ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ดิ้นรนอันยืดเยื้อยาวนานที่ดำเนินมาตลอดเวลาในโลกยุคใหม่ระหว่างชาวอิสราเอลกับชาวปาเลสติเนียน ซึ่งเริ่มขึ้นระหว่างกลางศตวรรษที่ 20 ท่ามกลางความขัดแย้งในภาพรวมของภูมิภาคระหว่างโลกอาหรับกับประเทศอิสราเอล ประชาคมโลกได้มีความพยายามหลายครั้งเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพสำหรับอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และประเด็นปัญหาที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ความขัดแย้งที่ยากเข็ญที่สุดในโลก’ โดยที่อิสราเอลได้ยึดครองเขตเวสต์แบงค์กับฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องมานานแล้วเป็นเวลาถึงประมาณ 54 ปี
ดินแดนปาเลสไตน์ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีแม่น้ำจอร์แดนไหลผ่านด้านทิศตะวันออก ตั้งแต่ครั้งโบราณ ชาวอาหรับเผ่าคะนาอัน เป็นชนกลุ่มแรกที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ปาเลสไตน์ ตลอดช่วง 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ปาเลสไตน์เป็นศูนย์กลางของเส้นทางที่เชื่อมระหว่างสามทวีป ทำให้ดินแดนนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและวัฒนธรรมอันหลากหลาย และเป็นพื้นที่ของการสู้รบระหว่างอำนาจโบราณเพื่อแย่งชิงการปกครองมาตลอดช่วง 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช
หลังจากอียิปต์ ต่อมาคือพวกฮิบรู หรือเรียกได้ว่าชาวอิสราเอลยุคโบราณเข้ามาปกครองดินแดนอยู่ประมาณกว่าสองศตวรรษ ชาวฮิบรูได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ในบางส่วนของปาเลสไตน์ แต่ไม่สามารถครอบครองปาเลสไตน์ได้ทั้งหมด พวกเขาจึงรวบรวมหลายชนเผ่าของฮิบรูให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน
อำนาจบนดินแดนนี้เปลี่ยนมือมาตลอดหลายศตวรรษ นับจากพวกฮิบรู เป็นชาวซีเรีย อาณาจักรโรมัน และต่อมาคืออาณาจักรออตโตมัน แต่พลเมืองปาเลสติเนียนส่วนใหญ่คือชาวเชื้อสายอาหรับผู้ยึดถือขนบธรรมเนียมเดิมและศาสนาอิสลาม
รัฐสมัยใหม่ของอิสราเอลก่อตั้งขึ้นเมื่อ พฤษภาคม 1948 หรือเมื่อ 73 ปีก่อนนี้ ในช่วงหลังจากความหายนะมหาศาลจากพิษสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ความขัดแย้งที่โหมเดือดพล่านระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์นั้นสามารถสืบย้อนกลับไปได้อีกมาก
ยุคใหม่และกำเนิดลัทธิไซออนนิสม์
เรื่องราวของดินแดนปาเลสไตน์ในยุคสมัยใหม่อาจเข้าใจได้ว่าเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1799 เมื่อ นโปเลียน โบนาปาร์ต แม่ทัพฝรั่งเศสเคยเสนอให้ก่อตั้งถิ่นฐานของชาวยิวขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ หลังจากการสู้รบปิดล้อมเมืองเอเคอร์ในช่วงสงครามต่อต้านจักรวรรดิออตโตมัน ในที่สุดผู้บัญชาการของฝรั่งเศสก็พ่ายแพ้ในการศึกครั้งนั้น แต่ความพยายามของเขาในการสร้างฐานที่มั่นของชาวยุโรปขึ้นในดินแดนตะวันออกกลางได้รับการฟื้นฟูโดยอังกฤษในอีก 41 ปีต่อมา เมื่อ ลอร์ด พาลเมอร์สตัน (Lord Palmerston) รัฐมนตรีการต่างประเทศ เขียนจดหมายถึงทูตของเขาในนครอิสตันบูล กระตุ้นให้กดดันสุลต่านยอมเปิดดินแดนปาเลสไตน์ให้แก่ผู้อพยพชาวยิว เพื่อต่อต้านอิทธิพลของ โมฮัมเหม็ด อาลี ผู้ว่าการแห่งอียิปต์ ที่ครองอิทธิพลเหนือชาวมุสลิมในดินแดน
