ขอบคุณที่โลกใบนี้มีนักแปล: สนทนากับ ไพรัช แสนสวัสดิ์ ว่าด้วยการทลายกำแพงภาษาและการดำรงอยู่ของนักแปล

เชื่อว่านักอ่านหลายคนคงเคยผ่านตากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อหนังสือแปลหลายต่อหลายเล่ม และเป้าของการวิพากษ์นั้นมิใช่ตัวผู้เขียน แต่คือผู้แปล 

แน่นอนว่าเสียงสะท้อนเหล่านี้ย่อมเป็นเรื่องดีหากเรามุ่งหวังจะสร้างวัฒนธรรมแห่งการอ่านให้เข้มแข็ง แต่ในข้อถกเถียงที่ครอบคลุมหลายประเด็นเหล่านั้น อาทิ ทำไมสำนวนแปลไม่ลื่นไหล ทำไมอ่านเข้าใจยาก ทำไมหนังสือแปลถึงหนานัก ทำไมการถอดคำทับศัพท์ถึงดูไม่คุ้นตาและสร้างข้อกังขาในการออกเสียง 

บ้างถึงขั้นตั้งคำถามว่า ในปัจจุบันนี้ นักแปลยังจำเป็นอยู่อีกไหม

ข้างต้นคือที่มาของการนัดหมายเพื่อพูดคุยสบายๆ กับ ไพรัช แสนสวัสดิ์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส อดีตกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง ผู้ฝากผลงานแปลหนังสือเล่มเขื่องอย่าง ‘ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี’ การรุกรานดินแดนชาวพื้นเมืองอเมริกัน; ‘The Lemon Tree’ ความเป็นมาปาเลสไตน์-อิสราเอล; ‘ชายผู้เป็นวันพฤหัสบดี’ การผจญภัยของตำรวจนักสืบกับพวกอนาร์คิสต์; ‘โซฟี โชล’ เรื่องเขียนเกี่ยวกับกลุ่มนักศึกษาเยอรมันผู้ต่อต้านระบอบนาซี และ ‘บนถนนหนนั้น’ หรือ ‘On the Road’ เล่มล่าสุดเกี่ยวกับคนหนุ่มสาวผู้เสาะแสวงหาตัวตนและเสรีภาพแห่งการแสดงออกในยุคสมัย Beat ในสหรัฐอเมริกา 

ในระหว่างการสนทนา ไพรัชออกตัวมากกว่า 1 ครั้งว่า เขาเองมิใช่นักแปลมืออาชีพ 

“ผมไม่ได้เป็นนักแปลอาชีพที่ทำงานแปลมาโดยตลอด แม้ว่าลักษณะการทำงานจะเป็นแบบมืออาชีพ งานแปลหนังสือที่ทำไปแล้วทั้งหมดเป็นงานที่รักชอบตั้งแต่ได้อ่านมันในภาษาอังกฤษ และเห็นว่าน่าจะมีนักอ่านชาวไทยชอบหรือสนใจเรื่องเดียวกันนี้อยู่บ้างก็เลยทำ

“งานที่ผมทำส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม ชีวประวัติบุคคล วรรณกรรมบ้าง ทั้งหมดไม่ได้เน้นหนักไปในทางวิชาการอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงพอทำได้ ถ้าเป็นงานยากๆ ไม่ว่าในแง่ความหมายที่ซับซ้อน หรือลักษณะภาษาที่วิจิตร ภาษาเขียนที่ยากมากๆ ก็ไม่อยากทำ” 

ในฐานะนักอ่านคนหนึ่งที่สร้างตัวตนในวัยเยาว์มาจากการอ่านหนังสือแปลและรู้สึกขอบคุณที่โลกนี้มีนักแปล มีบางครั้งในระหว่างการอ่านผลงานแปลของไพรัช ก็เกิดข้อสงสัยว่าคำคำนี้ที่ปรากฏในหนังสือแปล ต้นทางนั้นมาจากคำว่าอะไรกันแน่ นี่จึงเป็นการพูดคุยเพื่อคลายข้อกังขา ซึ่งบทสนทนาพาเราเลยเถิดไปไกลกว่านั้นมาก 

เคยมีคนพูดว่า การแปลไม่ได้เป็นการสร้างอะไรใหม่หรอก เป็นเพียงแค่เอาสิ่งที่ผู้อื่นสร้างสรรค์มาแปลง โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ที่เราอาจจะเข้าถึงภาษาต้นทางมากขึ้นและมีความรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น แล้วงานแปลยังสำคัญแค่ไหน อย่างไร

ในทัศนะของผม โดยทั่วไปแม้ว่างานแปลจะไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่การถ่ายทอดผลงานดั้งเดิมด้วยการแปลภาษาก็ยังมีความสำคัญมากต่อการศึกษา ประการแรก เพราะว่าเราต้องรับวิทยาการต่างๆ มาจากประเทศอื่นบ้าง นอกเหนือไปจากเรื่องราวภายในประเทศของเราเอง เรื่องไทยๆ เรามีอะไรต่างๆ มากมายอยู่แล้ว ทั้งวรรณกรรม ศิลปะ ภาพเขียน หรือสถาปัตยกรรม แต่ถ้าเราจะอยู่กันเองแค่นี้ มันก็คงไม่ทันยุคทันสมัย ถ้าไม่รับความรู้จากแหล่งอื่นบ้างก็คงไม่มีอะไรก้าวหน้า ถ้าต้องการจะก้าวต่อไปในสังคมโลก เราก็จำเป็นที่จะต้องรับรู้ พบเห็น และรับฟังเรื่องราวของชนชาติอื่นๆ บ้าง 

อีกประการหนึ่ง คนทั่วไปไม่อาจเรียนภาษาต่างประเทศได้หมดหรอก อาจจะเรียนภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาเยอรมัน หรืออังกฤษ แต่คงไม่ได้เรียนทั้งหมด ภาษาอังกฤษอาจจะแพร่หลายหน่อยก็เลยมีคนรู้เยอะ แต่มันก็ยังไม่พอ ฉะนั้นการแปลจึงมีความสำคัญตรงนี้ ไม่ว่าจะแปลวิทยาการต่างๆ หรือความรู้อะไรก็ตาม เพื่อให้คนในประเทศเราได้สัมผัสถึงสิ่งเหล่านี้ การแปลเป็นเรื่องพื้นฐานปกติที่มีความสำคัญ ทั้งในเรื่องทั่วๆ ไป เรื่องวิชาการ การติดต่อสื่อสาร หรือข่าวสารต่างๆ

ช่วงต้นปี 2520 ที่มีการแปลงานจากฝั่งอเมริกันยุคแรกๆ เช่น พงษ์ พินิจ แปล สิ้นชาติ (เขียนโดย เหงียน เกา กี) หรือเล่ม แขยงสงคราม (เขียนโดย ฟิลลิป คาปูโต) คุณก็เป็นหนึ่งในนักแปลงานสกุลนั้น อยากให้ช่วยเล่าถึงบรรยากาศตอนนั้น เมื่อเทียบกับปัจจุบันแล้วมีข้อเหมือนหรือข้อแตกต่างอย่างไรบ้าง

แวดวงการอ่านในยุคนั้นค่อนข้างจะรุ่งเรือง เฟื่องฟู และแพร่หลาย เพราะว่ายังไม่มีสื่ออื่นๆ มากนัก หนังสือเล่มและหนังสือพิมพ์จึงขายดี มีทั้งหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ เมื่อมีหนังสือแปลพิมพ์ออกมา ก็มีการลงข่าว ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เหล่านี้ ผู้อ่านก็ไปซื้ออ่านตามโฆษณา มีการเขียนถึงและมีการวิจารณ์ผ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารตลอด มันเป็นตลาดที่คึกคัก

