‘The Border’ คน พรมแดน รัฐชาติ

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์/ลีน่าร์ กาซอ
ภาพ: ชินกฤต เชื้ออินต๊ะ

เมืองที่มีความหลากหลายของผู้คน คือ เมืองชายแดน

และความเป็นชายแดน คือ ภาวะที่ถูกทำให้มองไม่เห็น

ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ได้ผลักความหมายของความเป็น ‘เมืองชายแดน’ ให้แผ่ออกไกลอย่างถึงที่สุด

หากเราจะนิยามความหมายของเมืองชายแดนตามที่อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านนี้ได้ให้ไว้ ตลาดไนท์บาซาร์ในเมืองเชียงใหม่ก็มีความเป็นเมืองชายแดนเช่นกัน สำหรับ ศ.ดร.ยศ ความเป็นชายขอบคือการถูกทำให้มองไม่เห็น แต่ในภาพที่มองไม่เห็นของความเป็นชายแดน เขาบอกว่า มีการต่อรอง เจรจา และช่วงชิงผลประโยชน์เสมอมา

ด้วยความสนใจประเด็นทางวิชาการ อย่างความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรมชาวนา มานุษยวิทยาการเมือง (ผู้นำและอำนาจ) มานุษยวิทยาจิตวิทยา (สตรีและเพศวิถี) สังคมสมัยใหม่และบริโภคนิยม พื้นที่และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ กระบวนการทำให้เป็นชายขอบและการเบียดขับออก ฯลฯ ทำให้ผลงานวิชาการของ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ดกอุดมไปด้วยชุดความรู้ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ การขยายและโยกย้ายของชนชาติ อำนาจ พื้นที่ และแนวคิดเรื่องรัฐชาติ

ย้อนกลับไปยังงานวิจัยในปี 2548 อำนาจ พื้นที่ และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์: การเมือง วัฒนธรรมของรัฐชาติในสังคมไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับรัฐชาติไว้อย่างน่าสนใจว่า อธิปไตยเหนือดินแดนไม่สามารถสร้างความชอบธรรมในการผูกขาดอำนาจของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป สถานะของพลเมืองไม่อาจถูกยึดโยงอยู่ในกรอบของดินแดนที่คับแคบ และในขณะที่ผู้คนต่างไม่ยอมถูกจัดวางและกักขังในอธิปไตยเหนือดินแดนแบบเก่า ส่งผลให้เกิดการเลื่อนไหลไปมาข้ามพรมแดนของรัฐชาติเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

ศ.ดร.ยศ ได้ปิดฉากงานวิจัยชิ้นนี้ด้วยแนวคิดที่สวนทางจากลักษณะพิเศษทางการเมืองของสังคมไทยในปัจจุบัน

“ดูเหมือนว่าอธิปไตยเหนือดินแดนและความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ เป็นมายาคติที่กำลังจะกลายเป็นเพียงความทรงจำของคนรุ่นต่อไป”

นี่คือประโยคปิดงานวิจัยที่เขียนขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีก่อน

การศึกษาเรื่องชนชายแดนของ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ทำให้เราเห็นถึงแนวโน้มการผุพังและล่มสลายของแนวคิดรัฐชาติ แนวคิดเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของชาติกำลังกลายเป็นความทรงจำของประชากรโลกรุ่นถัดไป


อะไรคือมายาคติที่เกี่ยวกับเมืองและพื้นที่ชายแดน

คำถามแรกของคุณ ให้เวลาหนึ่งชั่วโมงผมก็ตอบไม่หมด

มายาคติมีตั้งแต่เรื่องที่ว่า ชายแดนเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ชายแดนเป็นพื้นที่ของความไม่เสถียร ไม่มั่นคง ชายแดนเป็นพื้นที่ของความป่าเถื่อน เป็นพื้นที่ของธุรกิจผิดกฎหมาย มายาคติเหล่านี้เป็นภาพที่รัฐพยายามสร้างขึ้น

