ชื่ออยู่ในบัญชีแรกที่ได้รับหมายเรียกไปพบพนักงานสอบสวน ทันทีที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หมุนวนกลับมาไล่ล่าประชาชนอีกครั้ง
อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ เกี่ยวแขนร่วมกับมิตรสหายราษฎรตั้งแต่ต้นปี 2563 เพื่อเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลโดยแนบข้อเรียกร้อง 3 ข้อหนักแน่นตั้งแต่กลางปีเป็นต้นมา โดยไม่คิดว่าเมื่อถึงปลายปี ดินแดนแห่งการประนีประนอมแห่งนี้จะยื่นข้อกล่าวหาร้ายแรงมาถึงเธอ
‘อั๋ว’ มีความหมายคือ ความอุดมสมบูรณ์
เธอเกิดและเติบโตจากลุ่มน้ำเซบาย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ก่อนจะผลิใบในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
18 กรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือเวทีแรกที่มีการเคลื่อนไหวใหญ่หลังโควิด-19 ระบาด เมื่อมาตรการป้องกันโควิดของรัฐบาลเปิดช่องให้ “VIP” แพร่เชื้ออีกครั้ง อั๋วคว้าไมค์ปราศรัยในเย็นวันนั้น ทำให้รู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ง่ายและต้องลับคมใหม่ทั้งในเรื่องเนื้อหาและท่าที จนราษฎรนำเสนอข้อเรียกร้องอันแหลมคมเมื่อย่างถึงเดือนตุลาคม
WAY สนทนากับอั๋ว ถึงชีวิต ความคิดและความฝัน ที่เธอเปรียบเอาไว้ว่าประหนึ่งเหมือนเกสรดอกไม้ที่จะฟุ้งกระจายไปทุกอณูของสังคม โดยมีผืนดินแร้นแค้นต่างหากที่คอยหล่อเลี้ยงความฝันนั้นให้คงอยู่ ไม่สูญหาย หาใช่ความอุดมสมบูรณ์จำแลง
ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชนปลดแอกตั้งแต่เมื่อไหร่
หนูเริ่มเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลในนามกลุ่มนักศึกษาตั้งแต่กุมภาพันธ์แล้ว แต่พอมาถึงช่วงโควิดระบาด จึงย้ายไปเคลื่อนไหวในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสวัสดิการของคนจนที่สูญเสียอาชีพและรายได้จากมาตรการของรัฐบาล
จนผ่านมาหลายเดือนสถานการณ์ยังไม่ถึงจุดพีค กระทั่งกรกฎาคม เราจึงย้ายออกมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (18 กรกฎาคม 2563 – ในนามเยาวชนปลดแอก) ครั้งนั้นเป็นการเคลื่อนไหวที่เข้มข้นมากขึ้น ทั้งในเชิงประเด็นและรูปแบบของการแอคชั่น การที่เริ่มเคลื่อนจากรั้วมหาวิทยาลัยมาสู่ท้องถนนทำให้ประเด็นไม่ได้ถูกเตรียมมากเท่ากับอีโมชั่น ซึ่งเราก็ไม่คิดว่าตอนนั้นคนจะออกมาชุมนุมมากมายขนาดนั้น เพราะเป็นบรรยากาศที่ไม่เคยมีม็อบมาสักพัก วันนั้นก็ได้รับบทเรียนทั้งในเรื่องเนื้อหาและท่าที
ประเด็นรัฐสวัสดิการ เป็นเรื่องหนึ่งที่คุณปราศรัยอย่างสม่ำเสมอ ทำไมจึงเลือกประเด็นนี้ ทั้งที่ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีประเด็นหลากหลายมาก
เราคิดว่าประเด็นรัฐสวัสดิการมีผลต่อชีวิตของคนทุกคน มันทำให้คนคนหนึ่งสามารถเติบโตได้ในหลายทางนะ สวัสดิการจากรัฐจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ต่อยอดการมีชีวิตของคนได้ และถ้าหากเปรียบเทียบระหว่างการมีสวัสดิการกับไม่มีสวัสดิการ ในบริบทที่มีความเหลื่อมล้ำชัดเจนอย่างไทย เรารู้สึกว่ามันยิ่งตอกย้ำความฝันถึงการมีชีวิตที่ดี และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
