1 รู้จักเด็กที่ไม่ ‘เด็กๆ’
ขณะที่เราในวัยเดียวกันกำลังมะงุมมะงาหราอยู่กับการหาปุ่มเปิดคอมพิวเตอร์ และพยายามจะปิดมันด้วยการชักปลัก แต่ ‘ภูมิ’ ภูมิปรินท์ มะโน แฮคระบบคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนได้ตั้งแต่ชั้น ม. 2 ก่อนตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนในชั้น ม.4 และกลายเป็น software developer ที่อายุน้อยที่สุดของบริษัท OmniVirt สตาร์ทอัพสัญชาติไทยในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยวัยเพียง 17 ปี
นอกจากความก้าวหน้าทางอาชีพที่เขาพุ่งไปอย่างไม่ลังเล เป้าหมายระยะยาวของภูมิในการสร้างชุมชนนักพัฒนาก็น่าสนใจมาก
“วันหนึ่งเราก็ต้องตาย ลูกหลานของเราก็จะเป็นคนทำโปรดักท์นี้ต่อ ซึ่งถ้ามีความรู้เรื่องนี้อยู่คนเดียว เมื่อผมไปอยู่อเมริกาหรือผมแต่งงานมีลูกแล้วตาย มันก็จบไปแค่นั้น ทุกอย่างจบแค่เรา แต่ถ้าเราให้ความรู้กับนักพัฒนา ถ้าเราให้ความรู้กับเด็กๆ ที่จะโตมาเป็นโปรแกรมเมอร์ในไทย ให้เขาได้เจออะไรไม่เหมือนกับที่ผมอยู่ในโรงเรียน คือผมเป็นเด็กคนเดียวหรือเป็นเด็กไม่กี่คนในโรงเรียนที่เขียนโปรแกรมได้ ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น”
แน่ล่ะว่ายุคสมัยต่างกัน ทักษะเหล่านี้ย่อมไหลเวียนเข้ามาสู่ความคุ้นชินกระทั่งถูกพัฒนาเป็นทักษะชั้นเลิศได้ไม่เท่ากัน กระนั้นบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ไม่ได้ถกกันเรื่องความสามารถทางเทคโนโลยีหรือเครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่เพื่อกดทับทักษะของคนยุคเก่า แต่เราอยากชวนให้มององค์ประกอบ 3 ประการที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตได้ในที่ทางที่ตนเลือกได้เองตั้งแต่ยังเยาว์ และเติบโตอย่างน่าจับตา นั่นคือ ความสนใจและความมุ่งมั่นส่วนตัว การมองเห็นโอกาสในการพัฒนาจากครู และประการสำคัญ คือการหนุนหลังจากครอบครัว
‘ภูมิ’ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ผู้หยุดการศึกษาไว้ที่ ม.4 เพื่อเริ่มการเรียนรู้ตลอดชีวิต
https://thepotential.org/2019/01/03/phoomparin-interview/
2 พ่อแม่กลับเข้าห้องเรียน
‘ห้องเรียนพ่อแม่’ ที่จังหวัดเชียงราย เป็นหลักสูตรพิเศษที่นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เปิดขึ้นมาสำหรับผู้ปกครองโดยเฉพาะ
“เพราะการศึกษาสร้างเด็กป่วยมากพอแล้ว” – คุณหมอกล่าวไว้เช่นนั้น
ห้องเรียนพ่อแม่ เป็นเพิงเล็กๆ ที่จุผู้ฟังได้ราวๆ 30 คน แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 รายวิชา ใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง เป็น 3 ชั่วโมงที่คุ้มค่าแก่การฟัง และสำคัญยิ่งต่อการเปิดโลกทัศน์ของพ่อแม่ผู้ปกครองให้เข้าใจโลกของเด็ก
ถ้าเรามองเห็นตรงกันว่าระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้กำลังป่วย และยังแพร่เชื้อร้ายไปสู่ลูกหลานของเราอย่างเงียบเชียบ สิ่งที่พ่อแม่พึงกระทำได้ก็คือ การลุกขึ้นมาปกป้องบุตรหลานด้วยการแสวงหาความรู้เพื่อให้รู้เท่าทัน และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัวตนเอง
ข้อเขียนชิ้นที่คัดเลือกขึ้นมานี้เป็นการเรียบเรียงและถ่ายทอดจากเนื้อหาการบรรยายในห้องเรียนพ่อแม่ของหมอประเสริฐแบบแทบครบทุกเม็ดโดยไม่ต้องไปนั่งเลคเชอร์ถึงที่เชียงราย อาจเรียกได้ว่าเป็นวัคซีนเข็มแรกที่พ่อแม่ทุกคนควรได้รับ ก่อนที่จะไปใช้อำนาจอบรมสั่งสอนบุตรหลานอย่างผิดๆ ถูกๆ
เปิด ‘ห้องเรียนพ่อแม่’: นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
https://thepotential.org/2017/12/30/classroom-parents/
3 ‘ครู’ ในความหมายของอาชีพที่ไม่ต้องลำเลิกบุญคุณ
คอนเทนท์ใน The Potential มีเรื่องคุณครูอยู่หลายชิ้น ทั้งครูพิงค์ที่กำราบเด็กเฮี้ยวในสลัมคลองเตยได้อยู่หมัด ครูหยกฟ้าที่แนะแนวเด็กๆ ด้วยหัวจิตหัวใจ ครูมอสผู้ใช้ศิลปะเป็นเครื่องช่วยคืนชีวิตชีวาแก่การศึกษา ฯลฯ แต่เราเลือกหยิบ ‘ครูภาคิน’ มาให้ผู้อ่านของ WAY ลองเสพ เหตุเพราะบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ทำให้ระนาบของการเรียนรู้และการศึกษาเท่าเทียมกัน เสมอภาคแบบมนุษย์ต่อมนุษย์ มนุษย์ที่ผิดได้ พลาดได้ และกำลัง ‘เรียนรู้’ ไปด้วยกัน
คิน’ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ คุณครูสอนวิชาสังคมศึกษา นักเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย ในตอนแรกภาคินไม่ได้ตั้งเป้าว่าตัวเองจะมาสอนนักเรียนในระดับนี้ ทำให้เขาต้องรื้อวิธีคิดวิธีสอนทั้งหมด
ส่วนนักเรียนที่เขาต้องมาสอนก็ไม่ได้มีพื้นฐานเป็นเด็กที่สนใจในวิชาสังคม เพราะเป็นโรงเรียนที่เน้นสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เด็กบางคนถึงขั้นว่าไม่สนใจเรียนด้วยซ้ำ เพียงมานั่งเรียนให้จบๆ เพื่อผ่านหลักสูตรไป
นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของเขาที่ต้องปรับความคิดของเด็กให้เห็นความสำคัญของวิชาสังคมเท่าๆ กับวิชาวิทยาศาสตร์
วิธีการสอนของภาคินไม่ได้เน้นการท่องจำหรือเปิดตำราแล้วสอนตาม แต่เน้นการอธิบายและกระตุ้นให้เด็กแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ เช่นการสอนวิชา Game of Thrones ที่ใช้ตัวเรื่องมาอธิบายประวัติศาสตร์ ปรัชญา หรือการเมือง
“ผมเชียร์ให้คนรุ่นใหม่พยายามสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ตอนนี้โลกมันกำลังเปลี่ยนแล้ว วิชานี้มันเปิดได้เพราะเมืองนอกเปิด แล้วเราแย้งได้ว่าโลกมันทำสิ่งนี้อยู่นะ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับครูรุ่นใหม่ที่จะได้เอาอะไรประหลาดๆ มาลองใช้ดู แล้วสร้างความชอบธรรมออกมาได้ด้วย”
เขาไม่มองว่าคำตอบของตัวเองถูกต้องที่สุด ลูกศิษย์สามารถแย้งได้ แต่ต้องมีเหตุผล มีที่มาที่ไปของความคิดนั้น จากคลาสเรียนวิชาสังคมที่พูดถึงทีไรนักเรียนก็หน่ายหน้า กลับกลายเป็นชั้นเรียนที่ทุกคนตั้งตาคอย และสนใจเรื่องทางสังคมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในชั่วโมงเรียน