ขณะที่มีชาวยิวประมาณ 3,000 คนเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในปาเลสไตน์ในเวลานั้น ชนชั้นร่ำรวยผู้มอบเงินทุนบางคน เช่น บารอน เอ็ดมอนด์ เดอ รอธไชลด์ (Baron Edmond de Rothschild) ขุนนางชาวฝรั่งเศสเริ่มให้การสนับสนุนแก่คนอื่นทั่วไปจากยุโรปเพื่อเข้าร่วมกับพวกเขา แล้วเข้าผนึกกำลังกันตั้งถิ่นฐาน ที่โดดเด่นที่สุดคือชุมชน Rishon Le Zion ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1882
นักเขียนชาวออสเตรีย นาธัน เบิร์นบอม (Nathan Birnbaum) เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า ‘ไซออนนิสม์’ (Zionism) ในปี 1885 ขณะที่ชาวยิวโดยเฉพาะจากยุโรปตะวันออกจำนวนหนึ่งยังคงทยอยเดินทางมายังดินแดนปาเลสไตน์
หนังสือ The Jewish State ของ ดร.ธีโอดอร์ เฮอร์เซิล (Dr. Theodor Herzl) นักข่าวชาวออสเตรีย-ฮังการี ปรากฏขึ้นในอีกทศวรรษต่อมา โดยมีการจินตนาการถึงการก่อตั้งถิ่นฐานดังกล่าวพร้อมกับการมาถึงของศตวรรษที่ 20 แมกซ์ นอร์เดา (Max Nordau) เพื่อนของเฮอร์เซิล ส่งรับไบ (นักบวชยิว) สองคนไปยังพื้นที่ปาเลสไตน์เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของการมีโอกาสให้คนยิวเข้าเป็นผู้ครอบครองดินแดน แต่กลับมีรายงานตอบมาว่า “เจ้าสาวสวยมาก แต่เธอได้สมรสกับชายอีกคนไปแล้ว”
โดยไม่มีใครขัดขวาง เบิร์นบอม, เฮอร์เซิล กับ นอร์เดา ได้จัดให้มีการประชุมชาวลัทธิไซออนนิสต์ขึ้นครั้งแรกที่เมืองบาเซิล, สวิตเซอร์แลนด์ ปี 1897 เพื่อหารือเกี่ยวกับความฝันของพวกเขาที่จะก่อตั้งชาติยิวที่เป็นอิสระ และวางแผนที่จะล็อบบี้บรรดามหาอำนาจของยุโรปเพื่อให้บรรลุผล
ถิ่นฐานชาวยิวในแผ่นดินปาเลสไตน์
ภายในปี 1907 สหราชอาณาจักรกำลังพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องมี ‘รัฐกันชน’ ในภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อเสริมอำนาจการปกครองของตน
คาอิม ไวซ์มันน์ (Chaim Weizmann) ผู้นำไซออนนิสต์ชาวอังกฤษซึ่งเป็นนักชีวเคมีได้เดินทางมาถึงเยรูซาเล็มในช่วงเวลานี้เพื่อจัดตั้งบริษัทที่มีส่วนร่วมในการซื้อที่ดินใกล้เมืองยัฟฟา ภายในสามปีมีการซื้อที่ดินประมาณ 10,000 ดูนัม (ขนาดพื้นที่เก่าแก่มีเนื้อที่ประมาณเท่ากับเอเคอร์) ในเขตชุมชน มาร์จ บิน อเมอร์ (Marj Bin Amer) ทางตอนเหนือของปาเลสไตน์ แล้วบังคับให้เกษตรกรท้องถิ่น 60,000 รายย้ายออกไปเพื่อรองรับชาวยิวที่เดินทางมาจากยุโรปและเยเมน
กองกำลังอาสาสมัครชาวยิว Hashomer ได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องการตั้งถิ่นฐานที่มีจำนวนประชากรกำลังขยายตัว เภสัชกรชาวปาเลสติเนียน นาจิบ นัสซาร์ (Najib Nassar) ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Al-Karmel เพื่อส่งเสียงเตือนถึงสิ่งที่เขาคาดคิดว่านั่นคือกองกำลังเพื่อการล่าอาณานิคม
การปะทุของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้อังกฤษไม่ไว้วางใจชาวอาหรับ และหันไปเพิ่มความสนใจในการพัฒนาความสัมพันธ์กับพันธมิตรในปาเลสไตน์ อย่างน้อยก็เพื่อเสริมสร้างอิทธิพลที่มุ่งไปสู่คลองสุเอซ
