูง

แต่ก่อนที่จะเป็นเช่นนั้น เราน่าจะลองสำรวจเส้นทางประวัติศาสตร์ของ ‘ชุดไทย’ เพื่อทบทวนที่มาของการประกอบสร้างความเป็นไทยกันอีกสักครั้ง

‘รัฐนิยม’ กับการแต่งกายอย่างผู้มีอารยะ

ในสมัยที่ยังไม่มีเสื้อผ้าสากลแบบมาตรฐานที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ผู้คนในสยามยังคงนุ่งผ้าตามประเพณีนิยมในแต่ละท้องถิ่น ตัวอย่างเช่นการนุ่งผ้าซิ่นของกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว การนุ่งโสร่งของคนแขก-พม่า การนุ่งโจงกระเบนเปลือยท่อนบนของชายชาวสยาม และนุ่งผ้าคาดอกสำหรับผู้หญิง เป็นต้น แม้สมาชิกของราชสำนักและชนชั้นสูงจะเข้าถึงแฟชั่นการแต่งกายที่เป็น ‘อารยะ’ จากต่างประเทศมาอย่างยาวนาน แต่เหล่าสามัญชนย่อมไม่มีปัญญาครอบครองเสื้อผ้าอาภรณ์หรูหราเหล่านั้น จึงแต่งกายอย่างสมถะ ตามแต่วัตถุดิบของชุมชนจะเอื้ออำนวย เช่น ทอผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายใช้เองในครอบครัว 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 รัฐบาลคณะราษฎรได้เริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงประเทศในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อรื้อถอนระบอบเก่า (สมบูรณาญาสิทธิราชย์) และเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นแกนกลางอำนาจของประเทศ หนึ่งในการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยสร้างชาติของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎร ซึ่งพยายามสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับค่านิยมสากล ได้แก่ การออกประกาศที่เรียกว่า ‘รัฐนิยม’ ซึ่งมีทั้งหมด 12 ฉบับ (พ.ศ. 2482-2485)

รัฐนิยมของจอมพล ป. ไม่เพียงเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ แต่ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตของราษฎรในหลายด้าน อาทิ การยืนตรงเคารพธงชาติ ร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี รณรงค์ให้คนไทยใช้สิ่งอุปโภคบริโภคที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น สนับสนุนให้คนไทยทำงาน เพื่อร่วมกันสร้างชาติให้เจริญ เป็นต้น 

ในยุคนี้เองที่รัฐไทยเริ่มหันมาเข้มงวดกับการแต่งกายของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการประกาศ รัฐนิยมฉบับที่ 10 ในวันที่ 25 มกราคม 2484 กำหนดให้ประชาชนชาวไทยแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย โดยใช้เครื่องแบบประจำหน่วยราชการหรือองค์การใดๆ หรือแต่งกายแบบสากล หรือแต่งกายที่สุภาพตามประเพณีนิยม สาเหตุหนึ่งก็เพราะอยากขจัดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่แสดงออกผ่านเครื่องแต่งกายอย่างในระบอบเก่า แต่อีกสาเหตุเป็นเพราะการแต่งกายยังถูกผูกโยงกับความมีอารยะ (civilization) ที่ช่วยสลัดความป่าเถื่อนล้าหลังทิ้ง และผลักดันชาติไทยให้เจริญรุดหน้า ร่างกายและการแสดงออกทางกายของคนไทยจึงเป็นเป้าหมายที่รัฐพยายามควบคุม ตั้งแต่ท่วงท่า กิริยามารยาท คำพูดคำจา ตลอดจนการแต่งกาย ให้สมกับเป็น ‘ผู้มีวัฒนธรรม’

ตัวอย่างเช่น ในปี 2484 สตรีไทยทั่วประเทศถูกร้องขอให้เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน เลิกตัดผมสั้น และเลิกใช้ผ้าคาดอกหรือเปลือยกายท่อนบน แล้วเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุง (และเปลี่ยนเป็นนุ่งกระโปรงในเวลาต่อมา) ไว้ผมยาว สวมเสื้อตามสมัยนิยม หรือกระทั่งในปี 2485 กำหนดว่าต้องสวมหมวกก่อนออกจากบ้าน ดังคำขวัญ “มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ” ที่มักปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ในยุคสมัยนั้น เพราะรัฐมองว่าสิ่งเหล่านี้คือคุณสมบัติอันพึงปรารถนาของพลเมืองในประเทศที่เจริญแล้ว