แม้แต่หนังสือธรรมดาๆ ก็ยังตีพิมพ์ตั้ง 3,000 เล่ม เริ่มพิมพ์ที่ 3,000 นะ หากเป็นหนังสือขายดีก็พิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง ครั้งละ 3,000-5,000 เล่ม นักแปลดังๆ ก็มี ธนิต ธรรมสุคติ พงษ์ พินิจ อะไรพวกนี้ แล้วยังมีอีกหลายชื่อ เขาก็ทำหนังสือแปลออกมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในรายการวิทยุช่วงดึกๆ และเขียนวิจารณ์ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ คำวิจารณ์เหล่านี้ทำให้เราได้รู้ว่า เออ…สำนวนการแปลของ พงษ์ พินิจ ก็เป็นการแปลที่ไปตัดทอนต้นฉบับหรืออธิบายรวบรัดเสียเยอะ เขาวิจารณ์กันแบบนี้เลยนะ แปลเพี้ยนบ้างอะไรบ้าง ซึ่งพอเราไปดู มันก็จริงอยู่บ้าง

ช่วงหลังๆ มีประเด็นว่า พอมีงานแปลออกมาสักชิ้น งานชิ้นนั้นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเรื่องการแปลมากกว่าวิจารณ์ตัวบท เช่น แปลไม่ดีบ้าง แปลแล้วสำนวนออกฝรั่งมาก หรือว่าแปลแล้วไทยเกินไปบ้าง คิดว่ามันมีปัญหายังไง

การโจมตีว่าแปลไม่ตรง ไม่ได้เรื่อง แปลเบี้ยวบิด เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะว่าคนที่ทำงานแปลมีเยอะแยะมากมาย แต่ละคนก็มีความคิดของตัวเอง ทุกคนคิดเองได้หมดตามความเข้าใจของตน เราอ่านภาษาอื่นๆ เขาพูดว่าอย่างนี้ แล้วในภาษาไทยมันควรเป็นยังไง สำหรับผู้แปลแต่ละคนก็คงคิดไม่เหมือนกัน

ถ้าเป็นประโยคง่ายๆ เช่น “ผมรักคุณ” หรือ “ผมหิวข้าว” มันก็ไม่มีลูกเล่นอะไร ก็แล้วไป ในภาษาไหนก็แปลเหมือนกันหมด แต่ในบริบทอื่นๆ ในเรื่องสารพัดสารพัน หรือตอนอื่นๆ ที่มันซับซ้อนและมีอะไรซุกไว้เยอะแยะจะยุ่งกว่านั้นมาก เช่น การเคลื่อนไหว ความคิด หรืออะไรต่างๆ พอผู้แปลคนแรกมาเจอก็ เออ…น่าจะเป็นอย่างนี้ ผู้แปลคนที่สองมาเจอก็บอกว่าเป็นแบบนี้ ซึ่งบางทีก็ใกล้เคียงกัน แต่บางครั้งกลับต่างกันมากเลย

สำหรับประเด็นกลิ่นนมเนยนั้นเห็นว่าบางทีก็เลี่ยงได้ยาก แต่ส่วนใหญ่มักจะพยายามเลี่ยง แล้วหาทางใช้ภาษาไทยให้สอดคล้องและเป็นภาษาที่ดี สละสลวย 

อันนี้ไม่ได้พูดถึงการแปลผิดนะ ถ้าแปลผิดหรือเข้าใจผิดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อันนี้คือสมมุติมีคนแปล 3 คน แปลถูกหมด เพียงแต่จะได้อรรถรสอย่างไร ลูกเล่นครบถ้วนไหม บรรยากาศของเรื่องเสียไหม ทั้ง 3 สำนวนนี้ก็คงจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน ถ้าคนแปลอยู่ต่างยุคต่างสมัยก็แปลไม่เหมือนกันอีก ภาษามีพัฒนาการตลอด

กรณีเรื่องการแปลไม่ดี คลาดเคลื่อน หรือผิดไปไกลมากมาย พิมพ์เป็นเล่มออกมาวางตลาดแล้วโดนผู้คนถล่มเละเทะเสียจนสำนักพิมพ์ต้องไล่เก็บคืน ในช่วง 20 กว่าปีมานี้ผมเห็นมา 3 ครั้งแล้ว ยังไม่นับในแวดวงเฉพาะทาง เช่น พวกการ์ตูนมังงะอะไรเหล่านั้น แบบนั้นเป็นเรื่องแย่มากที่บรรณาธิการต้นฉบับไม่รู้เหนือรู้ใต้อะไรกับเนื้อหาเลย คิดแค่ว่ามันง่ายที่จะพิมพ์อะไรที่นักแปลทำมาก็ได้ ให้มันแล้วๆ กันไป

ถ้างานเขียนต้นฉบับมีความซับซ้อนและเข้าใจยาก ผู้แปลสามารถช่วยขัดเกลาให้อ่านง่ายขึ้นได้ไหม

บางจุดอาจต้องทำหมายเหตุอธิบาย แต่ในบางกรณีก็ต้องปล่อยไป เช่น ความหมายระหว่างบรรทัด ผู้อ่านบางคนรำคาญเชิงอรรถ ฉะนั้นอย่ามากเกิน ถ้าจำเป็นก็เขียนเพิ่มเติมท้ายเรื่อง เพื่ออธิบายเป็นประเด็นๆ ไป

อย่างเล่ม On The Road ที่เขียนมาเป็นพรืด ไม่มีย่อหน้าเลย นักแปลควรทำอย่างไร

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสำนักพิมพ์ด้วยนะว่า เขาจะเอายังไง เขาชอบแบบไหน เขาต้องการเสนอกับผู้อ่านอย่างไร เพราะในปัจจุบันสำนักพิมพ์ต่างๆ ก็มีกลุ่มผู้ติดตามของเขา เขาก็จะรู้พอสมควรว่าอะไรเป็นอะไร ผู้อ่านของเขาชอบแบบไหน เรื่องนี้สำนักพิมพ์รู้ดีกว่าผู้แปลด้วยซ้ำ ทีนี้ผู้แปลก็ต้องหาทางเลือกว่าจะทำตามนั้นไหม หรือจะยืนยันและดึงดันว่า ต้องเป็นเหมือนต้นฉบับเลย ก็แล้วแต่

ดังที่อธิบายไว้ในคำนำของผู้แปล เล่มนี้เป็นการแปลจากเล่ม ‘ม้วนกระดาษดั้งเดิม’ แล้วเอาข้อความที่มีเพิ่มเติมเล็กน้อยของฉบับพิมพ์ครั้งแรกเสริมเข้าไปด้วย แต่ใช้รูปแบบย่อหน้าแบบเล่มทั่วไป เพราะแบบที่ตัวหนังสือติดกันเป็นพรืดมันอ่านยากสำหรับผู้คนจำนวนมาก ที่ทำแบบนี้เพราะได้ปรึกษาหารือกับสำนักพิมพ์แล้ว ตัวเล่มและเนื้อหาในภาษาไทยสำหรับเรื่องนี้คือ unique มากๆ เพราะเป็นการรวม 2 เล่ม 2 editions ที่สำคัญเข้าด้วยกัน ซึ่งไม่มีในภาษาไหน

photo: Steve Rhodes

แสดงว่ายืดหยุ่นได้ใช่ไหม

โดยทั่วไปก็พอยืดหยุ่นได้บ้าง ตราบใดที่ยังทำให้เนื้อหาเป็นที่เข้าใจได้อยู่ ไม่ใช่ว่าไปแปลเป็นความหมายอื่นเลย ตราบใดที่ถอดเนื้อความออกมาแล้วยังไม่หนีจากต้นฉบับมาก นั่นคือยังคงเนื้อความตามนั้นอยู่ อย่างที่พูดไปตอนแรก คนแปล 2 คน จะได้ยินเสียงในอีกภาษาหนึ่งไม่เหมือนกัน อย่างที่ผมเคยเห็นหนังสือแปลภาษาไทย แปลบทสนทนาทั้งหมดออกมาแล้วเต็มไปด้วยคำว่า นะคะ จ๊ะจ๋า คะขา จ้า อะไรพวกนี้ ซึ่งเราอ่านภาษาอังกฤษมามากพอ อ่านจนหัวจะผุอยู่แล้ว เราไม่เคยได้ยินเสียงแบบนั้นเลย บางบริบทเขาพูดเพราะก็จริง แต่ไม่ใช่คำพูดในเชิงไทยๆ อย่างนี้หรอก เขาจะพูดเพราะๆ ผ่านน้ำเสียง สำนวน หรือใช้คำว่า please อะไรอย่างนี้

