เห็น Documentary Club ประกาศฉาย The Leopard เมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 ว่าแล้วก็รื้อตู้ดีวีดีบ็อกซ์เซ็ตออกมาดูใหม่ในทันใด
มีคนถามเสมอว่าคุณธิดาเป็นอะไรกับผม เป็นลูกพี่ลูกน้องครับ เป็นลูกสาวของอาสาม (ซาเจ็ก) สมัยที่คุณธิดายังเด็กๆ เธอสวยน่ารักมากมาย หน้าตาหมวยใสจิ้มลิ้มสุภาพเรียบร้อยเป็นที่หนึ่ง
อาสามเป็นคุณอาที่ดีกับผมสม่ำเสมอ ตอนที่สมัครไปเป็นแพทย์ฝึกหัดจังหวัดเชียงรายซึ่งไม่เคยมีแพทย์ฝึกหัดมาก่อนเลย มีวันหนึ่งขณะทำงานอยู่ห้องฉุกเฉิน พนักงานเปลเดินมาแจ้งว่ามีคนมาหาจึงออกไปดูพบว่าเป็นอาสาม
อาสามเอาสเตริโอพร้อมเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทพานาโซนิกใหม่เอี่ยมมาให้ เป็นสมบัติล้ำค่ามากเวลานั้น วันนี้เครื่องมีอายุ 41 ปีแล้วยังใช้อยู่ฟังวิทยุได้อยู่ เราเป็นเจเนอเรชันของไม่เสียไม่ทิ้งไม่ซื้อใหม่
ช่างน่ารำคาญเสียจริงอย่างที่เขาว่า
แต่ว่าแตะกันไม่ได้เลยนะขอรับ ทัวร์ลงดรามาขึ้นเฉย เวลาพอเหมาะพอเจาะกับการชวนดูหนังไม่เห็นเคยสตรีมเรื่องนี้ The Leopard เฮือกสุดท้ายของชนชั้นสูง
เป็นหนังอิตาลี ปี 1963 กำกับโดย ลูชิโน วิสคอนตี (Luchino Visconti) สร้างจากหนังสือปี 1958 เขียนโดย จูเซปเป โทมาซี ดิ ลัมเปดูซา (Giuseppe Tomasi di Lampedusa) ซึ่งเป็นหนังสือขายดีเวลานั้น เมื่อทำเป็นหนังยาว 3 ชั่วโมงกว่าออกฉายก็หักปากกาเซียนที่หมิ่นว่าทำไม่ได้แน่นอน
หนังทำรายได้และได้รับคำชื่นชมล้นหลามตลอดมา เป็นหนึ่งในหนังที่เป็นสมบัติของชาติไปเฉย ทั้งที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะถอดความหนังสือออกมาหมดจดเพียงนี้ อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องอยู่บ้างบางตอน
ผู้เขียนถึงแก่กรรมก่อนที่หนังจะออกฉาย
นักวิจารณ์บางคนถึงกับว่านี่คือต้นเรื่องของ The Godfather ที่ซึ่งเหตุการณ์พาดพิงซิซิลีอยู่ทุกภาค และบางคนว่าทีมสร้าง The Godfather รวมทั้งดนตรีประกอบก็ได้รับทั้งอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้
ที่น่าแปลกใจคือผู้กำกับลูชิโน วิสคอนติเป็นชนชั้นสูงของอิตาลี แต่เขาก็เป็นพวกหัวก้าวหน้าตั้งแต่ต้น ในดีวีดีฉบับ Criterion Collection ที่ผมนั่งดูมีสเปเชียลฟีเจอร์เผยเบื้องหลังมากมาย ทีมงานคนหนึ่งถึงกับบอกว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ การที่คนอย่างเขามาสร้างหนังเล่าเรื่องวาระสุดท้ายของชนชั้นสูงในซิซิลีจึงเป็นอะไรที่ต้องติดตาม
มันกว่านั้นคือ เบิร์ต แลงคาสเตอร์ (Burton Lancaster) แสดงนำ “เอาแกงสเตอร์อเมริกันมาเล่นเป็นขุนนางซิซิลีเนี่ยนะ!” ผู้กำกับโวยวายในตอนแรกก่อนจะเป็นสหายในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ยังมีอเลน เดอลอง (Alain Delon) และ คลอเดีย คาร์ดินัล (Claudia Cardinale) สมัยที่ยังหล่อสวยระเบิด