แม้จะได้รับอิทธิพลจากแนวคิด ‘ผู้ดี’ หรือ gentleman ของชาวตะวันตกไม่มากก็น้อย แต่รัฐพยายามบ่ายเบี่ยงมาใช้คำว่า ‘อารยชน’ แทน ซึ่งเป็นคำกลางๆ เพื่อให้ความเป็นไทยที่เพิ่งสร้างฟังดูไม่ตามก้นฝรั่งมากจนเกินไป และยังพยายามเชื่อมโยงการแต่งกายตามสมัยนิยมว่า เป็นประเพณีเก่าแก่ของคนไทยมาแต่สมัยโบราณ ตัวอย่างเช่น หลวงวิจิตรวาทการ กุนซือคนสำคัญของจอมพล ป. ที่พยายามสืบสาวว่ากางเกงเป็นเครื่องแต่งกายของคนไทยมาตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณาจักรน่านเจ้าทางตอนใต้ของแผ่นดินจีน (ปัจจุบัน โลกวิชาการก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าอาณาจักรดังกล่าวมีจริงหรือไม่) ไม่ใช่การหยิบยืมจากฝรั่ง เพราะต้องการให้คนไทยหันมานุ่งกางเกงอย่างไม่กระดากนัก

การสร้างเรื่องเล่าขึ้นใหม่เพื่อให้ความชอบธรรมแก่ประเพณีใดๆ ก็ตาม มีชื่อเรียกในทางวิชาการว่า ‘ประเพณีประดิษฐ์’ ซึ่งเสนอโดย อีริค ฮอบส์บอม (Eric Hobsbawm) และ เทอเรนซ์ เรนเจอร์ (Terence Ranger) ในหนังสือ The Invention of Tradition (1983) ที่ระบุว่า “หลายต่อหลายครั้ง ประเพณีที่อ้างว่าเก่าแก่ กลับมีกำเนิดในอดีตที่ไม่ไกลนัก และในบางครั้งก็เพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้น” อย่างไรก็ดี แม้เรื่องเล่าทำนองนี้จะเพิ่งประดิษฐ์หรือตีความอดีตอย่างเพ้อฝัน แต่กลับเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสำนึกของพลเมืองให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐสมัยใหม่

เครื่องแต่งกายกลายเป็นประเพณีประดิษฐ์ที่สร้างความเป็นสากลให้กับพลเมืองไทย ควบคู่ไปกับการด้อยค่าเครื่องแต่งกายที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่นๆ อาทิ เลิกนุ่งโจงกระเบน เพราะเป็นวัฒนธรรมขอม เลิกนุ่งกางกางแพรขายาว หรือที่ชาวบ้านเรียก ‘กางเกงจีน’ หรือเลิกนุ่งโสร่งซึ่งได้รับอิทธิพลจากแขกและพม่า แม้ทางการจะให้เหตุผลว่า การแต่งกายเช่นนี้ไม่เหมาะสำหรับการทำงาน จะเหมาะก็แต่ในเวลาพักผ่อน แต่ ก้องสกล กวินรวีกุล เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487 กลับเห็นว่า เหตุผลเบื้องลึกเป็นเพราะการแต่งกาย ‘ไร้อารยะ’ เหล่านั้นแสดงให้เห็นทั้งความไม่ไทยและความไม่เป็นสากล 

รัฐนิยมจึงพยายามสร้างเครื่องแต่งกายที่มีอารยะ พร้อมกับได้ผลิตสร้างสิ่งที่เรียกว่าความเป็นไทยขึ้นใหม่ โดยแยกไม่ออกจากความเป็นสากล คนไทยจึงต้องสวมเสื้อนอก สวมกางเกง สวมกระโปรง สวมถุงเท้าและรองเท้า ตลอดจนสวมหมวกออกจากบ้าน (โดยจะต้องเป็นสินค้าที่ผลิตในไทยตาม รัฐนิยมฉบับที่ 5) เหล่าข้าราชการในระบอบใหม่และครอบครัวของพวกเขาต้องแต่งกายเป็นแบบอย่างของราษฎร รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ผ่านที่ประชุมของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และครูประชาบาล เพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่แก่คนไทย 

