ธิดา ถาวรเศรษฐ: ไม่ต้องมอบมรดกการต่อสู้แด่คนหนุ่มสาว ไม่ต้องคืนเกียรติให้คนเสื้อแดง 

นี่คือการเดินทางมาถึงทางแพร่ง สำหรับก้าวย่างสู่ปีที่ 14 ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อประธาน นปช. อย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ โยนหินลูกใหญ่ถามคนเสื้อแดงว่า จะยุบองค์กรภาคประชาชนอย่าง นปช. หรือดำรงและดำเนินต่อ

จากนั้นไม่นาน ธิดา ถาวรเศรษฐ ในฐานะประธานที่ปรึกษา นปช. ก็ร่างแบบสอบถามส่งถึงสมาชิกทั่วประเทศ ตั้ง 3 คำถามทั้งปลายปิดและปลายเปิด ให้มวลชนแสดงความเห็น คือ ควรยุบ นปช. หรือไม่, ควรปรับเปลี่ยนคณะนำของ นปช. หรือไม่, เห็นด้วยกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริงหรือไม่

สิ่งที่น่าสนใจตามมาจึงเป็นประเด็นว่า เกิดอะไรขึ้นที่ นปช.?

WAY จึงมาพบกับ ‘อาจารย์ธิดา’

ด้วยชีวิตที่ข้าม 7 ทศวรรษ ผ่านร้อนหนาว ทั้งการต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มองเห็นเยาวชนครั้งนั้น ยอมสละกระทั่งชีวิต เป็นอาจารย์ค่ายที่มหาวิทยาลัยมหิดลพานักศึกษาเรียนรู้ความเหลื่อมล้ำในเขตชนบท แต่หลังการสังหารหมู่นักศึกษา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่ออยู่เมืองไม่ได้ ธิดาก็เลือกเดินเข้าป่า จับปืน และสอนพรีคลินิกให้นักรบประชาชนที่โรงเรียนแพทย์ในเขตป่าเขา อุทิศตนให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติงานและกรรมการกลางสำรองชุดสมัชชา 4 ของพรรค

เมื่อสถานการณ์สู้รบคลี่คลาย ธิดากลับเข้าเมือง ก่อนจะร่วมหัวจมท้ายไปกับขบวนการคนเสื้อแดงในทศวรรษ 50 และขึ้นเป็นประธาน นปช. ในวันที่คนเสื้อแดงแตกพ่ายจากเดือนเมษา-พฤษภา 2553 ท่ามกลางผู้เสียชีวิตนับร้อย มวลชนถูกกวาดล้างไปกว่า 2,000 คน ธิดาหอบเอาบาดแผลของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ประกอบชิ้นส่วนขึ้นใหม่

ไม่ทันได้รับความยุติธรรมคืนสู่มิตรสหาย รัฐประหารระลอก 2 ก็ตามมาซ้ำ ในปี 2557 จากนั้นคณะรัฐประหารก็ครองอำนาจยาวสืบทอดอำนาจมาถึงปัจจุบัน

นานเสียจนกระทั่งบางใครเริ่มนับถอยหลังการดำรงอยู่ขององค์กร นปช. ยิ่งในวันที่คนหนุ่มสาวเบ่งบานทายท้าเผด็จการอยู่ในเวลานี้ นปช. และคนเสื้อแดงจะอยู่ตรงไหนในกระแสธารประชาธิปไตย

บทสัมภาษณ์นี้ไขข้อสงสัยนานัปการ ทั้งเรื่องความแตกแยกในหมู่แกนนำ การจัดวางท่าทีเปลี่ยนไป รวมไปถึงท่าทีของ นปช. และคนเสื้อแดงต่อ ทักษิณ ชินวัตร

และหากถ้าเปรียบ นปช. และคนเสื้อแดง เป็นม้าศึก พวกเขาจะอยู่ช่วงวัยไหน คิดอ่านอย่างไรต่อการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว เพดานของ นปช. อยู่ตรงไหนบนเส้นทางการต่อสู้ ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยประเด็นบาดแผลของคนเสื้อแดง

เชิญทุกท่านอ่านทัศนะของ…  ‘สหายปูน’

กำลังจะครบรอบการก่อตั้ง นปช. 14 ปี จู่ๆ  ก็มีการส่งจดหมายถามสมาชิกว่าควรมีการยุบ นปช. หรือไม่ เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร

เริ่มมาจากการที่ คุณจตุพร พรหมพันธุ์ (ประธาน นปช.) มีการสื่อสารในที่สาธารณะนานนับเดือนว่าควรจะยุบ นปช. หรือไม่ เรื่องนี้อาจจะมาตั้งแต่คุณจตุพรไปช่วยการเลือกตั้งนายก อบจ. เชียงใหม่ และมีความขัดแย้งกับคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่ง คุณทักษิณ ชินวัตร ก็มีการส่งจดหมายน้อยเข้ามาสนับสนุนผู้สมัครอีกคน ก็แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในหมู่ประชาชน

ตรงนั้นยังไม่เกี่ยวกับ นปช. โดยตรง แต่ก็บานปลายเรื่อยมา จนมีแกนนำ นปช. ภาคเหนือ เป็นแกนนำที่กระตือรือร้น และแกนนำ 17 จังหวัดภาคเหนือ ไม่เห็นด้วยกับท่าทีทางการเมืองของคุณจตุพร ออกมาพูดในลักษณะที่จะให้คุณจตุพรลาออก เพราะถ้าคุณจตุพรจะไปถามเรื่องยุบ นปช. ตัวอาจารย์เองก็คิดว่าควรจะไปถามประชาชน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น จึงมีการถามความคิดเห็นและมีความเห็นส่งเข้ามานับพันความเห็น

ตอนแรกคิดว่าเมื่อผลการสอบถามออกมาทุกอย่างก็คงจะคลี่คลาย แต่เรื่องก็ยังบานปลายอยู่ ดังนั้น เพื่อให้เป็นหลักเป็นฐาน ประเด็นที่ส่งความเห็นเข้ามารวมๆ แล้ว จะพบประเด็นหลัก คือ หนึ่ง คำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการที่จะยุบองค์กร นปช. มี 90 เปอร์เซ็นต์เลยที่ไม่เห็นด้วย หลายคนก็อาจจะไม่พอใจคุณจตุพรตั้งแต่ออกมาจากเรือนจำ และมีข่าวว่าไปถ่ายภาพกับคนโน้นคนนี้ ซึ่งจริงๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็สะสมมา

