โดยปกติแล้วกรอบคิดของคนเรามักขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการสั่งสอนจากวัด
กล่าวเช่นนี้ไม่ได้จะบอกว่าเราล้วนเติบโตจากข้าวก้นบาตรพระเหมือนการศึกษาสมัยโบราณ หากแต่จะบอกว่าแม้แต่ในระบบโรงเรียนเอกชน การสั่งสอนจากวัดก็ยังแปรเปลี่ยนมาเป็นในรูปของบทเรียนในตำราวิชาการศาสนาเบื้องต้น
ซึ่งไม่จำกัดว่าคุณจะนับถือศาสนาใด สิ่งที่มาพร้อมๆ กัน คือข้อกำหนดผ่านบทบัญญัติต่างๆ ในรูปของศีลธรรมจรรยาที่กะเกณฑ์ชีวิตเรานับตั้งแต่วัยเยาว์ให้เติบโตขึ้นมาภายใต้ครรลองที่ถูกต้อง คำถามที่แท้ และดำรงอยู่มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีศาสนา คือครรลองที่ถูกต้องภายใต้ศีลธรรมจรรยาอันดีงามไว้
ใช่หรือไม่เป็นโซ่ตรวนที่ตรึงรั้งมนุษย์ไว้จากอิสรภาพอันแท้จริง
ศีลธรรมในหญิงสาวและยิปซี
The Virgin and the Gipsy หรือ เด็กสาวและชายยิปซี ของ ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ (D. H. Lawrence) เล่าเรื่องราวของ อีเว็ธ ลูกสาวคนเล็กของ vicar ตัวแทนศาสนาคริสต์ นิกายแองกลิคัน ซึ่งในเรื่องเรียกว่า ‘ท่านอธิการ’ ผู้ใช้ชีวิตอย่างค่อนข้างตามใจตัวเอง และค่อนข้างเป็นตัวของตัวเอง จนถูกมองในอีกมุมว่าไม่เอาใคร และไม่สนใจใคร ซึ่งก็อาจจะถูกในแง่มุมหนึ่งเมื่อพิจารณาจากวัย ซึ่ง ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ พรรณนาให้ภาพของอีเว็ธดูเป็นเด็กสาวเอาแต่ใจที่ยังกระหายใคร่รู้ในเรื่องราวต่างๆ ของชีวิตจริงๆ มากกว่าการจมอยู่กับหน้าหนังสือเหมือน ลูซีล พี่สาว โดยมีแม่ใหญ่ มารดาของท่านอธิการวัย 90 ที่ทำหน้าที่ควบคุมทุกอย่างภายใต้ชายคาบ้านของบาทหลวงวัย 40 เศษ หลังภรรยาคนสวยผู้ร่ำรวยของเขาหนีตามชายหนุ่มอายุน้อยไป ทิ้งท่านอธิการไว้กับความอับอาย และความหวาดกลัวผสมผสานความเกลียดที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ตามการแสดงออกของอีเว็ธ ที่ทำให้เขานึกถึง ซินเธีย เธอ-ผู้เป็น-อดีต-ซินเธีย ผู้คอยย้ำเตือนให้เขาตระหนักถึง
…กลิ่นเน่าเหม็นของความเห็นแก่ตัวอันชั่วช้าและตัณหาราคะอันต่ำทราม กลิ่นของเจ้าดอกตำแยที่น่าเกลียดน่าขยะแขยง เธอ-ผู้เป็น-อดีต-ซินเธีย จากโลกอันสกปรกโสมม…
‘การปักใจ’ เชื่อเป็นประเด็นสำคัญของท่านอธิการและแม่ใหญ่ เมื่อทั้งสองปักใจเชื่อไปแล้วว่าทั้งอีเว็ธและลูซีลต่างมี ‘เชื้อ’ ของความเลวทรามอยู่ในตัว แม้ลูซีลจะไม่มีพฤติกรรมแบบเดียวกับอีเว็ธ แต่เด็กสาวคนพี่ก็ถูกเหมารวม และยิ่งเมื่ออีเว็ธเริ่มไปคลุกคลีกับชนเผ่ายิปซี เพราะต้องตาต้องใจกับชายหนุ่มยิปซีที่หล่อเหลาคนหนึ่ง นั่นยิ่งทำให้ท่านอธิการเกือบๆ จะกลายเป็นความคลั่งที่ลูกสาวคนเล็กของตนไปข้องเกี่ยวกับชนชั้นต่ำปานนั้น ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่อีเว็ธมองเห็นหรือรับรู้เกี่ยวกับผู้เป็นพ่อมาตลอด นั่นคือการเฝ้าบอกใครๆ ว่าตัวเขาไม่ใช่คนหัวโบราณ ออกจะใจกว้าง และเป็นนักอนาธิปไตย
อนุรักษนิยมของอธิการและอนาธิปไตยของยิปซี
