สองปีที่แล้วเขื่อนเซเปียน–เซน้ำน้อยแตก…
ค่ำคืนของวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ‘เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D’ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงจำปาสักพังทลายลง มวลน้ำหลายพันล้านลูกบาศก์เมตรไหลทะลักลงท่วม 20 หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ด้านล่าง ผู้บาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแขวง หนึ่งในนั้นมีหญิงตั้งครรภ์ถูกเศษไม้ที่ไหลมากับน้ำแทงเข้าที่ท้อง เธอสูญเสียลูก
ประชาชนอย่างน้อย 71 คนเสียชีวิต 7,095 คน ใน 2,431 ครัวเรือน สูญเสียทั้งบ้านและทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ เด็ก 28 คนสูญเสียแม่หรือพ่อ ในจำนวนนั้นมีเด็ก 3 คนที่สูญเสียทั้งพ่อและแม่
ความสูญเสียในครั้งนั้นยากจะประเมินค่า ผู้คนหลายพันชีวิตแตกกระสานซ่านเซ็น พลัดบ้าน พลัดญาติ พลัดพรากจากความฝัน แม้โศกนาฏกรรมครั้งนั้นจะผ่านมาแล้วร่วมสองปี ทว่าดูเหมือนสิ่งที่ได้รับการซ่อมแซมกลับมีเพียงตัวเขื่อน ขณะที่ประชาชนอีกจำนวนมากยังคงตกอยู่ในสภาพแห่งการรอคอย และร้องขอการชดเชยที่เหมาะสมเพียงพอต่อการดำรงชีวิตต่อไป
ใครเป็นใครในเขื่อนเซเปียน–เซน้ำน้อย
โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน–เซน้ำน้อย สร้างขึ้นในประเทศลาว ตั้งอยู่บนพื้นที่ของสองแขวงคือ แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือในลาวใต้ โครงการนี้ประกอบด้วยเขื่อนเก็บกักน้ำ 3 เขื่อน และเขื่อนปิดช่องเขาต่ำอีก 5 แห่ง อ่างเก็บน้ำถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนของที่ราบสูงพูเพียงบอละเวน ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,000 เมตร
โครงการนี้ถูกจดทะเบียนภายใต้กิจการร่วมค้าชื่อบริษัทไฟฟ้าเซเปียนเซน้ำน้อยพาวเวอร์ จำกัด (The Xe-Pian Xe-Namnoy Power Co., Ltd.PNPC) เป็นการร่วมทุนของนักลงทุนจาก 3 ประเทศคือ เกาหลีใต้ ไทย และลาว ประกอบด้วย 4 บริษัทข้ามชาติคือ
หนึ่ง – บริษัทเอสเคอีแอนด์ซี จำกัด (SK Engineering and Construction) ถือหุ้น 26 เปอร์เซ็นต์
สอง – บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์
สาม – บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัดมหาชน (RATCH) ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์
และสี่ – บริษัทรัฐวิสาหกิจลาว Lao Holding State Enterprise (LHSE) ถือหุ้น 24 เปอร์เซ็นต์
โดย 4 ธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ในจำนวน 2,300 ล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารธนชาต, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้า (EXIM Bank)
กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของพลังงานที่ผลิตได้จากเขื่อนเซเปียน–เซน้ำน้อยนั้น ปลายทางคือประเทศไทย ผู้รับซื้อรายใหญ่และรายเดียวของโครงการ
ไพรินทร์ เสาะสาย เปรมฤดี ดาวเรือง วิศรุต แสนคำ
จำได้ไหม นโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชีย
สปป.ลาว คือประเทศที่มีลักษณะทางกายภาพเรียกว่า ‘ดินแดนแลนด์ล็อค’ (land locked country) ประเทศที่ไร้ซึ่งทางออกสู่ทะเล และเพื่อที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้น การขายไฟฟ้าจากพลังงานน้ำดูเหมือนจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด ด้วยเพราะประเทศลาวอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรมากมายโดยเฉพาะน้ำจากแม่น้ำโขงที่ทอดยาวผ่านประเทศเป็นระยะทางถึง 1,835 กิโลเมตร อีกทั้งแม่น้ำสาขาขนาดใหญ่หลายสายที่ไหลลงจากภูเขามาบรรจบ ถือว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนในการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ
หากเราลองกางแผนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักจะพบว่า มีโครงการที่ถูกวางแผนไว้ทั้งหมด 11 เขื่อน ในลาว 7 เขื่อน ชายแดนไทย–ลาว 2 เขื่อน และในประเทศกัมพูชาอีก 2 เขื่อน
คำถามคือ ทำไมเขื่อนในลาวจึงมากมายเช่นนี้?