สมัยก่อนคุณต้องเข้าใจว่า ชายแดนมีพื้นที่ซ้อนกันอยู่อย่างน้อยสองสามมิติ อย่างหนึ่งก็คือชายแดนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นชายแดนจึงมีทั้งพรมแดนทางวัฒนธรรม กับพรมแดนทางชาติพันธุ์

วัฒนธรรมกับชาติพันธุ์ใกล้กันมาก แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว วัฒนธรรมมีความหมายที่กว้างกว่าความเป็นชาติพันธุ์ ในเขตวัฒนธรรมหนึ่งอาจมีเขตชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มอยู่ด้วยกันก็ได้ เช่น ในเขตวัฒนธรรมหนึ่งมีคนเมือง ไทใหญ่ และไทเขิน อยู่ร่วมกัน แต่ต่างชาติพันธุ์กัน

สังคมไทยนิยามวัฒนธรรมไว้เป็นวิถีชีวิต จารีตประเพณี แต่วัฒนธรรมคืออะไรบางอย่างที่ให้ความหมายกับชีวิตเรา เราสามารถเข้าใจโลกผ่านวิธีคิดชุดหนึ่ง ซึ่งอธิบายอะไรบางอย่างแก่เราอย่างมีเหตุมีผล

แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน โลกเปลี่ยน วัฒนธรรมก็ต้องเปลี่ยน เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องของสิ่งดีงาม เรานิยามความหมายของวัฒนธรรมผิด วัฒนธรรมคือระบบของการช่วงชิงความหมายหรือการปรับความหมายให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง แต่เราไปยึดว่าวัฒนธรรมต้องดี วัฒนธรรมต้องเป็นเรื่องตายตัว เมื่อเราคิดแบบนี้เราก็พัง เพราะวัฒนธรรมแบบนี้เปลี่ยนไม่ได้

วัฒนธรรมเลวทรามมีมากมาย แต่ไม่ยอมเปลี่ยนกัน ผมบอกนักศึกษาว่าวัฒนธรรมว้ากน้องเลวทรามมากเลย คุณกำลังสอนน้องให้อ้าแขนรับเผด็จการตั้งแต่เข้ามาเรียนปีหนึ่ง ผมพยายามสู้กับนักศึกษามาหลายปี แม้ตอนนี้เพลาลงบ้าง แต่วัฒนธรรมว้ากก็ยังไม่ตาย

กลับมาที่คอนเซ็ปต์เรื่องรัฐชาติ เมื่อรัฐชาติสถาปนาตัวเองช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา รัฐพยายามจัดพื้นที่ให้มีความชัดเจน เพราะสมัยก่อนคอนเซ็ปต์เรื่องรัฐในดินแดนแถบนี้ไม่ได้วางอยู่บนแนวคิดเรื่องพื้นที่ แต่เมื่ออิทธิพลของอาณานิคมเข้ามา ชนชั้นนำก็นำคอนเซ็ปต์ตะวันตกเข้ามาใช้ เพื่อสามารถคุยกับฝรั่งรู้เรื่อง

สมัยที่นักล่าอาณานิคมเข้ามา เขาถามอยู่ตลอดว่า พรมแดนระหว่างไทยกับพม่าอยู่ตรงไหน คำตอบก็คือไม่มีใครตอบได้ เพราะคนแถวนี้ไม่ได้คิดแบบนั้น ไม่ได้คิดว่าหลักกิโลเมตรนี้มีรั้ว…ก็มันไม่มี ผู้คนมีระบบคิดด้วยตนเองว่าตนจะจงรักภักดีต่อเมืองไหน เราเป็นรัฐแบบเมือง (City State) รัฐชาติพยายามเข้ามาควบคุมพื้นที่ทุกตารางนิ้ว แต่ชายแดนเป็นพื้นที่ที่ต่อต้านการควบคุม เพราะเป็นพื้นที่ที่คนย้ายไปย้ายมาตลอดเวลา ผู้คนไม่ต้องการให้รัฐบงการอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ในบางครั้งพวกเขาก็อาจต้องการการคุ้มครองจากรัฐ แต่โดยปกติแล้วรัฐจะเข้ามารีดไถตลอดผ่านการเก็บภาษี เพราะฉะนั้นผู้คนก็จะมีความรู้สึกที่กระอักกระอ่วนต่อรัฐเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพื้นที่ชายแดนเป็นเช่นนี้มาตลอด เพราะฉะนั้นรัฐจึงสร้างภาพว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ป่าเถื่อน เป็นพื้นที่ที่มียาเสพติด เป็นพื้นที่ที่มีสภาวะไม่เสถียร ไม่มั่นคง สิ่งเหล่านี้เป็นมายาคติ เหมือนที่เขาสร้างภาพว่าชาวเขาทำลายป่า

