หากเอาสถิติเป็นตัวตั้ง
3 สิงหาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกรวม 14,492,385 ราย และผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ (2 เข็ม) รวม 4,085,711 ราย คิดเป็น 5.7 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรเท่านั้น ยังห่างไกลเหลือเกินกับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
4 สิงหาคม 2564 จำนวนผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันนี้ 643,522 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,409 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ 20,200 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 188 ราย หายป่วยแล้ว 428,380 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 211,076 ราย และ 4,893 รายคือผู้ป่วยหนัก
หากเอาความรู้สึกเป็นเครื่องวัด
เรากำลังเห็นเค้าลางของความหายนะชัดมากขึ้นไปทุกที เพราะตัวเลขคนเจ็บป่วยรายวันที่พุ่งแทบจะเป็นแนวตั้ง เรากลับไม่พบแสงสว่างว่ารัฐบาลจะมีเครื่องมือหรือกลไกใดมาหยุดวิกฤติได้
วัคซีนยังไม่มาและไม่รู้จะมาตอนไหน รัฐบาลก็เมาหมัดถูกไวรัสต้อนจนแทบจะจนมุม กลายเป็นว่าความหวังของคนที่หายใจรวยรินคือการฝากชีวิตไว้กับอาสาสมัครซึ่งไม่แน่ใจนักว่าจะยืนระยะไปได้อีกไกลแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่าเงื่อนไขของงานอาสาคราวนี้คือโรคระบาดที่ทั้งยากและซับซ้อน
ด้วยเหตุและผลเช่นนี้จึงนำไปสู่การพูดคุยกับอาสาสมัคร เพื่อรับฟังว่าหน้างานของแต่ละคนกำลังเผชิญหน้าอยู่กับอะไร และหากเป็นไปได้ คือการร่วมวางกลไกเพื่ออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ให้บ้านเมืองถึงคราววอดวายไปมากกว่านี้
นี่คือบันทึกจาก WAY Conversation โดยมีแขกร่วมวงคือ สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา, ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย พยาบาลอาสา Home Isolation และ อินทิรา วิทยสมบูรณ์ อาสาสมัครด้าน Covid Matching ภายใต้หัวข้อที่ว่า ‘เมื่อรัฐบาลเมาหมัด และอาสาสมัครสะบักสะบอม’
แค่มีใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความเป็นมืออาชีพด้วย
‘เราจะเห็นว่ารัฐบาลกำลังถูกโจมตีอยู่ตอนนี้ แล้วหน่วยแพทย์ส่วนหน้าที่กำลังรับมือกับโรคระบาดตอนนี้โดนโควิดโจมตีจนน่วม ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับมันน่วมหมด นี่คือธรรมชาติของวิกฤตการณ์ จนกว่าเราจะค้นพบระบบที่ลงตัวและสถานการณ์ที่คลี่คลายลง’
สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวประโยคนี้เมื่อสองเดือนก่อนหน้า
ธรรมชาติของภัยพิบัติ ‘โรคระบาด’ ส่งผลให้อาสาสมัครจำนวนมากไม่สามารถทำงานได้ดังเช่นภัยพิบัติครั้งก่อนๆ ภาวะโควิดและเงื่อนไขของโรคส่งผลให้มูลนิธิกระจกเงาออกนโยบาย ‘ยกเลิกระบบงานอาสาสมัคร’ ทั้งหมดทันที เพื่อออกแบบการทำงานภายใต้ปัญหาใหม่ที่ใหญ่ชนิดที่สมบัติถึงกับออกปากว่า หนักหนาที่สุดในชีวิตแล้ว