มกราคม 1915 เฮอร์เบิร์ต ซามูเอล (Herbert Samuel) นักการเมืองพรรคเสรีนิยมได้ร่างบันทึกลับของเขาเรื่อง ‘อนาคตของปาเลสไตน์’ ซึ่งออกเผยแพร่ในหมู่คณะรัฐมนตรี และเขาได้สนับสนุนการผนวกรวมเขตแดนที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกัน และเพื่อให้ดินแดนเติบโตแล้วกลายเป็นรัฐยิวซึ่งปกครองตนเองภายใต้การคุ้มครองของจักรวรรดิอังกฤษ
คำแนะนำของซามูเอลได้ถูกนำมาหารือเป็นการส่วนตัวโดยสองนักการทูต เซอร์ มาร์ค ไซคส์ (Sir Mark Sykes) และ ฟรังซัวส์ จอร์จ-ปิโกต์ (Francois Georges-Picot) แห่งฝรั่งเศสในปีถัดมา นับว่าทั้งสองเป็นผู้สถาปนาข้อตกลง Sykes-Picot ซึ่งจัดแบ่งเขตอิทธิพลของอังกฤษกับฝรั่งเศสในกรณีที่การปกครองของอาณาจักรออตโตมันล่มสลายลง
รัฐบาลอังกฤษประกาศ ‘ปฏิญญาบัลโฟร์’ (Balfour Declaration) ตามมาเมื่อ 9 พฤศจิกายน 1917 โดยระบุอย่างเป็นทางการว่าสนับสนุนการจัดตั้ง ‘ถิ่นฐานแห่งชาติสำหรับชาวยิว’ ในปาเลสไตน์ หนึ่งเดือนต่อมา 11 ธันวาคม 1917 ทหารอังกฤษได้เข้ายึดครองนครเยรูซาเล็มอันศักดิ์สิทธิ์
การเมินเฉยต่อคำเตือน
หลังจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีและการสิ้นสุดของมหาสงครามครั้งแรกในยุโรป ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน (Thomas Woodrow Wilson) ของสหรัฐอเมริกาได้รับหน้าที่รายงานเกี่ยวกับภูมิภาคที่ไม่ใช่ตุรกีของอาณาจักรออตโตมันที่ล่มสลายไป ซึ่งจัดทำโดยนักวิชาการ ดร.เฮนรี คิง (Dr. Henry King) และ ชาร์ลส์ เครน (Charles Crane) พบว่าผู้คนเกือบร้อยละ 90 ไม่ใช่ชาวยิว ประชากรของปาเลสไตน์ “ออกแรงต่อต้านอย่างเห็นได้ชัด” ต่อโครงการของชาวไซออนนิสต์ ผู้รายงานเตือนถึงความรู้สึกที่รุนแรงและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าการอพยพของชาวยิวควรถูกจำกัดไว้ เพื่อผลประโยชน์ที่เด่นชัดของการมีสันติภาพในพื้นที่ แต่ถูกละเลยโดยประชาคมระหว่างประเทศ ข้อสรุปของพวกผู้เชี่ยวชาญถูกระงับไปจนถึงปี 1922
ในการประชุมสันติภาพปารีสปี 1919 พันโทลอว์เรนซ์ (T.E. Lawrence – ผู้ที่มีชื่อในตำนานว่าเป็น ‘ลอเรนซ์แห่งอาระเบีย’) เป็นสื่อกลางผู้ไกล่เกลี่ยในการลงนามในข้อตกลงระหว่างไวซ์มันน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำของคณะผู้แทนฃาวไซออนิสต์ กับเจ้าชายไฟซาล บิน ฮุสเซน (Prince Faisal bin Hussein) ตัวแทนชาวอาหรับซึ่งเห็นด้วยในหลักการของการก่อตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวยิวในปาเลสไตน์และชาติอาหรับอิสระในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ปี 1922 องค์การสันนิบาตชาติได้ยอมรับอาณัติของอังกฤษในการปกครองปาเลสไตน์ภายใต้เขตอำนาจของซามูเอล ซึ่งตอนนี้เป็นผู้บัญชาการระดับสูงซึ่งมีส่วนสำคัญในการออกกฎหมายอย่างน้อย 100 ฉบับ เพื่อเสริมสร้างสถานะของชาวยิวรวมถึงการยอมรับภาษาฮิบรูเป็นภาษาทางการ และอนุญาตให้แยกระบบการศึกษาของชาวยิวกับกองทัพของชาวยิว มหาวิทยาลัยฮิบรู และสหภาพแรงงานชาวยิว ก่อตั้งขึ้นภายในปี 1925
เมื่อหนึ่งทศวรรษผ่านพ้น การประท้วงหลายครั้งปะทุขึ้นเพื่อต่อต้านการอพยพของชาวยิว ขบวนการของชาวปาเลสติเนียนพยายามอย่างไร้ผลที่จะตอบโต้และต่อต้านสิ่งที่สมาชิกกลุ่มพิจารณาว่า เป็นการแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทหารและการทูตของจักรวรรดิบริเตน
