สิทธิลาคลอด สิทธิผ้าอนามัย เงินบำนาญถ้วนหน้า ฯลฯ สิทธิเหล่านี้เป็นความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลสมัยหน้า โดยขบวนการภาคแรงงานและสิทธิสตรีเคลื่อนไหวประเด็นเหล่านี้เสมอมา
ภายในกิจกรรม ‘#แรงงานรวมพลวันสตรีสากล66 เพราะสังคมนี้สรรค์สร้างโดยแรงงานที่หลากหลาย’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม โดยเครือข่ายแรงงานหลากหลายกลุ่ม ได้ขมวดปมปัญหาทั้งหมดที่แรงงานต้องเผชิญ พร้อมผลักดันเป็นข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและว่าที่รัฐบาลสมัยหน้า
ทำแท้งถูกกฎหมาย แต่ยังผลักภาระให้ผู้หญิงต้องจ่าย
ชนฐิตา ไกรศรีกุล ตัวแทนจากกลุ่มทำทางและเพจคุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง ได้พูดถึงประเด็นทำแท้งผิดกฎหมายที่ยังคงเป็นการผลักภาระด้านค่าใช้จ่ายและไม่ได้โอบอุ้มผู้หญิงทุกคน
“ในวันสตรีสากล นอกจากเราพูดถึงสตรีที่เป็นแม่แล้ว เราต้องพูดถึงสตรีที่ไม่ต้องการหรือไม่พร้อมที่จะเป็นแม่ด้วย”
“ตอนนี้การทำแท้งถูกกฎหมายแล้ว แต่การเข้าถึงลำบากมาก สมมุติถ้าคุณอยู่ในกรุงเทพฯ คุณจำเป็นต้องมีเงินขั้นต่ำ 5,000 บาท ในกรณีอายุครรภ์แก่ ต้องมีถึง 20,000 บาท เพื่อเข้ารับบริการในสถานบริการของเอกชน เพราะในกรุงเทพฯ ไม่มีสถานบริการของรัฐที่ให้บริการนี้เลย
“หรือแม้ว่าคุณจะใช้บริการของรัฐได้ แต่ถ้าคุณไม่มีเงิน ก็ต้องถ่อไปถึงจังหวัดสิงห์บุรี เพราะฉะนั้นเราก็พอพูดได้ว่า การทำแท้งของคนในกรุงเทพฯ มันเป็นเรื่องของคนพอมีตังค์
“หลายคนที่สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหวก็ต้องหาซื้อยากินเอง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นยาเถื่อน นอกจากไม่รู้ว่าจะได้ผลมั้ย ยังไม่รู้ว่ากินอะไรเข้าไป กินครบโดสมั้ย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะการทำแท้งถูกกฎหมายมา 2 ปีแล้ว
“ข้อเรียกร้องทุกอย่างที่เราออกมาพูดในวันนี้ เราอยากจะให้พรรคการเมืองเห็นความสำคัญและนำไปเป็นนโยบาย”
สิทธิแรงงานแยกไม่ขาดจากสิทธิสตรี
ศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง เน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ของวันสตรีสากลภายใต้บริบทการเลือกตั้งหนนี้ ก่อนกล่าวถึงภาพรวมข้อเรียกร้องว่า
“เราเรียกร้องวันลาคลอด 180 วัน เพราะข้าราชการสามารถลาคลอดได้แล้ว 180 วัน และผู้ชายสามารถลาดูแลครอบครัวได้ 90 วัน ในเมื่อข้าราชการทำได้ แรงงานภาคเอกชนก็น่าจะทำได้
“อีกเรื่องที่สำคัญคือ ผ้าอนามัยฟรี เพราะผ้าอนามัยราคาแพงมากนะ ถ้าคนงานหรือผู้หญิงทุกคนสามารถใช้ผ้าอนามัยฟรีเป็นสวัสดิการทางสังคม อย่างน้อยค่าจ้างที่มันไม่ค่อยพออยู่แล้ว ก็ยังพอแบ่งเบาภาระไปได้บ้าง
“ผู้ใช้แรงงานทุกวันนี้นอกจากจะต้องดิ้นรนเพื่อปากท้องแล้ว ยังต้องแบกรับภาระดูแลคนทางบ้าน หมายถึง พ่อ แม่ หรือคนแก่ เราจึงอยากเสนอให้มีสวัสดิการบำนาญไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาท
“การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมาก อยากจะให้คนงานและคนที่มีสิทธิ์มีเสียงช่วยคิดให้รอบคอบ คิดให้ดี ว่าใครหรือพรรคไหนที่จะเป็นตัวปลดล็อกและทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ถ้ามั่นใจพรรคไหน ขอให้คนงานกาพรรคนั้น”
ขอสวัสดิการเพื่อคุณค่าความเป็นมนุษย์
สุธิลา ลืนคำ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม เล่าถึงความสำคัญในการรวมตัวของเครือข่ายแรงงานในครั้งนี้ว่า นัยหนึ่งเพื่อเป็นการคารวะแด่อุดมการณ์และความกล้าหาญของ #ตะวันแบม ที่กำลังต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม
“ผู้หญิงสองคนนี้น่าเชิดชู เพราะเขาเรียกร้องต่อสู้ ไม่ใช่แค่เรื่องประชาธิปไตย แต่เขาเรียกร้องถึงความเท่าเทียม คุณค่าความเป็นมนุษย์
“ข้อเรียกร้องที่เครือข่ายแรงงานยื่นไปวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ ผ้าอนามัยฟรี สิทธิลาคลอด เป็นประเด็นที่ผู้หญิงทุกคนต้องการและมีความจำเป็นต่อผู้หญิงและคนทำงานทุกคน
“ไม่ว่าใครจะเรียกร้องสิทธิอะไรก็ควรมีพื้นที่แสดงออก โดยเฉพาะประเด็นของผู้หญิง เพศทางเลือก LGBTQ ให้เขามีพื้นที่ได้แสดงออกอย่างเต็มที่ ให้มีรัฐสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย บำนาญชราภาพต้องเกิดขึ้นให้ได้”
สุรัตน์ จันทร์วันเพ็ญ สหภาพแรงงานไทยคูราโบ เสนอความเห็นว่า
“ปัญหาแรงงานเป็นปัญหาระดับชาติมานาน เราเรียกร้องมาตลอด ตั้งแต่มีกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ จนมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
“เราไม่ได้เพิ่งมาเคลื่อนไหวประเด็นเหล่านี้ในปี 2566 เราเคลื่อนไหวกันมาตั้งแต่ปี 2518 ก็อยากเห็นรัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ามีความจริงจังต่อแรงงาน ดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อย่างแท้จริง”