อนาคตอันมืดมนของผู้หญิงอิหร่าน ภายหลังการเลือกตั้งอันหม่นมัว

1 มีนาคม 2024 ที่ผ่านมา อิหร่านจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งแรกหลังการประท้วงใหญ่ของประชาชนในเดือนกันยายน 2022 สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของมาห์ซา อามินี (Mahsa Amini) ระหว่างถูก ‘ตำรวจศีลธรรม’ (morality police) ควบคุมตัวในข้อหาไม่สวมฮิญาบปกคลุมเส้นผมขณะอยู่ในที่สาธารณะ 

ขณะที่เขียนรายงานชิ้นนี้ ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการยังไม่ถูกประกาศ แต่ผลอย่างไม่เป็นทางการโน้มเอียงไปในทางที่แสดงให้เห็นว่า รัฐสภาของอิหร่านจะคลาคล่ำไปด้วยนักการเมืองและนักศาสนาสายอนุรักษนิยม ชื่อที่คะแนนนำมา 2 อันดับแรกคือ มาห์มุด นาบาเวียน (Mahmoud Nabavian) และ ฮามิด เรซาอี (Hamid Resaee) นักอนุรักษนิยมสุดโต่ง ขณะที่ประธานาธิบดี อิบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) ก็ยังสามารถรักษาเก้าอี้ของตนในสภาผู้ทรงคุณวุฒิ (assembly of experts) ไว้ได้ 

หากการประท้วงในเดือนกันยายน 2022 จุดประกายความฝันถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศอิหร่าน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง ผลการเลือกตั้งที่ใช้เวลายาวนาน และคาดว่าจะประกาศอย่างไม่เป็นทางการภายในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ ก็แทบจะดับไฟฝันนั้นมอดมิด

การเลือกตั้งอันหม่นมัว

การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไป เป็นการเลือกตั้ง 2 ส่วน คือการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 290 ที่นั่ง และการเลือกตั้งสภาผู้ทรงคุณวุฒิอีก 88 ที่นั่ง สภาผู้ทรงคุณวุฒิมีหน้าที่แต่งตั้ง ตรวจสอบ และปลดผู้นำสูงสุดของประเทศ (supreme leader) ซึ่งปัจจุบันคือ อะยาตุลลอฮ์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ฟังดูเหมือนระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้แทนและผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้นำประเทศทางตรง แต่ในระบอบการเมืองการปกครองของอิหร่านยังมีโครงสร้างทางการเมืองที่เรียกว่า สภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council) อยู่ด้วย

อะยาตุลลอฮ์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei)

หน้าที่สำคัญของสภาผู้พิทักษ์คือ การคัดกรองคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงประธานาธิบดี ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าจะในกลุ่มใดต้องได้รับการอนุมัติจากสภาผู้พิทักษ์ก่อน นอกจากนี้สภาผู้พิทักษ์ยังมีอำนาจสูงสุดในการลงมติต่อการตรากฎหมาย หมายความว่ากฎหมายที่ผ่านพิจารณาอนุมัติของรัฐสภาแล้วสามารถถูกคว่ำให้ตกไปได้ด้วยมือของสภาผู้พิทักษ์ ซึ่งมีสมาชิก 12 คน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้นำศาสนาและผู้พิพากษา ทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งโดยผู้นำสูงสุดของประเทศ (อาจกล่าวได้ว่า เหนือกว่าวุฒิสภาไทยยังมีสภาผู้พิทักษ์ของอิหร่าน) 

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาจำนวนกว่า 49,000 คน แต่ได้รับการรับรองจากสภาผู้พิทักษ์เพียง 15,200 คน เป็นผู้สมัครจากพรรคที่มีแนวทางการปฏิรูปเพียง 30 คน ชื่อของนักการเมืองสายปฏิรูปที่สื่อต่างประเทศระบุว่าลอยลำได้ที่นั่งในรัฐสภาแล้วคือ มาซูด เปเซสเกียน (Masoud Pezeshkian) อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ

ส่วนสภาผู้ทรงคุณวุฒิมีผู้ได้รับการรับรองจากสภาผู้พิทักษ์ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ 144 คน ในรายชื่อของผู้ที่ไม่ผ่านการรับรองปรากฏชื่อของอดีตประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) ที่เป็นนักการเมืองสายกลางและนักปฏิรูปคนสำคัญด้วย โดยสภาผู้พิทักษ์ให้เหตุผลว่า เขาไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำ

นอกเหนือจากการใช้อำนาจในการคัดกรองผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ทำให้นักการเมืองสายปฏิรูปได้รับการรับรองน้อยแล้ว สภาผู้พิทักษ์ยังประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ได้รับการรับรองสำหรับการเลือกตั้งในรอบนี้ช้ามาก เพียง 2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง ทำให้ส่วนใหญ่ไม่มีเวลามากพอในการหาเสียง 

ในสายตาของนักปฏิรูปที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองของอิหร่าน การเลือกตั้งครั้งนี้จึง “ไร้ความหมาย ไม่มีการแข่งขัน ไม่ยุติธรรม และจะไม่มีประสิทธิผลในการบริหารประเทศ” 

สิ่งที่ตามมาคือ ในการเลือกตั้งวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ถูกระบุว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศอิหร่าน นับตั้งแต่การปฏิวัติครั้งใหญ่ปี 1979 เป็นต้นมา คือประมาณเพียงร้อยละ 40 ของประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 61.2 ล้านคน 

การประท้วงวันสตรีสากลในกรุงเตหะราน (photo: luna.manchester.ac.uk)

ชีวิตผู้หญิงอิหร่าน ปัจจุบันมืดมนแล้ว อนาคตยิ่งมืดมนกว่า

ชะตากรรมของมาห์ซา อามินี หญิงสาววัย 22 ปี ที่ถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมตัวที่กรุงเตหะรานในวันที่ 13 กันยายน 2022 ด้วยข้อหาแต่งกายไม่เหมาะสม ทั้งไม่สวมฮิญาบคลุมผม และไม่สวมเสื้อที่ยาวคลุมแขนและข้อเท้าเพื่อปกปิดรูปร่าง ก่อนจะเสียชีวิตในอีก 3 วันต่อมา ขณะที่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจศีลธรรม ทำให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ของชาวอิหร่านที่จบลงด้วยการใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 500 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กประมาณ 70 คน อีกประมาณ 30 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตภายหลัง นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ปัจจุบันยังคงมีผู้ถูกคุมขังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่

การชุมมนุมของชาวอิหร่านในเดือนกันยายน 2022 ทำให้โลกหวนคิดถึงเหตุการณ์ที่มีผู้เรียกขานว่าเป็น ‘การเริ่มต้นการต่อสู้’ ระหว่าง อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี (Ayatollah Khomeini) ผู้นำสูงสุดคนแรกของประเทศกับผู้หญิงอิหร่าน ในวันที่ 8 มีนาคม 1979 

วันที่ 7 มีนาคม 1979 หนึ่งวันก่อนฉลอง ‘วันสตรีสากล’ ของผู้หญิงทั้งโลก โคไมนี ผู้นำศาสนาที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำการปฏิวัติอิหร่านและเพิ่งเดินทางกลับอิหร่านก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนหลังลี้ภัยในอิรักและฝรั่งเศส ประกาศข้อบังคับให้ผู้หญิงทุกคนต้องมีผ้าคลุมศีรษะเมื่อออกนอกบ้าน โดยให้เหตุผลว่าผู้หญิงที่ไม่คลุมศีรษะเปรียบเหมือน ‘การเปลือย’ ตามหลักศาสนาอิสลาม ผู้หญิงอิหร่านจึงฉลองวันสตรีสากลในปีนั้นด้วยการออกไปประท้วงบนท้องถนน ศูนย์กลางการชุมนุมแห่งหนึ่งคือ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเตหะราน ซึ่งนักศึกษาหลายคนขึ้นไปบนอาคารเรียนแล้วโยนฮิญาบลงมา ภาพเหตุการณ์นั้นถูกเรียกว่า ‘สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านอุดมการณ์ของอะยาตุลลอฮ์ครั้งแรก’ การประท้วงที่กินเวลาถึง 6 วัน จบลงด้วยการยอมถอยของรัฐบาลที่ออกมาประกาศว่า การสวมฮิญาบจะใช้วิธีการขอความร่วมมือ ไม่ใช่การบังคับ 

แต่แล้วหลังจากนั้นไม่นาน ความมืดมนก็ค่อยๆ คืบคลานเข้าปกคลุมชีวิตผู้หญิงอิหร่านอย่างเป็นลำดับขั้นตอน 

เดือนกรกฎาคม 1980 รัฐบาลประกาศใช้หลักการที่เรียกว่า ‘การอิสลามในสำนักงาน’ (Islamification of Offices) ที่กำหนดให้ผู้หญิงทุกคนต้องสวมฮิญาบในที่ทำงานและอาคารสำนักงานทุกแห่ง ทั้งหน่วยงานราชการ อาคารสาธารณะ และบริษัทเอกชน ผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในอาคารสำนักงานทุกแห่ง ซึ่งอาจจบลงด้วยการถูกไล่ออกจากงาน 

