เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
15 กรกฎาคม 2016 มีความพยายามก่อรัฐประหารในตุรกี ฝ่ายก่อการตามรายงานข่าวคือกองทัพ แต่ภาพที่ตามมาคือ ประชาชนมหาศาลรวมตัวกันออกมาต่อต้านจนรัฐประหารครั้งนั้นล้มไม่เป็นท่า ตำรวจเข้าคุมสถานการณ์ ชายในชุดลายพรางส่วนหนึ่งถูกประชาชนรุมประชาทัณฑ์ จำนวนไม่น้อยถูกจับกุมด้วยความผิดฐานล้มอำนาจรัฐ
ทันทีที่เหตุการณ์นี้แพร่ไปตามสำนักข่าวต่างๆ มีเสียงไชโยโฮ่ร้องจากอีกหลายมุมของโลก เสียงเหล่านี้เฉลิมฉลองให้กับความพ่ายแพ้ของอำนาจนอกระบบและชัยชนะของประชาชน
นี่คือภาพที่เราเห็น – โลกเห็น
เรเจป ไทย์ยิป เอร์โดอัน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จากพรรค Justice and Development Party (Adalet ve Kalkınma Partisi: AKP) อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2013 หลายปีที่ผ่านมามีการลุกฮือของประชาชนหลายครั้ง และหลายครั้งเช่นกันที่จบลงด้วยการปราบปรามเด็ดขาด นักกิจกรรมถูกจับ การวิจารณ์เอร์โดอันก็นับเป็นความผิด
มองด้วยตาเปล่า เอร์โดอันเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย แต่ปกครองด้วยวิธีกึ่งเผด็จการ สองสิ่งนี้ย้อนแย้งกันโดยความหมาย สมเหตุสมผลหรือไม่ ที่ประชาชนจำนวนมากต้องออกมาต่อต้านทหารไม่ให้ล้มอำนาจเผด็จการของเอร์โดอัน
ความคิดเห็นหนึ่งบอกว่า การเมืองตุรกีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ต้องมองผ่านเลนส์หลายชั้น ตุรกีไม่เหมือนชาติอาหรับ ไม่ใช่ชาติยุโรปเยี่ยงฝรั่งตะวันตก แต่แนวคิดสังคมและวิธีแบบอิสลามกำลังจะกลายเป็นกระแสใหม่ในประเทศมุสลิมที่เรียกได้ว่าทันสมัยที่สุด ดังนั้น การเมืองของประเทศที่คาบเกี่ยวอยู่บนสองพื้นทวีปจึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวเพื่อใช้แก้สมการที่เต็มไปด้วยรากหลายชั้นทั้งหมดได้
ไม่นานมานี้ เกิดเหตุระเบิดจากการก่อการร้ายหลายครั้งในตุรกี ขณะที่บ้านเราก็มีเหตุระเบิดกระจายหลายจุด สองกรณีนี้มีจุดตัดกันอยู่บนพื้นที่ของระบบการเมือง รัฐชาติ และศาสนาอิสลาม
อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะนักวิชาการผู้สนใจการเมืองในโลกอิสลาม และเป็นหนึ่งในผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะช่วยอธิบายให้เห็นถึงความซับซ้อนของสมการที่ควรทำความเข้าใจ ตั้งต้นที่พลวัตของอิสลามการเมือง บวกพื้นที่การทับซ้อนของรัฐ ศาสนาที่ถูกกดทับ มีตัวแปรคือประวัติศาสตร์ มือระเบิด เพื่อหาคำตอบไปสู่พื้นที่ประชาธิปไตยที่ควรมีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับให้ทุกฝ่ายพูดคุยและหาทางอยู่ร่วมกัน
เราจะอธิบายการรัฐประหารที่เกิดขึ้นแบบสายฟ้าแลบในตุรกีด้วยการมองการเมืองอิสลามในมุมไหนได้บ้าง
เวลาเรามองการเมืองตุรกี มันจำเป็นต้องเข้าใจพลวัตของอิสลามการเมืองก่อน แต่ก่อนจะเข้าใจพลวัตอิสลามการเมืองในตุรกี ก็ต้องถอยกลับไปเข้าใจภาพรวมการเมืองอิสลามในภูมิภาคตะวันออกกลางก่อนเช่นกัน
ผมจะขอเริ่มอย่างนี้ คือ อาณาจักรอิสลามในช่วงก่อนปลายศตวรรษที่ 18 นั้นค่อนข้างยิ่งใหญ่ และก็อยู่เหนือยุโรปพอสมควร ทั้งในเชิงเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ เราจะเห็นองค์ความรู้เรื่องการแพทย์ ดาราศาสตร์ องค์ความรู้จำนวนหนึ่งมาจากอิสลาม แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษในปลายศตวรรษที่ 18 นั่นคือจุดเปลี่ยนที่พลิกโฉมหน้าความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาคนี้โดยสิ้นเชิง ยุโรปเริ่มมีอำนาจที่เหนือกว่าอิสลามอย่างเด่นชัด
เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาติอิสลามเริ่มอ่อนแอลง?
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แถบตะวันออกกลางเกือบทั้งหมดตกอยู่ใต้อาณานิคมของตะวันตก และก็ยิ่งเป็นที่ชัดเจนว่า จักรวรรดิอันเป็นเสมือนภาพตัวแทนของอิสลามอย่างออตโตมัน ก็ล่มสลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย นั่นเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดคำถามในโลกมุสลิมอย่างมากว่า อะไรคือสาเหตุแห่งความตกต่ำของพวกเขา ซึ่งคำถามตรงนี้ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ อาจารย์มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อยู่ครั้งหนึ่ง ซึ่งท่านให้ความเห็นว่า จุดตกต่ำของอิสลามอาจตอบได้ด้วย ‘สามกระแสธารคำตอบ’
ข้อแรกเลย มันเป็นแนวทางที่บอกว่า อาณาจักรอิสลามนั้นหมกมุ่นอยู่กับรายละเอียดทางศาสนามากเกินไป จนละเลยที่จะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ก้าวไม่ทัน แล้วก็ติดค้างอยู่กับกับดักตรงนี้ จามาล อุดดีน อัล-อัฟกานี (Jamal ad-Din al-Afghani) ซึ่งเป็นหัวหอกของขบวนการในแนวทางนี้ ก็เลยสรุปว่า การที่อิสลามหมกมุ่นอยู่กับรายละเอียดทางศาสนา ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ในหลายๆ ราชวงศ์อิสลามหายไป ซึ่งนี่คือเครื่องมือที่ทำให้อิสลามอยู่เหนือยุโรปมาได้โดยตลอด แต่วันนี้มันหายไปแล้ว สิ่งที่เขาเสนอก็คือ การทำให้โลกมุสลิมหันมาใช้เหตุผลและวิทยาศาสตร์มากขึ้น ในการเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว เป็น Islamic Modernism
นั่นเป็นกระแสที่ทำให้ลูกศิษย์ของเขาอย่าง มุฮัมมัด อับดุฮ์ (Mohammed Abduh) ซึ่งดำรงตำแหน่ง ‘มุฟตี’ (ผู้ให้คำตัดสินในเรื่องบัญญัติ) ของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร (Al-Azhar University) ในอียิปต์ ปฏิรูปการเรียนการสอนใหม่หมดเลย เอาตรรกะมาใช้อธิบายหลักการทางศาสนามากยิ่งขึ้น เพื่อคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณแบบมุสลิม แต่เป็นมุสลิมภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ อันนั้นคือกระบวนการคำตอบที่หนึ่ง
