อำนาจ คำสั่ง ระบบอาวุโส ความเคร่งครัดเด็ดขาดของทหารตามสายบังคับบัญชามีมาแต่ช้านาน ไม่ว่ารัฐชาติไทยยุคสมัยใดก็มีแบบแผนและรากฐานความคิดแทบไม่แตกต่างกัน พลวัตของสังคมเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขของสถานการณ์ที่ผันแปร หลายองค์กรปรับตัวให้สอดคล้อง ทว่าสำหรับทหารแล้วดูเหมือนว่ามันจะยังเป็นเช่นนั้นตั้งแต่อดีตกาล และไม่แน่ว่าจะกินระยะเวลาถึงอนาคตอีกนานเท่าใด
กระนั้นคำถามก็คือ ลำพังกำแพง ‘ความเชื่อ’ อย่างเดียวเพียงพอแล้วหรือสำหรับการกุมกองกำลังทหารเรือนแสนให้อยู่ในแถวที่ผู้บังคับบัญชาต้องการ คำตอบคือ “ไม่” อย่างน้อยความเชื่อก็ไม่อาจควบคุมความคิดกำลังพลได้ทั้งหมด
คำสั่ง แนวทางปฏิบัติ และวิธีการของทหารมีกฎหมายควบคุมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรมากมาย เฉพาะในประมวลแบบธรรมเนียมของทหารของกระทรวงกลาโหมก็มีพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง คำชี้แจง หนังสือ และข้อบังคับที่เกี่ยวเนื่องมากถึง 114 ฉบับ กินความตั้งแต่การจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เครื่องแบบทหาร การกำลังพล เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ธงชาติ ธงชัยเฉลิมพลและพิธีสาบานธง และหมวดอื่นๆ
เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่สังคมกำลังขบคิดและตั้งคำถามถึงความทึมเทาของผู้คนในชุดลายพราง เราหยิบกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวเนื่องกับระเบียบวินัย การลงโทษ อำนาจการบังคับบัญชาของทหารหาญ ขึ้นมาขึงพืดและตั้งข้อสังเกต กฎหมายฉบับนั้นคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ซึ่งนับนิ้วถึงวันนี้มันถูกบังคับใช้มานานถึง 84 ปี
ผ่านหมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป ที่มีสาระสำคัญคือ “ให้ยกเลิกกฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานละเมิด ยุทธวินัย ลงวันที่ 23 กันยายน พุทธศักราช 2464 กฎเสนาบดีว่าด้วยอำนาจลงอาญาทหารเรือ ลงวันที่ 11 กันยายน พุทธศักราช 2465 และบรรดากฎข้อบังคับอื่นๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้ว ในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้” เนื้อหาที่น่าสนใจอยู่ที่หมวดต่อไปว่าด้วยวินัยทหาร
หมวด 2
|
เมื่อคำว่า ‘ดื้อ’ คือข้อห้ามทางกฎหมาย
ในมาตรา 5 มีการระบุตัวอย่างการกระทำผิดไว้ชัด แต่ในความชัดเจนเหล่านั้นมีเบลอผสมปนเปในการตีความ อย่างไรที่เรียกว่าดื้อ ขัดขืน ไม่เคารพ ไม่รักษามารยาท
มาตรา 6 ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่จัดการระวังรักษาวินัยทหารที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่นั้น โดยกวดขัน ถ้าหากว่าในการรักษาวินัยทหารนั้นจำเป็นต้องใช้อาวุธ เพื่อทำการปราบปรามทหารผู้ก่อการ กำเริบก็ดี หรือเพื่อบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตนก็ดี ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่ช่วยเหลือ ในการนั้นจะไม่ต้องรับโทษในการที่ตนได้กระทำไปโดยความจำเป็นนั้นเลย แต่เมื่อมีเหตุดั่งกล่าวนี้ผู้บังคับบัญชาจักต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน และรายงานต่อไปตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยเร็ว |
ใช้อาวุธได้ถ้าจำเป็น
มาตรา 6 อนุญาตให้ผู้บังคับบัญชาใช้อาวุธเพื่อรักษาวินัย ปราบปราม ผู้ก่อการ โดยผู้บังคับบัญชาและผู้ช่วยเหล่านั้นไม่ต้องรับโทษที่ตนเองได้กระทำลงไป เพียงแต่ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือตนโดยเร็วเท่านั้น
มาตรา 8 ทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหารดั่งกล่าวไว้ในหมวด 2 นั้น ให้มีกำหนดเป็น 5 สถาน คือ
(1) ภาคทัณฑ์ (2) ทัณฑกรรม (3) กัก (4) ขัง (5) จำขัง มาตรา 9 ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใด ดั่งกล่าวมาแล้ว แต่มีเหตุอันควรปรานี จึ่งเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏหรือให้ทำทัณฑ์บนไว้ ทัณฑกรรมนั้น ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติ อยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยาม นอกจากหน้าที่ประจำ กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้ ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่จะได้มีคำสั่ง จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร นอกจากทัณฑ์ที่กล่าวไว้นี้ ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาด |
โดดถังขี้มีกฎหมายรับรอง?