ชาวปาเลสติเนียนชักธงสีดำขึ้นเสาเมื่อบัลโฟร์เดินทางไปเยือนกรุงเยรูซาเล็ม ชาวยิวและชาวอาหรับเกือบ 250 คนถูกสังหารและบาดเจ็บอีกจำนวนมากเมื่อสิงหาคม 1929 ที่กำแพงร่ำไห้ (Wailing Wall) ในโศกนาฏกรรมที่กลายเป็นที่รู้จักในนาม Buraq Revolt ชายมุสลิมสามคนถูกประหารชีวิตโดยทางการอังกฤษเนื่องจากมีส่วนในเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมของผู้ปกครองโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยับยั้งการลุกฮือขึ้นสู้
แต่การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปจนถึงขั้นสูงสุดในปี 1933 เนื่องจากมีผู้อพยพชาวยิวจำนวนมากขึ้นเดินทางมาแสวงหาที่อยู่อาศัย การไหลบ่าเข้ามาเพิ่มขึ้นจาก 4,000 คนในปี 1931 เป็น 62,000 คนในปี 1935 ในปีเดียวกันนั้น ชีค อิซ แอด-ดิน อัล-กัสซาม (Sheikh Izz ad-Din al-Qassam) ผู้นำการปฏิวัติมุสลิม ถูกทหารอังกฤษยิงเสียชีวิตที่เนินเขาเหนือเมืองเจนนิน
ปี 1936 ความรุนแรงของการต่อต้านการปกครองอาณานิคมของอังกฤษที่บังคับใช้ปฏิญญาบัลโฟร์กับประชาชนในพื้นที่ซึ่งก่อความชิงชังอย่างหนัก ทำให้มีการนัดหยุดงานทั่วไปเป็นเวลาหกเดือนซึ่งส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้เกิดมาตรการโต้ตอบด้วยการทำลายบ้านที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสติเนียน
สงครามนองเลือดอาหรับ-อิสราเอล
โลกภายนอกปาเลสไตน์ตกอยู่ในสงครามอีกครั้ง เมื่อปี 1939 หลายประเทศเข้าต่อสู้กับนาซีเยอรมนีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งในท้ายที่สุด อาณาจักรไรค์ที่สามได้ลงมือประหัตประหารชาวยิวไปกว่าหกล้านคนในค่ายกักกัน
ไม่นานหลังจากการเข้าสู่สงครามของสหรัฐอเมริกา ความสัมพันธ์อเมริกัน-ไซออนนิสต์เกิดการประสานกันขึ้นด้วยการประชุมปี 1942 ที่โรงแรมบิลต์มอร์ ในนครนิวยอร์ค ซึ่งมีขึ้นในขณะที่กองกำลังชาวไซออนนิสต์ ที่รู้จักกันในชื่อ ‘เออร์กุน’ (Irgun) ที่ได้รับก่อตั้งในดินแดนปาเลสไตน์เริ่มเข้าโจมตีกลุ่มของชาวอาหรับในท้องถิ่น
ต่อมาเออร์กุนกลายเป็นข่าวฉาวโฉ่จากการก่อเหตุระเบิดโรงแรม คิง เดวิด ในเยรูซาเล็มเมื่อ 22 กรกฎาคม 1946 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 91 คน และการสังหารหมู่ที่ เดียร์ ยัสซิน เมื่อ 9 เมษายน 1948 ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยร่วมมือกับองค์กรลีไฮ (Lehi หรือ แก๊งสเติร์น — Stern Gang) ซึ่งทำให้ 107 คนเสียชีวิต
ระหว่างฤดูร้อนนั้นหน่วยลีไฮ ได้ลอบสังหาร โฟลกี แบร์นาด็อต (Folke Bernadotte) นักการทูตชาวสวีเดนที่องค์การสหประชาชาติส่งมายังปาเลสไตน์เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
หลังจากชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในสมรภูมิยุโรปและแปซิฟิกในปี 1945 ประเทศมหาอำนาจของโลกต่างหันมาให้ความสนใจเพื่อหาทางยุติความรุนแรงในปาเลสไตน์