แนวทางที่สอง ผมเรียกสั้นๆ ว่าเป็นแนวทางแบบ ‘ซาลาฟี’ (Salafi) คือการบอกว่าคำตอบที่แท้จริง คือการที่เราต้องใช้แบบแผนอันเรียบง่าย ทางสายกลางตามตัวบทของอัลกุรอาน ตามหะดีษ หรือตามจริยวัตรและคำสอนของนบี ศาสดามูฮัมหมัด และแบบอย่างของบรรพชนรุ่นแรก
ซึ่งคำว่า ‘ซาลาฟี’ มาจาก ‘สะลัฟ’ ที่แปลว่าผู้มาก่อน ฉะนั้น ‘ซาลาฟี’ คือการหวนกลับไปใช้แนวทางแบบเดิม แบบสมัยที่ท่านศาสดายังมีชีวิตอยู่ อาศัยการอ้างอิงจากตัวบทที่มีหลักฐานเท่านั้น ฉะนั้น แน่นอนว่าแนวทางแบบซาลาฟีก็จะโจมตีแนวทาง Islamic Modernism ว่าเป็นการใช้เหตุผลอย่างขยายความ ไม่ยึดโยงอยู่กับตัวบท ซึ่งเป็นแนวทางที่ผิด
กระแสธารคำตอบสุดท้าย ผมเรียกสั้นๆ ว่าเป็นขบวนการ ‘มะฮ์ดีย์’ (Mahdi) ถ้าเทียบกับแนวความคิดแบบคริสต์ ก็อาจเรียกง่ายๆ ว่า ‘เมสสิยาห์’ คือความคิดที่เชื่อว่าจะมีพระผู้มาปลดปล่อย และจะรอคอยสัญญาณวันสิ้นโลก ซึ่งกระแสนี้ก็จะเป็นกระแสที่ดำรงอยู่มากในซูดาน อินเดีย รวมถึงความเชื่อแบบชีอะห์ในอิหร่านก็มีความเชื่อในกระแสนี้อยู่พอสมควร
อันนี้คือสามกระแสธารคำตอบ เพราะฉะนั้นแล้ว ขบวนการความคิดที่ก่อตัวขึ้นแบบนี้ มันคือปฏิกิริยาต่อการขึ้นมามีอำนาจเหนือกว่าและครอบงำของโลกตะวันตก เป็นกระแสความคิดที่มองอิสลามและตะวันตกเป็นขั้วตรงข้ามกัน เราเรียกขบวนการแบบนี้ในตะวันตกว่าเป็น ‘ขบวนการฟื้นฟูอิสลาม’
ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นช่วงไหน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 สองสามเหตุการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งตอกลิ่มคำถามต่อความตกต่ำของประเทศมุสลิมมากขึ้นไปอีก
เหตุการณ์แรก คือหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง หลายๆ รัฐในประเทศอาหรับก็เริ่มตั้งประเทศ ได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคม จากอังกฤษ จากฝรั่งเศส พวกเขาเหล่านั้นก็เอารูปแบบรัฐชาติของตะวันตกมาใช้ และก็ใช้ในเชิง paradigm ในเชิง secularism หรือการแยกศาสนากับการเมืองออกจากกัน
แต่เราพบว่า ระบบรัฐชาติของชาติอาหรับจำนวนมากที่รับเอาของรูปแบบของตะวันตกมาใช้ มันไปไม่ถึงโมเดลเป้าหมายของตะวันตก ซึ่งก็คือประชาธิปไตย เพราะไปติดเเหง็กกับระบอบเผด็จการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะในระบอบผู้นำทหารอย่างในอียิปต์ ในพรรคบาธ (Ba’ath Party) ของอิรัก ซีเรีย หรือซาอุดิอาระเบียก็แล้วแต่ มันไปติดอยู่แค่นั้น และมันทำให้คนมุสลิมนั้นยากจนแร้นแค้นอย่างมาก มีความเหลื่อมล้ำ ประสบปัญหาทางสังคมและการเงินค่อนข้างสูง…เขามองว่านี่แหละ คือความล้มเหลวแบบสังคมตะวันตก เขามองว่าสังคมแบบตะวันตกไม่เวิร์ค
ประการที่สอง ก็ราวๆ 1967 ชาติอาหรับ 6-7 ชาติ รุมสกรัมประเทศที่ตั้งขึ้นใหม่ที่ชื่อ ‘อิสราเอล’ แต่กลับพ่ายแพ้ประเทศที่ตั้งใหม่นี้ในเวลาเพียงแค่หกวัน และนั่นก็นำมาซึ่งความใจสลายของ นัสเซอร์ (กามัล อับเดล นัสเซอร์: Gamal Abdel Nasser) ผู้นำของอียิปต์ในขณะนั้น จนถึงแก่การมรณะกรรมในท้ายที่สุด
ชาติอาหรับก็ตั้งคำถามกับตัวเองมากว่า ทำไมเราถึงพ่ายแพ้ สองเหตุการณ์นี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งตอกลิ่มคำถามที่ว่า ‘อะไรคือเหตุแห่งการตกต่ำของประเทศมุสลิม’ มากขึ้นไปอีก
เหตุการณ์ที่แสดงถึงความตกต่ำของการเมืองอิสลามของตุรกีไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงนั้นใช่ไหม เพราะมีการเชื่อมโยงถึงอาณาจักรออตโตมันด้วย
ช่วงหลังปี 1923 ซึ่งเป็นช่วงหลังออตโตมันล่มสลาย มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Ataturk) ก็ตอบคำถามต่อเหตุแห่งความตกต่ำอีกแบบหนึ่งว่า มันคือ ‘การติดแหง็กอยู่กับศาสนา อยู่กับอุดมการณ์แบบเดิม’
ฉะนั้นวิธีการของอตาเติร์กจึงเป็นการแยกรัฐออกจากปริมณฑลสาธารณะโดยเด็ดขาดและสมบูรณ์แบบ (secularism) เฉกเช่นที่ฝรั่งเศสทำ และก็เปลี่ยนประเทศเป็นสมัยใหม่ ตะวันตก โดยมีแรงส่งที่สูงมาก
อย่างไรก็แล้วแต่ ลัทธิเรียกว่า ‘ลัทธิเคมาลิสม์’ (Kemalism) หรือแนวทางที่เชื่อตามสิ่งที่ เคมาล อตาเติร์ก ได้วางเอาไว้ แต่มันไปไกลถึงการบงการร่างกายและจิตวิญญาณของคน เช่น เรื่องของการไว้หนวดเครา การคลุมฮิญาบ การเปลี่ยนปฏิทินจันทรคติแบบอิสลามไปเป็นแบบตะวันตก ตั้งหอนาฬิกาทั่วทั้งเมือง เป็นการเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางจิตวิญญาณของคนแบบทันทีทันใด
สิ่งที่เป็นเคมาลิสม์จึงไม่ใช่แค่การแยกศาสนาให้เป็นเรื่องปัจเจกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก แต่เป็นการกดทับศาสนาให้อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอย่างเด็ดขาด กิจกรรมและสถาบันทางศาสนา จะทำได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐ ไม่ใช่เสรีภาพของปัจเจก ซึ่งอันนี้อาจจะต้องเป็นปัจจัยข้อแรก ในการเข้าใจการเมืองตุรกี
กลุ่มอิสลามการเมือง หรือกลุ่มศาสนานิยมในตุรกี ซึ่งเคยได้เคลื่อนไหวทางสังคมมาก่อน ในช่วงเวลาเริ่มต้นของการเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ เขาก็ไม่ได้ลุกฮือโดยตรง เพราะเกรงว่าการลุกฮือต่อต้าน ยิ่งจะทำให้ถูกปราบปรามอย่างถอนรากถอนโคน เขาก็ไปเคลื่อนไหวในรูปแบบนอกกรอบของอำนาจรัฐ เช่น ไปเปิดหลักสูตรสอนอัลกุรอาน และใส่แนวคิดจิตวิญญาณของอิสลาม เพื่อหล่อเลี้ยงให้กลุ่มของตัวเองดำรงอยู่เรื่อยๆ
หมายความว่า การเรียนการสอนในแบบอิสลามเป็นสิ่งต้องห้าม?