ในคัมภีร์ปฐมกาลของศาสนาคริสต์ กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ไว้ในบทบาทของโนอาห์ผู้ได้รับพระบัญชาจากพระเจ้าให้ต่อเรือจากไม้สนโกเฟอร์ ก่อนจะทรงบันดาลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เพื่อล้มล้างมนุษยชาติ ด้วยเหตุเพราะว่า…แผ่นดินโลกเต็มไปด้วยความโหดร้ายเพราะการกระทำของมนุษย์ ดูเถิด เราจะทำลายพวกเขาพร้อมกับแผ่นดินโลก…
เมื่อความสัมพันธ์ของอีเว็ธและชายยิปซีพัฒนาไป แม้ไม่ถึงขั้นลึกซึ้ง เนื่องจากทั้งสองต่างอยู่ในสายตาของชนเผ่ายิปซี ยามที่อีเว็ธรู้สึกไม่อยากอยู่บ้านของอธิการที่เธอไม่เคยรู้สึกอบอุ่นเสมือนได้อยู่บ้านเลยสักครั้ง แต่กลับเป็นบริเวณแคมป์ของยิปซีมากกว่าที่มอบความรู้สึกนั้น ซึ่งกลายเป็นข้อสังเกตที่แม้อีเว็ธอาจไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมากมายก็ตามในความแตกต่างทางกายภาพและพฤติกรรมที่แตกต่างระหว่างคนที่บอกตัวเองว่าเป็นคนที่ใจกว้าง กับกลุ่มคนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนชนชั้นต่ำ
แต่การที่อีเว็ธปรารภถึงพ่อตัวเองไว้ว่า
…ความเป็นอนาธิปไตยสะท้อนออกมาทางคำพูดติดตลกของเขา แล้วถูกเก็บซ่อนไว้เป็นความคิดลึกๆ ในใจ ความเป็นอนุรักษนิยมซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความกลัวการเปลี่ยนแปลงและความไร้ระเบียบเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเขา สำหรับเขาแล้ว ความคิดต่อต้านกฎระเบียบที่เขาเก็บซ่อนไว้ในใจเป็นสิ่งที่เขากลัวมากกว่า…
พฤติกรรมที่หวาดกลัวของท่านอธิการนำมาสู่แรงกดต่อตัวอีเว็ธที่กลายเป็นแรงต้านให้เด็กสาวโหยหาสิ่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับสิ่งที่พ่อเธอพยายามบอกให้เธอทำตาม การไปหลงรักชายยิปซีก็เป็นเรื่องหนึ่งในหลายๆ เรื่อง จนกระทั่งถึงจุดที่ ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นจากแม่น้ำ ท่วมเกือบทุกสิ่งที่อยู่ใกล้ รวมถึงบ้านของท่านอธิการ คร่าชีวิตแม่ใหญ่ และเกือบทำเอาอีเว็ธจมน้ำไปด้วย หากไม่ได้ชายยิปซีมาช่วยไว้
ถึงจุดนี้ ในฐานะคนอ่าน ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระหวัดกลับไปนึกถึงเหตุผลที่พระเจ้าทรงบันดาลให้น้ำท่วมโลกในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ยิ่งเมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ ต้องการนำเสนอ คือการย้ำแสดงให้เห็นว่ากฎเกณฑ์ทางศาสนานั้นสวนทางกับสัญชาตญาณที่แท้ของความเป็นมนุษย์เพียงไร ยิ่งค่อนข้างมีความเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงท้ายของ เด็กสาวและชายยิปซี คือการทำลายล้างเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกแบบหนึ่ง
เป็นการเริ่มต้นของหญิงสาวที่ปราศจากเงาร่างของแม่ใหญ่คอยควบคุม และปลดปล่อยความเป็นอนาธิปไตยในความหมายที่พ่อผู้เสแสร้งของเธออาจไม่เคยแม้แต่จะเข้าใจจริงๆ ว่าหมายถึงอะไร?
เด็กสาวและชายยิปซี (The Virgin and the Gipsy)
ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ (D. H. Lawrence): เขียน พันทิพา บูรณมาตร์: แปล สำนักพิมพ์สมมติ |