ในคลังแสงของ Nenflix มีภาพยนตร์และซีรีส์มากมายให้เลือกชมได้อย่างไม่หมดไม่สิ้น แต่อีกหนึ่งหมวดที่น่าหลงใหลไม่แพ้กันคือหมวดภาพยนตร์สารคดี
Minimalism: A Documentary About the Important Things (2016) ที่อาจไม่ใช่สารคดีเรื่องใหม่ล่าสุด แต่แนวคิดที่ถูกถ่ายทอดออกมาก็ไม่ได้เก่า เชย กลับน่าสนใจอย่างยิ่ง ในวันที่โลกนี้ดูท่าจะกำลังอีรุงตุงนัง
ความ minimal ที่ฮิปสเตอร์ชาวไทยคุ้นเคยกันดี น่าจะมีต้นตอมาจากรูปถ่ายที่เรียบง่าย โฟกัสแค่วัตถุไม่กี่อย่าง ขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกด้วยสีสัน แล้วใช้องค์ประกอบที่มีอยู่น้อยนิดนั้นเล่าเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งภาพมักจะถูกแวดล้อมไปด้วยช่องว่าง อาทิ ท้องฟ้า ทุ่งหญ้า พื้นถนน ผนังหรือกำแพง ฯลฯ แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วหลักการและแนวคิดของมินิมอลลิสต์นั้นเป็นอย่างไรกันแน่ ภาพยนตร์สารคดี Minimalism: A Documentary About the Important Things มีคำตอบให้แน่นอน
เรื่องราวเริ่มต้นจากชายหนุ่มสองคนที่เรียกตัวเองว่า The Minimalist ไรอัน นิโคเดมัส (Ryan Nicodemus) และ โจชัว ฟิลด์ส มิลล์เบิร์น (Joshua Fields Millburn) เพื่อนสนิทที่ร่วมกันเขียนหนังสือ Minimalism: Live a Meaningful Life และด้วยเหตุนี้เอง เขาทั้งสองจึงต้องออกเดินสายโปรโมทหนังสือตามคลื่นวิทยุ รายการโทรทัศน์ จัดเสวนาในห้องสมุด รวมทั้งในย่านชุมชนเล็กๆ
ก่อนที่ผมจะค้นพบ Minimalism ผมว่าชีวิตผมก็ดูเหมือนคนอื่นๆ ผมมีสมบัติเยอะมาก – หนังสือ ดีวีดี เสื้อผ้าราคาแพง แต่พอผมเริ่มจะปล่อยวาง ผมก็เริ่มรู้สึกไม่ผูกมัด มีความสุขมากขึ้น เบาขึ้น
– โจชัว ฟิลด์ส มิลล์เบิร์น
คู่หู The Minimalist อีกคนอย่าง ไรอัน นิโคเดมัส เล่าถึงชีวิตวัยหนุ่มเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่จะรู้จักแนวคิดนี้จากเพื่อนสนิทว่า จากที่เคยเข้าใจว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตคือการหาเงินให้ได้มากๆ มีบ้านเป็นของตัวเอง ซื้อสินค้าตามที่ใจต้องการ แต่เมื่อเขาทำงานและเก็บเงินได้ 50,000 ดอลล่าร์ อย่างรวดเร็ว เขาก็พบว่าไม่ได้มีความสุขกับมันจริงๆ
แดน แฮร์ริส (Dan Harris) ผู้เขียน 10% Happier: How I Tamed the Voice in My Head, Reduced Stress Without Losing My Edge, and Found Self-Help That Actually Works-A True Story เผยว่า “ชีวิตส่วนใหญ่ของคนเราอยู่ในวังวนของพฤติกรรมที่ทำจนเป็นนิสัยโดยอัตโนมัติ เราเสียเวลากับการตามหา ซึ่งไม่ค่อยได้อะไรกลับมา แถมเรายังหลงกับการตามหาจนทำให้เราไม่มีความสุข”
