มาตรการที่ไม่สมเหตุสมผลประการต่อมาคือ ไม่ถือว่าการพิมพ์วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเป็นผลงานที่สามารถใช้ขอตำแหน่งวิชาการได้ เพราะถือว่าเป็นผลงานเก่าที่ทำเสร็จสิ้นไปแล้วก่อนหน้ามาเซ็นสัญญาเป็นอาจารย์
ผลก็คือไม่เกิดแรงจูงใจให้นักวิชาการตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ของตนเผยแพร่เป็นสมบัติสาธารณะ (อาจมีคนกล่าวว่าก็พิมพ์เป็นวิทยาทานไม่ได้หรือไง แถมได้เงินค่าขายหนังสือด้วย ทำไมต้องแคร์กับตำแหน่งทางวิชาการ ผมเห็นว่าเราควรยกย่องแซ่ซ้อง ‘นักบุญ’ แต่เรากำลังพูดถึงนโยบายมาตรการที่ควรจะใช้กับคนทั่วไปเป็นปกติ)
ผมขอไม่กล่าวถึงการยกเอาวิทยานิพนธ์ทั้งดุ้นเข้าโรงพิมพ์ โดยไม่ใช้เวลาปรับแก้เพื่อการตีพิมพ์อย่างที่มักทำกันในไทย ผมขอมุ่งไปที่การปรับแก้วิทยานิพนธ์เพื่อตีพิมพ์ในโลกภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่มีใครรับพิมพ์วิทยานิพนธ์ที่ยังไม่ผ่านการปรับปรุง การทำวิทยานิพนธ์เป็นหนังสือเล่มเป็นงานหนักมากแม้แต่สำหรับนักวิชาการที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เพราะต้องแก้ไขทั้งภาษา ต้องเรียบเรียงใหม่ให้น่าอ่าน ส่วนใหญ่ต้องค้นคว้าเพิ่มเติม ตามปกติต้องใช้เวลาอีกเป็นปี แถมหนังสือวิชาการปกติ (ที่ไม่ใช่ดีดังเป็นพิเศษ) และในสาขาความรู้ที่ไม่ใหญ่โต (เช่นเกี่ยวกับเรื่องไทย) มักไม่ทำเงิน หนังสือเกี่ยวกับเอเชียตามปกติ ที่ไม่ใช่ตำราที่ใช้ในชั้นเรียนปี 1 หรือ ปี 2 และไม่โด่งดังดีเด่นข้ามสาขาถึงขนาดที่นักวิชาการข้ามสาขาก็สนใจอ่าน จะมียอดขายรวม (life time sale) อยู่ที่เพียงราว 1,000 เล่มเท่านั้น (จำนวนคนอ่านจริงมากกว่านั้น เพราะห้องสมุดและเครื่องถ่ายเอกสาร)
สำหรับสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ (อาจยกเว้นที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาแบบอเมริกัน และมานุษยวิทยากายภาพ) มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในทุกประเทศ ถือว่าการได้ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์เป็นงานสำคัญมาก นักวิชาการปกติทั่วไปมีชีวิตทางปัญญาต่อไปอีกนับสิบปีบนพื้นฐานจากงานวิจัยชิ้นใหญ่ครั้งนั้น เพราะเป็นรากฐานของการเป็นผู้เชี่ยวชาญหัวข้อนั้นๆ หลายชิ้นเป็นงานที่เปิดประตูความรู้ใหม่ ท้าทายความรู้เดิมอย่างมาก
นักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคนเริ่มจากการตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ เพราะนักวิชาการร่วมวิชาชีพจะใช้หนังสือนั้นเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเชี่ยวชาญและศักยภาพของเขาว่า น่าจะเป็นนักวิชาการที่ดีต่อไปอีกหลายสิบปี หนังสือที่มาจากวิทยานิพนธ์จึงถูกใช้เป็นเกณฑ์สำคัญว่า สมควรจะได้รับการจ้างงานตลอดชีวิต (tenure) หรือไม่
ผมจนปัญญาอธิบายไม่ได้ว่า ทำไมในประเทศไทยจึงไม่ยอมรับ ไม่นับการตีพิมพ์หนังสือที่มาจากวิทยานิพนธ์ว่าเป็นผลงานทางวิชาการที่ควรทำ ทำไมไม่ตามแบบอย่างมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ในข้อนี้ทั้งๆ ที่ตามก้นเขาต้อยๆ ในหลายอย่างที่ไม่ควรจะทำตาม