ไพรินทร์ เสาะสาย จากองค์กรแม่น้ำนานาชาติ ได้พาย้อนรอยถึงนโยบาย Battery of Asia ต้นทางของชะตากรรมที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว นโยบายที่มุ่งมั่นในการสร้างประเทศให้เป็นแหล่งพลังงานของภูมิภาคเพื่อสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพื่อนำพาสังคมและชีวิตผู้คนให้หลุดพ้นจากความยากจน หากแต่ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้จำนวนมหาศาล และการแบกรับความเสี่ยงจากหายนะที่ไม่คาดฝัน
นโยบายนี้ได้เปิดพื้นที่ให้นักลงทุนและแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศไหลทะลักเข้าไปในประเทศลาวเป็นจำนวนมาก โดยลักษณะของการลงทุนคือการให้เอกชนมาร่วมลงทุนกับรัฐบาลลาว (Public Private Partnership หรือ PPP) ในสัญญาระยะยาวถึง 25-29 ปี
แล้วตัวละครอย่างประเทศไทยยืนอยู่ตรงไหนของเรื่องราวนี้?
“บริษัทของไทยตอนนี้ลงทุนในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมดประมาณ 10 เขื่อนในประเทศลาว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนไทยสนใจมากก็คือ สัญญาระยะยาว 25-29 ปีนั้น ทำให้มั่นใจได้ว่า จะได้เงินคืนจากการลงทุน เพราะการซื้อขายนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว (single buyer)”
โครงการเขื่อนมากมายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบมหาศาลในหลายมิติไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะสิ่งแวดล้อมหรือชีวิตผู้คนประชาชนนับล้านในพื้นที่ต้องถูกโยกย้ายออกจากที่ทำกิน ดังเช่นกรณีเขื่อนไซยะบุรี ชาวบ้านราว 2,000 ครัวเรือนต้องถูกโยกย้ายถิ่นที่อยู่ และอีกกว่า 200,000 คนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการสร้างเขื่อน หรือในอีกกรณีคือ เขื่อนน้ำเทิน 2 ประชาชนลาวเกือบ 10,000 คน ต่างมีชะตากรรมไม่ต่างกัน
ยูกะ คิยูชิ จาก Mekong Watch ชี้ชวนให้เห็นถึงอีกประเด็นผ่านตัวละครสำคัญของโครงการสร้างเขื่อนต่างๆ อย่าง รัฐวิสาหกิจของลาวโฮลดิ้ง (Laos Holding Stare Enterprise) ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 4 โครงการด้วยกันคือ หนึ่ง เขื่อนน้ำเทิน 2 สอง โครงการโรงไฟฟ้าปากเหมืองหงสา (Hongsa Mine Mouth Power Project) สาม โครงการเขื่อนน้ำงึม 1 และสี่ เซเปียน–เซน้ำน้อย โดย 4 โครงการที่ไล่เลียงมานั้น รัฐวิสาหกิจลาวโฮลดิ้งถือหุ้นอยู่ 20-25 เปอร์เซ็นต์
หากจำเพาะลงมาที่เขื่อนเซเปียน–เซน้ำน้อย รัฐวิสาหกิจของลาวโฮลดิ้ง (Lao Holding Stare Enterprise) ถือหุ้นอยู่ในโครงการนี้ 24 เปอร์เซ็นต์ ทว่าเงินที่ลาวโฮลดิ้งลงทุนนั้นไม่ได้มาจากเงินของลาว แต่เป็นการกู้เงินจาก Economic Development Cooperation Fund (EDCF), Korean ODA และธนาคารกรุงไทย
“พูดง่ายๆ ก็คือ แม้ต้นทุนทางการเงินของประเทศลาวจจะไม่เพียงพอต่อการสร้างโครงการขนาดใหญ่ แต่ทรัพยากรธรรมชาติที่ล้นเหลือนั้นคือต้นทุนชั้นดีในการเข้าถึงแหล่งทุนในการดำเนินโครงการ ซึ่งแน่นอนว่า โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาลนั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศลาว หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอก”