มายาคติเหล่านี้คือการสร้างความชอบธรรมของรัฐที่ต้องการเข้าไปควบคุมใช่ไหม

รัฐควบคุมไม่ได้มาตั้งแต่ต้นแล้ว คุณอย่าลืมว่ารัฐเองก็ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าคุณไปดูที่เมืองชายแดน จะมีทั้งกระทรวงมหาดไทย ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทหาร ตำรวจ เยอะแยะไปหมด แต่ละหน่วยงานมีผลประโยชน์ต่างกัน ไม่ได้หมายความว่ามีความมั่นคงหนึ่งเดียวในความเป็นรัฐ แต่มีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ทะเลาะกันมาตลอด ตม. ก็มีผลประโยชน์แบบหนึ่งในการที่จะอนุญาตให้คนเข้าเมือง อำเภอก็มีผลประโยชน์อีกแบบหนึ่งในการขายบัตรประชาชน

สมัยก่อนทหารไทยก็ขายฝิ่น สงครามเย็นเป็นยุคเฟื่องฟูของยาเสพติด เพราะยาเสพติดเป็นเครื่องมือระดมเงินซื้ออาวุธโดยไม่ต้องกลับไปสู่คลัง ซีไอเอก็ใช้วิธีนี้ ขายยาเสพติดแล้วเอาเงินไปซื้ออาวุธเพื่อสนับสนุนกองทัพที่พวกเขาเลี้ยงดูอยู่ นายพลวังเปาที่เป็นทหารลาวเชื้อสายม้งก็อยู่ได้เพราะฝิ่น

พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นพื้นที่ลำเลียง ชาวบ้านไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ชาวบ้านอาจจะถูกจ้างให้ปลูกหรือเป็นแรงงาน แต่คนลำเลียงจริงๆ ไม่ใช่ชาวบ้านหรอก เป็นการเมืองที่ใหญ่กว่าท้องถิ่น ใหญ่กว่าชายแดน แต่ภาพที่เราเห็นอย่างสามเหลี่ยมทองคำ เป็นภาพชายแดนที่เป็นแหล่งฝิ่น แต่คนไม่ค่อยรู้ว่าอังกฤษนำฝิ่นจากอินเดียไปปลูกที่พม่าเพื่อขายจีน เพราะลงทุนน้อยกว่าปลูกที่อินเดีย

เรื่องพวกนี้คนไม่ค่อยรู้ ประวัติศาสตร์ก็เอาแต่โทษจีนฮ่อ โทษโกก้าง (กลุ่มชาติพันธุ์ในเขตปกครองตนเองโกก้าง ตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า) ไม่ใช่หรอก ยาเสพติดเข้ามาตั้งแต่สมัยอาณานิคม นี่คือมรดกชิ้นหนึ่ง สมัยก่อนม้งไม่ได้ปลูกฝิ่น…โอเค ปลูกบ้าง แต่ปลูกเป็นยา เขายังเรียกกันทุกวันนี้ว่าฝิ่นคือยาดำ ไม่ใช่ยาเสพติด

ฉะนั้น การสถาปนาอำนาจทำได้ง่ายด้วยการไปสร้างมายาคติ แล้วก็หลอกให้คนเชื่ออยู่แบบนั้น

แสดงว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ถูกหลอกใช้โดยรัฐไทยและซีไอเอ?

