เรื่อง : รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ / อภิรดา มีเดช
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
อดีตสาราณียกร ศึก’17 หนังสืออนุสรณ์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปี 2517 ที่มีเนื้อหาอื้อฉาว วิพากษ์ขุดรากระบบการศึกษา จนนำมาซึ่งจุดจบที่การประท้วง โยนหนังสือใส่กองเพลิง รุมทำร้าย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ประธานนักเรียน และนักเรียนอีกหลายคน
เจ้าของรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2553 สาขาเรขศิลป์ สวมหมวกหลายใบ ทั้งผู้บริหารบริษัทโฆษณา นักออกแบบกราฟิก คอลัมนิสต์ ดีไซน์คัลเจอร์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ในนาม ประชา สุวีรานนท์ จนถึงอีกมิติบุคลิกนักเขียน ‘บทความตูน’ ที่คมคายบาดผิวทุกปลายปากกา เรณู ปัญญาดี ให้คำอธิบายเรื่อง ‘TYPE’ ว่าไม่ได้ถูกใช้แค่ในการออกแบบ และการรังสรรค์สวนอักษร แต่ศาสตร์ของการพิมพ์ เป็นแม่บทของสิ่งทั้งมวล
เพียงแค่ปลดตัวอักษรที่หล่อออกมาจากเบ้า จัดเรียง พิมพ์ซ้ำๆ ก็สามารถอธิบายถึงการสร้างบรรทัดฐานความเป็นระเบียบ ที่จีรัง ยั่งยืน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงของสังคม จนถึงตีตราใส่หน้าประชาชน เพื่อแบ่งแยกชนชั้น แยกความเลวออกจากความธรรมดา ขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้หล่อ และใครเป็นผู้ลงมือกดแป้นพิมพ์
ผลงาน แบบเรียน (กึ่ง) สำเร็จรูป เป็นการเสียดเย้ยการครอบงำในสังคมไทยผ่านระบบการศึกษา ที่สมัยหนึ่งเรียกได้ว่า ‘ยัดเยียดอย่างตั้งใจ’ ด้วยการนำแบบเรียนฉบับเก่า ปัญญา-เรณู สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาดัดแปลง ตัดแปะ วาดทับใหม่ ซึ่งแม้ไม่ได้ชี้หน้าวิจารณ์กันตรงๆ แต่เมื่อนำการ์ตูนที่มีภาพนิ่งเรียบบวกกับถ้อยคำวิพากษ์เสียดสี ปั้นบทบาท ด.ช.ระกา และ ด.ญ.ราณี ให้กลายเป็นนวมสวมทับดาบปลายปืนได้อย่างแยบยล
ตอนที่เริ่มทำการ์ตูนเรณูฯ ทำไมถึงเจาะจงเลือกแบบเรียนชุด ปัญญา-เรณู มาทำ
มันเป็นตำราที่เราใช้สมัยเด็กๆ เรียกว่าความประทับใจในวัยเด็ก อีกอย่างก็คิดว่ามันสะท้อนยุคที่ภาพประกอบในโรงเรียนเป็นเครื่องมือทางด้านอุดมการณ์การเมือง มากกว่านั้นก็คือจินตนาการของสังคมยุคนั้น ครอบครัวเป็นอย่างไร บ้านเมืองควรจะเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ของครูนักเรียน ผมไม่รู้เดี๋ยวนี้เขาใช้เล่มไหน แต่ยุคผมมันเข้มข้นและออกไปทางนี้ทางเดียวเลย
อย่างพ่อในการ์ตูนก็ต้องใส่ชุดพนักงานออฟฟิศ สวมเนคไท รูปลักษณ์ของตัวละคร ทั้งพ่อแม่ลูก ครูอาจารย์ รวมถึงฉาก ดูมันช่างสำเร็จรูป (Stereotype) เสียเหลือเกิน
โคตรจะไม่สมจริงเลย แต่เราเข้าใจ เขาสอนให้ทำดี ก็พูดตรงๆ ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ต้องมาแบบโอ๋เด็ก มึงสงสัยเรื่องนี้ไหม กูไม่สนใจ มึงสงสัยหรือเปล่า…แต่มึงต้องรู้อันนี้
ถ้าให้คุณประชาพูดถึง เรณู ปัญญาดี เขาเป็นคนแบบไหน เป็นคนกวนตีนหรือเปล่า
เอ่อ… (หัวเราะ) แล้วตรงข้ามกับกวนตีนคืออะไรครับ ผมกำลังนึกว่า การ์ตูนส่วนมากเขาก็ต้องเสียดสีอยู่แล้ว แล้วมันมีเสียดสีแบบไม่กวนตีน…มีไหม
เหมือนที่อื่นก็จะพูดตรงๆ ไปเลย แต่การ์ตูนของเรณูจะเฉี่ยวๆ อ้อมๆ ดูมีลูกเล่น เรียกได้ว่า กัดอย่างมีลีลา?
ผมคิดว่าการ์ตูนคือการเล่นกับภาษาภาพ เรณู ปัญญาดี จะเล่นกับภาษาภาพ แม้ว่าจะเน้นถ้อยคำ มันมี 2 อย่าง คือเราพยายามจะสร้างความซับซ้อนให้กับศิลปะการ์ตูนขึ้นมาหน่อย เช่น พูดเรื่องที่มันยากๆ ได้ และคอมเมนท์ก็จะยอกย้อนนิดนึง
คุณเล่นล้วงลูกว่ากวนตีน แก้ตัวยังไงดี (หัวเราะ) กวนตีนคือไม่พูดตรงๆ เหรอ ผมว่าตอนหลังนี่ผมโคตรตรงเลยนะ ชกตรงเลย สมัยก่อนยังฟุตเวิร์คเยอะ
ตอนที่เริ่มทำการ์ตูนเรณูฯ ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรบ้าง
ถ้าหมายถึงการ์ตูนฝรั่ง ได้รับอิทธิพลมาเยอะ หลักๆ ก็ ไฟเฟอร์ (Jules Feiffer) เคยเป็นนักเขียนการ์ตูนลง เดอะ วิลเลจ วอยส์ ของนิวยอร์ก เขียนมาตั้งแต่ยุค 50 จนถึง 80 ก็คือผ่านยุคสงครามเวียดนาม สงครามเย็น ตั้งแต่ไอเซนฮาวร์ จนถึงยุคเรแกน มิติทางการเมืองก็แหลมคมและลึก ทั้งคมและซับซ้อน คือเขาเป็นนักเขียนบทหนังด้วย มีผลงานคือ Canal Knowledge หนังที่แจ็ค นิโคลสันเล่นกับอาร์ท การ์ฟังเกล และ Popeye ของโรเบิร์ท อัลท์แมน
อีกคนคือ เกล็น แบ็คซ์เตอร์ (Glen Baxter) เป็นคนอังกฤษ ผมก็ไม่รู้ประวัติมาก ไม่ใช่การ์ตูนการเมือง แต่เขาเอาลายเส้นภาพประกอบในหนังสือเรียนอังกฤษสมัยโบราณมาใช้ นี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในแง่สไตล์
ในการ์ตูนชอบพูดถึงความสำเร็จรูป ที่เราชอบเรียกกันว่า Stereotype อะไรคือความหมายที่แท้จริงของมัน?
