เรื่อง/ภาพ: หนุ่ม หนังสือเดินทาง
1.
ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ ประเทศไทย – หลายครั้งทีเดียวที่บทสนทนาบนถนนเส้นนี้วนเวียนอยู่กับเรื่องของการเดินทาง
“แกไม่ค่อยไปไหนหรอก แกรับห้องน้ำของที่อื่นไม่ค่อยได้” ใครบางคนเคยเล่าให้ฟังว่าทำไมคู่ชีวิตของเธอซึ่งเธอเรียกเขาว่าแกจึงไม่ค่อยเดินทางไกล
เธอในที่นี้เคยเป็นพยาบาล ส่วนแกของเธอเป็นศิลปินมาแต่ไหนแต่ไร เรื่องแปลกก็คือ เธอนั้นตะลุยอินเดียนานนับเดือนมาแล้ว 2 รอบ ทว่าพ่อศิลปินกลับไม่เคยไปเลย เพราะกังวลว่าห้องน้ำที่นั่นจะไม่สะอาดเหมือนห้องน้ำที่บ้าน ประหลาดไหม
เมื่อครั้งถูกส่งมาดูโรงงานในเอเชียเป็นครั้งแรกแล้วมีเวลาว่าง 2 วันในการทำความรู้จักกับกรุงเทพฯ หนุ่มเยอรมันอีกคนซึ่งนามบัตรบอกว่าเขาคือผู้ดูแลส่วนผลิตให้ Adidas เคยเผยทัศนะของเขา
“หากจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งดื่มเบียร์ในย่านแบบนั้น นั่งอยู่บ้านก็ได้” เขาเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อ ข้าวสารโร้ด ถนนที่เขาพบว่าตัวเองไม่ชอบ หากแต่เงื่อนไขของการไม่มีเวลาหาข้อมูลทำให้หลงไปพัก เขาว่า “ผมไม่ได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้นเลยจากถนนเส้นนี้” นั่นเองจึงมีแรงผลักให้เขาเดินเข้าไปยังสถานที่หนึ่งในละแวกใกล้เคียง ซึ่งพอมีคนคุยด้วยเข้าเขาก็นั่งอยู่ค่อนวัน คุยกันเรื่องฟุตบอล เล่าให้ฟังเรื่องโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ต้องตัดบทก่อนจะลามไปถึงเรื่องการเมืองซึ่งทำท่าจะยาวนั่นแหละจึงจากลา
“พวกเราตั้งงบไว้ไม่เกินคืนละ 250 บาท” นี่ก็เป็นอีกความเห็นจากหนุ่มสาวบางคู่
ทั้งคู่มาจากออสเตรเลีย ดินแดนที่เงิน 250 บาทมีค่าเท่ากับกาแฟรสชาติพอดื่มได้แค่ 2 แก้ว แต่ก็แปลกที่พวกเขาไม่ยอมเด็ดขาดที่จะจ่ายค่าที่พักแพงกว่านี้
“แน่นอนการประหยัดนั้นดี เพราะเรามีอีก 2-3 ประเทศที่อยากไป ทว่าเราก็พบว่าเวลาเดินทางเอาเข้าจริงที่พักก็แค่เอาไว้นอนเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องหรูหราก็ได้” พวกเขาอธิบายถึงเหตุผลและยืนกรานจะทำตามนั้น ทั้งที่ขณะคุยกันมันค่ำมืดแล้ว ที่พักประมาณนั้นก็หายากมาก ซึ่งก็เท่ากับว่าคืนนั้นพวกเขายังไม่รู้เลยว่าจะนอนไหน
2.
