รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว: จุดสมดุลระหว่างเสรีภาพในการดื่มกับการควบคุมน้ำเมา

ทุกครั้งที่เกิดข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรามักจะเห็นคู่ขัดแย้งสองฝ่ายยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกันเสมอ ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายสนับสนุนให้มีการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างขันแข็ง โดยยกข้อมูลผลกระทบในมิติทางสุขภาพและสังคมขึ้นมาเป็นเหตุผลหลัก พร้อมกับชูมาตรการควบคุมแบบเหมารวมในทุกรูปแบบ 

อีกฝ่ายหนึ่งจึงจำเป็นต้องออกมาโต้แย้ง เพราะในจักรวาลของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยที่พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย รวมถึงประชาชนโดยทั่วไปที่ต้องสูญเสียเสรีภาพในการใช้ชีวิตไปด้วยเช่นกัน จนเกิดการเรียกร้องผลักดันให้ปลดล็อกข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ยืดหยุ่นต่อการผลิต การจำหน่าย และการบริโภค โดยต้องไม่กระทบสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่สำคัญคือต้องเปิดให้มีการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ให้โอกาสทุนเล็กได้ลงสนามแข่งอย่างเท่าเทียม มิใช่เอื้อเฉพาะเพียงทุนใหญ่ไม่กี่ราย

ท่ามกลางบรรยากาศที่รัฐบาลได้ทยอยปลดล็อกมาตรการเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทั้งยังอยู่ในช่วงเวลาของการพิจารณามาตรการอื่นๆ ในเรื่องนี้ เราได้พูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักวิชาการที่ศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งได้สะท้อนมุมมองผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมกับเสนอแนวทางการควบคุมที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างมาตรการเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับมาตรการป้องกันผลกระทบจากการดื่ม 

ปัจจุบันนี้คนดื่มรับรู้และตระหนักถึงโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากน้อยแค่ไหน

โดยทั่วไปคนก็น่าจะรับรู้อยู่แล้วว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลเสียอย่างไร แต่ผมคิดว่าอาจจะรู้ไม่หมด คือเวลาพูดถึงผลกระทบต่อสุขภาพ คนก็จะนึกถึงโรคตับเป็นหลัก แล้วก็เรื่องปัญหาทะเลาะวิวาท ความรุนแรง เมาแล้วขับ อันนี้เป็นสิ่งหลักที่เราจะนึกถึง แต่ที่จริงยังมีอีกหลายโรคที่คนทั่วๆ ไปน่าจะไม่ได้นึกถึง เช่น การดื่มทำให้เกิดมะเร็งหลายอวัยวะ เกิดได้ตามที่แอลกอฮอล์ผ่านลงไปเลย ตั้งแต่มะเร็งในช่องปาก มะเร็งในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ รวมถึงมะเร็งในทวารหนัก ส่วนผู้หญิงก็จะเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องมะเร็งเต้านมด้วย

ถ้าเราเข้าไปดูในเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในเรื่องแอลกอฮอล์ จะเห็นว่าเขาระบุโรคที่มาจากการดื่มไว้ 200 กว่าภาวะ ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันลดลง หรือเป็นสาเหตุร่วมที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นวัณโรคได้ 

อย่างโรคหัวใจ จะมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าดื่มแล้วจะดีต่อหัวใจ แต่จริงๆ แล้วถ้าไปดูสถิติจะเห็นว่าการดื่มทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ ในส่วนของหัวใจก็ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และยังมีอีกหลายภาวะมากเลย ซึ่งเรามองเห็นโทษจริง แต่เห็นอยู่ไม่กี่อย่าง ทำให้มองข้ามโทษอีกหลายๆ อย่างไป อย่างความเสี่ยงเรื่องมะเร็งก็เพิ่มขึ้นตามปริมาณที่ดื่ม 

สำหรับการดื่มของผู้หญิงที่บอกว่ามีความเสี่ยงไปถึงมะเร็งเต้านมด้วย ขอขยายความอย่างนี้ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือน้ำที่อาจจะแต่งสีแต่งกลิ่น ผสมกับสารที่ชื่อว่าเอทานอล (Ethanal) ซึ่งเป็นสารพิษอย่างหนึ่ง เวลาเราดื่มเข้าไปทำให้เกิดผลที่สมอง ทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราชอบ แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นสารที่ร่างกายพยายามจะขับออก โดยตับเป็นอวัยวะที่พยายามทำให้เอทานอลอยู่ในรูปแบบที่จะขับออกไปได้ แต่อย่างไรก็ตามส่วนที่ยังไหลเวียนในร่างกายก็ยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเซลล์ จึงทำให้เป็นมะเร็งได้

เวลาเป็นมะเร็ง สารที่ไปก่อให้เกิดมะเร็งก็จะมีความจำเพาะกับเซลล์บริเวณนั้นๆ โดยข้อมูลนี้มาจากการที่เขาไปดูข้อมูลจำนวนมากจากคนที่ดื่มและไม่ดื่ม ไปดูว่าคนที่ดื่มมีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในโรคอะไรบ้าง และมะเร็งเต้านมก็เป็นหนึ่งในนั้น แน่นอนว่าการจะเป็นโรคอะไรก็ตามมีปัจจัยประกอบหลายอย่าง แอลกอฮอล์ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม

สำหรับประเทศไทย สถิติการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุมาจากการดื่มสุราเป็นอย่างไรบ้าง

ผมย้อนไปดูข้อมูลที่เขาเรียกว่ารายงานภาระโรค มีสถิติพบว่าใน 1 ปี คนไทยตายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมทุกสาเหตุประมาณ 44,000 คน คิดเป็นมูลค่าเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 4,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่เก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลต่างๆ แต่ว่ามีต้นทุนอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วย คือการเสียชีวิตแบบฉับพลัน มูลค่าของชีวิตที่เสียไปแต่ละปีจะมีมูลค่าประมาณ 159,000 ล้านบาทต่อปี 

