Too Many Reasons Why: คนรักของนักซึมเศร้า

ภาพประกอบ: Shhhh
เรื่อง: นลินี ฐิตะวรรณ

 

0.

กว่าฉันจะมีเวลาได้ดูซีรีส์โคตรฮิตเรื่อง Thirteen Reasons Why จนจบทุก EP ได้ ก็เป็นตอนที่ชาวโซเชียลเขาเลิกพูดถึงสาวเศร้ากับเรื่องราวที่เธอถูกกลั่นแกล้ง (bully) ไปหมดแล้ว

เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ซีรีส์เรื่องดังกล่าวว่าด้วย ฮันนาห์ เด็กไฮสคูลที่พบเจอหลายเหตุการณ์สกัดความสะพรั่ง เธออัดเทป 13 ม้วนส่งให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับวิบากกรรมทางอารมณ์ของเธอ และเลือกจบความป่วงทั้งหลายด้วยการกรีดข้อมือ เธอตาย แต่ชีวิตของคนที่มีรายชื่ออยู่ในลิสต์เทปของเธอเริ่มอยู่ไม่เป็นสุขหลังจากนั้น

ฉันดูเธอค่อยๆ ลอกเปลือกความล่มสลาย และฉันในฐานะผู้ถูกวินิจฉัยว่ามีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรกับฮันนาห์ดี ฉันไม่เข้าใจเธอหรอก แน่ละ ต่อให้ฉันรู้สึกเหมือนเธอว่าโลกมันโหดร้ายกับเราเหลือเกิน แต่โลกของฉันกับโลกของเธอเป็นคนละใบกัน

ยิ่งไปกว่านั้นหากฉันพูดว่า เด็กเอ๋ยเด็กน้อย เธอไม่จำเป็นต้องอดทนกับทุกเรื่องก็ได้ แต่บางครั้งเธอจำเป็นจะต้องเพิกเฉยต่อมัน ฉันก็อาจถูกตั้งคำถามถึงความเข้าใจต่ออาการซึมเศร้าจากชาวเน็ตได้, โลกมันก็ร้ายกับเราแบบนี้เสมอแหละนะ (ยักไหล่)

ฉันไม่รู้ว่าเธอตั้งใจจะแก้แค้นหรือฝากฝังร่องรอยความเจ็บปวดไว้ให้คนที่มีส่วนกระทำต่อเธอหรือเปล่า ทั้ง 13 คนหรืออาจมากกว่านั้นทำร้ายเธอ และไม่นานหลังจากนั้น เธอก็ทำให้พวกเขาค่อยๆ ร่วงหล่นจนอดคิดไม่ได้ว่า ฉัน เธอ เขา หรือใครๆ ก็ต่างมีส่วนร่วมสร้างมลพิษทางจิตใจให้กันโดยไม่รู้ตัวทั้งนั้น โดยเฉพาะ เคลย์ ถ้าเธอเป็นนางเอก เขาก็เป็นพระเอก โชคไม่ค่อยดีที่เคลย์ต้องแบกรับทั้งอารมณ์ของเธอ และประคับประคองจิตใจของตัวเองไปพร้อมกัน ฉันว่ามันน่าจะเหนื่อยพอตัว

เอาล่ะ มันจะเกริ่นกันยาวเกินไปแล้ว, บอกตรงๆ ว่าฉันสงสารเคลย์จับใจ บ้าไปแล้ว ยัยฮันนาห์ไม่ควรทำให้นายมีปมตั้งแต่วัยเยาว์ พอๆ กับที่ฉันไม่ควรจะบั่นทอน ‘เขา’ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ฉันเห็น ‘ตัวฉัน’ ในฮันนาห์ และฉันก็เห็น ‘ตัวเขา’ ในเคลย์

นี่ไม่ใช่บทความที่เขียนขึ้นเพื่ออวดคนรัก แต่คือการฉวยโอกาสนำบทสนทนาในระยะเยียวยาความสัมพันธ์มาบอกตัวเองว่า ขณะที่ฉันจมดิ่งซึมเซา เขาก็ทรมานแทบบ้า

1.

ความสัมพันธ์ช่วงเด็กแรกเกิดควรจะเต็มไปด้วยความสดใส แต่หลังจากบาดหมางกัน เพราะเขาดันพูดไม่เข้าหู และเผอิญไปปลุกความทรงจำแสนหดหู่ ฉันก็รู้ทันทีว่า ช่วงโปรโมชั่นของความรักหมดลงไปแล้ว

“ที่ทะเลาะกันวันนั้น มันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราสูญเสียความเชื่อมั่นในทุกอย่าง ความเข้าใจทุกอย่างในชีวิตพังหมด เพราะสำหรับเราเรื่องมันเล็กน้อยมาก แค่แซวเธอ ไม่นึกว่าจะโกรธขนาดนั้น เป็นเรื่องที่นอกเหนือจากคอมมอนเซนส์ของเราไปเลย เราไม่รู้จะปฏิบัติต่อเธอยังไง แบบที่เราควรทำ หรือแบบที่เธอคาดหวังให้เราทำ”