ใช่ พวกเขาเป็นเหยื่อเสมอมา รัฐก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ผลประโยชน์เหล่านี้ไม่เคยตกมาถึงชาวบ้าน ผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ

เมื่อคุณศึกษาเรื่องชายแดน คุณจะเห็นความน่ารังเกียจของวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมชนชั้น ถูกสถาปนาขึ้นจากศูนย์กลางอำนาจของบ้านเรานี่เอง เราไม่ได้นำเข้ามาจากไหนหรอก เรื่องการเหยียดชนชั้น การเหยียดสีผิว การเหยียดคนไร้การศึกษา สิ่งเหล่านี้มาจากศูนย์กลางของอำนาจเสมอมา ดังนั้น วัฒนธรรมของเราจึงมองคนบ้านนอกเป็นอีแจ๋ว นี่คือวัฒนธรรมกรุงเทพฯ แล้วผลิตซ้ำด้วยละครน้ำเน่า

เคยมีกรณีที่คนชายแดนพยายามช่วงชิงความหมายกลับคืนบ้างไหม

สู้ไม่ได้ เพราะการช่วงชิงความหมายจะต้องมีพื้นที่ แต่รัฐไม่เคยเปิดพื้นที่เหล่านี้ รัฐไทยไม่เคยเปิดพื้นที่เลย ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เพราะเราไม่มีพื้นที่ในการคุยกัน


เทคนิควิธีว่าด้วยอำนาจบริเวณชายแดน

แม้ว่าในบริเวณพรมแดน เราจะพบเห็นว่าอำนาจรัฐถูกแสดงอย่างมหาศาล มีการนำเอาเทคนิควิธีว่าด้วยอำนาจต่างๆ เช่น การลาดตระเวน การตรวจบัตรประชาชน การใช้กองกำลังทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยงานต่างๆ แต่โดยเนื้อแท้ความจริงแล้ว รัฐชาติมิได้มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียว ในทางตรงกันข้าม หน่วยงานต่างๆ ของรัฐต่างเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์และแสดงอำนาจตน เพราะบริเวณชายแดนมีผลประโยชน์มหาศาล และการที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้อำนาจรัฐไม่อาจสถาปนาขึ้นได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ในทางตรงกันข้าม ชายแดนเป็น ‘พื้นที่’ ซึ่งอำนาจมีความซับซ้อนยุ่งเหยิง กำกวม และขัดแย้งกัน การเคลื่อนย้ายของสินค้า ผู้คน และวัฒนธรรมข้ามพรมแดนของรัฐชาติอย่างมากมายมหาศาลยังทำให้รัฐชาติบริเวณชายแดนเป็นพหุลักษณ์ หรือมีลักษณะข้ามชาติ (transnational) มีโครงสร้างอำนาจซ้อนทับกันอยู่ มีการหลั่งไหลของทุนข้ามชาติเข้ามาในท้องถิ่น ส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมีความซับซ้อนและเลื่อนไหลเพิ่มขึ้น

ที่มา: ชนชายแดนกับการก้าวข้ามพรมแดน โดย ยศ สันตสมบัติ และคณะผู้วิจัย (2555)

อะไรคือความแตกต่างของคำว่า ‘ชายแดน’ กับ ‘พรมแดน’