เสียงในแต่ละภาษาไม่เหมือนกันหรอก อย่างภาษาจีน มีล้งเล้ง ช้งเช้ง แต่เขาก็ไม่ได้หยาบคายกัน การออกเสียงภาษานั้นๆ ทำให้ต้องออกน้ำเสียงท่าทางมาแบบนั้น ในขณะเดียวกัน ภาษาไทยท้องถิ่น ทั้งเหนือ ใต้ อีสาน คุณก็รู้ว่ามันต่างกันใช่ไหม อย่างคนเหนือก็จะพูด ‘เจ้า’ แบบลากยาวนิดหนึ่ง แต่ผู้หญิงภาคอื่นเขาไม่พูดแบบนี้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเขาหยาบคายนะ มันเป็นอย่างนั้นเอง ภาษาอังกฤษกับภาษาไทยหรือจะภาษาอะไรอื่นๆ ก็เหมือนกัน ถ้าเขาจะพูดดีๆ เขาก็แค่พูดเสียงค่อยหรือพูดนุ่มๆ ช้าๆ ลงหน่อย เวลาเราดูหนังก็จะรู้

ในกรณีที่งานแปลมีสำนวน มีคำสร้อย ซึ่งตามต้นฉบับไม่น่าจะมี แบบนี้นักแปลเติมเองหรือเปล่า

คือคุณต้องจับความให้ได้ อันนี้คือความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษ การรับรู้รับฟังของคุณว่ามีแค่ไหน เราต้องฟังจากเสียงที่เราได้ยิน แม้ว่ามันจะเป็นตัวหนังสือก็เถอะ เช่น ภาษาของงานข่าวก็จะเป็นภาษากลางๆ ทั่วไป อ่านลื่นไหล มันจะไม่มีการใส่อารมณ์ ดูตัวอย่างผู้ประกาศข่าวของ BBC แล้วจะรู้ มันคนละเรื่องกับ เรื่องเล่าเช้านี้ หรือ โหนกระแส อะไรพวกนั้นเลยนะ แต่ถ้าเป็นรายการต่างๆ ของญี่ปุ่น หากเอามาเผยแพร่ในไทยคนพากษ์ก็จะพยายามเลียนเสียงตามนั้น

นี่คือเรื่องของเสียงที่เป็นเสียงจริงๆ ซึ่งเสียงที่มาจากตัวหนังสือก็จะมีสำเนียงเหล่านี้อยู่ด้วย แล้วในภาษาฝรั่งก็จะมีบริบทต่างๆ กำกับ หนังสือเก่าๆ ยังมีเรื่องพวกนี้อยู่นะ เช่น ถ้ามีการบรรยายว่า He cried หรือ He protested. “No, not that one.” แล้วจะแปลว่า “ไม่ใช่” เฉยๆ ไม่ได้ อันนั้นคือ He said บริบทมันทำให้เราต้องแปลว่า “เฮ้ย ไม่ใช่โว้ย” ต้องเป็นอารมณ์ประมาณนี้ นี่คือตัวอย่าง หรืออย่างบางทีเวลาตัวละครพูดเสร็จแล้วหลบสายตาจากคู่สนทนา ฝรั่งจะบอก “ … , he looked down.” ซึ่งอะไรเหล่านี้แหละคือน้ำเสียงที่มากับบริบท เราก็ต้องแปลให้คล้อยตามนั้น

การได้ยินเสียงในตัวอักษรแล้วถ่ายทอดออกมา จะเรียกว่าเป็นตัวตนในงานแปลได้หรือเปล่า

บ.ก. หลายคนเขาก็เก่งนะ เขาสอนหรือเตือนเราด้วยซ้ำว่า อย่าไปถึงขั้นนั้นเลย คือบางทีถ้าเนื้อเรื่องมันดุเดือดหรือหยาบคาย เขาก็จะบอกว่า ไม่ต้องไปหยาบคายตามมากก็ได้ เราก็โอเค อันนี้คือในสมัยก่อนนะ ไม่ใช่ยุคนี้ เรื่องนี้ก็แล้วแต่เขาและทางสำนักพิมพ์เลย ต้องหารือและช่วยกันคิด 

พูดถึงอรรถรสของงานเขียน การแปลบทร้อยกรองควรทำอย่างไร

ไม่มีใครถ่ายทอดครบได้ถ้วน ถ้าแปลความหมายทั่วไปน่ะได้ แต่กลิ่นไอวัฒนธรรมบางอย่างหรือความไพเราะทางวรรณศิลป์ย่อมสูญหาย งานของนักเขียนที่ใช้สำนวนเฉพาะตัวและสวิงสวายมากๆ ย่อมต้องเสียเอกลักษณ์ไปหมด เพราะภาษาอื่นอาจไม่มีลูกเล่นอย่างนั้น สไตล์การเขียนแบบอวดสำบัดสำนวน ทำเท่ เล่นเชิงภาษา โชว์วรรณศิลป์ล้นเกิน เวลาแปลออกมาแล้วมันจะต้องหายไป เพราะไม่รู้จะแปลยังไง 

เช่น “ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง คงแต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้” อันนี้ไม่ยากเลย แปลได้ความหมายหมด แต่จะไม่ได้เสียงคล้องจองหรือฉันทลักษณ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เคยแปลโคลงสี่สุภาพบทนี้เป็นภาษาอังกฤษ แล้ววงการวรรณกรรมไทยก็ฮือฮากันว่าเก่งฉกาจ พอเราโตขึ้นมาทำหนังสือ ทำงานกับฝรั่ง ในแวดวงทำงานมีมิตรอาวุโสคนหนึ่งแก่กว่าเราเป็น 10 ปี เขาก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยอะไรต่างๆ พอคุยกันไปหลายเรื่องก็วกมาถึงเรื่องนี้ เราก็ถามเขาว่าเขารู้สึกยังไงกับโคลงชิ้นนี้ 

เขาวิจารณ์ว่ายังไง

เขารู้ว่าความหมายคืออะไร แต่บทที่บอกว่าเป็นโคลงคือไม่เก็ต ไม่เก็ตว่ามันเป็นร้อยกรอง

ที่บอกว่าการแปลทำให้เสียเอกลักษณ์เนี่ย ถ้าเป็นร้อยกรองมันต้องเสียแน่ๆ อยู่แล้ว แต่ว่ามันช่วยไม่ได้ เวลาแปลคุณต้องเอาความหมาย คุณจะไปเอาสีสัน รสชาติ รูปแบบความงาม ทุกอย่างได้ไง อย่างเช่นโคลง 

ทะ เลแม่ว่าห้วย           เรียมฟัง

ลุ่ม ว่าดอนเรียมหวัง      ว่าด้วย

ปุ่ม เปือกว่าปะการัง       เรียมร่วม คำแม่

ปู ว่าหอยแม้กล้วย         ว่าคล้าย เรียมตาม

ถ้าให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ คุณว่ามีหนทางไหมที่จะทำให้เขารู้ว่ามันเป็นกลบท ทะ ลุ่ม ปุ่ม ปู 

ต่อให้แปลเอาความหมายจริงๆ ออกมาได้ แต่คุณก็ไม่รู้ว่าที่มันแฝงอยู่คืออะไร นี่คือตัวอย่างของการถ่ายทอดทางภาษา การถ่ายทอดนั้นสำคัญ แต่จะเอาทั้งหมดคงไม่ได้ 