จะเห็นได้ว่า เขื่อนในลาว แท้จริงแล้วไม่ใช่เขื่อนของประเทศลาวแต่เพียงผู้เดียว โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งบริษัทข้ามชาติต่างเข้ามาร่วมลงทุนทั้งสิ้น พิบัติภัยที่เกิดขึ้นเช่นกรณีเขื่อนเซเปียน–เซน้ำน้อยจึงไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลลาวต้องรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว
สองปีหลังเขื่อนแตก
เปรมฤดี ดาวเรือง เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว ชวนมองย้อนไปยังหลายเหตุการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคืออุทกภัยครั้งใหญ่ทางภาคอีสานของประเทศไทย
“หลังจากเขื่อนแตก รัฐบาลลาวขอให้มีการตรวจสอบเขื่อนที่มีอยู่แล้วในประเทศถึงความมั่นคงของเขื่อน เพราะกลัวว่าจะแตกอีก เขื่อนขนาดใหญ่มากมายไม่ว่าจะเขื่อนน้ำเทิน 2 รวมทั้งเขื่อนน้ำงึม 1 ของลาวได้ปล่อยน้ำจากแม่น้ำสาขาจำนวนมหาศาลออกมา ทำให้น้ำดันเข้ามาในแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำโขง เกิดอุทกภัยใหญ่โตขึ้นในภาคอีสานของไทย พื้นที่ทำกินนับแสนไร่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่เอ่อท่วม”
ผลกระทบของโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งจากในประเทศจีนและประเทศลาวปรากฏชัดเจนกับประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานของไทย แต่สิ่งหนึ่งที่เราในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าแทบจะมองไม่เห็น คือชีวิตผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ต้นไม้ สัตว์ป่า สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย อาจเพราะเรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยถูกบอกเล่าบนหน้าปัดมิเตอร์หรือในบิลค่าไฟที่เราต้องจ่ายทุกเดือน
“เขื่อนกลายเป็นฝันร้ายของคนจำนวนมาก ฝนตกแต่ละครั้งมีคนมากมายที่เกรงว่าจะมีการปล่อยน้ำ เขาเหล่านั้นจะถูกน้ำท่วมอีกไหม แม้กระทั่งชาวบ้านเซเปียน–เซน้ำน้อยตอนนี้ก็ยังเป็นห่วงเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีก เพราะเหตุการณ์เขื่อนแตกไม่ได้หยุดแค่การซ่อมเขื่อนแน่นอน”
ขณะเดียวกัน ประชาชนในแขวงอัตตะปือที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากรายงานข่าวของสื่อหลายสำนักระบุว่า ขณะนี้มีการสร้างบ้านไปแล้ว 800 หลัง งบประมาณส่วนใหญ่นั้นมาจากเงินบริจาคโดยรัฐบาลเกาหลีใต้และรัฐบาลไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมได้ทราบมานั้น ไพรินทร์ เสาะสาย ได้เล่าว่า
“ทางบริษัทที่เกี่ยวข้องได้จ่ายเงินในจำนวน 49 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินประกันจากการสร้างเขื่อนให้กับรัฐบาลลาวเอาไปใช้เป็นค่าชดเชยเยียวยา แต่ในกระบวนการชดเชยและเยียวยา กลับไม่มีการเปิดเผย ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ ขั้นตอน และวิธีคิดคำนวณการชดเชยความเสียหายแต่อย่างใด”