“ตอนนี้เราใช้งาน ‘อาสาสมัครมืออาชีพ’ เช่น คนที่ทำหน่วยกู้ชีพกู้ภัย คนเหล่านี้จะมาช่วยลำเลียงอุปกรณ์หรือเข้าไปในบ้านของผู้ป่วย เพื่อติดตั้งเครื่องผลิตออกซิเจนหรือตัวถังออกซิเจน เราต้องใช้อาสาสมัครที่มีประสบการณ์และเข้าใจสถานการณ์ดี กู้ชีพกู้ภัยนี่แหละที่ตอนนี้เราขอให้เขามาช่วยกัน”
แน่นอนว่าการทำงานอาสาสมัครในสถานการณ์เช่นนี้ เขาเหล่านั้นย่อมอยู่ในภาวะ ‘เสี่ยงภัย’ โดยอัตโนมัติ และเพื่อให้แน่ใจว่าคนทำงานจะปลอดภัย ‘อาสาสมัครมืออาชีพ’ เช่น ทีมกู้ชีพกู้ภัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ มีความเข้าใจสถานการณ์ และพร้อมรับมือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจึงเป็นทีมหลักในการทำงานของมูลนิธิกระจกเงา ณ ขณะนี้
ผู้ร่วมสนทนาถัดมาคือ ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย พยาบาลอาสา Home Isolation หน้างานของเธอตอนนี้คือ หนึ่ง-เป็นพยาบาลอาสา ให้คำปรึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวกับพยาบาล และสอง-เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างความต้องการของคนในพื้นที่กับอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ
“งานครั้งนี้มันเป็นงานวิชาชีพ ต้องมีความรู้เฉพาะบางอย่าง ไม่ใช่เพียงมีใจอาสาแล้วจะบุ่มบ่ามทำได้ โดยส่วนตัวมองว่าตอนนี้มันค่อนข้างมั่วซั่วและเละเทะ ที่อันตรายก็คือ ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ด้วย ‘ร้าบาน’ แบบนี้ มันต้องเดินต่อไปข้างหน้า แต่เรามองว่าควรต้องแบ่งให้ชัดเจนกว่านี้ ว่างานแบบไหนที่ต้องใช้วิชาชีพ แล้วงานอะไรที่คนทั่วไปจะมาช่วยได้”
เช่นเดียวกับ อินทิรา วิทยสมบูรณ์ อาสาสมัครด้าน Covid Matching งานของเธอคือการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างความต้องการอุปกรณ์ของโรงพยาบาล กับผู้คนที่พอจะมีกำลังบริจาค รวมถึงการรับเคสผู้ป่วยเพื่อส่งต่อสู่กระบวนการ Home Isolation หน้างานบางส่วนจึงเชื่อมต่อกับ ดร.บุษบงก์ โดยตรง
ในทัศนะของอินทิรา สิ่งที่เธอกำลังเผชิญหน้าคือระบบที่มีรูโหว่และจวนเจียนจะล้มเหลวอยู่รอมร่อ
“งานอาสามันต้องการคนที่หลากหลายเข้ามาประคับประคองระบบและปัญหา แต่เราต้องออกแบบให้ระบบมีความชัดเจนว่า แล้วใครบ้างจะเข้ามาอยู่ในบทบาทไหน หน้าที่ไหน แล้วจะเชื่อมต่อกันอย่างไร ต้องบอกว่า ณ เวลานี้ สิ่งที่เป็นตัวเชื่อมต่อมันไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ อย่างเป็นระบบ สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีรูโหว่เต็มไปหมด แล้วทำให้อาสาสมัครทำงานได้ยาก”
นี่คืออินโทรสถานการณ์อันโกลาหลของพวกเขาในฐานะคนทำงาน การสนทนาถัดจากนี้จะว่าด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์และมองหาความเป็นไปได้เร่งด่วน เพื่อคลี่คลายระบบอันรุงรัง และวางกลไกการทำงานอย่างที่ควรจะเป็น
แบ่งงาน กระจายกำลัง
โรคระบาดไม่อนุญาตให้ใครก็ตามเดินดุ่มๆ เข้าไปด้วยใจที่อยากช่วยเหลือ การจัดการโรคระบาดในปัจจุบันกำลังเรียกร้อง ‘ทักษะ’ บางประการและ ‘ความเชี่ยวชาญพิเศษ’ ของผู้ที่อยู่ด่านหน้าและกองหนุน
