“ต้องยกเครดิตให้เลดี้กาก้านะคะ ที่ทำให้เราได้ explore หลายๆ อย่างในตัวเอง”
แรปเตอร์-สิรภพ อัตโตหิ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏตัวบนถนนแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งแรกเมื่อราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 ในฐานะผู้ปราศรัยบนเวทีแฟลชม็อบที่เกิดขึ้นภายในรั้วสถานศึกษาของตนเอง
การเคลื่อนไหวล่าสุดแรปเตอร์ปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะแกนนำกิจกรรมม็อบตุ้งติ้งครั้งแรกในชื่อ ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ และครั้งที่สองในชื่อ ‘ไพร่พาเหรด’ ทั้งสองครั้งมีจุดประสงค์เพื่อต้องการสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นทุกมิติในสังคม
แม้อายุบนเส้นทางขบวนเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของแรปเตอร์จะไม่ได้มีเลขไมล์ที่สูงมากนัก แต่เมื่อสบตาและพูดคุยกับแรปเตอร์ เราพบ 2 สิ่งที่อาจอธิบายตัวตนของเขาได้เมื่อมองจากบุคคลภายนอก ความกล้าหาญและความเลดี้กาก้า
สิ่งหนึ่งที่แรปเตอร์บอกกับเราว่าอยากขอบคุณเสมอเมื่อนึกถึงคือ เลดี้กาก้า เพราะการได้ชื่นชอบเลดี้กาก้าในวัยเด็ก ทำให้แรปเตอร์กล้าพอที่จะสำรวจและตั้งคำถามว่า ตนเป็นใคร ชอบเพศอะไร รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร จนวันนี้แรปเตอร์กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มเสรีเทยพลัส องค์กรที่ลุกขึ้นมายกระดับความคิดและการต่อสู้กับอำนาจปิตาธิปไตยที่กดทับสังคมไทยให้ไม่มีความเป็นธรรมทางเพศ

จากสัตหีบสู่กรุงเทพฯ, จาก Ignorant สู่การมองเห็นปัญหาของบ้านเมือง
แรปเตอร์เป็นคนชลบุรีโดยกำเนิด เติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง เรียนโรงเรียนเอกชนในสัตหีบ ตอนเด็กๆ ลุง ป้า น้า และคนที่บ้านจะชอบพูดว่า แรปเตอร์เป็นเด็กไม่ค่อยพูด ไม่ร้อง ไม่ดิ้น เลี้ยงง่าย ถึงแม้ใน พ.ศ. 2541 ตามปีเกิดของแรปเตอร์โลกจะรู้จักกับคำว่าอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่ชีวิตวัยเด็กของเขายังคงติดอยู่ในความอะนาล็อก วันว่างๆ หากไม่มีอะไรทำ แรปเตอร์เลือกจะไปขลุกตัวอยู่ห้องพระ อ่านหนังสือพระของยายที่นอนดูลิเกในจอทีวีอยู่ข้างๆ
“เราว่าประเทศไทยมัน centralized ยิ่งอยู่ไกลจากกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดไม่ได้รู้สึกถึงผลกระทบเรื่องการเมืองว่ามันคือเรื่องของเรา”
เมื่อย้อนสำรวจทัศนคติทางการเมือง เขาบอกว่าตนเคยเพิกเฉย ยิ่งในยุคที่การเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องความขัดแย้งรุนแรงของสีเสื้อ การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก การเมืองคือเรื่องของนักการเมืองแย่งชิงผลประโยชน์กัน การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เขาเลือกที่จะเซย์โนและบอกตัวเอง ‘ฉันเป็นกลาง’
จนกระทั่งปี 2557 แรปเตอร์สอบติดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และย้ายมาเรียนมัธยมปลายในกรุงเทพมหานคร จุดเปลี่ยนที่ทำให้สายตาของแรปเตอร์เปลี่ยนไปคือบรรยากาศบ้านเมืองในขณะนั้น
“ตอนปี 57 เราเห็นการรวมตัวชุมนุมของกลุ่ม กปปส. พอเปิดเทอมเรียน ม.ปลาย ได้สัปดาห์เดียวก็เห็นประเทศถูกรัฐประหาร ชีวิตช่วงนั้นสัมผัสกับการเมืองมากขึ้น แต่ยอมรับว่ายังไม่ได้เข้าใจหรือรู้สึกอะไร”