วิธีการก็คือ เขาจะประเมินว่าคนที่เสียชีวิตจากแอลกอฮอล์วันนี้ แท้จริงแล้วควรจะอยู่ได้อีกกี่ปี โดยเอาอายุขัยเฉลี่ยมาคำนวณ แล้วดูว่าในช่วงเวลาที่เหลือนั้นเขาน่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศและครอบครัวเท่าไร รายได้ที่หายไปตรงนั้นก็เอามาคิดเป็นมูลค่า ถ้าเอาเลขทั้งหมดมารวมกันปีหนึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 165,000 กว่าล้านบาท อันนี้คือต้นทุนความสูญเสียของสังคมจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในทางการแพทย์ ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุรามีลักษณะอย่างไร ต้องมีปัญหาถึงขั้นไหนจึงจะต้องได้รับการบำบัด

ถ้าเอาตั้งแต่เริ่มต้นเลย เวลาเขาคัดกรองก็เริ่มตั้งแต่คนที่ดื่มมาก ดื่มถี่ จนเริ่มกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ต้องขาดงานบางครั้ง หรือทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ (presenteeism) แค่ระดับประมาณนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว 

จริงๆ ก็จะมีแบบคัดกรองมาตรฐาน เขาก็จะถามเรื่องพฤติกรรมการดื่ม และปัญหาที่เกิดจากการดื่ม จุดนี้หมอก็สามารถให้คำปรึกษาได้แล้วว่าควรที่จะดื่มต่อหรือควรหยุด อันนี้คือจุดเริ่มต้นของการเริ่มบำบัดเลย แต่เข้าใจว่าคนทั่วไปไม่ได้เข้าถึงการรักษาในเฟสนี้ ส่วนใหญ่ต้องรอให้เป็นปัญหาก่อน

เราไปสัมภาษณ์คนที่เลิกดื่มแอลกอฮอล์ได้ มีส่วนหนึ่งเลยนะเหตุผลหลักก็คือ ตรวจเลือดแล้วเจอปัญหา หรือไม่ก็ตับแข็งแล้ว ตับมีปัญหา ตับมีไขมันพอก แต่อันที่จริงสามารถเข้าสู่การรักษาได้ตั้งแต่ที่พฤติกรรมเราเริ่มเสียหาย

ในต่างประเทศมีนโยบายอย่างไรบ้างที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ

จริงๆ แล้วกรอบนโยบายเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ องค์การอนามัยโลก (WHO) เขาแนะนำนโยบาย 5 กลุ่ม ซึ่ง 5 กลุ่มที่เขาแนะนำไม่ใช่ว่าเขาไปคิดกันลอยๆ แล้วมาบอกว่าคุณต้องทำอย่างนี้นะ แต่เป็นนโยบายที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับแล้วว่าได้ผลในการลดผลกระทบมากพอสมควร 

นโยบายกลุ่มแรกคือ เรื่องภาษีและราคา พูดง่ายๆ ว่าทำให้ราคาแพงขึ้น คิดตามหลัก demand-supply เมื่อของแพงขึ้น คนก็จะซื้อลดลง เป็นนโยบายที่เห็นเลยว่าได้ผล คือเมื่อไรที่ราคาขึ้น การดื่มจะลด แต่คนไม่ค่อยชอบ อันนี้จึงเป็นนโยบายที่ป็อบปูลาร์น้อยที่สุด

กลุ่มที่ 2 คือเรื่องลดการเข้าถึง เช่น ทำให้ร้านน้อยลง ปิดเร็วขึ้น หรือการลดการเข้าถึงเชิงเวลา เช่น จำกัดเวลาขาย หรือลดการเข้าถึงสำหรับคนที่ไม่ควรจะซื้อ เช่น เด็กหรือคนที่เมาแล้ว 

กลุ่มที่ 3 คือการจำกัดหรือแบนกิจกรรมการตลาด การโฆษณา หรือการให้สปอนเซอร์ทั้งหมด 

อันนี้คือ 3 มาตรการที่เขามองว่าดีที่สุด และเป็นมาตรการที่ใช้ต้นทุนต่ำ

ส่วนอีก 2 มาตรการที่เขาแนะนำว่าดีและได้ผลเหมือนกัน แต่ต้นทุนจะสูงกว่า คือเรื่องการบำบัดรักษา สำหรับคนที่ป่วยหรือคนที่เริ่มมีปัญหาจากการดื่ม ให้เข้าสู่บริการสุขภาพ ตรงนี้ต้นทุนจะสูงขึ้น เพราะต้องใช้หมอ พยาบาล และนักจิตวิทยา 

สุดท้ายคือ มาตรการทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องเมาแล้วขับ ซึ่งได้ผลในการลดผลกระทบ แต่ว่าต้นทุนก็สูงเช่นเดียวกัน เพราะต้องใช้ตำรวจ มีการตั้งด่าน มีเครื่องมือ บังคับใช้กฎหมาย มีการขึ้นศาล ต้นทุนทั้งหมดต่อภาครัฐจึงสูงมาก 

มาตรการทั้งหมด ถ้าจะพูดถึงสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่มี ไล่ไปตั้งแต่เรื่องภาษีและราคา มีมาตรการที่ใช้ในหลายประเทศแล้วตอนนี้ ที่ชัดที่สุดน่าจะเป็นสกอตแลนด์ และในบางรัฐของแคนาดา เรียกว่า “Minimum Unit Pricing (MUP)” ปกติเวลาเราใช้มาตรการภาษี ราคาสินค้าขึ้นก็จริง แต่เครื่องดื่มที่ราคาตั้งต่ำมากๆ ต้นทุนการผลิตต่ำมากๆ อย่างบ้านเราก็พวกเหล้าขาว ราคาจะไม่ค่อยขึ้น ต่อให้ขึ้นภาษีเท่าไรก็ตาม เพราะฐานราคาค่อนข้างต่ำ