Victoria Street ซิดนีย์ ออสเตรเลีย – เขาชอบถนนเส้นนี้และดูจะชอบเข้าไปอีกเมื่อบนต้นไม้ต้นหนึ่งมีโพรงนกกระตั้ว
นกกระตั้ว 2 ตัวจะบอกว่าผัวเมียก็อาจปรักปรำ ทว่ามันทั้งคู่อาศัยอยู่ในโพรงเดียวกันบนต้นไม้ริมถนนหน้าเกสต์เฮาส์ที่เขาพัก
“นั่นรังนก นี่รังคน” อย่างกับนกมันจะบอกให้รู้ว่าไม่ว่าคนหรือสัตว์ต่างก็ต้องการรังนอน ครู่หนึ่งเมื่อเจ้าตัวผู้ออกมายืนจังก้าอยู่หน้าปากโพรงโดยมีป้ายเล็กๆ ของเกสต์เฮาส์เป็นฉากหลัง วินาทีนั้นเขาคนเดิมถึงกับหัวเราะออกมา ใจนั้นอยากแกล้งถามมันเหมือนกันว่าจ่ายไปเท่าไหร่ล่ะสำหรับค่าที่พักเมื่อคืน
“จ่ายไปเท่าไหร่ล่ะสำหรับค่าที่พักเมื่อคืน” เขาเองก็เป็นพวกที่ต้องระวังเรื่องค่าใช้จ่าย วันนั้นเมื่อเจอสถานที่ถูกใจเข้าก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกเปรียบเทียบ ทั้งนี้ก็เพราะเห็นถนนเส้นนี้แล้วก็นึกถึงถนนพระอาทิตย์ขึ้นมาอีกจนได้
หลายปีก่อน คนอื่นมองถนนพระอาทิตย์อย่างไรไม่รู้ แต่เขาแปลกใจทีเดียวที่ใครบางคนบอกเขาว่า ถนนพระอาทิตย์มีส่วนคล้ายถนนบางเส้นในซิดนีย์
กลางปีนี้ คนอื่นทำความรู้จักกับซิดนีย์อย่างไรไม่รู้ แต่เขาพบว่าการแบกเป้มาพักในย่าน Victoria Street เป็นการตัดสินใจที่ถูก เนื่องจากถนนเส้นนี้มีส่วนคล้ายและไม่คล้ายถนนพระอาทิตย์อยู่ในที ส่วนใครดีกว่าใครนั้นเขาว่าคงต้องตรองดู
หากกางแผนที่ซิดนีย์ออก Victoria Street นั้นแนบอยู่กับแยก King Cross ย่านบันเทิงที่ออสซีจำนวนหนึ่งให้ความหมายว่าเป็น Red Light District ซึ่งแม้จะวุ่นวายน้อยกว่าแต่พลบค่ำก็สว่างไสวไม่ต่างอะไรจากข้าวสารโร้ด
และข้าวสารโร้ดมีถนนพระอาทิตย์ไว้หลบความสับสนฉันใด King Cross ก็มี Victoria Street ไว้หลีกลี้แสงสีฉันนั้น หน้าตาของ Victoria Street กับถนนพระอาทิตย์เล่าก็ออกจะคล้ายกัน เพียงแต่ต้องโน้ตไว้นิดว่าเป็นถนนพระอาทิตย์เมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อน
ใช่…Victoria Street มีส่วนเหมือนถนนพระอาทิตย์เมื่อราว 15 หรือ 20 ปีที่แล้วอยู่มาก อาคารพาณิชย์ทรงโบราณ 2 ชั้น ร้านถ่ายรูปเล็กๆ ซึ่งมีกล้องถ่ายภาพที่คนยุคนี้คงไม่ใช้แล้ววางอยู่นับร้อย ยามเช้าเด็กหญิงชายเดินไปโรงเรียนที่อยู่สุดปลายถนน ตอนกลางวันเงียบจนง่วงนอน ที่พักเล็กๆ ของเหล่านักเดินทางประเภทประหยัดแทรกอยู่ในบรรยากาศดังกล่าว
ในแง่ที่ตั้งก็เหมือนกัน สมัยหนึ่งถนนพระอาทิตย์เคยแวดล้อมด้วยวังของเจ้าขุนมูลนาย บางห้วงเวลาก็เป็นท่าเรือขนทราย พัฒนาการของ Victoria Street เองก็เป็นไปคล้ายคลึง ในยุคที่คนขาวเดินทางมาและเริ่มตั้งรกรากรอบอ่าวซิดนีย์จนโลกมีประเทศใหม่ที่ชื่อออสเตรเลียนั้น ย่านอื่นอาจเป็นโกดัง เป็นที่ขังนักโทษ แต่ Victoria Street ถูกเลือกเป็นย่านที่อยู่อาศัยเนื่องจากเดินไปนิดก็ถึงอ่าวและท่าเรือที่ชื่อสุดแสนพิสดารว่า ‘Wooloomooloo’
