สำรวจแนวรบในสงครามยูเครน-รัสเซีย สู่ปีที่ 3 ยอดขายอาวุธสหรัฐทะลุสถิติ

“ปีแรกเราเพียงแค่เอาตัวให้รอด เป็นการเอาตัวรอดอย่างเดียวจริงๆ ปีที่ 2 เราลุกขึ้นยืนได้ และลงมือต่อต้าน ปีที่ 3 เราต้องเด็ดขาด มันเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายทั้งจากภายในและภายนอก” คือคำกล่าวของโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskiy) ประธานาธิบดียูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 2 ปีเต็ม ที่ยูเครนถูกกองทัพรัสเซียบุกอย่างเต็มรูปแบบ

ด้วยความพยายามรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของอดีตสหภาพโซเวียต กองทัพรัสเซียบุกโจมตีและยึดครองเมืองสำคัญของยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 แม้ยูเครนจะไม่มีความพร้อมด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ในการทำศึกสงคราม แต่ด้วยการสนับสนุนจากชาติต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ทำให้สามารถต้านทานการโจมตีอย่างหนักมาได้ถึง 2 ปีเต็ม จนสงครามก้าวสู่ปีที่ 3 ในวันนี้

มาดูกันว่า 2 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้างกับสมรภูมิยูเครน

ยูเครน: เสียชีวิตทหารกว่า 31,000 นาย และพื้นที่ประเทศอีก 1 ใน 4 

ประธานาธิบดีเซเลนสกีออกมาเปิดเผยตัวเลขความสูญเสียของกองทัพยูเครนด้วยตนเองว่า ตลอด 2 ปีของสงคราม ทหารยูเครน “เสียสละชีวิตอันยิ่งใหญ่เพื่อยูเครน” ไปแล้วถึงกว่า 31,000 นาย เป็นครั้งแรกที่ยูเครนเปิดเผยตัวเลขความสูญเสียของกองทัพอย่างเป็นทางการ แต่เซเลนสกีก็ยังคงปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลจำนวนทหารผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยให้เหตุผลว่าฝ่ายรัสเซียอาจนำตัวเลขดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนโจมตียูเครนได้ 

นอกจากนี้ยังมีพลเรือนอีกหลายหมื่นคนถูกสังหารในเมืองที่ถูกทหารรัสเซียยึด โดยเซเลนสกีกล่าวว่าไม่สามารถระบุจำนวนประชาชนที่เสียชีวิตได้ชัดเจนจนกว่าสงครามจะสิ้นสุด 

ตัวเลขการเสียชีวิตของทหารยูเครนที่ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการนั้นค่อนข้างต่ำกว่าตัวเลขที่มีการคาดการณ์มาก่อนหน้านี้ เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สหรัฐได้ออกมาคาดการณ์ความสูญเสียของฝั่งยูเครนว่า อาจมีทหารเสียชีวิตถึงกว่า 70,000 นาย และบาดเจ็บประมาณ 120,000 นาย 

นอกจากการสูญเสียชีวิตทหารและพลเรือนแล้ว ยูเครนต้องสูญเสียพื้นที่ประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศ ที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย รวมถึงเมืองมาริอูปอล (Mariupol) เมืองเล็กๆ ที่ไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ แต่ถูกยึดเป็นเมืองแรกๆ เพื่อทำเป็นเมืองทดลองในการ ‘ทำให้เป็นรัสเซีย’ (Russification) (อ่านเพิ่มเติม: มาริอูปอล (Mariupol) เมืองสาธิตการกลืนชาติทางวัฒนธรรมของรัสเซียบนแผ่นดินยูเครน) เมืองสำคัญที่ยูเครนต้องสูญเสียให้กับทหารรัสเซียคือ บัคมุต (Bakhmut) สมรภูมิที่ทำให้ยูเครนต้องสูญเสียชีวิตทหารและพลเรือนมากที่สุด จากการสู้รบที่ยืดเยื้อนานเกือบ 8 เดือน กว่าเซเลนสกีจะตัดใจยอมถอนทหารออกมาเพื่อรักษาชีวิตทหารที่เหลืออยู่ โดยเขายอมรับว่าในสมรภูมิที่บัคมุต “มีจำนวนทหารรัสเซียมากกว่าจำนวนกระสุนที่เรามีเสียอีก” 

รัสเซีย: ความสูญเสียบนต้นทุนทหารรับจ้าง ‘แวกเนอร์’

มีเดียโซนา (Mediazona) สำนักข่าวอิสระของรัสเซีย เปิดเผยจำนวนทหารรัสเซียที่เสียชีวิตในสมรภูมินี้ในวันครบรอบ 2 ปีเต็มของการเปิดฉากโจมตียูเครนเช่นเดียวกัน ตามข้อมูลของมีเดียโซนา ทหารรัสเซียเสียชีวิตในการสู้รบที่ยูเครนตลอด 2 ปีที่ผ่านมาประมาณ 75,000 นาย ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐเคยคาดการณ์ไว้หลายเท่าตัว

เดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีรายงานข่าวกรองของสหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการว่ามีทหารรัสเซียเสียชีวิตและบาดเจ็บมากถึง 315,000 นาย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 87 ของกองกำลังในกองทัพรัสเซียเลยทีเดียว หากตัวเลขนี้ถูกต้อง กองทัพรัสเซียก็น่าจะอยู่ในภาวะวิกฤตไม่น้อยไปกว่ายูเครน

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จำนวนทหารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บในนามกองทัพรัสเซียที่มีเดียโซนาเปิดเผยออกมานั้น รวมชีวิตของทหารในกองกำลังของกลุ่มแวกเนอร์ (Wagner) ที่เยฟเกนี พริโกซิน (Yevgeny Prigozhin) เคยเป็นผู้นำด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันว่ากำลังหลักของรัสเซียในการรบที่ยูเครน คือกองกำลังทหารรับจ้างของกลุ่มแวกเนอร์ 

แวกเนอร์เป็นกลุ่มทหารรับจ้าง มีกำลังหลักคืออดีตนายทหารผู้ชำนาญการรบของรัสเซียเอง จำนวนไม่น้อยผ่านการฝึกของหน่วยรบพิเศษของรัสเซียมาแล้ว กองกำลังแวกเนอร์ออกทำสงครามในนามกองทัพรัสเซียมาหลายสมรภูมิ ไม่มีสมรภูมิไหนที่จะทำให้แวกเนอร์อ่อนแอลงมากเท่าการสู้รบในยูเครน 

มีข้อมูลว่าการสู้รบที่เมืองเซเวโรดอแนตส์ (Sievierodonetsk) ทางตะวันออกของยูเครน กลางปี 2022 ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของรัสเซียนั้น ทำให้แวกเนอร์ต้องสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก ความสูญเสียของแวกเนอร์ทำให้พริโกซินต้องตัดสินใจเปิดรับสมัครทหารรับจ้างครั้งใหญ่เพื่อทดแทนทหารที่เสียชีวิตไป โดยทหารใหม่ที่เข้ามาทดแทนทหารมืออาชีพในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นนักโทษที่ถูกเกณฑ์มาจากเรือนจำ แน่นอนว่าความสามารถในการรบไม่อาจสู้กลุ่มทหารที่เสียชีวิตจากการสู้รบในยูเครน

สงครามยูเครนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลรัสเซียและแวกเนอร์ที่มีมายาวนานต้องสั่นคลอน จนนำไปสู่ความพยายามก่อกบฏของพริโกซิน และปิดฉากด้วยการที่เครื่องบินส่วนตัวของเขาเกิดอุบัติเหตุตกลงในเมืองเล็กๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงมอสโกขณะมุ่งหน้าไปเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว 

การสูญเสียกำลังทหารไปเป็นจำนวนมาก ทำให้กองทัพรัสเซียหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มแสนยานุภาพด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่พร้อมจะเปิดฉากรบในปีที่ 3 ของสงครามกับยูเครนอย่างยิ่งใหญ่

ยอดขายอาวุธสหรัฐพุ่งสูงทำลายสถิติ

ท่ามกลางความสูญเสียชีวิตของทั้งยูเครนและรัสเซีย มีตัวเลขที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในสมรภูมินี้คือ อุตสาหกรรมอาวุธสงครามของอเมริกา

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่า ปี 2023 ยอดขายอาวุธของทางการสหรัฐที่ขายให้กับต่างประเทศโดยตรง มีมูลค่าสูงถึงกว่า 81,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 56% จากยอดขายตรงของรัฐบาลในปี 2022 นี่ยังไม่รวมยอดขายตรงของบริษัทผลิตอาวุธรายใหญ่อย่างล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) เจเนรัล ไดนามิกส์ (General Dynamics) และนอร์ธรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) ซึ่งถูกมองว่าราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งและการสู้รบในหลายประเทศทั่วโลก 

ลูกค้าส่วนใหญ่ที่สั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐ คือประเทศในยุโรปที่เคยซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย ซึ่งพากันหวาดกลัวศักยภาพทางการทหารของรัสเซียที่กำลังเร่งลงทุนในอุตสาหกรรมกองทัพและอาวุธขนานใหญ่ หนึ่งในประเทศผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ของสหรัฐคือ โปแลนด์ เพื่อนบ้านพรมแดนติดกันของยูเครน ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายขนาดกองทัพ เพื่อให้เป็น ‘กองทัพบกที่ทรงอำนาจมากที่สุดในยุโรป’ ในขณะเดียวกันมีรายงานว่า นาโต หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation: NATO) ก็เร่งตุนอาวุธทันสมัยเช่นกัน และนาโตก็ปรากฏชื่อในกลุ่มผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่จากรัฐบาลสหรัฐ ในปี 2023 ด้วย 