ทีนี้เขาก็จะออกมาตรการเพื่อให้การเข้าถึงแอลกอฮอล์กลุ่มนี้ยากขึ้น เช่น กำหนดราคาขายปลีกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลุ่มนี้ให้เชื่อมโยงกับปริมาณแอลกอฮอล์ ทำให้ยกราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ราคาต่ำให้ราคาสูงขึ้น ส่วนเครื่องดื่มที่ราคาสูงอยู่แล้วก็จะไม่ยกขึ้น เพราะราคามักจะสูงอยู่แล้ว นี่คือมาตรการที่ช่วยลดการบริโภคแอลกอฮอล์ราคาถูกได้

ต่อมา อันนี้ผมไม่แน่ใจว่ามีประเทศไหนทำไหม แต่ถ้าเราไปดูพวกเอกสารที่เขาแนะนำนโยบาย ก็คือการผูกอัตราภาษีไว้กับเงินเฟ้อ อย่างประเทศเราประกาศภาษีรอบหนึ่งก็เก็บแค่นั้น ไม่เคยเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ ซึ่งเวลาขึ้นราคาตามภาษีช่วงแรกๆ ขึ้นจริง แต่พอผ่านไปสมมติว่าราคาสินค้าเท่าเดิม แต่เงินเฟ้อ อำนาจซื้อของคนก็จะเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นราคาที่ไม่เปลี่ยนเลย 10 ปี ในเชิงเศรษฐศาสตร์เท่ากับราคาลดลง ซึ่งการผูกราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้กับเงินเฟ้อด้วยก็จะทำให้ราคาขึ้นไปตามนั้น

อีกตัวอย่าง มีบางประเทศที่เขาจะแบ่งจุดที่ขายแอลกอฮอล์ สมมติว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไปอาจจะขายแอลกอฮอล์ได้ที่ความเข้มข้นไม่เกิน 4-5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกินกว่านี้ต้องไปร้านเฉพาะ แล้วในร้านเฉพาะก็ต้องมีใบอนุญาตแยกออกไป ซึ่งจะมีความเคร่งครัดในการขายมากขึ้น แล้วก็มีบทลงโทษกรณีที่คุณฝ่าฝืน

ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน คุณสามารถหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นต่ำได้ตามร้านทั่วๆ ไป แต่ถ้าความเข้มข้นสูงขึ้นมาในระดับหนึ่งจะขายได้ในร้านของรัฐบาลเท่านั้น พอเป็นร้านของรัฐ สิ่งที่เขาทำคือ ร้านก็ไม่ได้ถูกจัดให้สวยงาม ลักษณะเหมือนร้านของชำมีสินค้าตั้งไว้ ที่ผมเคยไปเดินเข้าไปเจอลังสินค้าวางเรียงๆ กัน ดูไม่ค่อยน่าซื้อ สิ่งนี้เรียกกันว่ามาตรการ ‘Retail Monopoly’

นโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย มีอะไรบ้างที่ควรคงไว้ และอะไรบ้างที่ควรปรับเปลี่ยน

อย่างที่บอกว่าผมเห็นด้วยกับสิ่งที่เป็นคำแนะนำของ WHO เรื่องภาษีสรรพสามิตก็คิดว่าควรจะยังอยู่ แล้วก็จริงๆ ควรจะมีการปรับเพิ่มตามเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกลไกของเราไม่ได้ทำอย่างนั้น

เรามี พ.ร.บ.สรรพสามิต และเราก็มีกฎหมายลูกที่จะประกาศอัตราภาษี แล้วก็นิ่งไว้อย่างนั้นจนกว่าจะมีการประกาศครั้งถัดไป ซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังว่าจะมีการ set rate เท่าไร ซึ่งวันดีคืนดีจะลดก็ได้นะ เช่น เมื่อตอนต้นปีมีการลดภาษีไวน์ ทำให้ไวน์ต่างประเทศราคาลดลง 

อันที่สอง เรามีกฎหมายควบคุมการโฆษณา ซึ่งเดิมเป็นการควบคุมทั้งหมดเลย พูดง่ายๆ ว่าทำได้แค่การทำสื่อสร้างสรรค์ โชว์โลโก้ เราจะเห็นเหล้าบางยี่ห้อที่มีนางรำ มีกินรี แล้วจบด้วยโลโก้ ข้างในไม่มีเนื้อหาอย่างอื่นเลย ก็เป็นการทำตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม

ตอนนี้ประเทศกำลังแก้ไขกฎหมายอยู่ ก็พยายามคุยกันทั้งฝั่งคนผลิต ฝั่งคนที่ทำเรื่องควบคุม ฝั่งภาครัฐ ฝั่งภาคประชาสังคมที่เห็นเรื่องผลกระทบเป็นเรื่องใหญ่ ผมคิดว่าขอบเขตการโฆษณาน่าจะอยู่ในจุดที่พอให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้ เป็นการให้ข้อมูลตรงๆ ไม่ใช่การจูงใจให้เข้ามาซื้อ เช่น ไปบอกว่าอร่อยมาก กินแล้วสมองปลอดโปร่ง อะไรแบบนี้ทำไม่ได้ แต่เขาสามารถเล่าได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเขาคืออะไร มีที่มาอย่างไร อันนี้ก็เป็นจุดที่น่าจะสมดุลประมาณหนึ่ง

อีกสิ่งหนึ่งที่เรามองเห็น อย่างทุนที่ใหญ่ๆ ใน portfolio เขาไม่ได้มีแค่แอลกอฮอล์อย่างเดียว เขาไปทำ soft drink จำพวกน้ำดื่ม โซดา ใช้โลโก้ที่คล้ายกันมาก แล้วก็ใช้เครื่องดื่มเหล่านี้มาเซ็ตฉากโฆษณาเหมือนกับร้านเหล้า แต่ชนแก้วน้ำกันบ้าง ชนแก้วโซดากันบ้าง อะไรพวกนี้เราก็คิดว่าเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย คือถ้าเปิดช่องให้ทำได้ระดับหนึ่งแล้ว ทุกคนก็ควรมาเล่นในที่เดียวกัน ทั้งทุนเล็ก ทุนใหญ่ ซึ่งกฎหมายก็พยายามที่จะดูอยู่ว่าจะไปปรับไปแก้ตรงนั้นอย่างไร