Stereotype หรือภาพเหมารวม คือการมองว่าคนอื่นอย่างสำเร็จรูป คือ หนึ่ง มีความแตกต่างจากเรา สองปักป้ายให้เขาว่าสังกัดกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ป้ายนี้มีทั้งที่เป็นบวก อย่าง ‘ผู้หญิงเป็นเพศแม่’ และเป็นลบก็ เช่น ‘ผู้หญิงขับรถไม่ดี’
แต่ส่วนมากจะเป็นลบ คือมันทำให้เรารู้สึก ‘เหนือกว่า’ กลุ่มคนที่เราพูดถึง ทำให้มองข้ามรายละเอียดหรือความเฉพาะตัวของคนคนนั้นไป มองเห็นแต่ความเป็นกลุ่มของเขาและไม่เปิดโอกาสว่าเขาจะเปลี่ยนแปลง กลุ่มที่ว่านี้อาจจะอยู่ในรูปถ้อยคำหรือรูปภาพหรือทั้งสองอย่างรวมกันก็ได้
คำว่า Stereotype มีความเป็นมาอย่างไร?
ในฐานะดีไซเนอร์ จริงๆ ผมมีความสนใจเรื่องนี้เป็นการส่วนตัวนะ ขั้นแรกคือรากศัพท์ คำว่า Stereotype เดิมเป็นศัพท์การพิมพ์ หมายถึงตัวพิมพ์ตะกั่ว เฉพาะที่ดิเดโรต์ (Denis Diderot) นักออกแบบตัวพิมพ์ชาวฝรั่งเศส เป็นคนประดิษฐ์ขึ้นมาในปี 1798
ทีนี้เวลาเราแปะป้ายให้คน เขาก็เรียกว่า Type Casting ซึ่งแปลว่าหล่อตัวพิมพ์ มาจากศัพท์การพิมพ์อีกเหมือนกัน ในแง่มโนภาพ มันให้ภาพของการสร้างเบ้าหลอมอันหนึ่งแล้วปั๊มสิ่งที่เหมือนๆ กันออกมาอย่างไม่ขาดสาย นอกจากนั้นแล้ว ยังให้ภาพการเรียงพิมพ์ หรือการเอาตัวพิมพ์ที่ออกมาจากเบ้าเดียวกันนั่นแหละ มาเรียงกันใหม่ สลับกันไปมา แถมสมัยก่อนใช้เสร็จแล้วเอาไปล้าง ใส่เคส แล้วเอามาใช้ใหม่อีก ก็ตรงกับคอนเซ็ปท์ในการสร้างภาพของกลุ่มคนขึ้นมา แล้วเอาภาพนี้ไปยัดเยียดหรือแปะไว้กับคน ที่สำคัญ มันไม่มีความหลากหลายเหมือนลายมือ มันคือการสร้างแบบแผนที่ตายตัวขึ้นมา
ในหนังสือ แกะรอยตัวพิมพ์ไทย ผมกับอาจารย์นพพร ประชากุล เคยเขียนถึงกำเนิดตัวพิมพ์ว่ามีความสำคัญมากเลย เพราะมันได้เปลี่ยนแปลงความเข้าใจเรื่องลายมือหรือภาษาเขียนสมัยก่อนถึง 2 อย่าง อย่างแรก ทำให้ตัวหนังสือมี ‘เอกรูป’ หรือแบบเดียว เช่น ถ้าคุณพิมพ์ ก ไก่ มันก็จะออกมาเหมือนกันทุกครั้ง เรียกว่ามันอยู่ในชุดเดียวกัน สไตล์เดียวกัน เหมือนเอาคนไปสวมยูนิฟอร์ม คนจะถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและความมีระเบียบ
อีกอันหนึ่งคือตัวพิมพ์ทำให้ตัวหนังสือมีความ ‘นิรันดร์’ แปลว่าคงที่และไม่เปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเวลาคุณเขียนหนังสือต้นฉบับด้วยลายมือ แล้วพอมันพิมพ์ออกมา คุณจะรู้สึกว่ามันเจ๋งกว่าตอนเราเขียน เพราะถ้าพิมพ์ออกมาคือนิ่งแล้ว จบแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงอีก อันนี้เป็นรากของการพิมพ์เลย เอกรูปและนิรันดร์ สองอันนี้แหละคือปมสำคัญของภาพเหมารวม
หมายความว่า บางอย่างในชีวิตประจำวันเราก็มี Stereotype แทรกอยู่เสมอๆ?
