เสียง ‘คนจน’ ที่ถูกซ่อนในเมืองใหญ่

ความเหลื่อมล้ำและคนจนเมือง คือภาพสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ และนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งฉีกผู้คนออกเป็นเสี่ยงๆ จนเกิดเป็นความแตกต่างทางชนชั้น สิทธิ และรายได้ เกิดการฉกฉวยทรัพยากรจากคนกลุ่มหนึ่งไปปรนเปรอคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจเหนือกว่า และกดทับคนระดับล่างไม่ให้มีโอกาสลืมตาอ้าปากหรือมีอำนาจต่อสู้ต่อรอง จนสุดท้ายนำไปสู่ความแตกแยกร้าวลึก

Forum ที่ชื่อ ‘เมืองซ่อนคน คนจนในซอกหลืบของเมือง’ จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ WAY เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เป็นการนำเสนอข้อค้นพบของคณะนักวิจัยในชุดโครงการวิจัย ‘ความเหลื่อมล้ำและคนจนเมือง’ เพื่อชี้ให้เห็นต้นตอของปัญหาและนำเสนอทางออก

ลำดับท้ายของงาน เปิดโอกาสให้คนจนตัวจริงเสียงจริงได้ส่งเสียงสะท้อนและร่วมแลกเปลี่ยนอภิปราย อาทิ ตัวแทนจากชุมชนคลองเตย ชุมชนหนองแขม ชุมชนนางเลิ้ง ชุมชนป้อมหากาฬ ชุมชนระยอง และชุมชนคนจนเมืองพัทยา ฯลฯ

การส่งเสียงของผู้คนเหล่านี้ เพื่อจะยืนยันว่าพวกเขาคือคนจนเมืองที่มีตัวตนอยู่จริง มิใช่คนไร้ตัวตนที่รัฐละเลยและมองข้ามหัวมาโดยตลอด

 

ชุมชนคลองเตย: นางรัศมี พิมนิสัย

“ดิฉันมาจากชุมชนคลองเตยและเป็นประธานชุมชนพัฒนาใหม่คลองเคย มีคนเขามาบอกพวกเราว่าจะมีการพัฒนาที่ดินรอบคลองเตย เขาไม่ได้บอกว่าไล่รื้อนะคะ แต่เขาบอกว่าเราต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น หรือไปอยู่แฟลตที่เป็นตึกสูง ดิฉันก็ได้ขอเขาไปสามทางเลือกคือ 1. ถ้าจะไปให้ไปอยู่แฟลตก็ได้ แต่ต้องเป็นห้องพักที่เหมาะสม หรือประมาณ 35 ตารางเมตร ขนาดกำลังพอดี ไม่ใหญ่ไม่เล็ก 2. ขอที่ดินเป็นของตนเองโดยมีสิทธิชั่วลูกชั่วหลานตลอดชีวิตพร้อมกับบ้าน เพราะมีที่ดินแต่ไม่มีบ้านก็อยู่ไม่ได้ นี่คือคนจนเมือง จะให้ไปอยู่แฟลตคงอยู่ไม่ได้ ค่าน้ำค่าไฟค่าห้องก็ไม่น้อยต่อเดือน 3. ขอเงินค่ารื้อถอนกลับภูมิลำเนาเดิม เพราะบางครอบครัวหรืออย่างดิฉันนั้นอยู่คนเดียว ลูกหลานก็อยู่ต่างจังหวัด

เรื่องขอรับค่ารื้อถอนกลับภูมิลำเนาเดิม ถ้าคนที่ไม่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัด เขาจะไปอยู่ที่ไหน เราต้องมาช่วยกันคิดร่วมกัน รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ในชุมชนคลองเตย ดิฉันเข้าใจมาตั้งนานแล้วว่า ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน ดิฉันขอให้หน่วยงานทั้งหลายมาช่วยพวกดิฉันบ้าง ให้คลองเตยอยู่ดีมีสุขบ้าง คนตั้ง 50,000 คนจะทำยังไงถึงจะไปรอดปลอดภัย อยู่ดีกินดี อยากให้มาช่วยกันคิดตรงนี้บ้าง”