พูดมาแบบนี้ดอกแรก ฉันก็นิ่ง แย่ไปกว่านั้นคือ ฉันเป็นคนประเภทเอะอะก็จะเงียบข่มไว้ก่อน และเมื่อฉันนิ่ง ก็ยิ่งเสริมความระแวงร้อยแปดให้เขาไปใหญ่ นี่ขนาดตั้งค่าว่ามันจะเป็นช่วงของการปรับความเข้าใจกันนะ

“ไม่สบายใจแล้วเงียบ นี่แหละปัญหา เราไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรที่พูดได้ อะไรที่พูดไม่ได้ เกิดอะไรแบบนี้ขึ้นมาอีกจะทำยังไง เวลาเธอเศร้า เธอโกรธ มันจะระเบิดมาแบบไม่ยั้งเลย แล้วมันใช้มาตรฐานเดียวกันในการดีลกับเธอตลอดไม่ได้ เพราะมันคือการต้องพยายามตามสถานการณ์ของเธอให้ทัน ตามเป็นเรื่องๆ ไป”

เขากลัวที่จะบอก แต่ก็พูดมาในที่สุดว่า เหนื่อย นี่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เฮลตี้ เป็นวงจรเศร้าอุบาทว์ที่ไม่อยากเคยชิน และลืมเรื่องความยุติธรรมไปได้เลย

“มันไม่แฟร์ แต่เราคิดว่าเราจัดการความรู้สึกของตัวเองได้ระดับหนึ่ง ดีกว่าปล่อยให้เธอรู้สึกจมดิ่งแบบนั้น เพราะกลัวว่ายิ่งจะไปซ้ำเติมให้ยิ่งนอยด์ ที่ว่าเหนื่อยคือทุกครั้งที่เธอมีอาการซึมเศร้าเราต้องมาเริ่มทุกอย่างใหม่หมด ต้องมานั่งคิดมากว่าจะสร้างความสัมพันธ์ใหม่ยังไง เราจะกลับมาคุยกันแบบเดิมได้มั้ย เราต้องทำแบบนี้ใหม่ทุกรอบ เหมือนจีบผู้หญิงคนเดิมใหม่ทุกครั้ง เรากลายเป็นคนกลัวเช้าวันจันทร์ ถ้าจะสังเกต จันทร์ดีเพรส อังคารดิ่งไม่อยากมีชีวิตอยู่ พุธดีกัน พฤหัส-ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์รักกันมากๆ แล้ววันจันทร์ก็ปรี๊ดแตกอีกเหมือนเดิม เราหลอนแบบ เฮ้ย อีกแล้วหรอเนี่ย ถามตัวเองว่ามันจะวนไปอย่างนี้เหรอ อีกเรื่องคือเราไม่รู้เลยว่าอยู่ดีๆ ซึมเศร้าจะมาหาเธออีกตอนไหน เวลาเธอไม่พอใจ เธอจะด่าแรงมาก เรารู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมทำกับเราแบบนี้นะ เราเป็นตัวอะไรวะ บั่นทอนมาก”

เมื่อคุยกับเขาขณะความเศร้ายังไม่ทำงาน ฉันเหมือนถอดวิญญาณมามองความงี่เง่าของตัวเองยังไงยังงั้น เขาเสริมว่าที่ยอมมาตลอดไม่ใช่เพราะเห็นว่าฉันเป็นฝ่ายถูก แต่เลือกออกแบบวิธีการอยู่ร่วมกัน (แบบโคตรสปอยล์) กับฉันมากกว่า

ฉันเป็นคนต้องรับมือกับโรคซึมเศร้า ส่วนเขาต้องรับมือกับคนที่มีอาการชนิดสามชั่วโมงดีสี่ชั่วโมงเศร้า (นับเป็นรายชั่วโมงจะถูกต้องกว่าวัน) โจทย์ยากที่ไม่รู้จะตอบว่าใครบอบช้ำกว่ากัน แม้ไม่ได้รับการแต่งตั้ง แต่ฉันก็เป็นประหนึ่งศูนย์กลางของจักรวาล และ ‘โรคซึมเศร้า’ กลายมาเป็นเหตุและผลอย่างสมบูรณ์แบบสำหรับทุกพฤติกรรม

“เรามองว่ามันเป็นอาการชั่วขณะหนึ่ง เดี๋ยวอีกสักพักเธอก็จะกลับมาเป็นคนเดิม ไม่ได้มองว่าซึมเศร้าเป็นข้ออ้างให้เธอทำอะไรก็ได้ สำหรับเธอมันไม่ใช่ข้ออ้าง ซึมเศร้ามันถูกมองแบบเหมารวม (stereotype) เกินไป อย่างที่บอกว่าไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติกับเธอยังไง ตามแบบที่เขาเหมารวมกัน หรือตามลักษณะเฉพาะของเธอ แล้วก็ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่มันโรแมนติกขนาดนั้น ไม่ได้คิดจากฐานโรแมนติก คิดแต่ในฐานที่จะเป็นไปได้ เป็นวิธีรับมือ เป็นวิธีการหนึ่งในการใช้ชีวิตร่วมกัน…รู้มั้ยว่าการได้คุยกันแบบปกตินี่ก็ยิ่งใหญ่มากแล้ว”

 

2.