หลายๆ ครั้งการอ่านงานแปลก็เหมือนกับคุณดูรูปเขียนหรือเพนต์ติง แต่คุณดูมันกลับจากด้านหลัง อย่างงานปรุ งานปัก งานถักร้อย คุณถักให้เห็นทางด้านหน้า มองก็เข้าใจว่าเป็นรูปนก แต่งานแปลเหมือนคุณกลับข้างหลังมาดู คุณก็พอเข้าใจนะว่าเป็นรูปนกกับดอกไม้อะไรอย่างนี้ ซึ่งอาจจะเลือนๆ พอดูรู้เรื่อง แต่มันจะเห็นภาพอย่างแน่แท้ชัดเจนไม่ได้หรอก 

แต่ถ้าเป็นงาน non-fiction ความเที่ยงตรงคือสิ่งที่ค่อนข้างจะวัดได้ งานแบบนี้แปลง่ายกว่าไหม 

งานแปลวรรณกรรมอาจจะยากกว่าตรงบรรยากาศหรืออรรถรสต่างๆ แต่งานประเภท non-fiction มันมีหลายแบบนะ อย่างสารคดีโดยปกติแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรสวิงสวายหรือลูกเล่นอะไรเยอะแยะ แต่บางอย่างมันมีบริบทเยอะ อย่างเช่น เล่ม The Lemon Tree ก็ออกเชิงวรรณกรรมเหมือนกัน คือเป็น non-fiction ก็จริง แต่มันมีบรรยากาศเยอะ มีอารมณ์เยอะ ซึ่งก็เข้าข่ายงานศิลปะ มีความสะเทือนใจ มีความงาม มีอะไรอยู่ในนั้น ความงามในความสัมพันธ์ของมนุษย์ ความงามของความรู้สึกผูกพันหรือความรู้สึกรักชาติของแต่ละฝ่ายอะไรอย่างนี้ หรือสะเทือนอารมณ์ในเรื่องการพลัดพราก ความสูญเสียอะไรต่างๆ เราก็คิดว่าเข้าข่ายงานศิลปะอยู่บ้าง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องจริงทั้งหมด

The Lemon Tree เป็นงานเชิง journalism ในบริบทของวิชานิเทศศาสตร์ ก็เป็นเรื่องน่าศึกษาเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนเขาบอกไว้ในคำนำว่า “ไม่มีประโยคใดในหนังสือนี้ที่ผมคิดขึ้นเอง ที่ผมประดิษฐ์ขึ้น ไม่มี ผมทำไปตามที่ปรากฏมาแล้วทั้งหมด” คือเขาสัมภาษณ์คนมามากมายหลายปี เป็นงานหนักมหาศาล ไปค้นทั้งในบัลแกเรีย โซเฟีย เยรูซาเล็ม เทลอาวีฟ ฝรั่งเศส The Lemon Tree ยังมีส่วนภาคผนวกอีกหนาเลยนะที่ไม่ได้แปล เพราะจะทำให้หนังสือไทยหนาเกินไป เขาจะเล่าทุกฉากที่เข้าไปค้นว่าได้เจอกับอะไรมาบ้าง

หมายถึงเขาเล่าว่าข้อมูลมาจากไหน?

ใช่ เขาเล่าว่าได้ข้อมูลมาจากใคร ไปตามสัมภาษณ์เลย ด้วยความลำบากขนาดไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ไม่ใช่บริบทที่คนไทยจะอ่านกัน ก็เลยไม่ได้แปลส่วนนี้ และได้ปรึกษากับ บ.ก. แล้ว

แล้วการแปลเล่ม Bury My Heart at Wounded Knee (ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี) มีความยากง่ายอย่างไรบ้าง

Bury My Heart at Wounded Knee เป็นการเขียนโดยที่ผู้เขียนเขาตั้งใจจะใช้ถ้อยคำที่เหมือนเป็นการบอกเล่าโดยคนพื้นเมือง เช่น ในตอนเริ่มเรื่องเขาก็บอกว่า การไหลบ่าของคนขาวจากทิศตะวันออกมาทิศตะวันตกมันเกิดขึ้นได้ยังไง มันเป็นการใช้ภาษาบรรยายง่ายๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าของการสร้างถิ่นฐานสร้างชุมชนต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นคนอินเดียนเล่าจริงๆ จะเป็นการเล่าเฉพาะในกลุ่มของตัวเอง ในชุมชนของตัวเอง หรือในเขตแดนของเผ่าตัวเอง แต่อันนี้มันเล่าทั้งหมด มันไม่มีอินเดียนคนไหนที่มีความรู้ครอบคลุมทั้งภูมิภาคขนาดนั้นหรอก โอเค อันนี้ ดี บราวน์ (Dee Brown – ผู้เขียน) เป็นคนบรรยาย แต่เขาเขียนด้วยภาษาแบบนั้น อย่างถ้อยคำเช่น “ทหารเสื้อเทาแตกพ่ายแก่ทหารเสื้อน้ำเงิน” อันนี้เป็นภาษาชาวบ้านนะ เหมือนมองจากมุมของคนอินเดียน อินเดียนไม่รู้หรอกว่าใครเป็นฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ การบรรยายก็จะเป็นในลักษณะนี้ ซึ่งเขาตั้งใจ ทั้งเล่มเป็นแบบนั้น

การแปล Bury My Heart at Wounded Knee เลยค่อนข้างง่าย ไม่มีความซับซ้อนอะไร แต่เรื่องมันอยู่ที่รายละเอียด เราถึงอธิบายอะไรเยอะหน่อย เพราะว่ามันล่วงยุคสมัยมาก็นานแล้ว แล้วเนื้อเรื่องทั้งเล่ม จุดมุ่งหมายสำหรับผู้เขียนก็คือจงใจใช้ภาษาแบบซื่อๆ แต่สำหรับผู้แปล โดยเฉพาะฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เรามาคิดว่าจุดของการรับรู้สำหรับเล่มนี้ อยู่ที่ผู้คนระดับมหาวิทยาลัยหรือเพิ่งจบมหาวิทยาลัย คือคนเหล่านี้จะรู้จักประวัติศาสตร์โลกหรือความเป็นไปอะไรอยู่พอควร แต่ถ้าไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์อเมริกันจริงๆ ก็อาจไม่รู้เหตุการณ์นี้เท่าไหร่ เรื่องของการแผ่ขยายดินแดนอะไรต่างๆ ของอเมริกา ถ้าไม่ลงรายละเอียดก็จะไม่รู้ เราก็เลยคิดว่ามันน่าจะทำให้เข้าถึงผู้อ่านในระดับนี้ ระดับมหาวิทยาลัย จึงได้มีคำอธิบายท้ายเล่ม เราคิดว่ามันจำเป็นอยู่พอควร เพราะมันล่วงยุคสมัยมาแล้ว สิ่งเหล่านั้นมันเลือนหายหมดแล้ว ทั้งภาพยนตร์ หนังสือ อะไรพวกนี้ ก็เลยทำภาคผนวกไว้เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้ด้วย

แต่คนทั่วไปก็อ่านได้ คนโตกว่านั้นก็อ่านได้ หลายคนก็ดีใจที่เป็นการไปรื้อฟื้นสิ่งที่เขาเคยสัมผัสในยุคทศวรรษ 2500 ขึ้นมา อาจจะรุ่นเดียวกับผมหรือน้อยกว่าสัก 10 ปี อะไรอย่างนี้ คือคนพวกนั้นเขารู้ เขาบอกว่ายินดีที่เห็นมันเป็นแบบนั้น มีการอธิบาย เราก็ทำไปตามนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบเว้าซื่อๆ บอกกันตรงๆ

