ส่งสมัชชาคนจนกลับบ้าน “เราจะกลับมา ถ้าปัญหาไม่ถูกแก้”

19 วันของการชุมนุมบนถนนลูกหลวง เลียบคลองผดุงกรุงเกษม ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ที่สุดแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลและสมัชชาคนจนก็มาถึง เมื่อ เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แถลงต่อสมัชชาฯ 4 ข้อ สรุปความได้ว่า “รัฐบาลรับทราบข้อร้องเรียนและข้อเสนอแล้ว หากปัญหาใดแก้ได้เลยก็จะทำทันที” มันเป็นข้อความที่ช่วยปิดฉากการชุมนุมบนท้องถนนที่ยาวนานกว่าค่อนเดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ถึง 23 ตุลาคม

แม้มาตรการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจะยังไม่ปรากฏในทันที แต่นั่นก็พอให้ชาวบ้านพึงพอใจและยอมแยกย้ายกลับชั่วคราว กลับไปหาลูกหลานที่ต่างจังหวัด กลับไปเกี่ยวข้าวในนาซึ่งสุกเหลือง และกลับไปรอติดตามผลการนำปัญหาของชาวบ้านเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างใจจดจ่อ ด้วยคำประกาศพลางห่อข้าวของและรื้อเต็นท์นอนว่า

“หากไม่คืบหน้า สมัชชาคนจนจะกลับมาอีกหลังปีใหม่ และกลับมาด้วยจำนวนคนมหาศาลกว่าเดิม”

บรรยากาศของบ่ายวันที่ 23 เป็นไปด้วยความครึกครื้น หลังการแถลงของรัฐมนตรีเสร็จสิ้นลง ชาวบ้านแต่ละซุ้มตามกลุ่มปัญหาที่กางเต็นท์ปักหลักยาวเกือบ 3 อาทิตย์ต่างทยอยเก็บอุปกรณ์ที่จำเป็นในการค้างแรม ใช้เวลาไม่ถึงสองชั่วโมงดี ข้าวของต่างๆ ก็ถูกเก็บเรียบร้อย หลายคนยืนเกาะกลุ่มพูดคุยบ้างร่ำลาเพื่อนร่วมชะตากรรม แม้ที่ผ่านมาต้องเหนื่อยล้าทว่าผลก็น่าพึงพอใจ อย่างน้อยก็ในนาทีนั้น รถโดยสาร บขส. ซึ่งถูกเตรียมไว้ขณะนี้พร้อมแล้วที่จะส่งพวกเขากลับบ้าน

“คันไหนพร้อมออกเดินทางได้ก็ขยับเลย”

เสียงประกาศผ่านโทรโข่งเล็กๆ เป็นสัญญาณบอกให้ผู้โดยสารตรวจสอบความเรียบร้อยของสัมภาระและเพื่อนร่วมทาง สลับไปกับคำเตือนให้ตรวจสอบจุดหมายปลายทางของรถแต่ละคันก่อนก้าวเท้าขึ้นไป ชาวบ้านหอบเสื่อ หม้อ และกระเป๋าเสื้อผ้ากรูขึ้นไปบนรถ จากนั้นถนนลูกหลวงก็เปล่าโล่งเมื่อมวลชนแยกย้ายกันกลับบ้าน ทิ้งไว้แต่เพียงความหวังว่าคำมั่นสัญญาจากการชุมนุมครั้งนี้จะเป็นจริง เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องกลับมาทวงถามเรื่องเดิมซ้ำๆ เหมือนเช่นเคยเป็นมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี

ความทรงจำใดบ้างถูกทิ้งไว้ ใบหน้าใครบ้างถูกบันทึก และเสียงพูดของใครบ้างยังอยู่ในความทรงจำ เรานำบทสนทนาของเขาเหล่านั้นมาจัดวางไว้ตรงนี้ อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้ปัญหาของพวกเขาเหล่านั้นถูกลืม

14 กบฏปากมูล นักสู้ในตำนาน

บุญมี คำเรือง ชาวอุบลราชธานี วัย 69 ปี เข้ามาชุมนุมร่วมกับกลุ่มสมัชชาคนจนที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้ทำเนียบรัฐบาล บ้านของบุญมีได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ ทำให้วิถีการหาปลาและทำนาของชาวบ้านปากมูลต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย

บุญมีอธิบายว่าชาวบ้านบริเวณนั้นเดิมหาปลาเป็นอาชีพหลัก และทำนาเป็นอาชีพเสริม แต่การมาของเขื่อนปากมูลทำให้พรานปลาต้องหันหน้าหาอาชีพใหม่

“ไทบ้านถูกแย่งชิงฐานอาหาร กลายมาเป็นแรงงานพลัดถิ่น พอถูกเลิกจ้างก็ตกงานไปอีก เป็นภาระของสังคมไปอีกแน่ะ!”

รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน อนุมัติสร้างเขื่อน และรัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มี อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการสร้างเขื่อน การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2537 นับจากนั้นเส้นทางการอพยพของปลาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เช่นเดียวกับชาวบ้านหลายคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานออกไปเนื่องจากมีการระเบิดแก่งหินบริเวณเขื่อน ส่วนคนที่ยังอยู่ก็เผชิญปัญหาน้ำจากเขื่อนเข้าท่วมที่นา บางคนอยู่ไม่ไหวก็ต้องออกจากบ้านไปขายแรงงาน

ความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูลโดยไม่เห็นหัวประชาชน ทำให้บุญมีเป็นสมาชิกสมัชชาคนจนตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง เขาเล่าว่าวันนี้ตนเป็นเพียงตัวแทนของหมู่บ้านเข้ามาชุมนุม ‘ดูใจ’ รัฐบาลก่อนว่ามีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาให้พี่น้องปากมูลหรือไม่ หน้าที่ของบุญมีคือชุมนุมแทนสมาชิกสมัชชาคนอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าเรือกสวนไร่นา

“วัฒนธรรมของคนอีสานต้องดูที่การกิน อาหารที่คนอีสานกินเป็นหลักคือปลาร้า แล้วอะไรที่จะมาทดแทนการทำ ‘ปลาร้า’ ได้อีกนอกจากปลา” มันเป็นเหตุผลเรื่องปากท้องล้วนๆ ที่ทำให้คนมีอายุอย่างเขาเข้ามานอนริมถนนกลางกรุง

“ผมเคยโดนกฎหมายปักหลังนะ” เขาเล่าด้วยภาษาไทยสำเนียงอีสาน “สิบสี่กบฏปากมูลไง อายุความ 15 ปีนะ ตอนนี้หมดแล้ว ไม่หมดจะออกมาอย่างนี้เรอะ” ก่อนจะตัดประโยคถัดมาเป็นภาษาไทยกลาง

ที่ผ่านมาเขาใช้วิธีสู้ไปปรึกษาทนายความไป รวมถึงได้กำลังใจและการสนับสนุนจากบรรดานักวิชาการและนักธุรกิจเพื่อสังคม บุญมีเล่าปนขำว่าตัวเองโดนฟ้องราว 20 คดี แต่ไม่โดนจับติดคุกจริงสักคดี ขณะที่การชุมนุมครั้งนี้มีผู้ถูกออกหมายเรียกแล้ว 2 ราย คือ บุญยืน สุขใหม่ และ พิชัย จันทร์ช่วง แกนนำการชุมนุม ในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และมีกำหนดให้ไปรายงานตัวในวันที่ 25 ตุลาคม นี้

ถูกจับเพราะบุกรุกที่ดินตัวเอง

“มาจากสุรินทร์ค่ะ” หญิงวัยกลางคนที่ขอให้ผู้เขียนเรียกเธอว่า ‘แม่กา’ แทนชื่อสกุลจริงเล่าด้วยนัยน์ตาวับวาม สะท้อนแสงไฟในคืนก่อนที่รัฐบาลจะประกาศรับข้อเรียกร้องของสมัชชา “มาเพราะถูกละเมิดสิทธิมานานแล้ว เกือบ 20 ปีได้มั้ง” แม่กาเล่า ขณะที่ค่อยๆ หย่อนตัวนั่งลงฝาท้ายรถเสบียง

แม่กามาจากอำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่ที่มีการประกาศรื้อบ้านของชุมชนที่อยู่กันมานานเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับสร้างโรงเรียน ซึ่งรัฐบาลออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทับพื้นที่ชาวบ้านที่อยู่มาก่อน

“หนังสือ น.ส.ล.”  คือเอกสารแสดงแนวเขตแดนที่ดินของรัฐ ออกโดยกรมที่ดิน ใช้เพื่อแสดงสิทธิในการขอใช้ประโยชน์ หรือร่วมกันใช้ที่ดินในเขตราชพัสดุหรือเขตสาธารณประโยชน์ โดยระบุชื่อหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินหลวงนั้น

