วันที่ 30 มกราคม 2566 สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า มีชาวตูนิเซียเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงร้อยละ 11 จากประชากรทั้งประเทศ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองตูนิเซียหลายฝ่ายชี้ว่า การไม่ใช้สิทธิเลือกตั้งดังกล่าวสะท้อนความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อประธานาธิบดี คาอิส ซาอีด (Kais Saied) ซึ่งขึ้นครองอำนาจพร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะปราบโกงและแก้พิษเศรษฐกิจ แต่ปัญหาเหล่านั้นก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขตามที่เขากล่าวอ้าง
“ชาวตูนิเซียผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่สนใจละครการเมืองเรื่องนี้ และปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมใดๆ” อาเหม็ด เนจิบ เชบบี (Ahmed Nejib Chebbi)
หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอย่าง National Salvation Front ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
คณะกรรมการเลือกตั้งของตูนิเซียประกาศว่า มีประชากรมาลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งสิ้น 887,000 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 7.8 ล้านคน ขณะที่พรรคใหญ่อื่นๆ ในประเทศพากันคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากมองว่า เป็นกระบวนการที่ไม่โปร่งใส และเป็นการสร้างความชอบธรรมแก่ประธานาธิบดีซาอีดที่พยายามรวบอำนาจไว้ที่ตน หลังขึ้นสู่อำนาจด้วยข้ออ้างช่วยชาติปราบคอร์รัปชัน ตั้งแต่ปี 2564
ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ปธน.ซาอีดใช้อำนาจปลดรัฐบาลเดิมออกจากตำแหน่ง แช่แข็งกระบวนการทางรัฐสภาก่อนจะสั่งยุบสภา และผลักดันประชามติให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มอบอำนาจแก่ตนเองอย่างไม่มีขอบเขต จนสภานิติบัญญัติที่ตั้งขึ้นใหม่แทบไม่มีอำนาจตรวจสอบหรือระงับการตัดสินใจของประธานาธิบดีและรัฐบาลเลย
ข้ออ้างสำคัญที่ซาอีดใช้เพื่อขึ้นสู่อำนาจคือ หยุดยั้งการคอร์รัปชัน และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งซาอีดอ้างว่าเป็นผลพวงจากพวกนักการเมืองเลวที่โกงกินบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม แม้ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนบางส่วนให้เข้ามาปราบโกง แต่ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งของซาอีด ปัญหาเหล่านั้นกลับไม่ได้ถูกแก้ไขให้ดีขึ้น มิหนำซ้ำ พิษของเศรษฐกิจตกต่ำและความเหลื่อมล้ำในสังคมตูนิเซียก็ยังคงรุนแรงไม่ต่างจากเดิม
ทั้งนี้ กลุ่มพรรคฝ่ายค้านกล่าวหา การสั่งยุบสภาชุดที่แล้วในปี 2564 ของ ปธน.ซาอีด ไม่ต่างอะไรจากการก่อรัฐประหาร และยังเป็นการทำลายรากฐานความเป็นประชาธิปไตยที่แตกรากออกหน่อในประเทศมาตั้งแต่การปฏิวัติตูนิเซียในปี 2554 ซึ่งเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์อาหรับสปริง
อ่านเจาะลึกจุดเริ่มต้นและจุดจบของอาหรับสปริงในประเทศตูนีเซียต่อได้ที่ ตูนิเซีย: จุดเริ่มต้นสู่จุดจบของอาหรับสปริง