Trump Risk Index: ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยใต้เงารัฐบาลทรัมป์ 2.0

ดัชนี ‘Trump Risk Index’ ที่จัดทำโดยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (Information Technology & Innovation Foundation: ITIF) องค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐ จัดให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอันดับ 2 รองจากเม็กซิโก เพราะมีการค้าขายเกินดุลกับสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการทหารต่อ GDP ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และหลีกเลี่ยงการออกหน้าเข้าข้างสหรัฐอเมริกาในเกมแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์โลก นำมาซึ่งการปลุกปั่นกระแสว่าสินค้าไทยกำลังตกเป็นเป้าหมายการปรับกำแพงภาษีขึ้น 10-20% ในสงครามการค้าระลอกใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่อาจจะเริ่มต้นในปี 2025 นี้ 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว ประเด็นข้างต้นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ไทยจะถึงขั้นบริหารจัดการไม่ได้เลยเสียทีเดียว 

ไทยเองมีประสบการณ์รับมือกับบุคลิกความไม่แน่นอน และความกล้าได้กล้าเสียของทรัมป์มาแล้วเมื่อ 8 ปีก่อน หน่วยงานและกลุ่มคนที่มีบทบาทด้านการออกแบบนโยบายต่างประเทศน่าจะทราบกันดีว่า ทรัมป์ใช้หลักการเดียวในการเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศมาตลอด คือ หลักยื่นหมูยื่นแมว (transactionalism) หากประเทศใดทำให้ทรัมป์รู้สึกว่าสหรัฐอเมริกาตกอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ/ขาดทุน หรือส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่ผูกโยงกับกลุ่มฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน (Republican) อย่างมีนัยสำคัญมากเกินไป เขาก็พร้อมจะนำนโยบายตั้งกำแพงภาษีขึ้นมาใช้ป้องปรามประเทศคู่ค้าอย่างไม่ลังเล ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีใส่อุตสาหกรรมไม้ซุงของแคนาดาที่ส่งไม้มาขายในปริมาณที่มากจนส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมไม้ซุงท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา 

แม้ว่าแคนาดาจะมีสถานะเป็นทั้งเพื่อนบ้านและเป็นลูกไล่รายต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่พ้นเป็นเป้าของสงครามการค้า นับประสาอะไรกับประเทศขนาดเล็กอย่างไทยที่มีภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ห่างไกลและแทบจะไม่เคยมีปากมีเสียงคอยสนับสนุนวาระของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาบนเวทีโลกเลยตลอดหลายปีมานี้ ไม่ว่าจะปัญหารัสเซีย-ยูเครน หรือสงครามกลางเมืองเมียนมา 

คุณูปการที่ไทยพอจะนำมาใช้อ้างถึงความดีความชอบได้หลักๆ ก็คงมีแต่การที่ไทยยังยอมมีสถานะเป็น ‘เรือบรรทุกเครื่องบิน (ที่ไม่มีวันจม)’ (unsinkable aircraft carrier) ให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ใช้สอดแนมประเทศในละแวกรอบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก เช่น จีน ตั้งแต่สมัยสงครามเย็นจวบจนมาถึงปัจจุบัน เมื่อสถานกงสุลที่เฉิงตูถูกสั่งปิด ไทยก็ใจกว้างให้สหรัฐอเมริกาย้ายองคาพยพทีมงานบางส่วนจากจีนมากองรวมไว้ที่สถานกงสุลแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท 

ส่วนเรื่องการเปิดห้องประชุมลับให้ หวัง อี้ (Wang Yi) นักการทูตและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และ เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ได้พูดคุยกันที่ไทยเมื่อต้นปี 2024 นั้น หากกล่าวอย่างเป็นกลางแล้ว รัฐบาล โจ ไบเดน (Joe Biden) และ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่างก็มีตัวเลือกอื่นๆ ไว้ในรายการอยู่แล้วหากไม่สามารถใช้ไทยเป็นสถานที่นัดพบ 

