สุสานกลางมหาสมุทร โศกนาฏกรรมบนเส้นทางอพยพของผู้ลี้ภัย

‘การเดินทางที่สิ้นหวัง’ (The Desperate Journeys) เป็นชื่อรายงานฉบับหนึ่งของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่บันทึกเกี่ยวกับการเดินทางของผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลังเพื่อหนีสงคราม การประหัตประหารที่เนื่องด้วยเชื้อชาติ ศาสนา และสัญชาติ และการก่อการร้ายในแผ่นดินเกิด จนต้องอพยพข้ามน้ำ ข้ามทะเล ข้ามภูเขาไปยังประเทศอื่น ในนามผู้ลี้ภัย 

UNHCR ระบุว่าทุกนาทีมีประชากรโลก 20 คน ต้องออกเดินทางอย่างสิ้นหวังบนเรือขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้คนที่แออัดกันในแต่ละลำ เรือหลายลำไม่มีแม้แต่เครื่องยนต์ ต้องอาศัยการลากพ่วงจากเรือลำอื่น เมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่และเกรี้ยวกราดของท้องทะเลที่ต้องล่องไปแล้ว เรือไม่สามารถแบกความคาดหวังใดๆ ของพวกเขาได้

โครงการผู้อพยพที่สูญหาย (The Missing Migrant Project) ภายใต้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) ระบุว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014-2022 มีผู้ลี้ภัยเสียชีวิตในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรวมมากกว่า 25,716 ราย เฉพาะปี ค.ศ. 2016 ปีเดียว เมดิเตอร์เรเนียนกลืนกินชีวิตผู้ลี้ภัยที่ล่องเรือจากทวีปแอฟริกาไปยังยุโรปมากถึง 5,136 ราย สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของท้องทะเลแห่งนี้

ที่มา: The Missing Migrant Project

เมดิเตอร์เรเนียน ทะเลที่คั่นระหว่างทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกา เป็นเส้นทางหลักของ ‘การเดินทางที่สิ้นหวัง’ มานานนับทศวรรษ แต่ละปีมีประชากรหลายแสนหรืออาจถึงล้านคน แออัดบนบนเรือเดินทางข้ามเมดิเตอร์เรเนียนจากแอฟริกาไปยังยุโรป ตัวเลขจาก UNHCR ระบุว่า ค.ศ. 2015 มีผู้ลี้ภัยล่องเรือข้ามเมดิเตอร์เรเนียนไปยังยุโรปได้อย่างปลอดภัย 1,015,877 ราย เสียชีวิตในทะเล 3,771 ราย เมื่อคำนวณเทียบสัดส่วนระหว่างผู้รอดชีวิตกับผู้เสียชีวิตจะพบว่า ในหมู่ผู้รอดชีวิตทุก 269 คน จะมีผู้เสียชีวิตในทะเลลึกแห่งนี้ 1 ราย และในปี ค.ศ. 2016 มีผู้ลี้ภัยข้ามฝั่งไปถึงยุโรป 363,425 คน เสียชีวิตในทะเล 5,096 คน คิดเป็นสัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้รอดชีวิต 1:71 

UNHCR ประมาณตัวเลขว่ามีผู้ลี้ภัยเสียชีวิตในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโดยเฉลี่ยวันละ 6 ราย 

การเดินทางที่สิ้นหวังในเมดิเตอร์เรเนียนแบ่งได้เป็น 3 เส้นทาง 1) เมดิเตอร์เรเนียนตอนกลาง สำหรับการเดินทางจากแอฟริกาเหนือโดยเฉพาะประเทศลิเบียไปยังอิตาลี 2) เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก สำหรับการเดินทางจากตุรกีไปยังกรีซ บัลกาเรีย และไซปรัส และ 3) เมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก สำหรับผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางไปสเปน 

เส้นทางที่ว่ากันว่าอันตรายที่สุดคือ เมดิเตอร์เรเนียนตอนกลาง ซึ่งการเดินทางต้องใช้เรือลำใหญ่กว่าเส้นทางอื่น จำนวนผู้ลี้ภัยที่แออัดบนเรือแต่ละลำก็มากกว่าเส้นทางอื่น เฉพาะปี ค.ศ. 2018 ปีเดียวมีข้อมูลบันทึกว่า เกิดเหตุการณ์เรือผู้ลี้ภัยที่ออกจากลิเบียล่ม และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 คนขึ้นไป อย่างน้อย 10 เหตุการณ์ ส่วนเส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก รายงาน ‘การเดินทางที่สิ้นหวัง’ ของ UNHCR ในปี ค.ศ. 2018 ระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเริ่มเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้ลี้ภัยจำนวนมากพยายามเดินทางด้วยเรือที่ไม่ปลอดภัย แม้จำนวนผู้โดยสารต่อเรือแต่ละลำจะน้อยกว่าเส้นทางจากลิเบีย แต่ก็มีเหตุการณ์การเสียชีวิตครั้งละจำนวนมากอยู่หลายครั้ง โดยในปี ค.ศ. 2018 มีเหตุการณ์เรือล่มทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20 คน ถึง 12 ครั้ง

