ทุกวันนี้คนไทยอุ่นใจเรื่องค่ารักษาพยาบาลได้ เพราะประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งให้สิทธิรักษาฟรีโดยถ้วนหน้า สิทธิบัตรทองช่วยการันตีว่า แม้จะไม่มีเงิน แต่หากเจ็บป่วยขึ้นมาก็สามารถเข้าถึงการรักษาได้
ในอนาคตหากเรามี ‘ระบบบำนาญผู้สูงอายุ’ ด้วย ก็จะยิ่งสร้างความมั่นคงในชีวิตเพิ่มมากขึ้น เพราะบำนาญผู้สูงอายุจะช่วยให้คนไทยมีหลักประกันว่า แม้แก่ชราโดยไม่มีอาชีพ ไม่มีบุตรหลานเลี้ยงดู ก็ยังจะมีรายได้สำหรับประทังชีวิต
การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ หลากหลายพรรคการเมืองพยายามประโคมนโยบายหาเสียง หนึ่งในนั้นคือการสร้างระบบบำนาญผู้สูงอายุ ซึ่งตัวเลขในขณะนี้ดูเหมือนจะมีจุดร่วมอยู่ที่เดือนละ 3,000 บาท ส่วนรูปแบบการจ่าย ยังมีความแตกต่างในรายละเอียดกันออกไป
เวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ ‘ระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน สู่นโยบายพรรคการเมืองด้านระบบความคุ้มครองทางสังคมในผู้สูงอายุ’ จัดโดย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา มีข้อเสนอที่น่าสนใจ
สร้าง ‘ความคุ้มครองทางสังคม’ ให้คนสูงวัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. บอกว่า การพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติเป็น ‘ความคุ้มครองทางสังคม’ ประเภทหนึ่งตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณะ ซึ่งความคุ้มครองทางสังคม คือระบบหรือมาตรการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเคราะห์ร้าย ช่วยคุ้มครองไม่ให้กลายเป็นคนยากจน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งในอนาคตไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากวิกฤตความยากจนในผู้สูงอายุ
นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ สช. ระบุว่า ปัจจุบันมีข้อเสนอทางวิชาการเกี่ยวกับการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงวัย หนึ่งในนั้นมาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 เรื่อง ‘หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ’ โดยจำเป็นต้องขับเคลื่อนพร้อมกันทั้ง 5 องค์ประกอบหลัก ซึ่งมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย
- การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำและมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย
- การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่เชื่อมโยงทั้งการออมของปัจเจกบุคคล และการออมรวมหมู่ที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน
- เงินอุดหนุน (บำนาญ) และบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ (บำนาญ)
- การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (long-term care)
- การดูแลจากครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น โดยสามารถถอดบทเรียนความสำเร็จของการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่เน้นความพร้อมทางวิชาการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม และการตัดสินใจทางการเมือง มาเป็นฐานในการผลักดันนโยบายไปสู่รูปธรรมความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง
‘อภิสิทธิ์’ เสนอขึ้น VAT เต็มเพดาน 10 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ในเวทีเสวนาวิชาการยังมีมุมมองและข้อเสนอจากฝ่ายการเมือง เริ่มจากอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ระบุว่า ทุกวันนี้ทั้งสังคมหรือพรรคการเมืองต่างเห็นร่วมกันแล้วว่า ประเทศไทยต้องการระบบสวัสดิการ ซึ่งหมายความว่าต้องมีกฎหมายรองรับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะได้รับบำนาญตามเกณฑ์ที่กำหนด
“ต้องไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงได้ตามแต่ละยุคสมัยของรัฐบาล แต่ต้องทำให้เกิดเป็นระบบที่ยั่งยืน” อภิสิทธิ์ระบุและย้ำว่า หลักการคือการสร้างสวัสดิการ ไม่ใช่การสงเคราะห์ และหากกำหนดเป็นหลักการแล้ว รัฐบาลจะต้องมีเงินมารองรับ ไม่เช่นนั้นเมื่อเริ่มจ่ายแล้วระบบก็จะล้มได้
อภิสิทธิ์ยังแสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะผู้วิจัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. คือมีระบบความคุ้มครองขั้นพื้นฐานรองรับทุกคน ระบบวัยแรงงานสมทบเงินออม และระดับการสะสมเงินออมสำหรับคนที่มีเงินมากตามความสมัครใจ