“เขาเอาป้ายมาปักว่าเป็นที่ดินของโรงเรียน พอสามีป้าเอาป้ายออก เขา (เจ้าหน้าที่) ก็มาจับกุม หาว่าเราไปบุกรุกที่ พอเราไปแจ้งความก็ไม่มีใครดำเนินคดีให้ เรื่องมันมาตั้งแต่ปี 2537” เมื่อที่ดินที่ชาวบ้านบุกเบิกไว้ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายกลายเป็นของหลวงที่ประชาชนห้ามบุกรุก แม้จะอยู่มาแต่ดั้งแต่เดิม

แม่กาบอกว่าสามีเครียดถึงขนาดป่วยเป็นโรคเส้นเลือดฝอยในสมองแตก แม่กาและชาวบ้านคนอื่นๆ รวม 8 คนจากบ้านโคกหนองเหล็กได้รวมตัวกันเข้าร้องเรียนกับทางอำเภอ จังหวัด และกรมที่ดินก็ไม่เป็นผล เพราะแต่ละหน่วยงานโยนเรื่องกันไปมา

“ไม่รู้จะพึ่งใครเลยมาขอความเป็นธรรมกับนายกฯ แม้จะคัดค้านมาตลอดตั้งแต่เริ่มสร้างโรงเรียน แต่ครั้งนี้มาชุมนุมกับสมัชชาเป็นครั้งแรก

“มีคนบอกว่า เราจะไปสู้กับหลวงได้ไง เอาที่หลวง (รัฐ) มาได้ยังไง ป้าก็เลยบอกว่าใครเป็นหลวง ก็ตัวเรานี่แหละ”

แม่กาไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ในที่ชุมนุมสมัชชาคนจนมีพี่น้องอีกหลายจังหวัดเดือดร้อนจากนโยบายกำหนดเขตที่ดินของรัฐ เช่น ปัญหาที่ราชพัสดุหนองน้ำขุ่น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ปัญหาการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน อำเภอปากน้ำโพ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ฯลฯ เธอย้ำซ้ำๆ เช่นเดียวกับสมาชิกสมัชชาฯ คนอื่นๆ ที่มาชุมนุมว่า ถ้าไม่เดือดร้อนจริงๆ ก็คงไม่เข้ามากรุงเทพฯ

สองขาของแม่กาก้าวเดินขึ้นรถทัวร์มุ่งหน้าจังหวัดสุรินทร์พร้อมสามี กลับไปยังท้องนาที่ข้าวออกรวงเหลืองทอง หลายวันมานี้เธอทำได้เพียงฟังเสียงหลานวัยแบเบาะผ่านการคุยโทรศัพท์กับทางบ้าน อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้ เธอจะได้กลับไปโอบกอดให้หายคิดถึง แต่หากรัฐบาลไม่ทำตามสัญญา เธอจะกลับมาอีกครั้ง

นอนตื่นขึ้นมาก็กลายเป็นคนผิดกฎหมายแล้ว

“เดิมพี่น้องจะทำนา ทำสวน กรีดยาง ได้ทั้งหมด แต่มันเริ่มมาผิดกฎหมายหลังจากรัฐบาลประกาศกฎหมายแต่ละฉบับ เพราะไม่ได้ไปสำรวจพื้นที่จริง นั่งขีดอยู่ในห้องแอร์ (ลากเส้นกำหนดเขต) คลุมพื้นที่ของเรา กลายเป็นว่านอนๆ อยู่ เราตื่นขึ้นมาก็ผิดกฎหมายแล้ว”

สายัญ ทองสม ชาวอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง วัย 66 ปี เล่าอย่างเผ็ดร้อนว่าชาวบ้านเจอปัญหาจากการตรากฎหมายบางฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ, พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ

สายัญบอกว่า กฎหมายดังกล่าวมีผลเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรของชาวบ้าน เช่น ไม่สามารถตัดไม้ยางที่เสื่อมสภาพแล้วได้ เพราะ ‘ยาง’ รวมทั้งไม้อื่นๆ คือ ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ที่ขึ้นในป่า ถูกกำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2562 เรื่องไม้หวงห้าม ซึ่งต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนจะลงมือตัด

“เราถูกตั้งข้อหาตลอดมาว่าเราคือผู้บุกรุกป่า ทั้งๆ ที่พิสูจน์กันได้ว่ากฎหมายป่าไม้มาประกาศทับที่ของเรา ที่เราอยู่กันก่อนหน้านี้มาแล้ว” สายัญกล่าวว่าปัญหาต่อจากการออกกฎหมายที่ใช้ไม่ได้จริงคือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเอื้อให้เกิด ‘ผู้ฉวยโอกาสจากกฎหมาย’ เรียกร้องรับผลประโยชน์จากชาวบ้าน