กรกฎาคม 1981 ออกกฎหมายบังคับให้ผู้หญิงต้องสวมฮิญาบในที่สาธารณะ และตามมาด้วยการประกาศใช้กฎหมายลงโทษตามหลักศาสนาอิสลามในปี 1983 ที่กำหนดว่า ผู้หญิงที่ปรากฏกายในที่สาธารณะโดยไม่สวมฮิญาบต้องถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน โดยมีโทษสูงสุดคือการเฆี่ยน 74 ที

บทลงโทษผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบถูกเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ในวันที่อามินีถูกควบคุมตัว กฎหมายระบุว่าผู้หญิงรวมทั้งเด็กหญิงที่ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการสวมฮิญาบอาจต้องรับโทษจำคุก 10-60 วัน หรือปรับระหว่าง 5,000-500,000 เรียล (ประมาณ 43-430 บาท) แต่หลังการเสียชีวิตของเธอเพียง 4 วัน คือในวันที่ 20 กันยายน 2022 สมาชิกรัฐสภาอิหร่านมีมติ 152 ต่อ 34 เสียง ผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดเพิ่มโทษการจำคุกและการจ่ายค่าปรับสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิงที่ฝ่าฝืนกฎการแต่งกาย โดยให้ขยายไปถึงบทลงโทษระดับ 4 ตามหลักศาสนาคือ จำคุก 5-10 ปี และปรับระหว่าง 180-360 ล้านเรียล (ประมาณ 154,000-308,000 บาท) 

ปัจจุบันกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้พิทักษ์ ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะทำให้การไม่สวมฮิญาบไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคลของผู้หญิงแต่ละคนหรือแต่ละครอบครัว แต่จะส่งผลทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยิ่งต่ออิหร่านที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ เพราะค่าปรับที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอย่างมหาศาล 

ความหวังก่อนการเลือกตั้ง และการพังทลายของความหวังหลังการเลือกตั้ง

แม้จะตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงต่อร่างกฎหมายการสวมฮิญาบแทบไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลใหม่ เพราะกระบวนการตรากฎหมายไปไกลถึงขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้พิทักษ์แล้ว ความหวังของผู้หญิงอิหร่าน รวมถึงนักการเมืองและประชาชนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของอิหร่าน มองไปไกลถึงอนาคตของการตั้งผู้นำสูงสุดของประเทศคนใหม่ที่จะมาแทน อะยาตุลลอฮ์ อาลี คาเมเนอี ที่ปัจจุบันอายุ 84 ปีแล้ว ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าประเทศจะต้องมีการเลือกผู้นำสูงสุดคนใหม่ภายในสมัยของสภาผู้ทรงคุณวุฒิที่เพิ่งเลือกตั้งผ่านพ้นไป เพราะสภาผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระครั้งละ 8 ปี 

แต่รายชื่อผู้สมัครที่ผ่านการคัดกรองของสภาพผู้พิทักษ์ก็ทำให้พวกเธอตระหนักว่า ความหวังระยะยาวนั้นไม่น่าจะเป็นความจริงได้ และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีประชาชนมาใช้สิทธิลงคะแนนน้อยที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา

อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจัดให้เป็นประเทศเลวร้ายที่สุดสำหรับผู้หญิง ทั้งในแง่ความไม่เท่าเทียมทางสังคม โอกาสทางเศรษฐกิจ การศึกษา ความเป็นผู้นำทางการเมือง ไปจนถึงปัญหาสุขภาพ ตามการวิจัยของธนาคารโลก (World bank) และสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่า แม้อิหร่านจะมีสถิติผู้หญิงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสูงกว่าผู้ชาย แต่อิหร่านก็เป็นประเทศที่มีอัตราการจ้างงานผู้หญิงต่ำสุด และมีช่องว่างของค่าจ้างระหว่างเพศสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก 

การเลือกตั้งผู้แทนทางตรงที่ควระจะเป็นความหวังของอิหร่าน กลับดูเหมือนจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงกว่าเดิม นิตยสารข่าวต่างประเทศอย่าง ฟอร์เรนจ์ โพลิซี แมกกาซีน (Foreign Policy Magazine) ถึงกับพาดหัวข่าวว่า “อิหร่านใหม่ เลวร้ายยิ่งกว่า ยุคของฮิญาบเริ่มต้นขึ้นแล้ว” 

อ้างอิง: 

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า