“สิ่งที่ภาคการเมืองต้องตอบสังคมให้ได้คือ จะนำเงินมาจากไหน เพราะประเทศไทยเก็บภาษีได้เหลือเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ของ GDP”
อภิสิทธิ์ยังเห็นด้วยกับข้อเสนอด้านแหล่งเงินของคณะผู้วิจัย อาทิ การขยายฐานภาษี ภาษีฐานทรัพย์สินและการลดนโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย (pro-rich) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมได้
พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะการลดภาษีไม่ได้ช่วยทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจธนาคาร โทรคมนาคม พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ 4 สาขา ที่จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด
“การลดภาษีก็คือเป็นการแจกเงินให้ผู้ถือหุ้นกับพนักงานในสาขาเหล่านั้น ประเด็นเหล่านี้ต้องนำมาเป็นส่วนประกอบของสมการทั้งหมด” อภิสิทธิ์กล่าว
อภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า เมื่อวิเคราะห์ตัวเลขแล้วพบว่าขณะนี้ยังขาดเงินอีก 400,000-500,000 ล้านบาท ในการจัดทำระบบบำนาญผู้สูงอายุ ซึ่งการหารายได้เข้ารัฐนั้นมักมีการพูดถึงการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด แต่ VAT ก็เป็นภาษีที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ทำให้เศรษฐกิจถดถอยและเกิดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ หากจะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรต้องดำเนินการแบบ earmarked คือ ระบุวัตถุประสงค์ของการเก็บและนำภาษีส่วนนั้นไปใช้สำหรับจัดสวัสดิการจึงจะเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนไม่อยากจ่ายภาษีเพิ่ม เพราะไม่พอใจการใช้จ่ายภาษีของรัฐ แต่ถ้าประชาชนมีความชัดเจนว่า 1 บาทที่จ่าย จะเข้าไปเติมเงินในบัญชีเงินออม อันนี้มีความเป็นไปได้
“ความจริงเพดานอัตรา VAT ของเราคือ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อ 21 ปีที่แล้ว เราลดชั่วคราวเหลือ 7 เปอร์เซ็นต์ และยังเป็นอัตราชั่วคราวมาจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ผมว่ามันมีเหตุผลมากที่จะเพิ่มกลับไปที่ 10 เปอร์เซ็นต์ โดย 3 เปอร์เซ็นต์นั้นจะถูก earmarked ให้เป็นเงินออมของทุกๆ คน ซึ่งสัดส่วนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์นี้จะทำให้รัฐได้เงินประมาณกว่า 200,000 ล้านบาท” อภิสิทธิ์เสนอ
“ถ้าเก็บ VAT ต่ำกว่านั้น ก็อาจกำหนดให้คนที่ได้เกินจากบำนาญประกันสังคมยังไม่ต้องรับบำนาญก่อน คือให้เฉพาะคนที่ไม่มี หรือคนที่อยู่นอกระบบ เช่น เกษตรกร และผู้สูงอายุที่ไม่มีหลักประกัน ตรงนี้ก็จะอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้
“จากนั้นก็ออกกฎหมายกำหนดว่าเบี้ยยังชีพที่เหมาะสมมีความคุ้มครองขั้นต่ำเท่าใด เช่น อ้างอิงจากเส้นความยากจน เงินส่วนหนึ่งมาจาก earmarked ที่มาจากการบังคับออม แล้วเติมอีกส่วนจากการปรับระบบภาษีและการจัดระบบงบประมาณให้เหมาะสม”
อภิสิทธิ์ย้ำว่า ความเร่งด่วนในวันนี้ไม่ใช่เรื่องสังคมยังไม่ตื่นตัว แต่ต้องมุ่งไปที่ 2 ประเด็นในการขับเคลื่อน ได้แก่
- เมื่อเป็นผู้สูงอายุแล้วจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลชุดใดก็เบี้ยวไม่ได้ เช่น อ้างว่าไม่มีเงินไม่ได้ จึงขอให้ทุกพรรคการเมืองเข้าสู่สนามเลือกตั้งโดยให้แสดงความชัดเจนว่า เป็นสวัสดิการจริงๆ ไม่ใช่ระบบสงเคราะห์
- พรรคการเมืองต้องตอบคำถามว่า จะหาแหล่งรายได้มาจากไหน เพราะถ้าไม่พยายามบังคับให้พรรคการเมืองชี้แจง ทุกอย่างจะกลับไปข้อ 1 คือ เลือกตั้งเสร็จก็พยายามทำที่ได้หาเสียงไว้ แต่สามารถให้เท่าที่ให้ได้ โดยไม่ได้พยายามสร้างระบบที่ยั่งยืน
‘ก้าวไกล’ เสนอปรับกลไกภาษี ลดงบกองทัพ เติมเงินเข้าระบบบำนาญ
สอดคล้องกับ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล ที่เห็นด้วยกับการกำหนดเรื่องบำนาญผู้สูงอายุเป็นกฎหมาย เพราะไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นแค่ประเด็นหาเสียง ส่วนตัวเห็นว่าตัวเลข 3,000 บาท เป็นตัวเลขที่สังคมยอมรับและสอดคล้องกับที่ภาคประชาชนเสนอ นอกจากนี้ควรจะมีกองทุนดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 200 บาท/คน/เดือน เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงด้วย เพราะความยากจนในผู้สูงอายุมาจาก 1) หนี้สินจากอาชีพ 2) การป่วยติดบ้านติดเตียง
