ประเทศมหาอำนาจรวมทั้งพันธมิตรของอเมริกาที่ได้ลงนามในความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน รวมทั้งอิหร่านเอง ต่างออกมาส่งเสียงตอบโต้ผู้นำอเมริกันอย่างแข็งขัน หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐปฏิเสธการลงนามให้สัตยาบันซ้ำในสัญญาพหุพาคีฉบับสำคัญที่ทำไว้กับอิหร่าน พร้อมยืนยันตรงกันว่า ทุกประเทศจะยังคงยืนหยัดดำเนินการไปตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดและลงนามไว้ทุกประการ
เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และรัสเซีย เห็นพ้องกันกับทางการของสหภาพยุโรปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในการสนับสนุนความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ที่หลายฝ่ายเชื่อกันว่าเสริมหนุนความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยยับยั้งอิหร่านจากความพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรให้บางข้อ
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว หลังจากสหรัฐถอนตัวออกจากองค์การยูเนสโก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงด้วยท่าทีดุดันว่าจะไม่ลงนามในสัตยาบันรับรองซ้ำสำหรับข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน พร้อมกล่าวโจมตีอิหร่านว่าอยู่ภายใต้การปกครองที่บ้าคลั่ง (fanatical regime) รวมถึงกล่าวหาว่าอิหร่านสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในบางประเทศ นอกจากนี้ยังขู่ด้วยว่าสหรัฐอเมริกาอาจจะคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อนอีกด้วยซ้ำ
รัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ออกมาตอบโต้อย่างแข็งขันว่าความตกลงนี้เป็น “ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติของเรา” และทางการของสหภาพยุโรปกล่าวว่า “ไม่ใช่ว่าประเทศไหนประเทศเดียวจะสามารถยกเลิกข้อตกลงซึ่ง ‘กำลังส่งผลดี’ ไปได้ง่ายๆ”
เฟเดริกา มอเกรินี (Federica Mogherini) หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปกล่าวในกรุงบรัสเซลส์ว่า “เราไม่สามารถจะระงับข้อตกลงนิวเคลียร์ที่กำลังส่งผลดีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ได้เลย”
ประธานาธิบดีอิหร่าน ฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) กล่าวว่า บัดนี้สหรัฐอยู่ในสถานะ “โดดเดี่ยวมากกว่าที่เคยเป็น”
“ประธานาธิบดีจะสามารถยกเลิกสนธิสัญญาพหุภาคีระหว่างประเทศโดยลำพังตนเองได้เชียวหรือ” เขาถาม “เห็นได้ชัดว่าเขาไม่ทราบว่าสนธิสัญญานี้ไม่ใช่ความตกลงทวิภาคีระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ”
สิ่งที่เรียกกันว่า ‘ความตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน’ มีชื่อเป็นทางการว่า ‘แผนร่วมปฏิบัติการที่ครอบคลุม’ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ลงนามกันที่เจวีนา เมื่อ 14 กรกฎาคม 2015 ระหว่างอิหร่านกับหกชาติมหาอำนาจ คือ สหรัฐ จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นห้าประเทศสมาชิกประจำแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับเยอรมนีและสหภาพยุโรปโดยรวม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้อิหร่านยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่ออิหร่าน
อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาที่ผ่านมา องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) หน่วยงานสังเกตการณ์ด้านนิวเคลียร์ภายใต้ร่มเงาของสหประชาชาติซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน ภายใต้การนำของ ยูกิยะ อามาโนะ (Yukiya Amano) ก็ยืนยันว่า รัฐบาลอิหร่านได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อบังคับในความตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวทุกประการ และแถลงย้ำว่า อิหร่านตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของระบบงานตรวจสอบด้านนิวเคลียร์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และดำเนินการตามข้อพันธะในสัญญาโดยไม่บิดพลิ้ว
ผู้สังเกตการณ์นานาชาติรายอื่นก็กล่าวเสริมกล่าวว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตามความตกลงนี้อย่างสมบูรณ์
