“ถ้า คสช. ใช้อำนาจพิเศษให้สมชื่อกับสถานการณ์พิเศษ คือทุ่มกำลังทั้งปวงไปกับการจัดการกับอิทธิพลอำนาจนอกระบบ เปิดเผยแจกแจงข้อมูลข่าวสาร ลงโทษผู้กระทำผิด แม้ด้วยอำนาจพิเศษ โดยไม่ต้องกังวลหรือหงุดหงิด หรือคอยขู่ว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกับสื่อ นักศึกษา นักวิชาการที่คอยวิจารณ์ คนก็จะยอมรับ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเงียบลงไปเอง”[1]
ธีรยุทธ บุญมี
26 มีนาคม 2558
หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นักสังเกตการณ์ทางการเมืองและนักวิชาการจำนวนไม่น้อยต่างสนใจว่าคณะรัฐประหารจะใช้ ‘อำนาจพิเศษ’ เปลี่ยนประเทศไทยไปสู่ทิศทางใด เพราะการเปลี่ยนนี้ไม่ได้หมายถึงเปลี่ยนตัวรัฐบาล บุคคล หรือกติกาบางส่วนเท่านั้น หากแต่เป็นการเปลี่ยนทั้งรัฐนาวา เพื่อตอบว่าสิทธิในการปกครองควรจะเป็นของใคร และอย่างไร หลังจากยืดเยื้อคาราคาซังมาหลายทศวรรษ
แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาแชล เคยอธิบายภารกิจหลักของ คสช. ไว้ในงานชื่อ A Kingdom in Crisis: Thailand’s Struggle for Democracy in the Twenty-First (2014) ว่าคือเรื่องการสืบราชสันติวงศ์ (royal succession) เขาเห็นว่า การรัฐประหารในปี 2557 คือ ผลพวงของความพยายามทีละเล็กทีละน้อยของชนชั้นนําจารีต (traditional elite) ที่จะฆาตกรรมประชาธิปไตยไทย ดังนั้น รัฐบาลทหารประสงค์ที่จะบริหารปกครองประเทศเป็นเวลานานเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขากุมอํานาจในการดูแลจัดการประเด็นดังกล่าว
ขณะที่ในงานเรื่อง Praetorianism and ‘the People’ in Late-Bhumibol Thailand ของ ไมเคิล มอนเตซาโน (Michael Montesano) สนใจไปที่คําสั่ง แถลงการณ์ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช. ซึ่งเขาเสนอบทวิเคราะห์ว่า “เผด็จการ คสช. วางแผนให้ประเทศไทยในอนาคตวางอยู่บนฐานการหลอมรวมคนไทยทุกคนเข้าเป็น ‘ประชาชน’ หนึ่งเดียว ประชาชนที่ถูกสร้างขึ้นนี้จะถูกพรากความเป็นการเมือง ภายใต้ข้ออ้างการยุติความ ขัดแย้ง” ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แนวคิดดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับแนวคิดยุทธศาสตร์ทางการทหารในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น
คำถามต่อไอเดียข้างต้นคือ หนึ่ง ประเด็นเรื่องภารกิจใหญ่ของ คสช. มีเพียงประเด็นการเปลี่ยนผลัดรัชกาลเท่านั้นหรือไม่ รวมไปถึงข้อเสนอของมอนเตซาโน ที่เสนอว่าแผนการของ คสช. ต้องการสร้างประชาชนหนึ่งเดียว ด้วยการพรากความเป็นการเมืองไปจากประชาชน แท้จริงเป็นเช่นนั้นมากน้อยเพียงใด เพราะหากเราพิจารณาจากภาพใหญ่และกว้างกว่านั้นอาจจะพบว่า ระหว่างที่ คสช. ครองอำนาจต่อเนื่องถึง 5 ปี มีความพยายามสถาปนาความชอบธรรมทางการเมืองขึ้นใหม่ ที่ไม่ใช่ทั้งความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย หรือความชอบธรรมตามระบอบจารีตประเพณีเสียทีเดียว ขณะที่ก็ยังคงลักษณะแบ่งขั้วทางการเมืองเอาไว้ สุดท้ายแล้วเราอาจจะเรียกสภาวการณ์ใหม่นี้ด้วยศัพท์แสงโบราณกว่านั้นแต่ร่วมสมัยยิ่งว่า ‘คณาธิปไตย’
‘The New Rules’ ที่มีการกวาดล้างประชาชนเป็นฉากหลัง
หากเรามองไปยังผลการลงคะแนนในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 และผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีภาพของความแตกต่างทางอุดมการณ์และผลประโยชน์ทางการเมืองที่แบ่งออกมาเป็น 2 ขั้วอย่างเด่นชัด ไม่ได้เปลี่ยนไปก่อนหน้าการยึดอำนาจ