พรมแดนให้ความหมายว่ามีความชัดเจน แต่ชายแดนคลุมเครือ มีความยืดหยุ่น มีลักษณะที่กำกวม และกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนลอดรัฐ ไม่มีกฎหมายอันใดอันหนึ่งตายตัว มีการเจรจาต่อรองเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลา เป็นมาตั้งแต่ในอดีตและยังเป็นอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับพรมแดน ในความหมายของชาวบ้านก็จะมีอยู่ชุดหนึ่ง แต่ว่าไม่มีภาษาที่คนจะสื่อกัน เช่น ถ้าคุณอยู่เชียงใหม่ เชียงใหม่เป็นพื้นที่ของคนเมืองหรือคนล้านนา แต่ถ้าคุณเดินทางไปทางอำเภอหางดง อำเภอจอมทอง กระทั่งถึงอำเภอฮอด คุณจะเริ่มเจอกับพรมแดนทางวัฒนธรรม เป็นวัฒนธรรมที่ไทใหญ่กับแม่ฮ่องสอนเคยเข้ามาในอดีต ยาวไปบรรจบกันตรงที่อำเภอขุนยวม อำเภอแม่สะเรียง พื้นที่ตรงนี้เป็นเหมือนพื้นที่พรมแดนแบบหนึ่ง เป็นพรมแดนทางวัฒนธรรม แต่ไม่มีใครไปขีดเส้นไว้หรอก

กรณีแม่สะเรียง คุณจะเห็นว่ามีวัดพม่า วัดไทใหญ่ วัดคนเมือง โบสถ์คริสต์ สิ่งเหล่านี้คือสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมที่ช่วงชิงกันอยู่

ในขณะที่คำว่าชายแดน หมายถึงคนหลายกลุ่มมาอยู่ร่วมกัน เดิมทีชายแดนไม่ใช่เขตแดนระหว่างรัฐชาติสองชาติ…ไม่ใช่ แต่ชายแดนมีความหมายว่า พื้นที่ที่ไม่มีคนกำกับควบคุมอย่างชัดเจน อำนาจมีความคลุมเครือ คนต่อรองกันได้ ช่วงชิงกันได้ เป็นเรื่องของการปรับจุดความสัมพันธ์ การปรับจุดเผชิญหน้า ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของฉันหรือของเธออย่างแน่นอน

สิ่งที่อาจารย์อธิบายเมื่อครู่คือ ลักษณะของพรมแดนก่อนที่ลัทธิอาณานิคมจะเข้ามาในดินแดนแถบนี้ใช่ไหม

ใช่ แต่หลังจากขีดเส้นแบ่งพื้นที่แล้วก็ยังเป็นอยู่ ไม่ได้หมายความว่าขีดเส้นแล้วอำนาจจะเข้ามาในพื้นที่เลย เพราะชาวบ้านก็ยังอยู่เหมือนเดิม

ถ้าคุณไปเมืองชายแดนทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนไหลเข้า กะเหรี่ยงก็ไหลเข้ามา ไหลเข้ามาทำไม้ให้อังกฤษ เขาตั้งรกรากจนกลายเป็นชนกลุ่มน้อย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย มีคนหลายแสนคนเข้ามา คนส่วนหนึ่งเข้ามาทำไม้ อีกส่วนหนึ่งอาจจะเดินทางเข้ามาทำมาหากิน แล้วก็พลัดหลงเข้ามาบ้าง เพราะเขาไม่เคยสนใจว่าเขาอยู่ฝั่งพม่าหรือฝั่งไทย บางทีก็หนีสงครามเข้ามา เพราะในฝั่งพม่าเมื่อสงครามโลกสิ้นสุด แต่สงครามภายในไม่จบ สงครามเกิดขึ้นอย่างเป็นระลอกมากว่า 40 ปี ที่ผ่านมามีการสู้รบมาโดยตลอด ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มก็อพยพจากจีนตอนใต้ลงมา เพราะถูกพวกฮั่นขับไล่

การอพยพของผู้คนมีหลายสาเหตุ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาจากสงครามหรือเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว บางคนทำการค้าแล้วชอบทำเลแถบนี้แล้วย้ายมาอยู่ก็มี อย่างจีนฮ่อ เราก็จะมองว่าคือกองพล 93 (ก๊กมินตั๋ง) ซึ่งจริงๆ แล้วซับซ้อนกว่านั้นเยอะ จีนฮ่อที่ไม่ใช่ลูกหลานกองพล 93 ก็มี เขาอาจเข้ามาทีหลังหรือเข้ามาก่อนล่วงหน้าก็มี เพราะฉะนั้นการอพยพของผู้คนจะมาเป็นระลอก ไม่ได้เข้ามาครั้งเดียว เหมือนกับจีนอพยพที่อพยพเข้ามาหลายระลอกและหลายสาเหตุ