ถ้าในระบบการเรียนการสอนแบบปกติ ก็จะสอนสายสามัญเป็นหลัก การสอนศาสนาส่วนใหญ่ก็จะอยู่นอกเวลา แปลว่าขบวนการเมืองอิสลามแบบตุรกี แม้จะถูกกดเอาไว้แต่ก็ยังคงอยู่ ซึ่งมันก็จะแยกออกเป็นสองเฉดด้วยกัน
เฉดที่หนึ่งคือ กระบวนการทางสังคม หรืออาจพูดง่ายๆ ว่าคือการทำงานของภาคประชาสังคม ขบวนการนี้จะมีผู้นำชื่อ เบดีอุซซามาน ซาอิด นูรซี (Bediuzzaman Said Nursi) ซึ่งเขาก็เป็นมุสลิมแบบซูฟีย์ เน้นการฝึกฝนบำเพ็ญตนเพื่อให้เข้าถึงพระเจ้า เพื่อให้ไปสู่แนวทางที่ดี ดังที่พระอัลลอฮ์ได้สอนเอาไว้
ซาอิด นูรซี ก็จะส่งต่อแนวคิดนี้มายังคนที่เราก็คงจะคุ้นชื่อกันดีในปัจจุบัน คือ เฟตฮุลเลาะห์ กุเลน (Fethullah Gulen) ซึ่งเวลาเราพูดถึง ‘ขบวนการกุเลน’ มันเป็นความเข้าใจที่มากเกินไปว่าเขาเป็นขบวนการล้มรัฐ เป็นขบวนการก่อการร้าย เพราะตัวเนื้อแท้ของกุเลนคือขบวนการทำงานเพื่อสังคม เนื่องจากกุเลนมองว่า สาเหตุแห่งการตกต่ำของมุสลิม มาจากสามเรื่องที่เป็นโรคร้ายของมุสลิม สามโรคร้ายที่ว่าก็คือ ความยากจน การไร้การศึกษา และความแตกแยกภายในโลกมุสลิมด้วยกัน
เพราะฉะนั้นภารกิจหลักของกุเลนในโลกมุสลิม ก็จะเป็นสามเรื่องใหญ่ๆ นี้ คือขจัดความยากจนด้วยการสังคมสงเคราะห์ สองคืองานด้านการศึกษา และสามคือด้าน ‘ตัรบียะฮ์’ คือการอบรม และ ‘ดะวะฮ์’ โดยคร่าวๆ หมายถึง การโน้มน้าวชักชวน ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อเผยแผ่ศาสนา หรือเพื่อให้คนมุสลิมด้วยกันหันมาร่วมกันฟื้นฟูศาสนา ปรับปรุงการปฏิบัติศาสนกิจของตนเอง
แต่ขบวนการแบบกุเลน ซึ่งได้รับอิทธิพลด้วยแนวคิดแบบซูฟีย์ จึงไม่ค่อยยุ่งเรื่องการเมือง ซึ่งการเข้าไปยุ่งกับการเมือง โดยตัวมันเองแล้วก็ผิดต่อหลักคิดแบบซูฟีย์ด้วย
เฉดที่สองคือ ขบวนการด้านการเมือง ทำงานการเมืองโดยตรง แอดวานซ์ที่สุดคือการตั้งพรรคการเมือง เป็นพรรคการเมืองแนวอิสลามนิยม คนที่เป็นผู้นำ หรือผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างมากในกรอบขบวนการแบบนี้คือ นิคมิดดีน อัรบาคาน (Necmettin Erbakan) เป็นหัวหน้าพรรคแนวอิสลามนิยมหลายพรรค ไล่มาตั้งแต่ National Order Party, National Salvation Party หรือ Welfare Party ซึ่งเรียกในชื่อแบบเติร์กว่า Fazilet เมื่อพรรค Fazilet แตกออก ส่วนหนึ่งก็มาตั้งพรรค AKP อีกส่วนก็ไปตั้งพรรค Felicity ซึ่งอัรบาคานก็ไปนั่งเป็นหัวหน้าพรรคต่อไปด้วย
จากที่กล่าวกันว่า การเมืองตุรกีมีลักษณะการกดทับกลุ่มศาสนา กลุ่มการเมืองเหล่านี้ก็ต้องได้รับผลกระทบด้วยใช่ไหม
มันมีสองเฉดของขบวนการทางการเมืองในตุรกี คือ ‘ขบวนการทางสังคม’ และ ‘ทางการเมือง’ อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะตั้งมากี่พรรคก็จะถูกสกัดยับยั้ง หรือถูกสั่งให้ยุบพรรคไป ซึ่งหลายครั้งทางกองทัพก็ใช้เป็นเหตุผลอ้างความชอบธรรมในทางรัฐประหารด้วย ว่าเราจะต้องขจัดแนวคิดซึ่งจะนำไปสู่ความคิดทางศาสนาแบบสุดโต่ง
ทั้งหมดนี้มันเป็นการ suppress หรือกดทับความประสงค์ของผู้คนที่อยากจะมีแนวทางแบบอิสลาม อยากจะรักษาอัตลักษณ์มุสลิมแบบออตโตมันเอาไว้ ว่านี่คือคำตอบ ไม่ใช่ secularism การแยกรัฐกับศาสนาเป็นคำตอบที่ผิด เพราะหลังจากใช้รูปแบบเคมาลิสม์มา เศรษฐกิจตุรกีก็ยังไม่ก้าวกระโดด ยังไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น มีการฉ้อฉลจากรัฐบาล มีนั่นมีนี่เต็มไปหมด
นี่เป็นจุดหักเลี้ยวให้คนตุรกีส่วนหนึ่งเริ่มโหยหาแนวคิดทางสังคมแบบเดิมใช่ไหม
คนตุรกีจำนวนไม่น้อยเขาก็ตระหนักว่ามันควรจะใช้มิติสังคมในการแก้ปัญหา ซึ่งเราจะเห็นว่ามันเป็นบริบทที่เกาะเกี่ยวกับโลกตะวันออกกลางหลังทศวรรษที่ 1970 เป็นขบวนการที่บอกว่าอย่าตัดขาดโลกอิสลามออกจากการเมือง
เราจะเห็นว่าการผงาดขึ้นมาของพรรค AKP ของเอร์โดอัน เพราะสิ่งที่เขาทำ มันไปตอบสนองสิ่งที่คนตุรกีต้องการมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 1923 เศรษฐกิจช่วงพรรค AKP เติบโตอย่างก้าวกระโดด ปัญหาความยากจนเริ่มลดน้อยลง พร้อมกับให้คืนศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจของชาวเติร์ก เพราะต้องยอมรับว่าในแง่อัตลักษณ์หลังปี 1923 ชาวตุรกีตอบไม่ได้ว่าเราเป็นใครในเวทีการเมืองโลก ในโลกที่ยิ่งจะเชื่อมโยงกันเรื่อยๆ เขาไม่รู้ว่าจะวางตัวเองไว้ตรงไหน เพราะตำแหน่งที่ตั้งของตุรกีคือ ยูเรเชีย จะสมัครเข้าไปในยุโรป เขาก็ไม่เอา ใครๆ ก็ปฏิเสธ
อันนี้เป็นสิ่งที่ตอกย้ำมาโดยตลอดว่าตุรกีไม่สามารถเป็นยุโรปได้ ไม่สามารถเป็นตะวันตกได้ อาจจะเป็นเหตุผลกลไกหนึ่ง ที่ทำให้ตุรกีหันมาโปรโมท ‘Neo-Ottoman’ อย่างเต็มรูปแบบ มันเป็นมิติของการต่างประเทศ ที่เขากำหนดอัตลักษณ์ตัวเองใหม่ว่าเขานี่แหละ คือผู้ที่รับมรดกตกทอดมาจากออตโตมันอันยิ่งใหญ่ แต่เขาจะไม่ใช่จักรวรรดิออตโตมันแบบรัฐคอลิฟะห์ (Kalifah) รัฐที่ศาสนากับเรื่องทางโลกมารวมกัน แต่จะเป็นรัฐออตโตมันในแบบ Islamic Modernism อย่างที่ได้อธิบายไปในกระแสธารแรก
ตุรกีมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปอยู่ในอียูได้หรือเปล่า
ไม่มีครับ (หัวเราะ) ตอบด้วยความเห็นที่ค่อนข้างมั่นใจนะครับ ไม่มี
ด้วยเหตุผลสองสามเรื่อง ผมมองว่าสังคมยุโรป มีกำแพงเรื่องอคติทางชาติพันธ์ุและศาสนากับมุสลิมอาหรับพอสมควร โดยเฉพาะหลังการก่อร้ายจำนวนมาก มันถูกแปะป้ายโดยด่วนตัดสินจากคนจำนวนมากว่า ทุกครั้งที่มีการก่อการร้าย มันมาจาก IS หรือเปล่า มุสลิมหรือเปล่า
ขณะเดียวกัน การจะเข้าไปอยู่ในอียู ประมาณ 6-8 ปีก่อน มีนิตยสารเล่มหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิด ปกคือรูปม้าไม้เมืองทรอย แต่ข้างในเป็นคนตุรกีและเข้าไปในอียู เนื้อหาในคอลัมน์ก็จะอธิบายว่า การที่ตุรกีจะสามารถเข้าไปในอียูได้ นั่นเปรียบเสมือนม้าไม้เมืองทรอย ที่จะทำให้ประชากรมุสลิมยึดครองยุโรป ทั้งในเชิงอัตลักษณ์และในเชิงเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ทรัพยากรแรงงานของตุรกีที่เข้าไปในอียู เทคโอเวอร์ทางแรงงานการตลาดการค้า มันมีนัยยะสำคัญพอสมควรที่จะทำให้คนยุโรปกังวลพอสมควรในเรื่องนี้ เพียงแต่เขาไม่มองไม่เห็นในภาพเปิดกว้างเรื่องอัตลักษณ์ว่า ถ้าเอาทุน เงิน แรงงาน ของตุรกีออก เขาก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะระบบเศรษฐกิจมันยึดโยงอยู่กับแรงงานเหล่านี้ โดยเฉพาะในเยอรมนีจะเห็นชัดเจน
ยิ่งชัดเจนว่าตุรกีค่อนข้างโดดเดี่ยว และต้องการอัตลักษณ์ที่พวกเขาคิดว่า เอร์โดอันสามารถให้ได้?