ผมเคยสงสัยว่า ผู้สร้างกฎเกณฑ์นี้ขึ้นมาเป็นหมอกับวิศวะซึ่งเข้าใจแขนงวิชาการอื่นไม่พอ (เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่จะกล่าวถึงในตอนต่อๆ ไป) เพราะการทำวิจัยระดับปริญญาเอกในสายวิทยาศาสตร์ประยุกต์นั้น มักมีความสำคัญต่อวิชาการด้านนั้นๆ ต่างจากทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ แต่ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นสาเหตุของข้อห้ามนี้
หรือว่าจะมาจากเหตุผลง่ายกว่านั้น เช่น เพราะผู้มีอำนาจที่เป็นคนสร้างเกณฑ์ข้อนี้ขึ้นมา ล้วนเป็นผู้ที่ไม่เคยทำเช่นนั้นหรือไม่มีความสามารถทำได้ นี่อาจเป็นเหตุผลของคนที่มองโลกในแง่ร้ายเกินไปหน่อย แต่เป็นไปได้มิใช่หรือ
นอกจากวิทยานิพนธ์แล้ว การเขียนหนังสือเล่ม กลับไม่ได้รับการสนับสนุนสักเท่าไรในระบบของไทย เพราะหนังสือเล่มไม่อยู่ในระบบของ Scopus จึงตรวจนับจำนวนการถูกอ้างอิงต่อไม่ได้ ดังนั้น แม้จะใช้หนังสือเล่มขอตำแหน่งวิชาการได้ แต่ไม่มีรางวัลให้อย่างที่บทความใน Scopus จะได้รับ (ชิ้นละ 100,000-120,000 บาท) แถมน้ำหนักหรือค่าของหนังสือ 1 เล่มแทบจะไม่ต่างกับบทความ 1 ชิ้นในการขอตำแหน่งวิชาการ
นอกจากนี้ หนังสือภาษาไทยที่พิมพ์ในไทย ก็ถือว่ามีน้ำหนักไม่ต่างจากหนังสือภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต่างประเทศ คงไม่ใช่เพราะต้องการถือว่ากระบวนการพิมพ์หนังสือวิชาการในไทยยากพอๆ กับพิมพ์ในต่างประเทศ แต่คงเป็นเพราะไม่ให้ค่าการผลิตหนังสือเล่มเลยกระมัง
สำหรับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (ยกเว้นที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาแบบอเมริกัน และมานุษยวิทยากายภาพ) ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกแทบทุกแห่ง ถือว่าหนังสือเล่มโดยผู้เขียนคนเดียว (monograph) มีความสำคัญที่สุด บทความในวารสารเป็นปัจจัยประกอบสำคัญกว่าการผลิตตำรา และสำคัญกว่าบทความในวารสารในเครือ Scopus อย่างแน่นอน เพราะมักเป็นผลงานที่เสนอความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ หรือแหวกกรอบเดิม เป็นงานที่ซับซ้อนขนาดใหญ่เสมือนหลายบทความวิชาการร้อยเรียงเข้าด้วยกัน แถมต้องผ่านการรีวิวตรวจสอบหนักยิ่งกว่าบทความวารสาร ดังนั้น monograph ดีๆ มักจะได้รับการอ้างอิงมากกว่าบทความเสียอีก แม้จะไม่อยู่ในระบบของ Scopus ก็ตาม
การตีพิมพ์งานวิชาการของโลกภาษาอังกฤษนั้น หนังสือเล่มและหนังสือรวมบทความล้วนต้องผ่านการประเมินตรวจสอบ (review) ไม่ต่างจากบทความในวารสารเครือ Scopus แต่อย่างใด หากคุณภาพไม่ดีพอย่อมถูกปฏิเสธ ไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ที่สำคัญก็คือโดยทั่วไปการเขียนหนังสือเล่ม (monograph) ในสายสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ ต้องผ่านการประเมินตรวจสอบที่เข้มงวดกว่าบทความเสียอีก เพราะมีประเด็นโยงใยกันซับซ้อนกว่ามาก และเพราะสำนักพิมพ์ต้องลงทุนมากกว่าในการผลิตและเผยแพร่