 

ชุมชนหนองแขม: บรรจง แซ่กึ้น

“ผมมาจากชุมชนกองขยะหนองแขมนะครับ เดิมทีเราเป็นคนที่คุ้ยขยะในสมัยที่ กทม. ไม่มีงบประมาณจัดการตรงนี้ ก็อาศัยแรงงานพวกเรา 4,000 คนมารีไซเคิลขยะ วันๆ มีขยะมาที่หนองแขม 3,200 ตันนะครับ พวกเราคัดแยกขยะได้วันละ 200 ตัน ไม่มีค่าตอบแทนจากรัฐบาลเลย แต่พอมาวันหนึ่ง กทม. รวย จ้างเอกชนมาขนถ่ายขยะ ทำให้พวกเราต้องเสียเงินในการเก็บขยะวันละ 40 บาท เมื่อก่อนเราคุ้ยขยะกันเสรี แต่ตอนนี้มีเรื่องอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง

วันนี้พวกเราเข้าสู่โครงการบ้านมั่นคง เราออมเงินได้สามล้านไปกู้เงินกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) วันนี้เราเป็นเจ้าของที่ดินที่เขาบอกว่าเราบุกรุก และตอนนี้ผมกำลังเจรจากับ กทม. เรื่องขยะในรถขยะ เราอยากได้สหกรณ์ เพราะขยะในรถขยะ 1 คันมีมูลค่า ร้านขยะต้องจ่าย 2 หมื่นเพื่อให้ได้ขยะในรถ 1 ขยะ 1 คันเพื่อมาเป็นรายได้ในสหกรณ์และรายได้ของสมาชิกในชุมชน วันนี้การเจรจาของเรายังไม่สำเร็จครับ

ชุมชนกองขยะของเราเห็นประโยชน์ของบ้านเมือง เราจึงสนับสนุนเรื่องโรงงานเผาขยะ แต่เราขอ กทม. ให้นำสินค้าที่ท่านเอาไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า มาขายให้สหกรณ์เราได้ไหม เพื่อเป็นรายได้ เป็นสวัสดิการผู้สูงอายุ เป็นทุนการศึกษาให้เด็กในชุมชน  แต่วันนี้ กทม. รวยแล้ว มีงบจัดการขยะอย่างดี แต่ถอดทิ้งพวกเรา เราไม่ได้รับความช่วยเหลือ และเป็นบุคคลที่รัฐบาลต้องการผลักออก กทม. บอกว่าเราเป็นบุคคลที่ผิดกฎหมาย ผมจึงบอกเลยว่า คนกรุงเทพกว่าครึ่งเมืองเป็นหนี้บุญคุณเรา เพราะพวกคุณสร้างขยะ แต่พวกเรารีไซเคิล และคัดแยกขยะด้วยแรงงานของเด็กผู้หญิง คนชรา ข้อเรียกของผมอีกข้อคือให้ กทม. รับคนในชุมชนกองขยะไปทำงาน  เพราะความฝันสูงสุดของคนกองขยะคืออะไรครับ? คือการขับรถขยะ แต่วันนี้ขับรถขยะต้องเสียเงิน 3-5 หมื่นถึงจะได้บรรจุเป็นคนขับรถขยะ ผมขอเรียกร้องในฐานะที่เราเคยทำคุณประโยชน์ให้กับคนกรุงเทพมากว่า 20 ปีครับ”

 

ชุมชนนางเลิ้ง: สุวัน แววพลอยงาม

“สวัสดีค่ะ ชื่อแดงนะคะ แดงเป็นผู้นำ เกิดที่ย่านนางเลิ้ง และอยู่บนพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ อาหารอร่อย และมีพื้นที่ทางวัฒนธรรม ทุกสิ่งอย่างของย่านนางเลิ้งยังคงดิบอยู่ มีวิถีชีวิต อาชีพที่น่าสนใจ มีพื้นที่ของอาชีพดั้งเดิม การทำขนมไทยโบราณ อาชีพด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและศิลปะร่วมสมัย เราเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นมา 9 ปี ปี 2549 ที่ผ่านมา เราโชคดีที่ได้มีการทำโครงการบ้านมั่นคง เรามีการออมทรัพย์ หรือเรียกได้ว่าเราทำครบสูตรทุกอย่างเท่าที่บ้านเมืองนี้เขาทำกัน