รัฐมองชายแดนอย่างไร และผู้คนบริเวณชายแดนมองชายแดนอย่างไร

ถ้ามองจากมุมของรัฐ หรือจากมุมมองของคนที่ใช้รัฐให้เป็นประโยชน์ ชายแดนคือทุกตารางนิ้วของกู ทั้งๆ ที่ไม่เคยใช้ประโยชน์ ไม่เคยมาดูแลเลย แต่ถ้าใครมาแย่งพื้นที่ตรงนี้ก็จะเป็นจะตาย ปลุกความเป็นชาตินิยมได้ นี่เป็นชายแดนแบบของรัฐ

ชายแดนของชาวบ้านต่างออกไป ชายแดนเป็นพื้นที่ทำกิน เป็นพื้นที่ที่เขามาแลกเปลี่ยนสินค้าที่ตลาด เยี่ยมญาติพี่น้อง เป็นทางผ่านในชีวิตของเขา เป็นพื้นที่ของการปฏิสังสรรค์ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล เป็นพื้นที่ที่อาจจะไม่มีกฎระเบียบอะไรที่เข้มงวดมากนัก เป็นพื้นที่ตรงกลาง

ทุกวันพระใหญ่ เราจะเห็นชาวไทใหญ่ในเมืองเชียงใหม่มักจะสวมชุดไทใหญ่ไปวัดป่าเป้า ในวันแบบนั้นเราจะเห็นพรมแดนทางวัฒนธรรมในเมืองเชียงใหม่ชัดเจนมาก กรณีนี้คือความหมายพรมแดนทางวัฒนธรรมอย่างที่อาจารย์อธิบายเมื่อครู่หรือไม่

คุณกำลังให้ความหมายพื้นที่ชายแดน ว่าเป็นพื้นที่ใดก็ได้ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม…ก็ได้ ถ้าคุณไปไนท์บาซาร์ ไนท์บาซาร์ก็เป็นพื้นที่ชายแดน เพราะมีคนร้อยพ่อพันแม่ กระทั่งคนใต้ก็มาค้าขายที่ไนท์บาซาร์เยอะมาก ไม่ใช่เฉพาะคนภาคเหนือนะ ชาวต่างชาติหลายสิบชาติ คนจีนก็เข้ามา เพราะฉะนั้นพื้นที่ใดก็ตามที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีการแลกเปลี่ยน มีการปฏิสัมพันธ์กัน ก็มีลักษณะของความเป็นชายแดน ตลาดนี่เป็นชายแดนแน่นอน

ถ้าจะนิยามอย่างนั้น เมืองก็คือชายแดน?

เมือง – ถ้าเป็น cosmopolitan หมายความว่า มันมีความหลากหลายของผู้คน…ใช่ นี่คือการผลักความหมายของชายแดนให้ถึงที่สุด ซึ่งคนก็จะมองไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่

อำนาจพิเศษในการปกครองของไทยตอนนี้ ส่งผลอย่างไรบ้างกับเรื่องชายแดน

กำลังส่งผลมากขึ้น เพราะนโยบายที่รัฐยึดชายแดนนั่นแหละ ผมเชื่อเลยว่าถ้ารัฐบาลทหารหมดอำนาจ พวกเขตเศรษฐกิจพิเศษอะไรต่างๆ จะถูกยกเลิก ชาวบ้านจะยึดคืน แต่สุดท้ายจีนจะยึดหมด

กรณีเชียงของ คุณจะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษบ้าอะไรที่นั่น เชียงของมีอย่างเดียวคือโลจิสติก ซึ่งอยู่ในมือจีนแล้ว เชียงแสนก็เหมือนกัน เข้าข่ายเดียวกันเลย โลจิสติกตอนนี้อยู่ในมือจีนหมดแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่า ความไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์เรื่องชายแดน คุณไปดูสิตอนนี้เขาทำอะไรกับชายแดน เขาเปิดสิ่งที่เขาเรียกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ เอาชายแดนมาทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มันไม่ใช่