ภาพเหมารวมนี่ มองในแง่จิตวิทยา บางทีเขาก็เรียกภาพฝังใจ หรือ First impression แน่นอน การเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน เราต้องยึดติดกับภาพฝังใจบางอย่าง เช่น ขับรถจะแซงคันอื่น เราก็ต้องดูว่าเป็นรถเก๋งหรือรถกระบะ รถญี่ปุ่นหรือรถยุโรป เราจะหลบให้ หรือจะแซงมัน ก็ขึ้นอยู่กับภาพฝังใจล้วนๆ หรือเวลาผมเจอหน้าคุณ จะปฏิบัติกับคุณอย่างไร มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณแต่งตัวมายังไง หน้าตาเป็นยังไง อันนี้ปฏิเสธไม่ได้ ผมว่าในแง่หนึ่ง มันเป็นเครื่องมือในการเอาชีวิตรอดเลยนะ
ต่อมา เมื่อ วอลเตอร์ ลิปป์แมน (Walter Lippmann) เอาคำนี้มาใช้เพื่ออธิบายถึงความชอบแบ่งแยกคน เขาก็มองแบบกลางๆ หมายความแค่เป็น social type ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเนกาตีฟหรือมองมันในทางลบนะ มาตอนหลังนี่แหละ ที่เราจะใช้คำว่า Stereotype ก็ต่อเมื่อมีการเหยียดหยาม หรือดูถูกกัน
พอจะยกตัวอย่างการใช้ Stereotype ที่สร้างปัญหาต่อสังคมให้ฟังได้ไหม?
ในทางสังคมและการเมืองปัจจุบัน Stereotype คือการปักป้ายหรือยัดเยียดว่าคนอื่นสังกัดกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ หรือเอาชื่อ ‘กลุ่ม’ ไปสวมให้กับ ‘คน’ ซึ่งต้องกำกับไว้ด้วยว่าอย่างมีอคติ รวมทั้งส่ออาการดูถูกเหยียดหยาม ทั้งๆ ที่ Stereotype มีอคติเจือปนอยู่ แต่คนที่ใช้มันก็เชื่อว่ามันจริง แล้วก็ยังมีกระบวนการทำให้ทำให้อคติหรือ First Impression นั้นเป็นระบบอีก
Stereotype เป็นวิทยาศาสตร์เก๊ๆ มีคนเรียกอย่างเสียดสีว่า The Science of First Impression
ปัญหาหนึ่งคือ ชอบเอาความรู้มาสนับสนุน หรือเอาข้อเท็จจริงบางอย่างมาแบ็คอัพ เช่น บอกว่า คนเวียดนามกินหมา เพราะเคยเห็นมาจริงๆ หรือเอาตัวเลขทางสถิติมาพิสูจน์ ซึ่งจริงๆ แล้วเอามาพิสูจน์ความเหนือกว่าของคนไทย มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่ไม่จริง คนเอเชียหลายประเทศที่กินหมาหรือเคยกิน นี่คือลักษณะของ Stereotype ที่อ้างอิงความรู้
ที่ว่า Stereotype กลายเป็นข้อหาทางสังคม หมายความว่าคนทั่วไป อย่างเราๆ ท่านๆ สามารถโวยได้ว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิ แม้จะเป็นเพียงคำพูดไม่ใช่การกระทำ ยิ่งไปกว่านั้น การใช้คำพูดที่ยัดเยียดหรือกวาดปัจเจกชนให้ไปเข้ากลุ่มใดๆ โดยที่เขาไม่ยินยอม ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว
ถ้าเปรียบตัวพิมพ์ Type casting กับการนำสิ่งนี้ไปทำให้สังคมเป็นระเบียบ มันคือที่มาของปัญหาหรือเปล่า
จริงๆ มันก็มีความหมายในทางลบ คือ ‘ยัดเยียด’ แล้วก็ ‘ไม่เปลี่ยนแปลง’ แต่จริงๆ ก็ต้องมองสองด้านเสมอ การที่เราทำให้กลุ่มคนมีภาพตัวแทน ก็เป็นการเพิ่มพลังให้เขาเหมือนกัน
มันมีสองอย่างคือ หากลุ่มให้กับคน หาคนให้กับกลุ่ม อย่างแรกคือการปักป้ายให้ใครสักคน ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้ลงตัวทั้งหมด ขณะที่แต่ละคนก็ต้องการที่จะมีกลุ่มนะ ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้
แม้แต่คำเองก็มีความหมายของการสร้างระเบียบอยู่แล้ว เพื่อทำความเข้าใจและจัดการกับมันได้ง่ายขึ้น แต่ต่อมามันเกิดรำลึกกันมากขึ้นนะ เฮ้ย…อย่างนี้มันกดขี่กันนี่หว่า หาเรื่องกับคนบริสุทธิ์
เท่าที่ฟังมา การใช้ Stereotype และปัญหาของมันดูจะเกิดขึ้นในตะวันตกมากกว่า
Stereotype เป็นศัพท์ที่ใช้กันในสังคมเสรีนิยม พื้นฐานของมันคือการเคารพในสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับศัพท์บางคำ เช่น ประชาธิปไตย เสรีภาพ หรือการเลือกตั้ง นั่นคือถูกใช้อย่างลักลั่น บิดเบือน และไม่คงเส้นคงวา ที่สำคัญ ไม่ได้ปกป้องสิทธิของคนในสังคมโดยกว้าง ตรงกันข้าม นอกจากจะไม่มีผลทางกฎหมายที่แท้จริงแล้ว ยังถูกตีกินโดยชนชั้นกลาง จนไม่เหลือพลังสักเท่าไร
ต้องเข้าใจก่อนว่าฝรั่งเสรีนิยมมีปมด้อยว่าเคยกดขี่เหยียดหยาม ‘คนอื่น’ มาแล้ว ทั้งกับคนผิวสี ผู้หญิง เกย์ และชนชาติอื่น ที่สำคัญ การกดขี่เหยียดหยามนั้นใช้ความรุนแรงทั้งการกระทำและคำพูด ต่อมาเขาจึงมาตกลงกันว่าจะไม่ฆ่ากันง่ายๆ เหมือนแต่ก่อน แล้วถ้าเหยียดหยามด้วยคำพูดล่ะ? เขาบอกว่าต้องอยู่ในขอบเขตกฎหมายหรือพร้อมจะเจอข้อหานี้ นั่นหมายความว่าสังคมยอมให้ใครๆ ก็โวยได้ว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิ แม้จะไม่ใช่ด้วยการกระทำ แต่เป็นทางคำพูด
นอกจากนั้นแล้วนะ ข้อหา Stereotype ยังวางอยู่บนหลักคิดที่ว่าคำพูดย่อมนำไปสู่การกระทำหรือการปักป้ายย่อมนำไปสู่ความรุนแรง แต่ชนชั้นกลางไทยไม่คิดว่าตนเองเคยกดขี่ เหยียดหยาม หรือละเมิดสิทธิคนอื่น อาจจะเพราะไม่ยอมรับว่าสังคมมีหรือเคยมีการต่อสู้ขัดแย้งอย่างรุนแรง ทั้งเรื่องชาติพันธุ์ เพศสภาพ ชนชั้น ก็ได้ จึงไม่เคยรู้สึกผิดบาปอะไร ไม่มีปมด้อยอะไรทั้งสิ้น
ในเมืองไทย ที่หลายคนบอกว่ายังไม่เคยมีสงครามกลางเมือง Stereotype จึงกลายเป็นข้อหาที่มีไว้ปกป้องชนชั้นกลาง เป็นเครื่องมือในการสร้างปากเสียงให้ตนเองมากกว่าให้คนอื่น รวมทั้งขยายเครือข่ายของตน (เช่น ขอเงิน สสส. ใส่กระเป๋าตน) พูดง่ายๆ เป็นข้อหาที่ถูกนำมาตีกินโดยชนชั้นกลางไทยนั่นแหละ
ยกตัวอย่างเช่น?