อย่างเล่ม นายพลในเขาวงกต แตกต่างกันยังไง

นายพลในเขาวงกต (เขียนโดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ / ไพรัช แปล) ตัวเรื่องหลักก็เป็นเรื่องจริงตามประวัติของ ‘นายพล’ (ซิโมน โบลิบาร์) แต่มาร์เกซก็ใช้เวลาค้นคว้าเอกสารเก่าๆ เพื่อเอาข้อเท็จจริงบางอย่างที่มันแปลกไปจากประวัติที่ปรากฏในทางการ คือเรื่องที่โบลิวาร์ชอบร้องเพลง ไม่ได้มีบอกไว้แบบทางการ แล้วก็เขาหดหู่ในบางครั้งเหมือนคนทั่วไป คือรู้จักหดหู่ รู้จักกลัว รู้จักอ้อนเมียอ้อนผู้หญิง บางทีก็งอแงงี่เง่าบ้าง เพราะในประวัติทางการเขาเป็นวีรบุรุษของหลายประเทศ คนก็เลยเชิดชูกันเยอะ แต่พอมาร์เกซเขียนแบบนี้ หลายคนก็โวยวายด่ากันว่า มึงมาทำลายวีรบุรุษของกู มึงจาบจ้วงท่าน อะไรอย่างนี้ แต่ทั้งหมดเขาเขียนเป็นนิยาย คือรายละเอียดว่าเขาพูดจาอย่างไร บทสนทนาคือเขาแต่งขึ้น แต่แกนหลักของเรื่องคือการเดินทาง ไปพบกับใครต่อใคร มันเป็นเรื่องจริงหมด

ทีนี้ความไม่นิ่งของเล่มนี้คือ มันเป็นวรรณกรรมที่เขียนได้ดี และคิดว่าอ่านดี เราก็เข้าใจว่างั้น เราก็พยายามทำตามรสชาติเดิม ของเขาว่ายังไง ก็พยายามใช้ไปตามเขา อันนี้ไม่ได้ไปอธิบายอะไรเพิ่ม ส่วนเชิงอรรถท้ายเล่มก็เป็นตามที่ต้นฉบับว่าไว้

ในแง่รสชาติของคำ มีการพูดถึงระยะทางโดยใช้คำว่า ‘ลี้’ อันนี้สงสัยว่ามาจากคำไหน

อันนี้เป็นการสวมคำ ซึ่งก็ไม่ได้มั่วนะ

มันมาจากคำว่า ‘league’ ในความหมายอื่นหมายถึงกลุ่ม เช่น ลีกฟุตบอล แต่อีกความหมาย เป็นความหมายเก่า โบราณ มันคือโยชน์หนึ่ง แต่พอเป็นคำว่าโยชน์ เราก็สองจิตสองใจกับคำไทย เพราะโยชน์นี่มันเยอะมาก แต่ลี้นี่เขาว่าประมาณเดินทางเกือบครึ่งวัน เดินทางด้วยม้าหรือในกลุ่มหลายคน คิดว่างั้นนะ อันนี้สองจิตสองใจว่าจะใช้คำไหน

คำที่จะเลือกมาสวม ต้องผ่านการคิดหรือชั่งน้ำหนักไหม ว่าจะสวมเข้ากันได้พอดี

ต้องชั่งน้ำหนักดู คำว่าลี้มีการใช้ในนิยายจีน เราก็เลยคิดว่ามันใกล้เคียงกับภาษาไทย พอมาคิดดู คนไทยรับรู้คำนี้จากวรรณกรรมจีนเยอะนี่หว่า ก็เลยเอาอันนี้แหละ แต่ความจริงก็เอาแน่ไม่ได้หรอกว่ากี่กิโลเมตร เพราะเป็นหน่วยวัดในระบบโบราณ ระยะจริงอาจแตกต่างกันเยอะ แต่การรับรู้รสชาติในทางวรรณกรรมก็ไม่ได้ต้องการอะไรแม่นยำเป๊ะๆ อยู่แล้ว

ถ้าใช้คำว่า ‘โยชน์’ ไปเลยไม่ดีกว่าหรือ

โยชน์มันไกลลิบลับ คือโดยความหมายมันไกลกว่า แต่คำว่าโยชน์ก็มีใช้ในที่อื่น อย่างนิยาย ใต้ทะเล 20,000 โยชน์ ของ จูลส์ เวิร์น (Jules Verne) 

งานประเภท non-fiction มักจะมีศัพท์เทคนิคเฉพาะ ผู้แปลควรจะแปลตรงตัวเลยไหม

การแปล non-fiction บางครั้งก็ต้องแปลไปตามต้นฉบับดั้งเดิม ไม่ควรไปเปลี่ยนแปลงมัน ไม่ว่าจะแปลเอกสาร หรือแปลอะไรพื้นๆ ทั้งหมด บางอย่างก็ต้องแปลดื้อๆ ทื่อๆ เหมือนคุณแปล ‘คู่มือตู้เย็น’ คุณจะไปอะไรกับมันนักหนา มันเขียนมายังไงก็แปลอย่างนั้น 

แต่มันมีสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘technical jargon’ คือศัพท์เฉพาะของวงการ อย่างเช่นศัพท์ทางทหาร มันจะมีคำสารพัดที่เขาใช้กัน เช่น การลาดตระเวน ลาดตระเวนระยะไกล คุณจะมาใช้ภาษาไทยว่า ลาดตระเวนไกลๆ ตรวจการณ์ทางไกล ก็ไม่ได้ มันไม่ถูก คุณต้องใช้ให้มันถูกเรื่อง ใช้คำให้ถูกตามแวดวงนั้นๆ 

เวลามันกลายเป็นหนังสือ เราก็ต้องหาทาง อาจจะสืบเสาะค้นหา ก็ต้องพยายามมากๆ ไม่งั้นก็ผิดจากที่เขาใช้ แล้วมันก็จะแปร่ง คนอ่านไม่รู้ก็แล้วไป แต่พอเจอคนอ่านที่เขารู้จริง เขาจะรู้ว่าไอ้คนแปลมันก็แค่นี้เอง อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้อ่านหลายคนไปโจมตีหนังสือแปลทั่วไปแบบเหมารวม เพราะเขาไปเจอเล่มที่แปลไม่ได้เรื่อง เขาก็เลยบอกว่าหนังสือแปลนี่มันแย่ทั้งหมด อย่าไปอ่าน

เวลาแปลศัพท์เฉพาะ แล้วไปจับคู่กับคำที่ไม่ตรง อาจกลายเป็นปัญหาทำให้คนอ่านแย้งได้?

คำแบบ jargon ต้องใช้ให้มันถูกต้อง อย่างคำในวงการศาล ในทางกฎหมาย มีเยอะแยะมากมาย ถ้าคุณไปใช้ผิดๆ มันก็แสดงว่าอาจจะอ่อนความรู้ด้านนั้น

อย่างคำที่ศาลไทยใช้ จะมีบางคำที่คนยังไม่รู้จักเลย เช่น คำว่า ‘ยี่ต๊อก’ เวลาไปอ่านเจอประโยคเช่น “ศาลก็ทำไปตามยี่ต๊อก” หมายถึง เกณฑ์หรือบัญชีกํากับสำหรับบางกรณีที่เป็นแนวทางให้ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจในเรื่องต่างๆ เช่น บัญชีมาตรฐานการกําหนดโทษผู้กระทําผิดในทางอาญา ซึ่งศาลจะมีหลักเกณฑ์ของเขาที่วางไว้เป็นแนวปฏิบัติ อันนี้คือ ‘ยี่ต๊อก’

ในแวดวงทหารก็มีคำศัพท์เฉพาะทางมากมาย อย่าง military jargons ถึงกับมีหนังสือ ‘พจนานุกรมศัพท์หมวดทหาร’ เล่มหนาเบ้อเริ่มเทิ่ม

Technical terms หรือศัพท์เฉพาะ ส่วนใหญ่จะมีอยู่ในงาน non-fiction อย่างงานวิชาการ สารคดี นักแปลบางคนเขาจะแปลจากอังกฤษมาเป็นคำบาลีเลย ซึ่งมันอาจไม่ได้ช่วยให้คนอ่านเข้าใจมากขึ้นก็ได้ หรือว่าบางทีก็แปลมาเป็นคำไทย เป็นประโยค เป็นวลี เหมือนกับว่าทำให้มันง่ายไปเลย สองวิธีนี้ก็แล้วแต่เป้าหมาย แล้วแต่ target readers ของคุณ ตราบใดที่ไม่ได้ไปบิด fact การพยายามทำให้ผู้อ่านเข้าใจ มันก็ไม่ผิดนะ

พูดถึงศัพท์เฉพาะทางแล้วนึกถึงเล่ม ชายผู้เป็นวันพฤหัสฯ ที่พูดเรื่องคริสต์ศาสนา และน่าจะมีศัพท์เฉพาะอยู่มาก? 