อีกเรื่องที่สำคัญมากๆ ก็คือ การโฆษณาในโซเชียลมีเดีย เรียกได้ว่าควบคุมยากมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าตัวบริษัทโซเชียลมีเดียสำนักงานใหญ่ (head quarter) ไม่ได้อยู่ในเมืองไทย มีออฟฟิศในเมืองไทยบ้าง แต่การบังคับใช้กฎหมายก็ไม่ตรงไปตรงมา อย่างกระทรวงสาธารณสุขสามารถเรียกมาปรับได้ถ้าทำผิด แต่เขาไม่มีอำนาจสั่งให้เลิกทำ ต้องโยนไปที่กระทรวง DE (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: Ministry of Digital Economy and Society) ขอหมายศาล

ดังนั้นเราก็อยากให้มีกลไกที่ดีขึ้นในการควบคุมการตลาดตรงนี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ถ้ากฎหมายบอกว่าทำได้แค่ไหนก็ควรจะทำได้แค่นั้น แต่เมื่อไรที่เกินจากนั้นควรจะมีการควบคุมที่ดีกว่าการแค่เรียกมาปรับ แล้วก็ต้องไปขอหมายศาลเพื่อเอาโฆษณาลง

ในส่วนของมาตรการอื่นๆ อาจจะเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายและในเชิงปฏิบัติ เช่น เรามีกฎหมายไม่ให้เสิร์ฟคนเมา แต่เราไม่เคยเทรนคนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดูว่าคนเมาแค่ไหนถึงจะไม่เสิร์ฟต่อ ไม่อย่างนั้นในทางปฏิบัติเขาก็ทำไม่ถูก เรื่องนี้ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับทั้งผู้จำหน่าย นักวิชาการ หรือกลุ่มที่ต้องการควบคุม ฉะนั้นต่อไปควรจะต้องมีระบบคล้ายๆ สอบใบขับขี่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสถานบันเทิงหรือพนักงานมีความรู้ว่าจะประเมินคนเมาอย่างไร และรู้ว่าจะปฏิเสธอย่างไร

มีหลักการบางอย่างที่ช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายง่ายขึ้น เช่น การที่เรามีกฎหมายห้ามดื่มแอลกอฮอล์ตามสถานที่ต่างๆ แต่เวลาไปจับจริงๆ เจ้าหน้าที่จะต้องเห็นว่าดื่มอยู่ตรงหน้า ซึ่งแบบนี้โอกาสที่จะถูกดำเนินคดีน้อยมาก เว้นแต่เป็นงานใหญ่ๆ ที่เขาดื่มกันแล้วไม่สนใจใคร 

มีกฎหมายหนึ่งในต่างประเทศที่เขาเรียกกันว่า ‘open container laws’ ก็คือว่า เมื่อไรก็ตามที่คุณครอบครองภาชนะสุราที่เปิดฝาไปแล้ว เมื่อนั้นถือว่าคุณบริโภคอยู่ สมมติว่าเขาห้ามดื่มบนรถ แล้วคุณมีกระป๋องเบียร์ที่เปิดฝาแล้วอยู่บนรถ ก็ถือว่าคุณดื่มเบียร์ขณะขับรถแล้ว หรือว่าคุณเดินในสวนสาธารณะแล้วถือเบียร์ที่เปิดฝาแล้ว ก็ถือว่าคุณมีความต้องการที่จะมาดื่มที่นี่ แบบนี้เอาผิดได้เลย แทนที่จะให้ตำรวจมาเห็นแล้วค่อยจับในตอนนั้น

นอกจากนี้ การเปิดร้านแอลกอฮอล์ขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ควรจะมีการจำกัดจำนวนหรือความหนาแน่นของร้านไม่ให้มากจนเกินไป บ้านเรามีอยู่หลายร้านที่มีใบอนุญาตจำหน่ายแอลกอฮอล์ แล้วก็มีร้านที่ไม่มีใบอนุญาตเยอะเช่นกัน ซึ่งน่าจะมีกระบวนการรับฟังคนในพื้นที่ตรงนั้นด้วย เพราะได้รับความเดือดร้อนเรื่องเสียง เรื่องคนที่ขับขี่ขณะมึนเมา อย่างน้อยควรจะมีกระบวนการรับฟังคนในพื้นที่นั้นว่าเขายอมให้เปิดไหม ตรงนี้จะสร้างการมีส่วนร่วมได้ 

ถ้าจะมีการเปิดเสรีมากขึ้น ต้องทำอย่างไรให้สมดุลกับผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม

ถ้าตอบในมุมของคนที่ทำเรื่องสุขภาพ เราก็อยากให้ควบคุมแบบที่พูดไป แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าในความเป็นจริงสังคมก็มีคนกลุ่มอื่นที่เขาไม่ได้เห็นด้วยกับการควบคุมทุกอย่าง ก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่าแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลายกรณีและโอกาส

ประเทศเรามีกระบวนการนิติบัญญัติอยู่แล้ว ดังนั้นตอนนี้ที่เรากำลังทำผมว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว คือว่าตอนนี้เรามีแต่ละฝ่ายยื่นร่างกฎหมายเข้าไปเพื่อไปคุยกันในรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาก็รับหลักการไว้แล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงของการพูดคุยกัน ผมคิดว่าการที่เรามีทั้งผู้ขาย ผู้ผลิต ภาครัฐที่ทำเรื่องควบคุม ภาคประชาสังคมที่เห็นเรื่องผลกระทบเป็นเรื่องสำคัญ ได้มาคุยกันบนโต๊ะเจรจาก็เป็นเรื่องที่ดี