ในสภาพปัจจุบัน การต่อสู้ต่อรองของชาวบ้าน ยากหรือง่ายกว่าเดิม

ในสภาวะที่สังคมเข้มแข็ง ก็พอมีการต่อรองได้ แต่เมื่อไหร่ที่รัฐล้อมสังคมเหมือนอย่างทุกวันนี้ ก็ไม่สามารถจะไปต่อรองได้ ตอนนี้สังคมมีอยู่วิธีเดียวคือต้องไปดึงเอาประชาคมโลกมาเป็นพันธมิตร แต่พอทำแบบนั้นมันก็จะมีคนบอกว่า เฮ้ย…ขายชาติ ไปดึงฝรั่งมา ก็เพราะว่าเขาไม่มีทางเลือก ไม่มีใครฟังเขา เขาก็ต้องไปฟ้องยูเอ็น ฟ้องคนโน้นคนนี้ที่ฟังเขาแล้วก็ได้ผล ทำไงได้ ก็คุณไม่ฟังเขาเอง คนไม่สามารถจะนิ่งเฉย เป็นฝ่ายถูกกระทำได้อย่างเดียว


รัฐชาติในทุนนิยมยุคหลัง

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แนวความคิดว่าด้วยเอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐชาติ เริ่มถูกสั่นคลอนและท้าทายเพิ่มมากขึ้น วิธีคิดเดิมที่มองว่าชนชาติทุกชนชาติควรมีรัฐของตนเอง และในขณะเดียวกันรัฐทุกแห่งก็ควรมีชนชาติเดียว ซึ่งเป็นแนวคิดตะวันตกที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยของจักรวรรดินิยม (Dunn, 1994) เริ่มถูกมองว่าเป็นแนวคิดล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของทุนนิยมยุคหลัง (late capitalism)

ความพร่ามัวของพรมแดนรัฐชาติภายใต้อิทธิพลของการขยายตัวของระบบทุนนิยม การขยายตัวของเขตการค้าเสรีและบรรษัทข้ามชาติ การก่อร่างสร้างตัวของกลุ่มภูมิภาค การล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียตและกำแพงเบอร์ลิน ล้วนแล้วแต่ทำให้เราเริ่มมองเห็นชัดเจนขึ้นเป็นลำดับว่า รัฐชาติทุกแห่งประกอบด้วยพหุสังคม และเกลื่อนกล่นไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ การมองรัฐชาติเชิงเดี่ยวตามลัทธิชาตินิยมแบบเก่าจึงมองข้ามความสำคัญของ ‘การเมืองวัฒนธรรม’ และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และไม่ช่วยให้เราตั้งประเด็นคำถามและทำความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งของสังคมปัจจุบันได้อย่างแท้จริง

ที่มา: อำนาจ พื้นที่ และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์: การเมือง วัฒนธรรมของรัฐชาติในสังคมไทย โดย ยศ สันตสมบัติ และคณะผู้วิจัย (2548)

*หมายเหตุ – บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือ The Border คน พรมแดน รัฐชาติ (ตีพิมพ์ตุลาคม 2559) เป็น 1 ใน 5 เล่มของหนังสือชุด ‘ผลึกความรู้: ชุดงานวิจัยฉบับเคี้ยวง่าย’ ผลผลิตจากโครงการพัฒนาระบบหนังสือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่พยายามคัดสรรงานวิจัยชิ้นโดดเด่น ทรงคุณค่า นำมาเรียงร้อยให้ย่อยง่าย แปรรูปงานวิจัยบนหอคอยงาช้างให้เป็น ‘ความรู้ฉบับประชาชน’ ผ่านบทสัมภาษณ์ขนาดยาวจากนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในสาขาความรู้ต่างๆ

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า