เติบโตขึ้นมาแบบไหน จึงทำให้เห็นว่ารัฐสวัสดิการเป็นวาระที่อยู่ในใจเรามาตลอด
อาจจะไม่ค่อยเหมือนกับเพื่อนๆ คือแม่พยายามทำให้หนู unique เช่น เด็กบ้านอื่นได้ดูการ์ตูน แม้ว่าน้องๆ ที่บ้าน จะได้ดูเหมือนกัน แต่เราไม่ค่อยสนใจ จะชอบดูข่าวมากกว่า ประกอบกับการที่ปู่เราเป็น สส. (อดีต สส. อำนาจเจริญ พรรคความหวังใหม่) ก็ทำให้คนรู้จักเรา คนก็จะรู้จักเราเพราะนามสกุล แต่ตอนนี้เขากลายเป็น ultra-royalist ไปแล้วนะ เพราะชอบส่งไลน์ สนธิ ลิ้มทองกุล มาให้เราทุกวัน (ยิ้ม)
ตอนเด็กๆ หนูเรียนที่โรงเรียนหัวตะพาน เรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 ตลอด พอเราเรียนเก่งครูก็จะชอบส่งไปแข่งขันตอบปัญหา บางทีก็เป็นการตอบปัญหาธรรมะ ชนะกลับมา บางครั้งก็แข่งขันได้รางวัลคนดีศรีแผ่นดินมา แต่เป็นเรียงความที่ครูก็เอาไปเกลาก่อนส่งประกวดอีกที
ในส่วนครอบครัวเอง แม่กับพ่อหนูเลิกกัน ตั้งแต่หนูอยู่ ป.3 เพราะปัญหาเรื่องการเงิน และพ่อก็ติดเหล้าด้วย อาจจะเพราะพ่อติดสบายมาก่อน เคยทำงานสีเทาได้เงินเยอะ พอถึงจุดที่ต้องใช้ชีวิตปกติ เขาก็ไม่สามารถทำงานหารายได้ ทำให้มีปัญหากับแม่ หลังจากนั้นแม่จึงมาค้าขายและก็ทำนาไปด้วย
พอเรียนมัธยมบ้านเราก็มีวิกฤติ แม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตอนเราอยู่ ม.1 เวลานั้นมันคือโรคที่ใหม่มาก ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันเหมือนทุกวันนี้ แม่เป็นซึมเศร้าชนิดที่ไม่สามารถทำงานได้เลย ภาพที่หนูเห็นคือแม่นั่งอยู่หน้าทีวีเป็นปี แล้วอีกครึ่งปีก็อาจจะลุกไปไหนมาไหนได้บ้าง แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเป็นอาการของโรค เพราะแม่ก็เป็นไทรอยด์อยู่ด้วย จนกระทั่งน้าเห็นว่าน่าจะแปลกๆ และเราก็เรียนสุขศึกษามา มันมีเนื้อหาที่สอนเกี่ยวกับเรื่องโรคทางจิตเวช น้ากับยายจึงแนะนำให้มาหาหมอ ทำให้ทราบว่าแม่เป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง
ส่วนนาที่แม่เคยทำ ยายก็เป็นคนทำแทน รายได้ที่ได้มา หักลบกลบหนี้เหลือปีละแสนกว่าบาท ส่วนหนูก็ทำเค้กขายกับน้องชายโดยมีตาช่วยทำ ช่วงนั้นแย่มาก ไหนจะมีเรื่องที่น้าซื้อรถโดยเอาชื่อแม่หนูไปซื้อแล้วเขาโอนลอยมา เรากลับถูกดำเนินคดียักยอกทรัพย์ แต่สุดท้ายเราก็ชนะนะ
ทำไมชีวิตมีเรื่องเยอะจัง
นี่แค่ส่วนหนึ่งนะ ปัญหาที่ว่ามาก็มีส่วนทำให้แม่เป็นซึมเศร้าด้วย เพราะก่อนหน้านี้แม่ก็ผ่านมาหลายเรื่อง คือถ้าคิดแบบคนบ้านนอก แม่หนูมีลูกก็เมื่อตอนอายุ 30 แล้ว ปกติคนที่ต่างจังหวัดจะมีลูกกันเร็ว ไม่เกิน 25 ปี ก็มีแล้ว ก็เป็นภาวะสะสมความเครียดของแม่มา พอหายป่วยก็กลับมาทำงานได้ แต่ก็ไม่เหมือนเดิม กลับมาทำงานได้ก็ตอนที่ล้มละลายกันหมดแล้ว แต่เราก็ผ่านมาได้ เราก็ช่วยกันทำ อย่างน้อยยังเหลือที่ดินไว้ทำนา
แล้วตอน ม.ปลาย ชีวิตเป็นยังไง
