1
ทุ่งบางบาลเป็นเกาะ มีพื้นที่ราบลุ่มผืนใหญ่ ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอบางบาล อำเภอเสนา อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน และอำเภอพระนครศรีอยุธยา รวมเนื้อที่ประมาณ 170,000 ไร่ ทุ่งบางบาลเป็นหนึ่งในอีกหลายทุ่งที่รับน้ำท่วมหลากตามธรรมชาติในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2
น้ำท่วมหลากในหน้าน้ำสำหรับชาวบางบาลและชาวอยุธยา จึงเป็นเรื่องปกติของฤดูกาลตามธรรมชาติ ภาวะน้ำท่วมจึงไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนมากนัก เพราะสามารถปรับตัวอยู่กับน้ำได้ การสร้างบ้านเรือนใต้ถุนสูง มีเรือสัญจรหน้าน้ำ การปลูกข้าวขึ้นน้ำ ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจะยืดตัวตามระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ชาวบางบาลประสบความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาในปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา
3
ความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากโครงการก่อสร้างและการขยายตัวของเมือง เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาบางบาล เมื่อเขื่อนเจ้าพระยาก่อสร้างแล้วเสร็จตามมาด้วยการขุดลอกทรายในแม่น้ำเจ้าพระยา และการสร้างถนนขนาบสองข้างของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ชัยนาทลงมา การสร้างประตูน้ำต่างๆ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ
4
น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกแบ่งไปใช้ทางสุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี การปิดประตูน้ำเป็นระยะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงมาก พื้นที่นาที่อยู่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมา ก็จะไม่มีน้ำที่เคยล้นฝั่งเข้าทุ่งหล่อเลี้ยงต้นข้าวดังที่เคยเป็นมาในอดีต ผลก็คือไม่มีปุ๋ยธรรมชาติที่เป็นตะกอนดินที่มากับน้ำ หากเป็นที่นาในเขตชลประทานก็จะไม่ค่อยพบปัญหานี้ แต่ที่นานอกเขตชลประทานจะประสบปัญหา นอกจากน้ำจะไม่เข้าทุ่งอย่างที่เคยเป็น หากปีใดฝนชุกหรือมีไต้ฝุ่นเข้าประเทศ ฝนตกมากเกินต้องการ น้ำทางเหนือเขื่อนจะมีปริมาณมากจนเกินเขื่อนรับไหว เขื่อนจะปล่อยน้ำลงมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงใต้เขื่อนลงมาจะมีระดับน้ำสูงอย่างรวดเร็วเข้าท่วมไร่นาเสียหาย จากดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำ บางบาลกลายเป็น ‘ทุ่งหมารด’
5
ทุ่งหมารด คือที่นาทุรกันดาร โดยเฉพาะในส่วนที่ระบบชลประทานไปไม่ถึง ที่ดินจึงค่อยๆ หลุดมือชาวนารายย่อย จากปัญหานาล่มซ้ำซากกลายเป็นปัญหาหนี้สะสม เป็นแรงกดดันให้ชาวนาขายที่ดิน
6
ทศวรรษที่ 2530 นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นนโยบายหลักของประเทศ การส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ อยุธยาก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ดินในช่วงนั้นมีราคาสูง ทำให้เกษตรที่ประสบภาวะขาดทุนในทศวรรษที่ 2520 เริ่มขายที่ดิน นอกจากปัญหาหนี้สะสมจากการทำเกษตร การส่งเสริมพื้นที่อุตสาหกรรม เกษตรกรยังได้รับแรงกดดันจนทำให้ขายที่ดินคือการเข้ามาของธุรกิจบ่อทราย นายทุนเริ่มกว้านซื้อที่ดินในช่วงทศวรรษที่ 2530 ทั้งผู้มีอิทธิพลและนักการเมืองท้องถิ่น เกษตรกรที่อยู่ใกล้ที่ดินบ่อทรายก็เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ เพราะขุดดินไปมากๆ ก็เสี่ยงที่ดินจะสไลด์ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกษตรกรในทุ่งบางบาลขายที่ดิน