หนังสือเล่มนี้ดูๆ แล้วตลก เป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ คุณรู้สึกไหมว่าบางตอนมันช่างเหมือน ‘ทอมแอนด์เจอร์รี’

ใช่ เซอร์เรียลมาก วิ่งไล่กันทั้งเรื่อง

คือเราดูในหนังการ์ตูน ทอมมันทุบเจอร์รีจนแบน เสร็จแล้วพอวิ่งหนีมันก็ค่อยๆ ยืดอีก หรือไอ้หมาตัวใหญ่ที่ทำอะไรกับทอมเพื่อให้มันดูตลก จับจมูกยืดแล้วปล่อยดีดตึ๊งไป เล่มนี้มันมีส่วนหนึ่งคล้ายๆ อย่างนี้เยอะ คือมันเป็นจินตนาการของผู้เขียน แต่ทั้งหมดทั้งเรื่องจริงๆ แล้วเรื่องมันซีเรียสพอสมควร เป็นเรื่องการถกปรัชญาของมนุษย์ ของศาสนานี่แหละ ว่าพระเจ้าสร้างโลกอย่างไร และสอดส่องพวกทำผิดทำชั่วยังไง เรื่องมันเป็นอย่างนี้ แต่เขาไม่ได้บอกเราตรงๆ

แต่พอไม่บอกตรงๆ เราก็รู้สึกว่า เออ ใช่ เราเป็นผู้แปล เราจะเที่ยวไปเสือกอธิบายแทรกลงไปทั้งหมด มันไม่ใช่ที่ แล้วเล่มนี้ไม่มีฟุตโน้ตเลย แต่มีหมายเหตุถึงบรรณาธิการไว้ว่า ตรงนี้ผมรู้สึกอย่างนี้นะ ที่โน้ตไว้ก็มี 3 อย่าง อันหนึ่งก็คือ ที่มาร์กไว้ คือไม่รู้มันโผล่มาได้ไง ไม่เข้าใจ อันที่สอง คือเข้าใจอยู่ว่ามันหมายถึงอะไร แต่ไม่รู้ว่าควรจะอธิบายหรือไม่ อันที่สามคือ รู้อยู่แล้ว ว่ามันหมายถึงอะไร แต่ก็ไม่เห็นว่าจะน่าต้องไปทำอะไรกับมันเพิ่ม

เราก็เขียนโน้ตไปถึงบรรณาธิการ แล้วก็ทำเครื่องหมายไว้หมด สุดท้ายเขาก็คงเห็นด้วย เลยมาทำอธิบายท้ายเล่ม (endnote) เพียงบางส่วน ตรงนั้นตรงนี้หมายถึงอย่างนั้นอย่างนี้ ตำนานบางอย่างบางคนก็อาจจะไม่รู้ ถ้าเราเป็นผู้อ่านแล้วไปค้นหาดูก็อาจจะเจอ

หมายความว่าบางอย่างเราก็ไม่จำเป็นต้องอธิบาย?

ถ้าอธิบายมันจะเยอะมากเลย แล้วผู้อ่านบางคนก็จะรำคาญ มึงมาเทศน์อะไรกูวะ? เราเคยเห็นผู้ที่แสดงความรำคาญฟุตโน้ต รำคาญเชิงอรรถเยอะนะ

คือผู้อ่านบางคนก็ฟีดแบ็กว่า หนังสือดี แต่อะไรวะ ของแบบนี้ต้องมาอธิบายด้วยเหรอ เหมือนเหตุเกิดครั้งหนึ่งในเล่ม The Lemon Tree เราก็เขียนเลยว่า เกิดเหตุการณ์สู้รบและมีผู้อพยพในปาเลสไตน์ สหประชาชาติถึงกับออกข่าววิงวอนให้ประเทศอื่นๆ ส่งอาหารให้ รวมถึงเสบียงใดๆ ที่อยู่บนเรือในทะเลหลวง ให้แวะเข้ามาแจกจ่ายให้กับปาเลสไตน์เถอะ เราก็ใช้คำว่า ‘ทะเลหลวง’ โดยไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่ม แต่ บ.ก.ต้นฉบับ ยืนยันว่าจะให้อธิบายคำว่า ทะเลหลวง หมายถึงทะเลกว้างที่ไม่ได้เป็นของชาติใด คือภาษาอังกฤษใช้คำว่า high seas ซึ่งเป็นคำสามัญมากๆ น่าจะสำหรับคนอ่านทั่วไป ไม่ต้องเก่งกาจอะไรหรอก ก็เหมือนคำว่า highway คุณจะต้องไปแปลไหมว่ามันพูดถึงอะไร หมายถึงทางหลวงที่ไม่ได้เป็นของจังหวัดไหน เทศบาลไหน มันเป็นของกลางทั้งหมด เหมือนทะเล ขอบอ่าว ขอบใกล้ประเทศ มันก็เป็นของประเทศนั้นๆ เป็นเขตแดน พอเลยไปมันก็เป็นอาณาเขตทะเล ถัดไปอีกก็เป็น high seas เป็นทะเลหลวง เราเข้าใจ แต่ บ.ก. ยืนยันว่าควรอธิบาย เราก็เลยเขียนอธิบายไปนิดหน่อย กลัวคนอ่านรำคาญ

ฟังดูแล้วเหมือนการทำงานจะค่อนข้างใกล้ชิดกับบรรณาธิการ

การประสานงานที่ดีจะเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่านักแปลจะดื้อตลอด คือเปลี่ยนของกูนิดเดียวก็ไม่ได้ ซึ่งมันไม่ควร หรือบรรณาธิการก็ไม่ควรไล่แก้จนไม่เหลือของเขาเลย งั้นมึงก็แปลเองสิวะ (หัวเราะ)

โดยความเข้าใจของเรา บรรณาธิการควรจะเก่งกว่าคนแปลนะ แต่หายาก ในบรรณโลกของไทย บรรณาธิการ (ต้นฉบับ) ที่เก่งกว่าคนเขียนอาจจะมี คือมีอะไรสงสัยในการแปลน่าจะโน้ตแล้วมาถามกัน ไม่ใช่ไปไล่แก้โดยพลการ

แล้วภาษาไทยมีปัญหาเรื่องการถอดคำ คุณจะถอดตามตัวอักษร หรือจะถอดตามการออกเสียง อย่างเราเขียนลอนดอน ไม่มีผิดอยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วมันไม่มีใครในโลกตะวันตกเรียกที่นั่นว่า ลอน-ดอน หรอก แต่เป็น ลอนดฺอึน หรืออย่างเช่น ปารีส คนอังกฤษเรียก แพริส ส่วนคนฝรั่งเศสเรียก ปาฆี ใครจะไปเขียนตาม แล้วอีกอย่างผมอยู่ในค่ายนี้ ที่ยึดหลักว่าในการถอดเรียบเรียงทั้งหลาย ผมอยู่ในค่ายไม่ถือสานะ จะเอาแบบไหนก็เอาเหอะ อีกค่ายหนึ่งเขาบอกไม่ได้นะ ค่ายราชบัณฑิตน่ะ 