ขบวนการทางการเมืองของพรรค AKP ของเอร์โดอัน บางคนอาจมองไปไกลถึงขึ้นที่ว่า มันจะนำไปสู่การสถาปนาคอลิฟะห์ใหม่ โดยเอร์โดอันอยากจะเป็นองค์กาหลิบ เป็นองค์ประมุขทางศาสนา แต่เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่ขบวนการพรรค AKP ทำ มันเป็นการเมืองเชิงอัตลักษณ์มากกว่า โดยการยืนยันให้คุณค่ากับอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิม มากกว่าที่จะตั้งเป้าว่าเราจะตั้งรัฐอิสลามแบบที่ IS ตั้งเป้าเอาไว้ มันไม่ได้ไปทางเฉดนั้น
เราจะเห็นว่า อัตลักษณ์แบบนี้มันเป็นสิ่งที่คนตุรกีต้องการ และมันถูกหล่อหลอมหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของพวกเขามาในช่วงที่มันประสบความตกต่ำ
สอง – การพยายามจะเปลี่ยนอัตลักษณ์ หรือสำนึกของชาติทุกครั้ง มันถูกขัดขวางโดยกองทัพตลอด นั่นจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมการลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหารของคนตุรกีจึงดูทรงพลังอย่างมาก แล้วมันก็มีกลิ่นอายของความเจ็บแค้น เกลียดชังกองทัพพอสมควร นั่นก็คือที่มาที่ไป
ขณะที่ชาติอาหรับไม่นับตุรกีเป็นพวก ความแตกต่างของตุรกีกับชาติอาหรับต่างๆ เป็นอย่างไร
ไม่นับครับ ในแง่ที่ว่าตุรกีเป็นคนละชนเผ่ากัน เป็นเติร์ก เป็นอนาโตเลีย เข้ามามีอำนาจและยึดพื้นที่ตรงนี้ไปได้ ซึ่งเดิมก็มีคนอาหรับอยู่พอสมควร เป็นพื้นที่อิทธิพลของอาณาจักรในแถบอาหรับ ฉะนั้นในแง่ชนเผ่าก็จะเป็นคนละเชื้อชาติกัน เติร์กจะมาจากทางฝั่งเอเชียกลาง
แต่ด้วยความสำนึกของความเป็นประชาชาติมุสลิม จึงทำให้เวลาที่เรืองอำนาจ เขาสามารถ represent ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอิสลามได้ เขาจึงไม่มีคำถามในเรื่องนี้มากนัก แม้ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่า ออตโตมันเองปกครองบางดินแดนในบางช่วงเวลาอย่างกดขี่พอสมควร
ในยุคออตโตมัน พื้นที่อาหรับบางส่วนก็อยู่ในอาณัติของออตโตมัน แนวความคิดของออตโตมันได้แผ่ขยายไปสู่อาหรับด้วยหรือเปล่า
ใช่ครับ และการยอมรับของออตโตมันในฐานะผู้นำก็ปรากฏอย่างกว้างขวางในโลกอาหรับ และจริงๆ ต้องเข้าใจก่อนว่า ช่วงเวลาในการครอบอำนาจของออตโตมันกินช่วงเวลายาวนานมาก ไม่ได้รุ่งเรืองทุกช่วงนะครับ ในช่วงหลังๆ ก็ตกต่ำมาก่อนจะล่มสลายอยู่เป็นร้อยปี ติดหนี้ติดสิน กู้ยืมจากประเทศยุโรปมามหาศาล เพื่อที่จะมาสร้างฮาเร็ม ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องทางศาสนาแล้ว นั่นคือออตโตมัน
ขณะเดียวกัน หลายอาณาจักรก็อยู่ใต้ออตโตมันด้วยการพิชิต อย่างไรก็แล้วแต่ หลังออตโตมันล่มสลาย โลกมุสลิมทั้งหลายก็จดจำออตโตมันในฐานะจุดรุ่งเรืองของอาณาจักรอิสลาม ฉะนั้นเราจะเห็นว่าในเรื่องเล่ากระแสหลักของโลกมุสลิมจำนวนไม่น้อย ทุกคนจะโหยหาความยิ่งใหญ่รุ่งเรืองของอิสลามในยุคสมัยอาณาจักรออตโตมัน และยังปรารถนาที่จะเห็นฮีโร่ หรือวีรบุรุษขี่ม้าขาวมาปลดปล่อยโลกมุสลิมจากการอยู่ภายใต้การครอบงำของตะวันตก นั่นทำให้ไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมโลกโลกมุสลิมถึงค่อนข้างโปรเอร์โดอันมาก เพราะเขาโหยหาผู้นำ และผู้ที่จะฟื้นคืนเกียรติภูมิของโลกมุสลิมให้ได้อีกครั้งหนึ่ง
กระแสการโหยหาวิถีการเมืองอิสลามที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นด้วยใช่ไหมว่า การเอาระบบรัฐชาติแบบตะวันตกมาแบ่งดินแดนต่างๆ เป็นเรื่องที่ไม่เวิร์ค โดยเฉพาะกับตุรกีเอง
ใช่ครับ
แต่แนวคิดเรื่องนี้ในแถบอาหรับ เขาอยากจะใช้แนวคิดของรัฐชาติมาตั้งเป็นกลุ่มประเทศอาหรับไม่ใช่หรือ
ใช่ครับ เป็นความพยายามระลอกแรกหลังยุคสมัยที่เปลี่ยนมาเป็นระบบรัฐชาติ และความคิดนั้นถูกลงหลักปักฐาน (settle) ลงในโลกอาหรับแล้ว แนวคิดของการจะต้านทานกับจักรวรรดินิยมตะวันตกในเวอร์ชั่นแรกๆ มันมาในรูปของชาตินิยมอาหรับ ซึ่งก็จะนำโดยผู้นำอย่างนัสเซอร์ของอียิปต์
เราจะเห็น ซัดดัม ฮุสเซน หรือ บาชาร์ อัล-อัสซาด ในซีเรีย ก็จะอยู่ในแนวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ บรรดาชาติที่ว่ามาเหล่านี้ก็แพ้อิสราเอลอย่างเละเทะเลย นั่นนำมาซึ่งคำถามที่ว่ามันถูกต้องหรือเปล่าที่ทำมา ตรงนี้มันเปิดช่องทางให้ขบวนการทางอิสลามการเมืองผงาดขึ้นมาอย่างมีพลัง
กรณีอียิปต์ ที่เราเรียกว่า ‘Muslim Brother Hood’ ก็มีพลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหลังเหตุการณ์นี้ เพราะมันไปตอบโจทย์ความคลางแคลงใจของสังคมว่าอะไรกันแน่ คือความตกต่ำของโลกอาหรับ โลกมุสลิม
ปฏิวัติดอกมะลิในปี 2011 ที่มีการลุกฮือในหลายประเทศ มาจากฐานคิดนี้ด้วยใช่ไหม คืออยากได้จิตวิญญาณของโลกมุสลิมคืนมา หรือที่แท้จริงเขาถามหาประชาธิปไตย