7
ปรากฏการณ์น้ำท่วมจนนาล่มของชาวนาบางบาลเกิดขึ้นหลายครั้ง ได้แก่ ปี 2521, 2526, 2531, 2535, 2538, 2545, 2549, 2553 และรุนแรงที่สุดในปี 2554
8
การที่สภาพพื้นที่บางบาลเป็นทุ่งจึงเป็นเสมือนแก้มลิงธรรมชาติที่น้ำต้องท่วมอยู่แล้ว โดยปกติน้ำจะท่วมในเขตอำเภอบางบาลในช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี ระดับน้ำเฉลี่ย 30-40 เซนติเมตร เป็นน้ำไหลเข้าทุ่ง น้ำจะค้างในทุ่งประมาณ 10-15 วันจากนั้นระดับน้ำจะลดลงเป็นปกติ พื้นที่น้ำท่วมจะเกิดทั้ง 16 ตำบล 111 หมู่บ้าน หมายความว่าทั้งอำเภอบางบาลจะเป็นพื้นที่น้ำท่วมในช่วงเวลาดังกล่าว หลังจากน้ำท่วมในปี 2549 หน่วยงานราชการเริ่มมีการศึกษาศักยภาพในการเป็นพื้นที่รับน้ำของทุ่งบางบาล จนเมื่อเกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 โครงการแก้มลิงบางบาลจึงนำไปสู่การปฏิบัติ
9
การประเมินทางเลือกกรณีนำน้ำเข้ามาเก็บในพื้นที่โครงการแก้มลิงบางบาล สามารถเก็บกักน้ำได้ 89.63 ล้าน ลบ.ม. คณะผู้วิจัยพบว่า การผันน้ำเข้าไปเก็บกักที่ระดับน้ำลึก 3 เมตร เป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากที่สุด โดยคิดเป็นการจ่ายค่าชดเชย 37.21 ล้านบาทต่อปี ทุ่งบางบาลได้กลายเป็นที่กักเก็บน้ำตามโครงการแก้มลิงบางบาลมาตั้งแต่ปี 2555 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยตามที่มีการเสนอในรายงานการศึกษา
10
มีเสียงสะท้อนจากท้องถิ่นว่า แนวคิดโครงการแก้มลิงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพราะน้ำจะไหลเข้าทุ่งบางบาลก็ต่อเมื่อระดับน้ำล้นจากตลิ่งแม่น้ำมีระดับมากกว่า 4 เมตรขึ้นไป และน้ำค่อยๆ ไหลเข้าทุ่ง ไม่ใช่ไหลพรวดเข้าไปเต็มตามปริมาณความจุของแก้มลิงตามที่ประมาณการไว้ในทันทีและคราวเดียว ซึ่งส่งผลต่อการทำนาของชาวนา นอกจากนี้ การชดเชยในพื้นที่แก้มลิงก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น และขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากคนในพื้นที่
11
การเป็นพื้นที่รับน้ำของทุ่งบางบาลส่งผลให้ชาวนาต้องปรับระบบการผลิต จากเดิมชาวนาบางบาลทำนาปีละครั้ง และเริ่มทำนาปรังปีละ 2 ครั้ง ชาวนาแห่งทุ่งบางบาลทำนาปรังครั้งที่ 1 ในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคม-มีนาคม ส่วนในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ชาวนาจะเว้นช่วงปล่อยให้น้ำที่กรมชลประทานปล่อยเข้าท่วมทุ่ง และหากข้าวของชาวนายังค้างทุ่งหลังวันที่ 15 กันยายน ชลประทานจะไม่รับผิดชอบความเสียหาย
12
เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากพันธุ์ข้าวนาปีที่สามารถเก็บไว้ใช้ได้เอง มาเป็นพันธุ์ลูกผสมที่ใช้กับนาปรัง ทำให้การใช้สารเคมีมีมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบางชะนีมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และมีหนี้สินกันจำนวนมาก
13
ปี 2557-2558 เกิดภาวะภัยแล้ง รัฐบาลประกาศให้เกษตรกรละเว้นการทำนาในฤดูนาปรัง
14
ช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีประมาณ 5,300 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียงร้อยละ 29 ของความจุอ่างรวมกัน กรมชลประทานชี้แจงว่า ปริมาณน้ำดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำให้ชาวนาทุ่งบางบาลในการทำนาปรังในปีนี้ได้
15
สภาพทุ่งนาในตำบลบางชะนี อำเภอบางบาล รกเรื้อด้วยหญ้าและซังข้าวที่เก็บเกี่ยวไปเมื่อเดือนกันยายน ไม่มีน้ำตามสภาพพื้นที่รับน้ำที่ควรจะเป็น ชาวนาบางบาลแห่งตำบลบางชะนีกังวลว่าในฤดูการผลิตที่จะมาถึง พวกเขาจะไม่มีน้ำทำนา