สำนักข่าวบางแห่งวิเคราะห์ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังมุ่งจะทำให้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านตกอยู่ภาวะปั่นป่วน เนื่องจากสนธิสัญญานี้เป็นผลงานโดดเด่นของสหรัฐอเมริกาในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ที่สามารถออกมาตรการควบคุมโครงการอาวุธนิวเคลียร์อิหร่านได้สำเร็จ หลังจากผ่านความพยายามอย่างหนักที่ต้องชักนำให้หลายฝ่ายหันมาเห็นพ้องต้องกันตลอดระยะเวลานับหลายปี
ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศท่าทีนี้ พร้อมเรียกร้องให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่ออิหร่าน รวมถึงให้จำกัดโครงการขีปนาวุธของอิหร่านทั้งที่ในความตกลง JCPOA ไม่ได้ครอบคลุมถึงอีกด้วย หลังจากเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา อิหร่านประกาศอ้างความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่นใหม่ของตนที่มีระยะยิงไกลถึง 2,000 กิโลเมตร
ภายใต้กฎหมายของสหรัฐประธานาธิบดีจะต้องพิจารณาและลงนามรับรองซ้ำในทุกๆ 90 วัน ว่าอิหร่านปฏิบัติตามพันธะในความตกลงนิวเคลียร์ เท่าที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ลงนามรับรองไปแล้วสองครั้งในแบบค่อนข้างลังเลใจ แต่ปฏิเสธที่จะรับรองในครั้งที่สามนี้ก่อนกำหนดเส้นตาย 15 ตุลาคม และนับจากนี้สภาคองเกรสมีเวลา 60 วัน เพื่อพิจารณาว่าจะรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านขึ้นมาใช้อีกครั้งหรือไม่
ทรัมป์ได้แถลงท่าทีชัดเจนว่า ถ้าสภาคองเกรสไม่ทำเช่นนั้น เขาจะยกเลิกข้อตกลงนี้ ท่ามกลางความหวั่นเกรงของชาติที่เกี่ยวข้องว่าผู้นำสหรัฐจะถอนตัวออกจากความตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
นอกจากนี้ ในการประกาศการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญของสหรัฐ ทรัมป์ยังได้กล่าวโจมตีอิหร่านทั้งเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธระยะไกล รวมทั้งการสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลาง
เขากล่าวหาอิหร่านว่า “ไม่มีจิตมุ่งมั่น” ปฏิบัติตามความตกลงนิวเคลียร์ และกล่าวว่าเป้าหมายของเขาคือเพื่อให้แน่ใจว่าเตหะรานไม่มีวันจะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้
เขากล่าวโจมตี ‘กองทัพพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม’ ของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps) โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเหตุให้ต้องคว่ำบาตร และแสดงคำวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเตหะรานอย่างเผ็ดร้อน โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้ปฏิบัติการบ่อนทำลายความมั่นคงในซีเรีย เยเมน และอิรัก
“ถ้าเราไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้ทั้งที่กำลังร่วมมือกับสภาคองเกรสและพันธมิตรขณะนี้แล้ว เราก็จะยกเลิกข้อตกลงนี้” ทรัมป์เตือน
“เราจะเห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นในอีกไม่นาน และผมก็สามารถทำสิ่งนั้นได้ในทันที” เขาตอบผู้สื่อข่าวสำหรับคำถามว่าทำไมเขาถึงไม่เลือกที่จะยกเลิกข้อตกลงในตอนนี้เลย
“เราจะไม่เดินตามเส้นทางที่นำไปสู่ข้อสรุปที่คาดการณ์ไว้ว่าเป็นความรุนแรง ความหวั่นผวา และภัยคุกคามแท้จริงของการใช้ระเบิดนิวเคลียร์โดยอิหร่าน” เขากล่าว
พรรคเดโมแครตแห่งสหรัฐอเมริกาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของทรัมป์ วุฒิสมาชิก เบ็น คาร์ดิน (Ben Cardin) กล่าวว่า “ในขณะที่สหรัฐและประเทศพันธมิตรกำลังเผชิญกับวิกฤตินิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ ประธานาธิบดียังอุตส่าห์มาสร้างวิกฤติครั้งใหม่ขึ้นเพื่อโดดเดี่ยวประเทศเราออกจากเหล่าพันธมิตรและผู้ให้ความร่วมมือกับเรา”
เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) กล่าวว่า เขาหวังอย่างยิ่งว่าความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป
ผู้นำแห่ง ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร กล่าวในแถลงการณ์ร่วมว่าทั้งสามประเทศ “มุ่งมั่นผูกพัน” อยู่กับข้อตกลงทั้งหมดและ “รู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้” ของการที่ทรัมป์ปฏิเสธจะรับรองข้อตกลงอีกครั้ง
