ธรรมศาสตร์และการชุมนุม ‘เราไม่ได้มาเซฟอนาคตใหม่ เรามาเซฟอนาคตเรา’

กลัวไรนักหนา แค่เด็กบ้าๆ ล้อการเมือง

ย้อนไปเมื่อสี่ปีก่อน นั่นเป็นข้อความหนึ่งในการแปรอักษรของแสตนด์เชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 71

เย็นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ‘เด็กบ้าๆ’ เหล่านั้นก็มารวมตัวกัน แสดงพลังบางอย่างที่มากกว่าแค่ ‘ล้อการเมือง’ นักศึกษาขึ้นไปกล่าวปราศรัยบนเวที เพื่อนๆ นั่งฟัง ปรบมือ ถือป้ายระบายความในใจ ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ตกดินจนกระทั่งฟ้ามืด ลานพญานาคคละเคล้าไปด้วยผู้คนใต้หน้ากากอนามัยที่ตั้งใจมาแสดงจุดยืนเดียวกัน คว้าอาวุธอื่นนอกจากเสียงที่เปล่งในโลกโซเชียล เพื่อต่อสู้กับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าไม่เป็นธรรม

คำพูดที่บอกว่าเด็กรุ่นใหม่เอาแต่หดหัวอยู่หลังแป้นพิมพ์ไม่น่าจะใช้ได้อีกต่อไป

‘ขบวนการนักศึกษาตื่นแล้ว!’ คือป้ายหนึ่งในงาน ที่มาพร้อมกับเสื้อนักศึกษาเปื้อนเลือด และคำกล่าวหาตีตราที่ขบวนการนักศึกษาเคยโดนมาก่อนขยุกขยุยอยู่บนเครื่องแบบสีขาว

‘คอมมิวนิสต์’ ‘ขี้ข้าแม้ว’ ‘ดัดจริต’ ‘โดนล้างสมอง’

ที่คลาสสิกมากและปราศจากความมีเหตุผลใดๆ อีกคำคือ ‘ชังชาติ’ ซึ่งน่าจะฟังดูไร้เหตุผลและน่าหัวเราะเข้าไปอีกหลังจากการชุมนุมของนักศึกษาในวันนี้

“ไม่ได้ชังชาติ แต่ชังมึง” เสียงหนึ่งจากผู้ร่วมชุมนุมบอกกับเรา

และอีกหลายเสียงตอบโต้วาทกรรมชังชาติด้วยการย้อนกลับมาถามว่า “ชาติคืออะไร?”

มีหลายคนพยายามนิยามคำว่าชาติ ความหมายของมันจึงแตกต่างหลากหลาย แต่ชาติในแบบฉบับของรัฐไทยไม่เคยมีประชาชนอยู่ในนั้นเลย ถ้าเป็นแบบนั้น ผมชังชาติ” หนึ่งในผู้ปราศรัยบอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่น “แต่ถ้าชาติคือประชาชน ผมรักชาติที่สุด ผมบอกเลย

นั่นไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากการแสดงออกของพวกเขานัก เพราะตลอดสองชั่วโมงกว่าๆ ใจความที่เราได้ยินจากผู้ปราศรัยบนเวทีหรือมวลชนที่ฟังอยู่ ล้วนมีเหตุมาจากความไม่อยากทนอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลที่พาประเทศเดินถอยหลังมาหลายปี หรือก็คือเหตุผลของความอยากให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทั้งนั้น

อีกหนึ่งคำตีตราคลาสสิกคือ ‘หัวรุนแรง’

ไม่ว่าจะเป็นข้อความหยาบคาย หรือเสียงตะโกนด่าทอรัฐบาลภายในงาน มองผิวเผินจะเรียกว่าหัวรุนแรงก็ไม่แปลกนัก แต่ในขณะเดียวกัน ถ้อยคำที่รุนแรงเหล่านั้นก็คือพลังงานบริสุทธิ์ที่กลั่นออกมาจากความโกรธ พลังงานที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

