ภายหลัง สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้มีมติอนุญาตให้กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ควบรวมธุรกิจกับบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเท็ม จำกัด ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า เทสโก้ โลตัส จำกัด ไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 นั้น จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของคำวินิจฉัยการอนุญาตควบรวมกิจการของ กขค. นอกจากข้อสรุปของคำวินิจฉัยที่ปราศจากเหตุผลต่อการสนับสนุนคำตัดสินอย่างชัดเจน
ขณะที่สังคมยังรอคอยคำวินิจฉัยฉบับเต็มจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าต่อกรณีควบรวมกิจการเทสโก้ โลตัส ทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ถอดบทเรียนซีพี ควบรวมเทสโก้: ใครได้ใครเสีย’ ขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทุกๆ ทางต่อผู้บริโภคภายหลังการควบรวมกิจการโดยกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)
เบื้องต้น ศิริกัญญา ตันสกุล ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล บอกกล่าวถึงผลการประชุมกับเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าไว้ว่า ข้อถกเถียงในการประชุมเมื่อวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หลักใหญ่ใจความจะมุ่งไปที่นิยามความหมายของขอบเขตตลาดเพื่อจะตอบคำถามร่วมกันว่าการควบรวมกิจการของซีพี-เทสโก้ในครั้งนี้เท่ากับการควบรวมตลาดทั้งหมดด้วยหรือไม่
โดยตัวแทนของ กขค. แบ่งตลาดออกเป็น 2 ตลาดใหญ่ๆ คือ ตลาดค้าส่งกับตลาดค้าปลีก โดยตลาดค้าส่งจะมีผู้เล่นอยู่ 2 ราย คือห้างแมคโครกับผู้ค้าส่ง ขณะที่ตลาดค้าปลีกจะแบ่งออกเป็นสามตลาดย่อย คือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และคอนวีเนียนสโตร์ ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายหลังการควบรวมจะมุ่งไปที่ตลาดคอนวีเนียนสโตร์เป็นหลัก เพราะว่าหากดูตลาดค้าส่ง ก่อนหรือหลังการควบรวม ผู้เล่นเจ้าใหญ่ก็ยังคงเป็นของห้างแมคโคร ขณะที่ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต เจ้าใหญ่ก่อนการควบรวมคือเทสโก้ โลตัส ภายหลังการควบรวมก็ยังคงเป็นเทสโก้ โลตัสเหมือนเดิม เช่นเดียวกันกับตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตที่เจ้าใหญ่ คือ ท็อปส์ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายหลังการควบรวม
ทว่าตลาดคอนวีเนียนสโตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนภายหลังการควบรวมนั้น เป็นเพราะว่าเจ้าตลาดอันดับหนึ่งก่อนการควบรวม คือ เซเว่น-อีเลฟเว่น ของซีพี ออลล์ บริษัทในกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขณะที่อันดับสองคือ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ในเครือโลตัส ซึ่งเมื่อควบรวมกิจการแล้ว ทั้งอันดับหนึ่งและอันดับสองในตลาดคอนวีเนียนสโตร์นี้จะอยู่ในการควบคุมของกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่ข้อกังวลที่ว่าการควบรวมกิจการในครั้งนี้จะเป็นการกีดกันเข้าสู่ตลาดจากผู้เล่นรายอื่น เช่น แฟมิลี่มาร์ท ออกไปหรือไม่?
ทั้งนี้ ศิริกัญญาได้เสนอแนวทางสำหรับผู้บริโภคเอาไว้ว่า ในระยะสั้น อาจให้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ขณะที่ในระยะกลาง คือใช้กลไกของกรรมาธิการสภาเพื่อติดตามตรวจสอบการกำกับดูแลตลาดของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าอย่างใกล้ชิด และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่ออุดช่องโหว่ต่างๆ หลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ สร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล กลไกที่จะสนับสนุนการฟ้องคดีโดยประชาชน (class action)
“กรณีนี้จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญ เป็นเครื่องชี้ว่าการยกเครื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้าจะเป็นความสูญเปล่าหรือไม่ จะสามารถลบภาพเสือกระดาษ และกู้คืนวิกฤติศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์กรด้านการแข่งขันทางการค้าในการต่อต้านการผูกขาดของไทยได้หรือไม่”
ขณะที่ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Biothai) แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากการควบรวมกิจการผ่านงานวิจัยไว้ว่า แม้ขอบเขตตลาดจะแบ่งผู้เล่นออกเป็นค้าส่งกับคอนวีเนียนสโตร์ แต่ในส่วนของตลาดของแมคโครและเซเว่น-อีเลฟเว่นนั้น นับเป็นตลาดเดียวกัน หรือที่เรียกว่า โมเดิร์น ฟู้ด ดีเทลเลอร์ คือ ตลาดอาหารนั่นเอง แม้หน่วยย่อยในการจับจ่ายสินค้าจะแตกต่าง แต่สินค้าที่ปรากฏในตลาดทั้งสองมีความเหมือนกัน
“ซึ่งการวิเคราะห์อันนี้ นับว่ามีความสำคัญมากๆ นะครับ ถ้าไปฟังการแถลงของคณะกรรมการเสียงข้างน้อยที่มีคีย์เวิร์ดอย่างชัดเจนคำหนึ่ง คือ การควบรวมกิจการครั้งนี้จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ใช้คำนี้ด้วย และคำหนึ่งที่พูดต่อเนื่องเชื่อมโยงไป เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ มีบทบาทอยู่ในกระบวนการผลิตสินค้าและอาหารอยู่ตลอดห่วงโซ่”
วิฑูรย์ยังวิเคราะห์ต่ออีกว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้ เกิดขึ้นในปี 2563 ภายใต้การออกกฎหมายของ สนช. ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งก่อนการควบรวมกิจการ ยังพบการผูกขาดจากเจ้าตลาดรายใหญ่ ซึ่งทำให้เมื่อการควบรวมกิจการเกิดขึ้นยิ่งกลับเป็นการเพิ่มระดับการผูกขาดที่มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การอนุญาตให้ควบรวมกิจการคราวนี้ โดยที่บริษัทมีบทบาทอยู่ในขั้นตอนการผลิตอาหารตลอดห่วงโซ่จะส่งผลกระทบยิ่งไปกว่าตลาดค้าปลีกในส่วนของคอนวีเนียนสโตร์ เพราะคำถามสำคัญ คือ หากบริษัทสามารถผลิตสินค้าที่สามารถส่งขายตลาดได้เอง บริษัทนั้นๆ จะปล่อยให้สินค้าของบริษัทคู่แข่งหรือบริษัทรายย่อยอื่นเข้ามาแข่งขันในตลาดเดียวกันกับเขาไหม?
