หากควันจางไป เราจะยังจำวันแรกที่ทะยานสู่ดวงจันทร์ได้ไหม?

กรกฎาคม 1969 มนุษย์สามคนทะยานออกจากความปลอดภัยของชั้นบรรยากาศโลก เข้าสู่ความมืดมิดว่างเปล่า ลอยคว้างอยู่ในอวกาศก่อนที่จะพุ่งเข้าไปจอดบนดาวบริวารหนึ่งเดียวของโลก มนุษย์สองคนออกจากยาน Apollo XI และประทับรอยเท้าลงบนก้อนกลมนวลที่คนธรรมดาอย่างเราได้แต่มองขึ้นฟ้าในยามกลางคืน

ผ่านวันนั้นมาได้ 50 ปี แม้จะไม่มีการกลับไปแวะเวียนบนดวงจันทร์อีกหลายปี แต่แผนการตั้งอาณานิคมในอวกาศก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ทั้งบนดาวอังคาร หรือบนดวงจันทร์เอง ถึงอย่างนั้น บทสนทนาว่าด้วยการไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อวันนั้นว่าเป็นความจริงหรือเป็นเพียงการจัดฉาก ก็ยังคงอึมครึมอยู่ท่ามกลางการเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้คนในอดีต ก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติกลับกลายเป็นความคลางแคลงที่คอยหลอกหลอนผู้คน แม้จะมีหลักฐานพิสูจน์ว่าการลงจอดบนนั้นเกิดขึ้นจริงรองรับมากเพียงใด ก็ไม่อาจลบล้างความสงสัยนั้นได้

ความไม่เชื่อเหล่านั้น เกิดจากความไม่รู้ หรือเกิดจากความรู้จากแหล่งอื่นกันแน่?

เราจะเชื่อได้อย่างไรหากเหตุการณ์วันนั้นไม่ได้รับการบันทึกไว้? จรวดที่ทะยานขึ้นฟ้าในวันนั้นหายลับไปกับตา และไม่ได้กลับลงมา ณ จุดที่มันพุ่งออกไป หากแต่เหลือเพียงฝุ่นควันตลบอบอวล ทิ้งกลิ่นของมันที่ลอยคลุ้ง ก่อนจะค่อยๆ จางหายไปในอากาศ หากเดินกลับมาจุดที่ปล่อยยานในวันถัดมา ก็คงไม่เหลือร่องรอยของยานลำนั้นอีกแล้ว

เราจะเชื่อได้อย่างไร?

คำถามนี้ถูกแขวนไว้ในบทสนทนาของนิทรรศการโดย ต่อ-ภัทระ จันทร์ฤาชาชัย ‘The Smell in The Air After The Firecracker Has Gone Off’ (กลิ่นในอากาศหลังจากที่พลุได้ถูกจุดไปแล้ว) จัดแสดง ณ Gallery VER

ภาพวาดสีดำในกรอบไม้เรียงรายอยู่บนผนังฝั่งหนึ่ง หากเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จะพบว่าภาพเหล่านั้นถูกวาดลงบนกระดาษหนังสือพิมพ์ เนื้อในหนังสือพิมพ์ถูกดินสอชาร์โคลฝนทับจนเลือนรางอ่านไม่ออก แต่ภาพบนนั้น เราสามารถนึกตามได้ ว่ามันคือชิ้นส่วนของยานอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นยาน Apollo XI อันโด่งดังคุ้นตา หรือยานและวัตถุที่เราส่งออกไปนอกโลกต่างๆ เช่นเดียวกับชื่อผลงาน I Remember ที่รูปทรงของพวกมันเผยให้เห็นเพียงบางส่วนที่หลงเหลือในความทรงจำเท่านั้น ราวกับวัตถุเหล่านั้นถูกฉายแฟลชในความมืด มีแสงริบหรี่สะท้อนกลับมาหาเรา

ยานอวกาศเหล่านี้เมื่ออยู่ในอวกาศ ที่จริงแล้วหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ มีเพียงภาพที่ถูกถ่ายโดยกล้องถ่ายรูปส่งกลับมาหาเราเท่านั้น เช่นเดียวกับเนื้อหาข่าวในหนังสือพิมพ์ ความจริงเป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นนอกเฟรมของรูปเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ หากไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง

รูปภาพของภัทระเรียงแถวยาวจากทางเข้าไปสู่ด้านใน หากได้เดินดู จะเห็นยานอวกาศเหล่านี้เปลี่ยนมุมไปเรื่อยๆ ราวกับอ่านการ์ตูนช่อง การเคลื่อนไหวของรูปแต่ละรูปดึงเราหมุนคว้างไร้ทิศทางไปกับวัตถุในกรอบของแต่ละรูป ก่อนที่เราจะหันหน้าไปพบผนังดำทะมึนอีกฝั่งหนึ่ง และเสียงมอเตอร์ทำงานอยู่อย่างแผ่วเบา

ภาพสีดำวาดด้วยชาร์โคลเหยียดตัวจนเกือบเต็มผนังด้านในของแกลเลอรี หากดูไกลๆ มีร่องรอยที่ไม่ถูกฝนด้วยชาร์โคล เป็นรูปทรงขะยึกขะยือเหมือนควันที่กำลังสลายตัว ศิลปินใบ้เราว่า “ภาพนี้คือควันจากกระสวยอวกาศที่จุดตัวเองขึ้นฟ้า” ส่วนด้านบนสองฝั่งมีมอเตอร์ตัวเล็กกำกับอยู่ พร้อมสายสีดำเทาห้อยระโยงระยางลงมาบนพื้น จุดที่รวมสวยไฟเข้าด้วยกันนั้น มีเครื่องยนต์สีเทากำลังทำงานเปล่งเสียงวี้ๆ เบาๆ ศิลปินบอกว่าสิ่งนี้เป็น Automated Machine (แต่จะขอเรียกสั้นๆ ว่า ‘น้องโรบอท’ แล้วกันนะคะทุกคน)

Automated Machine 'น้องโรบอท'
Automated Machine ‘น้องโรบอท’

โรบอทน้อยเคลื่อนที่ไปตามสายสีดำสองฝั่งที่ถูกชักขึ้นลงด้วยรอกมอเตอร์ด้านบนเมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ จะสังเกตว่าโรบอทนั้น ‘ถือ’ แท่งชาร์โคลสีดำก้อนอ้วนอยู่ การขยับตัวของหุ่นยนต์เกิดเป็นการลากแท่งชาร์โคลลงบนรูปสีดำ หากมองการทำงานของน้องโรบอทไปสักพัก จะพบว่า น้องกำลัง ‘วาด’ ลงบนรูปสีดำที่นั้น

โรบอทน้อยเคลื่อนไหวตามแรงดึงจากรอกสองฝั่ง ต่อเติมสีดำลงบนรูปที่ดำทะมึนจนจะจมทับตัวมันอยู่แล้ว ศิลปินโปรแกรมโรบอทให้ทำงานอย่างไร เคลื่อนที่ไปทางไหน ไม่มีใครรู้ มีเพียงโรบอทตัวน้อยทำงานตามคำสั่งของศิลปิน

หากมองไกลๆ ผนังฝั่งนี้ให้อารมณ์เดียวกับกระสวยอวกาศลอยคว้างอยู่ในอวกาศมืดมิดไม่มีที่สิ้นสุด ตามการคำนวณของวงโคจรที่ได้วางแผนมาก่อนจะปล่อยมันออกนอกโลก เชื่อเพียงว่าวงโคจรที่ถูกคำนวณมานี้จะนำพามันไปสู่ตำแหน่งที่มันควรจะลงจอดได้ การวาดของโรบอทเป็นเหมือนการเติมสีดำเพิ่มเข้าไปในรูป แต่ยิ่งวาดก็เหมือนยิ่งลบ รูปที่มีแสงริบหรี่อยู่แล้วยิ่งถูกถมด้วยสีดำนานเข้า นานเข้า นานเข้า ก็ยิ่งหายไป

การทำงานของโรบอทน้อยถูกจับภาพไว้ตลอดเวลาบนเงาสะท้อนของแท่นกระจกสามอัน เหนือแท่นกระจกเหล่านั้นคือประติมากรรมเซรามิคที่ถอดแบบมาจากกล้องถ่ายรูปและกล้องวิดีโอสมัยโบราณ ซึ่งเป็นกล้องชนิดเดียวกับที่ใช้บันทึกภาพภารกิจ Apollo XI 