ในเชิงรายละเอียดของแต่ละอัน อะไรก็ตามที่เป็นมาตรการที่เห็นในทางวิชาการเลยว่าได้ผลในการลดผลกระทบ เราก็จะคงมาตรการนั้นไว้ก่อน แต่ว่าจะมีช่องว่างอะไรที่สมเหตุสมผลพอที่จะเปิดให้เขาทำได้บ้าง เพื่อไม่ให้ไปกระทบกับภาพรวมของการทำธุรกิจมากจนเกินไป โดยหลักการคงจะเป็นแบบนั้น เริ่มจากการห้ามไว้ก่อน แล้วก็มีช่องที่เปิดไว้ เพราะถ้าห้ามมากเกินไปธุรกิจจะไปต่อไม่ได้ และอาจจะขัดกับหลักการเสรีในการทำธุรกิจ เราก็จะเปิดช่องที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบมากจนเกินไป

คือเราก็ต้องยอมรับว่าเมื่อไรที่เปิดเสรีขึ้น ผลกระทบก็จะมากขึ้นตามมาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราก็อยากให้อยู่ในจุดที่พอเหมาะ ประกอบกับใช้กลไกการมีส่วนร่วมอย่างที่บอกไป คือการรับฟังคนในพื้นที่

การรณรงค์ที่ปลายทางคือการ ‘เลิก’ ดื่ม คือแนวทางที่สมเหตุสมผลในการยับยั้งปัญหาอื่นๆ ไหม

ตั้งหลักอย่างนี้ก่อนว่า ถ้าไปดูสถิติในภาพรวมของประเทศไทย มีคนดื่มในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีอยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นคนไทยส่วนใหญ่คือคนที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ และใน 30 เปอร์เซ็นต์ ก็มีคนดื่มหนักก็มีอยู่ประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น

แต่ภาพของประเทศเราเป็นอย่างนี้ คนส่วนใหญ่ไม่ดื่ม คนที่ดื่มก็ดื่มหนักไปเลย เหมือนแบ่งเป็นสองโลก เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในวงของการคิดแคมเปญรณรงค์เรื่องแอลกอฮอล์ เขาเลยใช้คำว่า ‘เลิก’ เพราะการไม่ดื่มจริงๆ แล้วถือว่าเป็นบรรทัดฐานของสังคมเหมือนกันนะครับ 

ในช่องทางสื่อหลักเวลาสัมภาษณ์เรื่องแอลกอฮอล์ เขาก็จะสัมภาษณ์คนที่ดื่มแล้วจับกลุ่มกันเป็นสังคม แล้วก็เป็นชนชั้นกลางด้วย ส่วนใหญ่ก็จะทำภาพให้เห็นว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าจริงๆ แล้วภาพสังคมจะไม่ใช่แบบนั้น พอเรา over represent คนกลุ่มนี้ขึ้นมา จึงทำให้รู้สึกว่าเวลาใครที่ไปบอกให้เลิกนั้นเป็นเรื่องผิดปกติ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว

ทีนี้ถามว่าแคมเปญพวกนี้ได้ผลหรือเปล่า หากจะตอบว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล การใช้ตรรกะโต้เถียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จะต้องไปดูตัวเลข ซึ่งผมก็สงสัยในเรื่องนี้เหมือนกัน จึงใช้ข้อมูลการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยย้อนหลัง 23 ปี โดยเอาข้อมูลมาจากกรมสรรพาสามิต

ผมมีข้อมูลตั้งแต่ก่อนจะมีแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา และหลังมีแคมเปญ แต่จริงๆ ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่เราดื่มน้อยอยู่แล้วเป็นปกติ คือมีการซื้อขายแอลกอฮอล์กันน้อย แต่หลังแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาเราก็พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ลดลงมากกว่าก่อนจะมีการงดเหล้าเข้าพรรษาประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นงานวิจัยที่ผมเพิ่งทำเสร็จ เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติเมื่อสัก 1–2 สัปดาห์นี้เอง

พอเราเห็นตัวเลขอย่างนี้ ก็จะรู้ว่าผลกระทบลดลงจริงๆ และงานวิจัยนี้ทำร่วมกับนักวิชาการที่แคนาดา มหาวิทยาลัยโทรอนโท คิดว่าในเชิงเทคนิคน่าเชื่อถือ แล้วก็มีกระบวนการที่ผ่านการพิจารณาโดยนักวิชาการคนอื่นที่เราไม่ได้รู้จัก ก็เป็นที่ยอมรับว่าเป็นผลที่ใช้ได้

แคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง บางคนรู้สึกชอบ บางคนไม่ชอบ บางคนรู้สึกว่าไม่ได้ผลเลย ซึ่งจริงๆ ตัวเลขบ่งบอกว่าได้ผล แต่แน่นอนว่ามีคนดื่มจำนวนหนึ่งที่แคมเปญไม่สามารถทำอะไรกับเขาได้เลย และกลุ่มนี้แหละเป็นกลุ่มที่คอยไปบอกคนอื่นว่า ไม่มีอะไรได้ผลเลยสำหรับเขา อย่างไรเขาก็ดื่ม และทุกคนก็จะบอกว่าคนกลุ่มนี้คือความปกติของทุกคน ซึ่งไม่ใช่

มีคนจำนวนหนึ่งที่อยู่กลางๆ ดื่มก็ได้ไม่ดื่มก็ได้ วันไหนมีเหล้าบนโต๊ะเขาก็ดื่ม คนกลุ่มนี้แหละที่ได้ผลจากแคมเปญพวกนี้ค่อนข้างเยอะ ปกติอาจจะดื่มไม่ได้มากอยู่แล้ว แต่การลดลงของการดื่มไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนก็ตาม มันลดผลกระทบลงอยู่ดี 