แม่ก็ให้หนูไปเรียน Pre-degree ของ ม.รามคำแหง เรียนสะสมไปสักพักหนูก็เบื่อ นอกจากนั้นหนูก็เรียน รด. จนจบ 3 ปี อย่างหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากตอนประถมคือความมั่นใจที่เคยมีมาก ก็หายไป ไปเรียนตามกรอบของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ก็แค่ไปเรียน
แต่ต้องบอกก่อนว่าที่โรงเรียนไม่มีการบูลลี่กันนะ ความก้าวหน้าของโรงเรียนที่นั่นคือมันไม่มีใครบูลลี่ใคร ตั้งแต่ขึ้นมัธยมมา พอโตขึ้นเหมือนทุกคนรู้สึกผิดถ้าบูลลี่คนอื่น เช่น เรื่องทะเลาะ เรื่องต่อยตี ก็น้อยลงเรื่อยๆ อาจจะเพราะคนได้รับความรู้มากขึ้น บางคนได้ไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ หรือไปเรียนพิเศษในจังหวัดใหญ่กลับมาก็มาแลกเปลี่ยนกัน ก็รู้ว่าก้าวหน้ามากขึ้น
เวลาว่างชอบทำอะไร
มีเวลาว่างมาก บ้านหนูอยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนแค่ข้ามถนน ตอนเด็กๆ ยายก็จะปลุกไปโรงเรียน พอโตมายายไม่ปลุกแล้ว เราก็ไปเรียนทันบ้างไม่ทันบ้าง คงเพราะรำคาญที่จะปลุกแล้ว วันไหนฝนตกหนูก็ไม่ไป ทั้งที่ข้ามแค่ถนน แต่เราก็เลือกที่จะไม่ไป แต่ถ้าไปโรงเรียนแล้วเลิกเร็ว เราก็จะกลับมาล้างจาน เสร็จก็ไปออกกำลังกาย ไปวิ่ง ไม่ก็ปั่นจักรยาน ไปดูป่าดงใหญ่ แล้วก็ปั่นกลับ
แต่ก็ประคองความรู้สึกตัวเองได้จนมาเรียนในมหาวิทยาลัย ทำไมถึงเลือกเรียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตอนแรกอยากเรียนรัฐศาสตร์ แต่สอบไม่ติด ยังไงก็ตาม Southeast Asia ก็มีวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็เลยเลือกเรียนสาขานี้ ความรู้สึกก็ไม่ได้แย่นะ เมื่อได้มาเรียนจริงจึงเข้าใจว่า ไม่ต้องได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนตอนแรกก็ได้ เพราะเรามาอยู่ในสังคมที่มีคนมีแนวคิด ความสนใจ แลกเปลี่ยนกันได้เหมือนกัน
แต่ตอนนี้ หนูก็ไม่มีวิชาไหนที่ชอบ ขี้เกียจไปเรียน เพราะทำงานไปด้วย หนูเรียกม็อบว่างาน มันกลายเป็นรูทีนไปแล้ว คือต้องประชุม คิดงาน หาวิธีป้องกันตัวเองไม่ให้เกมจากตำรวจ หาวิธีไปม็อบระหว่างที่มีหมายจับ ต้องปลอมตัวเป็นนาตาชา (หัวเราะ)
ถ้าหากย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เมื่อเราขึ้นไฮด์ปาร์ค เราก็จะพยายามแสดงอัตลักษณ์ออกมาว่าเราเป็นคนอย่างไร
แต่พอพวกเราถูกสลายการชุมนุมในวันที่ 14 และมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรงตามมาในวันที่ 15-16 ตุลาคม เราก็ต้องแต่งตัวปกติเหมือนคนทั่วไป และเวลาชุมนุมก็เข้าไปรวมกลุ่มกับคนหมู่มาก ไม่ต้องแสดงตัว เพราะถ้านักข่าวจำได้ก็จะเข้ามาหา เราก็ไม่อยากเด่นขนาดนั้น เพราะหลังจากถูกสลายเรายังเข้าไปร่วมม็อบอยู่ขณะที่ยังมีหมายจับ
คือมันยังเหลือเราที่ยังไม่ถูกจับ บางคนเข้าไปมอบตัว แต่หนูเตรียมคอนเทนต์อีกแบบไว้ไง ก็เลยไม่ยอมมอบตัว อยากจับก็มาจับ เราก็รู้ดีว่าเจ้าหน้าที่เขาก็สืบว่าเราทำอะไรบ้าง เพราะชีวิตเราก็รูทีน บางวันเขาก็ส่งคนที่ไม่ค่อยเนียนไปดักเราที่หน้าหอ เราก็ถ่ายวิดีโอไว้ บางวันก็ไปกินเบียร์แถวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถวชิดลม เขาก็นั่งอยู่ร้านนั้น นั่งดื่มกันทั้งโรงพัก พอเขาเห็นหน้าเราก็จ้องเลย พอเราเห็นปุ๊บก็คิดว่าโดนแน่ เราก็เลยเดินออกมา คือถ้าเขาไม่เตรียมตัว ก็จับเราไม่ได้ เพราะต้องรอเอกสาร พอเราไหวตัวทันก็ไปเลย