เล่มหนึ่งที่ผมหนักใจในการรวบรวมและเขียน ก็คือ โซฟี โชล (กุหลาบขาวและนาซี) ความลักลั่นมีอยู่ในเรื่องการถอดรูปคำ ศัพท์ต่างๆ เพราะมันมีทั้งเยอรมัน ทั้งอังกฤษ อย่างเมือง Stuttgart คนอังกฤษบางคนเรียก สตัตการ์ด เมืองมิวนิค คนเยอรมันเขาเรียก มึนเค่น (München) คนอังกฤษเรียก มิวนิค ทีนี้คนทั่วโลกส่วนใหญ่ก็เรียกมิวนิคตาม ซึ่งเราจะไปตามนั้นหมดก็ไม่ได้ ถ้าไม่งั้นเราก็ต้องไม่เรียกเบอร์ลิน แต่เป็นแบร์ลิน อย่างฮิตเลอร์ ก็ต้องเรียกฮิตแลร์ อะไรแบบนี้ ก็เลยตัดสินใจว่าถ้ามันเป็นที่รู้ดีอยู่แล้วในภาษาอังกฤษ ภาษาไทยก็จะใช้ตามนั้น แต่อะไรที่เป็นเยอรมันหรือที่แปลกขึ้นมา เราจะตามเยอรมัน โดยเฉพาะชื่อคนหลายๆ คน อย่างชื่อ โชล พอมาถึงเมืองไทยบางคนอ่าน สกอลล์ (Scholl) และมันเคยเป็นแบรนด์หนึ่งในไทย ตามหลัก ch มันอ่านตัว ค หรือ ก อยู่แล้ว แล้วพออ่านแบบอังกฤษเลยเป็น สกอลล์ แต่ในเยอรมันอ่าน โชล ดูหนังก็รู้ แม่งเรียก โชล ทั้งเรื่อง

นี่คือความลำบากของการข้ามวัฒนธรรม ผู้แปลเลยต้องรู้วัฒนธรรม ไอ้สิ่งเหล่านี้ควรจะรู้ไว้ เพราะงั้น The Lemon Tree ถึงได้อธิบายตั้งแต่ต้นว่า ในนี้ผมไม่ได้ใช้คำตามพวกคาทอลิกไทยทั้งหลายนะ อธิบายไว้ต้นเล่มเลย ผมใช้ตามบริบทของภาษาอังกฤษ ไม่เรียก ยอแซฟ หรือมารีอา แต่เรียกโจเซฟ แมรี หรือพระเยซู เราก็ใช้ จีซัส ไครสต์ ตามบริบทภาษาอังกฤษ แล้วก็เป็นไปตามนั้นตลอด เพราะเราใช้บริบทของการรับรู้ของฝรั่งสากล ภาษาอังกฤษ-อเมริกัน 

นอกจากเรื่องการออกเสียงถูกหรือผิดในแต่ละภาษา มีคนเคยกล่าวว่า บางภาษาเหมาะกับการเขียนบางเรื่อง อย่างเช่นภาษาอิตาลีเหมาะกับการเขียนวรรณกรรม หรือมีคนพูดว่าหนังสือของ มิลาน คุนเดอรา ต้องอ่านเป็นภาษาเยอรมันเท่านั้น ถ้าแปลแล้วจะเสียอรรถรส คุณคิดเห็นอย่างไร

อันนี้ขอบอกไว้ก่อนว่า เนื่องด้วยตัวข้าพเจ้ามันก็ไม่ได้รู้ภาษาหลายๆ ภาษา หรือไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าไอ้ที่รู้อยู่ตอนนี้ ก็เลยตอบไม่ได้ในเรื่องของภาษาอิตาเลียน ภาษาเยอรมัน หรือภาษาอื่นๆ ซึ่งมีเยอะแยะมากมายที่ทำวรรณกรรมดีๆ ออกมา แต่ในโลกสมัยใหม่มันก็มีคนที่รู้ภาษาอังกฤษ แล้วแปลสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นภาษาอังกฤษเสมอ แม้แต่หนังสือของไทย ญี่ปุ่น จีน ก็มีคนทำเป็นภาษาอังกฤษเยอะแยะไปหมด 

คุณอย่าลืมว่าภาษาหลักที่คนทั่วโลกใช้กันมากที่สุดคือภาษาจีนกับอังกฤษ คนที่พูดอังกฤษเป็น mother tongue อาจจะไล่เลี่ยกับจีน ที่เหลือก็เป็นภาษาอื่น อาจเป็นภาษาสเปนที่รองลงมา ภาษาสเปนมันใช้ในอเมริกาใต้ด้วย ละตินด้วย แล้วก็ฝรั่งเศส แต่ในโลกความเป็นจริงของการใช้ภาษาและการรับรู้ เท่าที่เคยอ่านมา หนังสือทั้งหลายจะเป็นภาษาอังกฤษมากกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์นะ มันมากขนาดนั้นเลย พอมาถึงยุคใหม่ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตหรือสื่ออื่นมากขึ้น เขาว่ากันว่าบนโลก world wide web มีการใช้ภาษาอังกฤษมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือภาษาอื่น 

คำถามที่ว่า วิชาการอะไรต่างๆ ควรใช้ภาษาไหนดี ในความเห็นเราคือ มันได้ทั้งหมด ยกเว้นบางเรื่องเท่านั้นเอง อย่างถ้าคุณจะเรียนปรัชญาอะไรต่างๆ คุณเรียนภาษาไทยก็ได้ แต่ถ้าคุณอยากจะไปลึกๆ ก็ต้องไปศึกษาภาษาอื่นเพิ่ม แล้วมันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นภาษาอังกฤษก่อน 

อันนี้พูดถึงด้านวิชาการว่า มันไม่น่าจะสำคัญว่าภาษานี้เหมาะกับวิชาการ ภาษานี้เหมาะกับวรรณกรรม เพราะทุกวัฒนธรรมในโลกก็มีวรรณกรรมของตัวเอง จะดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่คุณภาพมากกว่า อิตาลีอาจจะมีวรรณกรรมของตัวเองเยอะ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณเก่งกว่าเพื่อน ไม่ใช่ วรรณกรรมดีๆ ภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน ก็มีมากมาย คุณจะเอาอะไรมาพิสูจน์ว่าถ้าเป็นวรรณกรรมภาษาสวยๆ ต้องภาษาอิตาเลียนที่สุดงดงาม ผมไม่เชื่อ

มันก็เหมือนกับมีใครบอกว่า อิตาลีมีงานสถาปัตยกรรมชั้นเลิศของโลก พูดแบบนี้ยังไงก็ไม่มีผิดหรอก แต่ไม่ได้แปลว่าในปัจจุบันแนวคิดสถาปัตยกรรมหรือสถาปนิกชั้นยอดจะต้องมาจากอิตาลีเท่านั้น แบบนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ แล้วคนพูดไม่ได้รู้เรื่องผลงานยุคสมัยใหม่ของพวกเทพๆ เช่น Frank Lloyd Wright, Frank Gehry หรือของกลุ่ม Bauhaus อะไรพวกนี้เลย

เวลาแปล ใช้กูเกิลไหม

ใช้สิ ในการค้นหามันหนีไม่พ้นการค้นด้วยทุกเครื่องมือที่มี ตั้งแต่เมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ เคมบริดจ์ แมคมิลแลน ดิกชันนารีอะไรทั้งหลาย การค้นแต่ละครั้งไม่ได้ค้นที่เดียวนะ ในการใช้ Google Translate บางทีก็ช่วยได้เยอะ แต่บางทีก็ไม่เลย บางทีผิดหวังโคตรๆ แต่มันมีบางคนที่ใช้มันอย่างจริงจังแล้วไล่แก้ไม่หมดไง ผู้อ่านเขาก็ด่ากัน ว่าไอ้นี่แปลออกมาเหมือนกูเกิลแปลเลยเว้ย 

ในการทำงาน เราใช้เครื่องมือเท่าที่มันพอจะช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวภาษาหรือเรื่องของความรู้รอบด้าน เราใช้ทั้งหมดเท่าที่มี และในโลกใหม่นี้มันดีมาก ลองคิดดูว่าเมื่อปี 2520 หรือ 40 กว่าปีก่อน ตอนแปล Bury My Heart at Wounded Knee เริ่มต้นจากห้องสมุดธรรมศาสตร์ ห้องสมุดจุฬาฯ ห้องสมุด AUA นั่งรถเมล์ไป ทำบัตรขออนุญาตเข้าไปดู จุดนั้นจุดนี้ เขามี Encyclopedia เขามีดีๆ เยอะ เราไม่มีหรอก หนังสือเราก็มีจำนวนหนึ่งที่มันเกี่ยวข้อง แต่มันไม่ครอบคลุม ต้องไปห้องสมุด แต่สมัยนี้คลิกเดียวก็ได้ มันเป็นความสะดวกมากๆ ฉะนั้น ผู้แปลควรพึ่งพาเครื่องมือทุกอย่างเท่าที่จะพอหาได้