สิ่งนี้ไม่ใช่ความผิดพลาดของประชาชนเท่ากับว่าเป็นผลมาจากการรัฐประหารมุ่งไปที่การจัดสรรอำนาจชนชั้นนำกันใหม่ซึ่งยังไม่ลงตัว โดยมีฉากหลังเป็นการปราบปรามประชาชนไม่หยุดหย่อนตลอด 5 ปี สำหรับการกวาดล้างประชาชนครั้งใหญ่ 3 ระลอก ได้แก่ 1. หนึ่งปีแรกหลังการรัฐประหาร 2. ก่อนและหลังการลงประชามติในปี 2558-2559 และ 3. ระหว่างการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนถึงการเลือกตั้ง
1. หนึ่งปีแรกหลังการรัฐประหาร
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีการเรียกบุคคลให้มารายงานตัวหรือเชิญไป ‘ปรับทัศนคติ’ อย่างน้อยจำนวน 751 คน มีงานเสวนาทางวิชาการหรือกิจกรรมสาธารณะอย่างน้อย 71 งาน ถูกห้ามจัด มีการดำเนินนโยบายที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนมากกว่า 100 ชุมชน และประชาชนได้รับผลกระทบกว่าหนึ่งพันครัวเรือน มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงอื่นๆ ส่งพลเรือนขึ้นดำเนินคดีในศาลทหารอย่างน้อย 700 คน[2]
ยุคสมัยใดจะมีนักโทษการเมืองมากล้นเช่นนี้ รายงานบางชิ้นพบว่ามีนักโทษการเมืองจำนวน 428 คน ที่ถูกจับกุม หนึ่งในนั้นคือ สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน อดีตสหายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ (พคท.) และสมาชิกขบวนการคนเสื้อแดง เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการลอบวางระเบิดศาลอาญา ซึ่งสำนักข่าวประชาไทได้เปิดเผยข้อมูลว่า สรรเสริญถูกซ้อมทรมาน ถูกทำร้าย และถูกช็อตด้วยไฟฟ้ากว่า 40 ครั้ง (แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธข้อกล่าวหาของเขาว่า “ไม่มีมูลความจริง”)[3]
เหมือนเป็นภาพคู่ขนาน หันไปยังคณะผู้ปกครอง พวกเขามีวิธีการเปลี่ยนกติกาในช่วงเวลานี้ คือให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการใช้ประกาศ คำสั่ง รวมถึงสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ค่อยๆ ตรากฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นจำนวนมาก ตลอดระยะเวลา 4 ปี 4 เดือน สภานี้ได้พิจารณาและผ่านความเห็นชอบกฎหมายไปไม่ต่ำกว่า 323 ฉบับ มากที่สุดในบรรดาสภาที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารครั้งไหนๆ
มีกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ ได้ถูกนำไปกวาดล้างดำเนินคดีกับประชาชนอย่างก้าวร้าวรุนแรงจนถึงปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวมถึงอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระซึ่งจะสำแดงผลหนักขึ้นเรื่อยๆ ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า
2. ก่อนและหลังการลงประชามติในปี 2558-2559
หากกล่าวในมุมของนักเขียนและคนในแวดวงวรรณกรรม ต้องบอกว่า “คณะรัฐประหารประสบผลสำเร็จอย่างสูงในการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน” เพราะแม้รัฐบาล คสช. จะมีเสถียรภาพมากขึ้นจนสามารถสร้างกลไกการปกครองที่มีรัฐราชการเป็นตัวนำ เลยเถิดไปจนกองเชียร์ คสช. บางคนถึงขั้นรับไม่ได้ ที่ คสช. ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ครั้งหนึ่งกวีศรีรัตนโกสินทร์อย่าง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ถึงขั้นยกบทกวี ‘เผด็จการว่าแต่เขา’ ขึ้นมาตัดพ้อผู้มีอำนาจ