อีกประเด็นสำคัญคือการตรวจสอบสาเหตุของเขื่อนแตก ยุน จียง เครือข่ายภาคประชาสังคมเกาหลีติดตามสถานการณ์เขื่อนเซเปียน–เซน้ำน้อยแตก ได้กล่าวถึงการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน การลดขนาดของสันเขื่อนเพื่อลดงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งประเด็นนี้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบสาเหตุแล้วส่งรายงานให้กับรัฐบาลลาวตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยถึงสาเหตุที่แท้จริงสู่สาธารณะ ข้อมูลที่ยังคงเป็นปริศนานี้คือกุญแจสำคัญในการตรวจสอบและพิจารณาหากมีการก่อสร้างเขื่อนใดๆ ในอนาคต
ตลอด 2 ปีหลังโศกนาฏกรรม คณะทำงาน ETOs Watch ได้ติดตามความรับผิดชอบของนักลงทุนไทยในประเทศเพื่อนบ้านเรื่องการละเมิดสิทธิและสิ่งแวดล้อม พบว่าความรับผิดชอบของบริษัทไทยปรากฏออกมาในลักษณะการช่วยเหลือระยะสั้น เช่น การออกประกาศแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และบริจาคเงินช่วยเหลือ
ในส่วนของ 4 ธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ในโครงการนี้พบว่า มีธนาคารเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ออกประกาศแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและบริจาคเงินช่วยเหลือ ทว่าอีก 2 ธนาคารกลับเงียบเชียบ ไม่มีการแสดงความเสียใจหรือแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ส่งจดหมายสอบถามถึงแผนการเยียวยาและการแก้ไขปัญหาจากทางรัฐบาลของ 3 ประเทศที่เกี่ยวข้องกับกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย คือ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศไทย ประเทศลาว รวมทั้ง 4 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน และอีก 4 ธนาคารที่สนับสนุนเงินเพื่อใช้ในการสร้างเขื่อน ผลที่ได้รับกลับมา มีเพียง 2 หน่วยงานเท่านั้นที่ตอบจดหมายกลับคือ ธนาคารกรุงไทย และบริษัทเซเปียนเซน้ำน้อย จำกัด
“เราไม่ควรจะทำให้การตัดสินใจเรื่องเขื่อนเป็นเพียงเรื่องของรัฐบาลลาวและบริษัทผู้สร้างเขื่อนเท่านั้น เพราะเขื่อนในลาวไม่ใช่เขื่อนของลาวแต่เพียงผู้เดียว โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งป็นเขื่อนของบริษัทต่างประเทศทั้งสิ้น เขื่อนในลาวเกือบทั้งหมดสร้างเพื่อการขายไฟฟ้าออกมาข้างนอก เพราะฉะนั้นผู้ใช้ไฟฟ้า และประชาชนจากประเทศอื่นๆ จะต้องเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้น” เปรมฤดีกล่าว
ค่าครองชีพของเราไม่ควรฆ่าใคร
“ช้าง เด็กชายที่เมื่อสองปีก่อน เขาอายุ 13 ปี บ้านของช้างถูกน้ำท่วมและต้องออกมาอยู่ในแคมป์ที่รัฐบาลลาวจัดสรรไว้ ในทุกวัน ช้างต้องปั่นจักรยานไปโรงเรียนแห่งใหม่ราว 4 ชั่วโมง เพราะโรงเรียนของเขาพัง ช้างเล่าว่า วันที่เกิดเขื่อนแตก มีเสียงตึก ตึก ตึก ตึก เกิดขึ้นอยู่สี่ครั้ง นั่นคือเสียงน้ำที่กระแทกกับบ้าน…”