สมมติบางคนอาจจะไม่ได้ดื่มบ่อย วันนี้ดื่มเบียร์แค่ 2 กระป๋อง ออกไปก็อาจจะไปขับรถชนก็ได้ ฉะนั้นเวลาเราพูดถึงการทำแคมเปญทั้งหมด สำหรับคนดื่มหนักเขาเลยใช้คำว่า ‘ลด’ เพราะกลุ่มนี้เรารู้ว่าเลิกไม่ได้ ดังนั้นกลุ่มที่จะใช้คำว่า ‘เลิก’ ก็ไม่ใช่ภาพของคนที่ดื่มเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว แต่หมายถึงคนที่ดื่มบ้างไม่ดื่มบ้าง ซึ่งมีคนกลุ่มนี้อยู่เยอะ และเราคิดว่าคนกลุ่มนี้แหละเป็นกลุ่มที่ทำให้สถิติการดื่มนั้นหายไป แต่คนทั่วไปไม่ค่อยเชื่อเพราะเขามองแต่คนส่วนน้อยที่ดื่มหนัก และคิดว่าคนกลุ่มนั้นเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด

ผมว่าภาพพวกนี้ถูกสื่อฉายภาพด้วย แล้วก็ถูกกระแสชนชั้นกลาง กระแสเสรีนิยม ทำให้ภาพดูบิดเบี้ยวไปจากตัวเลขที่เรามีจริงๆ

อาจารย์มองมาตรการที่อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่อย่างไรบ้าง และคิดว่าจะส่งผลต่อสถิติอย่างไร

คือเรามีตัวเลขอยู่แล้วว่าวันไหนที่ห้ามคนขายแอลกอฮอล์ วันนั้นอุบัติเหตุก็ลดลงไปเยอะ อย่างวันพระใหญ่ 5 วัน อุบัติเหตุก็ลดลงไปเยอะพอสมควร ดังนั้นถ้ากลับมาขาย สถิติก็เพิ่มขึ้นอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ เป็นอะไรที่ตรงไปตรงมามากๆ 

แต่อาจจะมีคำถามที่ลึกไปกว่านั้นว่า การห้ามดื่มควรจะอิงกับศาสนาหรือเปล่า ส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรในแง่นี้ เพราะพอไปอิงศาสนาเยอะๆ มันทำให้ลดความชอบธรรมของมาตรการทั้งหมดที่เรามี ซึ่งที่จริงแล้วได้ผล

ถามว่าการห้ามตามหลักศาสนาเป็นเรื่องแปลกไหม เวลาเราบอกว่าอะไรเป็นค่านิยมสังคม อะไรเป็นรากฐาน เป็นวัฒนธรรม คนดื่มก็จะบอกว่าการดื่มเป็นวัฒนธรรม งั้นผมก็จะบอกว่าการห้ามดื่มก็เป็นวัฒนธรรมเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยในหลายศาสนาก็มีการห้ามดื่ม ห้ามมาเป็น 3-4 พันปีแล้ว คือคนดื่มก็จะชอบพูดว่า โอ้โห…คนดื่มมีมาหลายพันปีแล้ว แต่การห้ามก็มาพร้อมกัน ดังนั้นของอย่างนี้มันคู่กันอยู่แล้ว

ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มียุคหนึ่งที่คนดื่มเยอะมากจนสร้างปัญหา ประชาชนเองนี่แหละที่ออกมาพูดว่าควรจะเลิกหรือไม่ ทั้งในประเทศอเมริกา หรือแถบสแกนดิเนเวีย มีช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ประมาณสักเกือบ 10 ปี เขาแบนแอลกอฮอล์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

แปลว่าถ้าคุณปล่อยเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ก็ต้องมีคนออกมาห้าม พอห้ามไม่ไหวก็ต้องเปิดการพูดคุยกัน สุดท้ายเป็นเรื่องของการบาลานซ์กัน คือดื่มได้ แต่ก็ต้องมีมาตรการควบคุม เพื่อไม่ให้กระทบต่อส่วนรวม ดังนั้นทั้งการห้ามและการดื่มจึงเป็นสิ่งที่คู่กันมาตลอดในประวัติศาสตร์มนุษย์ตั้งแต่หลายพันปีมาแล้วนะครับ

ผมคิดว่าเวลาเราพูดว่าการดื่มเป็นวัฒนธรรม อะไรอย่างนี้เป็นการพูดด้านเดียว อย่างน้อยศาสนาพุทธมีการห้ามดื่มแอลกอฮอล์กว่า 2,500 ปี ศาสนาอิสลามก็เกือบๆ 2,000 ปี ศาสนาคริสต์บางนิกายก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการดื่มขนาดนั้น อาจจะเป็นการดื่มในพิธี ซึ่งการดื่มในพิธีไม่ได้ดื่มจนเมา คนละแบบกัน

ยกตัวอย่างในทางปฏิบัติบ้างนะครับ มีกฎหมายที่เรียกว่า blue laws มีอยู่ในหลายประเทศ เช่น ในสหรัฐ บางเมือง บางรัฐ หรือยุโรปในบางที่ เขามีการห้ามขายแอลกอฮอล์ในวันอาทิตย์ ถามว่าวันอาทิตย์มาจากไหน คำตอบคือเขายึดโยงกับหลักศาสนาคริสต์ที่ในบางที่เขาเคร่งศาสนามากๆ เขาจะไม่ทำงานกัน ซึ่งกฎหมายนี้เข้าใจว่ายังมีอยู่ในบางทีของประเทศสหรัฐ 

โดยทั่วๆ ไปผมก็ไม่เห็นด้วยเท่าไร เพราะผมคิดว่าความชอบธรรมของนโยบายไม่ควรอิงกับศาสนา ขณะเดียวกันมีหลักฐานอยู่แล้วว่าการห้ามแบบนี้ช่วยลดผลกระทบได้ มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ แต่พอเอาศาสนาไปผูก กลับกลายเป็นลดความชอบธรรมของทุกเรื่องไปเลย