สิ่งที่จุดประกายให้แรปเตอร์เริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจัง คือรอยต่อเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นช่วงสวรรคตของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9
“ตอนนั้นเราเห็นการล่าแม่มดกับคนที่คิดต่าง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเซนซิทีฟกับการเมืองขึ้น เราพ้นจากยุค propaganda มาแล้ว เพราะฉะนั้นความผูกพันหรือประสบการณ์ร่วมกันกับสถาบันมันน้อยลงเมื่อเทียบกับรุ่นพ่อรุ่นแม่ แล้วทำไมทุกคนถึงต้องรักคนคนนี้ เพราะว่าเขาอาจจะเป็นคนดี ก็ใช่ แต่ว่าเป็นคนดีไม่ได้หมายความว่าต้องรัก การถูกบังคับให้รักมันเลยทำให้เราเริ่มตั้งคำถาม”
เมื่อพ้นช่วงรอยต่อ แรปเตอร์ตัดสินใจเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพราะสนใจในเนื้อหาและอยากเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ปรัชญาต่างๆ การเรียนอักษรศาสตร์ ทำให้แรปเตอร์เห็นมุมมองใหม่ ค้นพบชุดข้อมูลหรือตรรกะบางอย่าง จนเขาสังเคราะห์และใช้เป็นแนวความคิด
“เราได้มองเห็นคุณค่าของความเป็นคนเยอะขึ้นมากๆ ขอบคุณ อาจารย์ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในวิชาหนึ่งที่พูดถึงนาซี มันทำให้เราได้ educated เรื่องของคุณค่าความเป็นมนุษย์ พอเรามองย้อนกลับมาในประเทศไทย แม้เราจะรู้สึกว่ามีความประนีประนอม หรือ compromise แต่จริงๆ เรายังพบเห็นการใช้อำนาจนิยมสูงมาก และเรามองเห็นความเป็นคนด้วยกันน้อยมาก”
นอกจากคาบเรียนเรื่องนาซีแล้ว แรปเตอร์มีโอกาสได้เล่นละครเพลงเรื่อง Long Live Jit Poumisak ชุมนุมเรื่องเล่าวีรกรรมวีรชนปฏิวัติ ละครเรื่องนั้นทำให้เขากระโจนจิตวิญญาณของตัวเองลงในโลกการเมืองไปเต็มๆ เขารู้สึกอินและรู้สึกว่าตัวเองขยับเข้าไปใกล้ชิดกับการเมืองมากขึ้น และ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็กลายเป็น figure สำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจ
จนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แรปเตอร์เข้าสู่วงจรของการทำกิจกรรมทางการเมืองและเคลื่อนไหวเต็มตัว จากปรากฏการณ์พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบทำให้เกิดแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และนี่เป็นครั้งแรกที่แรปเตอร์ขึ้นปราศรัยบนเวที
ปราศรัยแรกในฐานะนักศึกษา
“ตื่นเต้น มือสั่น…แต่เราต้องออกมาด้วยความรักและความเกลียดชัง”

คือความรู้สึกหลังขึ้นปราศรัย แรปเตอร์พูดในประเด็นความรักต่อความยุติธรรมและความเกลียดชังต่อความอยุติธรรม เขายืนยันว่าวาระของการชุมนุมในครั้งนั้นไม่ใช่การเรียกร้องให้พรรคอนาคตใหม่ แต่มองว่าสาเหตุที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เกิดจากการมองเห็นความอยุติธรรมบางอย่างที่ยอมไม่ได้
“เชื่อไหม…วันนั้นเรารู้สึก empower ในตัวเองนะ เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชายขอบที่ถูกอำนาจกดทับมาตลอด ทั้งเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศหรือการเป็นเด็กต่างจังหวัด วันหนึ่งเมื่อตัดสินใจลุกขึ้นมาแล้วส่งเสียงของตัวเองได้ มันทำให้คุณรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเรามีอำนาจที่จะพูด มันเหมือนกับการปลดแอกน่ะค่ะ เมื่อคุณกล้าที่จะพูดและ speak out แบบเปิดหน้า อำนาจในตัวคุณที่เคยถูกรัฐกดทับก็จะถูกเผยออกมา วันนั้นเราเลยตื่นเต้นมาก เชี่ย! กูทำได้ว่ะ กูทำได้”
เพศคือประชาธิปไตย