ขณะเดียวกัน เส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ผู้อพยพมักใช้สำหรับเดินทางข้ามจากตุรกีไปกรีซ ซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดประมาณ 47 ไมล์ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีอัตราการสูญเสียสูง โดยในปี ค.ศ. 2018 มีผู้เสียชีวิตในเส้นทางนี้ 120 ราย จากเหตุการณ์เรือล่มตอนกลางคืน

ที่มา: UNHCR

โศกนาฏกรรมต่อผู้ลี้ภัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป เพิ่งเกิดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน ปีนี้ เมื่อเรือประมงลำเล็กที่แออัดด้วยผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่ออกจากลิเบียมุ่งหน้าสู่อิตาลี จมลงในน่านน้ำสากล มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้กว่า 400 คน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) คาดการณ์ว่าเรือลำนี้ขนผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจากซีเรีย อิยิปต์ ปาเลสไตน์ และปากีสถาน มากถึงประมาณ 700-750 คน ขณะที่ Save The Children คาดว่าในจำนวนนี้อาจเป็นเด็กถึง 100 คน

เรือลำล่าสุดที่เกิดอุบัติเหตุในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนบรรทุกผู้อพยพและผู้ลี้ภัยกว่า 750 คน
ก่อนจมลง กลายเป็นโศกนาฏกรรมทางทะลที่เลวร้ายที่สุดของยุโรป (ภาพ: Greece Coast Guard)

นอกเหนือจากเส้นทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว มหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งอยู่ทางตะวันตกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็เป็นเส้นทางที่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพใช้ โดยเป็นการเดินทางจากชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ส่วนใหญ่ออกเดินทางจากประเทศโมร็อกโก เซเนกัล และมาลี ไปยังหมู่เกาะคานารี ประเทศสเปน ระยะทางประมาณ 994 ไมล์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 วัน บนเรือที่มีลักษณะทางกายภาพไม่เหมาะสมกับการเดินทางในทะเลเปิดที่เต็มไปด้วยคลื่นลม รวมถึงเรือประมงลำเล็ก และเรือยางเป่าลม 

เส้นทางนี้เพิ่งเริ่มใช้สำหรับ ‘การเดินทางที่สิ้นหวัง’ ในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นผลจากการเดินทางในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถูกควบคุมอย่างเข้มงวด และการเกิดสงครามกลางเมืองเพิ่มขึ้นในหลายประเทศในแอฟริกา ค.ศ. 1990 เป็นปีแรกที่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทั่วโลกเพิ่มจำนวนเกิน 20 ล้านคน ก่อนจะแตะ 30 ล้านคน ใน ค.ศ. 2020

การเดินทางในเส้นทางมหาสมุทรแอตแลนติกครั้งใหญ่สุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2006 ที่มีผู้ลี้ภัยเดินทางไปถึงหมู่เกาะคานารีรวมถึง 31,678 คน 

องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนชื่อ Caminando Fronteras เรียกเส้นทางนี้ว่าเป็นเส้นทางการเดินทางที่อันตรายที่สุดในยุโรป ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงมากในแต่ละปี เฉพาะในปี ค.ศ. 2020 ปีเดียวมีผู้เสียชีวิตบนเส้นทางสายนี้ถึง 4,016 ราย ด้วยระยะทางที่ไกลกว่าเส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนมาก ทำให้ความเสี่ยงของผู้ลี้ภัยที่เลือกเส้นทางสายนี้ไม่ได้มีเพียงอุบัติเหตุจากเรือล่ม แต่ยังมีเรื่องของการขาดอาหาร ขาดน้ำ เมาเรือ และอากาศที่หนาวถึงกระดูก ศพของผู้โดยสารที่เสียชีวิตบนเรือจะถูกโยนทิ้งลงทะเล อีกทั้งเรือหลายลำยังแล่นออกนอกเส้นทาง หรือสูญหายไปเลย แต่กระนั้นก็ไม่สามารถทำให้การจราจรของผู้ลี้ภัยบนเส้นทางมรณะนี้ลดจำนวนลง เช่นเดียวกับรายงานการพบผู้เสียชีวิตบนเส้นทางสายนี้ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 26-27 เมษายน ค.ศ. 2022 เจ้าหน้าที่กู้ภัยของสเปนพบผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 คน และอีก 61 คน กำลังลอยคออยู่กลางทะเล ห่างจากหมู่เกาะคานารี 245 กิโลเมตร 

ความตายของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในระหว่าง ‘การเดินทางที่สิ้นหวัง’ ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ UNHCR เรียกร้องให้ 25 ประเทศ ใน 4 ภูมิภาคที่เชื่อมต่อกันด้วยเส้นทางทั้งทางทะเลและทางบก และอยู่ในวงจรของการอพยพลี้ภัยในสถานะใดสถานะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศบ้านเกิด ประเทศเริ่มต้นการเดินทาง ประเทศแรกที่รับลี้ภัย ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทาง ร่วมกันใช้มนุษยธรรมในการแก้ปัญหา และสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ให้แผ่นดินของโลกมีที่ให้ผู้ลี้ภัยได้มีชีวิตอยู่ มิใช่ปล่อยให้พวกเขาจมดิ่งสู่ก้นมหาสมุทรที่กำลังเปลี่ยนเป็นสุสานขนาดใหญ่ของผู้ลี้ภัย

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า