The Parennials are Coming: ถึงเวลาชาวมิลเลนเนียลมีลูกคนแรก

วัยรุ่นยุคนี้น่ะเหรอ… ดีแต่เห็นแก่ตัว ถูกสปอยล์ คิดว่าตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล (self-centered) บางทีก็เข้าสังคมไม่ได้ หรือไม่ก็เสพติดการมีตัวตนในสังคมมากเกินไป แล้วเด็กรุ่นนี้น่ะเหรอ… จะผลิตประชากรโลกรุ่นต่อไปให้มีคุณภาพได้!!!

คำอธิบายข้างต้นอาจจะเกินจริงและเต็มไปด้วย ‘อินเนอร์’ ของผู้เขียนมากไปนิด แต่ก็เป็นคำอธิบายที่บรูซ ไฟเลอร์ (Bruce Feiler) ในบทความเรื่อง App Time for Nap Time: The Parennials Are Here ใน The New York Times ว่าด้วยเรื่อง…

จะเป็นอย่างไรเมื่อชาวมิลเลนเนียล หรือบุคคลที่เกิดช่วงปี 1981-1997 ขยับก้าวขึ้นมาเป็น ‘มนุษย์ผู้ปกครอง’ (ที่ไม่ใช้คำว่า ‘พ่อ แม่’ นั้นมีคำอธิบาย โปรดอ่านตอนต่อไปในบทความช่วงล่าง) ที่มีแนนนี่ คุณย่าหรือยาย หรือผู้ช่วยเลี้ยงเด็กในนาม ‘Google’ หรือจากโซเชียลมีเดียสมัยใหม่ และต้องย้ำว่า ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีเป็นได้แต่พวกวายร้าย แต่มันคือปรากฏการณ์ที่อาจเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูก เปลี่ยนความคิด และเปลี่ยนคำนิยามจาก ‘พ่อ แม่ ลูก’ ครอบครัวแสนอบอุ่น ไปเป็น ‘Co-Parents’ ปฏิวัติบทบาทการเลี้ยงลูกที่ภาระไม่ได้อยู่บนบ่าของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว!

ก่อนจะไปสู่รายละเอียดแต่ละข้อที่ว่า ‘จะเป็นอย่างไรเมื่อชาวมิลเลนเนียล ถึงเวลามีลูก’ ต้องขอยกตัวเลขประชากรผู้ปกครองชาวมิลลิเนียลยุคใหม่ก่อนว่ามีเยอะขนาดไหน

อ้างอิงจากสถิติประชากจาก the National Center for Health Statistics ประเทศสหรัฐอเมริกา เฉพาะปี 2015 ระบุว่ามีชาวมิลเลนเนียลกว่า 1.3 ล้านคนให้กำเนิดลูกน้อยเป็นครั้งแรก ทำให้ขณะนี้มีชาวมิลเลนเนียลหญิงอเมริกันกว่า 16 ล้านคนอยู่ในบทบาทผู้ปกครอง คิดเป็น 82 เปอร์เซ็นต์ของคุณแม่มือใหม่ทั้งหมด ขณะที่ภาพรวมประชากรสหรัฐ มีชาวมิลเลนเนียลที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด 31 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งหมด แต่ชาวมิลเลนเนียลที่อยู่ในตลาดแรงงานมีประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์

หมายความว่า ถ้าดูเฉพาะประชากรผู้ปกครองรุ่นใหม่ นี่เป็นยุคของชาวมิลเลนเนียลชัดๆ ส่วนพวกเขาจะมีพฤติกรรมการเลี้ยงลูกอย่างไรนั้น ไฟเลอร์อธิบายไว้เป็นข้อๆ ดังนี้

HASHTAGBABY

ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ และเราวัยรุ่นยุคใหม่ออกจะ ‘ชินๆ’ และเข้าใจว่านี่คือพิธีกรรมหนึ่งของมนุษย์ในยุคสมัยนี้ ใครๆ ก็มี # หรือแฮชแท็ก (Hashtag) เป็นของตัวเอง แต่สิ่งที่ไฟเลอร์ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือคำสัมภาษณ์ของพ่อแม่ยุคใหม่ ที่ตั้งชื่อลูกโดยยึดหลักความสวยงามในการใช้เป็นชื่อแฮชแท็กด้วย

เช่น Sara Mauskopf อายุ 32 ปี ตั้งชื่อลูกของพวกเขาว่า Bryn และชื่อกลางคือ Avery “เราต้องการตั้งชื่อลูกว่า Bryn แต่เมื่อคิดถึงชื่อกลาง เราก็สนใจ Avery เพราะเมื่อมันไปอยู่ในทวิตเตอร์ มันก็จะเป็น @BrynAvery พอดี”

แนนนี่คนใหม่ คือ Google และแอพพลิเคชั่นช่วยเลี้ยงลูกต่างๆ

“ข่าวดีคือ ผู้ปกครองสมัยนี้มีตัวเลือกและรู้วิธีเลี้ยงลูกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน พวกเขามีกูเกิลเป็นปู่ย่าตายาย เป็นเพื่อนบ้าน หรือกระทั่งเป็นพี่เลี้ยงเด็ก

“แต่ข้อเสียก็คือ พวกเขาจะรู้สึกสับสน เพราะถูกทับด้วยข้อมูลมหาศาล ไม่รู้ว่าทำแบบนี้ดีหรือไม่ แบบไหนที่เรียกว่าถูก พร้อมกันนั้นยังถูกห้อมล้อมด้วยเพื่อนๆ ที่พร้อมจะตัดสินและแปะป้ายว่าพวกเขาเป็นพ่อแม่แบบใด” รีเบคกา พาร์ลาเคียน (Rebecca Parlakian) ผู้อำนวยการแห่ง Zero to Three องค์กรที่ศึกษาเรื่องผู้ปกครองและการเลี้ยงลูกตั้งแต่ปี 1977