หลังจากการเกิดของแฟลชม็อบตลอดปี 2563 สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือข้อเรียกร้องที่หลากหลายของผู้คนจากกลุ่มต่างๆ ของสังคม แรปเตอร์มองว่า สถานการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เพียงการต่อสู้กับเผด็จการเท่านั้น แต่คือการรื้อทั้งระบบเพื่อสู้กับวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ถูกกดทับในทุกมิติ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นข้อเรียกร้องมากมาย เพราะแต่ละกลุ่มก็มีเรื่องที่ต้องผลักดันและทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เคยถูกซุกไว้ใต้พรม กลับขึ้นมาพูดให้เป็นประเด็นสาธารณะ เรื่องเพศก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในขบวนเคลื่อนไหวดังกล่าว
“สังคมไทยมีความ tolerance แต่ไม่ accept มีความอดทนอดกลั้นแต่ไม่ยอมรับ”
แรปเตอร์อธิบายถึงความอิหลักอิเหลื่อของสังคมไทยที่มักบอกว่า เรายอมรับให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ร่วมในสังคมได้ แต่การอยู่ร่วมนั้นจะต้องอยู่ในกรอบที่เขียนไว้ให้เท่านั้น หากใครผิดแปลกไปจากบรรทัดฐานย่อมถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ เช่น ผู้หญิงจะต้องเรียบร้อย กะเทยจะต้องเป็นคนตลกและต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคนดีเพื่อให้มีที่ยืน
“นี่ไม่ใช่การยอมรับค่ะ เพราะสุดท้ายสังคมก็มีกรอบทางเพศที่เรารับได้เป็นตัวขีดกำหนดไว้อยู่ดี แต่การยอมรับในแง่ของอัตลักษณ์ไม่มีอยู่จริง LGBTQ+ จึงเป็นได้แค่ตัวตลก เป็นได้แค่พิธีกรรายการบันเทิง ใครที่เอาตัวเองออกมาจากกรอบเหล่านี้ก็จะถูกประณาม ถูกกดขี่ ถูกเลือกปฏิบัติ”

ไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล
หลังจากเกิดแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กระทั่งเกิดการรวมตัวกันเพื่อชุมนุมครั้งใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 สิ่งที่เกิดในโลกออนไลน์คือกระแสการสำรวจความคิดเห็นของผู้ร่วมชุมนุมในโลกออนไลน์ ในการจัดการชุมนุมผ่าน #ไอเดียออกม็อบ
“เราก็เลยไปพิมพ์เล่นๆ ในทวิตเตอร์ว่าถ้ามีม็อบกะเทยน่าจะดีนะ ปรากฏคนให้ความสนใจเยอะมาก เรากับ มายมิ้นท์-ศุกรียา วรรณานุวัฒน์ จึงเอาไอเดียนี้มาทำม็อบกัน จนออกมาเป็น #ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล จัดที่หน้าแมคโดนัลด์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
“ม็อบตุ้งติ้งครั้งนั้น เราเน้นสื่อสารประเด็นเรื่อง LGBTQ+ และความเป็นธรรมทางเพศ ใช้ภาพยนตร์เรื่อง หอแต๋วแตก มาเป็นกิมมิค มีกิจกรรมสันทนาการ เน้น interaction ระหว่างคนที่มาชุมนุมกับตัวเวที อย่างที่บอกว่าเราไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน เราเป็นหน้าใหม่ การดีไซน์ม็อบตุ้งติ้งจึงถูกคิดจากพื้นฐานของกิจกรรมมหาวิทยาลัย แต่เนื้อหาการปราศรัยยังคงยึดโยงบนฐานประชาธิปไตย ตั้งแต่การถูกอุ้มหายของวันเฉลิม เกณฑ์ทหาร เรื่องสมรสเท่าเทียม เรื่องค้าบริการทางเพศ”

สำหรับแรปเตอร์ ม็อบตุ้งติ้งเป็นเครื่องมือสะท้อนปรากฏการณ์การต่อสู้เรื่องเพศอย่างดีเยี่ยม เพราะตั้งแต่มีการชุมนุม นี่คือโมเมนต์ที่กล่าวถึงประเด็นความเป็นธรรมทางเพศที่ชัดเจนที่สุด แม้ในการชุมนุมใหญ่จะมีแกนนำเป็น LGBTQ+ หรือเป็นผู้หญิงขึ้นปราศรัยเองก็ตาม แต่วาระหลักอาจไม่ได้โปรโมทเรื่องความเป็นธรรมทางเพศอย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องเพศเป็นปัจจัยหลักในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