เป็นได้หลายแบบนะครับ มันมีหลายเฉดอยู่ตรงนั้น แต่จุดร่วมกันคือว่า เขาไม่เอาระบบที่เป็นอยู่ เนื่องจากว่ามันล้มเหลวมาโดยตลอด แล้วมันก็มีเรื่องที่มันเป็นเรื่องทางโลก ซ้ำเติมมาจากสภาพเศรษฐกิจ ซ้ำเติมมาจากโลกซึ่งเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 2008 ก็กระทบกันหมด ยุโรปก็โดน ตะวันออกกลางก็โดน เนื่องจากว่ามันเชื่อมโยงถึงกันหมดในเชิงเศรษฐกิจ
เป็นปรากฏการณ์ที่หลายๆ ประเทศเขาตระหนักว่า ปัญหาต่างๆ มันไม่ได้เกิดจากโลกเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากระบบที่เขาใช้อยู่ด้วย เช่น กรณีเผาตัวตายที่ตูนิเซียนี่ชัดเจนนะครับ ชัดเจนว่าเป็นบัณฑิตจบใหม่ แต่ต้องตกงานมาขายผัก ขณะที่ลูกชายหรือว่าญาติเครือข่าย อาบิดีน เบน อาลี (อดีตประธานาธิบดีตูนิเซีย) ไม่ว่าจะจบหรือไม่จบ ก็มีที่ทางในทางราชการกันทั้งสิ้น นี่คือบรรยากาศที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง
เวลาที่เศรษฐกิจโอเค มันก็พอจะนินทาเม้าท์มอยจบเรื่องไปได้ แต่ในวันที่เศรษฐกิจมันตอกลิ่มความเจ็บแค้นตรงนี้ มันก็เพียงพอให้ระเบิดขึ้น เพราะฉะนั้นมันก็เป็นส่วนผสมของปัญหาหลายเรื่อง
แต่เฉดของผลลัพธ์ที่เป็นคำตอบของการล้มระบบมันก็แตกต่างกันไป บางคนมองว่าต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เขาอาจจะมองว่าปัญหาคือการไปเป็นตะวันตกแบบไม่สุดทาง มันไปติดชะงักอยู่ที่เผด็จการของคนไม่กี่คน ยังไปไม่ถึงเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตก เพราะฉะนั้นทางแก้ก็คือการเปิดพื้นที่ไปสู่เสรีประชาธิปไตยให้ได้
กับอีกแนวทางหนึ่งบอกว่า ต่อให้ระบบแบบไหนก็ไม่เวิร์ค เพราะล้วนประดิษฐ์สร้างโดยมนุษย์ แต่มนุษย์มีข้อผิดพลาด มีเรื่องบิดเบี้ยวได้ ดังนั้นไม่แปลกที่จะเกิดปัญหาในระบบที่มนุษย์เซ็ตขึ้น ฉะนั้นคำตอบเลยคือการใช้ระบบที่ God made พระเจ้าสร้างขึ้น นั่นก็คือจิตวิญญาณที่จะสร้างรัฐแบบอิสลาม หรือการนำเอากฎหมายแบบอิสลามมาใช้ปกครองรัฐมากขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือประเทศไหนบ้าง
อย่างอียิปต์ครับ แต่เราอาจจะพูดไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามันคือการจะสร้างรัฐศาสนาขึ้นมาใหม่ เพียงแต่เขามองว่าทางนำของสังคมจะไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าเราเอาศาสนามาใช้ในทางการเมืองมากขึ้น เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์ตรงนี้นำมาสู่การเลือกตั้งและการขึ้นมามีอำนาจของ โมฮัมเหม็ด มุร์ซี ในอียิปต์ (Mohamed Morsi) แต่ไม่นานก็โดนรัฐประหารไป เนื่องจากไปขัดแย้งกับอุดมการณ์ที่ตะวันตกอยากได้ และกองทัพก็มีความสัมพันธ์กับตะวันตกมาอย่างยาวนาน
ทำไมประชาธิปไตยแบบเสรีจึงไม่ไช่ทางออก ไม่ไปด้วยกันกับศาสนา ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นแนวทางที่ประนีประนอมกับทุกศาสนา
กระแสธารแรกที่ผมเสนอไป คือ Islamic Modernism คือกระแสที่บอกว่ามันไปด้วยกันได้ ประชาธิปไตย หรือสังคมแบบตะวันตกกับศาสนามันไปด้วยกันได้ และควรจะไปด้วยกัน ซึ่งกลุ่มขบวนการนี้ก็จะมีการตีความทางศาสนาว่ามันสอดคล้องกันยังไง เช่น การตีความว่า ก่อนหน้าที่มนุษย์จะบรรจุตัวเองว่าเป็นศาสนิกอะไร มนุษย์ทุกคนมีอัตลักษณ์แรกเริ่มเหมือนกัน คือความเป็นมนุษย์ อันนี้เป็นหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งจุดนี้ก็อ้างอิงเป็นตัวอย่างได้ โมเดลอย่างนี้จะเห็นชัดในตุรกี ในแถบมาเลเซีย อินโดนีเซียก็จะเป็นแบบนี้
ว่ากันจริงๆ แล้ว กระทั่งสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกาย หรือสิทธิมนุษยชนในสังคมตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตย ก็มีที่มาที่ไป มันไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันมาจากกรอบคิดแบบคริสเตียน เรื่องมนุษย์เกิดขึ้นมาโดยมีเจตจำนงเสรีเพราะพระเจ้า พระเจ้าสร้างขึ้นมา ไม่มีใครอยู่เหนือกว่าเราแล้ว นอกจากพระเจ้า
ฉะนั้นมนุษย์ด้วยกันไม่มีสิทธิ์เอาชีวิตเราไป มาบอกว่าเราควรคิดหรือควรแสดงออกยังไง คนที่ทำแบบนั้นได้มีคนเดียว คือพระเจ้า นั่นก็คือรากฐานของ free will เรื่องเสรีภาพมนุษย์
โลกอิสลามก็มีมุมแบบนี้เหมือนกัน เพียงแต่หลังๆ มักถูกเอาไปใช้ในอีกแบบหนึ่ง คือเราไม่จำเป็นต้องฟังใครนอกจากพระอัลลอฮ์ เราจะไม่ยอมสยบอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์ด้วยกัน เพราะเราต่างเท่ากันหมด คนที่เราจะต้องเชื่อฟัง ศรัทธา มีแค่พระเจ้าองค์เดียว และถ้าเมื่อใดก็ตามเราสยบยอมหรือไปนับถือบูชาตัวบุคคล ตีความแบบแอดวานซ์ที่สุด นั่นคือการ ‘ชิริก’ หรือการตั้งภาคีต่อพระเจ้า
เช่น การตั้งคำถามว่าพระเจ้ามีจริงไหม การไม่เชื่อในความเป็นเอกเทวะของพระเจ้า หากผิดหลักข้อนี้นับเป็นบาปใหญ่สำหรับมุสลิมทีเดียว ซึ่งเป็นบริบทที่กลุ่มสุดโต่งอย่าง IS โจมตีมุสลิมด้วยกันโดยอ้างว่า การนับถือบูชาผู้นำซึ่งเป็นมนุษย์ เท่ากับเป็นการยกมนุษย์นั้นเทียบพระเจ้า ซึ่งเป็นชิริก
ความคิดแบบนี้ค่อนข้าง extreme อยู่พอสมควร?