ชื่อผลงาน Just Imagine บอกสถานะของตัวมันเองว่ามันเป็นเพียงการจินตนาการถึงกล้องถ่ายรูปและวิดีโอ ประติมากรรมไม่มีความสามารถในการบันทึกภาพเฉกเช่นเครื่องจักรที่มันถอดแบบออกมา แท่นกระจกเงาเองก็ไม่สามารถบันทึกภาพสะท้อนมาเก็บเอาไว้ได้เช่นกัน ประติมากรรมคือความจริง แต่เป็นกล้องถ่ายรูปที่ไม่จริง การเคลื่อนไหวของโรบอทบนกระจกเป็นเพียงภาพสะท้อนของความจริงที่เลือนหายไปเมื่อโรบอทเคลื่อนตัวออกจากมุมที่กระจกสามารถสะท้อนภาพได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดข้างนอกเฟรมของรูปถ่ายเกิดขึ้นจริง แต่กลับเลือนหายไปเมื่อไม่ถูกบันทึกไว้

นอกจากเสียงมอเตอร์แผ่วเบา ก็มีอีกเสียงที่ผู้ชมน่าจะได้ยิน คือเสียงที่แว่วออกมาจากห้องด้านหลังแกลเลอรี ประตูด้านหลังที่ปกติจะมีป้าย STAFF ONLY อนุญาตให้แต่พนักงานแกลเลอรีเข้าออก กลับถูกเปิดอ้าซ่า ต้อนรับผู้ชมเข้าห้องพักผ่อนแสงสลัวด้วยเสียงเพลงคลาสสิกคลอเบาๆ จากลำโพง Fender บนโต๊ะไม้สีน้ำตาลเข้ม

เมื่อเดินเข้ามาจะประจันหน้ากับตู้หนังสือที่วางเก็บไว้ให้พนักงานแกลเลอรี ศิลปิน หรือคิวเรเตอร์ได้อ่านและค้นคว้า ภาพวาดที่หลงเหลือจากด้านนอกสี่ภาพพักพิงอยู่บนตู้สีขาวชิดผนัง ด้านในมีเก้าอี้สีขาวไว้นั่งพักผ่อนชมผลงานระหว่างฟังเพลง

หากสังเกตดีๆ บนพื้นจะมีเงาสะท้อนคล้ายเงาจันทร์อยู่ นั่นเพราะ โต๊ะ-ปราชญา พิณทอง ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้ แอบเอาพลาสติกที่ห่องาน ต่อ-ภัทระ จากปารีสมาแปะสก็อตเทป และหยอดน้ำเอาไว้ตรงรูกลมๆ กลางโต๊ะไม้ ทำให้แสงไฟที่ส่องผ่านน้ำเกิดเอฟเฟ็คท์แบบแสงจันทร์นวลบนผิวน้ำ พี่โต๊ะเลือกเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Solaris โดย อังเดร ทาร์คอฟสกี (Andrei Tarkovsky) มาเป็นเพลงประกอบนิทรรศการครั้งนี้

Solaris คือภาพยนตร์สัญชาติรัสเซีย ถูกสร้างขึ้นอีกฟากฝั่งของโลกในยุคเดียวกับภารกิจ Apollo XI ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์วันนั้นถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกผ่านข่าวในโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ประเทศรัสเซียที่ขณะนั้นยังคงเป็นสหภาพโซเวียตเองก็มีความพยายามจะส่งคนและสิ่งมีชีวิตไปดวงจันทร์เช่นกัน แม้โซเวียตจะส่งคนออกนอกโลกได้ก่อนอเมริกา แต่ผู้ชนะการแข่งขันกลับเป็นอเมริกาที่สามารถป่าวประกาศ “ก้าวอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” ได้สำเร็จ

การแข่งขันที่รัสเซียแพ้ครั้งนี้ เป็นผลให้สหภาพโซเวียตทุ่มงบไปกับการเร่งผลิตอาวุธ และกลายมาเป็นหนึ่งในชนวนการล่มสลายของสหภาพโซเวียตอันยิ่งใหญ่ อเมริกาไม่ได้ชนะแค่การแข่งขันทางอวกาศ แต่อเมริกาชนะสงครามเย็นในทางอ้อมเช่นกัน