การแก้ปัญหาโดยให้มีสองรัฐสำหรับดินแดนที่มีข้อพิพาทเกือบจะเกิดขึ้นในปี 1947 เมื่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้จัดให้ลงมติที่ 181 โดยสมัครใจ ซึ่งเสนอให้แบ่งเขตรัฐใหม่จากดินแดนปาเลสไตน์ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน โดยมอบแก่ชาวยิวที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งแก่ชาวอาหรับ
มติดังกล่าวได้รับการรับรองหลังจากการลงคะแนนโดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผลมาจากแรงกดดันทางการทูตจากสหรัฐ แต่ชาวปาเลสติเนียนบอกปฏิเสธ ซึ่งพวกเขาโต้แย้งว่าชาวยิวเป็นเจ้าของที่ดินไม่เกินร้อยละ 5.5 ในเวลานั้น และไม่น่าจะมีสิทธิได้รับถึงร้อยละ 56 นอกเหนือจากความชอบธรรมระหว่างประเทศที่แถมให้มาด้วย การฉลองของชาวยิวต้องมาเจอเข้ากับความเป็นปรปักษ์ของชาวอาหรับ แล้วสงครามกลางเมืองก็ปะทุขึ้นตามมา
อย่างไรก็ตามรัฐอิสราเอลก็ก่อตั้งขึ้นจนได้ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เดวิด เบน-กูเรียน (David Ben-Gurion) เมื่อ 14 พฤษภาคม 1948 โดยสิ้นสุดการอยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ แล้วได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตในทันที แต่กระตุ้นให้เกิดการปะทุของสงครามนองเลือดอาหรับ-อิสราเอล ซึ่งมีนักรบ 3,000 คน ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับชาติก่อตั้งใหม่ สภาพสงครามบังคับให้ชาวปาเลสติเนียน 700,000 คนอพยพหนีการสู้รบ โดยแสวงหาที่หลบภัยในจอร์แดน เลบานอน ซีเรีย เวสต์แบงค์ และฉนวนกาซา โดยไม่ค่อยมีผู้ใดได้รับสัญชาติของประเทศเหล่านั้น
การพลัดถิ่นของชาวปาเลสติเนียนในวันดังกล่าวยังคงมีการรำลึกถึงทุกปีในวัน ‘Nakba Day’ ซึ่งตั้งชื่อตามคำภาษาอาหรับว่า ‘หายนะ’ ที่ชาวปาเลสติเนียนลุกขึ้นกล่าวปราศรัย จัดการชุมนุม และชูพวงกุญแจบ้านหลังที่พวกเขาถูกบังคับให้หนีออกมาแล้วทิ้งมันไว้เบื้องหลัง และยังคงหวังว่าจะได้กลับไปอยู่อาศัยอีก
บ้านที่กลับไม่ได้ และปาเลสไตน์ที่รอวันปลดปล่อย
ธันวาคม 1948 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติที่ 194 โดยตระหนักว่าชาวปาเลสไตน์ “ที่ต้องการกลับไปสู่ถิ่นฐานเดิมและอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติควรได้รับสิทธิในการดำเนินการดังกล่าวโดยเร็วที่สุด” แต่อิสราเอลปฏิเสธแนวคิดนี้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อลักษณะเฉพาะของชาวยิวในรัฐใหม่ อีกหนึ่งปีต่อมาสมัชชานี้ได้จัดตั้งหน่วยงานบรรเทาทุกข์และการทำงานแห่งสหประชาชาติ (UNRWA) ขึ้นสำหรับช่วยผู้ลี้ภัยชาวปาเลสติเนียนในเขตตะวันออกใกล้เพื่อสนับสนุนผู้พลัดถิ่นต่อไป
ในระหว่างสองเหตุการณ์นั้น อิสราเอลได้ลงนามในข้อตกลงสงบศึกกับเพื่อนบ้านในเลบานอน ซีเรีย จอร์แดน และอียิปต์
จอร์แดนเข้าควบคุมการบริหารของเขตเวสต์แบงค์ในปี 1950 และอียิปต์ยึดครองฉนวนกาซาซึ่งเป็นข้อตกลงที่จะดำเนินมาจนกระทั่งถึงสงครามหกวันในปี 1967 เมื่อกองกำลังทหารอิสราเอลเข้าพิชิตดินแดนเหล่านั้นได้
ก่อนหน้านั้นความรุนแรงยังคงมีอยู่ประปราย การสังหารหมู่ชาวปาเลสติเนียนที่อื้อฉาวอย่างมากเกิดขึ้นที่หมู่บ้าน Qalqilya, Kufr Qasim และ Khan Yunis ในปี 1956 และใน As-Samu ในปี 1966