เบิร์ต แลงคาสเตอร์ พูดอเมริกัน อเลน เดอลอง พูดฝรั่งเศส สาวสวย คลอเดีย คาร์ดินัล พูดได้ทุกภาษา “ชั้นต้องพูดอเมริกันกับเบิร์ต พูดฝรั่งเศสกับอเลน แล้วหันมาพูดอิตาเลียนกับนักแสดงคนอื่นๆ” เธอกล่าวติดตลกในบทสัมภาษณ์หลายปีให้หลัง
ใช่แล้ว นี่เป็นหนังที่ใช้เสียงพากย์อิตาเลียนให้แก่ตัวเอกถึง 2 คน มิใช่อิตาเลียนธรรมดาแต่เป็นถึงซิซิเลียน
เบิร์ต แลงคาสเตอร์ รับบทเจ้าชายแห่งซาลีน่า ฟาบริซิโอ คอร์เบรา เป็นขุนนางสูงอายุที่กำลังเผชิญเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของอิตาลีที่มีชื่อเรียกว่า Risorgimento (Unification of Italy) เมื่อปี 1861 เขาพาครอบครัวใหญ่และทรัพย์สมบัติขึ้นขบวนรถม้าลี้ภัยสงครามกลางเมืองไปซิซิลี
หลานชายของเขา เจ้าชายแทนเครดี ซึ่งรับบทโดย อเลน เดอลอง เข้าด้วยพวก จูเซปเป การีบัลดี [Giuseppe Garibaldi (1807-1882)] กองกำลังรวมชาติของการิบัลดีสวมเสื้อสีส้มเป็นที่รู้กันและถูกเรียกขานในหนังว่าพวกเสื้อส้ม ซึ่งหลังจากที่พวกเสื้อส้มได้รับชัยชนะแล้วเรื่องยุ่งยากของอิตาลีก็ไม่จบ ยังคงมีความแตกแยกทางความคิด ในเวลาไม่นานเจ้าชายแทนเครดีก็เปลี่ยนข้างอีกครั้งหนึ่ง เขาพักรบแล้วเดินทางมาพบเจ้าชายแห่งซาลีน่าที่ซิซิลี
ที่นี่เองเจ้าชายแทนเครดีพบรัก แอนเจลิกา เซดารา รับบทโดย คลอเรีย คาดินัล เป็นลูกสาวคนสวยของดอนคาโลเจโรแห่งซิซิลี สองหนุ่มสาวมั่นหมายกันอย่างรวดเร็ว เวลานั้น อเลน เดอลอง อายุ 28 ปี ส่วนคลอเดีย คาดินัล อายุ 30 ปี นับเป็นคู่พระคู่นางสุดแสนเพอร์เฟ็กต์ตามท้องเรื่องเสียจริงๆ แต่สถานะทางสังคมของคนทั้งสองต่างกันอย่างไร เห็นได้จากฉากงานเลี้ยงอาหารหรูหรา เมื่อแอนเจลิกาปล่อยเสียงหัวเราะดังลั่นหยุดไม่ได้กลางโต๊ะอาหารกับขำขันของเจ้าชายแทนเครดี
หนังสื่อเป็นนัยถึงสถานะทางสังคมของชาวซิซิเลียน ฉากที่เจ้าชายและสาวเจ้าวิ่งเล่นซ่อนรักกันอย่างหวานชื่นแสดงให้เห็นถึงความโอฬารของอาคารสถานที่ ห้องหับแต่ละห้องกว้างขวางเหลือเชื่อ เพดานก็อยู่สูงมาก ยังไม่นับภาพเขียนขนาดใหญ่ที่งดงามเลอค่าถูกทิ้งพิงไว้ข้างกำแพงไม่มีใครใยดี ตู้เสื้อผ้ายิ่งไม่ต้องพูดถึง ประหนึ่งจะบอกว่าครั้งหนึ่งนานมาแล้วซิซิลีเป็นของใครและยิ่งใหญ่เพียงใด
ฉากจบ 40 นาทีคืออะไรที่เราไม่เคยเห็น เป็นฉากงานเลี้ยงหรูหราในยามค่ำคืน กล้องถ่ายทำจากระยะไกลครอบคลุมทั้งแชนเดอเลียร์ บันไดโค้งสูงสง่า วงดนตรี และงานเต้นรำหรูหราไม่จบสิ้น ไม่เคยเห็นฉากเต้นรำสเกลระดับนี้จากหนังเรื่องไหนๆ ได้อีก
หากจะมีอะไรที่หลุดไป The Godfather ทั้งสามภาคอย่างหนึ่งก็คือ ฉากงานเต้นรำตอนต้นเรื่องของทั้งสามภาคนั้นเอง
ที่งานเลี้ยงเต้นรำ เจ้าชายแห่งซาลีน่า ฟาบริซิโอ คอร์เบรา รู้ว่านี่เป็นวาระสุดท้ายของเขา ครอบครัวของเขา และสถานะของชนชั้นสูงของเขา เป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้เดินทักทายผู้คนไม่หยุดหย่อนตลอดทั้งคืนแบบนี้อีก เขาหยุดที่ภาพเขียนแสดงวาระสุดท้ายของชายวัยกลางคนคนหนึ่งนอนอยู่ท่ามกลางลูกหลาน จะมีลูกหลานคนไหนเล่าที่เห็นชีวิตมีความหมาย มีความมุ่งมั่น หรือมีเจตจำนงสู่อนาคตใหม่
ไม่มี