ชัยชนะของอเมริกาไม่ได้มาจากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่า หรือบุคลากรที่เก่งกว่า แต่เพราะอเมริกาสามารถส่งสารออกไปได้ในวงกว้างและเป็นที่จดจำมากกว่า สารที่แบกเอาความจริงไว้กับมันถูกส่งกลับมาบนโลก และเผยแพร่ออกไป

จวบจนวันนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอวกาศ รูปดาวเคราะห์ วัตถุ และภารกิจในอวกาศ ถูกส่งกลับมาหาเราจากนอกโลก และเผยแพร่ออกไป เฉกเช่นข่าวสารอื่นๆ แต่เราไม่เคยเห็นด้วยตาตัวเอง และอาจไม่มีวันได้เห็นด้วยตาตัวเอง ถึงอย่างนั้น เราก็เลือกที่จะเชื่อ (หรือบางคนก็เลือกที่จะไม่เชื่อ)

อวกาศมีอยู่จริง แม้เราไม่เคยเห็นด้วยตาของเราเอง ดวงดาวแสนไกลที่เราได้แต่มองเห็นเป็นแค่จุดเล็กๆ ยามกลางคืน ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยภาพถ่ายความละเอียดสูง เป็นรูปวงกลมดวงใหญ่ รายละเอียด พื้นผิว และสีสันของแต่ละดวงดูเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่ามีอยู่จริงตามธรรมชาติ เราจะเลือกเชื่อภาพเหล่านั้นไหม? เช่นเดียวกับข่าวสารที่เราเห็นทุกวัน? เราจะวางใจได้อย่างไรว่าเหล่านี้ไม่ใช่ข่าวที่ถูกปลอมแปลงขึ้นมา?

ความเชื่อช่างเป็นสิ่งที่ซับซ้อน เพราะเราไม่ได้รับรู้เพียงแค่รูป เสียง กลิ่น รส แต่เรารับรู้ด้วยข้อมูลชุดอื่นๆ อีก เรารู้ว่าภารกิจบนดวงจันทร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือต่อสู้กับสหภาพโซเวียตโดยรัฐบาลอเมริกาเมื่อ 50 ปีก่อน เราจึงสงสัยในความจริงของภารกิจนั้น

พอมาถึงวันนี้ เรารู้ว่าแอพฯ ทำหน้าแก่นั้นมีฐานเก็บข้อมูลของเราชักใยอยู่เบื้องหลัง เรารู้ว่าเฟซบุ๊คแอบดักฟังเสียงเราอยู่ เรารู้ว่ารัฐบาลจีนแอบเก็บข้อมูลใบหน้าของเราอยู่ เมื่ออาทิตย์ก่อนมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นหลายจุดในกรุงเทพฯ และตำรวจก็จับผู้ก่อเหตุได้แล้ว แต่ทำไมถึงมีหลายคนไม่เชื่อว่าชายคนนั้นก่อเหตุจริง?

มีอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ แต่เราก็เลือกไปแล้วที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร โดยมีปัจจัยเป็นความรู้ของเรา

วันนี้หุ่นยนต์บนผนังกำลังทำงานอยู่ เจ้าหุ่นยนต์โคจรอย่างเดียวดายบนภาพเขม่าควันสีดำมืดมิด ถมสีดำขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ หากมาชมนิทรรศการวันท้ายๆ อาจไม่เหลืออะไรให้ดูแล้ว เพราะทั้งรูปอาจจะกลายเป็นสีดำไปเสียหมด แล้วคุณจะเชื่อได้อย่างไร ว่ารูปนี้เคยมีอยู่? เหตุการณ์สำคัญอาจไม่สำคัญอีกต่อไป เมื่อวันหนึ่งคนไม่เชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริง จนลืมเลือนมันไป

ภาพถ่าย: Gallery VER
The Smell in The Air After The Firecracker Has Gone Off
โดย ภัทระ จันทร์ฤาชาชัย
จัดแสดงที่ Gallery VER ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562
ภัณฑารักษ์: ปรัชญา พิณทอง, อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า