บางส่วนจะให้คุณจตุพรออกไป แต่องค์กรไม่ต้องยุบ เราก็คิดว่าจะต้องฟังให้มากกว่านี้และเป็นระบบกว่านี้ เพราะถึงที่สุดยังมีความเห็นของแกนนำส่วนกลางที่ยังพอเหลืออยู่ และยังสนใจเรื่องของ นปช. อยู่บ้าง และยังมีแกนนำภูมิภาค และพี่น้องประสานงานและพี่น้องประชาชน 3-4 ระดับ ที่เราควรจะรับฟัง อีกทั้งมีสมาชิกบางคนไม่ได้สื่อสารทางออนไลน์ ส่วนนี้ผู้ประสานงานจะสัมภาษณ์และกรอกข้อมูลส่งกลับมา

จริงๆ อยากจะรอ คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อีกคน เพื่อให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับพี่น้อง เพราะยังไม่รู้ว่าคุณณัฐวุฒิคิดอย่างไร แต่ต้องรอให้ปลดกำไล EM ก่อน (กำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวเพื่อใช้แทนหลักประกัน โดยมีเงื่อนไขของศาลห้ามแสดงความเห็นทางการเมือง)

สมมุติว่าประชาชนบอกไม่ให้ยุบ ก็จะถามต่อว่าแล้วจะทำยังไงต่อ ฉะนั้นจึงมีคำถามที่สองว่า ให้มีการปรับเปลี่ยนคณะนำไหม เราไม่ได้บอกว่าเปลี่ยนประธานนะ แต่เรารู้ว่าที่เขาเขียนมาด้วยความโกรธอาจจะเป็นแบบนั้น เพราะอาจารย์มองว่าควรจะเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าจะปรับเปลี่ยนก็เปลี่ยนทั้งคณะ ไม่ใช่โยนไปที่คุณจตุพรคนเดียว

คำถามที่สามจึงอยากตรวจสอบว่าปลายทางของเป้าหมายเห็นตรงกันไหม คือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่อำนาจเป็นของประชาชน

เราต้องการเช็คพี่น้องเราด้วยว่า มีคนไปไกลถึงสาธารณรัฐไหม หรือต้องการไปแบบอื่น เพราะไหนๆ ถามแล้ว ก็เอานโยบาย 7 ข้อ ที่เราปรับตอนปี 2560 ใส่ไปด้วย ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าไม่ชอบ บอกว่าไม่ทันเหตุการณ์ก็ได้ เราก็จะได้เข้าใจว่าปลายทางคืออะไร ยังยืนยันนโยบายของ นปช. ไหม สมมุติเกิดมีคณะนำใหม่ขึ้นมา ก็จะได้สบายใจว่าประชาชนคิดอย่างไร

ฉะนั้นที่มาที่ไปคือ หนึ่ง ทำให้เรากระจ่าง เพราะเราไม่ได้สื่อสารกับทุกคน อาจจะคิดเอาเองคนเดียวก็ได้ สอง ความเป็นทัศนะมวลชน ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับนักประชาธิปไตย ไม่งั้นคุณจะเป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตย ทัศนะมวลชนจะเกิดขึ้นได้คือจะต้องจริงใจในการรับฟัง

ที่ผ่านมาบทบาท นปช. ลดลงอย่างมาก แล้วบทบาทของอาจารย์ธิดาเป็นอย่างไร

ช่วงหลัง อาจารย์ไม่ได้เป็นประธาน นปช. แต่ก็ทำงานเต็มที่ ในการสนับสนุนคุณจตุพร ไม่ว่าจะเป็นงานขีดเขียน ประสานงานมวลชน ใช้ระบบจัดตั้งอย่างหลวมๆ และทำโรงเรียนการเมือง สัมพันธภาพระหว่างอาจารย์กับแกนนำภูมิภาคจึงมีพอสมควร เราก็ช่วยคุณจตุพรเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงที่เขาอยู่ในเรือนจำ 2 รอบ

การขับเคลื่อนเหล่านี้ ทำให้เราพอจะเข้าใจกัน และอาจารย์ยังภาคภูมิใจอย่างที่สุดที่  นปช. และคนเสื้อแดงสามารถที่จะคิดเองทำเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งแกนนำ หลายเรื่องที่คนไม่รู้ว่า นปช. และคนเสื้อแดง มีขีดความสามารถเกินกว่าที่คิด และมีความเข้าใจการเมืองในระดับที่พอจะเข้าใจแกนนำได้นะ (เน้นเสียง)

แม้แกนนำจะทำไม่ดีไม่งาม ไม่ถูกก็ตาม เขายังให้อภัย บางคนเขาอาจจะบอกว่า “ยุบเถอะไม่เห็นทำอะไรเลย ไม่เห็นได้เรื่องอะไรเลย” แต่ว่าเขามีความเข้าใจปัญหาและอาจยังมีความผูกพัน ยังมองด้านบวกที่สร้างพวกเขาขึ้นมา อาจารย์ยังบอกผู้ประสานงานว่า “นี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณจะได้ทำงานในฐานะผู้ประสานงาน นปช. หรือเปล่า” แต่ยังไงก็ตาม ขบวนการประชาธิปไตยหนึ่งๆ จะเกิดขึ้นหรือล่มสลาย จะต้องมีทัศนะมวลชน

คิดว่าจะสร้างความขัดแย้งไหม

อาจารย์ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าเรามีความเข้าใจตรงกัน และอย่าไปนึกว่าที่ทำโพลแล้วมันจะตัดสินนะ เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง สมมุติประชาชนบอกว่า ไม่อยากให้ยุบแต่แกนนำส่วนกลางที่เหลืออยู่บอกว่า ไม่เอาสักคน มันก็ลำบากนะ เวลาจะเกิดแกนนำใหม่ คุณต้องสร้างโครงสร้างใหม่ และจะได้รับการยอมรับเลยเหรอ ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจารย์จึงคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหาย เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ ไม่ใช่ดีกับเพียง นปช. แต่มันดีกับสังคมไทย ที่จะได้เข้าใจคนเสื้อแดงและ นปช. ซึ่งเป็นขบวนการที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ยาวนานที่สุดของคนที่ต้องการประชาธิปไตย

มีข่าวว่าแกนนำ นปช. มีความแตกแยก แตกคอกัน ประเด็นนี้จริงเท็จแค่ไหน

คือเขาแยกพรรคการเมือง จตุพรออกจากเรือนจำแล้วจึงไปทำพรรคเพื่อชาติ และคุณจตุพรก็พยายามล็อบบี้แต่ละคนให้ไป แต่อย่างอาจารย์ไม่ไปพรรคไหน อาจารย์เคยอยู่พรรคหนึ่งแล้ว คือพรรคปฏิวัติ (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย-พคท.)