นาโตก่อตั้งขึ้นโดยประเทศสมาชิก 12 ประเทศ เพื่อร่วมกันต่อสู้กับภัยคุกคามจากรัสเซียที่พยายามขยายอำนาจเข้าไปยังยุโรป โดยจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารซึ่งกันและกัน แม้ปัจจุบันยูเครนจะยังไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต แต่ที่ผ่านมาก็มีหลายประเทศสมาชิกนาโตให้การสนับสนุนอาวุธกับยูเครนด้วย ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของประเทศสมาชิกนาโตในช่วงสงครามยูเครนที่ผ่านมาคือ การเสริมกำลังป้องกันตนเองทั้งเครื่องบินขับไล่และเรือรบ

อาวุธสำคัญที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาสูงที่ทางการสหรัฐขายให้ต่างประเทศ 3 รายการแรก ในปี 2023 ได้แก่ ระบบยิงจรวดเคลื่อนที่ (High Mobility Artillery Rocket Systems: HIMARS) มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ที่ขายให้กับโปแลนด์ ขีปนาวุธทางอากาศนำสมัยพิสัยกลาง (Advanced Medium-Range Air-To-Air Missiles: AMRAAM) มูลค่า 2,900 ล้านดอลลาร์ ที่ขายให้แก่เยอรมนี และระบบยิงขีปนาวุธภาคพื้นดินสู่อากาศรุ่นใหม่ (National Advanced Surface to Air Missile Systems: NASAMS) ที่ขายให้แก่ยูเครน

ในบันทึกของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุอย่างชัดเจนว่า “การค้าอาวุธและการส่งต่อยุทโธปกรณ์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อความมั่นคงของภูมิภาคและโลก” 

สู่ปีที่ 3 ของสมรภูมิ

แม้จะประกาศว่าสงครามในปีที่ 3 นี้ ยูเครนจะเด็ดขาดมากขึ้นกว่าเดิม เอาชนะความท้าทายทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ แต่เซเลนสกีก็ยอมรับว่า อนาคตของยูเครนในสงครามครั้งนี้ขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือจากภายนอก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์มาโดยตลอด แต่ตอนนี้ชะลอการให้การสนับสนุนเนื่องจากต้องรอการอนุมัติจากรัฐสภา

ตัวเลขงบประมาณสนับสนุนทางทหารต่อยูเครนที่ค้างอยู่ในรัฐสภาสหรัฐคือ 60,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่มีความสำคัญต่ออนาคตของยูเครนในสงครามครั้งนี้อย่างมาก แน่นอนว่าระหว่างที่รอคอยการช่วยเหลือจากสหรัฐนี้ ต้องมีทหารยูเครนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่แนวหน้าเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่า สงครามที่ฉนวนกาซาทำให้เส้นทางลำเลียงอาวุธจากสหรัฐไปยังยูเครน เบี่ยงเบนไปสู่การสนับสนุนกองทัพอิสราเอลจำนวนไม่น้อย 

ยูเครนเดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 ของสงคราม พร้อมด้วยปัญหาการขาดแคลนทั้งกำลังทหารและอาวุธ กองทัพยูเครนในปัจจุบันมีกำลังน้อยกว่าที่ควรจะมีถึง 25% โดย 75% ที่มีอยู่ ก็มีปัญหาเรื่องการพักผ่อนไม่เพียงพอ บาดเจ็บ และอ่อนล้า ด้วยเหตุนี้ยูเครนจำเป็นต้องมีทหารเพิ่มถึงกว่า 450,000-500,000 นาย เพื่อสร้างความเข็มแข็งมั่นคงให้กับกองทัพตนเอง ซึ่งกองบัญชาการทหารยูเครนกำลังเปิดรับสมัครอยู่ หากพิจารณาจากแนวโน้มทางสังคมของยูเครนปัจจุบันแล้ว ยากมากที่กองทัพจะบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มจำนวน และถึงแม้จะประสบความสำเร็จในการระดมกำลังคน แต่จำนวนทหารทั้งหมดของกองทัพยูเครนก็ยังเทียบไม่ได้กับกองทัพรัสเซียที่ใหญ่กว่าถึงประมาณ 3 เท่า

เซเลนสกีเองน่าจะตระหนักถึงอนาคตอันน่าวิตกในสงครามปีที่ 3 ในการแถลงข่าวที่กรุงเคียฟ (Kyiv) หลังครบรอบ 2 ปีเต็มของสงคราม เขาได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ยูเครนมีแผนชัดเจนแล้วว่าจะดำเนินการรบต่อไปอย่างไร เพียงแต่ว่าแผนนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้

“เรามีแผน (สำหรับการโต้กลับ) อย่างชัดเจน แต่ผมไม่สามารถบอกรายละเอียดได้”

สิ่งที่เซเลนสกีเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวมีเพียงว่า ‘แผน’ การโต้กลับในสงครามปีที่ 3 นั้นจะมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลระดับผู้บริหารด้วย คาดการณ์ว่า แผนโต้กลับในครั้งนี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับแผนการรบของยูเครนในปีที่แล้ว ที่ถูกพบว่ารั่วไหลและจบลงบนโต๊ะประชุมในเครมลิน (Kremlin) ก่อนที่ปฏิบัติการจะเริ่มต้นขึ้น

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า