ในบรรดาแกนนำหรือดาวปราศรัย รู้สึกว่าคุณจะแคล้วคลาดตลอด ห้อยพระอะไร
หนูห้อยหลวงปู่ทวด (ทำหน้าจริงจังยืนยัน) ตอนที่เราออกมาเคลื่อนไหวมีเซียนพระฝากแม่มาให้หนู บอกว่าเป็นพระที่จะทำให้หนูอยู่รอดปลอดภัย เออ ก็จริง หนูไม่โดนอะไรเลย (หัวเราะ)
ตอนที่เขาไปจับเพนกวินกับรุ้งในคืนวันสลายการชุมนุม (เช้าตรู่วันที่ 15 ตุลาคม 2563) หนูไม่โดนจับ เพราะหนูออกมาซื้อผ้าอนามัย ทีแรกก็อยู่ในที่ชุมนุมตอนที่ปักหลักหน้าทำเนียบ หนูก็ขึ้นไปบนเวทีกับพี่ใหญ่ (ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์) กับพี่มายด์ (ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล) ปราศรัยไปเรื่อยๆ เพื่อรวมคนระหว่างเซ็ตเวทีและจัดคิวคนที่จะขึ้นเวทีวันที่ 14 ตุลาคม
เด็กที่เป็นฝ่ายเวทีก็บอกให้เราปราศรัยสำรองไปเรื่อยๆ ก่อน พอเสร็จเราก็ออกไปเข้าห้องน้ำ กลับมาคนปราศรัยก็มาครบแล้ว เราจึงไม่ต้องขึ้นเวทีคืนนั้น สักเที่ยงคืน-ตีหนึ่ง ก็เลยออกไปส่งพี่มายด์ ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ขับมอเตอร์ไซค์อัดกันไป 3 คน ก็ไปเจอตำรวจ คฝ. (กองร้อยควบคุมฝูงชน) เดินแถวผ่านกระทรวงฯ ไป พอเขาเห็นเรา ด้วยความห้าว หนูก็บีบแตรไปตลอดทาง แล้วยกนิ้วกลางใส่ พอไปส่งพี่มายด์เสร็จหนูจึงไปซื้อผ้าอนามัย สักพักรุ้งโทรมาว่า “มึง ตำรวจเข้า มึงรีบออกไปจากพื้นที่เลย”
บางทีเจ้ากรรมนายเวร ก็ไม่ได้มาในคราบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ครั้งหนึ่งคุณโดนชายฉกรรจ์บุกขึ้นเวที…
ใช่ค่ะ ที่เวทีสมุทรปราการ มาในรูปแบบของลูกน้อง สส. สอบตก หนูเห็นผู้ชาย 2 คน ค่อยๆ เดินเข้ามา เราคิดแล้วว่าลักษณะเหมือนคนจะมามีเรื่อง เราก็หันไปหลังเวทีมองหารุ่นพี่ที่ไปกับเราด้วย แต่เราก็ไม่ได้ประกาศเพราะว่ากลัวผู้ฟังจะตกใจ แต่พอผู้ชาย 2 คนนั้นขึ้นมา รุ่นพี่ก็กระโดดขึ้นมาบนเวทีเอาโทรศัพท์เราไปเก็บ เพราะตอนนั้นเรายังมีหมายจับ
คนที่ขึ้นมาคุกคามเราบนเวทีบอกว่า “ไม่ให้พูด” เราก็คิดว่า “ทำไมจะพูดไม่ได้” ตอนแรกเราก็ชะงัก เขาพยายามจะผลักจะล็อคเรา แต่พอข้างล่างเวทีตะโกนด่าก่อน เราก็เลยด่า ด่าออกไมค์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาถอยลงไป และทราบภายหลังว่าเป็นการ์ดที่ถูกส่งมาจากอดีตผู้สมัคร สส. คนหนึ่ง แล้วทีมนี้ไปดีลกับตำรวจในพื้นที่ว่าจะคุมเนื้อหาให้ โดยตำรวจไม่ต้องเข้าไปคุมเอง ซึ่งมันน่าเกลียดกว่า
แนวปราศรัยของคุณดูจะมีสไตล์เฉพาะตัวต่างจากคนอื่น คือพุ่งไปที่งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ โดยเปรียบเทียบกับสวัสดิการของประชาชน ทำไมใช้วิธีนี้ในการพูด
ความเท่าเทียมในเชิงกฎหมาย อาจจะหมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าพูดพระราชอำนาจ ในทางกำลังก็อาจจะพูดถึงเรื่องกองทัพ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญล้วนผูกโยงกับเรื่องงบประมาณแผ่นดิน