แต่อาจารย์ก็สนับสนุนพรรคไทยรักษาชาติ

ไม่ ถ้าหมายถึงกรณีหมอเหวง แต่เดี๋ยวเล่าก่อนว่าเริ่มต้นเมื่อคุณจตุพรไป ‘เพื่อชาติ’ อาจารย์ไม่คิดว่าคุณจตุพรเจตนานะ แต่พอหลังจากทำพรรคเพื่อชาติ กิจกรรมของนปช. ไม่มีอีกเลย เหมือนกับว่าองค์กรไม่ได้ดำรงอยู่ เพราะว่าไม่มีการประชุมแล้วจะไปขับเคลื่อนอะไรได้

ตอนนั้นก็มองด้านบวกว่าเขาอยากออกไปทำพรรคการเมือง ก็เลยไม่มีเวลา และเขาก็โกรธพวกเราด้วยที่ไม่ไปกับเขา (ไปร่วมพรรคเพื่อชาติ) แล้วทำให้ Peace TV กลายเป็นสถานีของพรรคเพื่อชาติ อาจารย์ก็เลยบอกว่าถ้างั้นเราต้องมาหาพื้นที่ใหม่ สำหรับคนที่ต่างพรรคการเมือง

คราวนี้ มาต่อที่ว่าแยกเพราะอะไร แต่เดิมคุณหมอเหวง คุณณัฐวุฒิ อยู่พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ไปเพื่อชาติ จากนั้นมีการตั้งพรรคไทยรักษาชาติขึ้นมา เข้าใจว่ามีความพยายามล็อบบี้ ซ้ำด้วยปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถ้าคุณอยู่เพื่อไทย คุณไม่มีโอกาสได้บัญชีรายชื่อ สส.เขต ได้คะแนนมากยังไงก็ไม่ถึง 70,000 เสียงต่อพื้นที่ หมายความว่าจะได้เพียง สส.พื้นที่ แต่ไม่มี สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อที่จะได้ สส.บัญชีรายชื่อ กลยุทธ์หนึ่งคือต้องแตกพรรค

ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ก่อแก้ว พิกุลทอง, วีระกานต์ มุสิกพงษ์, หมอเหวง โตจิราการ ก็ถูกล็อบบี้ให้มาอยู่ด้วยกัน เมื่อเราใช้ระบบสองขา มีเวทีรัฐสภากับนอกรัฐสภา นปช. จึงต้องเป็นการต่อสู้นอกเวทีรัฐสภา อาจารย์ก็เลยหาพื้นที่ที่สามารถทำงานข่าวได้ (UDD News) ทำสถานีข่าวออนไลน์เล็กๆ เพื่อสื่อสารภายใน และสื่อสารไปสังคมภายนอก แต่ก็ทำตั้งแต่คุณจตุพรอยู่ในเรือนจำแล้ว

ดังนั้นจึงไม่ควรเรียกว่าแตกแยก แต่คือการแตกเป็นพรรค ในทัศนะของอาจารย์ถ้าคุณเป็นนักต่อสู้จริง คุณต้องแก้ตรงนี้ให้ได้ เพราะประชาชนก็ถูกแยก พวกหนึ่งเชียร์เพื่อไทย พวกหนึ่งเชียร์ไทยรักษาชาติ เราก็บอกกับพี่น้องว่า ถ้าพรรคที่พวกคุณชอบยังอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย คุณก็ยังเป็น นปช. แต่ถ้าไปเลือกพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ แปลว่าขาดจากความเป็น นปช.

คนที่เป็น นปช. อาจจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่ต่างกันก็ได้ มีคนจำนวนมากสนับสนุนอนาคตใหม่ โดยเฉพาะแกนนำต่างจังหวัด เขาก็อยากมีตำแหน่งทางการเมืองเหมือนกัน เพราะ สส.เพื่อไทยจองไว้หมดแล้ว บางคนก็อาจจะถูกใจนโยบายอนาคตใหม่

ในทัศนคติของอาจารย์ มีหลายพรรคการเมืองนี้ดีสำหรับขบวนการประชาชนมากกว่า เพราะถ้ามีพรรคเดียวราคาของนักต่อสู้น้อยมาก เพราะอำนาจต่อรองของพรรคใหญ่มันสูง อย่างตอนแก้รัฐธรรมนูญ (ปี 2556) อาจารย์รวบรวมรายชื่อประชาชน 70,000-80,000 คน เสนอให้มีการตั้ง ส.ส.ร. จากการเลือกตั้งทั้งหมด พรรคเพื่อไทยไม่เห็นหัวเลย เขาจะเอาแบบที่รัฐบาลนี้ทำอยู่คือ มีอนุกรรมาธิการร่างมาแล้วให้ ส.ส.ร. ยกมือ แต่อาจารย์ให้เลือกตั้งเลย 100 เปอร์เซ็นต์แบบที่เยาวชนทุกวันนี้เสนอ เขาก็ไม่เอา

เราบอกเรื่อง ICC (การให้สัตยาบรรณกับศาลอาญาระหว่างประเทศ) ก็ไม่เอา เราบอกไม่ให้นิรโทษกรรมสุดซอย ก็ไม่เอา การมีหลายพรรคทำให้ราคาของนักต่อสู้ถูกเห็นหัวขึ้นมาหน่อย

ตัวอาจารย์เอง มีการจัดวางท่าทีต่อแกนนำคนอื่นๆ เช่น คุณณัฐวุฒิ คุณจตุพร เหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร อย่างน้อย 1-2 ปีที่ นปช. ไม่ได้ขยับเลย

พูดกันตรงๆ คุณจตุพรมาชวนไปทำพรรคเพื่อชาติ ตอนเริ่มทำเขามีความหวังมาก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะได้แกนนำไปหมด แต่สำหรับอาจารย์ไม่เอาอยู่แล้ว คนอื่นก็ไม่มีความเชื่อมั่น เพราะจะได้เป็นหรือไม่เป็น สส.บัญชีรายชื่อก็ไม่สำคัญ อาจารย์พูดแทนคนอย่างหมอเหวง หรือณัฐวุฒิ เพราะเราคุยกัน แม้อาจารย์ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแต่ก็ร่วมฟัง ก็เหมือนกับสิ่งที่คุณก่อแก้วบอกว่า “เป็นสองซีก” คือซีกที่ไม่ไปกับคุณจตุพร แล้วมาอยู่ไทยรักษาชาติ และพรรคถูกยุบไป

พอคุณจตุพรไปอยู่พรรคเพื่อชาติ อาจารย์มองว่าเขาให้น้ำหนักกับเรื่องพรรคการเมือง ส่วนณัฐวุฒิพอมาอยู่ไทยรักษาชาติ เขาก็ไปหาเสียง ก็ไม่มีใครคุยกับอาจารย์ธิดาหรอก เป็นประธานที่ปรึกษาที่ไม่มีใครมาปรึกษา (หัวเราะ)