ยุคก่อนหน้านี้ ข้อหานี้มักจะถูกใช้ตรวจสอบสื่อหรือโฆษณาที่ส่ออาการดูหมิ่นเหยียดหยามคนอื่น เช่นผู้หญิงและชาวเขา ซึ่งก็ว่ากันไป ไม่ได้ผลอะไรอย่างลึกซึ้งเท่าไหร่ เพราะมันเกิดขึ้นข้างบนแล้วก็โยนลงมาข้างล่าง ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานจิตสำนึกของคนในสังคมจริงๆ ที่ว่าข้อหานี้ถูกตีกินโดยชนชั้นกลางไทย หรือเป็นข้อหาที่ดัดจริต จะเห็นได้จากสองกรณี:
หนึ่ง กรณีนอนกับแอร์และผู้ว่าฯ (ราวปี 2542 หนังโฆษณาขายแอร์คอนดิชันเนอร์ และเบียร์ ถูกประท้วงโดยตัวแทนของกลุ่มแอร์โฮสเตสส์ และผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวนหนึ่ง ด้วยข้อหาว่าเหยียดหยามอาชีพทั้งสอง) แสดงว่า Stereotype เป็นเครื่องมือในการปกป้องชนชั้นกลาง โดยเฉพาะชนชั้นกลางระดับบน และเนื่องจากสื่อจะตื่นตัวเฉพาะเมื่อชนชั้นกลางออกมามีปากมีเสียง สังคมถึงได้รู้จักข้อหาและข่าวเหล่านี้
สอง กรณีชาวเขาหรือคนพูดไม่ชัด (ในหนังโฆษณาขายเม็ดอมสีเขียว) แสดงว่า Stereotype หมายถึงการพูดแทนคนอื่นในท่วงทำนองที่เอาเขามาอยู่ในอุปการะ มากกว่าจะปล่อยให้เขามีปากมีเสียงของตนเอง และบางครั้ง เช่นในกรณีเพลงมิดะ ข้อหานี้เป็นเครื่องมือในการเซ็นเซอร์ผลงานดนตรีของของคุณจรัล มโนเพ็ชร แถมยังเป็นเครื่องมือในการสั่งสอนจริยธรรมแก่ชนชั้นกลางอีก
หมายความว่าในสังคมไทยที่มีการสร้างภาพดูถูกกันจริงๆ บางครั้งทำให้คนจนดูเป็นคนโง่?
ในช่วง 2 ปีนี้ ความขัดแย้งทางความคิด กว้างขวางใหญ่โตถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นสงครามเบ็ดเสร็จ เพราะระดมเอาทุกชั้นของสังคมมาต่อสู้กัน ไม่ใช่แค่ทะเลาะกันในสื่อ ไม่ใช่แค่เถียงกันในสภาหรือโต๊ะเจรจา ทุกคนดูเหมือนจะถูกระดมมาเข้าสงครามนี้ และมีเดิมพันที่ตัวเองรู้สึกว่าใหญ่
กรณีคนเสื้อแดงเรียกตัวเองว่าไพร่ อันนี้เป็นกรณีที่น่าสนใจเป็นพิเศษ บอกก่อนว่า ผมมองว่า ‘ไพร่’ เป็นภาพเหมารวม เพราะทำให้ผู้พูดดูดีในทันที และทำให้ฝ่ายที่ไม่ใช่เสื้อแดงเสียมวยไปเยอะเหมือนกัน แน่นอน…ไม่มีใครออกมาฟ้องร้องว่าเหยียดหยามผู้อื่นเป็นการเฉพาะ เพราะขณะนั้น ข้อหาอื่นๆ ที่แรงกว่านี้ เสื้อแดงก็ได้รับไปเยอะแล้ว
แต่ที่สำคัญ เมื่อคำนี้ฮิตติดตลาด ทำให้นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ก็ดาหน้ากันออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เรียกว่าออกมากันเป็นแผง ขนรากศัพท์และความรู้ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ออกมาต้าน บอกว่ามันไม่จริง หรือเป็นภาพเหมารวมที่ผิด จริงหรือไม่จริง? ตรงนี้แหละที่แสดงว่า Stereotype ต้องหาทางเอาความรู้มาค้ำยัน ในเหตุการณ์นั้น ไพร่ คือภาพเหมารวมหรือป้ายที่ชาวบ้านต้องการปักให้แก่กลุ่มของตัวเอง แต่นักวิชาการทนไม่ได้จึงพากันออกมาชี้ว่าไพร่เป็นป้ายที่ ‘ผิด’ และเมื่อป้ายนี้ฮิตติดตลาด ก็ยิ่งดิ้นกันพล่าน
นอกจากนั้น กรณีไพร่-อำมาตย์ ยังแสดงว่า อาการรังเกียจภาพเหมารวมอาจจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเซ็นเซอร์และกำราบปราบปรามความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในสังคม พูดง่ายๆ ข้อหานี้มีไว้ใช้ ‘ดักคอ’ คนอื่น
ยกตัวอย่าง ‘สลิ่ม’ หรือ ‘เสื้อแดง’ นี่ก็เป็นพลังของ Stereotype?