แน่นอน เมื่อออกแรงผลักกรอบมากเข้า ครูย่อมเจอกำแพงและนั่นทำให้ข้อสังเกตต่อระบบการศึกษาในภาพใหญ่ของครูภาคิณน่าสนใจ
“แล้วมันตลกที่ สิ่งที่เราสอน ใช้ตอบข้อสอบโอเน็ตไม่ได้ แต่ไปสอบทุนคิงได้ ในขณะที่โรงเรียนอื่นต้องสอนแบบนั้นเพื่อไปสอบโอเน็ต แต่สอบทุนคิงไม่ได้ แสดงว่าเรากำลังอยู่ในการศึกษาแบบไหน ทุนคิงนี่มีไว้สำหรับใคร”
‘ครูภาคิน’ ครูไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผิดได้ และเป็นมนุษย์แบบพวกเอ็งนั่นแหละ
https://thepotential.org/2018/02/08/interview-pakin/
4 ห้องเรียนและคุณค่าจากท้องถิ่น
มีบทความ บทสัมภาษณ์ และทรรศนะที่น่าสนใจหลายเรื่องที่ thepotential.org นำมิติของการเรียนรู้จากท้องถิ่นมาปรุงอย่างพอดีคำจากแม่ครัวที่เป็นครู พ่อแม่ และนักกิจกรรมจากแต่ละพื้นที่ กระนั้นกลุ่มที่ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง คือสงขลาฟอรั่ม ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้รวมกลุ่ม ทำโครงการ และปลูกไอเดียเล็กๆ ให้เติบโตพร้อมกับความรับผิดชอบต่อชุมชนถิ่นเกิด
The Potential คุยกับป้าหนู พรรณิภา โสตถิพันธุ์ เพื่อถอดประสบการณ์ผ่านโครงการที่น่าประทับใจและอยู่ในความทรงจำ ที่เน้นย้ำให้เห็นว่า เด็กที่เติบโตโดยรู้ รัก รับผิดชอบต่อบ้านเกิดนั้น พวกเขาพร้อมจะกลายเป็นพลเมืองโลกได้อย่างไร รวมทั้งการที่ผู้ใหญ่ไม่ปิดกั้นและครอบความคิดเด็กนั้นก่อให้เกิดความงามอย่างไรบ้าง
‘ป้าหนู’ แห่งสงขลาฟอรั่ม: เด็กที่เติบโตจากชายหาด ท้องทะเล และแผ่นดินเกิด จะงอกงามเป็นพลเมืองโลก
https://thepotential.org/2018/12/28/pannipa-sotthibandhu/
5 ‘ลายเส้น’ บำบัด
ด้วยความเป็นการ์ตูน ภาพวาด คำน้อย เน้นการสื่อสารด้วยภาพจึงง่าย แต่มีพลังในการเข้าถึงไม่แพ้คอนเทนต์ที่นำเสนอด้วยตัวหนังสือ
ตัวอย่างชิ้นงานที่น่าสนใจของนักวาดสามเส้นสามสไตล์ที่เราแนะนำให้ลองชิม:
‘เจ้าหนูจำไม’ ความสงสัยนำไปสู่การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด การ์ตูน by KHAE
CQ หรือ Curiosity Quotient คือความอยากรู้อยากเห็นและการตั้งคำถาม เป็นคุณสมบัติที่มีส่วนช่วยให้เด็กเติบโต เรียนรู้ และอยู่รอด การตอบปัญหาไม่รู้จบของเจ้าตัวเล็กอาจทำให้หมดแรงได้เหมือนกัน แต่เชื่อสิว่าคุ้ม
https://thepotential.org/2018/09/03/curious-child-to-be-learn/
BE KIND TO YOURSELF: ใจดีกับตัวเองบ้าง…วัยรุ่น / การ์ตูน by Shhhh
ไม่มีอะไรต้องอธิบายมาก ลายเส้นมักน้อยเรียบง่ายนี้ กำลังสื่อสารบางอย่างกับเรา บางคนรู้สึกว่า เหมือนการกอดเบาๆ
https://thepotential.org/2018/08/10/be-kind-to-yourself/
ปราบ ‘อสูรร้าย’ ทำลายและทำร้ายใจเด็ก / การ์ตูน by Bonalisa Smile
5 วิธีปราบความคิดเชิงลบที่ทำลายความมั่นใจของเด็กๆ การ์ตูนชุดนี้จะตามติดชีวิตเด็กหญิงเจน สาวน้อยพรีทีน ผู้กำลังป่วนปั่นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ลองเอาใจช่วยเธอไปด้วยกันนะ
https://thepotential.org/2018/10/03/comic-critic/