‘องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์’ (Palestinian Liberation Organisation – PLO) ได้รับการก่อตั้งขึ้นในกรุงไคโรเมื่อปี 1964 พร้อมกับคำประกาศอุทิศตนต่อสู้เพื่อ ‘ปลดปล่อยปาเลสไตน์’ ผ่านการปฏิวัติด้วยอาวุธ แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นด้านสิทธิพลเมือง ท่าทีของ PLO ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนถึงปี 1993 และถูกนับว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายโดยทั้งอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา แต่ได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวแทนของชาวปาเลสติเนียนโดยสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ตั้งแต่ปี 1974
ในสงครามปี 1967 การรุกคืบทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซา เขตเวสต์แบงค์ ที่ราบสูงโกลัน และทะเลทรายไซนายของอียิปต์ จุดประกายการนองเลือดครั้งใหม่ และทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติผ่านมติ 242 สั่งให้อิสราเอลถอนตัวออกจากดินแดนที่พิจารณาว่าเป็นการยึดครอง แต่มติของคณะมนตรีถูกเพิกเฉย
หลังจากเหตุการณ์สู้รบกับทหารปาเลสไตน์ในจอร์แดนต่อมาในเหตุการณ์ ‘กันยายนทมิฬ’ (Black September) เมื่อปี 1970 คณะมนตรีความมั่นคงลงมติที่ 338 เรียกร้องให้หยุดยิง และเรียกร้องให้อิสราเอลถอยห่างออกจากการรุกรานปี 1967 อีกครั้ง และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่อิสราเอลปฏิเสธ
30 มีนาคม 1976 การยึดครองที่ดินของอิสราเอลประสบกับการลุกฮือ การนัดหยุดงาน และการตอบโต้อย่างรุนแรงในเมืองต่างๆ ตั้งแต่ทะเลกาลิลี ไปจนถึงทะเลทรายเนเกฟ ซึ่งเป็นวันที่ชาวปาเลสติเนียนระลึกถึงตลอดมาในฐานะ ‘วันแผ่นดิน’ (Land Day)
จาก จิมมี คาร์เตอร์ ถึง โดนัลด์ ทรัมป์
ความก้าวหน้าอันชัดเจนเพื่อสันติภาพในตะวันออกกลางเกิดขึ้นเมื่อ 17 กันยายน 1978 เมื่อนายกรัฐมนตรี เมนาเชม เบกิน (Menachem Wolfovich Begin) ของอิสราเอลพบกับประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต (Muhammad Anwar al-Sadat) ของอียิปต์ เพื่อลงนามในความตกลงแคมป์เดวิด ที่สถานพักผ่อนของประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ในมลรัฐแมรีแลนด์ หนึ่งในกรอบข้อตกลงคือการประสานความสัมพันธ์ที่กลมกลืนระหว่างทั้งสองชาติ และทำให้ผู้ลงนามทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีข้อเกี่ยวข้องกับอนาคตของดินแดนที่มีข้อพิพาทในปาเลสไตน์ ต่อมาก็ถูกสหประชาชาติประณามเนื่องจากได้ทำข้อตกลงไปโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของคณะผู้แทนปาเลสไตน์
อิสราเอลบุกเลบานอนปี 1982 ขณะที่การลุกฮืออินทิฟาดา (Intifada) ครั้งแรก ในดินแดนปาเลสไตน์ปะทุขึ้นต้านทานการยึดครองในช่วงปลายทศวรรษ อย่างไรก็ตามขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นต่อไปสู่สันติภาพเกิดขึ้นเมื่อ PLO ยอมรับมติของสหประชาชาติที่ 242 และ 338 โดยยอมรับอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับรัฐอิสราเอล การพูดคุยหยุดชะงักอีกครั้งในปี 1991 และ 1992 โดยไม่มีมติอย่างใด