บางคนก็ดูแคลนอาจารย์ว่า อาจารย์ธิดายังสนใจฝันเฟื่องเรื่องการต่อสู้ประชาชน เขาบอกว่า จะไม่มีอีกแล้ว จะมีก็แต่การต่อสู้ในเวทีรัฐสภา แต่คำถามคือ มันจะไปยุติได้ยังไง ก็มันยังเป็นเผด็จการ ยังสืบทอดอำนาจอยู่ คนไทยจะเซ่อบ้า ยอมอยู่แบบนี้จนชั่วกัปชั่วกัลป์เหรอ แต่การต่อสู้ก็อาจจะมีขึ้นมีลง เข้าคุกออกคุก แต่ภาพรวมคนไทยจะไม่ต่อสู้ได้อย่างไร สุดท้ายก็เกิดขึ้นในหมู่เยาวชน

อาจารย์ธิดากับ คุณทักษิณ ชินวัตร จัดวางท่าทีกันอย่างไร

กับคุณทักษิณไม่ได้มีความใกล้ชิดกันเลย หนึ่ง อาจารย์ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง สอง อาจารย์ไม่ขึ้นเวทีปราศรัย แกนนำบางคนอาจจะพูดว่าคนที่เป็นแกนนำล้วนมาจากการขึ้นเวที อาจารย์บอกว่านั่นคือความอ่อนด้อยของ นปช. เพราะการตั้งเวทีปราศรัยจะต้องอาศัยคนจำนวนมาก เพื่อรั้งคนเอาไว้ ถ้านิยามว่าคนขึ้นเวทีปราศรัยเป็นแกนนำ ดังนั้นอาจารย์ก็จะไม่ใช่ แต่อาจารย์เป็นคนร่างแนวทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ ทำเรื่องการเปิดโรงเรียน นปช. แล้วเป็นคนเขียนหลักสูตรทั้งหมด

ดังนั้น คุณทักษิณไม่ได้รู้จักอาจารย์ แต่อาจจะรู้จักจากการถ่ายทอดสด อย่างอาจารย์พูดเรื่องโรงเรียน นปช. แล้ววาดภาพมีไข่แดงตรงกลาง มีวุ้นอยู่ข้างนอก เวลาคุณทักษิณอธิบาย ก็เลย… อ้อ แสดงว่าเขาดูที่เราบรรยาย ว่าแนวร่วมมีแนวร่วมชั้นใน-ชั้นนอก

เมื่อไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ไม่ได้เป็นคนขึ้นเวที เวลาเข้าประชุม ก็ไปในฐานะที่เดิมทีเราทำสมาพันธ์ประชาธิปไตย เพราะตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 การต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2550 ก็มีตั้งแต่กลุ่ม 19 กันยา ต้านรัฐประหาร กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กลุ่มสมาพันธ์ฯ มีกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ ก็ร่วมกันมาตั้งแต่นั้น เพราะฉะนั้นคุณทักษิณไม่ได้รู้จักเราตั้งแต่ต้น แล้วเราก็ไม่ใช่นักปราศรัย เขาก็คงเห็นอาจารย์เป็นนักวิชาการ ที่มองเห็นแนวร่วมที่ไม่มีรูปการณ์ แล้วมาทำให้มันเป็นโครงสร้างองค์กร

พอจะเป็นองค์กรทางการ ก็ต้องมีหลักนโยบาย อาจารย์อยู่กับพรรคปฏิวัตินี่ ทำไมจะช่วยเขียนไม่ได้ แต่ต้องเห็นชอบ ต้องผ่านที่ประชุมใหญ่นะจึงจะผ่าน พออาจารย์ขึ้นมาเป็นประธาน อาจารย์เคยพูดคำหนึ่งที่คุณทักษิณ อาจจะไม่ค่อยแฮปปี้ตั้งแต่ทีแรกว่า ประวัติอาจารย์ไม่เคยเป็นลูกน้องคุณทักษิณนะ แต่เนชั่นเอาไปพาดหัวข่าวเลย ‘ธิดาบอกว่าไม่ใช่ลูกน้องทักษิณนะ’ ก็ไม่รู้เขาโกรธมากหรือเปล่านะ (หัวเราะ)

เราผ่านการต่อสู้มา เราก็มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ในแง่ด้านการตลาดการบริหาร คุณทักษิณอาจจะเก่ง แต่อาจารย์คิดว่า เราก็ต้องสนใจในการวิเคราะห์สังคม ใน พคท. เอง ก็ทะเลาะกันเรื่องการวิเคราะห์สังคม เรื่องนี้อาจารย์ไม่เคยวางเลยนะ ตั้งแต่ อาจารย์พอพันธ์ อุยยานนท์ ทำวิจัยเรื่องสำนักงานทรัพย์สินฯ อาจารย์ก็ศึกษามาตลอด ก็รู้เรื่องราวพวกนี้หมด

ฉะนั้น เราไม่เคยแลกเปลี่ยนกัน วิธีคิดบางอย่างอาจจะไม่ตรงกัน การทำงานในช่วงที่เป็นประธาน นปช. ถ้ามีการสนับสนุนกัน ก็จะต้องเป็นโปรเจ็คต์ที่จบแล้วจบเลย ความสัมพันธ์จึงไม่เหมือนกับแรมโบ้ (สุภรณ์ อัตถาวงศ์) หรือคนในพรรค ที่วางตัวใกล้ชิด

แต่อาจารย์รู้ว่าวิธีคิดของนักธุรกิจ ไม่เหมือนกับนักต่อสู้ แล้วเราให้อภัยเขาได้ เหมือนตอนที่เขาพูดในวันครบรอบ 3 ปี สลายการชุมนุมเสื้อแดง คุณทักษิณบอกว่าจะขึ้นฝั่งแล้วขึ้นรถเดินทางต่อ โอ้ย! คนโกรธมาก แต่อาจารย์ต้องพูดต่อจากคุณทักษิณ

พูดอะไรต่อจากคุณทักษิณในวันนั้น

ก็พูดเรื่องคนเสื้อแดง ไม่สนใจว่าคุณทักษิณพูดอะไร ไม่ได้เข้ามาสะเทือนเรา เพราะว่าสิ่งที่จะทำ ถึงไม่มีคุณทักษิณ เราก็ต้องทำ ถึงคุณทักษิณจะมาห้าม มันก็ไม่ได้มีผล คุณทักษิณจะหยุดก็หยุดไป แล้วคิดได้เมื่อไหร่จะมาร่วมก็มาสิ

เหมือนเวลาที่คุณเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้ คนก็เหมือนกัน แต่ละกลุ่มแต่ละชนชั้น ก็จะไม่โกรธ ทุกวันนี้มีคนเข้ามาด่าอาจารย์ ก็ไม่ได้โกรธอะไร เหมือนเวลาคนมาบอกว่าเงินในกระปุกที่เราถือไม่มีเงิน แต่เรารู้ว่ามันมี เราก็ไม่กลัว เพราะรู้ว่ามันมีอยู่แล้ว