แล้วอีกอย่างที่สำคัญคือ คุณควรมีตัวบุคคล ไม่ว่าจะมีตัวเป็นๆ หรือว่าตัวตนในโลกโซเชียลที่คุณจะถามเขาได้ ปรึกษาเรื่องภาษา ธรรมเนียมวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์บางอย่าง ถ้าคุณหาได้ก็จะช่วยไขข้อข้องใจในประโยคหรือภาษาได้ แต่มันหายากมากนะ อย่างฟอรัมความรู้ของฝรั่ง ใครก็ไปสมัครเป็นสมาชิกได้หมด มันเป็นความสะดวกของโลกสมัยใหม่ 

ค่าตอบแทนนักแปล ปัจจุบันสมเหตุสมผลไหม

ในทางอาชีพ ถามว่าค่าตอบแทนการแปลในปัจจุบันถือว่าสมเหตุสมผลไหม โน ไม่มีทาง สำหรับตัวเรามันเป็นไปไม่ได้ อย่างผมนี่บอกทุกคนหลายต่อหลายครั้งว่า ผมไม่ใช่นักแปลอาชีพ เราทำให้เป็นงานหลักไม่ไหวหรอก ที่ทำมานี่เพราะใจรักและอยากจะทำมากกว่า แล้วก็ทำเท่าที่จะว่างทำได้ งานอื่นก็ต้องทำด้วย แต่เห็นหลายคนทำเป็นอาชีพ เขาก็อยู่ได้ เช่น คนแปลมังงะ แปลนิยาย การ์ตูน หรือแปลอะไรที่ขายดีมีแฟนติดตามเยอะๆ พวกนั้นเขาเป็นนักแปลที่ทุ่มจริงทำจริง ก็ทำได้

สาเหตุของการไม่สามารถยังชีพได้จริงด้วยการเป็นนักแปล มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะหลักการค่าตอบแทน เปอร์เซ็นต์มันต่ำ หรือปริมาณยอดพิมพ์ หรือตลาดมันแคบ หรือเพราะอะไร

ประการที่หนึ่ง อัตราค่าตอบแทนสำหรับงานแปลมันไม่ได้ต่ำนะ อัตรานี่เราไม่เคยถือว่าต่ำเลย เพราะถ้ามันต่ำ ไม่ไหว เราก็ไม่ทำ เราใช้เวลากับมัน หัวจมอยู่กับมัน 3 เดือน 5 เดือนในเวลาว่าง แล้วถ้ารับ 15,000 คุณว่ามันสมควรไหม มันไม่สมเหตุผลเลยสำหรับงานหนักระดับนี้ สำหรับเกณฑ์อัตราที่ได้รับทุกเรื่อง อัตรามันดีน่ะใช่ จริง เราเข้าใจว่าสำนักพิมพ์เขาต้องทำอะไรเยอะแยะกว่าหนังสือจะออกเป็นเล่มได้ มีอีกหลายคนที่ทำงานร่วม และต้นทุนสำหรับกระบวนการต่างๆ ก็ไม่ใช่น้อยเมื่อเปรียบกับค่าแรงแปล 

พอจะบอกเป็นตัวเลขได้ไหม

มันไม่ใช่ความลับอะไร สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่เท่าที่รู้ก็ให้พอๆ กัน คือประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์ อัตรานี้ก็ถือว่าไม่น้อยนะ

8-10 เปอร์เซ็นต์ของราคาปก คูณด้วยจำนวนพิมพ์?

ใช่ ซึ่งอัตรานี้ไม่ใช่เรื่องน่าเกลียด หรือใครได้เปรียบเสียเปรียบหรืออะไร เราไม่เคยคิดเรื่องนั้นเลย โอเค เรื่องถัดมาคือ Readership ความกว้างขวางและตลาดของผู้อ่าน สำหรับลักษณะงานของเราและประเภทของหนังสือที่ทำ มันพึ่งพาไม่ได้เลย เพราะมันเป็นเหมือนระบบนิเวศของการอยู่อาศัยร่วมกัน

Readership อันนี้เป็นสิ่งสำคัญของตลาด แล้วบังเอิญตัวเราไม่ได้ผลิตงานเพื่อ Readership ที่กว้างขวางเช่นนั้น แล้วเราจะไปโทษใคร อาจจะด้วยนิสัยเรา การอ่านของเรา ความเป็นมาของเรา เราก็ไม่ได้โทษใคร แต่จะมาพูดว่าอาชีพแปลไม่ไหวหรอก ไม่ได้ อันนี้มันเรื่องส่วนตัวของเรา คนที่เขาทำแล้วอยู่ได้ก็มี คนที่ไปได้ดีก็มีมาก 

ทุกวันนี้มีโลกโซเชียล มีอินเทอร์เน็ต เพียงคลิกเดียวคนอ่านก็สามารถเข้าถึงต้นฉบับได้ง่ายกว่าเดิม แล้วอาชีพนักแปลจะมีความสำคัญอยู่ไหม ในเมื่อคนอ่านสามารถข้ามไปอ่านต้นฉบับได้เลย

มันเป็นความดีของสื่อสมัยใหม่ที่ใครก็สามารถค้นหาหนังสือมาอ่านได้ แต่ถ้าจะเอาถึงขั้นบายพาสไปเลย สำหรับบางคนก็อาจจะได้ ส่วนบางคนที่อยากรู้แค่เรื่องบางเรื่อง แค่หลวมๆ แค่แวดล้อม ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็ไม่ต้องไปดูมันทั้งหมดก็ได้ ตัวอย่างเช่นดูหนัง Netflix บางทีผมใช้วิธีนี้นะ บางเรื่องดูน่าสนใจ แต่พอดูไปสักหน่อย ไอ้ห่า บทกับการแสดงแม่งโคตรน่ารำคาญเลย แต่เราก็อยากรู้ เลยดูว่ากลางเรื่องกับท้ายเรื่องมันยังไงวะ ไอ้สองคนนี้มันจะยังไงกันวะ เราก็ใช้ 2 วิธี หนึ่งคือไปเปิดวิกิพีเดีย IMDB เว็บอะไรพวกนี้ เพื่ออ่านสรุป แล้วมาคิดว่าจะดูมันต่อดีไหม อีกวิธีคือเลื่อนไปเรื่อยๆ เราดูหนัง เราอยากดูอะไร อยากดูฉาก ดูมุมกล้อง เราก็ดูเอาเถอะ หนังแอ็คชันบางเรื่องมุมกล้องมันดีมาก แต่ตัวเรื่องแม่งเหี้ย ระยำมาก เราก็ดูแค่สิ่งที่เราสนใจ กล้องมันดีเว้ย พอถึงฉากอย่างนี้ก็ต้องหยุดดูมันสักเดี๋ยว พอมันคุยกันเราก็เลื่อน แป๊บเดียวก็ดูได้จนหมด เราก็พอใจแล้ว

คือคนที่สนใจหนังสือบางเล่ม ก็น่าจะไปดู summary การย่อความ ถ้าเขาอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็หาเครื่องมืออะไรแปล มันแปลได้ทั้งหน้าแล้ว ก็อ่านเอาคร่าวๆ อาจจะไม่ได้รสชาติเท่าไหร่ แต่มันก็สนองได้ ถ้าเป็นเรื่องซับซ้อนหน่อย แต่เขาสนใจ ก็ค่อยไปตามหาตัวจริงมาอ่าน ซึ่งอาจจะมีสำนวนแปลที่สนองเขาได้ นักแปลจึงยังมีบทบาทตรงนี้อยู่

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า