ระหว่างที่สารคดีพาเราไปค้นหาแก่นสารของความเป็น minimalism นั้น ความคิดเห็นของผู้คนต่างๆ กว่า 20 ชีวิต ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเล่าประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ซึ่งมีทั้ง นักเขียน นักออกแบบบ้าน ด็อกเตอร์จากหลากหลายสาขา สถาปนิก หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญอาการบ้าสมบัติแบบย้ำคิดย้ำทำ
ภาพหนึ่งที่ปรากฏอยู่ไม่น้อยในสารคดีคือภาพของฝูงชนที่แห่กรูเข้าไปจับจองสินค้าใหม่ล่าสุดในห้างสรรพสินค้า ภาพเหล่านั้นอาจบอกกับเราว่าเรากำลังอยู่ในจุดวิกฤติของการเสพติดวัตถุนิยมแบบสุดโต่ง
…ทำไมบ้านถึงมีที่จอดรถสามคัน รถคันแรกสร้างความสุข ความปิติยินดี ประโยชน์ใช้สอย รถคันที่สองโผล่มาเพราะว่าเราเบื่อรถคันแรก และในฐานะมนุษย์เราถูกดึงเข้าหาความไม่ปิติยินดี มันเป็นการเสพติดอย่างแท้จริง และเราก็ถูกกระตุ้นให้คงการเสพติดนั้นไว้ผ่านเทคโนโลยีและข่าวสาร
– เจสซี เจค็อบส์ (Jesse Jacobs) ผู้ประกอบการ
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะทำให้เราเข้าใจ minimalism มากขึ้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของแฟชั่น รูปถ่ายนายแบบนางแบบในนิตยสารหรือบนโซเชียลมีเดียที่สวมเสื้อผ้าสบายๆ ไม่มากชิ้น ก็นับเป็นวิถีหนึ่งของชาว Minimalist ซึ่งแบรนด์ชื่อดังมากมายก็เริ่มหันมาให้ความสนใจกันไม่น้อย หลังจากที่แฟชั่นแบบยิ่งเยอะยิ่งดีนั้นเริ่มตกเทรนด์ไปแล้ว
“อุตสาหกรรมแฟชั่นในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนโดยฟาสต์แฟชั่น ตอนที่แม่หรือยายเราซื้อเสื้อผ้า ฤดูกาลของแฟชั่นน่าจะมีสี่หรือสองฤดูต่อปีเท่านั้น คือเสื้อผ้าใส่ตอนอากาศหนาวกับใส่ตอนอากาศร้อน แต่ตอนนี้เราอยู่ในวงจรที่มีถึง 52 ฤดูต่อปี พวกเขาอยากให้เรารู้สึกว่าเรากำลังตกเทรนด์ หลังผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ เราจะได้ซื้อของใหม่ในอาทิตย์ถัดไป
“ลองนึกถึงมุมมองของแฟชั่น มันมีแนวคิดแฝงว่า เราสามารถโยนสิ่งของทิ้งไปได้ ไม่ใช่เฉพาะตอนที่ของชิ้นนั้นเสีย แต่เป็นตอนที่มันไม่มีคุณค่าทางสังคม หรือตอนที่มันไม่ทันสมัยแล้ว”
เป็นไปได้ว่าแฟชั่นของมินิมอลลิสต์อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่าเรากำลังย้อนเทรนด์กลับไปในยุคคุณย่าคุณยายที่นิยมใช้สอยแต่สิ่งที่มีและเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แนวคิดทำนองนี้นำไปสู่โปรเจ็คท์หนึ่งที่ทำตามกันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ นั่นคือ Project 333 ซึ่งริเริ่มโดย คอร์ทนีย์ คาร์เวอร์ (Courtney Carver) ที่ทดลองใช้เสื้อผ้าแค่ 33 ชิ้น เป็นเวลาสามเดือน และในจำนวน 33 ชิ้นนั้นรวมถึงเครื่องประดับด้วย