ตอนนี้คนเขาจะพูดกันว่า เป็นยุคแห่งการแบ่งขั้ว ผมว่าจริง แต่มันไม่ได้เป็นปัญหา มันเป็นภาวะทั่วไปที่สังคมต้องเขย่าตัวให้เกิดแรงกระเพื่อม กระฉอกออกไปบ้างก็มี เพื่อจะหาจุดที่ลงตัว คนชั้นกลางเขาอาจจะค้นพบตัวเองขึ้นมา
อย่างคำว่าไพร่ จริงๆ แล้วโดยพื้นฐานถ้าจะมองในทางศิลปะนี่มันคือ Irony ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงนะ คือมันกล้าประชดตัวเอง อย่างน้อยทำให้คนอื่นมองภาพพวกเขาชัดขึ้น แล้วสิ่งที่เขาทำอยู่มันดูหนักแน่นขึ้น
นอกจากนั้น ถ้าภาพเหมารวมเกิดไปตรงกับมุมมองของตน ชนชั้นกลางจะนิ่งเฉยและยอมรับ เช่นกรณีปักป้ายว่าชาวบ้านสกปรกเหมือนเชื้อโรคของสังคม เกิดจากการประสานกันอย่างเข้มแข็งของสื่อและนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวนมาก
เรื่องนี้อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล วิเคราะห์ไว้ในบทความเรื่อง ‘เชื้อร้ายฯ’ (วารสารอ่าน ปีที่ 2 ฉบับที่ 4) สิ่งสกปรกเป็นภาพเหมารวมที่ถูกสร้างขึ้นและมอบให้แก่ผู้ชุมนุม แม้จะไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็มีขั้นตอนและในที่สุดก็บรรลุเป้าหมาย จะว่าไปแล้ว การเห็นผู้ชุมนุมเป็นสิ่งสกปรก เป็นยิ่งกว่า Stereotype หรือ Hate speech เพราะไม่ใช่แค่เหยียดหยาม แต่นำไปสู่ความรุนแรงจริงๆ ซึ่งก็เช่นเดียวกับกรณีทางการเมือง ชาวบ้านอาจจะต้องการพูดถึงสิทธิมนุษยชน แต่ชนชั้นกลางรีบออกมาบอกว่า สิ่งที่มึงกำลังพูดถึงคือการเลือกตั้งและนักเลือกตั้ง ซึ่งเป็น Stereotype ของคนโง่และชั่ว
สรุปแล้ว ข้อหาภาพเหมารวม แม้จะมีหลักพื้นฐานคือปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่มักจะถูกใช้ในทางที่ผิด เช่นถูกเอาไปรับใช้ชนชั้นกลาง ขณะเดียวกัน ก็ถูกนำไปกดขี่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็น เพศอื่น ชนชั้นอื่น หรือชาติพันธุ์อื่น และแทนที่จะมองว่า Stereotype เป็นข้อหาที่โยนใส่กันได้ทั้งสองฝ่าย ต้องมองให้ออกว่า การขัดแย้งแบ่งแยกไม่ใช่ตัวปัญหา ปัญหาอยู่ที่สังคมไทยโปรโมตความไม่ขัดแย้ง รวมทั้งโปรโมต Stereotype บางอย่าง และไม่ยอมรับ Stereotype บางอย่าง
ภาพนี้สื่อช่วยสร้างด้วยหรือเปล่า เช่น โทนในการนำเสนอข่าว
ในสื่อจะมีการใช้ Stereotype มาก และวิธีการก็มีหลายอย่าง บางทีก็เป็นนัย ไม่ได้พูดตรงๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากอคติของผู้รายงานข่าว แต่อีกส่วนเพราะมันมีประโยชน์ เช่น ทำให้เข้าใจได้ง่ายว่าใครเป็นใคร สังกัดฝ่ายไหน และทำอะไร เมื่อเราเรียกคนว่านักเตะจาก ‘ถิ่นหมอผี’ หรือ ‘แดนผู้ดี’ แม้จะไม่จริงและเป็นการมองข้ามอะไรไปหลายอย่าง แต่ก็ได้ภาพรวมที่เข้าใจง่าย
ทุกวันนี้ เรายอมรับกันว่า Stereotype ในข่าวก่อผลร้ายได้มาก นอกจากทำให้ละเลยปมประเด็นที่ลึกไปกว่านั้นแล้ว ยังก่อเกิดความเข้าใจผิดกันระหว่างกลุ่มต่างๆ เสมอ ยิ่งกว่านั้น พอข่าวถูกเข้าใจผ่านภาพเหมารวม หนักๆ เข้า อะไรจะเป็นข่าวก็ขึ้นอยู่กับว่าตรงกับภาพเหมารวมหรือไม่ ผลก็คือทำให้ข่าวที่เราอ่านมีอยู่สองแบบเท่านั้นคือ หนึ่ง ที่เป็นไปตาม Stereotype เช่น คนรวยเอาเปรียบคนจน นักการเมืองโกง ครูผู้เสียสละ พระที่ไม่ปล้ำเด็ก และสอง ที่สวนทางกับ Stereotype เช่น คนรวยช่วยคนจน นักการเมืองผู้เสียสละ ครูรังแกนักเรียน พระที่ปล้ำเด็ก หมุนไปหมุนมาระหว่างสองขั้ว ไม่มีเกินไปจากนี้
อย่าลืมว่า คุณมองคนยังไง คุณก็ปฏิบัติกับเขาอย่างนั้น เหมือนไม่กี่วันนี้ ผมแต่งตัวไม่ดี เดินเข้าตึกหนึ่ง ยามก็จะกราดเข้ามาหาเลย ถ้าคุณแต่งตัวดียามจะยิ้มให้และยกมือไหว้ด้วยซ้ำไป ในการชุมนุมปีที่แล้ว การปักป้ายใส่ชื่อให้กับผุ้ชุมนุม ไม่ใช่แค่ Stereotype แต่มันนำมาซึ่งปฏิบัติการของรัฐบาล ซึ่งเป็นของจริง