“โควิดเป็นปัญหาเชิงสเกล มันไม่เหมือนกับการเกิดภัยพิบัติหนึ่งที่เมื่อจบแล้ว เราสามารถประเมินได้ว่า สเกลของปัญหาหรือโจทย์ที่เราต้องทำมันเป็นยังไง เพราะเมื่ออยู่ระหว่างการเผชิญเหตุระบาด สเกลของปัญหายังสามารถขยายตัวได้ และหดตัวได้ เราจึงต้องคิดอยู่บนยุทธศาสตร์ที่ให้ขนาดของปัญหาอยู่ภายใต้ขีดความสามารถที่รัฐมีอยู่”
แต่เมื่อเมียงมองมายังขีดความสามารถในการรับมือปัญหาของรัฐ สมบัติ บุญงามอนงค์ อธิบายว่า ปัญหาตอนนี้เกินขีดความสามารถของรัฐบาล และความโกลาหลที่เราพบเห็นรายวันนั้น กำลังไร้เจ้าภาพคอยจัดการ
“สิ่งที่รัฐบาลทำคือ ขยายขีดความสามารถ สังเกตได้จากโรงพยาบาลสนามก็ดี เหล่านี้คือกระบวนการขยายขีดความสามารถของรัฐเพื่อรับมือกับสเกลที่ใหญ่มาก แต่เมื่อคุณขยายมาถึงจุดหนึ่ง มันเกิดภาวะสุดมือ เพราะคุณคุมจำนวนของผู้ติดเชื้อไม่ได้ ดังนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อมันจึงล้อไปกับจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักและต้องดูแลเป็นพิเศษ”
เมื่อผู้ป่วยหนักมีปริมาณมากขึ้น เรื่องนี้จึงเกี่ยวพันโดยตรงกับทักษะและเครื่องไม้เครื่องมือในการดูแลผู้ป่วย และสถานการณ์ที่เรียกร้องผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการดูแลผู้ป่วย ‘สีแเดง’
สีแดง คือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ หรือการลดลงของออกซิเจนมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ หลังออกแรง ของค่าที่วัดได้ในครั้งแรกที่ออกแรง
“ประเด็นคือ เราจะขยายขีดความสามารถของรัฐอย่างไร หมายความว่า บุคคลภายนอกอาจจะไม่สามารถไปทำเรื่องที่ยากขนาดนั้นได้ แต่บุคคลภายนอกสามารถไปล้วงงานที่ไม่จำเป็นบางอย่างออกไปได้ หรือทำให้เบาลงได้ หรือสร้างบางแนวทางได้”
ในภาวะเช่นนี้ สมบัติมองว่า อาสาสมัครสามารถทำหน้าที่ ‘ต่อมือซ้ายมือขวา’ หรือแบ่งเบาภาระงานบางประการให้กับผู้ที่ทำงานอยู่ด่านหน้าให้เขาเหล่านี้คล่องตัวมากขึ้น
“วันก่อนผมคุยกับหมอท่านหนึ่ง แกบ่นว่างานเยอะมาก แล้วแกก็ถ่ายรูปงานเอกสารบนโต๊ะมาให้ดู ผมต้องส่งข้อความไปหาแกว่า ‘ไม่ทราบว่าคุณหมอมีผู้ช่วยหรือเปล่า’
“งานแบบนี้มันต้องหาคนอื่นมาช่วย ไม่ใช่ให้หมอมาทำ แม้แต่พยาบาลก็ต้องมีคนช่วยนะ หรือคนเข็นรถในโรงพยาบาล หรือคนทำความสะอาดในโรงพยาบาล ตอนนี้ทุกตำแหน่งในโรงพยาบาลควรมีคนช่วย ซึ่งคนนั้นอาจจะเป็นอาสาสมัครก็ได้”
สิ่งสำคัญคือ การบริหารจัดการอาสาสมัครไม่ใช่งานที่ง่ายในความโกลาหลเช่นนี้
ปลดล็อคระบบราชการ แล้วเชื่อมฐานข้อมูล
เมื่อบรรยากาศของความสิ้นหวังกับรัฐบาลที่ปกคลุมแทบทุกซอกหลืบสังคม เป็นความจริงที่ว่า เรายังจำเป็นต้องคาดหวังกับรัฐบาลผู้ที่ทำงานด้วยภาษีของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนั้น อาสาสมัครและประชาชนที่ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันและกันในตอนนี้ จะสามารถทำงานสอดคล้องกับกลไกของรัฐที่กุมอำนาจและทรัพยากรได้อย่างไร หน้าตาของระบบที่เป็นอยู่ควรปรับปรุง เติมแต่ง หรือรื้อใหม่ เพื่อที่คลี่คลายปัญหาขนาดใหญ่ในตอนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำถามนี้ถูกส่งไปยัง อินทิรา เป็นคนแรก
