ประเด็นเรื่อง ‘นายกรัฐมนตรีคนนอก’ ชวนเรากลับไปทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง เงื่อนไขทำนองเดียวกันเคยเป็นชนวนเรียกคนหนุ่มสาว นักคิด นักวิชาการ นักการเมือง และพลังของประชาชนจำนวนมากให้ลุกขึ้นสู้ กระทั่งเกิดเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ เมื่อ 26 ปีที่แล้ว
ผ่านสองทศวรรษครึ่ง เราเคยคิดว่าเรื่องนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่าความพยายามดังกล่าวจะพาประเทศชาติไปสู่อะไร แต่วันดีคืนร้ายกลายเป็นว่าเรื่องนี้ต้องกลับมาถกเถียงอีกครั้งราวกับประเทศนี้ไม่มีประวัติศาสตร์
เราขุดคุ้ยคลังภาพที่ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก นิตยสารอาทิตย์-ข่าวพิเศษ ก่อนพบว่ามีภาพจำนวนมากที่ถูกบันทึกไว้แต่ปรากฏสู่สายตาคนน้อยมากจนถึงอาจไม่เคยเห็นเลย อย่างน้อยก็ในมุมนี้
ภาพเก่าในช่วงปี 2534 – 2535 ซึ่งเป็นสถานการณ์คาบเกี่ยวกัน พาเราไปพบผู้คนวันนั้น เห็นเจตนารมณ์ของวันวาน ขณะเดียวกันก็พาเรากลับไปทบทวนเส้นทางของเหตุการณ์ ผู้คน ในปัจจุบัน เผื่อช่วยย้ำเตือนความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้บ้าง และที่สำคัญคือตรวจสอบปัจจุบัน ว่าหลักยึดจุดยืนของเรายังมั่นคงอยู่ไหม
…..
ใครมาบ้าง
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ไม่กี่วัน นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) อย่างฉับไว ข้อเรียกร้องเบื้องต้นเวลานั้นคือ “คืนเสรีภาพให้ประชาชน”
ในภาพมีตัวละครหลายคนที่ยังมีสถานะทางสังคม แต่ขออนุญาตไล่เรียงเฉพาะผู้ที่ยังเห็นบทบาททางสังคมชัดเจนดังนี้
จากขวาไปซ้าย ผู้หญิงคนแรกคือ เสาวนีย์ จิตรื่น ขณะนั้นเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปัจจุบันเป็นกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา และเป็นอาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
ผู้ชายใส่แว่นยืนกอดอกนั้นคือ ชนะ ผาสุกสกุล พ.ศ.นั้นดำรงตำแหน่งนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ปัจจุบันทำงานอยู่ในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และรองเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เสื้อเชิ้ตแขนสั้นใส่แว่นคือ ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทในปัจจุบัน
สุภาพสตรีสวมชุดนักศึกษา ยืนก้มหน้าเยื้องด้านหลังชนะคือ ไอดา อรุณวงศ์ ขณะนั้นทำกิจกรรมอยู่ในชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ปัจจุบันไอดาคือบรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน ควบคู่ไปกับทำหน้าที่ประสานงานเป็นนายประกันผู้ต้องหาทางการเมืองหลายคดี
21 พฤศจิกายน 2534 ดร.ปรีชา สุวรรณฑัต ขณะนั้นเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาเยี่ยมกลุ่มนักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ที่ชุมนุมอดอาหารบริเวณหน้ารัฐสภา ประท้วงการผลักดันใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 หรือที่เรียกกันขณะนั้นว่า ‘การต่อต้านรัฐธรรมนูญวาระสาม’ มุ่งประเด็นไปที่เนื้อหาในบทเฉพาะกาลที่เอื้อให้เกิดการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
ข้อเรียกร้องใน พ.ศ.นั้น เรียบง่ายและตรงไปตรงมาว่า “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง” – “รสช. ต้องหยุดสืบทอดอำนาจ”
แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ประกาศใช้เมื่อเดือนธันวาคม 2534 กลายเป็นชนวนสู่การปะทะบนท้องถนนในอีก 5 เดือนถัดมา
ผู้ชายใส่แว่นในภาพคือ สมเกียรติ จันทรสีมา ซึ่งวันนั้นเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ขณะที่วันนี้เขาเป็นผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS
ผู้หญิงตัวเล็กนั่งพับเพียบเรียบร้อยกลางหมู่สุภาพบุรุษ ผ้าสีเหลืองที่มัดหัวแน่นบ่งบอกว่าพวกเธอและเขาเอาจริง คือ กรุณา บัวคำศรี หรือ ‘หนูนา’ ของเพื่อนนักศึกษา วันนั้นเธอนั่งแถวหน้าร่วมอดข้าวประท้วง ส่วนวันนี้เธอเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนสายโทรทัศน์ที่ยังรักการทำงานภาคสนาม
ซ้ายสุดในรูปคือ สิริวัฒน์ ไกรสินธ์ พ.ศ.นั้นเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศมร.) บทบาททางการเมืองล่าสุดของสิริวัฒน์คือ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จังหวัดนครศรีธรรมราช
ต้นเดือนพฤษภาคม 2535 ขบวนผู้ชุมนุมต่อต้าน รสช. เคลื่อนตัวจากรัฐสภาไปชุมนุมที่สนามหลวง นักศึกษาแจกใบปลิวแถลงการณ์ ขณะเจ้าหน้าที่พยายามจะยึด
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท บอกว่า ผู้หญิงที่อยู่ตรงกลางภาพ คือ สิรินาฏ สิรสุนทร อดีตผู้สื่อข่าวโต๊ะสิ่งแวดล้อม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ขณะนั้นสิรินาฏเคลื่อนไหวอยู่ในขบวน สนนท. ส่วนชูวัสคือผู้ชายใส่แว่นยืนคุมเชิงอยู่มุมขวาด้านล่างสุดของภาพ
ซ้ายคือ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กำลังช่วย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ จุดเทียนลอยกระทงที่ท่าพระจันทร์ในช่วงปี 2534
“ตอนนั้นผมเป็นองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มาทำกิจกรรมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) บ่อยครั้ง เข้าใจว่าผมกับ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ในนามของ อมธ. ช่วยกันลอยกระทงที่ออกแบบกระทงเป็นรูปท็อปบู๊ต รสช. เหยียบย่ำรัฐธรรมนูญ อันหมายถึงสิทธิเสรีภาพประชาชนและประชาธิปไตย ให้ลอยท็อปบู๊ตออกไปให้ลงทะเล แต่กระทงติดแถวโป๊ะไม่ยอมลอยไป เลยต้องเอาตีนเขี่ยออกไปครับ”
นพ.สุภัทร หรือ หมอจุ๊ก ตอบคำถามเช่นนี้หลังเราส่งภาพให้เจ้าตัวชวนรำลึกความหลัง ส่วนภาพจังหวะลอยกระทงกระทั่งต้องใช้เท้าเขี่ยให้ไปไกลๆ อยู่ถัดไปจากนี้
ปัจจุบัน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นนักวิชาการและเป็นสื่อมวลชนที่ปรากฏตัวบ่อยทางช่อง Voice TV ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา รวมทั้งเป็นหนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานแข็งขันด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการต่อต้านการสัมปทานปิโตรเลียมและโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้
ซ้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ขวาคือ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
กระทงท็อปบู๊ตซึ่งถูกเท้าของ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรกิจ เขี่ยให้ลอยออกไป
ทุ่มชีวิตให้กับการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาเชิงนโยบายให้กับคนจน เป็น NGO ตัวพ่อที่ทำงานจนวันตาย สุวิทย์ วัดหนู มีบทบาทอย่างยิ่งในการขับไล่เผด็จการรัฐบาลทหารในปี 2535 แต่อีกทศวรรษกว่าๆ ก็มาร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งให้ออกจากตำแหน่ง การประท้วงครั้งนั้นกลับจบลงด้วยการรัฐประหารปี 2549
หลังการยึดอำนาจของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เขาลดบทบาทตัวเองลงและพยายามผลักดันพรรคการเมืองจากภาคประชาชน แต่ก็มาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันในปี 2550
ภาพจากหน้ารัฐสภา คนที่ยืนจับไมโครโฟนอยู่นั้นคือ เดช พุ่มคชา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิอาสาพัฒนาสังคม (มอส.) ซึ่งเป็นเสมือนโรงเรียนของ NGO รุ่นแล้วรุ่นเล่าที่มีบทบาทมากมายในการทำงานด้านสิทธิ สังคม สิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นเขากับเพื่อนยังร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ขึ้นในปี 2523 เพื่อเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของ NGO ประเทศไทย
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่ยืนอยู่ฝั่งขวาของภาพบอกว่า ถัดจากเขาไปคือจิตราวดี วรฉัตร ลูกสาวของเรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ซึ่งอดข้าวประท้วงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และผู้หญิงเสื้อขาวนั่นคือครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นักสิทธิมนุษยชน และคนทำงานด้านเด็กเยาวชน ส่วนชายใส่แว่นในภาพเป็นอีกคนที่แม้เขาจำชื่อไม่ได้แต่มีส่วนสำคัญในการชุมนุมครั้งนั้น
“ผมลืมชื่อแกไปแล้ว แต่แกสำคัญมาก มาช่วงตอนเย็นหน้ารัฐสภาทุกวัน ไม่เคยออกหน้า คอยดูแลเรื่องน้ำมันกับเครื่องปั่นไฟ คนนี้ควรยกย่องครับ เสียสละมาก น้ำมันหมดปุ๊บแกขี่มอเตอรไซค์ไปซื้อเลย”
8 พฤษภาคม 2535 ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ วีระกานต์ มุกสิกพงศ์ หรือฉายา ‘ไข่มุกดำ’ ขึ้นปราศรัยในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ในวัย 44 ปี วีระ (ชื่อเดิม) ไม่ใช่คนหน้าใหม่ในการเมือง แต่เก๋าเกม เขี้ยวลากดิน และผ่านร้อนหนาวบนเวทีการเมืองมาโขแล้ว
ผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย และมีบทบาททางการเมืองสูงสุดอีกครั้งในหัวขบวนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
8 พฤษภาคม 2535 ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แทบจะเป็นนักร้องเพลงป๊อปชื่อดังเพียงคนเดียวในยุคนั้น ที่พยายามขึ้นเวทีเพื่อแสดงความคิดทางการเมืองของตนเอง
‘พี่กี้ร์’ ของน้องๆ นิยมเสื้อสีแดงมาตั้งแต่ตอนนั้น เก็บชายเสื้อเรียบเนี้ยบอยู่ในกางเกงยีนส์ เข็มขัดเหน็บเพจเจอร์ เครื่องมือสื่อสารสุดทันสมัยของยุค และแม้นจะเหงื่อไหลไคลย้อยแค่ไหน ก็ไม่ลืมผูกเนคไทเครื่องหมายการค้าบนปกเทปของเขา
หากใครอยู่ร่วมในอากาศเดียวกันกับอริสมันต์ในวันนั้น จะเห็นร่องรอย ลีลา ความฮาร์ดคอร์ บู๊ล้างผลาญอย่างแจ่มชัด มันไม่เหมือนภาพลักษณ์ผู้ชายเสียงนุ่ม อมฮอลล์ น่ารักน่าเอ็นดูแบบที่ค่ายเทปพยายามสร้างจุดขาย และจะไม่แปลกใจเลยกับบทบาทการเมืองบนท้องถนนของเขาในอีก 20 ปีถัดมา