และแน่นอนว่าพวกเขาสมควร มีสิทธิเต็มที่ที่จะโกรธ

แม้แต่การหยิบยกเรื่องล่อแหลมขึ้นมาพูดอย่างไม่เกรงกลัว ‘โง่เขลา’ คงจะเป็นคำที่ผู้ใหญ่อีกส่วนใช้อธิบาย แต่ถ้าเป็นเรา เราจะอธิบายสิ่งนี้ด้วยคำว่า ‘กล้าหาญ’

“เรามองว่าเด็กเจนนี้กล้าคิดกล้าพูดมากขึ้น ในสังคมที่ทุกคนถูกสอนให้เชื่อง มันเลยดูรุนแรงมาก” หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมกล่าว

“เขาไม่ได้หัวรุนแรง แต่เด็กรุ่นใหม่เขาฉลาด ต้องยอมรับ ต้องให้เขาขึ้นมาพัฒนา” คุณป้าสูงวัยที่อยู่ท่ามกลางหมู่นักศึกษายืนยัน “มันไม่ใช่ความรุนแรง แต่เขาทำตามความถูกต้อง เขามีความถูกต้องที่จะลุกออกมา มันเหลือทน มันไม่ไหวแล้ว เราเข้าใจตรงนี้ นี่เราก็มาเพื่อให้กำลังใจเด็ก เราจะไม่ทิ้งเขา”

อย่าลืมว่านักศึกษาไม่ได้มีปืนอยู่ในมือ อาวุธของพวกเขามีเพียงลำโพง ป้ายกระดาษ โทรศัพท์มือถือ และความอยากที่จะเปลี่ยนแปลงเท่านั้น

เราไม่ได้มาเซฟอนาคตใหม่ เรามาเซฟอนาคตเรา

เป็นอีกประโยคของผู้ปราศรัยที่ได้รับเสียงปรบมือ และเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่านี่ไม่ใช่ม็อบเพื่อคณะอนาคตใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหาในการปราศรัยแทบจะไม่พูดถึงคดียุบพรรคอนาคตใหม่แล้ว แต่เป็นการตะโกนความอัดอั้นออกมายืนยันว่าเป้าหมายหลักของการรวมตัวครั้งนี้คือการขับไล่เผด็จการในคราบประชาธิปไตย

ผู้มาชุมนุมหลายเสียงก็บอกเราเช่นนั้น

คดียุบพรรคอนาคตใหม่เป็นเพียงหนึ่งในชนวน แต่ไม่ใช่เหตุผลใหญ่

ผู้ร่วมปราศรัยคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า

คดีนั้นเป็นจุดสิ้นสุดความอดทนของอะไรบางอย่างที่สั่งสมมานาน แล้วก็เป็นการจุดประกายให้คนทั้งประเทศ ทั้งนักศึกษา ชาวบ้าน ประชาชนทั่วไป รู้ว่ามันถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะออกมาพูดให้ผู้มีอำนาจฟัง ถึงแม้เขาจะมีปลายกระบอกปืน รถถัง ทหารอยู่เบื้องหลังก็ตาม แต่พวกเราคือมวลชน คือประชาชน เราคือเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง

นี่อาจจะไม่ใช่งานชุมนุมที่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่งานชุมนุมแบบที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของกลไกในการสร้างความเปลี่ยนแปลง แบบที่ผู้ปราศรัยก็ตระหนักดีว่า Flash Mob ของแต่ละสถานศึกษาในตอนนี้เป็นเพียง ‘บทนำ’ เพื่อบอกว่า ‘กูไม่ทนแล้ว’ เท่านั้น

ถ้าเราสู้กันแค่นี้แล้วจบ มันก็ไม่มีความหมายอะไร เราต้องตั้งเป้าประสงค์ว่าการต่อสู้ครั้งนี้เราจะเอาอะไร แล้วพวกเราจะรวมตัวกัน ไปราชดำเนินด้วยกันทุกมหาวิทยาลัย

‘ขบวนการนักศึกษาตื่นแล้ว!’ หลายปีที่ผ่านมาก็คงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เพียงเสียงตะโกนในโลกออนไลน์ มันยังไม่ดังมากพอ

Author

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า