“เหตุผลของการเกิดขึ้นของ #ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล เพราะแค่อยากเห็นภาพของขบวนเคลื่อนไหวที่ครบถ้วนขึ้น ตอนจัดม็อบไม่คิดว่าคนจะมาเยอะด้วยซ้ำ ปรากฏว่าคนมา 300-400 คน ตื่นเต้นมาก! ผลตอบรับในช่องทางออนไลน์ค่อนข้างดี ส่วนหนึ่งเพราะคนน่าจะตื่นเต้นกับรสชาติใหม่และรู้สึกดีใจที่ทุกวันนี้ยังมีคนพูดถึงม็อบตุ้งติ้งอยู่”
เมื่อไฟเริ่มจุดติดแล้ว กระแสแห่งการต่อสู้ไม่เคยหายไปไหน นำไปสู่การแสดงออกของม็อบตุ้งติ้งอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยแรปเตอร์บอกว่าจุดประสงค์ครั้งนี้ออกมาเพื่อหนุนข้อเรียกของราษฎร 3 ข้อ คือประยุทธ์ลาออก แก้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ทว่ายังมีข้อเรียกร้องอีก 2 ประเด็นเรื่องเพศที่เพิ่มขึ้นมา
หนึ่ง ขบวนการประชาธิปไตยและสังคมจะต้องยกระดับมาตรฐานจริยธรรมด้วยการตรวจสอบ และป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ การคุกคามทางเพศ หรือลดทอนคุณค่าทางเพศไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงและคนที่มีความหลากหลายทางเพศในการชุมนุม
สอง การให้พื้นที่และสัดส่วนผู้ปราศรัย แม้ว่าเราจะเห็นว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมจะเป็นผู้หญิงเยอะขึ้นหรือแกนนำเป็นผู้หญิง หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคน แต่สัดส่วนผู้ปราศรัยยังเป็นผู้ชายเยอะกว่าอย่างเห็นได้ชัด
อย่ากดทับความเป็นคนด้วยอคติเรื่องเพศ
“พี่รู้ไหม ถ้าเราไม่ได้แต่งหญิงขึ้นเวทีปราศรัย เอนเนอร์จี้เราจะเป็นอีกแบบหนึ่งเลย” แรปเตอร์บอกกับเรา
แรปเตอร์คือหนึ่งในรายชื่อของแกนนำที่ใครหลายคนเชื่อในฝีปากการปราศรัยบนเวทีของเขา ด้วยถ้อยคำที่ฉะฉาน ชัดเจน มีการจัดลำดับเรื่องราว มีการใช้น้ำเสียงขึ้นลง ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเทคนิคที่เขาหยิบยืมมาจากการเป็นพิธีกรเวลาทำกิจกรรมในคณะ ผสมผสานกับศาสตร์แห่งการแสดงละครเวทีที่ตัวเองชื่นชอบ แรปเตอร์จึงสามารถคุมมวลชนได้อยู่หมัด อีกทั้งยัง build up – calm down อารมณ์ของมวลชนได้เสมอ
แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นคือเครื่องแต่งกาย
นอกจากเสื้อผ้าจะช่วยเสริมพลังและความมั่นใจให้เขาแล้ว การแต่งหญิงขึ้นเวทีปราศรัยของแรปเตอร์คือความตั้งใจที่แฝงนัยยะทางเพศ
“เราเคยแต่งตัวเป็นนักกิจกรรม transwoman ชาวอเมริกัน มาร์ชา พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) และม็อบตุ้งติ้งล่าสุดเราแต่งเป็น เอลฟาบา ธรอป (Elphaba Thropp) แม่มดตัวเขียวจากหนังเรื่อง Wicked Witch of the West ซึ่งเป็นตัวแทนของคนชายขอบที่ไม่ถูกน้อมรับจากครอบครัว”
มาร์ชา พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) ตัวละคร เอลฟาบา ธรอป (Elphaba Thropp) จากเรื่อง Wicked Witch of the West
แรปเตอร์บอกว่าทุกครั้งที่เขาแต่งหญิง มักจะโดนโจมตีจากคนบางกลุ่มอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้สะท้อนระบบคิดเรื่องเพศของคนไทยได้อย่างชัดเจน คนไทยไม่ได้ยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และแนวคิดของปิตาธิปไตยที่มันเข้มแข็ง รุนแรง ฝังรากลึกมากกว่าที่เขาจินตนาการไว้