นอกจากปัญหาเขตป่า-เขตปลูกที่ชาวบ้านต่อสู้กับกฎหมายที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของรัฐมาอย่างยาวนาน ชาวสวนยางในจังหวัดตรังยังระบุข้อเรียกร้องขึ้นมาอีก 1 ประการในการชุมนุมเที่ยวนี้ นั่นคือการทวงสัญญาประกันราคาผลผลิตอย่างที่พรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ สัญญาไว้ ทั้งยาง ปาล์ม และพืชผลอื่น

“ตอนหาเสียงล่ะกิโลละ 65 บาททันที หรือไม่ต่ำกว่า 60 บาท” สายัญหมายถึงนโยบายของพรรคแกนนำรัฐบาล อันได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ตามลำดับ “ตั้งแต่เลือกตั้งจนถึงวันนี้ ราคายางกิโลละ 32-33 บาท 3 กิโลไม่ถึง 100 ปาล์มก็กิโลละบาทกว่าๆ ฉะนั้นเราเดือดร้อน อยู่ไม่ได้”

เซลล์สมองและสองมือ

ละม้าย อนุนาค กำลังนั่งเอกเขนกบนเสื่อท่ามกลางแดดร้อนๆ ขณะรอรถ บขส. พาเธอและกลุ่มสมัชชาคนจนกลับตำบลหนองยายโต๊ะ จังหวัดลพบุรี พื้นที่ที่ประสบปัญหากรมที่ดินออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเนื่องจากมีการรังวัดที่สาธารณประโยชน์ที่มีอยู่จริงผิดพลาด 3 แห่ง คือ หนองปลิง โนนก้อม และหนองริ้นร้าน เธอเตรียมกลับบ้านพร้อมความหวังเล็กๆ

“เขาพูดว่าเขาก็รับปาก ภายในสามเดือนนี่แหละ ถ้ารัฐบาลไม่ทำแล้วก็จะมาอีก (หัวเราะ)”

เธอเป็นหญิงวัย 67 ปี ที่ครอบครัวส่งมาเป็นตัวแทนในการชุมนุมสมัชชาคนจน เนื่องจากลูกอยู่ในวัยทำงานรับจ้าง ส่วนหลานก็อยู่ในวัยเรียน เธอซึ่งหมดภาระแล้วจึงเหมารถมาร่วมกับคนตำบลหนองยายโต๊ะอีกร่วมสามสิบกว่าคนมาที่นี่

ละม้ายบอกว่าปัญหานี้สะสมมาตั้งแต่รัฐบาลของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ราวปี 2539-2540 มันเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ดินที่เธอปลูกอ้อย หัวมัน และข้าวเอาไว้มาจากการบุกเบิกด้วยแรงกายตั้งแต่สมัยปู่ย่า ส่งต่อถึงรุ่นพ่อแม่ จนมาถึงรุ่นของเธอที่มีปัญหาเรื่องการรังวัดที่ดินทับซ้อน ซึ่งชาวบ้านพยายามติดต่อหน่วยงานราชการในพื้นที่ให้แก้ไขแล้วแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

มีรายงานข่าวว่าครั้งหนึ่งเมื่อปี 2558 เมื่อชาวบ้านเข้าไปยื่นหนังสือร้องเรียนให้กับทหารและนายอำเภอชัยบาดาล แต่กลับได้รับคำตำหนิว่า “ชาวบ้านไม่มีเซลล์สมอง” จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื้อรังกว่า 20 ปีได้ด้วยตัวเอง ทั้งที่ละม้ายและเพื่อนร่วมชุมชนติดต่อประสานงานไปตั้งหลายองค์กร แต่สุดท้ายเรื่องก็ยังเงียบ บางทีก็มีคำข่มขู่จากเจ้าหน้าที่โดยการเข้ามาถ่ายรูปบันทึกการประชุม หรือยึดกระดาษรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมสมัชชาคนจนตำบลหนองยายโต๊ะไป

ละม้ายไม่ขออะไรจากรัฐบาลมากมาย เพียงแต่ขอไม่ให้ที่ดินทำกินของเธอถูกยึดไปเป็นของหลวง เป็นเหตุผลที่เธอเข้าร่วมสมัชชาคนจนตั้งแต่ตนเองยังร่างกายแข็งแรง กระทั่งตอนนี้ไม่แข็งแรงแล้ว เธอเล่ากลั้วหัวเราะ