“ถ้าใครเคยฟังสัมภาษณ์ของประธานบริษัทตอนที่แจ้งเรื่องของการควบรวมกิจการนะครับ เขาพูดชัดเจนนะครับว่าซีพีต้องการให้การซื้อเทสโก้คราวนี้เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารดีๆ ของซีพี นี่แปลว่าอะไร หมายความว่าการซื้อเทสโก้คราวนี้จะเปิดช่องให้เขาขยายสินค้าที่เป็นของซีพีเข้ามาอยู่ในห้างที่เป็นเจ้าของนั่นเอง ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่อยู่ปลายทางของระบบนี้ อันนี้เป็นประเด็นใหญ่มากๆ การผูกขาดในความเห็นของผมก็คือว่า คุณต้องดูระบบอาหารทั้งหมด และความเชื่อมโยงกันของกระบวนการผลิต ก่อนที่จะเข้ามาสู่ตัวค้าปลีกด้วย”
ด้านมุมมองทางกฎหมาย อาจารย์กนกนัย ถาวรพานิช เสนอความเห็นผ่านเครือข่าย Zoom ไปที่หัวใจของกฎหมายเพื่อควบคุมการควบรวมกิจการ เป็นเพราะความกลัวเมื่อผู้เล่นในตลาดหายไปและตลาดกระจุกตัวสูง แรงกดดันทางการแข่งขันจะหายไป ผู้ผลิตมีช่องทางจำหน่ายและผู้บริโภคมีตัวเลือกน้อยลง แม้ผลร้ายอาจไม่เกิดทันที แต่กฎหมายสามารถช่วยป้องกันไว้ก่อน การอนุญาตให้ควบรวมที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบมีเงื่อนไข ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยรักษาการแข่งขันหลังการควบรวมให้คล้ายคลึงกับสภาพก่อนการควบรวม แม้การควบรวมระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัสอาจทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมาก และซีพีอาจมีอำนาจตลาดเพิ่มขึ้น กรรมการเสียงข้างมากกลับเลือกกำหนดเงื่อนไขทางพฤติกรรมแทนที่เงื่อนไขทางโครงสร้าง เช่น ต้องขายบางสาขาหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องออกไป หรือลดขนาดการควบรวม
“น่าสงสัยว่าคณะกรรมการใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณาและเงื่อนไขที่กำหนดอาจไม่ช่วยรักษาการแข่งขันให้คงอยู่ แตกต่างจากการควบคุมในต่างประเทศซึ่งมักกำหนดเงื่อนไขทางโครงสร้างมากกว่าเพราะช่วยรักษาการแข่งขันในตลาดได้โดยตรง”
ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความกังวลเช่นเดียวกัน โดยทิ้งข้อเสนอให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าต้องเปิดเผยและชี้แจงรายละเอียดของการวิเคราะห์ อันเป็นที่มาของการอนุญาตการควบรวมกิจการในครั้งนี้ให้แก่สาธารณชนโดยเร็วที่สุด คณะกรรมการต้องชี้แจงเหตุผลที่อนุญาตอย่างละเอียดและเป็นเหตุเป็นผล โดยจะต้องวิเคราะห์ตามประเด็นที่เกี่ยวข้องตามหลักสากล ตัวอย่างเช่น การตีความขอบเขตตลาด การระบุผู้แข่งขันในตลาด การพิจารณาขอบเขตตลาดเชิงพื้นที่ การวิเคราะห์ผลกระทบของการควบรวมกิจการต่อประสิทธิภาพและระดับการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นวิเคราะห์ที่ผลต่อระบบเศรษฐกิจและผู้บริโภค นอกจากนี้ยังควรให้เหตุผลถึงที่มาที่ไปของมาตรการเยียวยาแต่ละมาตรการ อย่างไรก็ดี ดร.วรรณวิภางค์ ยังมองไม่เห็นว่ามาตรการเยียวยาที่กำหนดจะสามารถรักษาระดับการแข่งขันให้เท่าเดิมได้อย่างไร