สิ้นแสงฉาน-บันทึกของเจ้าหญิงรัฐฉาน

shan 03
เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี

เมื่อเดินออกจากโรงห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หลังกิจกรรมชมภาพยนตร์ สิ้นแสงฉาน – บันทึกของเจ้าหญิงแห่งรัฐฉาน ‘Twilight over Burma – My life as a Shan Princess’ จบลง

ในหัวของฉันมีเรื่องราวตีกลับสลับไปมาระหว่าง

หนึ่ง-ความทรงจำในหนังสือเรื่อง ก่อนตะวันจะฉาย ‘ฉาน’ ภาพถ่ายชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา ที่จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายไว้ชั้นเดียวกันก่อนเข้าชมภาพยนตร์

สอง-ข่าว ออง ซาน ซูจี เรียกร้องให้ทูตสหรัฐ ประจำประเทศพม่า สก็อต อลัน มาร์เซียล ยกเลิกการเรียกกลุ่มมุสลิมในประเทศว่าโรฮิงญา หากให้เรียกว่า ‘Bengalis’ แทน

และสาม-สุดท้าย ฉันวกกลับไปคิดถึงหนังสือเรื่อง Siam Mapped กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ โดย ธงชัย วินิจจะกูล…ได้อย่างไรไม่รู้

1.

ภาพยนตร์ สิ้นแสงฉาน – บันทึกของเจ้าหญิงแห่งรัฐฉาน คือการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ผ่านความทรงจำในชั้นที่สองจาก เซเบียน เดอฟลิงเงอ (Sabine Derflinger) ผู้กำกับชาวออสเตรีย และในชั้นแรกผ่านการถ่ายทอดความทรงจำโดย อิงเง่ ซาเจนท์ สุจันทรีมหาเทวี ราชินีแห่งรัฐฉาน

“แปลกจริง นี่มันคืออะไรกันหรือคะ”

เธอถาม เจ้าจาแสง หลังพบว่าในระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดของชายผู้เป็นที่รัก ที่ตลอดคบกันเธอเพียงรู้ว่า เขาคือวิศวกรเหมืองแร่ที่มาจากประเทศพม่าเท่านั้น ขณะนั้นเธอนั่งอยู่บนเรือ ‘วอริคไชร์’ สองฝั่งคลองเต็มไปด้วยผู้คนยืนต้อนรับเรียงราย โปรยดอกไม้ อลอึงด้วยเสียงโห่ร้องชิงชัย ‘ยินดีต้อนรับกลับบ้าน’

“ผมมีเรื่องที่ยังไม่ได้บอกคุณทั้งหมดเกี่ยวกับตัวผม ผมไม่ได้เป็นแค่วิศวกรเหมืองแร่ แต่เป็นสูงกว่านั้นมาก ผมคือเจ้าฟ้าหลวง เป็นเจ้าซึ่งปกครองนครรัฐแห่งหนึ่งในรัฐฉาน”

จากนักศึกษาผิวขาวที่คบหากับชายผิวเหลืองชาวเอเชีย กลับกลายเป็นสามัญชน (และชาวต่างชาติ) ผู้อภิเษกสมรสกับชายหนุ่มที่มีฐานันดรสูงศักดิ์

ในวันที่ เจ้าจาแสง เดินทางกลับรัฐฉาน ฉันไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่เจ้าต้องการจะเปลี่ยนแปลงมีอะไรบ้าง แต่สิ่งที่หนังบอกฉันคือ เจ้าจาแสง ต้องการทำให้รัฐฉานมีประชาธิปไตย

“ชาวนาต้องมีที่นาเป็นของตัวเอง รัฐฉานต้องเป็นประชาธิปไตย และประชาธิปไตยจะอยู่คู่กับศักดินาไม่ได้” – เจ้าจาแสง

2.

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ ทหารพม่าบุกเข้าไปเผา ปล้น ฆ่า ชาวบ้านในรัฐฉาน ฉันจำไม่ได้แล้วว่าการกระทำนั้นสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองอะไร รู้แต่ภาพทหารพม่าลากหญิงชาวบ้านมาข่มขืน เสียงร้องไห้และคราบเลือดยังติดอยู่ในหัวของฉัน

มันทำให้ฉันนึกย้อนกลับไปยังคำบอกเล่าของเด็กชายคนหนึ่งที่บันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง ก่อนตะวันจะฉาย ‘ฉาน’ โดย พันเอกเจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพไทใหญ่, นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว และนวลแก้ว บูรพวัฒน์

เด็กคนนั้นเล่าว่า ภาพผู้หญิงถูกทหารพม่าฉุดออกจากบ้านไปข่มขืนเป็นภาพที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ภาพแม่และพี่สาวของเขาที่ถูกทหารพม่าฉุดออกไปข่มขืน หลังจากนั้นก็จุดไฟเผาหมู่บ้านวอดวาย…ยังติดอยู่ในตา

เขา ที่วันนั้นมีเหตุให้ต้องออกไปอยู่ในป่า ทำให้รอดจากเหตุการณ์นั้นมาได้ มีเขาและเด็กๆ ในหมู่บ้านอีกราวๆ 10 คนที่รอดจากเหตุการณ์นั้น ค่อยๆ เดินเข้าป่าไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าต้องไปที่ไหน ผ่านหมู่บ้านแล้วหมู่บ้านเล่า ชาวบ้านที่บ้านนั้นๆ ก็บอกให้เดินเข้าป่าไปหา ‘เจ้ายอดศึก’ ผู้นำกองทัพไทใหญ่ ที่ยังคงต่อสู้เพื่อทวงคืนรัฐฉานอยู่ถึงทุกวันนี้

shan 02

3.