มหาอำนาจด้านซอฟต์พาวเวอร์ของเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ส่งเสริมงานวิชาการความรู้เกี่ยวกับประเทศของตนและวัฒนธรรมตนให้เผยแพร่ไปทั่วโลก ผ่านองค์กรสำคัญอย่าง Japan Foundation, Korea Foundation และสถาบันขงจื๊อ สนับสนุนให้มีตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศของตนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ส่งเสริมการวิจัยและทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประเทศของตน ด้วยหวังว่าวิทยานิพนธ์เหล่านั้นจะได้ตีพิมพ์ต่อไป แต่ประเทศไทยกลับช่วยตัดตอนงานวิชาการดีๆ เกี่ยวกับประเทศไทยเสียเอง ด้วยการบั่นทอนไม่ให้ค่ากับการตีพิมพ์วิทยานิพนธ์เหล่านั้น
(ขอไม่สาธยายในที่นี้ว่ามีความต่างอย่างมากระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีซึ่งหน่วยงานทั้งสองดำเนินการอย่างอิสระ รัฐแทรกแซงไม่ได้ตามกฎบัตรของมูลนิธิ แต่สถาบันขงจื๊อยังอยู่ภายใต้การกำกับโดยตรงของรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนก่อปัญหาถูกอัปเปหิออกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่ง)
ไม่มีสถาบันระดับโลกที่ไหนประเมินค่าผลงานและศักยภาพของนักวิชาการแบบที่ระบบไทยทำอยู่ เพราะเท่ากับต้องการแต่ผลงานที่อาจช่วยแรงก์กิงเท่านั้น งานวิชาการชั้นเลิศแค่ไหนหากไม่เกี่ยวโดยตรงต่อแรงก์กิง จะถูกมองข้ามหรือลดคุณค่าลงในระบบไทย
นอกจากนี้ หนังสือเล่มยังอาจถูก ‘เท’ ไม่ให้ค่าในระบบไทยได้ด้วยเหตุพิลึกพิลั่นอีกอย่างคือ ถ้าหากงานนั้นผลิตโดยไม่ผ่านระบบโครงการวิจัยของประเทศไทย เช่น ได้ทุนต่างประเทศไปเขียนหนังสือ หรือมาจากความสนใจส่วนตัวของนักวิชาการคนนั้นค่อยๆ วิจัยค่อยๆ เขียนในช่วงหลายปีโดยไม่เคยขอทุน วช. หรือหน่วยงานใดในระบบไทยเพื่อทำวิจัยชิ้นนั้น ในสายตาของระบบราชการของไทย หนังสือที่จะใช้ยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการได้ ต้องแสดงหลักฐานรับรองว่าได้รับทุนวิจัยใด จึงสามารถนับคุณค่าของงานวิชาการนั้นได้ หรือสถาบันต่างประเทศที่ให้ทุนนั้น ต้องมีกระบวนการและเอกสารตรงกับที่ระเบียบราชการไทยต้องการ
ส่วนบทความในหนังสือรวมบทความนั้นก็ถูก ‘เท’ เพราะไม่มีใครประมวลสถิติการถูกอ้างอิงบทความเหล่านั้นได้ การไต่แรงก์กิงให้ความสำคัญล้นเหลือกับจำนวนครั้งที่บทความหนึ่งๆ ถูกอ้างอิงหรือใช้ในบทความของผู้อื่นอีกทอดหนึ่ง ซึ่งจะรู้ได้จากการรวบรวมของ Scopus นั่นแหละ หมายความว่าบทความของผู้อื่นที่จะนับได้ก็ต้องเป็นบทความที่ตีพิมพ์ในเครือ Scopus เท่านั้น บทความนอกเครือ Scopus และบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือรวมบทความย่อมไม่อยู่ในเครือ Scopus จึงนับไม่ได้ เสมือนว่าบทความเหล่านั้นไม่ดำรงอยู่เลย (เพราะ Scopus ไม่รู้จัก)
นี่คืออำนาจของ Scopus! ถึงขนาดที่บางประเทศบางมหาวิทยาลัยที่มีวิจารณญาณไม่พอ เลือกที่จะยึดเอา Scopus เป็นสรณะอย่างซื่อบื้อ แล้ว ‘เท’ งานวิชาการดีๆ ที่ได้รับการตีพิมพ์ทิ้งเสีย