ความน่าสนใจของการลงทัณฑ์ของทหารอยู่ที่มาตรา 9 วรรค 2 ซึ่งอนุญาตให้ “กระทำการสุขา” ซึ่งไม่ได้ระบุขอบเขตเอาไว้ว่ารูปแบบของการสุขานั้นอยู่เพียงแค่ขัดล้างห้องส้วมหรือว่าต้องลงไปคลุกชุบทองในบ่อเกรอะ
ตารางเกณฑ์เทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ |
||
ตำแหน่งชั้น |
เป็นผู้ลงทัณฑ์ชั้น |
เป็นผู้รับทัณฑ์ชั้น |
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม | 1 | – |
2. แม่ทัพ | 2 | – |
3. ผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกองเรือ ผู้บัญชาการกองพลบิน | 3 | – |
4. ผู้บังคับการกรม ผู้บังคับหมวดเรือ ผู้บังคับกองบิน | 4 | ก |
5. ผู้บังคับหมู่เรือชั้น 1 | 5 | ข |
6. ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับหมู่เรือชั้น 2 ผู้บังคับการเรือชั้น 1 ผู้บังคับฝูงบิน | 6 | ค |
7. ผู้บังคับหมู่เรือชั้น 3 ผู้บังคับการเรือชั้น 2 ต้นเรือชั้น 1 ผู้บังคับหมวดบินชั้น 1 | 7 | ง |
8. ผู้บังคับกองร้อย ผู้บังคับการเรือชั้น 3 ต้นเรือชั้น 2 นายกราบเรือ ผู้บังคับหมวดบินชั้น 2 | 8 | จ |
9. ผู้บังคับหมวด ต้นเรือชั้น 3 ผู้บังคับหมวดบินชั้น 3 | 9 | ฉ |
10. ผู้บังคับหมู่ นายตอน | – | ช |
11. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับฝึกวิชาทหารโดยคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร | – | ซ |
12. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้เป็นนายทหารชั้นประทวน ลูกแถว | – | ฌ |
หางแถวไม่มีสิทธิลงโทษใคร แล้วการซ่อมกันเองมาจากไหน
บุคคลระดับรัฐมนตรี แม่ทัพ ผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกองเรือ ผู้บัญชาการกองพลบิน ไม่อยู่ในสถานะที่จะรับทัณฑ์ชั้นใด ขณะเดียวกันผู้บังคับหมู่ตอน นายตอน นักเรียนทหาร ก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะไปลงโทษลงทัณฑ์ผู้ใดเช่นกัน แต่จากข่าวคราวที่เราพบในกรณีที่ทหารถูกซ้อมจนบาดเจ็บกระทั่งถึงแก่ชีวิตนั้น จำนวนไม่น้อยกลับเป็นการซ่อมกันเองระหว่างทหารชั้นผู้น้อยหรือนักเรียนทหารด้วยกัน
หมวด 4
|
ผู้บังคับบัญชาลุแก่อำนาจ ผู้น้อยร้องทุกข์ได้
มาตรา 21 ในหมวด 4 ว่าด้วยการร้องทุกข์เป็นวรรคตอนที่แสดงให้เห็นว่า ผู้บังคับบัญชาจำเป็นต้องมีอำนาจสั่งการและลงทัณฑ์ แต่ผู้บังคับบัญชาไม่น้อยก็อาจใช้อำนาจไม่ถูกต้อง จึงเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาร้องทุกข์ได้ ซึ่งพออ่านวรรคนี้ก็ดูเหมือนจะดี แต่โปรดพิจารณามาตราต่อไปในหมวดเดียวกันนี้
มาตรา 23 ทหารจะร้องทุกข์ได้แต่สำหรับตนเองเท่านั้น ห้ามมิให้ร้องทุกข์แทนผู้อื่น เป็นอันขาด และห้ามมิให้ลงชื่อรวมกัน หรือเข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน และห้ามมิให้ประชุมกัน เพื่อหารือเรื่องจะร้องทุกข์
มาตรา 24 ห้ามมิให้ร้องทุกข์ในเวลาที่ตนกำลังเข้าแถว หรือในขณะที่กำลังทำหน้าที่ ราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเวลาเป็นยาม เป็นเวร ดั่งนี้เป็นต้น และห้ามมิให้ร้องทุกข์ก่อนเวลาล่วงไปแล้ว ยี่สิบสี่ชั่วโมง นับตั้งแต่ที่มีเหตุจะต้องร้องทุกข์เกิดขึ้น มาตรา 25 ห้ามมิให้ร้องทุกข์ว่า ผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไป ถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชานั้นมิได้ลงทัณฑ์เกินอำนาจที่จะทำได้ตามความในหมวด 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 26 ถ้าจะกล่าวโทษผู้ใดให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้นั้น จะร้องทุกข์ด้วยวาจาหรือจะเขียนเป็นหนังสือก็ได้ ถ้าผู้ร้องทุกข์มาร้องทุกข์ด้วยวาจา ให้ผู้รับการร้องทุกข์จดข้อความสำคัญของเรื่องที่ร้องทุกข์นั้น ให้ผู้ร้องทุกข์ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานด้วย