ซึ่งหลายๆ ครั้ง พ่อแม่ที่ประสบปัญหากับการเลี้ยงลูกเพราะข้อมูลที่อินเทอร์เน็ตบอก ไม่ตรงกับประสบการณ์ของพวกเขาเอง พวกเขาก็จะสร้างแอพพลิเคชั่นของตัวเองขึ้นมา เช่น

ลาก่อนสรรพนาม ‘พ่อ’ และ ‘แม่’ ยินดีต้อนรับสรรพนามใหม่ ‘Co-Parents’

ชาวมิลเลนเนียลยุคใหม่ไม่ใช่แค่โอบกอดเทคโนโลยี แต่พวกเขากำลังจะทำลายความคิดเรื่อง ‘หน้าที่การเลี้ยงลูก ควรเป็นของเพศใด’ ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาเลิกเชื่อแล้วว่า ครอบครัวที่สมบูรณ์ จำเป็นต้องอยู่พร้อมหน้ากันพ่อแม่ลูก ต้องเป็นสถาบันครอบครัว และ ‘แม่’ เท่านั้นที่เข้าใจเข้าถึงลูกได้

เกบ เวลส์ (Gabe Wells) เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อที่องค์กรแห่งหนึ่งอธิบายว่า วันที่ภรรยาของเขา (ในขณะนั้น) ตั้งครรภ์ พวกเขาก็ตัดสินใจแยกทางกัน พวกเขาเข้าพบผู้ให้คำปรึกษาด้านครอบครัวและพบ ‘ทางออกด้านภาษา’ ที่ปรึกษาให้คำแนะนำว่า พวกเขาอาจเริ่มจากการเปลี่ยนการเรียกจากคำว่า ‘พ่อ’ ‘แม่’ เป็นคำว่า Co-Parents หรือผู้ปกครองร่วม

“แต่ก่อนเราจะถูกถามว่า ผู้หญิงจะแบกรับ (ภาระการเลี้ยงลูก) ทั้งหมดได้มั้ย? แต่ปัจจุบันเราจะถามว่า แล้วผู้ชายล่ะ จะรับภาระทั้งหมดได้หรือเปล่า?”

พาร์ลาเคียนกล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้ Co-Parents ฝ่ายชาย ‘นอยด์’ ก็คือ เมื่อพวกเขาเสนอตัวอยากมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกบ้าง ฝ่ายหญิงก็จะตั้งแง่ทันที เช่นว่า ‘คุณทำไม่ถูกต้องนะ’ หรือ ‘ทำไมคุณถึงใส่สิ่งนี้ลงไปให้ลูกล่ะ?’

“พวกเขามักบอกว่า ‘ผมอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูก แต่ผู้ปกครองร่วมของผมมักจะกังวลหรือกลัวการมีส่วนร่วมของผม’ ซึ่งมันเป็นคำตอบที่ได้รับจากผู้เลี้ยงฝ่ายชายเกือบครึ่งเลยนะ” พาร์ลาเคียนอธิบาย

ต่อประเด็นนี้ แอน ฮัลแซล (Anne Halsall) เจ้าของ Winnie – สตาร์ทอัพเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก กล่าวว่า ความคิดของผู้ปกครองชายในปัจจุบันต่างจากคุณพ่อรุ่นก่อนๆ มาก เพราะพวกเขาเห็นว่า ภาระการเลี้ยงลูกไม่ใช่ของฝ่ายหญิงแต่เพียงผู้เดียว

คุณตา คุณยาย ช่วยจ่ายค่าบ้านให้หน่อยได้ไหม? และ พวกเขาไม่สนว่าคู่รักจะเป็นคนเชื้อชาติอะไร

การเลี้ยงลูกคือการลงทุน และนำมาซึ่งการเสียเงินทองจำนวนมากและอย่างยาวนาน แต่ชาวมิลเลนเนียลอาจมีข้อแก้ตัวใหม่ๆ เป็นต้นว่า ก็พวกเขาเกิดมาในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Recession) มีหนี้สินติดตัวจากการศึกษา และเพราะแสวงหางานใหม่ๆ หรือเปลี่ยนงานใหม่อยู่เสมอ พอพวกเขาอยู่ในวัยมีลูก มันจึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะขอให้พ่อแม่ช่วยเป็นแหล่งทุน สนับสนุนการเงินในด้านต่างๆ

นอกจากนี้ ชาวมิลเลนเนียลยังไม่สนด้วยว่า คู่รักของพวกเขาจะเป็นคนเพศไหน เชื้อชาติอะไร และพ่อแม่ของพวกเขาก็ห้ามไม่ได้ นั่นหมายความว่า เด็กๆ ในเจนเนอเรชั่นต่อไป จะเข้าใจความหลากหลาย หรือมีความคิดในเรื่องเพศภาวะในแบบอื่นๆ มากขึ้น

“ฉันคิดว่าคนรุ่นเรามีแนวโน้มที่จะทำอะไรที่ต่างออกไปมาก ความคิดที่ว่า ต้องมีบ้าน มีรถ มีความมั่นคงทางการเงินก่อนแล้วค่อยมีลูก อาจไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไป แต่เรามีแนวโน้มจะคิดว่า การมีลูกในช่วงที่ชีวิตยังไม่แน่นอน ก็เหมือนกับการลงทุนทางธุรกิจ ทำสตาร์ทอัพ เรารู้ว่าเราทำอะไรกับใคร แต่ไม่มีทางรู้หรอกว่าชีวิตจะจบหรือออกมาในรูปแบบไหน”

ที่มา: nytimes.com
pewresearch.org

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า