ด้วยความที่สังคมสมัยใหม่เป็นสังคมทุนนิยม สิ่งที่สำคัญคือเงิน เราเห็นว่างบประมาณจากประชาชนถูกนำไปใช้สอยในสถาบันกษัตริย์ จึงตั้งคำถามว่า ถ้าหากงบประมาณส่วนนั้นถูกนำไปใช้ให้เหมาะสม ตามความจำเป็น เช่น ระบบสาธารณูปโภค สาธารณสุข ขนส่งสาธารณะ หรือการศึกษา จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนได้แค่ไหน
การที่ถูกนำไปใช้กับครอบครัวเดียวมันดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ จึงเลือกเปรียบเทียบว่าจำนวนเงินมหาศาลขนาดนี้ สามารถนำไปพัฒนาประเทศได้ในส่วนไหนบ้าง
นั่นเป็นปราศรัยครั้งสุดท้ายก่อนการถูกจับกุมครั้งแรก ทราบมาว่าวันนั้นกำลังจะไปเรียน ตอนถูกควบคุมตัว คุณชูหนังสือ Common Sense นั่นต้องการจะสื่อถึงอะไร
จริงๆ หนูชอบพกหนังสือ หนึ่งเพราะยังอ่านไม่จบ สองคือพกไปถ่ายรูป (หัวเราะ) เราเคยทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่โรงแรมมาก่อน ก็จะรู้ว่าองค์ประกอบที่สวยควรจัดอย่างไร สมมุติไปนั่งร้านกาแฟ (ทำท่าจัดวางสิ่งของ)
หนูจะชอบจัดวางแก้วกาแฟไว้ขวามือ วางหนังสือตรงกลาง ระหว่างแจกัน แล้วถ่ายลงอินสตาแกรม เพราะเรารู้สึกว่าการถ่ายรูปหนังสือและอ่านมัน มันทำให้เราสามารถข้ามกรอบของสังคมที่เขาพยายามยัดเยียดให้เรา อย่างที่ชอบก็คือพวกหนังสือแปล เนื้อหามันก้าวหน้าด้วย
สำหรับ Common Sense พูดตรงๆ เนื้อหามันเป็นเสรีนิยมนะ แต่เราก็ไม่ใช่เสรีนิยม เราเป็นสังคมนิยม แต่ชอบหนังสือเล่มนี้ เพราะมันสามารถประยุกต์มาอธิบายสังคมไทยได้หลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นสถาบันกษัตริย์กับประชาชน หนังสือเล่มนี้สามารถช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แม้ว่าหนังสือจะเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 แต่บังเอิญกลับคล้ายคลึงกับบริบทของไทยถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ จนเหมือนมีจุดร่วม พอมันมีจุดร่วมก็เหมือนราวกับว่าเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว
แต่เล่มนี้หนูก็ไม่ได้ซื้อมานะ หนูไปออกรายการที่ 101 World อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ ที่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ก็บอกว่า “อยากได้เล่มไหนก็หยิบได้เลย” หนูก็เลยหยิบมาเลย 10 เล่ม หนึ่งในนั้นคือ Common Sense ที่เหลืออยู่เล่มสุดท้ายพอดี
มีตัวอย่างย่อหน้าที่ชอบบ้างไหม
วันที่หนูถูกควบคุมตัว หนูคัดเอาย่อหน้าที่หนูชอบบางส่วนมาอ่านให้ตำรวจฟังด้วย เช่นย่อหน้านี้ (อ่านให้ฟัง)
“…ดูก่อนท่านชราแล้ว บุตรของท่านก็ไม่ได้ดำเนินตามอย่างท่าน บัดนี้ขอให้แต่งตั้งกษัตริย์ขึ้นมานำเราเหมือนประชาชาติอื่นๆ ทั้งปวง ตรงจุดนี้ เราได้แต่ตั้งข้อสังเกตว่าพวกเขามีแรงจูงใจใฝ่ต่ำ กล่าวคือพวกเขาอยากเป็นเหมือนประชาชาติอื่นๆ ซึ่งหมายถึงชนนอกศาสนา ทั้งๆ ที่เกียรติศักดิ์อันแท้จริงพึงอยู่ที่การดำเนินตน ไม่เหมือนชนนอกศาสนาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ต่างหาก แต่เมื่อพวกเขากล่าวว่า ขอแต่งตั้งกษัตริย์ขึ้นมานำเรา ซามูเอลก็รู้สึกไม่พอใจ จึงอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า จงฟังทุกสิ่งที่พวกเขาบอกเถิด เพราะพวกเขาไม่ได้ทอดทิ้งเจ้า แต่ทอดทิ้งเรา และไม่ต้องการให้เราเป็นกษัตริย์ของพวกเขา”