ถึงขั้นนี้แล้วคงเหลือแนวทางเอาตัวรอดแค่ไม่กี่วิธี ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีการส่งสัญญาณเป็นคำใบ้ล่วงหน้ามาแล้วผ่านกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่รู้งานพาบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) มาเสนอขายเครื่องบินรบ F-16 ให้รัฐบาลไทยถึงที่ แถมเสนอแพ็คเกจเงินกู้เพื่อจัดซื้ออาวุธสงครามแก่ไทยในราคามิตรภาพ ดอกเบี้ยแค่ 3.9% ผ่อนชำระ 10 ปีเท่านั้นอีกด้วย 

ความบังเอิญมีอยู่จริง เห็นทีว่ารัฐบาลไทยคงต้องรีบตัดสินใจทำข้อตกลงซื้ออาวุธจากรัฐบาลทรัมป์ เพื่อกลบข้อกังขาเรื่องที่ไทยส่งสินค้าไปขายจนสหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้า และการใช้จ่ายด้านกลาโหมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกเสียแล้วกระมัง 

สิ่งที่ต้องตระหนักให้ดี คือ ไทยไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกขนาดจะตกเป็นเป้านิ่งให้สหรัฐอเมริกาทำสงครามการค้าเพียงเพราะประเด็นการค้าขายเกินดุล หรือการไม่แสดงตัวเอนเอียงไปทางสหรัฐอเมริกาในเกมการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ เพราะมหาอำนาจประจำภูมิภาคหลายประเทศ ทั้งสิงคโปร์และอินโดนีเซียเองก็ไม่ได้เลือกข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจน 

รัฐบาลไทยควรถามทรัมป์อย่างตรงไปตรงมาเลยดีกว่าว่า ไทยจะได้รับข้อเสนอหรือสิทธิพิเศษทางด้านการค้าอันใดเป็นการต่างตอบแทน ในกรณีที่ไทยตีตัวออกห่างจากจีนไปเลือกข้างสหรัฐอเมริกา ใช้หลักการ transactionalism แบบที่ทรัมป์มักใช้กับประเทศพันธมิตรนั้นแล 

ไทยต้องระบุให้ชัดเจนไปเลยว่า กรอบความร่วมมือที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาเสนอให้กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงกรอบความร่วมมือที่ไร้มูลค่า โดยเฉพาะในมิติด้านเศรษฐกิจ เพราะสหรัฐอเมริกาแทบจะไม่เคยหยิบยื่นสิทธิพิเศษ หรือข้อเสนอทางการค้าที่น่าสนใจเป็นกำนัลให้แก่ประเทศพันธมิตรที่ตนต้องการรวบไว้เป็นพรรคพวกในเกมต่อต้านจีนเลย 

หนังสือชีวประวัติของบุคคลสำคัญในแวดวงการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศหลายๆ คนที่เคยร่วมงานกับทรัมป์มักเขียนตรงกันว่า ทรัมป์มีความถูกอกถูกใจคนที่มีภาวะผู้นำแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (strongman) มากเป็นพิเศษ หรือให้กล่าวในภาษาของ เฟร็ด ทรัมป์ (Fred Trump บิดาของทรัมป์) คือ คนที่มีเลือดนักสู้/เลือดผู้ชนะ (champion) ทำให้ทรัมป์เข้าขากันได้ดีกับทั้ง วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdogan) ประธานาธิบดีตุรกี และ คิม จอง-อึน (Kim Jong-un) ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ 

ความท้าทายของการใช้หลักการทูตลักษณะดังกล่าวเป็นเครื่องมือจึงอยู่ที่ว่า ไทยพอจะมีคนที่มีภาพลักษณ์เป็นนักสู้ strongman มากพอที่จะส่งไปปะทะคารมกับทรัมป์ในห้องเจรจานั้นหรือไม่ ซึ่งการต่อรองกับทรัมป์จะเป็นเรื่องที่ไร้อุปสรรคไปโดยปริยาย หากกลุ่มนักออกแบบนโยบายต่างประเทศในไทย (foreign policy community) พยายามใช้แบบแผนและกระบวนการคิดของทรัมป์ให้เป็นประโยชน์ 