เนื่องจากฉันไม่ค่อยแพ้ความดีใคร รูปธรรมของผู้ชายประเภทดีเกินไปแบบนี้จึงทำอะไรฉันไม่ค่อยได้ แต่คุณพอจะเห็นไหมคะ ว่าคู่ขนานความเศร้าก็คือคนรอบข้างที่ต้องคอยรองรับไม่ให้เราร่วงหล่น ฉันไม่ได้โจมตีอาการซึมเศร้านะ แต่กำลังจะชวนพวกเรามองเห็นมากกว่าความทึมเทาแสนมหาศาลของตัวเอง

การพยายามใช้ชีวิตร่วมกับฉันที่เลือกไม่กินยาต้านเศร้าเพราะเก๋าไม่เข้าเรื่อง ริอาจตั้งคำถามกับอุตสาหกรรมการผลิตยา ทำให้เขาไม่เพียงแต่ต้องรับผิดชอบชีวิตประจำวันและการงานของเขาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการจะต้องมานั่งวิเคราะห์สาเหตุการป่วยไข้ในแต่ละครั้งของฉัน ต้องระแวดระวังคำพูดและการกระทำทุกอย่าง เพราะกลัวจะทำให้ฉันยิ่งอาการหนัก เรียกได้ว่าอาการของฉันเข้าครอบครองระบบคิดและพฤติกรรมของเขาทีละเล็กทีละน้อย แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่จากการพรั่งพรูของเขาในข้างต้น คุณก็คงเห็นว่ามันมีอิทธิพลต่อแทบจะครึ่งหนึ่งของการใช้ชีวิตของเขาเพียงใด

ข้อที่เถียงยังไงก็ไม่จบคือ ในชีวิตที่ต้องเชื่อมโยงกับผู้คนหรือสังคมใดสังคมหนึ่งกันบ้าง เราๆ ท่านๆ จะสามารถมีชีวิตของตัวเองเพื่อตัวเองได้มากขนาดไหน เมื่อการดำรงอยู่ล้วนแต่ต้องสัมพันธ์กับใครสักคน ข้อเสนอที่ฉันเคยบอกเขาก็คือ จะรักกันก็ได้ แต่ตื่นมาพรุ่งนี้ฉันอาจจะไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้วก็ได้นะ

ฉันเคยฆ่าตัวตาย และพ่อบอกฉันตอนยืนอยู่ข้างเตียงโรงพยาบาลว่า พ่อคงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีลูก แต่หากได้ตายขึ้นมาจริงๆ เวลาอาจจะช่วยให้พ่อทำใจได้ ส่วนฉันได้จบชีวิตสมใจโดยไม่ต้องรับรู้อะไรอีกแล้ว นั่นจึงทำให้ฉันนับถือคนที่จากไปได้อย่างสำเร็จทุกคน ไม่ได้ประชดนะคะ ฉันเคารพการตัดสินใจของทุกคน แถมยังรู้สึกแพ้ที่ต้องวนเวียนคิดถึงคนอื่นอย่างนี้เสมอ

“คิดเทียบแบบเราเป็นเธอ เราคงทนไม่ได้เท่าเธอ เราไม่ได้มีความอดทนต่อความทุกข์ทางจิตใจขนาดนั้น อาจจะรู้สึกรุนแรงกว่าที่เธอเป็นก็ได้ เลยรู้สึกว่าเราไม่มีสิทธิ์จะเรียกร้องความอดทนจากเธอ เธอเจอมาหนักกว่าเรา อยากให้เธออยู่ด้วยนานๆ แต่ถ้าเธออยากไปก็เข้าใจเธอนั่นแหละ”

ดูสิ ฉันในร่างของความซึมเศร้ามีอภิสิทธิ์ลอยตัวเหนือทุกอย่างอะไรเบอร์นี้ มีผลต่อการสั่งสมองของเขาให้คิดและปฏิบัติตนแสนดีจนฉันลำบากใจ พอเห็นความพิลึกที่รัดเราจนแน่นไหมคะ พ่อรักฉัน เขารักฉัน และฉันก็รักตัวเองมากเสียด้วย

แล้วยังไงอะ แล้วเธอไม่มีสิทธิ์จะมีวันที่ดีเหรอ

เขาตั้งคำถามที่ตอบยากปิดท้ายบทสัมภาษณ์เชิงบำบัดกันเองของเราสองคนเช่นนี้


หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดกำลังมีปัญหาสุขภาพจิต ติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่กรมสุขภาพจิต สายด่วน 1323
หากต้องการพบจิตเพทย์ สามารดูรายชื่อ โรงพยาบาลรัฐ และ โรงพยาบาลเอกชน ได้ที่นี่ (ที่มา: เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย)

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า