ร่วม 2 สัปดาห์กับชีวิตในอัตตะปือของ วิศรุต แสนคำ ช่างภาพกลุ่ม Realframe ที่ได้เดินทางไปบันทึกซากปรักหักพังของบ้านเรือน วัดวา ชีวิต ความเป็นอยู่ และความฝันของชาวบ้านหลังเหตุการณ์เขื่อนแตก
“สิ่งแรกที่เขาซื้อหลังจากพอเก็บเงินได้นิดหน่อยคือลำโพงนะครับ เพื่อเอามาเปิดเพลงร้องคาราโอเกะกัน มันสะท้อนให้เห็นถึงความอึดอัดใจในสภาพความเป็นอยู่”
วิศรุตเดินทางกลับมาพร้อมเรื่องเล่า และเรื่องราวถูกบันทึกผ่านคมเลนส์ ซึ่งในวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ในวาระครบรอบ 2 ปีกรณีเขื่อนเซเปียน–เซน้ำน้อยแตก วิศรุตได้จัดแสดงภาพถ่ายชุด ‘ฆ่าครองชีพ‘ (Cost of Lives, Cost Of Living) ประมวลภาพวิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านอัตตะปือ ประเทศลาว ที่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการเยียวยาฟื้นฟูอย่างเพียงพอ ในขณะที่เขื่อนได้รับการบูรณะซ่อมแซมและพร้อมกับการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าเต็มกำลัง
“ความสัมพันธ์ของผมกับไฟฟ้าก็ไม่ต่างจากคนส่วนใหญ่ เราสัมพันธ์กับไฟฟ้าแค่บิลค่าไฟ แต่เมื่อผมได้ลงไปยังพื้นที่ ได้รู้จักช้าง ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ มันทำให้ฉุกคิดถึงต้นทุนต่างๆ ของการได้มาซึ่งไฟฟ้า ความรู้สึกนั้นจึงออกมาเป็นงานชุดนี้”
งานแสดงภาพแบ่งออกเป็น 3 เซ็ต ได้แก่ Invisible Grid แสดงสภาพอาคารบ้านเรือนที่เสียหายและถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่ไม่ได้ถูกนับในบิลค่าไฟฟ้าที่คนไทยใช้ เพราะแม้เขื่อนดังกล่าวและอีกหลายแห่งในลาวจะผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้าประเทศไทย ทว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักรู้ถึงที่มา
Present Reading แสดงความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ต้องย้ายมาอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวซึ่งลำบาก ทำให้หลายคนเลือกกลับไปอยู่บ้านเดิมที่เสียหาย
Drowned Dreams ถ่ายทอดความฝันของชาวอัตตะปือที่ประเมินความเสียหายเป็นมูลค่าไม่ได้ ทว่ากลับจมน้ำหายไปเพราะฝันของชาติที่มุ่งหน้าสร้างเขื่อนหลายแห่งเพื่อพัฒนาเป็นฐานผลิตไฟฟ้า ‘แบตเตอรี่แห่งเอเชีย’
“ตอนเราอยู่ในพื้นที่ ได้คุยกับใครหลายๆ คน เราได้ยินเรื่องราวที่ว่า ‘ถ้าเขื่อนไม่แตก เราจะทำอันนู้นอันนี้นะ’ เช่นเด็กคนหนึ่ง เขาเลี้ยงไก่ชนเยอะมาก และฝันว่าอยากจะทำเล้าไก่ชนที่ใหญ่ที่สุดในแขวงอัตตะปือ ไก่เขามีเป็น 100 ตัว เลยนะ แต่หายไปกับน้ำหมด
“ผมคิดว่าต้นทุนของการได้มาซึ่งไฟฟ้านั้นแลกมาด้วยความเสียหายจากภาพที่ได้เห็นกัน ผมรู้สึกว่า เราในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้านั้น อย่างน้อยๆ เราควรคำนึงถึงต้นทางของมัน ต้นทางที่แลกมากับความฝัน กับบ้าน กับชีวิตของผู้คน เหมือนกับที่เราเริ่มตระหนักต่ออาหารทะเลที่เราซื้อกินว่ามันอาจจะมาจากน้ำพักน้ำแรงของแรงงานทาสบนเรือประมง ทำไมการใช้ไฟฟ้าของเราจะมองเช่นนั้นไม่ได้ ผมอยากให้เรามองไฟฟ้าเหมือนที่เรามองหมึก กุ้ง หอย ปู ปลาที่เรากินเท่านั้นเองครับ“