“รัฐเองคือส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ แล้วที่ผ่านมา อาสาสมัครก็ทำงานเชื่อมต่อกับรัฐอยู่ เช่น หน้างานที่เราทำ สุดท้ายแล้วในกระบวนการส่งต่อหาเตียง ผู้ที่จัดการเตียงก็คือตัวระบบ ไม่ว่าจะเป็น 1330, 1669, 1668 ปลายทางของงานอาสาสมัครก็คือระบบอยู่ดี
“ที่ผ่านมาเราก็เข้าใจว่าระบบมันมีความ error ของมันอยู่ กระทั่งว่าผู้ป่วยบางคนแจ้งเข้าไปในระบบมากมายหลายที่ เมื่อไม่มีการตอบกลับ เขาก็แจ้งซ้ำไปซ้ำมา คุณบอกว่า มันมี co-link อยู่นั้น อยู่ที่ไหน มันสามารถเป็น big data ขนาดใหญ่ที่บริหารจัดการข้อมูลอย่างมีระบบได้ไหม แล้วทำให้ทุกๆ คน ทุกๆ อาสาสมัครสามารถใช้ระบบนี้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ปัญหาเชิงระบบที่ปรากฏอยู่นั้น คือสิ่งที่ต้องปลดล็อคให้ได้โดยเร็ว ซึ่งอินทิราไล่เลียงให้เป็นลำดับดังนี้
หนึ่ง – ต้องให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจเชื้อให้เร็วที่สุด ในทุกชุมชน ทุกพื้นที่ ทุกแคมป์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องเข้าถึงการตรวจได้หลายรอยต่อหนึ่งคน เพราะบางกรณีที่เกิดขึ้นไม่สามารถพบเชื้อได้เพียงครั้งแรกที่ตรวจ
สอง – ต้องมีกลไกที่ทำให้ทุกๆ การตรวจวนเข้าสู่ระบบตรงกลาง โดยที่ระบบสามารถบริหารจัดการให้ผู้คนเข้าระบบได้อัตโนมัติ หรือมีกลไกที่ทำให้ผู้ป่วยรู้ว่า เขาจะต้องไปที่ช่องทางไหนหลังจากตรวจพบเชื้อแล้ว
สาม – รัฐต้องทำหน้าที่ในการสื่อสารอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา
และสี่ – ในระยะเร่งด่วน หลายเคสเริ่มจากสีเขียว กลายเป็นสีเหลือง และแดงอย่างรวดเร็ว การจ่ายยาจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทุกการจ่ายยานั้นมีความเสี่ยง ดังนั้น การดูแลโดยพยาบาลอาสานั้นจำเป็นมาก เพราะหลายครั้งพบกรณีที่ว่า ผู้ป่วยได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ซ้ำซ้อน
“สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มพูนขึ้น วันนี้อยากจะพูดว่า เรารู้ว่ามีผู้ป่วยโควิดมากมายที่ติดเชื้ออยู่แต่เข้าไม่ถึงระบบ ตัวเลขที่โชว์อยู่ ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ดังนั้น ทำยังไงให้ตัวเลขที่ซ่อนอยู่นั้นมันผุดขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การวางแผนการจัดการให้ได้จริงๆ”
ต่อประเด็นนี้ ดร.บุษบงก์ กล่าวด้วยถ้อยคำไม่หวานหูว่า
“สิ่งที่พูดอย่างมั่นใจก็คือว่า ครึ่งหนึ่งของความวอดวายครั้งนี้เกิดจากระบบราชการ มันเป็นระบบที่ไม่รองรับกับภัยพิบัติใดๆ เลย คือขั้นตอนแม่งจะเยอะไปไหน คนไข้ตอนนี้ 3 วันก็ทรุดแล้วนะโว้ย เดลตาเนี่ยไม่เหมือนสายพันธุ์อย่างการระบาดระลอกที่แล้ว แค่ 5 วันแม่งก็เปลี่ยนคนไข้จากสีเขียว เป็นเหลือง เป็นแดงแล้ว แต่นี่ยังต้องกลับไปรวมศูนย์ กระจายเคส คืออะไร”
ตี grid ดึงเอกชน แบ่งความรับผิดชอบ
สมบัติ บุญงามอนงค์ เสนอโมเดลในการรับมือและโต้กลับสถานการณ์โดยใช้การระดมทรัพยากรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการ ดังนี้