หลายคนตั้งคำถามกับเราในฐานะแกนนำ อยากให้เราทำตัวขึงขัง เพราะแต่งหญิงมันเป็นเรื่องของนางโชว์ในอัลคาซ่า โอ้โห นี่คือการกดทับและ stereotype คนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างรุนแรงมากๆ คุณกำลังมองด้วยอคติของปิตาธิปไตย
การใช้อำนาจนิยมไม่ว่าจะเป็นระดับไหนก็ตาม ย่อมทำให้ความเป็นมนุษย์ของคนที่ถูกกดทับถูกบั่นทอนลงไปเรื่อยๆ เขาจะรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์น้อยลงเรื่อยๆ ท้ายที่สุดทำให้สุขภาพจิตของคนในสังคมที่อยู่ในวัฒนธรรมอำนาจนิยมเสียหายย่อยยับ เช่น ลูกไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนะ ลูกรู้สึกว่าตัวเองเป็นลูก ลูกต้องทำหน้าที่ของลูก ลูกไม่มีสิทธิเถียงพ่อแม่ ลูกไม่มีสิทธิขึ้นเสียงกับพ่อแม่ ลูกไม่มีสิทธิแสดงอารมณ์ไม่พอใจต่อพ่อแม่
ดังนั้นถ้ามองในเชิงโครงสร้างอำนาจ แรปเตอร์มองว่าปฏิกิริยาดังกล่าวอาจสะท้อนได้ว่าเรากำลังเขย่าโครงสร้างอำนาจนิยม จนทำให้ผู้ที่มีอำนาจเกิดความรู้สึกกลัวและสั่นคลอน จึงต้องหาคำพูดหรือแสดงท่าทางอย่างไรก็ได้ให้กดทับภาพเรื่องเพศที่เขาไม่ได้อยากเห็นไว้เหมือนเดิม เฉกเช่นเดียวกับรัฐบาลที่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุม หรือพยายามจะใช้อำนาจเพื่อกดทับพลังของประชาชนที่กำลังต่อต้าน
การแต่งหญิงขึ้นเวทีม็อบเป็นเครื่องมือในการสั่นคลอนโครงสร้างปิตาธิปไตยอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังช่วย empower คนที่มีอัตลักษณ์หลากหลาย ทำให้รู้สึกว่าจริงๆ แล้วเขามีตัวตน เขาสามารถภาคภูมิใจในตัวเองได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนอยู่ภายใต้เครื่องแต่งกายที่รัฐบาลกำหนด

การต่อสู้ในประเด็นเรื่องเพศเป็นการต่อสู้ที่ยากและยาวนาน
แรปเตอร์บอกว่าการเดินทางครั้งนี้อาจจะยากยิ่งกว่าการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เสียอีก
เพราะปิตาธิปไตยได้ครอบโลกและซึมลึกลงไปในระดับวัฒนธรรมแล้ว ฉะนั้นการถอดรื้อโครงสร้างของความคิดชายเป็นใหญ่จึงเป็นเรื่องยากมาก ต้องทำในระดับความคิด การแก้กฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องรื้อตั้งแต่โครงสร้างความคิด ทัศนคติ เผลอๆ เราตายไปก่อน มันเป็นการทำงานแบบวิ่งมาราธอน
สำหรับเพดานสูงสุดในเรื่องเพศที่แรปเตอร์อยากเห็นคือโลกที่มีความเป็นธรรมทางเพศ แค่ทุกคนสามารถแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองได้โดยไม่ถูกตัดสิน ไม่ถูกตีตรา ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งในมิติของกฎหมาย สิทธิ เสรีภาพ และทุกคนต้องเท่ากันในแง่ของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะความอึดอัดจากการไม่เป็นตัวเอง มันคือประตูแห่งการกดทับและทำให้ความเป็นคนถูกบั่นทอนจนหายไป
“คนที่ถูกใช้อำนาจจะถูกกดทับตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องเพศหรือเรื่องใดก็ตาม เขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจอะไร ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่มีอำนาจในการจะต่อกร แต่การลุกขึ้นมาส่งเสียง แสดงความไม่พอใจ จะช่วยคืนความเป็นมนุษย์ให้กับเขา การที่เขาออกมาประท้วงได้ เสียงของเขาถูกรับฟัง มันคืนความเป็นมนุษย์ให้กับเขา” แรปเตอร์กล่าว

จักรวาลความฝันของแรปเตอร์
ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา สังคมการเมืองเคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็ว ชีวิตของแรปเตอร์ก็เช่นกัน จากเด็กสัตหีบเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ลุกขึ้นคัดง้างกับระบบปิตาธิปไตยและอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ บางจังหวะแรปเตอร์ยอมรับว่าทำให้เกิดความกลัวอยู่เหมือนกัน
“เราเป็นแกนนำที่เคยออกหน้าในเวทีการเมืองไม่กี่คนที่ไม่โดนทั้งหมายเรียกและหมายจับสักใบเลย”
แม้จะรู้สึกค่อนข้างปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ความกลัวและความกังวลที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หลังจากเห็นความรุนแรงที่รัฐบาลทำกับม็อบหรือการเห็นเพื่อนแกนนำโดนจับ ทำให้หลายๆ ครั้งเขารู้สึกผิดจนต้องโทษตัวเอง
“เรารู้สึกว่าช่วยอะไรไม่ได้ การสลายการชุมนุมที่ปทุมวัน (ฉีดแก๊สน้ำตาครั้งแรก) คือเราก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้น เราทำเซฟโซนจุฬาฯ และมันก็ทำให้เรารู้สึกผิด โอเคเราต้องพยายามจัดการว่า จริงๆ แล้วไปอยู่ตรงนั้นเราอาจจะไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากกว่านั้น ทำตรงนี้อาจจะมีประโยชน์มากกว่าก็ได้”
แรปเตอร์บอกว่าการเข้ามาเคลื่อนไหวตรงนี้ทำให้มีเวลากับตัวเองน้อยลงมาก ตื่นเช้ามาต้องรีบเช็คการเมือง ต้องถอนวิชาเรียนที่รู้สึกว่าเรียนไม่ไหว ได้คุยกับเพื่อนสนิทของเราที่ไม่ใช่นักกิจกรรมน้อยลง มีชีวิตเป็นของตัวเองน้อยลงและจุดที่ฟ้องว่าทุกอย่างเริ่มพังคือเขาเริ่มไม่อยากทำในสิ่งที่ตัวเองรักอีกต่อไปแล้ว
“อยู่ดีๆ เราก็รู้สึกกูไม่อยากทำตรงนี้แล้ว กูเหนื่อย กูอยากเห็นสังคมดีขึ้นนะ แต่กูทำอะไรได้บ้าง มันเป็นความวินาศทางอารมณ์ ความเปราะบางข้างใน เราเซนซิทีฟขึ้น มันเป็นสัญญาณที่ทำให้เราต้องพัก”
ไม่ว่าผลลัพธ์ของเส้นทางจะเป็นอย่างไร แต่การพักผ่อนเยียวยาใจเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว
ยิ่งข้างในคุณพัง ขบวนก็พัง การดูแล well being ของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ สังคมอำนาจนิยมบอกว่าคุณไม่มีคุณค่า คุณจะไม่มีชีวิต ดังนั้นการที่ลุกขึ้นมาดูแลตัวเองนี่แหละคือการต่อสู้ เพราะว่ามัน empower คุณให้คุณรู้สึกว่าจริงๆ แล้วตัวคุณเองมีคุณค่า คุณเป็นคน และเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้และทลายอำนาจนิยม
“เราไม่เคยคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ทุกอย่างในชีวิตเรามันขับเคลื่อนให้เราออกมา อาจจะใช้คำว่าจักรวาลฝัน ถ้าเราไม่ได้เป็นเกย์ เราก็คงมองไม่เห็นความไม่เท่าเทียม ถ้าเราไม่ได้เป็นเด็กต่างจังหวัด เราคงไม่รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่ได้มาเรียน ม.ปลายที่กรุงเทพฯ เราคงไม่เห็นว่า เชี่ย แม่งห่างกันลิบลับ”

การย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ทำให้แรปเตอร์มองเห็นชีวิตที่มีอนาคต เห็นความฝัน เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในขณะที่เด็กต่างจังหวัดมองไม่เห็นมันด้วยซ้ำ
“การเรียนจุฬาฯ การเรียนอักษรฯ การได้ทำสันทนาการ การเป็นพิธีกร หลายๆ อย่างมันหล่อหลอมให้เราเป็นเราทุกวันนี้ ภูมิใจ ดีใจมาก เรื่องราวบทต่อไปเดี๋ยวชีวิตมันก็พาเราไปเอง ขอบคุณตัวเองมากๆ สิ่งที่จะทำคือต้องดูแลเยียวยาจิตใจและจิตวิญญาณ และรักตัวเองให้มากขึ้นมากๆ เพราะว่าในสังคมอำนาจนิยมกดทับชีวิตเรา ไม่เคยทำให้เรารู้สึกรักตัวเองเลย”
*หมายเหตุ – สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563