ในบทนี้กล่าวถึงการสืบทอดทางสายเลือด โดยชี้ว่าปัจเจกชนแต่ละคนแยกขาดออกจากกัน แม้ว่าจะเป็นพ่อลูกกัน ก็ไม่มีทางเป็นคนคนเดียว คนหนึ่งอาจจะปฏิบัติแบบหนึ่ง ในขณะอีกคนอาจจะปฏิบัติอีกแบบ คนที่ปฏิบัติตัวไม่ดีก็ไม่อาจจะได้รับการยอมรับอยู่ดี
แต่เราตั้งคำถามต่อว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงที่เพียงเพราะเขาเป็นพ่อกับลูกแล้วปฏิบัติตัวไม่เหมือนกัน แต่ปัญหาคือโครงสร้างของระบบ monarchy คือระบบที่กดขี่โดยสมบูรณ์ต่างหาก เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แม้ว่าคนนั้นจะเป็นคนดีแค่ไหนก็ตาม แต่ระบบตรงนั้นไม่สามารถตรวจสอบได้ ความดีจะถูกจำลองออกเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นมา และถึงที่สุดระบบนั้นจะสืบต่อมาเรื่อยๆ
หนูเห็นว่าระบบที่เป็นมาไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนเท่ากัน มันเป็นโครงสร้างที่สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความแปลกแยก โดยพื้นฐาน กลุ่มของ monarchy ก็แปลกแยกจากคนธรรมดาอย่างเราๆ สิ่งที่เราต้องทำคือทำให้มันเท่าเทียมกัน หนูจึงไม่รู้ว่าคนก่อนหรือคนปัจจุบันดีหรือแย่กว่ากัน แต่คือทั้งระบบ
ในประเทศพัฒนาแล้วที่ยังมีกษัตริย์ หลักการ ‘The King Can Do No Wrong’ จึงสำคัญมากเพราะ The King Can Do Nothing ในประเทศที่พัฒนาไปไกลมากแล้ว แต่กรณีของไทยยังไม่เปลี่ยน ตั้งแต่สมัยคณะราษฎรแล้ว สถาบันฯ ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง
แต่การต่อสู้ครั้งนี้คนหนุ่มสาวก็เชื่อมโยงกลับไปที่คณะราษฎร
(ตอบทันที) สำหรับหนู โลกมันเปลี่ยนไปมากแล้วนะ โอเค คณะราษฎรก้าวหน้า คนอื่นอาจจะเชื่อมโยงตรงๆ แต่หนูมองว่าภูมิศาสตร์ทางการเมืองเปลี่ยนไปเยอะ มีขั้วอำนาจใหม่ อย่างอเมริกา จีน เยอรมนี มีสำนักพระราชวัง กองทัพ
แต่ในยุคนั้นเป็นยุคที่ราชสำนักตกต่ำ เศรษฐกิจแย่ แต่กลับมีการใช้งบประมาณแผ่นดินไปอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม ปัจจุบันสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีทรัพย์สินมหาศาลมากติดอันดับโลก และมีพระราชอำนาจเข้มแข็ง
ครั้งหนึ่งมีแคมเปญ #แบนSCB เห็นได้ชัดว่าทุนใหญ่ขนาดนั้นเขาไม่แคร์ บางคนทวีตบอกเลยว่า ใครอยากปิดบัญชีก็เอาบัตรประชาชนกับสมุดบัญชีมาปิดได้เลย และมาซ้ำกับช่วงที่คนไทยไม่เอาเงินออกมาใช้อยู่แล้วเพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ ทำให้กระแสเงินฝากสูง รายได้หลักของธนาคารมาจากการปล่อยกู้เงิน การให้สินเชื่อ และค่าธรรมเนียม นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาณาจักรธุรกิจ ยังไม่รวมบริษัทปูนขนาดใหญ่ เข้า Google ก็รู้ว่าใครถือหุ้นมากที่สุด
เราจึงรู้สึกว่าการเชื่อมกับคณะราษฎรอาจจะก้าวหน้า เราเห็นด้วย แต่พอพูดถึงเรื่องทุน ขุนศึก และศักดินา เราคิดว่ามันยากกว่ายุค 2475 มาก