โดยสรุปความสัมพันธ์ก็จะไม่ใช่คนในพรรค คนในปกครอง หรือลูกจ้าง ยังเป็นความสัมพันธ์แบบแนวร่วมที่ใกล้ชิด เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย เขาอาจจะทำเหมือนเราหรือไม่เหมือนเรา แต่เราต้องเข้าใจเขา จะไปเรียกร้องแล้วไปโกรธเขาว่าทำไมไม่ทำแบบนี้ ก็ไม่ได้นะ

แล้วเราพูดอะไรไป ก็ใช่ว่าเขาจะเชื่อ เหมือนกรณีนิรโทษกรรมสุดซอย อาจารย์เปิดเวที นปช. ก็ไปถามสมาชิกในกรุงเทพฯ แต่ละเขต 200-300 คน ชาวบ้านเขาไม่เอา เขายังเจ็บแค้นกับ 99 ศพไม่หาย ฉะนั้นถ้าจะนิรโทษกรรม ไม่ว่าเราจะได้แต่ถ้าอีกฝั่งได้ด้วย เขาไม่เอา (เน้นเสียง)

อาจารย์ก็บอกคุณทักษิณ คุณทักษิณก็ไม่เชื่อ เขามองว่าคนเสื้อแดง และ นปช. ต้องเห็นด้วยกับคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทย แล้วเขาก็คิดว่าพวกเราบ่มิไก๊ อย่างไรก็ตาม คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทย ต้องถือว่าเป็นพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ของ นปช. และคนเสื้อแดง เขาสามารถทำให้คนเสื้อแดงเติบใหญ่ ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักไทย ก็มีส่วนทำให้ความสำเร็จจากการต่อสู้ของประชาชนไปไม่ถึง เพราะว่าเขามุ่งความสำเร็จของพรรค และคนในพรรค รวมทั้งอาจจะเป็นกลุ่มตระกูล หวังผลสัมฤทธิ์ตัวนั้นมากกว่า

บางครั้งจะพบว่าพวกเราก็จะโมโห บางทีก็เคืองคุณทักษิณว่าทำไมไม่เชื่อเรา แต่เราไม่ได้โกรธนะ เหมือนตอนคุณยิ่งลักษณ์ถูกดำเนินคดี จะมีพวกนักต่อสู้จำนวนหนึ่งมองว่าคุณยิ่งลักษณ์จะต้องอยู่ ติดคุกเพื่อต่อสู้สิ อาจารย์บอกว่าเขาจะอยู่ได้ยังไง เขาทนมาได้แค่นี้ก็เก่งมากแล้ว

ถ้าเปรียบ นปช. เป็นม้าศึก ตอนนี้อยู่ในวัยไหน วัยเด็ก ใสซื่อ คึกคะนอง ทะเยอทะยาน หรือไปจนกระทั่ง อ่อนล้า โรยแรง

(ตอบสวน) ประการหลัง

(ขำยาว)

ด้วยอายุจริงและด้วยการกรำศึก คุณเป็นม้าศึกที่อาจจะเคยเก่ง แต่เหมือนกับนิทานจีนที่เขาจะขายม้าที่มีประวัติโชกโชน แต่จะขายราคาแพง ขายยังไงก็ขายไม่ได้สักที มารู้ตัวอีกทีม้าแก่แล้ว ไม่มีประโยชน์แล้ว อาจารย์จึงมองว่ามันโรยแรง คือเราเคยเติบใหญ่ อยู่ในกระแสสูง ที่เรียกว่าการนำ แต่เมื่อไม่มีองค์กรที่เข้มแข็งก็โรยแรง

เช่นเดียวกับ WAY ถ้ามีคนที่ไม่เข้าใจเรื่องสื่อเข้ามาอยู่ในที่ประชุม มาออกความเห็น มันจะเละไหม ด้วยความที่องค์กรเรามันเติบใหญ่ พอมีเวทีจะต้องใช้สารพัดคน ทั้งศิลปิน ตลก พระ ฯลฯ ขึ้นเวที และไปคิดว่าการขึ้นเวทีคือแกนนำ และต้องมีบทบาทในการตัดสินใจ อีกอย่างหนึ่งมาจากพรรคการเมือง นักการเมือง สส. อดีต สส. ก็เข้ามา เพราะฉะนั้นทำให้องค์กรต่อสู้ไม่เข้มแข็ง เพราะว่าภาวะการนำยังไม่แข็งแรง

แล้วความสัมพันธ์สองขากับพรรคการเมือง อาจจะทำให้การต่อสู้เป็นเครื่องมือในการมีตำแหน่งในพรรคก็ได้ แกนนำบางคน บางคนเท่านั้นนะก็อาจจะโชว์เพื่อต่อรองตำแหน่ง อย่างแรมโบ้ พยายามเข้ามา และภายหลังก็ไปตั้งองค์กรใหม่ของเขา เอาคนมาเดินแถว ทำนองฝึกเป็นการ์ด

ถ้าโครงสร้างองค์กร และภาวะการนำแข็งแรงก็จะสามารถเป็นผู้ใหญ่ที่มีรุ่นสืบทอดได้ ทีนี้พอมันหลวม เมื่อมีเวทีก็มากันเต็มแน่นไปหมดเลย มีเรื่องขำเรื่องหนึ่ง เคยมีคนพยายามหาที่ให้เรายืนบนเวที แต่คนมากันเต็มเวทีเลย จนคนที่เป็นแกนนำจริงไม่มีที่จะยืน เขาก็พยายามทำที่เล็กๆ  ให้ยืน อาจารย์ก็บอกว่าทำอีกที่ก็มีคนมาแย่งกันยืนอีก เพราะเวลายืนอาจารย์ก็โชว์ให้คนที่ดูถ่ายทอดสดจากที่บ้านได้เห็น

ที่จริงเราพยายามสร้างภาวะการนำอย่างมากแล้วนะ มีการทำโรงเรียน มีการทำแกนนำภูมิภาค อำเภอ จังหวัด ไม่ง่าย เพราะมีคนของพรรคเข้ามาแทรกแซง แต่พยายามทำก็ดีกว่าไม่ทำ แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ด้วยปัจจัยปัญหาภายในของพรรคการเมือง กับปัญหาภาวะการนำในขบวน เมื่อเวลาเจอปัญหาจึงเหมือนกับโดนสองเรื่องซ้อนๆ เลย ถ้าพรรคคิดไปทาง นปช. คิดไปทางก็เป็นอุปสรรคแล้ว