extreme ครับ แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ได้รุนแรงขนาดนั้นนะครับ มีแค่บางกลุ่มเท่านั้นเอง เช่น กลุ่มก่อตั้งของ IS ในสมัยที่ยังเป็นกลุ่มอัลกออิดะห์แห่งอิรัก
อบู มุสอับ อัลซัรกอวีย์ (Abu Musab al-Zarqawi) ผู้ที่ก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธ ที่ต่อมาพัฒนาไปเป็นกลุ่ม IS ในปัจจุบัน ก็บอกว่าเราไม่ฟัง บินลาเดน เราฟังพระเจ้าคนเดียว
เขาอ้างอิงจากความเชื่อและแนวปฏิบัติกันอย่างไร
เอาจริงๆ ในทางปฏิบัติก็เป็นวาทกรรมอย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ แต่ก็มีหลักการในการอ้างอิง เช่น สอดคล้องกับอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ที่เท่าไร อายะฮ์ที่เท่าไหร่ ถ้าไม่สอดคล้อง อย่ามาอ้างว่านี่คือการทำตามพระเจ้า
สองคือ หะดีษ หรือจริยวัตร คำสอน บทสนทนา ของศาสดาหรือศาสนาที่ถูกบันทึกเอาไว้ และมีสายรายงานถูกต้อง ไม่ใช่ว่ามั่วขึ้น ได้เขียนเอาไว้ไหมว่าทำได้ ก็มีหลักการของมันอยู่
ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความด้วยใช่ไหม
ถูกครึ่งหนึ่งครับ คือในสายที่เขาเชื่อในตรรกะตีความ เช่น สายของ จามาล อุดดีน อัล-อัฟกานี เขาบอกว่ามันก็ต้องตีความให้สอดคล้องกับยุคสมัย เพราะโลกมันเปลี่ยนไป แต่เราตีความเพื่อจะคงจิตวิญญาณของอิสลามเอาไว้
อีกสายหนึ่งคือ สายของซาลาฟี เขาบอกว่าการตีความอย่างนั้นทำให้เกิดการบิดเบือน ทำให้เกิดการขยายความและจะทำลายโลกมุสลิมในท้ายที่สุด ฉะนั้นสิ่งที่จะทำคือ การยึดตามตัวบท หรือถ้ามันมีเรื่องอื่นใดก็ตามที่เกิดจากโลกที่เปลี่ยนไป แล้วสิ่งนั้นมันอยู่นอกเหนือจากบัญญัติอัลกุรอาน และหะดีษ ที่มีสายรายงานถูกต้อง จะต้องใช้อูลามะที่มีความรู้สูงในการตีความวินิจฉัย ซึ่งแนวทางของซาลาฟีไม่ได้ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงนะครับ เขาบอกว่าดีด้วยซ้ำ แต่ขอให้มันถูกหลักการเท่านั้น
หลักการนี้ต้องเข้ากับบริบทของเราเองด้วย?
มันก็มีการค่อนขอดกันในโลกมุสลิมอยู่พอสมควรนะครับ เช่น ในวันที่มนุษยชาติได้ประดิษฐ์วิทยุขึ้น นวัตกรรมนี้ก็แพร่เข้าไปที่ซาอุดิอาระเบีย แล้วเขาบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ฮารอม (ต้องห้าม) เนื่องจากว่าไม่มีบัญญัติไว้ในโองการของพระเจ้า แต่พอทราบว่าวิทยุใช้เผยแพร่ศาสนาได้ ก็บอกว่าฮาลาล ก็จะมีพลวัตแบบนี้เช่นเดียวกัน
นั่นทำให้จิตวิญญาณอิสลามต้องมีเพียงหนึ่งเดียวหรือเปล่า
จริงๆ แล้วหลักการมีไม่มากนะครับ ที่เป็น core ของมันเลย ก็คือหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ และเป้าหมาย คือการดำเนินตามรอยทางที่พระอัลลอฮ์ทรงมอบเอาไว้ให้เท่านั้นเอง เพียงแต่ว่าในอัลกุรอานก็จะมี อายะฮ์ และซูเราะฮ์ เต็มไปหมด ขณะเดียวกันต้องเข้าใจว่า อิสลามมีความแตกต่างจากศาสนาอื่น อย่างน้อยสองเรื่องใหญ่ๆ ในเชิงทางสังคมนะครับ ไม่ใช่เชิงปรัชญาศาสนา
หนึ่งก็คือ ปรัชญาศาสนาที่ว่าเป็น way of life เป็นวิถีชีวิต กำหนดขั้นตอนชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ว่าวิธีการแบบไหนเป็นวิธีการที่พระเจ้าประสงค์
สองคือ ในเมื่อมันเป็นแบบนี้ การปฏิบัติศาสนกิจจึงไม่ใช่แค่เรื่องของนักบวช แต่เป็นเรื่องของศาสนิกทุกคน เพราะฉะนั้น ในเมื่อมนุษย์มีหลายประเภท ประชากรมุสลิม 4,000 กว่าล้านคน มีภูมิหลังต่างกัน เกิดคนละที่ อยู่กันคนละที่ เป็นไปได้ว่าจะมีคลาดเคลื่อน หรือมีการปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบท ซึ่งไม่แปลกสำหรับมนุษย์
Way of Life อย่างตุรกี ซึ่งเป็นสมัยใหม่อยู่พอสมควร ถ้าจะเปลี่ยนกลับมาเป็นวิถีมุสลิมจริงๆ จะเป็นอย่างไร จะตั้งสมมุติฐานว่า คนตุรกีน่าจะชินกับโลกสมัยใหม่ซึ่งมีความเป็นตะวันตกไปแล้วหรือเปล่า
ในตุรกีก็มีข้อกังวลแบบนี้เหมือนกันครับ กลุ่มที่เคยประท้วงต่อต้านรัฐบาลเอร์โดอันก่อนหน้ารัฐประหาร ก็มีกลุ่มที่เป็น secularism เหมือนกัน เขาก็บอกว่า เวอร์ชั่นที่เอ็งใช้มันมากเกินไป ไม่ฟังเสียงฉันเลย ก็มีเหมือนกัน
ผมพยายามชวนมองอย่างนี้ คือตั้งแต่ปี 1923 ถึงปัจจุบัน มันไม่มีโมเดลที่มัน settle เลยสักโมเดล ระหว่าง secularism อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือการจะกลับไปสู่ศาสนานิยมอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันคือช่วงระยะเวลายาวนานมาก ที่ตุรกีจะต่อสู้ต่อรองทางการเมือง เพื่อกำหนดอัตลักษณ์ของตัวเอง และท้ายที่สุดมันคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้พื้นที่กับความแตกต่างทางอัตลักษณ์ แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นในเชิงทางอำนาจทั้งหมดนี้ มันคือการ suppress หรือกดทับ
ฝ่ายโลกวิสัยเมื่อมีอำนาจก็ไปกดทับ พยายามแทรกแซงทางการเมือง ส่วนฝ่ายเอร์โดอันเอง พอมีอำนาจ ก็อยากจะรวบอำนาจนั้นอย่างเบ็ดเสร็จ ก็กลับไปกดทับอีกฝ่ายหนึ่งเช่นเดียวกัน
ตามหลักการ การแยกรัฐออกจากศาสนา จะทำให้เราใช้ชีวิตทางศาสนาได้ดีกว่าเดิมไหม
ผมมองว่ามันเป็นความคิดแบบตะวันตก และเอาเข้าจริง รัฐกับศาสนาไม่เคยแยกขาดออกจากกัน แม้แต่ในตะวันตกก็ตาม มันเป็นวาทกรรมมากกว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ อย่างเช่น การทำพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีอเมริกา ก็ต้องมีคัมภีร์ไบเบิล มันจึงไม่แยกออกจากกันขนาดนั้น และเอาเข้าจริง สังคมอเมริกันก็เป็นสังคมที่นิยมศาสนามาก มากกว่าที่เราเห็นภาพอเมริกันในฮอลลีวูด