เมื่อถูกเลือกเป็นย่านอยู่อาศัยก็แสดงว่าสามารถไปยังจุดอื่นๆ ได้ง่าย ซึ่งก็เป็นอย่างนั้น 4-5 วันในซิดนีย์ เขาผู้นึกถึงอดีตของถนนพระอาทิตย์เลยเดินเอาทุกวัน จากแยก King Cross เขาเดินขึ้นเหนือตามถนน Macleay ไปย่าน Potts Point ที่ซึ่งเจ้าของร้าน The Macleay Bookshop บอกว่าเป็นย่านปัญญาชน เดินไปดูพันธุ์ไม้ที่ Botanic Garden ไปชมงานศิลปะที่ Art Gallery of New South Wales ไปซึมซับประวัติศาสตร์ที่ The Rock และชมวิวที่ Opera House เช้าเดินไป ค่ำๆ เดินกลับ วันไหนไปไกลหน่อยก็นั่งรถไฟเพราะสถานี King Cross ก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม ที่พักนั้นเข้าข่ายเอาไว้แค่ซุกหัวนอนแล้วไม่ผิดเพี้ยน
เมื่อต่างคนต่างไป Victoria Street เลยกลายเป็นย่านนักเดินทางที่เงียบ เงียบเหมือนที่อดีตถนนพระอาทิตย์เคยเงียบ จะเห็นหน้ากันบ้างก็ในครัวเล็กๆ ของที่พักที่ใครบางคนอาจวุ่นอยู่กับการพยายามผัดพาสต้า หรืออุ่นพิซซ่า หรือไม่ก็เมื่อใครบางคนเพิ่งกลับมาจากการเดินทางไกลแล้วอีกคนแวะทักเพราะรถตู้สมบุกสมบันที่ใครคนแรกเพิ่งขับมาถึงนั้น มีป้ายบอกขายพร้อมราคา ไอ้เรื่องจะซดเบียร์แล้วนั่งมองกันและกันจนล้นฟุตปาธนั้นถือเป็นโชคอย่างยิ่งที่มันไม่มี
*************
ไม่รู้เหมือนกัน แต่การที่ Victoria Street ไม่มีอะไรหลายอย่างเหมือนที่อดีตถนนพระอาทิตย์เองก็ไม่มีนั้นกลับเป็นผลดี พักอยู่แล้วก็สบายใจ ซึ่งในความหมายนี้อาจแปลได้ว่า ถนนพระอาทิตย์ในปัจจุบันกำลังมีบางอย่างที่เป็นปัญหา ทั้งนี้เพื่อความสุภาพก็อาจแปลงสารเสียใหม่ว่า “แล้วมีอะไรบ้างที่ Victoria Street ไม่เคยปล่อยให้มี แต่ พ.ศ. นี้ ถนนพระอาทิตย์กลับมี เผื่อว่าพระอาทิตย์จะเรียกเสน่ห์เดิมๆ กลับมาได้?”
ติเพื่อก่อ เปรียบเทียบเพื่อปรับปรุง เมื่อพูดถึงด้วยรักหวงเขาก็พบว่า ร้านเหล้าปั่นที่ทำตามกันจนฟุตปาธแทบไม่มีให้เดินนั้น ไม่มี
เหตุการณ์วัยรุ่นตีกันซึ่งถี่ขึ้นทุกวัน – ไม่มี
การติดป้ายหน้าร้านเด่นหราว่า Tourist Information จนนักเดินทางต่างชาติสับสนว่าเป็นศูนย์ข้อมูลของรัฐ – ไม่มี
การที่ตุ๊กตุ๊ก เอาหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับมีรูปเฉลิมฉลองตั้งแต่วันไหนไม่รู้ไปหลอกฝรั่งว่าวันนี้วันหยุด วัดโพธิ์ปิด เยาวราชไม่เปิดทำการ เพราะฉะนั้นไปร้านจิวเวลรีกับฉันเถอะ – ไม่มี
การที่มีคนมาดักนักท่องเที่ยวทุกๆ สี่แยกเพื่อส่งให้ตุ๊กตุ๊กอีกทอด – ก็ไม่มี
รวมทั้งเมื่อถูกดักมาหลายรอบแล้ว นักเดินทางบางคนได้รับคำตอบว่า หากอยากรู้ว่าคนที่พยายามทำดีกับเขาทุกสี่แยกนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ให้ดูว่าใครคนนั้นแอ็คทีฟหรือไม่แอ็คทีฟ “ถ้าแอ็คทีฟแสดงว่าไม่ใช่”
กับคำพูดประชดประชันอย่างนี้เท่าที่ทราบ – ที่ซิดนีย์นั้นหามีไม่!
(ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ all way มกราคม 2554)