ตัวอย่างเช่น การไปทำพรรคการเมือง ทำไมจึงเคลื่อน นปช. ต่อไปไม่ได้ล่ะ เพราะเราไม่มีวินัย เพราะเราไม่ได้เป็นองค์กรจัดตั้งที่แข็งแรง พอโดนแจกกล้วยแกนนำก็ไปเสียส่วนหนึ่ง เราอาจจะดูยิ่งใหญ่ อยู่มานาน แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่มาก

อย่างไรเสีย แกนนำส่วนหนึ่งที่อาจจะถูกมองว่ามีคุณภาพไม่ถึงในฐานะนักต่อสู้อาจารย์ก็ยังชมเชย เพราะเวลาตกอยู่ในภาวะการปราบปราม เข่นฆ่า จับกุม คนที่หนีก็หนีไป แต่คนที่เขาอยู่ เขาก็ยอมรับสภาพ เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับว่าเราเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมกัน อาจารย์ก็ไปรับออกมา ไม่ว่าจะเป็นคดี 112 หรือคดีอื่นๆ เช่น คนอย่างเจ๋ง ดอกจิก หรือ จ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ถ้าวิถีทางของนักต่อสู้ บางคนอาจจะบอกว่าคุณภาพไม่ถึง แต่เขาผ่านร้อนผ่านหนาว และถึงเวลาถูกปราบ เขาก็นำประชาชนสู้จริง และถูกจับก็ติดคุกจริง

สรุปก็คือ ยังอ่อนอ้อยเรื่องทฤษฎี โครงสร้าง วินัย และการจัดตั้ง พอมีอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาติดคุก ล้มตาย หนี ก็กลายเป็นม้าศึกที่โรยรา แต่บอกว่าโรยรา พอถามว่า งั้นยุบไหม อ้าว บอกไม่ยุบกันอีกนะ (ยิ้มกว้าง)

แต่คุณจตุพรก็ยกเหตุผลหนึ่งที่น่ารับฟังว่า เป้าหมายของ นปช. คือ “โค่นอำมาตยาธิปไตย” แต่ตอนนี้เพดานการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว พูดถึง ‘ศักดินา’ กันแล้ว

อาจจะมาจากความไม่เข้าใจนโยบาย เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ อาจารย์จะอ่านให้ฟังนะ เป้าหมายเรามี 2 อัน อย่างแรก เราไม่พูดถึงคนนะ เราพูดถึงระบอบ เราคัดค้านระบอบเผด็จการทหารและระบอบอำมาตยาธิปไตย ไม่ใช่คัดค้านอย่างเดียว ต้องต่อสู้ด้วย

อย่างที่สอง เป้าหมายที่สร้างสรรค์ก็คือระบอบเหมือนกัน คือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยังเป็นราชอาณาจักร แต่อำนาจต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ในขณะที่เด็กจะใช้คำว่าราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ อาจารย์เข้าใจว่าเขาถอดประโยคมาจากคณะราษฎร 2475

อาจารย์ยืนยันว่า เป้าหมายคือการต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร ตอนหลังเราเปลี่ยนคำว่า ‘โค่น’ ออก เพราะมันไม่น่าฟัง ก็ใช้คำว่า ‘ต่อต้านเผด็จการทหาร ระบอบอำมาตยาธิไตย และระบอบที่ล้าหลังทั้งปวง’ เพราะตอนนี้มันล้าหลังกว่าระบอบอำมาตย์เสียอีก และปลายทางของเรายังไม่ใช่สาธารณรัฐ ยังเป็นเสรีประชาธิปไตย แต่ว่าอำนาจต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ว่าไปก็เหมือนกับภาษาของหนุ่มสาวที่ใช้คำว่า ‘ความฝัน’

เขาจะปฏิรูปสถาบันฯ หรือปฏิรูปอะไรก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ถามว่าเหมือนกันไหม ก็อันเดียวกันกับคนหนุ่มสาว นี่คือปลายทางที่เราต้องการ ตอนเปิดโรงเรียน นปช. อาจารย์บอกว่า เอาพลเอกเปรมใส่แคปซูล เอาทักษิณใส่แคปซูล ยิงออกไปนอกโลกเหมือนหนังสักเรื่อง ถามว่าในประเทศยังมีระบอบอำมาตย์ไหม ชาวบ้านก็ตอบตรงกันว่า “มี” จะเห็นว่าพลเอกเปรมไปแล้ว ระบอบก็ยังอยู่ นี่เป็นความขัดแย้งของระบอบ

แล้วพอเวลาพูดถึงปฏิรูปสถาบันฯ จะดูมีเสน่ห์น่าติดตาม แต่ว่าจริงๆ เป้าหมายปลายทางคือ ถ้าเราเดินไปบนถนนเดียวกัน บางคนอาจจะเดิน บางคนอาจจะวิ่ง หรือขับรถ แต่ขอให้รู้ว่าอยู่ในเส้นทางเดียว นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนเสื้อแดงและ นปช. สามารถออกมาสนับสนุนเด็กๆ คณะราษฎรได้ เพราะเขารู้ว่านี่คือการคัดค้านระบอบเผด็จการทหาร คัดค้านระบอบอำมาตย์ที่ขุนนางเป็นใหญ่ และปลายทางอำนาจต้องเป็นของประชาชน

เมื่อเป็นแบบนี้ เขาจึงไม่ต้องขัดเขิน ไม่ต้องมีใครมามอบมรดกให้ กบฏหมอเหล็งก็ไม่ต้องมอบมรดกให้กับคณะราษฎร คณะราษฎรก็ไม่ต้องมอบมรดกให้ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา 16 คนเสื้อแดงก็ไม่ต้องมอบให้พวกเยาวชน เขาเป็นของเขาเอง

ฉะนั้น กลุ่มเยาวชนเขาจะไม่มาเที่ยวพูดเรื่องจุดอ่อนของคนเสื้อแดง เหมือนที่เราจะไม่ไปพูดเรื่องจุดอ่อนของคณะราษฎร อย่างน้อยเขาก็มีคุณูปการ โอเค เรารู้ว่าเขามีจุดอ่อนอยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปต่อว่า กลุ่มเยาวชนเขาเป็นนักต่อสู้จริง ก็ไม่เคยมาต่อว่าคนเสื้อแดง แต่เขาให้เกียรติ