แต่สองปีหลังมานี้ มีรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านมา ทุกสิ่งเริ่มเปลี่ยนแปลง เรารู้สึกว่าเหมือนเราพูดอยู่กับอากาศ ว่าจะทำยังไงให้คนเห็นคุณค่าของมนุษย์มากกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งโคตรยากเลย เหมือนกำลังพูดกับสิ่งที่เราไม่สามารถต่ออรองได้

การพัฒนาที่เข้ามาเช่น โครงการโรงหนัง โชคดีอย่างหนึ่งเพราะพื้นที่นางเลิ้งไม่ได้ถูกทุบเป็นที่จอดรถแล้ว แต่ทำเป็นโรงหนัง แต่การพัฒนาโรงหนังนี้ชุมชนไม่รู้เลย ว่าเขาจะพัฒนา ทำอะไรบ้าง พวกเขาเอาสังกะสีมาปิดรอบ มีการบวงสรวงเทวดา ซึ่งเทวดารู้แต่คนนางเลิ้งไม่รู้ และอีกโครงการคือรถไฟฟ้าสายสีส้ม เราโชคดีมีนักศึกษา มีนักผังเมืองมาลงพื้นที่ เราเลยเข้าใจเพราะเมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าเราจะต้องต่อสู้และต่อรองอย่างไร เพราะตอนนี้ชุมชนอยู่ในความไม่มั่นคง รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายก็เปลี่ยน เราอยากบอกว่า นโยบายอะไรก็ตาม ขอให้เห็นคุณค่าของคนมากกว่าคุณค่าทางธุรกิจก็เท่านั้นเอง เรายินยอมให้มีการพัฒนานะคะ แต่ทำยังไงให้เราอยู่ร่วมกันการพัฒนาได้อย่างมีความสุข โดยที่ไม่ให้เราออกจากพื้นที่ไป เราอยู่กันมาเป็นร้อยกว่าปี พอการพัฒนาเข้ามา เราน่าจะเติบโตไปพร้อมๆ กัน”

 

ชุมชนป้อมหากาฬ: พรเทพ บูรณบุรีเดช

ผมมาจากชุมชนป้อมหากาฬที่โดนไล่รื้อไปแล้ว เพราะเขาถือว่าคนป้อมมหากาฬไม่ใช่คนกรุงรัตนโกสินทร์จึงอยู่ที่ป้อมมหากาฬไม่ได้ ไม่ใช่คนรากเหง้าเดิม ผมเลยบอกว่า ผู้ว่าก็ไม่ใช่คนกรุงรัตนโกสินทร์นะ เขาบอกว่าเราอยู่ไม่ได้ คนรากเหง้าเดิมเขาย้ายไปอยู่ที่อื่นกันหมดแล้ว แต่พวกเรามีวัฒนธรรม มีการเรียนรู้ และมีงานวิจัยจากอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเยอะมากที่ยืนยันได้ แต่เราต้านกระแสเขาไม่ได้ หลายคนเขาไม่เข้าใจ เขาว่าพวกเรารก เกะกะ เขามีกฎหมายข้อเดียวที่เขาบอกว่าถูกต้อง คือกฎหมายเวนคืนที่ดิน ถ้าบ้านพวกท่านมีที่ดินของตัวเอง ที่ดินวัด หรือที่ดินเช่าก็อาจจะโดนเวนคืนนะถ้ามีการทำรถไฟผ่าน เพราะกฎหมายนี้สำคัญมาก เป็นเครื่องมือของรัฐเพราะเขาจะเอาอย่างเดียว นี่แหละคือความสำคัญของการออกกฎหมาย ผมไม่เคยเห็นเขาได้ที่ดินของคนมีสตางค์เลยนะครับ และไม่เคยเห็นเขาทำรถไฟผ่านตึกซีพีเลยนะ ผมไม่เคยเห็น แต่สลัมแถวพระราม 6 มีรถไฟสายสีแดงผ่านทั้งหมด 10 ชุมชน 3,000 กว่าครัวเรือน