จากนั้นในฤดูร้อนปี 1993 ความตกลงออสโลครั้งที่ 1 (Oslo I Accord) ได้รับการลงนามโดยนายกรัฐมนตรี ยิตซัค ราบิน (Yitzhak Rabin) ของอิสราเอล กับ ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) ประธาน PLO เพื่อก่อตั้งหน่วยปกครองตนเองชั่วคราวของปาเลสติเนียน ‘หน่วยงานแห่งชาติปาเลสไตน์’ (Palestinian National Authority) และการถอนกองกำลังทหารอิสราเอลออกจากโซนที่ยังถือว่าเป็นการยึดครองอย่างกว้างขวาง ข้อตกลงออสโลครั้งที่ 2 (Oslo II) ตามมาในปี 1995 ซึ่งให้สิทธิการปกครองตนเองของชาวปาเลสติเนียนในบางส่วนของเวสต์แบงค์และฉนวนกาซา แต่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ไม่ได้เสนอความเป็นรัฐให้แก่ชาวปาเลสติเนียน
การพักรบที่ค่อนข้างอ่อนไหวดำเนินอยู่จนกระทั่งในวินาทีที่นักประท้วง Intifada พิจารณาเห็นว่าอิสราเอลกลับมายึดครองเขตเวสต์แบงค์ในปี 2002 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ล่อแหลมอาจจะเลวร้ายลงอีกเนื่องจากการเสียชีวิตของอาราฟัตในปี 2004 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อแนวทางเพื่ออนาคตของชาวปาเลสติเนียน
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความรุนแรงก็หวนกลับมาอีกเป็นครั้งคราว อิสราเอลประกาศสงครามกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอน ปี 2006 และเริ่มการโจมตีกลุ่มฮามาส (Hamas) ในฉนวนกาซาซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงปฏิบัติการทางทหารหลายครั้ง เช่น Operation Cast Lead (2008), Operation Pillar of Defense (2012) และ Operation Protective Edge (2014) ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกใน ‘วันนัคบา’ ทั้งของปี 2017 และ 2018 ซึ่งรุนแรงมากพอที่จะได้รับการสอบสวนว่าเข้าข่ายอาชญากรรมสงครามโดยหน่วยงานของสหประชาชาติ
การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2017 ยิ่งทำให้สถานการณ์ในปาเลสไตน์สั่นคลอนยิ่งขึ้นไปอีก โดยอดีตดาราโทรทัศน์เรียลลิตี้โชว์มาตีสนิทกับ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และยังได้สั่งให้ย้ายสถานทูตสหรัฐจาก เทลอาวีฟไปยังเยรูซาเล็ม เพื่อเป็นการแสดงท่าทียอมรับว่าเมืองนี้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ก่อนที่จะระบุว่าที่ราบสูงโกลันเป็นดินแดนของอิสราเอล เพื่อต่อต้านฉันทามติระหว่างประเทศในวงกว้างที่ว่าพื้นที่บริเวณนี้ถูกผนวกดินแดนอย่างผิดกฎหมาย
ทรัมป์ยังได้ตัดลดเงินทุนของสหรัฐให้แก่องค์การ UNRWA และได้กระทำการแบบเสียสติที่มอบหมายให้ จาเร็ด คุชเนอร์ (Jared Kushner) ลูกเขยชาวยิวของเขาเป็นผู้พัฒนาแผนการที่จะนำสันติสุขมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นเยาว์คนนี้มั่นใจว่าเขาสามารถทำได้โดยปราศจากอคติ เนื่องจากได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องมาแล้วไม่ต่ำกว่า 25 เล่ม
ความตึงเครียดที่ต่อมาปะทุขึ้นอีกครั้งในฉนวนกาซาในช่วงเวลานี้ และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากการโจมตีด้วยจรวดที่ฝ่ายอิสราเอลและฮามาสกระหน่ำเข้าใส่กัน เป็นเพียงผลกระทบล่าสุดของความบาดหมางต่อเนื่องที่ยังคงทำลายล้างภูมิทัศน์แห่งประวัติศาสตร์ที่ถูกบั่นทอนฉีกขาดเนื่องจากการหลั่งเลือดของทุกฝ่าย
อ้างอิง
- Palestine
- www.fox23.com/news
- www.independent.co.uk/news/world