เคยมีกลุ่มฮาร์ดคอร์ เห็นเราเขียนว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ไม่ทันอ่านต่อ รับไม่ได้เลย เขาถามว่า “ทำไมต้องมีสร้อย” อาจารย์ว่า “มันก็มีสร้อยแล้วมีล็อกเก็ตด้วยหนิ” ถ้าคนที่เข้าใจ เขาจะไม่พูดอะไร เขาจะเข้าใจว่าที่สุดของระบอบประชาธิปไตยทำได้แค่นี้ อำนาจเป็นของประชาชนสุดแล้ว ไม่ใช่เรื่องว่าเราวิ่ง 300 เมตร แล้วคนหนุ่มสาววิ่ง 400 เมตร แต่มันอยู่ในเส้นทางเดียวกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ต้องมีการส่งมรดก เพราะการต่อสู้กับจิตใจและวิญญาณ มันอยู่ในประชาชนอยู่แล้ว ถ้าเขารักจะต่อสู้ก็ไปสู้ แต่ถ้าถามว่าเราอยู่แค่นี้แล้วเด็กไปโน่น อาจารย์ยืนยันว่าไม่ใช่ ไปอ่านเป้าหมายให้ดี จะเข้าใจว่าทำไมคนเสื้อแดงจึงออกมาสู้ร่วมกับเด็กๆ อย่างไม่รู้สึกมีปมด้อย

ในขบวนการคนหนุ่มสาว ก็มีการยกย่องคนเสื้อแดงในฐานะวีรชนผู้มาก่อน อาจารย์มองการคืนเกียรติยศให้กับคนเสื้อแดงนี้อย่างไร

คนหนุ่มสาวที่ออกมาเคลื่อนไหว เขาตื่นตัวเพราะเขาศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง เรื่องนี้ต้องขอบคุณคนที่ทำงานวิชาการเรื่อง 6 ตุลา 19 ทั้ง อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล, อาจารย์ณัฐพล ใจจริง, อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ, อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ และอีกมากมาย นักวิชาการเหล่านี้ทำให้เด็กได้รู้ในสิ่งที่โรงเรียนไม่สอนเขา

อาจารย์ยังขอบใจหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ที่มีวิชาเลือก ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ดังนั้น จึงทำให้หนังสือหลายเล่มขายดีมาก เช่น ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ที่ตอนนี้มีคนพยายามจะมาจับผิด

เมื่อเยาวชนรู้ เขาจึงเข้าใจ และทราบว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่เหมือนกับที่เรียนมา ฉะนั้นเขาจะเข้าใจการต่อสู้ของคนรุ่นเก่า เข้าใจว่า 14 ตุลา 16 มีข้ออ่อนยังไง นักต่อสู้รุ่นนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่คนที่ก้าวหน้าที่สุดเป็นแต่เพียงต่อต้านทหาร จริงๆ ก็เป็นอนุรักษนิยมด้วย แต่ที่ได้รับชัยชนะเพราะฝ่ายอนุรักษนิยมเข้ามาร่วม แต่พอ 6 ตุลา 19 มันตรงข้าม แล้วเข้าใจการต่อสู้ของคนเสื้อแดงซึ่งเป็นทศวรรษใหม่ ว่าเป็นคนละแบบกับอดีต

เขาเข้าใจว่าเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นเรื่องนายทุนที่เข้ามาทำพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต้องการสร้างระบบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ตามอารยประเทศ อาจจะนึกไม่ถึงว่าจะมียักษ์ขึ้นมาคือทักษิณ เขาคิดว่าประชาธิปัตย์จะได้เปรียบ จากความกลัวคอมมิวนิสต์ ก็มากลัวนายทุน ก็ใส่คำว่า ‘ทุนสามานย์’ เข้าไป แต่ตอนนี้เขาจะมีปัญหากับทุนผูกขาดไหม ไม่รู้

กลับมาที่เมื่อครู่ที่บอกว่า เป็นการคืนเกียรติยศ อาจารย์อยากจะบอกว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมันมีเกียรติยศอยู่แล้ว แต่คนที่ย่ำยีและมองไม่เห็นคือปัญญาชนและชนชั้นกลางที่ไปยืนสนับสนุนรัฐประหาร อยู่กับพวกอนุรักษนิยม รวมถึงเอ็นจีโอด้วย เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ไปสนับสนุนรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ อ้างว่าเป็นวิธีการเดียวที่จะกำจัดทุนสามานย์ นี่คือความอับอายขายหน้าในฐานะประชาชนที่อยู่ในขบวนการต่อสู้

อาจารย์ไม่ได้สนิทกับคุณทักษิณอย่างที่บอกไป แต่เขาคือส่วนหนึ่งขององคาพยพเสรีประชาธิปไตย และมาจากประชาชน คุณไปล้มเขาด้วยวิธีการป่าเถื่อนไม่ได้ โดยเฉพาะการใช้อำนาจกองทัพ ตุลาการ องค์กรอิสระ และอำนาจอย่างอื่น

ดังนั้นไม่อยากให้ใช้คำว่า ‘คืนเกียรติยศ’ เพราะนั่นเป็นการมองคนเสื้อแดงแบบเหยียดหยาม แบบที่ปัญญาชนในอดีตมองว่าไอ้พวกนี้ เป็นควายแดง เป็นลูกน้องทักษิณ ดังนั้นจึงมีคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มองเหมือนคุณ เพราะเขารู้มากกว่าคุณ

คนรุ่นใหม่หลายคนอาจจะเติบโตมาจากครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นสลิ่ม หรือทัศนคติด้านลบ จึงมีคำว่า ‘คืนเกียรติยศ’ ที่ถูกปลูกฝังให้มองคนเสื้อแดงเป็นควายแดง อาจารย์จึงมองว่าเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ มีจุดยืนที่ถูกต้อง และเป็นนักต่อสู้จริง สายตาที่มองจึงมองแบบนักต่อสู้

ด้วยเหตุนี้จึงอยากจะขอบคุณปัญญาชน นักวิชาการจำนวนหนึ่งซึ่งสามารถแหวกวงล้อม และกลายเป็นแสงเทียนที่สว่างไสว เพราะเขาไปค้นคว้าไปอ่านก็เข้าใจว่านี่คือการต่อสู้จริง และคนที่ต่อสู้บนถนนสายนี้คือคนที่ถูกเหยียบย่ำดูถูก เพราะฉะนั้นการพูดว่า ‘คืนเกียรติยศ’ จึงหมายถึงการพูดในฐานะที่เขาเคยเข้าใจผิด

คนที่เคยเป็นเสื้อแดงและออกมาต่อสู้ เขาก็ไม่คิดว่าถูกดูถูกนะ วิธีคิดในฐานะที่เป็นชาวบ้านเขาน่ารักนะ เขาคิดว่าเขาจะมาช่วย อาจารย์เห็นคนแก่ๆ ที่ปากน้ำ มีเยาวชนมาขึ้นเวที แล้วมีพวกการ์ดหรือตำรวจมาจากไหนไม่รู้ คนนั้นก็เดินไปตบไหล่แสดงการปกป้องเยาวชนที่ออกมาพูด แล้วเดินตามไปส่งถึงรถ แกเป็นผู้หญิงคนเดียวนะ นั่นแหละคือหัวใจ เขารู้ว่าเวลานี้เป็นเวลาของเยาวชน แต่เขาจะยืนปกป้อง นี่คือท่วงทำนองของคนเสื้อแดงปัจจุบัน