เคยอ่านหนังสือของ เตียง ศิริขันธ์ บ้างไหม
เคยอ่านเรื่องเสรีไทยตอนปี 1 รู้สึกว่าเขาเท่มาก และมีความก้าวหน้าทางความคิดมาก มากกว่าคนในยุคหลังด้วยซ้ำ อาจจะเพราะว่าเราติดกับดักที่โตมาในสังคมทุนนิยม มีนิสัยของการบริโภคนิยมอยู่ แต่เมื่อคิดดูว่าในยุคนั้นเขามีข้อจำกัดหลายอย่าง เขายังขวนขวายหาความรู้ พาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมของความก้าวหน้า
หนูไม่รู้ว่าตอนนั้นเขาจะนิยามตัวเองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไหม แต่สังคมไทยอาจจะไม่เข้าใจการกระทำของเขา แต่คิดว่าเหตุร้ายที่ตามมาเพราะคนไม่เข้าใจ คือถ้าเข้าใจหลักการของคอมมิวนิสต์ มันไม่น่าจะเป็นปัญหา ประจวบเหมาะกับที่สหรัฐเข้ามามีบทบาท จึงหนุนรัฐบาลไทย เพราะกลัวล้มครืนตามทฤษฎีโดมิโน กลัวไทยเป็นคอมมิวนิสต์
อนุญาตให้ตัวเองต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไปถึงจุดใด
เคยคิดว่าอยากอยู่เฉยๆ บางทีอาจจะกลับไปเรียน เก็บเกรด ทำงาน เก็บเงิน แต่ตอนนี้เราไม่รู้ว่าชีวิตปกติต้องทำยังไงแล้ว เหมือนชีวิตเราต่อสู้มาตลอด เคยพยายามอยู่เฉยๆ สัก 2 วัน แต่แค่เพียงวันครึ่งก็ไม่ไหวแล้ว จากที่นอนเฉยๆ ก็อาบน้ำ แต่งตัว แต่งหน้า ออกไปคุยกับเพื่อนคนนั้นคนนี้เพื่อตรวจสอบความคิดของตัวเองกับเพื่อนๆ ทั้งที่สนิทและไม่สนิท เคยบอกเพื่อนว่า “มึง กูจะไม่ทำอะไรแล้วนะ กูจะอยู่เฉยๆ”
เพื่อนก็ถามว่า “แล้วมึงคิดเหรอ ว่ามึงจะอยู่ได้ แล้วถ้ามึงกลายเป็นคนอย่างแรมโบ้ มึงจะรับตัวเองได้เหรอ” (แรมโบ้ หรือ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีตแกนนำเสื้อแดงที่หันไปสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)
เราก็ลองนึกๆ ดู ก็ดาวน์ลง แล้วกลับมาคิดว่าในขบวนการต่อสู้ไม่ได้มีแค่เรา ยังมีอีกหลายคน แต่ละคนความคิดไม่เหมือนกัน แต่เรากลับคาดหวังให้คนอื่นคิดเหมือนเรา พอไม่ได้ดังใจ อาจทำให้เราบอบช้ำ จึงกลับไปที่พื้นฐานว่าเราทำเพราะอะไร เราทำเพราะเราอยากเห็นสังคมดีขึ้น อยากทำเพื่อให้ตัวเราในอีก 10-20 ปี สบาย ให้พ่อแม่เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่เราแก่ตายไปเปล่าๆ สิ่งที่อยากจะบอกคือ การต่อสู้ครั้งนี้เป็นสิ่งที่ทำได้และถูกต้อง และใครก็สามารถทำได้
เป็นวัยรุ่นที่ออกมาต่อสู้แบบนี้ ระหว่างทางเสียเพื่อนไปบ้างไหม
เยอะพี่ ถ้าเป็นเพื่อนในแง่เพื่อนการเมืองนะ เพราะต้องทำความเข้าใจเยอะ แล้วเราไม่มีเวลามานั่งอธิบายตัวเราให้คนอื่นฟัง เราปล่อยให้ความไม่เข้าใจลอยอยู่แบบนั้น ทำให้สังคมที่หนูอยู่ ซึ่งมีความคิดหลายแบบแตกต่างกัน อาจจะไม่เข้าใจ
แต่ในแง่หนึ่ง หนูเป็นเด็กต่างจังหวัดที่มาเรียนกรุงเทพฯ พื้นที่ท่าพระจันทร์ที่เรียนอยู่ก็เป็นพื้นที่ที่ความเหลื่อมล้ำมันเห็นได้ชัดเจนมากๆ เด็กนักศึกษาที่นี่จะเป็นชนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไป บ้านรวย ใช้ชีวิตสนุก อยากทำอะไรชีวิตก็อนุญาตให้ทำ ปิดเทอมไปเที่ยวต่างประเทศ หรือถ้าว่างๆ ก็ไปค่ายอาสาฯ มันไม่ใช่ภาพจำธรรมศาสตร์แบบที่ทุกคนเข้าใจ