ถ้า Stereotype เป็นปัญหามากขนาดนั้น เราจะรับมือกับปัญหาที่ตามมาอย่างไรดี
Stereotype เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการอยู่ร่วมกับ ‘คนอื่น’ หรือคนที่ไม่เหมือนกับเรา ในขณะเดียวกัน ก็เป็นความรู้ที่ตายตัวและถูกสร้างเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ในอนาคต คนรุ่นลูกรุ่นหลานของเราจะต้องพบปะและเผชิญหน้ากับคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ
คำถามคือเราจะยอมให้ความรู้แบบนี้ส่งผ่านไปถึงเขาไหม หรือเราจะทบทวนเครื่องมือเก่า สร้างเครื่องมือใหม่ที่ทำให้เขามองเห็นตัวเองในคนอื่น และสอนให้เขามองโลกด้วยสายตาของคนอื่นบ้าง
กรณีของไทย อย่างการตกอกตกใจในการเผาห้างกลางเมืองเป็นอย่างไร
ผมว่าภาพถ่ายและเรื่องราวเกี่ยวเซ็นทรัลเวิลด์ที่ถูกเผา มีผลทำให้ข้อหาก่อการร้ายสำหรับคนเสื้อแดงชัดเจนและรุนแรงขึ้นอย่างมาก
หลังการเผาเซ็นทรัลเวิลด์มีความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ หลังเหตุการณ์นั้น คนชั้นกลางออกมารำลึกความสูญเสียครั้งนี้มากผิดธรรมดา มีการออกมาล้างถนน ล้างบ้านล้างเมือง มีอีเวนต์ปลอบขวัญกันต่างๆ นานา
ในทางสื่อนั้นไม่ต้องพูดถึง ต้องลงข่าวกันครบถ้วนทุกฉบับอยู่แล้ว ในแง่กราฟิกดีไซน์ก็อุตส่าห์มีคนมาช่วยกันทำงานดีไซน์และขึ้นบิลบอร์ดรอบๆ ตึกบริเวณที่ถูกเผาไปแล้ว ช่วงนั้น มันมีพิธีกรรมอะไรแบบนี้เยอะ อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ เคยเขียนไว้ว่ามันมีการทำบุคลิกให้ตึกมันเป็นคน เหมือนกับเป็นคนที่ถูกฆ่าตายในเหตุการณ์ หรือได้รับบาดเจ็บ แล้วเขายังบอกว่า ไอ้ที่ออกมาล้างถนนกันเนี่ย คือออกมาล้างบาป บาปที่เขาให้ใบอนุญาตฆ่า
แสดงว่าจริงๆ แล้วคนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันมาก แม้จะเป็นความพยายามลบภาพบางอย่างออกไปก็ตาม?
เอาเป็นว่า เซ็นทรัลเวิลด์กลายเป็นไอคอนของเหตุการณ์นี้ มองแต่ภาพข่าวอย่างเดียว ก็ชวนให้คิดถึงกรณีเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นิวยอร์กแล้ว คิดว่าคนชั้นกลางกรุงเทพฯ อาจจะคิดว่าเซ็นทรัลเวิลด์เป็นเวิลด์เทรดของเขา หรือเป็น 9/11 ของเขา
คุณเห็นโลโก้ Together We Can ไหม ที่ออกมาในวาระเดียวกัน คือมันเลียนแบบ I love New York ผมเล่าก่อนว่ามันคล้ายกับโลโก้ I Love New York ของมิลตัน เกลเซอร์ (Milton Glaser) ทีนี้ หลัง 9/11 มันเคยถูกปรับแก้ทีหนึ่งโดยเติมเป็นคำว่า I Love New York, More Than Ever แล้วมีรอยหัวใจถูกไฟไหม้ ซึ่งก็เลยกลายเป็นไอคอนของ 9/11 ทำไมต้องเลียนแบบ I love New York?
มาถึงตรงนี้อาจจะบอกว่าเพราะคนกรุงเทพฯ คิดว่าเป็น 9/11 ของพวกเขา คือชื่อมันก็เหมือน รูปถ่ายเหตุการณ์มันก็คล้าย ทำโลโก้เลียนแบบมันไปเลยดีกว่า เจ้าของโลโก้ อีเวนต์และโครงงาน อาจจะคิดว่านี่ทำให้การเผาเซ็นทรัลเวิลด์กลายเป็นเรื่องระดับสากล
แต่อาจจะไม่ใช่ความคิดที่ดีนะ เพราะ 9/11 มันมีความเฉพาะทางประวัติศาสตร์มาก และเอาเข้าจริงๆ ฝรั่งมันคิดอย่างนั้นกับเหตุการณ์เซ็นทรัลเวิลด์หรือเปล่า ผมว่าไม่นะ นักวิชาการออสเตรเลียเขียนเรื่องนี้ สิ่งที่ช็อกเขาก็เหมือนที่หลายๆ คนที่เห็นอกเห็นใจเสื้อแดงว่า การเผาตึกกลายเป็นเรื่องใหญ่เกินจริง ขณะที่มีคนถูกฆ่าตายเกือบร้อย ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงไปฟูมฟายกับตึก
แต่ผมว่าทุบตึกยังดีกว่าฆ่าคนนะ คุณเคยดูเรื่องนี้หรือเปล่า Do the Right Thing หนังของ สไปก์ ลี (Spike Lee) หนังมันพื้นๆ มาก เหมือนกับในย่านคนดำ เกิดการทะเลาะกันระหว่างคนดำกับคนอิตาเลียนเจ้าของร้านพิซซ่า ปมมันอยู่ที่ว่า ร้านพิซซ่าเอารูปดาราเบสบอลเชื้อสายอิตาเลียนมาติดไว้ที่ร้าน คนดำที่เป็นลูกค้าบอกว่า ทำไมไม่มีรูปคนดำ แล้วมันก็ทะเลาะกันใหญ่เลย ตัวพระเอกเป็นคนยืนอยู่ตรงกลาง เพราะเป็นลูกจ้างของร้านพิซซ่า แล้วมันก็ไม่รู้จะเข้าข้างใคร แต่ทั้งหมดนี้ทำให้คนดำชุมนุมประท้วง จบลงด้วยการทุบทำลายร้าน ที่สำคัญ ไม่มีคำตอบเลยว่าใครผิดใครถูก ผมว่ามันดีตรงที่ให้พระเอกเป็นคนที่เริ่มความรุนแรง มันยกถังขยะเหล็กฟาดไปที่ร้าน แล้วทุกคนก็หันมาช่วยกันทุบร้านใหญ่เลย ผมมาคิดทีหลังนะ เออ ถึงจะทำลายร้านค้า แต่ความรุนแรงก็ถูกเบี่ยงเบนไป สุดท้ายไม่มีการฆ่ากัน
มองด้านดีไซน์บ้าง Stereotype เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร
Stereotype คือด้านตรงข้ามของ Ideal type ซึ่งหมายถึงภาพที่เป็นอุดมคติ หรือคนที่อยู่สูงกว่าเรา ผมมองว่ามันเป็นสองด้านของสิ่งเดียวกัน ภาพของคนกลุ่มเดียวกัน คุณจะถ่ายทอดออกมาเป็นลบหรือบวกก็ได้ โดยอาชีพ เราต้องสาละวนกับการสร้าง Ideal type อยู่แล้ว ในกราฟิกดีไซน์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ และสร้างแบรนด์ หน้าที่ของดีไซเนอร์คือเล่นกับภาพอุดมคติที่เป็นสูตรสำเร็จ เช่น คนชั้นกลางที่มีชีวิตอยู่ในบ้านเดี่ยวและครอบครัวอบอุ่น ภาพของคนชนบทที่ตัวดำแต่สุขภาพดีและมีใบหน้ายิ้มแย้มอยู่เสมอ
การเข้าใจ Type ที่หลากหลายจะช่วยในการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องครีเอทสิ่งใหม่ๆ เพราะสังคมกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยพูดถึงคนจนกับรถมอเตอร์ไซค์และโทรศัพท์มือถือ ว่ามันเป็นอุปกรณ์สำคัญต่อชีวิตของคนชนบท มันเป็นภาพของคนชนบทที่ขัดแย้งกับภาพเดิม
ถ้า Stereotype เกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม ดีไซเนอร์หรือศิลปินควรรู้เรื่องภาพเหมารวมแค่ไหน
ภาพลักษณ์ของกลุ่มคน เช่น คนชั้นกลางไทย จริงๆ แล้วนี่ก็เป็น Stereotype เพราะคนชั้นกลางประกอบด้วยคนที่หลากหลาย แม้ในทางเศรษฐกิจ ก็เป็นคอนเซพท์แบบนามธรรม แต่เราต้องหาภาพๆ เดียวที่สื่อตัวตนของเขาออกมาได้ ดังนั้น เราจึงต้องมีความเข้าใจเรื่องแบบนี้ แม้แต่แฟชั่นและสไตล์ก็ขึ้นต่อความรู้เรื่องนี้ ที่สำคัญ ต้องยอมรับว่า ภาพเหมารวมนั้น ด้านหนึ่งสื่อสารได้รวดเร็ว อีกด้านหนึ่งสร้างความเข้าใจผิดๆ
ในแง่คนทำงานด้านการสื่อสาร คุณต้องหาทางลัดที่จะสื่อสารได้เร็วๆ คุณจะพูดยังไงในโบรชัวร์ที่มีรูปๆ เดียว แต่ขณะเดียวกันก็มักจะเกิดปัญหาว่าตายตัวเกินไป ยัดเยียดยูนิฟอร์มหรือความเป็นกลุ่มมากเกินไป เช่น ผู้บริหารต้องใส่สูท พนักงานต้องสวมหมวกกันกระแทก ทั้งๆ ที่ความจริงก็ไม่ได้สวมกันเท่าไหร่ อะไรอีก? คนรวยต้องมีความสุข คนจนต้องมีผิวสีคล้ำ
ผมว่าดีไซเนอร์คือผู้ประกอบสร้าง Stereotype หรือถ้าพูดในเชิงศิลปะก็คือ ต้องรู้จักเล่นกับสูตรสำเร็จ นั่นคือเอา Cliché เก่าๆ มาผสมกันให้กลายเป็นของใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อดีไซเนอร์เป็นเครื่องมือของการค้าและไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเอง ก็จะตั้งคำถามอะไรกับความเชื่อเดิมไม่ค่อยได้ งานออกแบบในสื่อมวลชน เช่นปกหนังสือของพวกคุณ ยังมีเสรีมากกว่า เพราะบางครั้งมันตั้งคำถามได้
นอกจากตัวพิมพ์แล้ว วงการดีไซน์มีการนำภาพเหมารวมไปใช้ในลักษณะอื่นอีกไหม?