8 พฤษภาคม 2535 สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จุดเดียวกันกับที่ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ และ อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ยืนอยู่ หากพิจารณาจากคนรายรอบแล้วมั่นใจได้ว่าห้วงเวลาน่าจะคาบเกี่ยวกันไม่กี่ชั่วโมง ผู้หญิงที่ยืนอยู่บนรถปราศรัยคนนั้นคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ในวัย 31 ปี ขณะนั้นเริ่มมีบทบาททางการเมืองร่วมกับพรรคพลังธรรมภายใต้การนำของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งชูสโลแกนเฟ้นหาบุคคลที่มีคุณสมบัติ ‘ดี-เด่น-ดัง’ มาร่วมพรรค
สุดารัตน์ พ.ศ.นั้น คือคนรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติ ดี-เด่น-ดัง ตามที่จำลอง ศรีเมือง วางมาตรฐาน
ผู้ถือโทรโข่งคือ จตุพร พรหมพันธุ์ ยุคนั้นยังทำงานเคลื่อนไหวร่วมกับ วัชระ เพชรทอง ในนามพรรคสัจธรรม หลังจากนั้นไม่นานทั้งคู่ก็แตกคอ จตุพรออกมาตั้งพรรคศรัทธาธรรม จนได้เป็นฉายาในหมู่นักศึกษาว่า ‘ตู่ ศรัทธาธรรม’ ก่อนที่จตุพรจะได้ฉายาอื่นๆ ต่อมาบนเวทีการเมือง
หลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 จตุพรบ่ายหน้าเข้าพรรคพลังธรรม ติดตาม ภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งใกล้ชิดนักศึกษานักกิจกรรมเพราะเคยเป็นรองประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ส่วนวัชระเติบโตกับพรรคประชาธิปัตย์ แม้นว่าจะแยกทางเดินตั้งแต่ในยุคพรรคนักศึกษาจนถึงพรรคการเมืองระดับประเทศ แต่บทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพรรคก็คล้ายคลึงกัน กล่าวคือเป็นหัวหมู่ห้าวเป้งทะลวงฟันทั้งคู่
สิ่งที่นักศึกษานักกิจกรรมในยุคนั้นไม่ค่อยอยากจะเอ่ยถึงกันนักก็คือ ความไม่ลงรอย ไม่ไว้วางใจ และไม่กลมกลืนกันระหว่างนักศึกษานักกิจกรรมสาย สนนท. กับกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งร้าวลึกและซับซ้อน ไม่มีใครนำใครได้
นี่คือภาพชินตาของคนที่ติดตามการเมืองและบทบาทขบวนการนักศึกษาในช่วงนั้น หนุ่มแว่นหน้าใสยืนถือไมค์คือ สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานเคลื่อนไหวอยู่ในขบวน สนนท. พยายามไฮปาร์คโดยยึดหลักการเนื้อหา ส่วนหนุ่มหัวเกรียนหน้าตาบ้านๆ นั่งอยู่บนถังน้ำคือ จตุพร พรหมพันธุ์ ดาวไฮปาร์คตัวจริงที่ขบวนนักศึกษาจำเป็นต้องใช้งานเมื่อต้องการตรึงมวลชน ปัจจุบันสมชายเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเราจะพบเขาในหน้าสื่อมวลชนบ่อยๆ เพราะไม่ยอมปล่อยให้มหาวิทยาลัยเป็นค่ายทหาร เลยต้องถูกทหารเชิญตัวไปพบอยู่เนืองๆ
ส่วนสุภาพบุรุษผู้นี้ หล่อเหลาเสมอต้นเสมอปลายมาตั้งแต่ยุคกระโน้น ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ยืนถือแถลงการณ์ในฐานะเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เสื้อของเขามีสติกเกอร์สีดำเขียนข้อความว่า “ไม่เอาสุ” ซึ่งหมายถึง พลเอกสุจินดา คราประยูร นายทหารผู้ถูกมวลชนขับไล่
ปัจจุบัน ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการสายบริหารที่เพื่อนนักกิจกรรมร่วมยุคต่างเอ่ยถึงลับหลังด้วยความรัก
เป็นอีกภาพที่เราไม่ทราบวันเวลาและสถานที่ แต่ผู้ที่ยืนจับไมค์ปราศรัยอยู่นั้นคือ ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุรชัย จันทิมาธร และ มงคล อุทก ยุคนั้นก็มาร่วมขับไล่เผด็จการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้อง “ให้โอกาสคณะรัฐประหาร”
. . .
ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ทำหน้าที่ตรงไปตรงมาเสมอ
มันทำหน้าที่บอกกล่าวและไถ่ถามผู้คนในปัจจุบันว่า เราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์บ้าง