วันที่เจ้าจาแสงแนะนำตัวเองกับอิงเง่ว่า เขามาจากดินแดนที่ใต้ผืนดินมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ที่สุดนั้น เขายังบอกเธอไม่หมดว่า ดินแดนที่เขาจากมาและจะกลับไปปกครองนี้ มีชื่อว่า ‘รัฐฉาน’ รัฐที่กินดินแดนเกือบครึ่งหนึ่งของ ‘สหภาพพม่า’

ย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายพลออง ซาน (บิดาของ ออง ซาน ซูจี) ได้หันมาเรียกร้องให้รัฐต่างๆ รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องเอกราชคืนจากอังกฤษ หากเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉานในขณะนั้นได้ขอให้นายพลออง ซานทำสัญญาว่า

หากได้เอกราชจากอังกฤษสำเร็จ และรัฐฉานอยู่ร่วมกับพม่าเป็นเวลา 10 ปีแล้ว รัฐฉานจะต้องเป็นอิสระ ‘สัญญาปางโหลง’ สัญญาในการเกิดขึ้นของสหพันธ์พม่า จึงถูกเขียนขึ้นในปี 2490 นั้นเอง

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ‘รัฐฉานจำต้องเป็นอิสระจากพม่าให้ได้ในปี 2501’

และเรื่องราวการต่อสู้ของเจ้าจาแสงมีขึ้นในช่วงเวลานี้ ที่เจ้าพยายามต่อสู้ขออิสรภาพคืนจากพม่า หวังเปลี่ยนผ่านรัฐฉานให้เป็นประชาธิปไตย ขณะที่เริ่มมีเหตุการณ์ทหารพม่าเข้ารุกรานชาวบ้านในรัฐต่างๆ เกิดขึ้น

2505 นายพลเนวินยึดอำนาจ และปกครองประเทศพม่าด้วยระบอบเผด็จการ เจ้าฟ้าจากรัฐต่างๆ ทุกพระองค์ถูกจับไปคุมขังที่คุกอินเส่ง ในย่างกุ้ง เป็นเวลาเกือบ 10 ปี

เจ้าจาแสงหายตัวไป มีเพียงจดหมายฉบับเดียวที่ถูกส่งมาจากคุกที่เจ้าฟ้าเขียนว่า “ไม่ทราบว่าคือที่ไหน สกปรก แต่ยังปลอดภัยดี”

4.

ฉันเขียนในบทนำไว้ว่า ฉันดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วให้คิดถึงข่าวของชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา และการเรียกร้องของ ออง ซาน ซูจี ต่อทูตสหรัฐ ในประเทศพม่าว่าขอให้ยกเลิกการเรียกชนกลุ่มน้อยนี้ว่า ‘โรฮิงญา’ หากให้เรียกแทนว่า ‘Bengalis’ ที่มีนัยว่าเป็นผู้อพยพมาจากเบงกอลแทน ที่ในรายงานข่าวต่างประเทศเขียนวิเคราะห์ไว้ว่า นี่อาจหมายถึงการไม่ยอมรับสิทธิ์การมีอยู่ของกลุ่มมุสลิม-ที่เป็นชนกลุ่มน้อยอีกทีหนึ่ง

5.

และฉันก็ยังเขียนไว้ในบทนำอีกด้วยว่า ฉันไพล่คิดไปไกลถึงเนื้อหาในหนังสือ Siam Mapped กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ โดย ธงชัย วินิจจะกูล

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ถอยกลับไปมองประวัติศาสตร์ไทยแบบพลิกกลับด้วยข้อเสนอที่ว่า ความจำเป็นของการผลักดันอารยธรรมเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่นี้ จำเป็นที่จะต้องมีเส้นขอบของแผนที่ เพื่อให้รู้ว่าเขตแดนของสยามเริ่มต้นและจบลงที่ตรงไหน

การขีดเส้นนี้เอง ที่เราได้รวบเอาอาณาจักรล้านนา อาณาจักรปัตตานี รวมถึงหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นประเทศราชเข้าไว้ด้วยกัน โดยที่ยังไม่มีสำนึกความรักชาติอย่างทุกวันนี้ เป็นการรวบเอาพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เพื่อบอกถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสยาม และเพื่อให้สยามมีความศิวิไลซ์เพียงประการนั้น

ขอสารภาพตามตรงว่า ในหนังสือวิชาการเรื่อง Siam Mapped นั้น ถึงฉันจะอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ในบทสรุปหนึ่งของเนื้อหาในเล่มที่ยังคงฝังอยู่ในหัวฉันขณะนี้ คือข้อเสนอที่ว่า แท้จริงแล้วเราเป็นผู้สูญเสียดินแดนทางฝั่งตะวันออกของประเทศไทยให้กับประเทศฝรั่งเศส หรือเราเป็นเพียงผู้ล่าอาณานิคมตัวน้อย ที่แย่งดินแดนกับผู้ล่าอาณานิคมตัวใหญ่ไม่ได้เท่านั้นเอง

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า