“เหนื่อยมากๆ เลย ลำบาก แต่ลำบากเพื่อที่ดินทำกิน ไม่มีที่จะไปแล้ว ก็ต้องมีลูกหลานไปอยู่ไปทำกินต่อ ถ้าไม่สู้ตอนนี้จะไปสู้ตอนไหน”

สักวันมันก็ต้องเกิดกับบ้านคุณ

‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือที่คนรู้จักกันกว้างขวางว่า ‘ไผ่ ดาวดิน’ เข้ามาให้กำลังใจผู้ชุมนุมหลังเดินทางกลับจากเข้าร่วมเทศกาลศิลปะที่ประเทศอินโดนีเซีย เขามองว่าการชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกเหนือไปจากการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาผ่านทางการเลือกตั้งในระบบผู้แทนรัฐสภาตามปกติ แต่ระบบผู้แทนต้องควบคู่ไปกับระบบ ‘พูดเอง’ คือการไม่คาดหวังให้ใครแก้ปัญหาให้ แม้จะมี สส. เป็นปากเสียงแทนแล้วก็ตาม

“เจ้าของปัญหาต้องอยู่ ถ้าเจ้าของปัญหาไม่อยู่แล้วผู้แทนจะพูดได้อย่างไร ถ้าเราคาดหวังผู้แทนแล้วหากผู้แทนเปลี่ยนไปล่ะ ดังนั้นในกลไกประชาธิปไตย เจ้าของปัญหาต้องสู้เอง เพื่อตัวเขาเอง”

อันที่จริงเป็นเรื่องเศร้าที่พอมานึกดูว่า เมื่อชาวบ้านต่างจังหวัดเดือดร้อนครั้งใดก็ต้องเดินทางลำบากยากเข็ญเข้ามาพึ่งความหวังสุดท้ายในกรุงเทพฯ เนื่องจากโครงสร้างของรัฐกำหนดศูนย์อำนาจและองค์กรใหญ่ๆ ในการแก้ไขปัญหาทั่วประเทศไว้ที่แหล่งเดียว จึงช่วยไม่ได้ที่บางครั้งคนกรุงจะสัมผัสความเดือดร้อนของพี่น้องต่างจังหวัดที่เดินทางมาชุมนุมผ่านประสบการณ์ ‘รถติดเพราะปิดถนน’

“ทำไมต้องมาที่นี่ เพราะอำนาจมันอยู่ที่นี่ไง ทำไมเขาต้องมา ไม่มีใครเขาอยากเดือดร้อน ไม่มีใครอยากมานอนถนนทั้งที่บ้านเขาก็มีอยู่แล้ว” ไผ่กล่าวต่อ “เมื่อเขาทั้งโดนกดโดนเอาเปรียบก็ต้องออกมา ที่ต้องออกมาเพราะอำนาจการตัดสินใจรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ”

ในฐานะคนที่เข้ามาช่วยเล่นดนตรีสร้างสีสันให้บรรยากาศการชุมนุมผ่อนคลายบ้างเป็นครั้งคราว ไผ่มองว่าสิ่งที่สำคัญคือการไม่ตีค่าการชุมนุมของชาวบ้านเป็นเพียงความวุ่นวายหรือรถติดชั่วครั้งชั่วคราว มากไปกว่านั้นคือควรขมวดรวมปัญหาของชาวบ้านเข้ามาอยู่ในความสนใจของตนเอง ทั้งนี้ไม่ใช่ด้วยความเห็นใจ สงสาร แต่บนความเข้าใจว่านี่คือปัญหาร่วมกันคือ ‘การกระจายอำนาจ’

“ผมคิดว่าถ้าวัฒนธรรม (ปัญหา) แบบนี้มันเกิดกับพื้นที่หนึ่งได้ สักวันมันก็ต้องเกิดกับบ้านคุณได้ ดังนั้นวันนี้คุณก็ต้องมาช่วยกัน หมายถึงทุกชนชั้นนั่นแหละ ถ้าประชาชนเดือดร้อนก็ต้องออกมาช่วยกัน เราไม่เดือดร้อนก็ใช่ แต่การที่เราเดือดร้อนแล้วมีคนมาช่วยทั้งที่เขาไม่เดือดร้อนนี่แหละคือรักของมนุษย์”

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

Photographer

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า