ถ้าหากว่าผู้ร้องทุกข์ไม่ทราบชัดว่า ตนได้รับความเดือดร้อนเพราะผู้ใดแน่ ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน เพื่อเสนอไปตามลำดับชั้น จนถึงที่สุด คือ ผู้ที่จะสั่งการไต่สวน และแก้ความเดือดร้อนนั้นได้ มาตรา 27 ถ้าเขียนความร้องทุกข์เป็นจดหมายแล้ว จดหมายนั้นต้องลงลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ใบร้องทุกข์ฉบับใดไม่มีลายมือชื่อ ผู้บังคับบัญชาไม่มีหน้าที่จะต้องพิจารณา มาตรา 28 เมื่อผู้ใดได้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบที่ว่ามานี้แล้ว และเวลาล่วงพ้นไปสิบห้าวันยังไม่ได้รับความชี้แจงประการใด ทั้งความเดือดร้อนก็ยังไม่ปลดเปลื้องไป ให้ร้องทุกข์ใหม่ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นที่สูงถัดขึ้นไปเป็นลำดับอีก และในการร้องทุกข์ครั้งนี้ให้ชี้แจงด้วยว่าได้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นใดมาแล้วแต่เมื่อใด มาตรา 29 ถ้าผู้บังคับบัญชาได้รับเรื่องร้องทุกข์เมื่อใด ต้องรีบไต่สวนและจัดการแก้ไขความเดือดร้อน หรือชี้แจงให้ผู้ยื่นใบร้องทุกข์เข้าใจ จะเพิกเฉยเสียไม่ได้เป็นอันขาด ผู้ใดเพิกเฉยนับว่ากระทำผิดต่อวินัยทหาร มาตรา 30 ถ้าผู้บังคับบัญชาที่ได้รับเรื่องร้องทุกข์ได้ชี้แจงให้ผู้ร้องทุกข์ทราบแล้ว แต่ผู้ร้องทุกข์ยังไม่หมดความสงสัย ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปได้ และต้องชี้แจงด้วยว่าได้ร้องทุกข์นี้ต่อผู้ใด และได้รับคำชี้แจงอย่างไรแล้วด้วย |
ทุกข์ในทุกข์ เมื่อการร้องทุกข์เต็มไปด้วยข้อห้าม
ถ้าเป็นพลเรือนที่ต้องการร้องเรียนเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม สามารถระดมความคิดเห็น เป็นเดือดเป็นร้อนแทนกันได้ แต่สำหรับทหารแล้ว จะต้องร้องทุกข์ด้วยตนเองเท่านั้น ห้ามลงชื่อ รวมกลุ่ม ห้ามหารือกัน หรือแม้แต่ร้องทุกข์พร้อมกันหลายคนก็ทำไม่ได้ ซ้ำในมาตรา 24 ยังระบุข้อห้ามอีกว่า ไม่ให้ร้องทุกข์ก่อนครบ 24 ชั่วโมงหลังมีเหตุที่ต้องร้องทุกข์ นั่นหมายความว่า หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกลางดึกคืนหนึ่ง จะต้องรอถึงกลางดึกของอีกวันจึงจะร้องเรียนได้ ความน่าสนใจก็คือ ระยะเวลาหนึ่งวันเต็มๆ ที่ต้องรอนั้น พยาน หลักฐาน ณ ที่เกิดเหตุจะอยู่ในสภาพใด ซ้ำในมาตราต่อมายังมีข้อห้ามร้องทุกข์ผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไปอีกต่างหาก
มาตรา 31 ถ้าหากปรากฏชัดว่า ข้อความที่ร้องทุกข์เป็นความเท็จ หรือการร้องทุกข์นั้น กระทำไปโดยผิดระเบียบที่กล่าวมา ผู้ร้องทุกข์จะต้องมีความผิดฐานกระทำผิดต่อวินัยทหาร |
เจ็บลำพังก็ต้องเสี่ยงลำพัง
ไม่เพียงการร้องทุกข์เป็นเท็จเท่านั้นที่อาจสร้างปัญหาให้กับผู้ร้องเรียน แต่การร้องทุกข์ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบที่ว่ามายังอาจนำไปสู่ความผิดต่อวินัยทหารด้วย การร้องทุกข์จึงเป็นกระบวนการที่นายทหารผู้นั้นต้องกระทำการตามลำพัง และแบกความเสี่ยงที่อาจออกหัวหรือก้อยไว้แต่เพียงผู้เดียว
…
นี่เป็นข้อสังเกตบางประการเท่านั้นต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร ที่อยู่บน 8 หน้ากระดาษ A4 เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2476 รับสนองพระบรมราชโองการโดยนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา จากนั้นมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม 5 ครั้ง และครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2505 เป็นหนึ่งในกฎหมายที่บังคับใช้ให้ทหารน้อยใหญ่หันซ้ายขวาตามสั่งมาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง:ประมวลแบบธรรมเนียมทหารของกระทรวงกลาโหม
เผยแพร่ครั้งแรก 23 พฤศจิกายน 2560 ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 3 มิถุนายน 2563 |