อย่างไรก็ตามโรดแมปตามที่เคยให้สัญญาว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนก็ถูกบิดพลิ้วเป็นครั้งแรก เมื่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างฯ ด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ทำให้ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่อีกครั้ง โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้กับคณะรัฐประหารมาหลายสมัยรับช่วงต่อ ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป
จนกระทั่งในปี 2559 คสช. ได้จัดทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างฯ ท่ามกลางการจับกุมผู้ออกมารณรงค์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง ในช่วงเวลาเดียวกันมีประกาศคำสั่ง คสช. ออกมาแล้วกว่า 130 ฉบับ คำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวน 214 ฉบับ คำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งออกตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จำนวน 202 ฉบับ และกฎหมายที่ตราโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างน้อย 323 ฉบับ ทั้งหมดมุ่งไปที่การวางกลไกไปสู่การปกครองไปสู่ระบอบอำนาจนิยมของกองทัพ
ในส่วนของเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับหลังมีเนื้อหาต่างจากร่าง รธน. ฉบับบวรศักดิ์ ซึ่งมีการโอนอํานาจตามรัฐธรรมนูญให้คณะบุคคลที่มาจากผู้เชี่ยวชาญตามสาขาอาชีพต่างๆ ทั้งนักกฎหมาย วิศวกร นายแพทย์ ผู้นําเอ็นจีโอ สมาคมการค้า องค์กรอิสระ ศิลปินแห่งชาติ เป็นต้น
ขณะที่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการโดยตรงของ คสช. เป็นการมอบอํานาจไปให้กองทัพและคนในรัฐราชการอย่างแยบยล ทั้งใน สภาปฏิรูปประเทศ สภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติ และวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. กว่า 250 คน ยังไม่รวมตัวบทจํานวนมากที่วางกลไกไว้ให้กองทัพและระบบราชการแทรกตัวในโครงสร้างอํานาจทางการเมืองไทย
3. ระหว่างการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนถึงการเลือกตั้ง
แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จะผ่านการลงประชามติและได้ประกาศใช้ในเวลาต่อมา แต่การจัดการเลือกตั้งยังไม่มีวี่แววจะเกิดขึ้น ครึ่งปีแรกของ 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบเลิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และให้ คสช. เร่งจัดการเลือกตั้งตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ โดยให้มีการตั้งรัฐบาลรักษาการทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านประเทศสู่ประชาธิปไตย
จากประเทศที่เคยรณรงค์ให้พลเมืองดีไปใช้สิทธิ แต่ในยุค คสช. การเรียกร้องการเลือกตั้งก็กลายมาเป็นความผิดทางกฎหมาย เนื่องจากสิ่งที่คนอยากเลือกตั้งได้กลับมาคือการถูกดำเนินคดีความเป็นจำนวนมาก สำหรับข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่คณะรัฐประหารจะเอาพวกเขาเข้าคุกก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ข้อหาร้ายแรงอย่างกฎหมายความมั่นคงไปจนถึง พ.ร.บ.ความสะอาด
คณาธิปไตย และลักษณะซ้ำซากบางอย่างที่ไม่เปลี่ยนแปลง
เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 5 เสถียรภาพของรัฐบาล คสช. ดูจะมั่นคงมั่งคั่งยิ่งกว่าคณะรัฐประหารชุดใดในประวัติศาสตร์ หลังจากพวกเขาสามารถออกแบบรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้รัฐจัดกำลังทหารไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ได้ ความยุ่งเหยิงของการเมืองไทยก็เผยโฉมหน้าขึ้นมา