อาจจะมีแหละ คนเสื้อแดงบางส่วนที่ประเมินว่าตัวเองเก่ง อาจจะไปแสดงตัวว่าต้องฟังฉัน อาจารย์บอกเขาไปว่า คุณอย่าไปเกรงใจนะคนเสื้อแดง ถ้าเขาเป็นคนเสื้อแดงหรือ นปช. จริง เขาจะไม่ทำให้คุณเดือดร้อนเป็นอันขาด ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้อง อามิสสินจ้าง หรือไปแสดงความอวดรู้ว่าตัวเองเก่ง คนจริงเขาจะไปปกป้องสนับสนุนเหมือนป้าคนนั้นที่อาจารย์บอกไป

เขารู้ตัวว่าเขาไม่ได้ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เวทีของเขา เขามีหน้าที่หนุนช่วยและคอยปกป้อง และเชื่อไหมว่า ถ้าเกิดการขับเคลื่อนที่ใหญ่โตในอนาคต แล้วมันเกิดปัญหาขึ้น อาจารย์ยังเชื่อว่า นปช. และคนเสื้อแดง จะต้องออกมา ไม่ต้องมีใครมอบมรดก

ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในความฝันของอาจารย์ธิดา หรือ ฝันร่วมของ นปช.

ในความเห็นของอาจารย์นะ และคิดว่า นปช. ไม่น้อยคงคิดเหมือนกัน คิดว่ามันถอยหลังไปก่อน 2475 จะเห็นว่าเมื่อยึดอำนาจแล้วไม่ได้คืนอำนาจให้กับประชาชน ส่วนรัฐธรรมนูญที่เขียนบิดเบี้ยว ก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่อำนาจไปอยู่ที่ชนชั้นนำจารีต ที่ใช้อำนาจกองทัพและกลไกรัฐเป็นเครื่องมือในการปกครอง รวมถึงพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ก็มีการปรับไปในทิศทางที่มีอำนาจมากขึ้น

ถ้าสังเกตกรณีนายกรัฐมนตรีกรณีถวายสัตย์ฯ เขาจงใจที่จะไม่พูดว่า “จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ” ถ้าใช้คำแบบ 2475 ก็ใช้ได้ว่าเป็น “ระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ” ตามแบบที่ชนชั้นนำจารีตนิยมประสงค์ ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กนะ แต่ถ้าเราเข้าใจการเมืองจะรู้ว่าอันนี้เป็นเหมือนสัญญาต่อพระมหากษัตริย์ และต่อประชาชนด้วย

เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงเป็นเหมือนสัญญาประชาคม อาจารย์จึงเห็นด้วยกับ  อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ว่าเป็นกฎที่ตกลงกันว่า โอเคเราจะอยู่กันแบบนี้ แต่ประชาชนไม่มีอำนาจในกฎหมายนี้ และในการทำประชามติ ประชาชนก็ถูกจัดการให้ไม่สามารถลงประชามติได้อย่าง free and fair

ในทัศนะของอาจารย์มันจึงล้าหลัง และถอยไปยาวไกลกว่า 2475 เกือบจะเป็นเหมือนยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกเองก็เหมือนกับสิ่งที่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยพูดว่า “ถ้าคุณยังมีวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง นั่นคือระบอบอำมาตยาธิปไตย” รวมถึงเรื่องของสงฆ์ ก็ไปไกลกว่า 2475 เรื่องสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ถอยหลังไปกว่า 2475 อันนี้คือรูปธรรม

ขออนุญาตจบที่คำถามสุดท้ายที่อาจจะเศร้า แต่ไม่ถามก็ไม่ได้ อยากทราบว่า บาดแผลจากเหตุการณ์ปี 2553 ตอนนี้เป็นอย่างไร

เราจะเรียกว่าบาดแผลก็ได้ ถ้ามองในแง่ความเจ็บช้ำ จากการถูกปราบปราม เข่นฆ่า ดำเนินคดีไม่เป็นธรรมและไม่รู้จะไปเรียกร้องที่ไหน ความพยายามที่เราจะไปเรียกร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ปปช. และองค์กรอื่นๆ ล้วนแต่เหลวไหล ถามว่าใครที่นั่งอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ เป็นกลไกจารีตและอำนาจนิยมทั้งสิ้น ไม่มีวันจะได้ เวลาที่เขียนคำร้อง ยิ่งเขียนดีเท่าไหร่ มันยิ่งไม่ให้เลย เพราะกลัวว่าเดี๋ยวเราจะเอาไปใช้

ยิ่ง ปปช. ทำตัวเป็นศาลตัดสินเลย ไม่มีการส่งเรื่องต่อ ในศาลเอง แน่ละมีผู้พิพากษาที่อยากจะคืนความเป็นธรรมให้กับเราส่วนหนึ่ง แต่ว่าคุณไปดูระเบียบของศาลสิ เหมือนกับผู้พิพากษาคนหนึ่งที่พยายามจะฆ่าตัวตายที่ท่านเขียนว่า ‘คืนคําพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’

เพราะระเบียบที่ออกมา ให้คนมาตรวจมาคุมคำพิพากษาอีกที คำพิพากษาจึงไม่ได้เป็นของผู้พิพากษา แต่ต้องได้รับคำเห็นชอบ อ้างว่าเป็นระเบียบที่ช่วยเหลือให้กับผู้พิพากษาที่อาจจะเขียนไม่ถูก หรือยังไม่มีประสบการณ์

บาดแผลเรื่องความยุติธรรมของคนเสื้อแดงจึงยังมีอยู่ลึก เมื่อคุณทักษิณจะนิรโทษกรรม คนเสื้อแดงและ นปช. ก็ยอมไม่ได้ คนจากพรรคก็บอกว่าคุณไม่มีทางหรอกที่คุณจะได้ความยุติธรรม สู้นิรโทษกรรมให้หมดทุกฝ่าย ที่จริงมันก็เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นนะ และความจริงก็เป็นเช่นนั้นด้วย แต่คนเสื้อแดงไม่ยอม อาจารย์ไปหยั่งเสียง ไม่มีสักคนที่เอาด้วยกับนิรโทษกรรมสุดซอย แต่พรรคเพื่อไทยไม่เชื่อเรา

นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่มวลชนไม่อยากยุบ นปช. หรือเปล่า ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ อย่างน้อยช่วยอยู่เป็นเจ้าภาพในการทวงความยุติธรรม

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า