เช่นเดียวกันกับในกรณีที่เป็นประจักษ์ชัดแล้วว่า ทรัมป์มักรายล้อมตัวเองไปด้วยคนที่มีความคิดใกล้เคียงกันหรือคนที่แม้มีแนวคิดแตกต่างจากทรัมป์ แต่ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนความคิดเพื่อให้ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลทรัมป์ 2.0 เช่น มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio แคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ) เป็นต้น สิ่งที่รัฐบาลของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคห่างไกลอย่างไทยควรศึกษาคือ นำรายชื่อบุคคลรอบตัวของทรัมป์มาพิจารณา แล้วแยกให้ออกว่าใครที่มีบทบาทเป็นเพียงลูกมือ และใครที่มีอิทธิพลต่อความคิด/การตัดสินใจของทรัมป์มากที่สุด ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ทั้งคนในครอบครัว อาทิ จาเร็ด คุชเนอร์ (Jared Kushner บุตรเขยที่พ่วงมาด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานาธิบดี) หรืออาจเป็นคนนอกอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นักธุรกิจที่แต่งตั้งตัวเองเป็นเพื่อนสนิทหมายเลข 1 (First Buddy) ของประธานาธิบดี จนสามารถร่วมวงสนทนาในการประชุมลับและการติดต่อกันระหว่างผู้นำประเทศได้ 

ทั้งนี้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร กุญแจสำคัญอยู่ที่ไทยมีขีดความสามารถระบุและเข้าถึงคนเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด 

หากดูกรณีศึกษาจากอดีตประเทศมหาอำนาจ (ที่ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือเค้าของมหาอำนาจระดับภูมิภาคแล้ว) อย่างอังกฤษ ก็จะเห็นว่าพอมีการเตรียมแผนรับมือรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ไว้บ้างแล้วตั้งแต่เมื่อห้วงกลางปี 2024 รวมถึงเริ่มมีการโยนหินถามทางถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลพรรคแรงงานของ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) จะนำการทูตแบบ Track 1.5 และ Track 2 มาใช้เพิ่มเติม ผ่านการดึง สส. พรรคฝ่ายค้าน ไนเจล ฟาราจ (Nigel Farage) ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทรัมป์เป็นพิเศษ มาเป็นคนกลางในการช่วยรัฐบาลอังกฤษเจรจาข้อตกลงและสิทธิพิเศษทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา แทนการใช้เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐอเมริกาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ซึ่งก็เป็นวิธีการเล่นนอกกรอบที่น่าสนใจไม่น้อย 

รัฐบาลทรัมป์ 2.0 นั้นไม่ได้น่ากลัวสำหรับไทยที่เป็นประเทศขนาดเล็ก เพราะไทยไม่ใช่ศัตรูทางตรงของสหรัฐอเมริกาในเกมการแย่งชิงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังดำเนินในขณะนี้ แทบไม่ใกล้เคียงหรือเข้าข่ายตำบลกระสุนตกด้วยซ้ำ อย่างมากก็แค่โดนลูกหลง (collateral damage) ที่อาจเกิดได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

สิ่งที่ไทยพอจะทำได้คือ เตรียมการรับมือให้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นจำกัดวงแคบที่สุด ดีเสียอีกที่สหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณบอกใบ้ออกมาขนาดนี้แล้ว ไทยและประเทศอื่นๆ ที่ปรากฏในรายชื่อของดัชนี Trump Risk Index จะได้ใช้เวลาช่วงวันหยุดคริสต์มาส-ปีใหม่ วางแผนกันก่อนทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในปี 2025 

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า