สำหรับเดชรัต การสร้างบำนาญผู้สูงอายุ หากกำหนดตัวเลขไว้ที่ 3,000 บาท ต้องใช้งบประมาณราว 420,000 ล้านบาท ซึ่งหากจ่ายในอัตรา 3,000 บาทจริง จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในเส้นความยากจนจากเดิม 6 เปอร์เซ็นต์ จะสามารถลดลงเหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าจ่ายในอัตรา 2,000 บาท ผู้สูงอายุที่อยู่ในเส้นความยากจนจะลดเหลือ 2 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ระบบบำนาญผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาศักยภาพในการหารายได้ ดังนั้นจึงต้องขึ้นเป็นขั้นบันได เช่น จาก 600 บาท/เดือน เป็น 1,500 บาท/เดือนในปีแรก แล้วจึงเพิ่มขึ้นจนไปถึงเป้าหมาย 3,000 บาท/เดือน ภายในปี 2570
ในส่วนของการหารายได้รัฐ เดชรัตกล่าวว่า รายได้ที่จะนำมาสร้างระบบบำนาญนั้นต้องใช้ช่องทางในการปรับภาษี ดังนี้คือ
- ขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนรายย่อยต้องลดลง ซึ่งจะนำมาสู่รายได้ราว 90,000 ล้านบาท
- ปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการลดหย่อนภาษี
- ปรับภาษีที่ดินแบบรวมแปลงและรายแปลง ในส่วนนี้จะได้เงินประมาณ 150,000 ล้านบาท
- ปรับภาษีความมั่งคั่งเป็น 0.5 เปอร์เซ็นต์ โดยจะให้ได้เงินราว 60,000 ล้านบาท
- ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ลดงบกองทัพ ซึ่งจะลดได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท
ทำประชามติให้ชัดเจน พรรคการเมืองต้องจริงใจ
ศาสตราจารย์ ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. บอกว่า ประเด็นการสร้างระบบบำนาญผู้สูงอายุนั้นภาควิชาการได้เสนอมานานแล้ว จึงจำเป็นต้องให้ภาคการเมืองทำให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ
สำหรับประเด็นที่อยากจะชวนคิด ได้แก่ ความเป็นธรรมในมุมมองของประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่ของนักวิชาการหรือนักการเมือง จึงต้องสร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมถึงทางเลือกสวัสดิการต่างๆ ทำให้ประชาชนทราบว่า เมื่อมีฝ่ายที่ได้ ก็มีฝ่ายที่ต้องจ่าย เพื่อหาโมเดลที่เหมาะสมต่อไป
“ไม่ใช่แค่เรื่องอัตราการจ่ายบำนาญควรจะเป็นเท่าไร แต่เรามองภาพใหญ่ว่า เราจะมีจุดร่วมอย่างไร ต้องการสวัสดิการแบบไหนในองค์รวม เพื่อเป็นสัญญาณให้ฝ่ายการเมืองทราบความต้องการของประชาชน ตัวอย่างเช่น ยุโรปเหนือ สะท้อนฉันทามติผ่านทางการเมือง แต่ถ้าเป็นประเทศที่เน้นระบบตลาด ก็สะท้อนผ่านกระบวนการทางการเมืองในการเลือกตั้ง” ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าว
ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ยังมีหลากหลายความคิด คุยประเด็นย่อย แต่ยังไม่มีประชามติที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทาง จึงจำเป็นจะต้องมาเป็นชุดแพ็กเกจว่า จะเอาภาษีมาจากไหน ดังนั้นในระยะยาวจะต้องกระตุ้นการตระหนักรู้ของสังคมเพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิด
“ในยุคข้อมูลข่าวสาร พรรคการเมืองต้องจริงใจ เสนอข้อเท็จจริงและข้อจำกัดของข้อเสนอนโยบาย จึงจะเกิดขึ้นมาอย่างเป็นธรรมที่แท้จริง ในมุมมองของประชาชน” นักเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ กล่าว
ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวว่า ในแง่ความยั่งยืนจำเป็นต้องครอบคลุมการเกิดผลในระยะสั้นและระยะยาว เพราะในมุมนักวิชาการ เน้นระยะยาว และ optimal ส่วนในมุมนักการเมือง เน้นที่ quick win ระยะสั้น เพราะข้อจำกัดเรื่องเวลา ดังนั้น นักการเมืองควรต้องยอม trade-off มามองระยะยาวด้วย เพื่อรุ่นลูกหลานและตัวท่านเอง
ศ.ดร.เอื้อมพร ย้ำว่า กรณีระบบบำนาญแห่งชาติ ต้องคำนึงเรื่อง transition เช่น นโยบายการออมในระยะยาว แต่ระยะสั้นก็ต้องมีผลเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เช่น การขยายฐานกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และควรมีพื้นที่เพิ่มเติมการอุดหนุนให้ผู้สูงอายุ หากจะให้เกิดความยั่งยืน จะต้องครอบคลุมผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ที่สุดแล้ว ในการเสวนาครั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนายังเห็นพ้องในหลักการร่วมกันว่า สิ่งที่จำเป็นหรือนับเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายบำนาญแห่งชาติ คือการทำให้เจตนารมณ์ทางสังคมสามารถเกิดขึ้นเป็นจริงด้วยนโยบายจากพรรคการเมือง