พูดถึงภาพเหมารวม ต้องนึกถึงการใช้รูปถ่ายแบบ ‘สต๊อก’ ขออธิบายก่อนว่าสต๊อกโฟโต้ (Stock photo) หมายถึง รูปถ่ายที่ให้เช่าเอาไปทำงานด้านดีไซน์และโฆษณา อาจจะถ่ายเพื่องานอื่น แล้วกลายเป็นสต๊อก หรือถ่ายเพื่อเป็นสต๊อกโดยเฉพาะก็ได้
รูปถ่ายสต๊อกสามารถเปลี่ยนคนให้เป็นคอนเซพท์ และพระอาทิตย์ตกดินให้เป็นฉากที่รื่นรมย์ มันถูกทำขึ้นโดยแนวคิดว่ารูปๆ หนึ่งอาจจะเปิดกว้าง สื่อสารได้หลายสิ่งหลายอย่าง มองอย่างนี้ ด้านหนึ่งก็ลึกซึ้ง อีกด้านหนึ่งก็ตื้นเขิน อย่างด้านหนึ่งเชื่อว่ารูปถ่ายพูดได้หลายอย่าง เลยเอาไปใช้ตีความได้เพียบ อีกด้านหนึ่งคือบอกอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จ เช่น ครอบครัวมีความสุข ชายทะเลที่รื่นรมย์ หรือคนรุ่นใหม่ไฟแรง ในปัจจุบัน อาจจะมีสูตรใหม่ๆ เช่น ความยากจน ยาเสพติด การหย่า ความชรา พ่อที่ทำงานบ้าน เพิ่มขึ้นมาด้วย
ขอกลับมาที่ประวัติศาสตร์การพิมพ์ ผมพูดไปแล้วว่าการพิมพ์ทำให้ลายมือถูกจัดระเบียบ ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ นอกจากกำจัดความไม่คงเส้นคงวาหรือไม่สม่ำเสมอของลายมือแล้ว มันยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาไวยากรณ์และพจนานุกรมด้วย ในขณะที่ระบบไวยากรณ์แคบลงหรือเข้มงวดขึ้น ชุดคำหรือ Lexicon ก็ขยายตัว
พูดง่ายๆ โครงสร้างแข็งขึ้น ศัพท์ก็มากขึ้น สังคมสมัยใหม่กำลังเคลื่อนตัวจากแบบ Print-based ไปสู่ Image-based การควบคุมหรือจัดระเบียบรูปภาพก็เกิดขึ้น ในทางธุรกิจ มีการสร้างคลังภาพที่จำแนกแยกแยะภาพถ่ายจำนวนมากไว้ให้
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เทคโนโลยีในอินเทอร์เน็ตเดี๋ยวนี้ เราแค่โยนคอนเซ็ปท์ไปเป็น ‘คำ’ ในเสิร์ชเอนจิ้นของกูเกิ้ล รูปต่างๆ ก็จะขึ้นมาเลย สำหรับผมมันอเมซซิ่งนะ บางทีคิดอะไรไม่ออกเลย สมมุติทำโฆษณายาแก้ปวดหัว ก็ใส่คำว่าปวดหัวลงไป มันดึงอะไรขึ้นมาให้ก็ไม่รู้ ซึ่งบางทีครีเอทีฟกว่าเราเสียอีก สต๊อกกำลังมีอิทธิพลต่อดีไซน์ คล้ายกับการที่ตัวพิมพ์มีอิทธิพลต่อลายมือ
นี่เป็นพัฒนาการขั้นล่าสุดของการสร้าง Stereotype เทคโนโลยีที่ก้าวหน้านี้ กำลังฝึกฝนให้เรารู้จักมองภาพด้วยคอนเซพท์ ความแตกต่างระหว่างชายกับหญิง รวยกับจน เมืองกับชนบท กรุงเทพฯ กับอมก๋อย คนต้องคิดผ่านภาพ และมองให้เห็น Type หรือกลุ่มสำคัญกว่าความเป็นคน เพราะต้องยอมรับว่าจะเห็นกลุ่มได้ถนัดก็ต้องมองข้ามความเป็นปัจเจกชนไปบ้าง
ภาพถ่ายส่งเสริมความเป็นกลุ่มมากกว่าปัจเจกชน?
ภาพถ่ายเกิดมาเพื่อตอบสนองความเชื่อที่ว่า ถ้ามองกันจริงๆ เราจะสามารถเห็นถึงสิ่งที่อยู่ข้างใน ซึ่งตอนนั้น Photography คือเทคนิคการจ้องมองที่แปลกใหม่และน่าสนใจที่สุด พอจะรู้ประวัติกันไหม…ที่มาของภาพถ่าย ไม่ใช่เพื่อนำไปใช้ในทางศิลปะหรือความงามเลยนะ มันคือวิทยาศาสตร์ล้วนๆ
กลุ่มแรกๆ ในสังคมที่เห็นประโยชน์ของมันคือตำรวจ ยุคแรกของอาชญวิทยาหรือศาสตร์ในการชี้ตัวอาชญากร รูปถ่ายเป็นเครื่องมือสำคัญ มันช่วยบ่งบอกหรือแยกผู้ร้ายกับคนธรรมดาออกจากกัน อาศัยการวัดและถ่ายรูป เขาสามารถสร้างภาพเหมารวมของคนร้ายและสรุปออกมาเป็น ‘โปสเตอร์ใบหน้าของผู้ต้องสงสัย’ ช่วยให้ตำรวจทำงานได้เร็วขึ้น ส่วนอาชญากรก็หลบหนียากขึ้น
หลักการที่เรียกเล่นๆ ว่า ‘หน้าผากอาชญากร’ เป็นที่ยอมรับกันอย่างมากเลยในปลายศตวรรษที่ 19 ที่ฝรั่งเศส เพราะนอกจากมันจะช่วยจับผู้ร้ายได้จริง กระบวนการนี้ยังทำให้ฐานะของเสมียนเก็บเอกสารเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล คือกลายเป็น ‘กองพิสูจน์หลักฐานของปารีส’ เลยทีเดียว
มองมุมนี้ เราจะเห็นว่ารูปถ่ายไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างเป็นกลาง สาระสำคัญที่ซ่อนอยู่ในรูปถ่ายคือ ต้องช่วยแยกแยะคนดีกับเลวออกจากกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ ประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่ามักจะนำไปสู่ความรู้ที่ผิดพลาด หลักการ ‘หน้าผากอาชญากร’ กลายเป็นตัวอย่างของวิทยาศาสตร์เก๊ๆ ‘โปสเตอร์ใบหน้าของผู้ต้องสงสัย’ ก็กลายเป็นแค่อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ไม่ใช่ความรู้ที่จะไปชี้เป็นชี้ตาย เรื่องนี้ทำให้ต้องคอยเตือนตัวเองว่าก่อนที่เราจะมองภาพถ่าย เรามักจะมีกรอบ มีคอนเซ็ปท์มากลั่นกรองความจริงเสมอๆ กรอบซึ่งอาจจะเป็นคุณค่าเป็นนามธรรมนี้แหละทำให้ความจริงกลายเป็นภาพเหมารวม
***********************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร WAY ฉบับที่ 44 กันยายน 2554)