แม้ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ภาวะความสับสนในการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่จบสิ้นลง ภายใต้กติกาใหม่ คณะรัฐบาล คสช. จะปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และได้กำหนดให้รัฐสภาสามารถเลือกบุคคลที่อยู่นอกบัญชีเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยหากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งขึ้น ก็ยังจะถูกผูกมัดด้วย ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ไปอย่างน้อย 20 ปี นี่จึงนำมาสู่ความมั่นอกมั่นใจในการพยายามฟอร์มรัฐบาลของพรรคการเมืองที่ต้องการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร
หันไปที่การแต่งตั้ง สว. จำนวน 250 คน ของ คสช. ก็พบว่ามีสภาพไม่ต่างจากสภานายพลในทศวรรษที่ 2520 พร้อมๆ กับนามสกุลและความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่ไขว้กันไปมาระหว่าง วุฒิสมาชิกและสมาชิก คสช. โดยเหล่า 250 สว. นี้ จะมีวาระการดำรงตำแหน่งไปอีก 5 ปี นอกจากนั้น สว. นี้ยังมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี และมีหน้าที่ติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และกำหนดให้รัฐบาลแจ้งความคืบหน้าทุกสามเดือนอีกด้วย
ขณะที่องค์กรอิสระ ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของสภานิติบัญญัติที่มาจากการรัฐประหาร จะยังคงอยู่ต่อไปเพราะแม้จะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม ส่วนบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญก็ได้ยกเว้น และ คสช. ยังคง ‘อำนาจพิเศษ’ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อออกกฎหมายหรือจับกุมคุมขังบุคคลใดที่ตนเห็นว่ากระทำผิดกฎหมายได้
การวางกลไกตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ของคณะรัฐประหาร คสช. แสดงให้เห็นถึงการถ่ายอำนาจที่เคยมาจากประชาชนไปยังคณะบุคคลที่ส่วนใหญ่ยังคงมาจากกองทัพและรัฐราชการ ขณะที่สถานการณ์การปราบปรามประชาชนอย่างหนักในช่วงแรกของการยึดอำนาจ ก็เปลี่ยนแปลงในช่วงหลัง เมื่อมีการใช้กฎหมายที่ตราขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงในยุคคณะรัฐประหารมากขึ้น
ส่วนท่าทีอำนาจนิยมต่อประชาชนปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นกันเฉพาะในหมู่ คสช. เท่านั้นแล้ว หากยังแพร่ลามเป็นแฟชั่นไปยังคณะองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ อีกด้วย เพราะจนถึงปัจจุบันยังมีการฟ้องร้องเอาผิดต่อประชาชนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนยังคงแตกแยกร้าวลึกต่อไป
น่ากังวลว่าอำนาจของผู้ปกครองที่มีมากล้นเช่นนี้ เมื่อผ่านไปอีกสักระยะ พวกเขาจะสามารถแยกแยะอำนาจที่ชอบธรรมกับการใช้กำลังเพื่อรักษาอำนาจได้อย่างไร ถึงที่สุดแล้วกฎกติกาที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ อาจจะทำให้บ้านเมืองไม่ได้เดินไปไกลกว่ายุครัฐประหาร 2534 ที่ตำแหน่งทางการเมืองเป็นเรื่อง “ถ้าสุไม่เอา ก็ให้เต้” เพียงแต่ว่ารัฐประหารเที่ยวนี้เปิดเผยและก้าวร้าวกว่าที่เป็นมา
เชิงอรรถ
[1] isranews.org
[2] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. 2558. รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557: กระบวนการยุติธรรมลายพราง ภายใต้ คสช. กรุงเทพฯ: ม.ป.ท.
[3] prachatai.com