อาจมองได้ว่า ไม่มีสังคมใดเลยที่แยกรัฐออกจากศาสนาโดยสิ้นเชิง การที่เรากดศาสนาให้เป็นเรื่องปัจเจก ก็เป็นการกดศาสนาให้เป็นเรื่องการเมืองเช่นกัน แล้วมันก็เป็นการเมืองที่พยายามจะดีลกับการจะกำหนดดุลยภาพของ secularism ของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับปริมณฑลสาธารณะ นี่ก็คือเรื่องศาสนากับการเมือง
แนวคิดที่ว่า หากจะมุ่งหน้าไปสู่ประชาธิปไตย เราต้องแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน ถูกต้องหรือเปล่า
ถ้าเรายอมที่จะไม่หลอกตัวเองว่าจริงๆ แล้วรัฐกับศาสนามันไม่แยกออกจากกัน เราก็จะเห็นทางออกหรือแนวทางการหาคำตอบในแบบใหม่ที่มันไม่ซ้ำอยู่กับกับดักอย่างทุกวันนี้ เช่น เราจะพบว่า เอาจริงๆ แล้วศาสนาก็เหมือนกับกล่องวัฒนธรรมกล่องหนึ่ง เช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมสังคม ต้นทุนสังคม ภูมิปัญญาชาวบ้าน อะไรต่างๆ ก็จะอยู่ในกล่องของวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน
มันเหมือนเป็นกล่องมายากล ที่เราสามารถเป็นผู้ใช้งานมันได้ เราจะเลือกเปิดอะไร เลือกเปิดระเบิด หรือกระต่าย อะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่มนุษย์
เช่น หลักศาสนาหลายๆ เรื่อง มันคือ source ของการพัฒนากฎหมายหลายๆ เรื่อง กฎเกณฑ์ของรัฐในปัจจุบัน พูดในโมเดลของตะวันตกประชาธิปไตยแบบเสรี
สองก็คือ ถ้าดูในเวอร์ชั่นสุดโต่ง สุดขีดเลย ก็คือ การทำญีฮาด การทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ของอารยธรรมแบบอิสลาม ถ้าเปิดดูตามหลักศาสนาจริงๆ ญีฮาดไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่ส่งเสริมให้คนไปทำสงคราม แต่เป็นกฎเกณฑ์ของการระงับยับยั้งขอบเขตของสงครามมากกว่า ซึ่งบัญญัติไว้ในอัลกุรอานและฮาดีษอย่างชัดเจน มีหลักฐานรายงานที่ถูกต้องและเชื่อถือได้
หลักเกณฑ์เช่นอะไรบ้าง ห้ามทำสงครามเพื่อรุกราน ป้องกันตัวเองได้เท่านั้น สอง – เช่น ห้ามสังหารสตรี พลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้อง เด็ก คนแก่ นักบวช นักการทูต นักธุรกิจ ห้ามทำลายพืชผล ปศุสัตว์ ไร่นาของศัตรู ห้ามจับเชลยสงคราม เว้นเสียแต่ว่าจำเป็นจริงๆ และถ้าจับเชลยสงคราม ต้องเลี้ยงดูเสมือนเป็นคนของตัวเอง ห้ามทำสงครามเพื่อบังคับคนให้เปลี่ยนศาสนา คือมีหลักเกณฑ์หยุมหยิมมาก กระทั่งมุสลิมในแนวทางของซาลาฟีซึ่งเชื่อในหลักฐานดั้งเดิมบอกว่า ถ้าจะให้คนมุสลิมไปทำสงครามโดยถูกต้องตามหลักศาสนาได้จริงๆ ยอมตายยังง่ายกว่า คือมันทำไม่ได้เลย มันยากมาก
ขณะเดียวกันเราจะพบว่า หลักการที่ว่ามา มันเป็นหลักการที่สอดคล้องกับกฏเกณฑ์เรื่อง ‘Just War’ หรือ สงครามอันเป็นธรรมของคริสเตียน ในยุคสมัยกลาง และสองอันนี้มันสอดคล้องกับหลัก International Humanitarian Law หรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่มีชื่อเล่นว่า ‘กฎหมายสงคราม’ กฎหมายที่เอาไว้กำกับคู่ขัดแย้งกันทางอาวุธ
มีหลักเกณฑ์ไม่ต่างกัน คือห้ามฆ่าพลเรือน ห้ามฆ่าสตรีและคนไม่เกี่ยวข้อง นักการทูต นักธุรกิจ เหมือนกัน ไม่ต่างกัน เพราะมันพัฒนามาจากหลักการทางศาสนาแบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามองด้วยกรอบแบบนี้ เราจะเห็นว่าศาสนาในฐานะกลุ่มวัฒนธรรมบางอย่าง มันสามารถใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมประชาธิปไตยได้อย่างมีพลัง เพียงแต่เรายังไม่หลุดกรอบการ secularism แบบตะวันตก
อนาคตของตุรกี สามารถพูดได้ไหมว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นประชาธิปไตยน้อยลง
ผมอยากจะมองแบบมีความหวังมากกว่านะครับ คืออย่างน้อยที่สุด ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมเผด็จการ (authoritarian) ของตุรกี มันยึดโยงอยู่กับลัทธิชาตินิยม แต่เป็นชาตินิยมของมวลชน ไม่ใช่ลัทธิชาตินิยมอย่างที่ชนชั้นนำเป็นคนกำหนดว่าเราเป็นอะไรของชาติ แต่นี่คือการบอกว่าคุณคือเจ้าของอัตลักษณ์นี้เหมือนกัน และแรงขับที่ทำให้คนลุกขึ้นมาปกป้องเอร์โดอัน มันไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยเป็นหลัก แต่มันถูกขับด้วยชาตินิยมของมวลชน ที่เขาปกป้องตัวแทนของเขา ปกป้องภาพตัวแทนอัตลักษณ์ของความเป็นตุรกี อย่างที่เขาอยากจะเป็น นั่นก็คือมุสลิมแบบนี้ และก็มีที่ทางในเวทีการเมืองโลก มีศักดิ์ศรี เขาต้องการปกป้องตรงนั้น ซึ่งคุณจะเป็นเอร์โดอันหรือใครก็ได้ แต่นั่นคืออัตลักษณ์ที่เขาอยากจะเป็น
ฉะนั้นในบรรยากาศแบบนี้ผมมองว่า ในเมื่อจุดอ้างอิงหลักมันยังอยู่ที่มวลชนจำนวนมาก ที่ต้องยอมรับว่ามีการศึกษาสูง และเป็นคนหนุ่มคนสาวที่ออกมาเยอะแยะ ที่ผมเห็นนะครับ อายุเฉลี่ยน่าจะประมาณ 18-40 ปี คนส่วนใหญ่ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร เขาเหล่านั้นน่าจะเป็นพลังที่กำกับว่า รัฐบาลหรือรูปแบบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในอนาคต มันจะเป็น authoritarian สุดโต่ง หรือจะเป็น liberal มากขึ้น มันอยู่ที่เขา เขาเป็นคนกำกับ เขาเป็นพลังที่ไม่กลัวทหาร ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องกลัวเอร์โดอัน
แต่ตอนที่เอร์โดอันเริ่มกวาดล้างคน ก็ไม่มีใครลุกขึ้นมาต่อต้านหรือบอกว่าเอร์โดอันเป็นเผด็จการ?