“ปัญหาคือโรคระบาดตอนนี้มีขนาดและความซับซ้อนของปัญหาใหญ่กว่าระบบ เราจึงต้องทำระบบที่ล้อไปกับขนาดของปัญหาและทรัพยากรที่มี
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ระบบล่มหรือถูกโจมตีจนรวน ประสิทธิภาพการทำงานน้อยลง และมีเคสที่เกินมือหรือล้นออกไปข้างนอกจนเกิดความโกลาหลขึ้นมา
“ถ้าองค์กรไหนก็แล้วแต่ที่มีความสามารถหรือมีศักยภาพทำงานได้ดี เช่นมีองค์กรอาสาสมัครหนึ่งทำงานได้ดีท่ามกลางระบบที่ล่ม ปริมาณงานทั้งหมดจะวิ่งเข้าหาองค์กรนี้ทันที (หัวเราะ) มันจะไหลบ่าเข้ามาโจมตีทันที แล้วสุดท้าย หน่วยงานนี้จะเผชิญหน้าเฉกเช่นเดียวกับระบบอื่นๆ และล่มในที่สุด”
ตัวอย่างสถานการณ์ที่หนูหริ่งยกขึ้นมานั้นเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ดังนั้น โมเดลที่หนูหริ่งกำลังนำเสนอเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเร่งด่วน จึงมีดังนี้
หนึ่ง – ระดมทรัพยากรจากภายนอกเข้ามาเชื่อมต่อระบบหลัก เพื่อแบ่งเบาภาระที่ไม่จำเป็นของบุคลากรทางการแพทย์
“ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลหนึ่งอยู่ในภาวะปริมาณงานล้นเกิน หากเราเอาอาสาสมัครโยนเข้าไปในโรงพยาบาล เขาก็ไม่เอา เพราะไม่รู้ใครเป็นใคร จะจัดการอาสาสมัครอย่างไร เขาไม่มีกำลังคนและเวลาที่จะบริหารจัดการอาสาสมัคร
“เมื่อโรงพยาบาลทำงานดูแลเต็มพื้นที่อยู่แล้ว เราก็หาองค์กรที่ผมคิดว่าน่าจะเป็น ‘องค์กรเอกชน’ หรือ ‘บริษัท’ เข้ามาเชื่อมต่อ ฟังดูอาจแปลกๆ ว่าจะเชื่อมต่อยังไง คือการทำงานในภาวะแบบนี้ มันทำในระดับปัจเจกไม่ได้ ต้องมีกลุ่มคนหรือมีองค์กรมาเสริมกันเพราะมันคือเรื่องยากและซับซ้อน”
หนูหริ่งอธิบายเพิ่มว่า องค์กรเอกชน (organization) ในที่นี้ต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน เป็นองค์กรที่รู้ว่ากำลังพลของตนมีอยู่เท่าไหร่ ใครมีความเชี่ยวชาญอะไร และต้องเป็นองค์กรที่ ‘สมัครใจ’ ในการทำงานภายใต้วิกฤติปัจจุบัน
“แม้ว่าองค์กรเอกชนนั้นจะไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับสาธารณสุขเลย แต่เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างและกลไก ผมมั่นใจว่า องค์กรเหล่านี้สามารถเป็นกำลังเข้าไปสนับสนุนงานจัดการหลังบ้านได้ เช่น การรับโทรศัพท์ ประสานงาน หาทรัพยากร
“เราต้องประกาศรับอาสาสมัครที่เป็นองค์กร บริษัทอะไรก็ได้ เช่น มีพนักงานตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป แล้วพยายามจับคู่กับกลไกของระบบที่มีอยู่
สอง – ตีตารางพื้นที่ (grid locator system)
การตี grid คืออะไร? สมบัติยกตัวอย่างดังนี้
“ตอนน้ำท่วมปี 2554 ภัยพิบัติครั้งนั้นจบลงได้หลังจากมีการตี grid เพราะมันโกลาหลมาก สายโทรศัพท์ที่ สปภ.ดอนเมืองวิ่งเข้ามาที่ call center เยอะมาก แล้วหน่วยจัดการก็ต้องวิ่งจากดอนเมืองไปทุกจุดเลย มันแก้ปัญหาไม่ได้เพราะมันเยอะ
“แต่ถ้าคุณตี grid ขึ้นมาเป็นบล็อกพื้นที่ เราสามารถใช้หน่วยการปกครองในแต่ละพื้นที่เป็น grid ได้ แล้วมีเจ้าภาพในแต่ละ grid พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเอาคนนอกไปทำงานรักษาพยาบาลที่หมอทำนะ แต่หมายถึงว่า ไปจัดการความโกลาหลที่ไม่เกี่ยวกับสกิลการแพทย์ เช่น อาหาร เอกสาร