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) แห่งฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกิล (Angela Merkel) แห่งเยอรมนี และ เทเรซา เมย์ (Theresa May) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทรัมป์กับสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกาพิจารณาถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐและพันธมิตร ก่อนจะดำเนินการอย่างใดที่มีผลลบล้างความตกลงฉบับดังกล่าว
รัฐบาลจีนไม่ได้ออกมาแถลงสิ่งใดนับตั้งแต่การกล่าวแสดงท่าทีของทรัมป์ แต่ก่อนหน้านี้จีนเคยส่งเสียงเรียกร้องให้สหรัฐรักษาข้อตกลงนี้
กระทรวงต่างประเทศของรัสเซียกล่าวแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของทรัมป์ แต่ก็ไม่คาดหวังว่าการดำเนินการต่างๆ ตามข้อตกลงนี้จะต้องยุติลง
รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศของรัสเซีย เซอร์เก ไรยับคอฟ (Sergei Ryabkov) กล่าวว่าท่าทีแสดงออกของทรัมป์เป็น ‘เรื่องน่าหนักใจสุดขีด’ สำนักข่าว RIA รายงาน รัฐบาลมอสโกขณะนี้ถือว่าภารกิจหลักคือการดูแลรักษาความตกลงนิวเคลียร์ไว้ไม่ให้ล่มสลายลงไป ไรยับคอฟกล่าวกับนักข่าว
ผู้เชี่ยวชาญกิจการระหว่างประเทศเคยออกคำเตือนก่อนการประกาศของทรัมป์ว่าอาจเกิดวิกฤติด้านความมั่นคงในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกขึ้นได้ ถ้าเขาปฏิเสธความตกลงอันสำคัญนี้ และนั่นจะเริ่มจุดชนวนสร้างเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น ที่จะนำไปสู่การล่มสลายของความตกลงนิวเคลียร์
เจ้าหน้าที่แห่งภาคพื้นยุโรปและที่รัสเซียกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงจุดยืนของสหรัฐเพื่อเจรจาต่อรองกันใหม่หรือแก้ไขความตกลงนี้จะก่อความเสียหายอย่างรุนแรงต่อความพยายามยับยั้งการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือและที่อื่นๆ
การบอกล้างสัญญาของสหรัฐจะจุดชนวน “การแข่งขันอาวุธ” ขึ้นในตะวันออกกลางและกลายเป็น “สัญญาณเชิงลบ” ซึ่งอาจผลักดันให้เปียงยางหันเหออกจากการเจรจาในอนาคตเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนได้อย่างเป็นทางการ นักการทูตแห่งสหภาพยุโรปคนหนึ่งกล่าว
นักการทูตกล่าวเสริมว่า “ต่อจากนั้นเราก็จะมีวิกฤตนิวเคลียร์เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งไม่จำเป็นเลย”
เจ้าหน้าที่ในเครมลินเตือนว่า การที่สหรัฐผละออกจากความตกลงอาจทำให้สถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน “รุนแรงขึ้นมาก”
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการละทิ้งข้อตกลงของสหรัฐจะ “ก่อความเสียหาย…ต่อความสามารถเพื่อจะคาดการณ์ ทั้งด้านความมั่นคง เสถียรภาพ และการไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ไปทั่วโลก” ดมิตรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) เลขานุการด้านสื่อมวลชนของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) บอกกับนักข่าว
อิหร่านประกาศยืนยันตลอดมาว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตนมีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการพลเรือนเชิงสงบสันติ
ประธานาธิบดีอิหร่าน รูฮานี บอกว่าเขายืนหยัดอยู่กับข้อตกลง แต่จะผละออกไปทันทีหากเกิดสิ่งที่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศ ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวทางโทรทัศน์ถ่ายทอดสดไม่นานหลังการประกาศกร้าวของทรัมป์ “อิหร่านจะยังคงเคารพข้อผูกพันภายใต้ความตกลงนี้ “แต่ถ้าวันหนึ่งผลประโยชน์ของเราไม่ได้รับการเอาใจใส่ เราก็จะไม่ลังเลแม้แต่สักนิดเดียว และจะตอบสนองเช่นเดียวกัน”
ประธานรัฐสภาอิหร่าน อาลี ลาริจานี (Ali Larijani) กล่าวว่า ความตกลงดังกล่าวจะสิ้นสลายไปอย่างแน่นอน ถ้าสหรัฐอเมริกาถอนตัว” สำนักข่าวของรัสเซียอ้างถ้อยคำของลาริจานี ณ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย ขณะเขาเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศ
“สหรัฐได้เริ่มลงมือดำเนินการซึ่งในที่สุดจะนำทั้งโลกไปสู่ความไร้ระเบียบ”
ลาริจานีกล่าวว่า ประเทศของเขาจะยังคงเคารพข้อตกลงทุกประการ ตราบเท่าที่ฝ่ายอื่นทั้งหมดทำแบบเดียวกัน แต่เขากล่าวว่าเตหะรานมีมาตรการตอบสนองพร้อมอยู่แล้วเพื่อรับมือกับการละทิ้งสัญญาของสหรัฐอเมริกา