ผมคิดว่า การพัฒนาเมืองต้องให้คนอยู่กับเมืองด้วย ไม่ใช่มีแต่วัตถุ การพัฒนาเมืองหรือทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องเห็นคนสำคัญ อย่าทำลายล้าง ให้คนออกไปแต่วัตถุตั้งเกลื่อนคนต้องอยู่คู่กับเมือง พัฒนาไปด้วยกัน การมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่พูดแล้วให้เรานั่งฟัง แต่ชาวบ้านต้องเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย

 

ชุมชนระยอง: ณัฐพงษ์ นุชเจริญ

ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในระยองคือการรุกคืบของอุตสาหกรรมที่มีการขยายเขตการสร้างเพิ่มมากขึ้น จากทีแรกเขาเอาพื้นที่จาก 3,000 ไร่ทำสถาบันวิจัยกับโรงเรียน ตอนนี้เริ่มขยายพื้นที่โดยใช้วิธีการง่ายๆ คือการเวนคืนที่ดินที่ชาวบ้านอยู่ในเขตภูเขาที่สามารถทำกินได้ ซึ่งเขาน่าจะไปขอการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่เขาไม่มีการจ่ายซื้อที่ดินเลย

อีกเรื่องคือจังหวัดระยอง เขตมาบตาพุด เขตปลวกแดง มีเรื่องของมลพิษ และการปล่อยของเสียลงคลองชลประทานแถวอำเภอบ้านค่าย การเอาสารพิษไปทิ้งแถวทุ่งนา หรือกรณีที่โรงงานเอากรดน้ำยางไปทิ้งหน้าโรงเรียนบ้านหนองพะวา ทำให้ตอนนี้เขาเรียนไม่ได้ เด็กหยุดเรียนมาเดือนหนึ่งแล้ว

อีกเรื่องคือ น้ำ ใครๆ ก็บอกว่าระยองเป็นพื้นที่เกษตร แต่น้ำไม่พอใช้ ทั้งๆ ที่เรามีอ่างเก็บน้ำเป็นของตัวเองนะ เพราะเขาปั่นน้ำจากอ่างส่งตรงไปที่โรงงานของเขาเลย ผมก็อยู่ในเขตวังจันทร์ มีสวนทุเรียนแต่น้ำไม่พอใช้ ปีหนึ่งต้องซื้อน้ำไม่ต่ำกว่าแสน ถือว่าเยอะมาก ซึ่งตอนนี้เราพยายามต่อรอง ว่าถ้าคุณไม่ปล่อยน้ำมาตามลำคลอง อาทิตย์ละวัน บอกเราหน่อยว่าจะปล่อยน้ำวันไหน เราจะได้ใช้เครื่องสูบน้ำ สูบมาไว้ในแหล่งเก็บน้ำของเรา แต่เวลาเขาปล่อยน้ำ เขาไม่บอกเราเลย ไม่บอกเรา ว่าวันไหน แล้วเราจะไปสูบน้ำทันได้อย่างไร