“การตี grid ไว้จะทำให้เห็นว่า พื้นที่นั้นเป็นความรับผิดชอบของใคร หน่วยงานใด แล้วหากมีปัญหาที่เกินความสามารถหรือทรัพยากรใน grid นั้นๆ จึงค่อยนำโครงสร้างของบริษัทเอกชน (ที่สมัครใจ) เข้าไปออกแบบดูว่า บริษัทจะสามารถทำเรื่องอะไรได้บ้างตามหน้างาน ศักยภาพ และทรัพยากรที่ตนมี”
อาสาสมัครก็ดี แต่เราไม่ได้จ่ายภาษีแล้วแบกความรับผิดชอบเอง
“จุดที่อ่อนที่สุดตอนนี้ เราอาจจะพุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาล แต่สิ่งที่ผมคิดคือ กลไกของรัฐบาลในการที่จะควบคุมการป่วยและการติดเชื้อ คือเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องบาลานซ์ไม่ให้มันเกิดผลข้างเคียงในมิติอื่นมากจนเกินไป
“การล็อคดาวน์หรือ work form home คือวิธีการที่รัฐไม่รู้จะทำยังไงแล้ว เขาถึงสั่งแบบนี้ สิ่งที่ถูกต้องที่สุดในเกมนี้คือการหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ได้ ไม่อยากจะย้อนนะครับ แต่เอาเป็นว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป คุณต้องพยายามไปหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาให้ได้ แต่ปรากฏว่า วัคซีนดีๆ ที่เข้ามาได้นั้น เขาบริจาคมา ไม่ได้เกิดจากความสามารถของรัฐ”
การจะชนะในเกมนี้ได้ หนูหริ่งย้ำชัดเจนว่า การทำงานต้องคิดเชิงระบบ เชิงยุทธศาสตร์ ไม่มีใครสามารถชนะเกมนี้ได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะยิ่งคุณเก่งมากท่ามกลางระบบที่ล่ม ปริมาณจะไหลบ่าเข้าหาคุณอย่างเลี่ยงไม่ได้
“โดยธรรมชาติแล้ว ไม่มีกลไกใดที่จะรับมือกับสเกลที่เว่อร์แบบนี้ได้ นอกจากคุณจะสร้างระบบเพื่อกระจายและจัดการขั้นตอนของงานให้ลดลง มันจึงต้องคิดยุทธศาสตร์ ทำระบบ ระดมทรัพยากรภายนอก จัดการดัดแปลงและเตรียมการจัดวางเพื่อทำให้องค์กรอาสาสมัครและทีมภายนอกสามารถเชื่อมโยงเข้ามาเป็นหนึ่งในกลไกทำงาน ซึ่งอาจจะทำงานร่วมกับรัฐก็ได้ หรือทำงานแยกต่างหากก็ได้ เช่น
“สมมุติผมมีบริษัทขนาดใหญ่ ผมดูแล 1 แคมป์คนงานที่ต้องกักตัวอยู่ 200 คน ผมบริหารจัดการเอง สั่งร้านอาหารมาส่งประจำ หรือส่งวัตถุดิบให้คนในแคมป์ทำอาหารเอง หรือตั้งครัวกลางเองโดยการเอาพนักงานมาทำอาหารและส่งอาหารเข้าไป
“โดยที่บริษัทนี้ดูแลแค่แคมป์เดียวนะ ไม่ต้องไปดูแลหลายแคมป์ ไม่ใช่ว่าบริษัทนี้ดูแล 1 แคมป์ได้แล้วมีโทรศัพท์เข้ามาว่า ‘ฮัลโหล ได้ยินว่าคุณดูแลเรื่องอาหารให้แคมป์นึงได้ เรามีอีก 300 แคมป์ ช่วยหน่อยได้ไหม’ (หัวเราะ) คุณเข้าใจไหมว่า สถานการณ์มันเป็นแบบนี้ แล้วใครจะไปทำได้วะ พังนะ ถ้าคุณไม่ตีตารางพื้นที่ ทำระบบ แล้วมีเจ้าภาพในแต่ละ grid ทำแบบนี้มันจะไม่วุ่นวาย”
ถัดจากข้อเสนอของสมบัติ คือข้อสังเกตของ ดร.บุษบงก์ ที่ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า
“อย่าลืมระบบหลัก อาสาสมัครอย่าทำงานแทนจนระบบหลักไม่ต้องทำงาน เขายังต้องทำงานอยู่ ด้วยหน้าที่ของเขา ด้วยเงินเดือนที่เขาได้จากภาษีอากรของประชาชน เขาต้องทำงาน เราต้องดึงเขามาทำงาน อย่าลืมข้อนี้”