มะเขือเทศลูกแดงๆ โตๆ โดยเฉพาะที่นำเข้าจากต่างประเทศ – รู้หรือไม่ว่า แต่ก่อนมันเคยหอม หวาน เปรี้ยว เค็มและชุ่มฉ่ำมากกว่านี้
ด้วยวงจรอุตสาหกรรมการเกษตรในปัจจุบัน มะเขือเทศถูกเลี้ยงมาด้วยยาฆ่าแมลง และจะถูกเก็บเกี่ยวตั้งแต่ยังเขียว จากนั้นจึงถูกขนส่งและนำไปวางอยู่บนเชลฟ์แบบสดใหม่ที่สุด ซึ่งเป็นรูปแบบที่อุตสาหกรรมเกษตรกระแสหลักคิดขึ้นมาโดยมุ่งเน้นกำไรมากกว่ารสชาติ
แต่ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้มะเขือเทศอร่อยน้อยลงหรือไม่ ?
คำตอบคือ แม้ปล่อยให้มะเขือเทศสุกเต็มที่คาต้นแล้วค่อยเก็บ ก่อนเข้าสู่กระบวนการขนส่งอย่างทะนุถนอมและระมัดระวังที่สุด หลายคนพบว่ามะเขือเทศรุ่นใหม่ๆ ก็ยังไม่อร่อยเหมือนเมื่อก่อน
อลิสแดร์ เฟอร์นี (Alisdair Fernie) นักวิจัยจาก Max Planck Institute of Molecular Plant Physiology ประเทศเยอรมนี ที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องส่วนผสมทางเคมีของมะเขือเทศ เพื่อหาสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ ก่อนจะพบว่าตัวการที่แท้จริงคือ ยีนหรือพันธุกรรมต่างหาก ที่ทำให้มะเขือเทศเปลี่ยนไป
ต้นตอของปัญหานี้ คือ การกลายพันธุ์ โดยการเพิ่มขึ้นของยีน SlGLK2 ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว และยีนชนิดนี้ก็แฝงฝังอยู่ในเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศตั้งแต่นั้นมา
เฟอร์นีเผยอีกว่า การกลายพันธุ์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วในมะเขือเทศปัจจุบันเกือบทุกพันธุ์ ทั้งพันธุ์จากเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยจะทำให้รูปทรงสวยและให้ผลสีแดงเข้มเมี่อสุกเต็มที่
รายงานวิจัยฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science ให้ข้อมูลต่อว่า ยีน SlGLK2 นอกจากจะให้สีแดงสวยงามแก่มะเขือเทศแล้ว ยังไปขัดขวางการทำงานของยีนที่มีหน้าที่ผลิตน้ำตาลและกลิ่นอันเป็นสเน่ห์เฉพาะตัวของมะเขือเทศให้หยุดชะงักไป รสชาติและความอร่อยของพืชผลจากอเมริกาใต้ชนิดนี้จึงร่อยหรอลง
ที่มา : news.sciencemag.org,treehugger.com