รูปภาพและคลิปจาก Project 333 ส่งต่อกันไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นไวรัลที่ผู้สนใจหลายต่อหลายคนหันกล้องมาถ่ายตัวเองพร้อมกับเครื่องแต่งกาย 33 ชิ้นของพวกเขา
นอกจากเรื่องแฟชั่นแล้ว บ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่ง ก็บ่งบอกถึงแนวคิดแบบ minimalism ได้ชัดเจนไม่แพ้กัน มีผู้คนไม่น้อยที่หันหลังให้กับที่อยู่อาศัยใหญ่โต โอ่อ่า การเป็นหนี้เป็นสินเพื่อแลกกับการมีบ้านหรูในฝันไม่ใช่คำตอบของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว แต่กลับเป็นบ้านขนาดเล็กต่างหากที่พวกเขาต้องการ
“สิ่งที่เราอยากจะทำคือการออกแบบบ้านโดยมีโจทย์ว่า หนึ่ง คนจะอาศัยอย่างไร และสอง อะไรที่จำเป็นจริงๆ” เจย์ ออสติน นักออกแบบบ้านขนาดเล็กกล่าว
ลีโอ บาโบทา (Leo Babauta) ผู้เขียน Zen Habits ยังเสริมอีกว่า “ผมคิดว่าผู้คนซื้อของเพราะพวกเขาพยายามเติมเต็มความว่างเปล่าภายใน ผมรู้เพราะว่าผมเคยเป็นแบบนั้น”
…ถึงแม้กรุงโรมกำลังมอดไหม้ ก็ยังพอมีเวลาไปจับจ่ายที่อิเกีย
ส่วนหนึ่งในหนังสือ Everything that Remains หนังสือเล่มล่าสุดของคู่หู The Minimalist
ความ minimal ยังไม่สุดอยู่เพียงเท่านั้น โคลิน ไรท์ (Colin Wright) ไปไกลกว่าคนอื่นๆ โดยการที่เขาออกจากงานหลักที่ทำเงินได้ดีมาก ทิ้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยไว้ข้างหลัง แล้วหอบหิ้วกระเป๋าเพียงสองใบ ซึ่งถ้านับเฉพาะสิ่งของที่สำคัญในกระเป๋านั้น ผลที่ได้คือในโลกนี้เขามีของอยู่แค่ 51 ชิ้น
โคลิน ไรท์ เรียกตัวเองว่าเป็นนักท่องเที่ยวเต็มเวลา (full-time traveler) เขาท่องไปในที่ต่างๆ ทั่วโลก และนั่นทำให้เขามีความสุข รู้สึกได้ถึงคุณค่าและความหมายในชีวิตที่แท้จริง เขาเขียนบล็อกของตัวเอง และส่งต่อเรื่องราวที่ประสบพบเจอไปให้โลกทั้งโลกได้ยินเสียงของเขาอีกด้วย
ใช่หรือไม่ว่า minimalism กำลังเข้ามาแทนที่ความเป็นวัตถุนิยมแบบสุดโต่ง ด้วยเหตุที่ความมั่งมี การจับจ่ายใช้สอยอย่างบ้าคลั่ง และการทำงานหนักเพื่อผลตอบแทนเป็นเงินก้อนโตนั้น อาจไม่ได้นำมาซึ่งความสุขที่แท้จริงเสมอไป หรือหากจะนิยามกันให้ง่ายกว่านั้น minimalism อาจเป็น American Dream ในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นได้ หากเราไม่หลงอยู่ในวัฏจักรของทุนนิยมจนเกินไป ไม่เป็นทาสที่ปกครองด้วยเทคโนโลยี ข่าวสาร การตลาด และการโฆษณาชวนเชื่อที่อาจทำให้เราติดกับ พูดอีกอย่างก็คือ หากเรารู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ เข้าใจถึงจิตใจตนเองว่าอะไรที่สำคัญต่อเราจริงๆ ถึงเวลานั้นเราก็อาจเป็นมินิมอลลิสต์อีกคนบนโลกนี้แล้วก็ได้
ผมอยากให้ทุกคนร่ำรวยและมีชื่อเสียง ทุกคนจะได้เข้าใจว่านั่นไม่ใช่คำตอบ
– จิม แคร์รี นักแสดงชื่อดัง