ใช่ ผมถึงได้บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่พลังประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก แต่มันเป็นพลังของการเมืองเชิงอัตลักษณ์ที่ปกป้องตัวตนของเขา
เวลาอัตลักษณ์ของเราถูกเขย่า มันก็จะมีกลไกป้องกันตัวเองที่ค่อนข้างแรง ฉะนั้นแล้ว ผมมองในเชิงจิตวิทยาสังคมนะครับว่า สังคมตุรกีที่ออกมาปกป้องเอร์โดอันก็เป็นแบบนั้น ในวันนี้อาจจะยังคงมีคนเชียร์ให้เหวี่ยงแห ฆ่าประชาชนให้สิ้นซาก ก็อาจจะเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าจุดยึดโยงของการเปลี่ยนแปลง หรือจุดเปลี่ยนของการเมืองตุรกี มันยังยึดโยงอยู่ที่เขา ไม่ใช่ที่เอร์โดอัน พวกเขาเหล่านั้นต้องเป็นคนกำหนด เวอร์ชั่นเลวร้ายที่สุดคือสงครามการเมือง
อาจจะเป็นคนของเอร์โดอันลุกขึ้นมาโค่นเอร์โดอันเองก็เป็นไปได้?
ก็อาจจะทะเลาะกันระหว่างมวลชน หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ผมมองว่ามันมีความหวังมากกว่าสิ้นหวัง เนื่องจากจุดยึดโยงหลักอยู่ที่ประชาชน และเป็นประชาชนแต่ละคน ในนามของคนเติร์ก ในนามของลูกหลานออตโตมัน
สองก็คือว่า เงื่อนไขที่ต้องดูควบคู่กันไปด้วย ก็คือบริบทแวดล้อมที่ตุรกีจะต้องเผชิญ หนึ่งคือชาวเคิร์ด สองคือ IS ว่าจะเป็นตัวแปรที่ทำให้การเมืองตุรกีข้างในมันเปลี่ยนไปไหม เช่น ถ้ามีความเสี่ยงของภัยคุกคามมาก ทั้งในเชิงที่เป็นจริง และในเชิงปั้นแต่ง มันก็อาจจะรองรับการกำหนดสภาวะยกเว้นให้กับการใช้อำนาจของเอร์โดอันมากขึ้นหรือเปล่า นี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยแทรกซ้อน
หลังรัฐประหารที่ล้มเหลว เพราะอะไรเอร์โดอันจึงต้องรีบกำจัดฝ่ายตรงข้ามขนาดนั้น
เร็วและเยอะมากด้วย อาจจะมองได้สองแบบ แบบที่หนึ่งคือ มันมีความระแคะระคายมาได้สักพักใหญ่ๆ อยู่แล้วว่าจะเกิดการลุกฮือ ต่อต้าน ล้มล้าง เพราะว่ามันมีแรงขับใต้น้ำ ที่เขาบอกว่า เขาได้ทำลิสต์เอาไว้แล้ว ว่าใครเป็นเครือข่ายของกุเลนบ้าง ก็เช็คดูตรงนั้น อาจจะเป็นไปได้
สองก็คือว่า ใช้สภาวะที่ยังคลุมเครือตรงนี้เป็นประโยชน์ทางการเมือง และเขาก็มีลิสต์ไว้แล้ว แต่ลิสต์นั้นอาจจะไม่ใช่เครือข่ายกุเลนทั้งหมด แต่เป็นลิสต์ของบุคคลที่อาจจะเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพของรัฐบาล เช่น นักวิชาการมหาวิทยาลัยที่ออกมาด่ารัฐบาลบ่อยๆ สื่อมวลชนบางส่วน หรือนักธุรกิจบางส่วน
ฉะนั้นพวกนี้ก็จะถูกไล่กวาดทั้งหมดในช่วงเวลาที่ยังกำกวม และกลไกป้องกันตัวเอง ป้องกันอัตลักษณ์ชาติ สังคม มันยังทำงานอยู่ เขาอาจปล่อยผ่านกับเรื่องที่ละเมิดสิทธิ์แบบนี้ ใช้ช่วงเวลาตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งมันค่อนข้างจะขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างมาก
แต่มันก็มีความยากลำบากในสังคมตุรกีอยู่พอสมควร การจะมีมุมมองต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนตามหลักตะวันตก ในการยุบพรรค Fazilet ที่โดนแบนจากกิจกรรมการเมืองในปี 2001 พรรค Fazilet ถูกนักกรรมการสิทธิมนุษยชนของยุโรป (European Court of Human Right: ECHR) ส่งรายงานมาที่ตุรกีว่า เป็นพรรคที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากว่ามีกิจกรรมที่รณรงค์เรื่องศาสนา และกดทับกับศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่น
หลังจากได้รายงานชิ้นนี้ จึงเป็นที่มาของความชอบธรรมในการแบนพรรคการเมืองนี้ ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่อาจจะไม่ถูกต้อง แต่ก็เข้าใจได้ว่าทำไมคนตุรกีจำนวนหนึ่งถึงมองยุโรปแบบหวาดระแวง มองหลักการทางตะวันตกแบบไม่พอใจ
ยุโรปตะวันตกก็เหมือนเป็นลูกพี่ลูกน้องที่แข่งขันกันมา โตมาด้วยกัน ก็ต้องดูคู่กันไป ล่าสุดเครือข่ายกุเลนก็โดนอายัดทรัพย์สินไปแล้ว ฮาคาน ซูเคอร์ (อดีตนักฟุตบอลทีมชาติตุรกี) ก็โดน สะเทือนใจผมมาก เขาเป็นสุดยอดตำนานเลย
การที่ตุรกีเคยมีข้อขัดแย้งกับรัสเซีย เกี่ยวข้องกับอำนาจของเอร์โดอันด้วยหรือเปล่า
ตอนนี้ตุรกี-รัสเซียคุยกันแล้ว ก็ค่อนข้างที่จะ normalize ความสัมพันธ์นั้นเหมือนกัน เช่นเดียวกันกับที่ตุรกีพยายามจะ normalize ความสัมพันธ์กับอิสราเอล แล้วก็ทำสำเร็จ หลังเหตุการณ์โจมตีเรือ Mavi Marmara ตุรกีกำลังเชื่อมโยงสัมพันธไมตรีกับประเทศริมอ่าวที่เข้มข้นมากขึ้น
หลังจากรัฐประหารที่อิยิปต์ แล้วเขาทะเลาะกับซาอุดิอาระเบียว่าจะรับรองหรือไม่รับรอง ตอนนี้ก็กลับมาคืนดีกันแล้ว อันนี้ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงว่าตุรกีจะเป็นผู้เล่นที่กำหนดทิศทางเสถียรภาพในตะวันออกกลางมากขึ้น และเป็นอิสระจากอเมริกามากขึ้น
แสดงว่าทิศทางข้างหน้าของตุรกีอาจกลายเป็นชาติมหาอำนาจในแถบนี้
ใช่ครับ เพราะดูการวิเคราะห์ขีดอำนาจของ อาจารย์จิระโรจน์ มะหมัดกุล ท่านก็ศึกษาประเทศตุรกี ในฐานะ ‘รัฐมหาอำนาจขนาดกลาง’ เขาพบว่าขีดอำนาจทางเศรษฐกิจ การทหารและการยอมรับนับถือตุรกี มันมากขึ้นจนเรียกได้ว่า ตุรกีคือรัฐมหาอำนาจขนาดกลาง หรือระดับภูมิภาคได้แล้ว
*ติดตามตอนสองได้ในสัปดาห์หน้า