เมื่อประกาศออกมาเช่นนี้แล้ว ใครก็ตามที่ริอ่านออกจากบ้านด้วยการแต่งกายไร้อารยะ ก็จะถูกตราหน้าเป็น ‘ผู้กระทำผิดวัฒนธรรม’ เจ้าหน้าที่ของทางการสามารถเข้าไป ‘educate’ แนะนำ ตักเตือน กระทั่งจับกุมและปรับเงินได้

ราชินีผู้นำแฟชั่นผ้าไทยในเวทีโลก

ว่ากันว่าการที่รัฐบาลสมัยสร้างชาติผลักดันธรรมเนียมการแต่งกายแบบสากล ทำให้ผ้าไทยค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง ต้องรอคอยจนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงครามหมดอำนาจลงหลัง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2500 ผ้าไทยจึงได้ถูกฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในสังคมไทยจนระบือไกลในเวทีโลก ท่ามกลางบรรยากาศที่อึมครึมของสงครามเย็น

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

หลังการรัฐประหารไม่นาน เหล่าจอมพลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งต้องแสวงหาความชอบธรรมในการครองอำนาจ ในขณะนั้นภัยคุกคามครั้งยิ่งใหญ่ต่อรัฐบาลใดๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ (และระดับโลก) คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ต้องการสถาปนารัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพ กองทัพไทยจึงฉวยใช้ ‘ภัยแดง’ เป็นข้ออ้างในการรักษาอำนาจ และอ้างว่าเป็นผู้พิทักษ์สถาบันสำคัญๆ ของชาติอย่างสถาบันศาสนาและสถาบันกษัตริย์ให้รอดพ้นจากภัยดังกล่าว โดยมีผู้ให้การช่วยเหลือหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ผู้นำค่ายโลกเสรีและจอมต่อต้านคอมมิวนิสต์ตัวยง 

หนังสืออันโด่งดังของ ณัฐพล ใจจริง เรื่อง ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 (2563) บรรยายว่า สถาบันกษัตริย์ได้รับการหนุนเสริมบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นจาก ‘เหล่าขุนศึกและพญาอินทรี’ หลังถูกลดบทบาทลงอย่างมากในยุคคณะราษฎร โดยเฉพาะกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีความสัมพันธ์กับราชสำนักไม่ราบรื่นนัก จากที่เคยมีการจำกัดงบในการเสด็จพระราชดำเนินและลดบทบาทการเป็นประธานในพิธีสำคัญๆ ของรัฐ จนกระทั่งเมื่อถึงยุครัฐบาลของคณะรัฐประหารในทศวรรษ 2500 ได้เพิ่มงบประมาณในการเดินทาง พร้อมถวายการอารักขาแก่สถาบันกษัตริย์อย่างเต็มที่

นับแต่ พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา เราจึงได้เห็นการเสด็จเยี่ยมราษฎรในชนบทอย่างสม่ำเสมอจนเจนตา โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารที่มีเกษตรกรและชนกลุ่มน้อยที่ยากจนในหุบเขา ซึ่งเป็นที่หมายตาของขบวนการคอมมิวนิสต์ กล่าวกันว่าใน 1 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ใช้เวลาเสด็จเยี่ยมราษฎรรวมแล้วราว 7-8 เดือน โดยแปรพระราชฐานไปยังพระราชตำหนักตามหัวเมืองต่างๆ อาทิ เพชรบุรี เชียงใหม่ สกลนคร และนราธิวาส

การลงพื้นที่พบปะประชาชนชนทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงสังเกตเห็นว่า เหล่าสตรีที่มารับเสด็จมักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นไหมที่งดงามหลากสีหลายลาย พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า น่าจะหาอาชีพเสริมด้วยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่กสิกรเหล่านี้ เพื่อให้มีรายได้สม่ำเสมอตลอดปี ทดแทนในยามว่างเว้นจากการเพาะปลูกพืชหลักหรือในยามที่ผลผลิตเหล่านั้นราคาตก และอีกวัตถุประสงค์หนึ่งก็เพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูการทอผ้าของไทยที่กำลังจะเสื่อมสูญไปจากนโยบายรัฐนิยม เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายโบราณ ผ้าแพรวา

นอกจากโครงการสนับสนุนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ยังดำริให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 และดำรงตำแหน่งองค์ประธานมูลนิธิฯ ด้วยพระองค์เอง โครงการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จำนวนมากที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500-2520 เพื่อเสริมสร้าง ‘ความมั่นคง’ ของชาติท่ามกลางสงครามเย็น

วิทยานิพนธ์ของ ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ (2547) อธิบายสาเหตุของการใช้คำ ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ว่า เพราะโครงการดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอแนะ ไม่ใช่พระบรมราชโองการหรือพระราชกระแสรับสั่งให้ทำ แม้ระยะแรกจะทรงทดลองดำเนินงานด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่ในเวลาต่อมา นายกรัฐมนตรีสามารถรับสนองเป็นเจ้าของโครงการและมอบหมายแก่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐได้ ซึ่งทำให้กลายเป็นภาระหน้าที่ผูกพันของหน่วยงานนั้นๆ ที่ต้องดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จต่อไป โครงการพระราชดำริจึงสอดคล้องตามพระราชอำนาจในกฎหมายรัฐธรรมนูญได้อย่างไม่เคอะเขิน ด้วยเหตุนี้ เมื่อทรงต้องใช้จ่ายพระราชทรัพย์เพื่อโครงการศิลปาชีพเป็นจำนวนมาก จึงมีผู้กราบบังคมทูลขอให้ทรงจัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิ และต่อมารัฐบาลก็ได้รับเข้ามาเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ โดยจัดตั้งเป็นกองศิลปาชีพขึ้นในสำนักราชเลขาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2538

นอกจากนี้ ช่วงต้นทศวรรษ 2500 พระมหากษัตริย์และพระราชินีไม่เพียงเสด็จประพาสภายในประเทศ หากยังเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรปกว่า 40 เมือง และสหรัฐอเมริกา (น่าสังเกตว่าล้วนเป็นประเทศในค่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์) ซึ่งดำเนินไปอย่างเข้มข้นตลอดช่วงปี 2503-2504 

เมื่อต้องเสด็จออกงานที่เป็นทางการ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเลือกผ้าไหมไทยมาตัดฉลองพระองค์ ทั้งสำหรับพระองค์เองและสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยมี ปิแอร์ บัลแมง (Pierre Balmain) นักออกแบบชั้นนำระดับโลก และร่วมสมัยกับ คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) และ คริสโตบัล บาลองเซียก้า (Cristobal Balenciaga) เป็นผู้ถวายการตัดเย็บฉลองพระองค์ 

ห้องเสื้อบัลแมงสามารถยกระดับผ้าไหมมัดหมี่สู่แวดวงเสื้อผ้าชั้นสูงได้อย่างสง่างาม จนในเวลาต่อมา ฉลองพระองค์ที่ใช้ในวโรกาสเสด็จเยือนต่างประเทศเหล่านั้นก็ได้รับการจัดเป็นคอลเลกชันที่เรียกว่า ‘ชุดไทยพระราชนิยม’ มากถึง 8 ชุด อาทิ ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน เป็นต้น และฉลองพระองค์อันวิจิตรที่แสดงออกถึงความเป็นไทยและเป็นสากลพร้อมๆ กันนี้ได้กลายเป็นชุดมาตรฐานการแต่งกายที่เหล่าสตรีชนชั้นสูง อาทิ บรรดาเจ้านาย ภริยารัฐมนตรี นักการเมือง และข้าราชการระดับสูงต่างๆ ใช้เป็นแบบอย่างในการออกงานสังคม กล่าวเฉพาะในกรุงเทพฯ หลังปี 2500 ร้านผ้าไหมก็ทยอยผุดขึ้นมากกว่า 80 ร้าน 