แต่พอเราไปดูจริงๆ ประเทศอื่นเขาก็ทำกัน เพราะศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในทุกที่อยู่แล้ว สังคมมนุษย์ก็พัฒนาขึ้นมาแบบนี้ เรื่องนี้ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่บวกๆ ลบๆ แบบนี้ ไม่ได้มีคำตอบตายตัวว่าควรทำหรือไม่ควรทำ แต่เราเป็นนักวิชาการ เราก็หาข้อมูลแล้วลองดูว่าความคิดแบบนี้เป็นอย่างไร 

ขณะเดียวกันสำหรับประเทศไทยเราไม่ใช่รัฐศาสนา จึงมีการวิพากษ์วิจารย์เรื่องข้อห้ามการจำหน่ายสุราในวันพระใหญ่ อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

เห็นด้วยนะ อย่างที่บอกว่าทุกประเทศมีศาสนาเป็นรากของอะไรบางอย่างอยู่แล้ว แล้วผมก็เชื่อว่าคุณสามารถหากฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์แต่เป็นเรื่องอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมหรือศาสนาได้ ทุกประเทศต่างมีอยู่ในกฎหมายบางอย่าง แม้ว่าจะมีตรรกะขนาดไหนอย่างไรก็ตัดไม่ขาดกับเรื่องพวกนี้หรอกครับ หากถามว่าเห็นด้วยกับสิ่งนี้ไหม ก็ไม่ได้เห็นด้วยขนาดนั้น แต่ถามว่าเรื่องนี้แปลกไหมก็คิดว่าไม่ได้แปลก ไม่ได้แปลกในแง่ของการที่มีมาตรการ กลไก หรือกฎหมายที่ไปอิงกับเรื่องวัฒนธรรม

เวลาพูดคำว่าศาสนาดูเป็นเรื่องความเชื่อ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ศาสนาคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอย่างอื่นด้วย อย่างเราพูดเรื่องความเป็นไทยถามว่ามีเรื่องศาสนาพุทธปนอยู่ไหม ดังนั้นทุกประเทศก็เป็นอย่างนี้แหละ ประเทศที่เป็นเสรีนิยมอย่างสหรัฐ มีพิธีการรับตำแหน่งในศาล ถามว่ามีองค์ประกอบของศาสนามาปนอยู่ไหม ก็มี ไม่ใช่เรื่องที่ตัดขาดได้ ไม่อย่างนั้นคงเป็นมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาไม่มีราก ไม่มีวัฒนธรรมอะไรเลย เกิดขึ้นมาทุกอย่างมีแต่ลอจิกในชีวิตเหรอ ก็เป็นไปไม่ได้ 

หากการรณรงค์แก้ปัญหาสุรามีทิศทางไปสู่การ ‘ลด’ มากกว่าการ ‘เลิก’ ในทางการแพทย์ยอมรับได้มากน้อยขนาดไหน

โดยหลักการคือ ปัญหาแอลกอฮอล์ระดับประชากรแปรผันตรงกับการดื่ม ยิ่งดื่มเยอะปัญหายิ่งเยอะ สอง แปรผันตรงกับวิธีการดื่ม ถ้าคุณดื่มเยอะๆ ในครั้งเดียว ปัญหาก็เยอะเช่นกัน ดังนั้นการลดลงของปริมาณการดื่มไม่ว่าจะจากการ ‘ลด’ หรือ ‘เลิก’ ก็ลดปัญหาได้เหมือนกัน

มีข้อเสนออะไรบ้างที่ยังไม่เคยนำมาใช้กับการแก้ปัญหาในมิติทางสุขภาพอันมีสาเหตุมาจากการดื่ม

ผมคิดว่าเป็นเซ็ตมาตรการที่ผมได้ยกตัวอย่างไปก่อนหน้านี้ แต่ว่าสิ่งที่ผมอยากจะให้เป็นคอนเซปต์เอาไว้ เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าขาดไปจากการพูดคุยเรื่องแอลกอฮอล์ 

มีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าต้องการควบคุม แล้วบางทีก็เอาเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยว คนอีกกลุ่มก็บอกว่าต้องมีเสรีภาพในการดื่ม การขาย และการทำธุรกิจ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นใครพูดคือ การตัดสินใจว่าจะเอามาตรการควบคุมหรือเปิดเสรีมากแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันของสังคม

ดังนั้นนอกจากประชาชนควรมีเสรีภาพในการดื่ม หรือมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพแล้ว ก็ควรมีเสรีภาพที่จะได้รับรู้ข้อมูลที่ครบถ้วนด้วย แต่ตอนนี้จะเห็นแค่ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งพูดว่าการดื่มคือเรื่องดี เป็นวัฒนธรรม อีกฝั่งก็จะห้ามอย่างเดียว ผมคิดว่าประชาชนควรจะมีเสรีภาพและมีข้อมูลมากพอที่จะเห็นทั้งข้อดีและผลกระทบ ต้องบาลานซ์ทั้งสองขา เมื่อรู้แล้วทั้งสองอย่างก็ค่อยตัดสินใจว่าจะขีดเส้นตรงไหน

สื่อให้พื้นที่กับการพูดเรื่องเสรีภาพในการดื่ม การประกอบอาชีพ เยอะกว่าการทำความเข้าใจเรื่องผลกระทบ เพราะดูไม่เท่ ไม่คูล ถ้าประชาชนรู้ ได้ข้อมูลทั้งสองฝั่งพอๆ กัน เราก็จะเห็นว่าเส้นนั้นควรจะอยู่ตรงไหน เราก็จะมีจุดที่ลงตัว

ประเมินภาพรวมของนโยบายรัฐบาลชุดนี้อย่างไร จากที่มีมาตรการผ่อนปรนมากมาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ผมคิดว่ามาตรการทั้งหมดที่ทำรัฐบาลไม่ได้เป็นความตั้งใจเดิมที่จะเปิดเสรีแอลกอฮอล์อะไรขนาดนั้น แต่เป็นผลข้างเคียงจากการที่รัฐบาลทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยากจะทำ แต่ไม่ได้ดังใจ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆ ประชาชนก็เรียกร้อง เขาก็จะต้องหาอะไรที่พอทำได้ อะไรห้ามก็เปิดซะ เพื่อหวังให้เศรษฐกิจโตขึ้น