ยิ่งนับวันเกณฑ์การประเมินงานวิชาการเพื่อขอตำแหน่งวิชาการก็ยิ่งมั่วยิ่งเป็นโจ๊กมากขึ้นทุกที เช่น กำหนดให้ผู้ยื่นขอตำแหน่งต้องเปิดเผยรายชื่อผู้ตรวจประเมิน (referee/reviewer) ที่อนุมัติให้ทุนวิจัยและผู้ตรวจประเมินให้ตีพิมพ์หนังสือและวารสารวิชาการ กฎข้อนี้ละเมิดหลักการสากลที่สำคัญมากเพื่อประกันคุณภาพทางวิชาการ ซึ่งกำหนดให้ชื่อผู้ตรวจประเมินต้องเป็นความลับ (blind review) จะได้ตรวจสอบได้เต็มที่โดยไม่ต้องเกรงกลัวผลกระทบกลับ วารสารและสำนักพิมพ์นานาชาติจึงไม่มีทางให้ความร่วมมือกับกฎข้อนี้ (ในขณะที่วารสารและสำนักพิมพ์ไทยหลายแห่งยอมร่วมมือกับ อว. ทำลายหลักการนี้ด้วยเหตุผลว่าเห็นใจนักวิชาการที่กำลังขอตำแหน่ง)
กฎเกณฑ์มั่วๆ แบบนี้เป็นอุปสรรคฉุดรั้งการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติเสียเอง ยังมีกฎเกณฑ์มั่วที่เกิดจากความไร้เดียงสาต่อโลกวิชาการทำนองนี้อีก เช่น กำหนดว่าต้องมีตรวจผู้ประเมิน 3 คน แต่ตามปกติวารสารนานาชาติใช้ผู้ตรวจประเมินแค่ 2 คน จะตั้งคนที่ 3 เฉพาะในกรณีที่สองคนแรกประเมินออกมาตรงข้ามกันเท่านั้น นักวิชาการไทยที่ทำผลงานได้ดีจนผ่านทั้งสองคน จะไปหาชื่อคนที่ 3 มาจากไหน
(ก่อนหน้าปี 2566 ผู้บริหารระดับกลางและสูงหลายคนตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงมัก ‘กรุณา’ ไม่ยึดเกณฑ์เหล่านี้อย่างแข็งทื่อตายตัว หาช่องทางยอมรับหนังสือและบทความเหล่านี้เป็นผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการได้ ทั้งๆ ที่ควรเป็นสิทธิอันชอบธรรมของนักวิชาการ โดยไม่ต้องรอรับความกรุณาเป็นพิเศษจากใคร นับจากต้นปี 2566 การขอตำแหน่งระดับ ผศ. สามารถใช้งานวิจัยที่พิมพ์เป็นบทหนึ่งของหนังสือรวมบทความ แต่การขอ รศ.-ศ. ยังคงใช้ไม่ได้ตามเดิม)
สมมติว่าถ้าผมอยู่ในระบบไทย ผมคงเอาดีทางวิชาการไม่ได้ ขอตำเหน่งใดๆ ก็คงไม่ได้ เพราะหนังสือเล่มสำคัญของผมเป็นงานที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ ป.เอก ซึ่งไม่ถือเป็นผลงานที่ใช้ไปขอตำแหน่งใดๆ ได้ในระบบไทย และเป็นไปได้มากที่ผมคงไม่คิดจะปรับปรุงวิทยานิพนธ์เพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มด้วยซ้ำไป
บทความวิชาการของผมอีกจำนวนมากตีพิมพ์ในหนังสือรวมบทความ ไม่อยู่ในระบบ Scopus เพราะผมถือว่าหากใครสนใจงานของผมก็น่าจะหาหนังสือรวมบทความนั้นๆ ได้ไม่ยาก (แถมรู้สึกดีที่ชีวิตทางวิชาการของผมไม่ถูกบงการโดย Scopus) จึงไม่เคยมีสถิติว่าได้รับอ้างอิงกี่ครั้ง พฤติกรรมเช่นนี้เอาดีไม่ได้ในระบบมหาวิทยาลัยไทย
ในมุมกลับกัน ในความเป็นจริงตามที่เป็นอยู่นั้น มีงานดีๆ โดยนักวิชาการไทยกี่ชิ้นแล้วที่ไม่เคยได้รับการผลิต เพราะเขาไม่คิด ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีเวลาพอที่จะปรับปรุงวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นงานที่หนักแต่กลับไม่มีผลใดๆ ต่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพของเขา ผลงานของนักวิชาการไทยที่อาจจะส่งอิทธิพลต่อวิชาการระดับโลก อาจจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยก็ได้ จึงไม่เคยมีโอกาสเกิดในโลกวิชาการสากลด้วยซ้ำไป
บทความตอนต่อไป : แขนงความรู้หลากหลาย vs การบริหารวิชาการแบบคับแคบ