หนึ่งในร้านผ้าไหมสำคัญๆ ของราชสำนักมาจากชายที่ชื่อว่า จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) ชาวอเมริกัน อดีตหน่วยสืบราชการลับ OSS (หรือ CIA ในเวลาต่อมา) ผู้ผันตัวมาเป็น ‘ราชาไหมไทย’ เขาก่อตั้ง บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด ปลายปี 2491 และเปิดร้าน ‘จิม ทอมป์สัน ช็อป’ แห่งแรกบนถนนสุรวงศ์ ในปี 2494 กระทั่งได้รับเลือกให้ร่วมงานกับห้องเสื้อบัลแมงในปี 2503 นั่นเอง กล่าวได้ว่า จิม ทอมป์สัน เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันผ้าไหมไทยให้ดังสู่เวทีโลก แต่ในขณะเดียวกัน การเติบโตทางธุรกิจของเขาก็เกิดขึ้นได้เพราะบริบทการมีผลผลิตไหมเพิ่มมากขึ้นจากโครงการส่งเสริมของมูลนิธิศิลปาชีพฯ

คงไม่เป็นการเกินเลยนักหากจะสรุปว่า ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี นอกจากเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมการแต่งกายด้วยชุดไทยทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอีกด้วย 

ผ้าไทยในปัจจุบัน จากฉลองพระองค์สู่รันเวย์ประชาชน

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมการแต่งกายด้วยชุดไทยทั้งจากโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริต่างๆ และจากการแต่งกายของพระองค์ที่มักปรากฏตามหน้าสื่ออย่างสง่างามตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 สมาชิกของราชสำนักในเวลาต่อมาจึงพยายามสืบทอดพระปณิธานของพระองค์ 

ตัวอย่างเช่น สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ได้ทรงสืบสานปณิธานในการแต่งกายด้วยชุดไทยพระราชนิยมในวโรกาสต่างๆ ซึ่งหลายชุดก็มีวางจำหน่ายอยู่ในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ 

เช่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์เสื้อผ้า ‘SIRIVANNAVARI’ ซึ่งพยายามส่งเสริมผ้าไทยให้โลดแล่นในแคทวอล์กระดับโลก พระองค์ยังพยายามผลักดันให้แพร่หลายสู่การใช้ในชีวิตประจำวันผ่านโครงการต่างๆ อาทิ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ซึ่งร่วมมือกับกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์/นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในการส่งเสริมการผลิตและใช้งานผ้าไทย ตลอดจนพระราชทานแบบลายผ้าแก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย ‘ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ เพื่อสื่อถึงการส่งมอบความรักและความสุขจากราชสำนักแก่ปวงชนชาวไทย

นอกจากนี้ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พยายามส่งเสริมและสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยเพื่อปลุกกระแสชาตินิยม อาทิ การรณรงค์ให้คณะรัฐมนตรีและข้าราชการใส่ผ้าไทยอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยสนองพระราชดำริในงาน ‘อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์’ ซึ่งจัดขึ้นปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562

นอกจากการณรงค์ของภาครัฐตลอดมา บรรดาคนดังและเหล่าดารานักแสดงก็มีส่วนในการทำให้ชุดไทยปรากฏตามฟีดของโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ทั้งจากกระแสละคร บุพเพสันนิวาส (2561) ที่ทำให้ดาราสาวชื่อดังของไทยพากันแต่งกายด้วยชุดไทยจิตรลดา อาทิ เบลลา ราณี, แอฟ ทักษอร, แต้ว ณฐพร และมิว นิษฐา จนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ถึงกับกล่าวชื่นชมว่า “สวยจังนางเอกไทย” และเมื่อกีฬาเซิร์ฟสเก็ต (surfskate) เป็นที่นิยมในช่วงปี 2563-2564 เหล่าดาราก็ออกมาจัดงาน ‘รัตนโกเซิร์ฟ’ แต่งชุดไทยไถสเก็ตร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม

กล่าวได้ว่า ชุดไทยน่าจะได้รับความนิยมในการสวมใส่มากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าเมื่อมันปรากฏขึ้นบนเรือนร่างของผู้ชุมนุมทางการเมืองที่อยู่คนละฟากฝ่ายกับอำนาจรัฐ ชุดไทยกลับกลายเป็นตัวนำพาข้อหาในคดีอาญาที่ร้ายแรงไปเสียอย่างนั้น

ที่มา:

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า