สุดท้ายคือคนระยองมีกระบวนการพูดคุยกันเยอะและหลายเรื่องมาก เราตั้งกัน 3 กลุ่มคือ เรื่องเกษตรปลอดภัย สองสิทธิการใช้แรงงาน และสามคือเรื่องน้ำ ทีหนักๆ คือเรื่องสิทธิการใช้แรงงาน เรามีแรงงานทั้งหมดในระบบประมาณ 350,000 คน นอกระบบอีก 300,000 กว่าคน แต่เวลาแรงงานป่วยแต่ละทีเพราะโดนสารพิษจากโรงงาน จะถูกส่งเข้าจังหวัดระยอง ต้องรอประมาณ 4 วันถึงจะได้ผลวินิจฉัยว่าต้องรักษาอย่างไร ซึ่งมีแหล่งตรวจอยู่ทีเดียวเท่านั้น คือที่ปทุมธานี เราจึงมีข้อเสนอคือ อยากให้มีโรงพยาบาลเฉพาะทางเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการทำงานอุตสาหกรรมอยู่ทีปลวกแดงได้หรือไม่ และเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพสต.) ในเขตปลวกแดงได้ไหม เพิ่มหมอเฉพาะทางในแต่ละอนามัยได้ไหม แต่ละอนามัยเปิด 24 ชั่วโมงได้ไหม ช่วยดูแลแรงงานเหล่านี้หน่อย นี่คือสิ่งสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตและสิทธิการรักษาของแรงงาน

ผมอยากฝากไว้ว่า ชุมชนเราโดนถูกบีบคั้นทุกทาง ทำให้คนไม่สามารถมาอยู่ได้เลย เราอยากให้คนอยู่ร่วมกับเมืองที่กำลังพัฒนาได้ครับ เราอยากให้จัดโซนในการพัฒนาให้ชัดเจนเลยว่า ตรงไหนคืออุตสาหกรรม ตรงไหนคือเกษตรกรรม และให้มีระบบการจัดการที่เป็นระบบกว่านี้ครับ

 

ชุมชนพัทยา: วาศินี กาญจนกุล

“ทุกคนมองว่าพัทยาเป็นเมืองที่สวยงาม เป็นแหล่งบันเทิง แหล่งเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งที่ถ้าใครอยากได้สามีฝรั่งต้องมาที่พัทยาใช่ไหมคะ อยากเล่าให้ฟังว่าชีวิตพวกเรา 304 ครัวเรือน และทั้งหมด 1,400 กว่าคน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสวยงามที่ว่ามาทั้งหมด  จำได้ว่าวันหนึ่งมีญาติมาเยี่ยมค่ะ เขาบอกเราว่า ‘ที่นี่เรียกว่าชุมชนเหรอ เขาเรียกว่าสลัมมากกว่า’ เพราะสภาพที่เราอยู่ ข้างหน้าคือน้ำเน่า บ้านก็เป็นหลังคาเกยกัน แออัด รถเข้าไปไม่ได้ เราถึงนึกได้ว่าเราอยู่ในสลัมนี่นา ทำไมเราไม่รู้ตัวเลย เรานึกว่าเราเป็นคนในชุมชนเสียอีกเราจึงรวมตัวผู้เดือดร้อนกันจาก 7 ชุมชนในเมืองพัทยามาเรียกร้องเรื่องนี้

พอดีกับมีโครงการบ้านมั่นคงเข้ามา เราเลยรวมตัวกัน ปัญหาที่เจอคือที่ดินแพง พอเราไปเสนอที่ พอช. เขาก็เสนอให้สร้างแฟลต ชีวิตเกิดมาไม่เคยตื่นนอนแล้วอยู่บนอากาศ เคยแต่ตื่นนอนก้าวออกจากบ้านก็เจอพื้นดินเลย เราบอกว่าให้อยู่แฟลตคงอยู่ไม่ได้ จึงรวมตัวกันอีกครั้งไปขอสินเชื้อจาก พอช. และ ไปซื้อที่ดินทั้งหมด 42 ล้าน 12 ไร่ 3 งาน ที่ดินก็ไม่มีค่านายหน้า และไม่เสียภาษีเพราะเราซื้อในระบบสหกรณ์ พอเราได้ที่ดินก็มาขอสินเชื่อสร้างบ้าน 290 ครัวเรือน เราต้องการบ้าน 304 หลังนะคะแต่ขอแค่ 290 ครัวเรือน แล้วก็เก็บเงินจาก 290 คน คนละ 5,000 เอาไปสร้างบ้านให้เพื่อนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา ขนาดเราคิดว่าเราเป็นสลัมแล้วก็ยังมีคนที่ด้อยกว่าเราอีก ก็ได้สร้างบ้านให้เพื่อนมาอยู่กับเราอีก 14 หลัง คนเหล่านี้จะทำอาชีพเก็บของเก่า บางคนก็อยู่ไม่มีบ้าน อยู่ตามข้างทางหรืออาศัยที่วัดอยู่

