วันที่ 8 มกราคม 2566 สำนักข่าว The Economist รายงานว่า คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก (fertility clinic) ในประเทศยูเครนเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งนับตั้งแต่เกิดสงคราม เนื่องจากคู่รักจำนวนมากนิยมการฝากแช่แข็งสเปิร์มไว้ก่อนออกไปรบ
‘Mother and Child’ คลินิกรักษาผู้มีบุตรยากที่ใหญ่ที่สุดในยูเครน สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ชายหญิงเข้ามาฝากแช่แข็งสเปิร์มและไข่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากที่ชายหญิงกลุ่มนี้จะถูกสังหารในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งตามปกติแล้วค่าใช้จ่ายในการรับฝากเช่นนี้มีราคาสูงถึง 1,300-4,000 ดอลลาร์สหรัฐ
การเปิดให้บริการในลักษณะนี้มีความเป็นไปได้ว่า จะทำให้คลินิกรักษาผู้มีบุตรยากสามารถกลับมาให้บริการได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับสถานการณ์เดิมก่อนเกิดภาวะสงคราม
จากคำให้สัมภาษณ์ของนายแพทย์วิตัลลี ราดโก (Vitaly Radko) ประจำสาขาใหญ่ที่กรุงเคียฟ ระบุว่า คนไข้กลุ่มใหญ่จะเข้ามาใช้บริการประมาณ 30-40 คู่ต่อเดือน ข้อแตกต่างสำคัญคือ ในช่วงก่อนสงครามคนไข้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน อเมริกัน สเปน และชาติตะวันตกอื่นๆ ขณะที่ปัจจุบันมีเพียงชาวยูเครนเท่านั้นที่มาใช้บริการ
“หมอและทุกๆ คนรู้ว่า หนุ่มสาวเหล่านี้อาจจะได้รับบาดเจ็บร้ายแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิตในแนวหน้าได้ เราไม่จำเป็นต้องพูดกันออกมาตรงๆ แต่เราบอกได้จากสีหน้าของพวกเขาเวลาเข้ามาใช้บริการ ว่าพวกเขารู้ความจริงข้อนี้อยู่เต็มอก” นายแพทย์ ราดโก กล่าวปิดท้ายไว้ด้วยว่า “พวกเขาคือฮีโร่ของชาติ”
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงความสิ้นหวังในสงคราม ขณะเดียวกันก็ย้ำให้เห็นถึงความหวังในการสร้างครอบครัว แม้ว่าคนหนุ่มสาวทั่วประเทศจะตกอยู่ในภาวะสงครามก็ตาม และชี้ให้เห็นความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ด้านการมีบุตรว่า คือหนึ่งในอาชีพที่จำกัดวงความเสียหายของสงครามนี้ได้ โดยอาจเป็นความหวังสำคัญในการเยียวยาคนรุ่นนี้และรุ่นถัดไปหลังสงคราม