เรามีเมืองรองอยู่ 55 จังหวัด และเมืองท่องเที่ยวหลักอยู่ 20 กว่าจังหวัด เราไปดู 5 จังหวัดที่เขาขยายเวลา เทียบกับอีก 10 กว่าจังหวัดที่ไม่ได้ขยายเวลา ที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวเหมือนกัน พบว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ขยายเวลา มีจำนวนน้อยกว่าพื้นที่ที่ไม่ได้ขยายด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันจังหวัดที่ไม่ได้ขยายเวลา สถิติการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นสูงกว่าด้วย ก็เลยมองว่ามีความพยายามที่จะทำก็จริง แต่ว่าผลลัพธ์อาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นก็ได้

นึกภาพว่าถ้าเราจะไปเที่ยวประเทศหนึ่ง เราจะรีวิวเวลาที่ร้านเหล้าเปิด-ปิด เป็นปัจจัยหลักในการไปเที่ยวขนาดไหน เพราะยังมีสังคมวัฒนธรรม มีสถานที่ที่เราอยากจะไป เรื่องพวกนี้เป็นปัจจัยรองมากๆ ดังนั้นคงไม่น่าเป็นปัจจัยที่ทำให้คนมาเที่ยวมากขึ้น แต่โอเคอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนจ่ายเงินมากขึ้นนิดหน่อย เพราะคุณขยายเวลาในการเปิดขาย แต่ก็ตามมาด้วยผลกระทบที่เยอะขึ้นด้วย คือจังหวัดพวกนี้ผลกระทบมากขึ้นจริงๆ อุบัติเหตุเมาแล้วขับเพิ่มขึ้นหมดเลย แต่การท่องเที่ยวไม่ได้เพิ่มอย่างที่คิด

เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ แล้ว คิดว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะมีมาตรการทางสังคมอื่นๆ เข้ามารองรับเพื่อการบำบัดหรือฟื้นฟูผู้มีปัญหาการดื่ม และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากผู้ดื่ม

เบื้องต้นรัฐบาลเคยพูดไว้นะว่าจะทำอะไรบ้างตอนที่เขาประกาศขยายเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น จะจัดให้มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์หน้าผับเลย หรือการตั้งด่านต่างๆ แต่เขาก็ยังไม่ได้ทำ ผมว่าเขาก็ต้องทำพวกนั้นเพื่อลดผลกระทบในเบื้องต้นก่อน เพราะการเยียวยาก็ทำได้ยาก ถ้าพูดตามหลักการกฎหมายตรงนี้ อยู่ๆ คนเมาไปชนคน ไปก่ออุบัติเหตุ แล้วรัฐบาลต้องจ่ายเงินเยียวยา กับอีกคนที่ถูกรถชนแต่คนขับไม่เมา เขาทำอย่างนั้นได้ไหม ผมคิดว่าก็ไม่น่าจะทำได้โดยตรง

ยกเว้นว่าต่อไปเรามีการตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ จะจ่ายเงินเฉพาะก็ว่าไป แต่ตอนนี้ผมว่าเขาก็ยังทำอะไรไม่ได้มาก ดีที่สุดที่ทำได้เลยก็คือการทำมาตรการที่เขาเคยพูด ตอนนี้มีมาตรการเดียวที่คนที่เข้าไปดื่มบอกว่าเขาทำจริงก็คือการขอตรวจบัตร เฉลี่ยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เข้าไปในร้านได้รับการตรวจบัตร แต่นอกเหนือจากนั้นทั้งมาตรการเป่าแอลกอฮอล์ และอื่นๆ ไม่มีอะไรที่ทำได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์เลย แปลว่ามาตรการส่วนใหญ่ไม่ได้ทำได้อย่างที่พูดถ้ารัฐบาลทำได้อย่างที่พูดก็อาจจะช่วยได้ 

จริงๆ ในกฎหมายที่กำลังแก้อยู่ก็มีการคุยกันเหมือนกันว่า ต่อไปอาจจะมีกองทุนขึ้นมาในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพิ่มเติมจากการที่จะได้รับการรักษาปกติตามสิทธิของรัฐ

รัฐดูแลคนอยู่แล้วถ้าป่วย คุณโดนรถชนขาหัก คุณมีสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม ก็ใช้ตามสิทธินั้นๆ ถ้าคุณเป็นคนที่ถูกหมอวินิจฉัยว่าติดแอลกอฮอล์คุณก็ใช้สิทธิในการบำบัดรักษาได้อยู่แล้ว ตรงนี้เป็นสิทธิที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นที่กำลังพิจารณากันอยู่ก็ต้องเสนอว่าอะไรที่รัฐยังไม่ได้ให้ แล้วเราจำเป็นต้องได้เพิ่ม หรืออะไรที่มีความชอบธรรมที่จะได้เพิ่ม สิ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องแตกแขนงออกไปจากสิ่งที่มีอยู่แล้วในระบบ

ปัญหาใหญ่มากกว่าคือคนที่ติดเหล้าเขาไม่ได้เข้าระบบ ส่วนหนึ่งก็เข้าไม่ถึงสวัสดิการด้วย แต่อีกส่วนเขาก็ไม่ได้อยากจะไปหาหมอ อันนั้นคือปัญหาใหญ่กว่า คือมีสวัสดิการอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เข้าไปใช้

สนับสนุนโดย

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Photographer

นฤภรกมล แมงกะพรุน
คุยกับหมารู้เรื่องกว่าคุยกับปลา มีเพื่อนเป็นหมาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หลงใหลในเรื่องนามธรรม แต่บ้าคลั่งการซื้อโคมไฟมือสอง โดยปกติทำงานวิชวล แต่ก็แอบๆ อยากเขียนด้วยบ้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า