แต่เด็กที่นี่ก็เข้าใจการเมืองมากขึ้น เข้าใจระบบ ที่มาของปัญหา ว่าที่เขาร่ำรวยมาได้ เขาก็ต้องผ่านระบบคอนเนคชั่น มันเลยทำให้เขาเข้าใจการเมือง
อย่างเพื่อนคนหนึ่งที่บ้านค้าขายกับบริษัทใหญ่ที่กินรวบในประเทศไทย เขาก็ต้องทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เขาก็เริ่มเข้าใจว่ามันไม่ใช่การเมืองแค่ระดับนักการเมือง แต่มันคือเรื่องทุน เส้นสาย คอนเนคชั่น เขาก็เข้าใจว่าการต่อสู้ของหนูไม่ได้ผูกโยงแค่เรื่องระบบการเมืองธรรมดา แต่พยายามเชื่อมการต่อสู้หลายอย่างไปพร้อมๆ กัน
เคยคิดว่าตัวเองจะเกมไหม
จริงๆ ทุกการปราศรัยของหนู แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงสถาบันฯ แต่ก็เป็นการพูดถึงโดยมีชุดข้อมูลมารองรับตลอด เพราะเรารู้ว่าถ้าไม่มีอ้างอิงเมื่อไหร่อาจจะเกม ที่เขาพูดว่า compromise หนูก็คิดว่ามีน้ำหนัก แต่ถ้าพูดตามตรงเขาก็ไม่มีสิทธิมาทำอะไรเรา ถ้าไม่โชคร้ายก็อาจจะไม่เกม แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจจะเกมได้
เห็นด้วยไหมว่าการต่อสู้รอบนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างคนสองยุค แล้วกาลเวลาจะทำให้คนรุ่นใหม่ชนะ
(นิ่งคิด) ความหมายของคำว่าชนะ ก็ต้องว่ากันอีกที หากหมายถึงจุดที่ 3 ข้อเรียกร้อง ได้รับการตอบสนองทุกข้อ ก็อาจจะเรียกว่าชนะ หรือถ้าต้องการมากกว่านั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หนูว่าทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะการเติบโตทางความคิดเกิดขึ้นในทุกๆ วัน สูงขึ้นทุกวัน สิ่งที่ทุกคนออกมาต่อสู้เรียกร้องมันกำลังขยายผล จึงไม่ได้หยุดแค่ชนะหรือแพ้
แต่มันกระจายเหมือนเกสรดอกไม้ที่ปลิวว่อนไปทั่ว สักวันหนึ่งก็น่าจะเห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ตอนนี้การต่อสู้ทำให้เห็นความหวัง
ในอีก 20 ปีข้างหน้า คิดว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร คุณจะทำอะไรอยู่ในเวลานั้น
อีก 20 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยน่าจะเปลี่ยนแปลงไปเยอะ แต่ปัญหาคือโครงสร้างที่มันล้มเหลวในประเทศไทยที่ฝังรากลึกมานานมาก โครงสร้างต่างๆ ทั้งเรื่องโครงสร้างงบประมาณ ระบบราชการ การศึกษา ถ้าอิงกับรัฐจะเปลี่ยนได้แค่ไหน แต่ถ้าอิงกับความก้าวหน้าของความคิดคนในสังคม เราคิดว่าก้าวหน้ามาก ทุกคนมีความฝัน และเขากำลังลงมือทำตามความฝัน
หนึ่งคนอาจจะไม่สำเร็จ แต่เมื่อหลายคนร่วมมือกันอาจจะทำให้ความฝันนั้นสำเร็จได้ อีก 20 ปี คิดว่าสภาพแวดล้อมระบบสังคมการเมืองจะดีขึ้น ส่งผลให้คนหลายๆ คนในประเทศนี้อยู่ได้อย่างมีความสุข เด็กที่เกิดมาสามารถมีความคิด มีความรักในสิ่งที่อยากจะทำ ไม่ได้ติดกรอบจารีตวัฒนธรรมเดิมๆ
และส่วนตัวหนู (มองไปนอกหน้าต่าง) ตอนนั้นคงแต่งงานและมีลูก แต่ถ้าไม่มีแฟนก็เคลื่อนไหวต่อไป (หัวเราะ)
บางคนชอบถามว่าถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังจะออกมาเรียกร้องไหม แต่หนูรู้สึกว่ายิ่งมีประชาธิปไตย เรายิ่งต้องพูด เพราะมันคือระบอบที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เรา