เมื่อได้ที่ดิน ได้บ้านแล้วเราใช้เวลาสร้างบ้าน 2 ปี ใช้งบจาก พอช. 120 ล้าน ชีวิตเกิดมาเคยกำเงินเยอะที่สุดก็แค่แสนสองแสน ตอนนี้ต้องมาบริหารเงิน 120 ล้าน เราก็ตรวจสอบกันเอง ทำไปด้วยความที่ไม่ไว้ใจกันแต่ก็ต้องเชื่อใจกัน ทุกวันนี้เราสร้างบ้านเสร็จแล้วค่ะ กินอิ่ม นอนอุ่น มีอาชีพที่มั่นคง แต่เศรษฐกิจของพัทยาก็ยังซบเซา คนเป็นหนี้มากขึ้น ฝากนักการเมืองด้วยเรื่องเศรษฐกิจเมืองพัทยา ว่าถ้าหากท่านเป็นรัฐบาล และฝากโครงการบ้านมั่นคงเพราะมีอีกหลายโครงการที่จะเกิดแต่ก็เกิดไม่ได้ เพราะท้องถิ่นไม่เข้าใจ นโยบายไม่ได้ส่งลงมาว่าถ้าเกิดโครงการบ้านมั่นคงขึ้นจะต้องสนับสนุนอะไรบ้าง ชาวบ้านต้องมาวิ่งขอกันเอง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง”

 

ชุมชนนครพนม: นงค์ลักษณ์ อัศวสกุลชัย

“เขตเศรษฐกิจพิเศษของนครพนมมีส่วนที่เป็นเขตการค้าการลงทุนมากมาย แต่ว่าส่วนภาคประชาชนในนครพนมก็ยังพบปัญหา หลักๆ คือประชาชนอีกหลายตำบล ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ทำกิน แต่คนที่จะทำเกษตรอินทรีย์ได้จะต้องมีเอกสารสิทธิ์เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวหรือผลผลิตทางเกษตรอินทรีย์ ช่วงหลังนี้เราพยายามพูดและผลักดันเรื่องนี้เพราะว่าประชาชนอยู่เขตที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม เขาจึงไม่ได้เอกสารสิทธิ์และได้แค่ทำกินไปวันๆ

และในปีนี้กรมป่าไม้ก็ออกสิทธิ์ทำกินให้ แต่ตีความหมายคือ คุณสามารถทำการเกษตรได้อย่างเดียว แต่ทำอย่างอื่นไม่ได้ ขณะที่พวกเราเป็นเกษตรอินทรีย์กลุ่มใหญ่นะคะ เราทำข้าวอินทรีย์มูลค่ามหาศาล เราอยากผลิต อยากส่งข้าวขายในประเทศหรือเป็นผู้ส่งออกถ้าเป็นไปได้ แต่เราไม่สามารถก่อสร้างอะไรได้เลย  ไม่สามารถขอใบอนุญาตก่อสร้างได้ เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ในขณะที่เราอยู่คู่กับเขตเศรษฐกิจพิเศษของ จังหวัดนครพนม ประชาชนกลับไม่มีสิทธิจะทำธุรกิจของชุมชนทุกคนหวาดผวา ในขณะที่ฝั่งของเศรษฐกิจเติบโตมีมูลค่าหลายแสนล้าน ผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่สามที่สวยงามในจังหวัด เติบโตขึ้นทุกปี แต่คนนครพนมได้แต่นั่งมอง มองรถข้ามสะพาน ดูสินค้าที่ผ่านไปแต่มันไม่ใช่ของเมืองนครพนม เราได้ประโยชน์อะไรจากเขตเศรษฐกิจนี้

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า